• หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับเรา
  • วิจัย
    • เอกสารการสัมมนา
    • เอกสารงานวิจัย
  • นาเช่า
  • สินค้า
    • ข้าวอินทรีย์
    • น้ำตาลโตนด
    • สบู่มะขามน้ำผึ้ง
  • English
  • E-Book
  • สื่อรณรงค์
    • Clip VDO
    • งานสื่อสิ่งพิมพ์
    • Infographic
    • สื่ออื่นๆ
    • บทความ
  • สิทธิที่ดิน
    • โฉนดชุมชน
    • ภาษี-ธนาคารที่ดิน
  • หนี้สินชาวนา
  • ค้นหา
  • Mapping
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับเรา
  • วิจัย
    • เอกสารการสัมมนา
    • เอกสารงานวิจัย
  • นาเช่า
  • สินค้า
    • ข้าวอินทรีย์
    • น้ำตาลโตนด
    • สบู่มะขามน้ำผึ้ง
  • English
  • E-Book
  • สื่อรณรงค์
    • Clip VDO
    • งานสื่อสิ่งพิมพ์
    • Infographic
    • สื่ออื่นๆ
    • บทความ
  • สิทธิที่ดิน
    • โฉนดชุมชน
    • ภาษี-ธนาคารที่ดิน
  • หนี้สินชาวนา
  • ค้นหา
  • Mapping
  • หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ข้าว

'ชาวเลราไวย์' เจ๋ง ปรับตัวช่วง โควิด-19 ผุดไอเดีย 'ปลาแลกข้าว'

FishandRiceExchange01

"ชาวเลราไวย์" ปรับตัวช่วงโควิด-19 หลังขายปลาไม่ได้ ทำขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้อข้าวสารกินในครัวเรือน ผุดไอเดีย "ปลาแลกข้าว" นำปลาที่หามาได้แปรรูปเป็นปลาตากแห้งส่งไปแลกข้าว กับเครือข่ายยโสธร-กลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ ตั้งเป้าส่งออก 3,000 กิโลกรัมในชุดแรก

เมื่อวันที่ 15 เม.ย.63 นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต พร้อมด้วยนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ นายอำเภอเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังทราบข่าว พี่น้องชาวเลราไวย์ได้รวมกลุ่มกันแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาที่หามาได้เพื่อนำไปแลกกับข้าวสาร

ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการชัตดาวน์ ปิดทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตในทุกเส้นทางและรวมถึงการปิดรอยต่อตำบลทุกตำบลทั้ง 3 อำเภอ กลายเป็นข้อจำกัดทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาซื้อปลาในชุมชนได้ ซึ่งปกติแล้วทางชุมชนชาวเลจะนำปลาสดๆ ที่จับมาได้มาวางขายที่แผงปลาหน้าหมู่บ้าน แต่จากมาตรการปิดพื้นที่รอยต่อทุกตำบลทำให้แผงปลา และร้านอาหารต้องปิดบริการลงชั่วคราว ทำให้ขาดรายได้ที่จะนำไปซื้อข้าวสารกินในครัวเรือน ชาวเลราไวย์ จึงรวมตัวกันแปรรูปจากปลาสดเป็นปลาแห้งส่งไปแลกข้าวสารกับพี่น้องเครือข่ายทางภาคเหนือ และภาคอีสาน

FishandRiceExchange02

อย่างไรก็ตามในการลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ของรองผู้ว่าฯ จังหวัดภูเก็ต และคณะได้มีการพูดคุยให้กำลังใจกับพี่น้องชาวเลและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมกับให้คำแนะนำในเรื่องของการทำแพ็กเกจ และการแปรรูปผลิตปลาที่ถูกสุขลักษณะ

ขณะที่ นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชาวเลราไวย์ กล่าวว่า หลังจากมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในแต่ละปี ทางเครือข่ายก็จะมีการถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ก็ได้บอกไปว่าเรามีปัญหาเรื่องปลาที่จับมาได้จำนวนมาก แต่ขายไม่ได้ และได้รับคำแนะนำให้นำปลาที่จับมาได้มาแปรรูปเป็นปลาแห้ง จึงได้รวมกลุ่มกันศึกษาและแปรรูปปลาสดเป็นปลาแห้ง หลังจากมีการแปรรูปแล้วก็เกิดไอเดีย "ปลาแลกข้าว" เนื่องจากเรามีทรัพยากรเป็นของตัวเองเยอะมาก ก็จะสามารถแปรรูปเพื่อที่จะส่งไปช่วยพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแนวคิดดังกล่าว

"ตอนนี้ได้ระดมพี่น้องชาวเลมาช่วยกันทำปลาตากแห้ง เพื่อจะส่งไปแลกข้าว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พี่น้องไม่สามารถที่จะไปซื้อข้าวสารได้ เพราะไม่มีเงิน ปลาเรามีแต่ว่าถ้าปลาขายไม่ได้ เงินเราก็ไม่มี เราก็เลยพยายามที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาของพี่น้อง เพราะว่าที่ผ่านมาการสนับสนุนของหน่วยงานท้องถิ่น ทยอยมา แต่ยังไม่ทั่วถึง เพราะคนของเราเยอะ พันกว่าคน ต้องใช้ข้าวสารเยอะ เราเลยมีแนวคิดที่จะแปรรูปปลาที่หามาได้ ซึ่งเป้าหมายของเราก็คือเอาไปแลกข้าวเพื่อจะให้คนในชุมชนได้กินข้าว เพราะว่าเรามีปลาอยู่แล้ว แต่ไม่มีข้าว โดยจะมี 2 กลุ่มหลักๆ คือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ แล้วก็เครือข่ายยโสธร ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยจะรวบรวมข้าวสาร หรืออื่นๆ เช่น กระเทียม หัวหอมมาแลกกับปลาที่พี่น้องชาวเลได้ทำการแปรรูปแล้ว" นายสนิทกล่าว

นายสนิท กล่าวด้วยว่า ในการทำปลาตากแห้งเราได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปแลกข้าวในชุดแรก โดยจะแบ่งจัดส่งให้กับเครือข่ายทางภาคเหนือ 1,500 กิโลกรัม และอีก 1,500 กิโลกรัมส่งให้กับเครือข่ายยโสธร ส่วนชุดต่อไปจะมาคิดกันอีกทีว่าจะทำปลาตากแห้งแลกข้าวตลอดทั้งปีหรือทำเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตอนนี้กำลังพูดคุยกันอยู่ว่า น่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งของชุมชนชาวเลราไวย์ ทั้งในรูปแบบของปลาตากแห้ง หรือปลาแช่แข็ง ที่จะส่งออกหรือว่าส่งขายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ด้านนายสมชัย ฤทธิชัย ตัวแทนมูลนิธิชุมชนไท ผู้ประสานงานพี่น้องเครือข่ายชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้มีการประสานทางกองทัพอากาศในเรื่องของการขนส่งปลาตากแห้งของพี่น้องชาวเลราไวย์ไปยังพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสาน ซึ่งทางกองทัพอากาศจะสนับสนุนการจัดส่งด้วยเครื่องบิน โดยการนำข้าวสารจากยโสธรมาส่งที่ภูเก็ตและนำส่งปลาจากภูเก็ตส่งไปยโสธร รอเข้าประชุมอีกครั้งในวันศุกร์นี้.

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 เม.ย. 2563 

“ข้าวพื้นนุ่ม” ตีตลาด “ข้าวหอมมะลิ” โรงสีเจ๊ง

ThaisoftRiceMarket

นายกสมาคมชาวนาแฉเหตุทำไมโรงสีอีสานกีดกันข้าวพื้นนุ่ม ระบุมีสต๊อกข้าวหอมมะลิราคาสูงไว้ “ข้าวพื้นนุ่ม” ตีตลาดขาดทุนยับขายไม่ออก อีกด้านคนไทยจนลง ต้องหาข้าวถูกกว่ารับประทานแทน

ศึก “ข้าวพื้นนุ่ม” กับ “ข้าวหอมมะลิ” เป็นมหากาพย์ดราม่าซีรีย์จบไม่ลงแล้ว วันนี้สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กลับมาแฉต่อเนื่อง ทำไมโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) กีดกันข้าวพื้นนุ่ม ทำไมต้องกีดกัน ต้องมาฟังความจริง

PramotChareansilp

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ภาพรวมโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการข้าวถุง ซึ่งจะบรรจุถุงขายข้าวหอมมะลิ จากการที่ไทยได้มีการรณรงค์ปลูกข้าวพื้นนุ่มมาประมาณ 2-3 ปี จึงทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่เริ่มจะหันไปเปลี่ยนมาปลูกข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น ซึ่งได้ราคากว่าข้าวเปลือกจ้าว หรือข้าวชนิดแข็ง ขณะที่ข้าวหอมมะลิก็ปลูกได้ครั้งเดียวต่อปี จึงเป็นที่มาของชาวนาในภาคอีสาน ไม่ต่างจากชาวนาภาคกลางที่จะต้องดิ้นรนปลูกข้าวพันธุ์อื่นในแปลงเดียวกัน

“ผมในฐานะนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เราคำนึงถึงรายได้ของชาวนาของเรา วันนี้ต้องขอบคุณกรมการข้าว บุคลากรนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว  มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายให้ชาวนา  ชาวนาต้องการพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ ในเรื่องต้นเตี้ย ผลผลิตที่สูง อายุในการเพาะปลูกถึงระยะสั้น ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคในประเทศ และให้ผู้ส่งออกส่งต่างประเทศได้มีข้าวหลายชนิดข้าว สมาคมผู้ส่งออกเคยบอกว่าเราเสียตลาดให้กับคู่แข่งเฉพาะประเทศเวียดนาม ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่ม เข้าไปแย่งตลาดข้าวของไทยไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เราส่งออกน้อยลง และถ้าส่งออกน้อยลง จะทำให้มีผลกระทบต่อชาวนา”

KaoHompauang

เมื่อเราปลูกข้าวหอมพวง หรือที่รู้จักกันในหมู่ชาวนาเรียกกันติดปากว่า ข้าวหอมเวียดนาม มีผลผลิตดี อายุสั้น เป็นข้าวนุ่ม แต่กรมการข้าวไม่รับรองพันธุ์ก็ส่งออกไม่ได้ ใช้กินในประเทศอย่างเดียวก็กินไม่หมด แล้วก็ล้นตลาดส่งออกก็ไม่ได้ เราอยากจะได้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์ ที่ตอบโจทย์แบบข้าวหอมพวง ที่เป็นพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว คือ กข.79 และกข.87 ที่เราปลูกและกำลังจะปลูกมากขึ้น แต่ติดที่อายุการเพาะปลูกมันยาวเกินไป คืออายุ 130-140 วัน เราต้องการให้ข้าวกข.79 และข้าวกข.87 อายุไม่เกิน 100-110 วัน กรมการข้าวต้องช่วยพัฒนาให้ได้โดยเร็ว ในส่วนของข้าวพื้นแข็งก็เหมือนกัน ต้องต้นเตี้ย อายุสั้น ผลผลิตดี ชาวนาจะได้สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมตามพื้นที่และตามความต้องการของตลาด ชาวนาปลูกข้าวหอมพวงก็โดนว่า ปลูกข้าวนุ่มก็โดนกีดกัน อะไรกันนักหนา ผมไม่เข้าใจ สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกมาให้ข่าวต่อต้านไม่หยุด ชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่ม ข้าวจะปนข้าวหอมมะลิ ถ้าคนมันนิสัยไม่ดี ไม่ว่าอะไรมันก็ปน อย่ามาโทษข้าว โทษชาวนา

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ถ้าชาวนามีทางเลือกปลูกข้าวนุ่มที่มีผลผลิตดีกว่าข้าวหอมมะลิ และต้นทุนต่ำมีเงินเหลือมากกว่า ถามหน่อยถ้าคุณเป็นชาวนา คุณจะเลือกปลูกอะไร ถ้ามีโอกาสที่จะเลือก ตกลงคุณห่วงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือห่วงข้าวหอมมะลิของชาวนาที่ทำให้คนบางคนร่ำรวยกันแน่ แต่ในความเป็นจริงชาวนาเป็นไง อีสานมีพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้หรือทำนาได้ปีละสองครั้งหรือ   หากเขาต้องได้รับพันธุ์ข้าวที่ดี ผลผลิตสูง ทำให้ต้นทุนต่ำมีรายได้มากขึ้น มีข้าวให้ท่านสีตลอดท่านไม่ชอบหรือ น่าจะดีกับท่าน ดีกับชาวนา อย่ามาอ้างว่าปนโน่น ปนนี่ โรงสีดูข้าวไม่เป็นหรือ ผมเห็นจังหวัดอื่นชาวนาปลูกข้าวได้ตั้งหลายชนิด ไม่เห็นมีปัญหาก็ซื้อขายกันได้

Ricesundry

ถ้าปลูกข้าวหอมมะลิดี ผลผลิตดี ชาวนามีเงินมากกว่าปลูกข้าวอื่น ชาวนาเขาก็ไม่ไปปลูกข้าวอื่น ก็เหมือนโรงสีนั่นแหละ คุณทำไมไม่ไปห้ามประเทศเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ปลูกข้าวนุ่มละ ไปบอกเขาเลย อย่าปลูก อย่าขาย เพราะทำให้ข้าวเราขายไม่ได้ สู้ราคาไม่ได้ ขายได้น้อยลง น่าจะดีกว่ามาห้ามชาวนาผม ผมไม่ยอมแน่ อย่างไรก็ดีจากการที่ออกมาต่อต้านนั้น ก็เพราะสาเหตุจริง ก็มาจาก “ข้าวพื้นนุ่ม” ตีตลาด “ข้าวหอมมะลิ” ทำให้โรงสีขายข้าวไม่ออก ราคาตกต่ำลง ตอนนี้กอดสต๊อกข้าวราคาสูงไว้มาก สาเหตุที่ข้าวพื้นนุ่มขายดีเพราะคนไทยฐานะจนลง ก็หันไปเลือกข้าวบริโภคราคาถูกลง เป็นธรรมดาตามกลไกตลาด

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 28 ก.ย. 2563  

กราฟชีวิต : วิเคราะห์ความสุขของชาวนา 7 ด้าน

FarmerHappinessGraph

ชาวนาดีเด่น 2563 ต้นทุนไร่ละ 2 พัน

BestRiceFarmer2020

“สมัยยังเป็นเด็กน้อยช่วยพ่อแม่ทำนา ถึงเวลาใส่ปุ๋ยจึงต้องไปกู้เงิน หลังเกี่ยวข้าวมีเหลือกินแค่ปีชนปี เพราะต้องแบ่งไปใช้หนี้เงินกู้ เสียดอกแพง เงินต้น 2,000 บาท ต้องใช้คืน 3,000 บาท คิดหักจากข้าวเปลือกที่เจ้าหนี้เป็นคนกำหนดราคา หักกลบลบหนี้แล้ว ทำนา 16 ไร่ เหลือข้าวไว้กินแค่ 16 กระสอบ กับเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บไว้ปลูกอีก 2 กระสอบ”

นางรจนา สีวันทา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2563 เล่าต่อ...หลังมีครอบครัวจึงปรึกษากับสามี ถ้าหากยังทำนาเหมือนพ่อแม่ อนาคตไม่มีโอกาสส่งลูกเรียนแน่ๆ

ข้าวในแต่ละปีเริ่มได้น้อยลง ปูปลาในนาเริ่มหาย ถ้ายังทำนาแบบเดิมเมื่อไรจะลืมตาอ้าปากได้...ฉะนั้นต้องงดใส่ปุ๋ย แต่จะต้องทำอย่างไร นั่นคือปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข

จากการสังเกตลานนวดข้าวในนาที่ดอน จะใช้มูลควายผสมน้ำมาทาหน้าดินแล้วปล่อยให้แห้ง หลังนวดสีข้าวเสร็จแล้วปีถัดไป พื้นที่ตรงนั้นต้นข้าวขึ้นงาม... เพราะไม่มีความรู้ แต่อยากให้ต้นข้าวงามจึงหามูลควายมาใส่แปลงนาหวังช่วยลดปุ๋ย

แต่กลับมีหญ้าวัชพืชขึ้นมาแข่งกับข้าวในนา

ปี 2542 จ.สุรินทร์ รณรงค์ปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายา ตรงกับแนวความคิดของ รจนา ที่ต้องการคืนธรรมชาติสู่พื้นที่ แก้ปัญหาสภาพดินนาที่เสื่อมลง ทั้งที่ไม่ได้รับคัดเลือก ด้วยความอยากรู้จึงขอไปอบรมวิธีการทำนาอินทรีย์ ต้องไถกลบตอซัง เพิ่มพลังอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ชีวีจะปลอดภัย และได้ข้าวที่งอกงามผลผลิตดี

หลังกลับมาตั้งใจไว้ปีนี้จะไม่กู้เงินมาทำนาแน่ๆ...หลังเกี่ยวข้าวในแปลงนาหมด ไถปรับหน้าดินหว่านถั่วพร้าและโสนแอฟริกัน ขณะที่รอเข้าหน้าฝน ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินใช้มูลวัว 900 กก. รำข้าว 25 กก. แกลบ 80 กก. กากน้ำตาล 10 กก.คลุกให้เข้ากัน ใช้ผ้ายางปิดเพื่อให้จุลินทรีย์เดินและวัชพืชในมูลวัวตาย หมัก 30 วัน สามารถนำมาใส่บำรุงดินก่อนปลูกข้าว และช่วงต้นข้าวอายุได้ 20 วัน อัตราไร่ละ 200 กก. นา 16 ไร่ จากที่เคยได้ข้าว 126 กระสอบ ทำนาอินทรีย์ได้ข้าวแค่ 44 กระสอบป่าน ต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท...แม้จะได้ข้าวน้อยแต่เป็นของเราทั้งหมด ไม่ต้องหักหนี้ให้ใคร

เพื่อนบ้านจึงขอให้ตั้งกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์...ปีที่ 2 ได้ข้าว 77 กระสอบ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันได้ไร่ละ 600 กก. ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของ จ.สุรินทร์ อยู่ที่ไร่ละ 376 กก.

ไม่เพียงแค่นั้น ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มรจนายังมีออเดอร์จากตัวแทนบริษัทส่งออกสั่งซื้อไปขายเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และยุโรป อีกต่างหาก.

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 27 พ.ค. 2563

ผู้เขียน: เพ็ญพิชญา เตียว

ชาวนาไทยเตรียมเฮ เคาะแล้วราคาประกันข้าวสูงลิ่ว

RicePriceGuarantee2020

ชาวนาไทยเตรียมเฮ เคาะแล้วราคาประกันข้าวสูงลิ่ว ข้าวทุกชนิดหมื่นบาทขึ้นต่อตัน

ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 วันศุกร์ที่ 17 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.30 น.  ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สถานการณ์ข้าวโลก ผลผลิตข้าวโลก คาดว่าจะมี 502.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58 เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

สต็อกข้าวโลก ปลายปี 63/64 คาดว่าจะอยู่ที่ 185.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 โดยจีนมีสต็อกข้าว 117.50 ล้านตัน รองลงมาคืออินเดีย 38 ล้านตัน ไทย 4.19 ล้านตัน

การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ วันที่ 1 ม.ค. - 8 ก.ค.63 อินเดียส่งออกอันดับ 1 ของโลก 4.65 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 4.17 ล้านตัน ไทย 3.15 ล้านตัน ปากีสถาน 2.07 ล้านตัน สหรัฐฯ 1.61 ล้านตัน การค้าข้าว ในตลาดโลก ไทยส่งออกลดลงเนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูง

ราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ก.ค.63 ไทยราคาข้าวปรับตัวลดลงเนื่องจากอินเดียและเวียดนามกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ ความต้องการซื้อข้าวไทยจึงมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

แนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย เมื่อเดือน ม.ค.63 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกข้าวปี 63 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน 

โดยมีปัจจัยสำคัญดังนี้
- ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทย ได้แก่ ไทยได้รับจัดสรรโควตาประมูลนำเข้าข้าวจากเกาหลีใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียอาจนำเข้าข้าวในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น
- ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการส่งออกข้าวไทย ได้แก่ ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง

มติประชุมสรุปดังนี้
เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดราคาเป้าหมายและปริมาณต่อครัวเรือนเท่ากับปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยข้าว 5 ชนิดดังนี้

1.ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

2.ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

3.ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

4.ข้าวหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

5.ข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

โดยมอบหมาย ธ.ก.ส. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน และงบประมาณตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้ พณ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอ ครม. ต่อไป

ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ก.ค. 2563

 
 
 

นายกฯ มอบนโยบายด้านข้าว ขอให้เกษตรกรปรับวัฒนธรรมทำนา นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

PrayuthChanocha

7 มิ.ย.64 - เวลา 14.00 น. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนายศักดิ์ดา เขตกลาง ชาวนาดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 คณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรับฟังนโยบายด้านข้าวจากนายกรัฐมนตรีเนื่องในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายด้านข้าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าวและพี่น้องชาวนามาโดยตลอด จึงมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพข้าวและรายได้ของชาวนา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งได้แยกตลาดข้าวทั่วไปกับตลาดเฉพาะ เพื่อให้สามารถดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ให้ลดราคาข้าวลงมาให้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้นำชาวนาก็ต้องรับทราบและไปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยการพัฒนาภาคการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเน้นใช้การเกษตรสร้างมูลค่าเพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องยกระดับภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และทันต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ต้องมีการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง พัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาและองค์กรชาวนาพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอและอยู่ดีมีสุขนั้น ได้กำหนดเป้าหมายให้ “ชุมชนข้าว” ประกอบด้วยสหกรณ์การเกษตรข้าว วิสาหกิจชุมชนข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มชาวนา ไม่น้อยกว่า 10,000 กลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็งระดับมาตรฐานในปี 2567 โดยให้ชุมชนชาวนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายขยายผล โดยมีชุมชนข้าวประกอบด้วย 1) ศูนย์ข้าวชุมชน (ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน) 2) ชุมชนแปลงขยายพันธุ์ข้าว 3) ชุมชนข้าวแปลงใหญ่ 4) ชุมชนข้าวอินทรีย์ ขณะที่ในส่วนของการพัฒนาชาวนา จะมีการพัฒนาชาวนาในชุมชนข้าวเป้าหมายที่กำหนดเพื่อให้มีจำนวนชาวนาวปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ปราชญ์ชาวนา (Super Farmers) และชาวนารุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกัน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะชาวนาที่มีแปลงที่นาจำนวนน้อย ซึ่งชาวนาในส่วนนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้มีการรวมแปลงเป็นชุมชนข้าวแปลงใหญ่เพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่ทั่วถึงกัน ซึ่งที่สำคัญคือต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านเครื่องจักรกลการเกษตรให้มากที่สุด พร้อมกับต้องรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้ได้เพราะเป็นรายได้ของชาวนา และปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล จึงขอให้เกษตรกรชาวนาได้ปรับวัฒนธรรมในการทำนา โดยให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยรัฐบาลจะดูแลเกษตรกรชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ SMEs และภาคอื่น ๆ ของประเทศไปพร้อมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเชื่อมั่นว่าการรวมกลุ่มของชาวในรูปแบบนาแปลงใหญ่ และพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิตข้าวและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจะช่วยให้พี่น้องชาวนามีความสามารถในการผลิต และช่วยขับเคลื่อนการผลิตข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยขอขอบคุณชาวนาไทยที่ได้ทุ่มเท แรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาข้าวไทยและเพิ่มผลิตภาพข้าวไทยให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนให้ภาคเกษตรไทยมาโดยตลอด พร้อมย้ำว่า “ใจของนายกรัฐมนตรีไม่เคยทิ้งเกษตรกร” ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 เห็นชอบให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของข้าวในฐานะที่เป็นพืชอาหารหลักและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนาไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักให้กับประชาชน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 7 มิ.ย. 2564

นาสร้างสุข สร้างรายได้ไร่ละแสน : โมเดลการทำนาแบบผสมผสาน ICOFIS ม.ทักษิณ

 HappinesFarm

ที่นาเพียง 3 ไร่ อาจดูไม่มาก แต่หากบริหารจัดการให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้และสร้างความสุขให้กับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทำนาแบบผสมผสาน จัดสรรพื้นที่นาอินทรีย์ปลูกพืชผักบนคันนาทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ร่วมกับการเลี้ยงปลาในนาข้าว

ทุกเย็นวิโรจน์ ยานะวิมุติ จะชวนป้าชะอุ้ม ภรรยาคู่ใจไปนาสร้างสุขเป็นกิจวัตร แม้จะเป็นช่วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวที่ไร้รวงข้าวชูช่อไสว แต่ผืนนาแห่งนี้ยังคงเขียวชอุ่มร่มรื่น ดูสบายตา สบายใจ มีพริก มะเขือ มะเขือเทศที่ปลูกไว้ตั้งแต่ 5 ธันวา 2562 ยังคงให้ผลผลิตเก็บกิน เก็บขาย ได้อย่างต่อเนื่องย่างเข้าแปดเดือนแล้ว … ผักแนวดิ่ง เช่น บวบ ฟักเขียว มะระ ที่มีบุญโชติ วรรณะ และเยาวนิตย์เป็นผู้ดูแลก็งามไม่แพ้กัน ส่วนปลาดุกที่สมคิด ทองศรี ภิญโญ สุดแสวง และธนากร มากมณี เลี้ยงดูก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ สมบูรณ์ ตัวใหญ่ สีสวย ไร้กลิ่นสาบคาวต่างจากปลาที่เลี้ยงในบ่อทั่วไป ถูกนำออกขายและแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียวหมดในเวลาอันรวดเร็ว คนที่ได้ลิ้มรสพากันกล่าวชมว่าไม่คาวเหมือนปลาที่เคยซื้อกิน ทั้งหมดนี้เป็นผลผลิตจากผืนนาข้าวสังข์หยดอินทรีย์ที่ถูกปรับให้เป็นนาผสมผสาน ซึ่งมีผลให้ผืนนาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เห็นได้จากผลผลิตมีรวงใหญ่ แน่นและสม่ำเสมอแตกต่างจากนาทั่วไปอย่างชัดเจน 

 

นาสร้างสุข สร้างรายได้ไร่ละแสน : โมเดลการทำนาแบบผสมผสาน ICOFIS ม.ทักษิณ

นาผสมผสานแห่งนี้เป็นโมเดลใหม่จากแนวคิดที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (ICOFIS) หน่วยงานที่มีพันธกิจพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู่ให้กับนิสิต ม.ทักษิณ ได้ศึกษาวิจัย ทดลองพัฒนาขึ้น เพื่อให้เกษตรกรใช้แรงงานและพื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

นาสร้างสุข สร้างรายได้ไร่ละแสน : โมเดลการทำนาแบบผสมผสาน ICOFIS ม.ทักษิณ

“เราทำนาผืนนี้ ให้สร้างสุขได้ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งแหล่งทำกิน ที่พักผ่อน และห้องรับแขกของชุมชน ผลจากการประเมินระยะทดลอง ผืนนาที่บริหารจัดการภายใต้ระบบผสมผสานนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากให้ผลผลิตข้าวสังข์หยด 730 กก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบกับการทำนาแบบเดิมของที่นี่  มีรายได้จากการเลี้ยงปลา 20,000 บาท/100 ตารางวา รายได้จากพืชผักบนคันนา 10,000 บาท/ไร่” ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผอ. ICOFIS กล่าว

นาสร้างสุข สร้างรายได้ไร่ละแสน : โมเดลการทำนาแบบผสมผสาน ICOFIS ม.ทักษิณ

โมเดลนี้ใช้พื้นที่นาอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์ทุกส่วน คนมีความสุข พื้นดินได้ปุ๋ย ท้องนาอุดมสมบูรณ์ บนอากาศไม่มีมลพิษ สิ่งเหล่านี้มาจากปัญญา และหากพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษาได้มาเรียนรู้ ก็จะเกิดปัญญาต่อยอดยิ่งขึ้นไปอีก” รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เชิญชวนผู้สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาผสมผสาน จากโมเดล “นาสร้างสุข” หมู่ที่ 5 บ้านกล้วยเภา ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

ที่มา : https://www.kasetkaoklai.com วันที่ 21 ก.ค. 2563

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่“ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

OrganicConsumerPower

  พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

  ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

  เมื่อชาวนาผู้มีหนี้สร้างตลาดอินทรีย์ด้วยตัวเอง พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

  พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2563

  บรรณาธิการ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

  กองบรรณาธิการ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์

  ดร.อาภา หวังเกียรติ อารีวรรณ คูสันเทียะ นิจนันท์ ปาณะพงศ์

  จัดพิมพ์โดย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

  สนับสนุนการจัดพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

  

ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มิได้มีเพียงมิติทางการเงินอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับมิติอื่น ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต

และวิถีการผลิตในสังคมเกษตรกร โครงสร้างอายุเกษตรกร ความจำกัดของที่ดิน ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน รวมถึงมีแนวโน้ม

สูงขึ้นที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง แต่มิติที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือความปั่นทอนในจิตใจของเกษตรกร

เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะปัญหาหนี้สินมายาวนาน

-ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์-

 

การกลับตัวออกจากวงจรหนี้สินของชาวนาไทย จำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ประการ คือ 1.หยุดหนี้สินเดิม ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้

หรือการตัดขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้บางส่วน 2.การสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งอาจมาจากการหาตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

หากต้องการชำระหนี้สินเดิมให้หมดในระยะ 5 ปี รายได้สุทธิจากการเกษตรต่อปีจะต้องมากกว่า 25% ของปริมาณหนี้คงค้าง

3.การมีเงินลงทุนใหม่ ซึ่งอาจจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก สามารถลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความเสี่ยงหรือมีต้นทุนการเงินต่ำ

-ดร.เดชรัต สุขกำเนิด-

 

การเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับผู้ผลิตในระบบอาหารปลอดภัย เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนัก

และเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกไปสู่พลเมืองอาหารที่มีความเข้าใจในโลกาภิวัตน์ของระบบอาหารที่ปัจจุบันปัจจัยการผลิตและตลาดอาหาร

ตกอยู่ในกำมือของทุนขนาดใหญ่ โดยใช้นโยบายของรัฐเป็นเครื่องมือในการกำกับ

-ดร.อาภา หวังเกียรติ-

 

สารบัญ : พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

·  บทนำ: ชาวนากับผู้บริโภค ความสัมพันธ์ใหม่ที่ท้าทาย

·  ส่วนที่หนึ่ง: เส้นทางหนี้สินชาวนาไทย

·  ประวัติศาสตร์และวงจรหนี้สินชาวนาไทย

·  ส่วนที่สอง: พฤติกรรมการเงินชาวนา

·  พฤติกรรมการเงินชาวนา กับการแก้ปัญหาของรัฐ

·  ส่วนที่สาม: พลังแห่งผู้บริโภค

·  เส้นทางการผลิตอินทรีย์ พลังของชาวนาผู้มีหนี้

·  ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

·  การเรียนรู้ของชาวนา กับตลาดอินทรีย์ที่กำลังเติบโต

 

download

 

ราคาเล่มละ 160 บาท (รายได้สมทบเข้ากองทุนสนับสนุนการแก้หนี้และปรับตัวของชาวนา)

สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : www.facebook.com/LocalAct 

 

ส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี จี้รัฐส่ง “พันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่ม” สู้ตลาดโลก

ThaiRiceExport2020

FILE PHOTO: REUTERS/ Athit Perawongmetha

ข้าวไทยวิกฤตต่ำสุดเสี่ยงส่งออกหดเหลือแค่ 4-5 ล้านตันใน 3-4 ปีข้างหน้าล่าสุด 5 เดือนแรกปีนี้ยอดตก 31% คาด ”เวียดนาม” แซงไทยขึ้นแท่นเบอร์ 3 ส่งออกทะลุ 7 ล้านตันเป็นปีแรก ส่วนไทยทำได้แค่ 6 ล้านตัน จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า บาทแข็ง-แล้งกระทบผลผลิต-ผู้นำเข้าสต๊อกเต็ม “เอกชน” จี้แก้ปัญหาพันธุ์ข้าว เสริมศักยภาพแข่งขัน ส่ง ”ข้าวขาวพื้นนิ่ม” ลงสนามแข่ง

นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในงานการประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563 ว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกเทียบกับคู่แข่งหลัก 5 ประเทศ พบว่า การส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาศักยภาพและคุณภาพข้าวลดลง หากไม่เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน ขยายช่องทางการขาย คาดว่ามีโอกาสการส่งออกข้าวทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยวางไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 จากเดิมที่เป็นอันดับ 2รองจากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน และเวียดนามจะขยับจากอันดับ 3 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 คาดว่าจะส่งออกได้ 7 ล้านตัน

จากการติดตามการส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ส่งออกปริมาณ 11 ล้านตัน ปี 2562 การส่งออกข้าวทั้งปี 7.5 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 5 เดือน(มกราคม-พฤษภาคม) 2563 ไทยส่งออกได้เพียง 2.5 ล้านตัน ลดลง 31.9% และเมื่อดูปริมาณการส่งออกรายเดือนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง 50-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยหากเทียบราคาข้าวส่งออกไทยกับประเทศส่งออกข้าวอื่น พบว่าราคาข้าวที่ซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนของข้าวขาวไทยตันละ 505-509 เหรียญสหรัฐ เวียดนามตันละ 463-467 เหรียญสหรัฐ และอินเดียตันละ 368-372 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลูกค้าย่อมเลือกสินค้าที่มีราคาถูกกว่า เพราะต้องยอมรับว่าคุณภาพข้าวประเทศคู่แข่งนั้นมีคุณภาพข้าวที่ดีขึ้นเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับไทย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งความนิยมบริโภคข้าวเปลี่ยนไป ปัญหาของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันและไม่เพิ่มศักยภาพ และคุณภาพข้าวไทยให้ดีกว่าคู่แข่ง มีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยจะลดลงอย่างมาก 

“ปริมาณการซื้อ-ขายข้าวในตลาดโลกต่อปี เฉลี่ย 44-45 ล้านตัน โดยข้าวขาวเป็นข้าวที่มีปริมาณการซื้อ-ขายกันมากที่สุด เฉลี่ยต่อปี 21 ล้านตัน และมีแนวโน้มปริมาณความต้องการก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มหรือข้าวขาวพื้นนิ่ม ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ส่งออกข้าวกลุ่มนี้เพียงเวียดนามและปากีสถานเท่านั้น ขณะที่ข้าวขาวพื้นแข็งมีประเทศที่ส่งออก คือ ไทย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีน แข่งขันกันมากกว่า ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดสำคัญของไทย หากความต้องการมีเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด ไทยก็เสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากขึ้น และยิ่งปริมาณผลผลิตต่อไร่ของไทยน้อยส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งอีก หากไม่ทำอะไรเลยเชื่อว่าภาย ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเห็นการส่งออกข้าวไทยต่อปีเหลือ 4-5 ล้านตันแน่นอน”

แนวโน้มผู้แข่งขันข้าวในตลาดโลกจะมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะจีนอาจกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกในอีก 3-5 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ เห็นได้จากการที่จีนพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกยังน้อย เช่น ปี 2561 จีนส่งออกข้าว 2.09 ล้านตัน เพิ่มเป็น 2.75 ล้านตันในปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่น่าจับตา คือ ปริมาณข้าวในสต๊อกของจีนมีถึง 117 ล้านตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศโดยจะเห็นได้ว่าปริมาณการผลิตข้าวของจีนมีปริมาณมาก โอกาสที่จะระบายข้าวออกมาในตลาดก็เป็นไปได้มากเช่นกัน

นายวัลลภกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลาดข้าวนั้น คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยโดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่ม การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้ว เวียดนามมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพียง 7 ล้านไร่ แต่กลับมีผลผลิต 45 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกข้าวอยู่ที่ 11 ล้านไร่ ผลผลิตมีเพียง 32 ล้านตันต่อปี ทำอย่างไรให้ผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นลดต้นทุนการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดี นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการส่งออกข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกด้วย โดยจัดให้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบรับรองการเพิ่มด้วย

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง ตลาดข้าวไทย :โอกาสและความท้าทายในตลาดโลก ว่า คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสแย่ลง คาดว่าราคาสินค้าเกษตรอาจจะหดตัว 4.5% ได้ โดยการส่งออกข้าวในเดือนมิถุนายน 2563 ไทยมีโอกาสทำได้ 450,000-500,000 ตันจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาข้าวไทยในตลาดโลก ปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ประเทศผู้นำเข้ามีสต๊อกข้าวเพียงพอแล้ว จีนมีสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น ประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เวียดนาม มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ไทยต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันพัฒนาช่องทางการขายรุกตลาดแพลตฟอร์มต่างประเทศ โลจิสติกส์ตอบโจทย์การบริโภคข้าวให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เน้นทำการตลาดข้าวขาวพื้นนุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เลี่ยงการแข่งขันเรื่องราคา เน้นไปแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 ก.ค. 2563

หนังสือข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน

  EsanLocalRiceCover 

     หนังสือข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน

     ผู้เขียน : จิตติมา ผลเสวก อารีวรรณ คูสันเทียะ
     สนับสนุนข้อมูลโดย : คณะทำงานพันธุกรรมพื้นบ้านอีสาน
     พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2546
     จัดพิมพ์โดย ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน (RRAFA)
 
 
 
 
 
 
 
   ดาวน์โหลดหนังสือ ส่วนที่ 1
     
   ดาวน์โหลดหนังสือ ส่วนที่ 2  

 

 

 

 

 
 
 
เชื้อพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเท่าที่ได้รับฟังจากความทรงจำของชาวนาภาคอีสานมีมากมายหลายหลากเหลือเกิน
แต่เท่าที่ยังมีให้ได้สัมผัส ได้พบเห็นกับตา ซึ่งมีทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้เป็นเชื้อปลูก และทั้งในบางฤดู
ที่ได้ชวนกันเดินตามคันนาไปดูต้นข้าวพื้นบ้านกำลังเป็นรวงนั้น นับว่ามีอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ โดยเฉพาะเมื่อ 
เทียบกับข้อมูลตัวเลขซึ่งบันทึกไว้ว่าเดิมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไทยเรามีนับหมื่นสายพันธุ์

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เผยปมปัญหา เปลี่ยนวิถีชาวนาปลูกพืชน้ำน้อยล้มเหลว

ProblemofLesswaterCrops

ปัจจุบันการส่งออกข้าวของไทย ถ้าไม่นับเรื่องคุณภาพ อาจจะไม่ได้ครองสถานะเบอร์ 1ตลอดไป  เพราะต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่ชาวนาเองกลับมีรายได้ สวนทาง บางรอบก็ขาดทุนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตแล้ง แต่น่าสนใจว่าตลอดหลายปีที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรพยายามพูดคุยให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิถีเพาะปลูก แต่เหตุใดไม่สำเร็จ 

ผ้ายางสีดำ และท่อน้ำหยดสำหรับปลูกแตงโม เวลานี้ถูกรื้อถอนม้วนเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ นี่ไม่ใช่การเลิกกิจการ แต่เป็นการเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกแตงโมใหม่อีกรอบ หลังได้ผลผลิตดีเกินคาด

เกษตรกรรายนี้ บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอทำนามาทั้งชีวิต แต่เพราะปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตตกต่ำ  จึงหันมาปลูกพืชน้ำน้อย ทั้ง แตงโม ข้าวโพด และฟักทอง เพื่อหวังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตามคำแนะนำของเกษตรจังหวัด

ปัจจุบันเกษตรกรรายนี้ได้กำไรจากสวนแตงโมแล้วอย่างน้อย 30,000 บาท ซึ่งถือว่ามากกว่ากำไรจากการทำนาหลายเท่าตัว  แต่น่าสนใจว่าเมื่อมองดูที่นาในละแวกใกล้เคียง กลับพบว่าบางส่วนยังฝืนทำนาอยู่ ขณะที่อีกหลายแปลงถูกปล่อยรกร้าง เพราะไม่มีน้ำพอให้ทำนา

“ปกติแล้วการทำนา 1 ครั้ง จะต้องใช้น้ำประมาณ 1600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่นาข้าวจำนวนมากทำให้การทำนาหนึ่งครั้งที่นี่ต้องใช้น้ำมากถึงกว่า 1400 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เสียอีก นี่จึงเป็นเหตุผลให้ทางเกษตรจังหวัดต้องเข้ามาส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เพื่อลดการใช้น้ำและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่น่าสนใจว่าจนถึงวันนี้มีชาวนาเพียงแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยอมปรับเปลี่ยนการปลูกพืช”

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า มีหลายปัจจัยที่ชาวนาไม่ยอมเปลี่ยนใจหันมาปลูกพืชอื่น ทั้งขาดความรู้ ขาดเงินทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ หรือแม้แต่นโยบายในภาพใหญ่ ก็ได้ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรทำกินเดิม   

แม้ปัจจุบันชาวนาจะถูกบีบคั้นด้วยการถูกจำกัดการใช้น้ำจากภาวะภัยแล้ง และหนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกวัน แต่มีพื้นที่เพียง 3-5 แสนไร่ จาก 60 กว่าล้านไร่เท่านั้น ที่หันมาปลูกพืชน้ำน้อย นักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การชักชวนเกษตรกรเปลี่ยนวิถีเพาะปลูกไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของไทย ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากถูกใช้ให้ทำงานด้านลงทะเบียนเป็นหลัก

สุรลักษณ์ ตั้งรุจิวัฒนชัย ถ่ายภาพ

ปรารถนา พรมพิทักษ์ รายงาน

ที่มา : PPTV วันที่ 17 เม.ย. 2563

logo footer 
มูลนิธิชีวิตไท  (Local Act)  
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465  E-mail :  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

9217152
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2862
9049
11911
99468
9217152

Your IP: 3.144.162.109
2025-05-12 11:45
Visitors Counter