ธ.ก.ส. เปิดตัว “สินเชื่อแทนคุณ” วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้ทายาทกู้ปิดหนี้จากรุ่นใหญ่ แก้ปัญหาผู้กู้สูงวัย

BankofAgri

 

วันนี้ (25 ก.ค.) มีการแถลงข่าวเพื่อหามาตรการแก้หนี้ครัวเรือนระหว่างสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาคมธนาคารไทย ล่าสุดด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นอกจากจะมีนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการให้ความรู้ทางการเงิน และเพิ่มแนวทางการแก้หนี้แล้ว ยังมีโครงการ ‘สินเชื่อแทนคุณ” เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกหนี้อีกด้วย 

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า (ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้ราว 35% ของลูกค้าทั้งหมด จึงได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าเกษตรกรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้และมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ทายาทที่มารับช่วงประกอบอาชีพ เพื่อปิดชำระหนี้เดิมของผู้สูงอายุ แบ่งเป็น

  1. สัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี มีอัตราดอกเบี้ยดังนี้ (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.975%) 
  • อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 เท่ากับ MRR 
  • ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1 
  • ปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2 
  1. สัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0%

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน ขณะที่โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอื่นๆ ยังสอดคล้องกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL 

โดย ธ.ก.ส. มีการจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ตามปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการวางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น

  • โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย
  • แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนัก ผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจาก 14.6% ไปอยู่ที่ 7.68% ณ 31 มี.ค. 2023

นอกจากนี้ ส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2020 ถึงงวด มี.ค. 2021 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท โดยในปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท

​ที่มา : Brand Inside วันที่ 27 ก.ค. 2566

  • ฮิต: 761

‘ฉายภาพ’ รัฐบาลใหม่ ‘หนี้สินเกษตรกร’ วังวนนี้ ‘มีรากปัญหา’

FarmerDebtSolutionModel

ผ่านวันเลือกตั้ง 2566 มาถึงวันนี้...กับ “โฉมหน้าคณะรัฐบาล-โฉมหน้านายกรัฐมนตรี” ได้เห็นกันชัดเจนหรือยัง?? ก็ดังที่คนไทยทราบ ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรคนไทยก็ย่อม “คาดหวัง” กับสิ่งที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคต่าง ๆ ได้หาเสียงชูเป็น “นโยบายขายฝัน” ไว้…ว่า “ฝันจะเป็นจริง??” รวมถึงคนไทยกลุ่มที่เป็น “เกษตรกร” โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยัง “ติดอยู่ในวังวนหนี้เกษตร” จนไม่สามารถที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้…ที่ก็ย่อม “หวังว่าจะปลดล็อกหนี้” ได้ ซึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งของบรรดานักการเมืองพรรคต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีการ “ชูเรื่องนี้ขึ้นมาเรียกคะแนนเสียง” เพราะต่างก็รู้ดีว่า

เกษตรกรยัง “วนเวียนกับวังวนหนี้สิน”

และเกษตรกรกลุ่มนี้ยัง “มีจำนวนมาก”

ทั้งนี้ เกษตรกรไทยที่ทุกข์เรื่องหนี้จะมีรัฐบาลใหม่ที่ช่วยแก้หนี้ได้เร็ว…ได้ดี…ได้จริงแค่ไหน??-อย่างไร?? ก็ยังต้องรอดูกันไป อย่างไรก็ดี โฟกัสที่ “แนวทางแก้ปัญหาหนี้ให้เกษตรกรชาวนา” กรณีนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ โดยเป็นข้อมูลน่าสนใจโดย ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ที่จัดทำคู่มือเกษตรกร“โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” ซึ่งฉายภาพ “สถานการณ์และความท้าทาย” ที่เกษตรกรชาวนาไทยต้องเผชิญ โดยสรุปมีดังนี้…

สำหรับด้าน ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น พบปัญหาว่า… เกษตรกรและชาวนาก็ต้องเผชิญ ค่าจ้างแรงงาน ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแม้แต่ในยามที่มีสถานการณ์ปกติ และถ้าหากยิ่งมีสถานการณ์วิกฤติ อาทิ สงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ก็ยิ่งส่งผลต่อต้นทุน ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ราคาปรับตัวสูงจนส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งกับชาวนานั้น เมื่อประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ

เกษตรกรที่ทำนาเคมีนั้นยิ่งเสี่ยงขาดทุน

                                                           Farmer in rice field with smartphone

สถานการณ์และความท้าทายต่อมาคือ… เกษตรกรทำนามีประสิทธิภาพในการผลิต/ผลิตภาพ (Productivity) ค่อนข้างต่ำ ถึงแม้จะลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงก็ยังมีกำไรน้อยซึ่งการทำนาและการทำเกษตรแบบมุ่งเป้าประสิทธิภาพการผลิตนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ หากแต่พบว่า…เกษตรกรและชาวนาของไทยที่ทำเกษตรในรูปแบบนี้มีระดับที่ต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตหรือผลผลิตต่อไร่นั้นพบว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียถึงร้อยละ 32 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถานการณ์ต่อมาที่พบคือ… การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ขณะนี้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกชนิดเดียวที่สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก การส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกลดลงเหลือแค่ร้อยละ 14 ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมดในโลก ขณะที่เมียนมา กัมพูชา ลาว มีมูลค่าส่งออกข้าวเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญ โดยสาเหตุสำคัญคือผลผลิตต่อไร่ที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การลงทุนสูง ทำให้ข้าวไทยราคาสูงตามไปด้วย

ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “ปัญหาที่เกิดขึ้น”…

ที่อาจ “ส่งผลเป็นปัจจัยให้เกิดวังวนหนี้”

ในคู่มือเกษตรกรดังกล่าวยังสะท้อนไว้อีกว่า… จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพในการผลิตหรือผลิตภาพที่สูงและมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทย ซึ่งหากมองไปที่ สถานการณ์หนี้สินของเกษตรกรและชาวนา แล้ว จะพบว่า… ชาวนาและเกษตรกรไทยเกือบครึ่งมีภาระหนี้สินระยะยาว และนอกจากนี้ ข้อมูลที่ทาง มูลนิธิชีวิตไท ได้จัดทำล่าสุดในปี 2565 ก็พบตัวเลขที่สะท้อนว่า… มีเกษตรกรไทยที่มีหนี้สินถึงร้อยละ 40.8 ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้!! เพราะ…

ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายการผลิต…

รวมถึงภาระค่าครองชีพในชีวิตที่เพิ่มขึ้น

นอกจากสถานการณ์ดังที่ระบุข้างต้น ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ ยังสะท้อน-ฉายภาพ “สาเหตุหนี้สินเกษตรกร” ไว้ว่า… มี 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญ ได้แก่ “หนี้จากการลงทุนเพื่อการผลิต” ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกษตรกรและชาวนาเป็นหนี้ เนื่องจากการลงทุนเป็นการลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงต่อการได้ผลผลิตน้อย จากปัจจัยการผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ น้ำแล้ง-น้ำท่วม โรคพืช-แมลง การไม่มีอำนาจต่อรองด้านราคา อีกปัจจัยคือ “หนี้จากค่าครองชีพในครอบครัว” เช่น ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตร ที่เป็นการกู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่ง หนี้ทั้ง 2 ปัจจัยนี้กลายเป็น “มรดกหนี้สิน”

รุ่นพ่อแม่ “ส่งต่อมาสู่รุ่นลูก-รุ่นหลาน!!”

ทั้งนี้ ในคู่มือดังกล่าวข้างต้นยังมีการสะท้อนภาพ “ปัญหาหนี้ของเกษตรกร-ชาวนา” ไว้ด้วยว่า… จากสถานการณ์ที่ต้องเผชิญนี้ ส่งผลทำให้ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวพ้นเส้นความยากจนได้ จากการที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าความสามารถที่ควรจะมีในการชำระหนี้สิน ซึ่งจะ ยิ่งเกิดความเปราะบางเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมที่ต้องหมุนหนี้ด้วยการกู้ยืมหนี้ก้อนใหม่ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้ “เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้ได้!!”

ถามว่า “จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ยังไง??”

ในคู่มือก็ “มีข้อเสนอแนะ” ระบุเอาไว้…

“ควรใช้วิธีใด??”…ตอนหน้ามาดูกัน…

ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 17 พ.ค. 2566

  • ฮิต: 854

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

"ศูนย์ข้าวชุมชน" อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบใหม่ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเกษตรแปลงใหญ่ กันครหาไม่โปร่งใส เล็งสวมโมเดลข้าวรักษ์โลก หันมาใช้จุลินทรีย์แทน อุดหนุนพันธุ์ข้าวเป็นรายจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของโรงสีในพื้นที่นั้น พ่วงขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้ชาวนา

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์  ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงแนวคิดที่จะเปลี่ยนโลโก้ใหม่ จาก “ศูนย์ข้าวชุมชน” มาเป็น “ศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร”   เปลี่ยนชื่อไม่ได้  แต่วิธีการทำงานมุ่งเน้น การผลิตข้าวและพัฒนาชาวนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าว เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่

โดยใช้การผลิตเกษตรกรรมมูลค่าสูง เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวด้วยตนเอง ช่วยให้ชุมชนและองค์กรชาวนา เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการผลผลิตข้าวตลอดระบบห่วงโซ่การผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจรจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์ข้าวชุมชนและกรมการข้าว นั้น

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการดำเนินงานในการส่งเสริมสนับสนุน และติดตาม กำกับ ดูแล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ปัจจุบันได้มีคำสั่งแต่งตั้งศูนย์ข้าวชุมชน ทั่วประเทศ  6,559 ศูนย์ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  มีแผนงาน ระเบียบ โครงการสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอพพลิเคชั่น จะลงไว้ละเอียดเลย ที่ตั้งศูนย์ รายเอียดข้อมูลแต่ละศูนย์ อยู่ระหว่างการรวบรวม

เปิดแอพพลิเคชั่น “ศูนย์ข้าวชุมชน”

ส่วนโปรแกรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้นจะตอบคำถามสาธารณะไม่ได้ว่า “ศูนย์ข้าวชุมชน” ตั้งอยู่ที่ไหน อุปโลกน์ขึ้นมาหรือไม่ ต้องการของบประมาณมาทำงานหรือไม่ เพราะการตรวจสอบต้องชัดเจนจะทำมั่วไม่ได้ ต้องชัดเจนทุกเรื่อง ทั้งที่ตั้งแปลง ไปซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ อาทิ แปลงใหญ่  หรือหน่วยงานอื่นหรือไม่ แต่ถ้าไปซ้ำซ้อนกับแปลงใหญ่ เกษตรกรต้องเลือกว่าจะเข้าศูนย์ข้าวชุมชน หรือแปลงใหญ่ เพราะ เกษตรแปลงใหญ่ จะเป็นตัวครอบของศูนย์ข้าวชุมชนอีกทีหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการจะต้องแยกให้ชัดเจน ไม่ใช่คณะกรรมการส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน อีกส่วนหนึ่งเป็นแปลงใหญ่ กรณีไม่เอา ต้องแยกให้ขาด

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

“ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องจะลำบาก เพราะเกิดมีผู้ใหญ่ตรวจสอบ จริงหรือไม่ว่ามีศูนย์ข้าวชุมชน ตามที่ไปอ้างถึงมีตัวตนหรือไม่ แล้วไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใดหรือไม่ เพราะเวลาไปของบประมาณมา ยกตัวอย่าง ศูนย์ข้าวชุมชน ก. เป็นนาแปลงใหญ่ด้วย ในบุคคลเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่าซ้ำซ้อนไม่ได้ ต้องละเอียด และต้องทำให้ถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน ผมก็ไม่ต้องลำบาก ไม่ถูกด่าเวลาไปถึงสำนักงบประมาณแล้ว จะโดนกล่าวหาว่าไปหลอกเอางบประมาณมาหรือเปล่า ต่อไปจากนี้ไม่ใช่แล้ว”

จัดโซนนิ่งข้าว

อย่างวันนี้ “ศูนย์ข้าวชุมชน” หลายศูนย์ในเขตภาคอีสานมาขอเมล็ดพันธุ์ 79 และ 85 ด้วย ไม่ให้เลย เพราะเกรงว่าจะไปปะปนกับข้าวหอมมะลิ ต้องแยกโซนไว้ก่อน ข้าวชนิดไหนควรจะลงในพื้นที่ไหน จะได้จำแนกชนิดข้าวออกมาเป็นรายจังหวัด รายภาค ไม่เช่นนั้นข้าวปะปน ถ้าได้งบประมาณมาแล้วก็จะบริหารไปก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปีนี้เมื่อมาอยู่ภายใต้การบริหารของกรมการข้าวในยุคนี้

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

1.พื้นที่ที่จะบริหารจัดการ ที่ตั้งของศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องยกให้เป็นของกรมการข้าว เพื่อที่จะบริหารจัดการได้ ถึงจะอุดหนุนงบประมาณลงไปได้

2.ศูนย์ข้าวชุมชน ต้องเป็นนิติบุคคล ถึงจะโอนเงินไปให้ได้

ส่วนกรณี “แปลงใหญ่” ไม่ได้ ทำไมไม่ได้ เพราะไม่ได้ถือบัญชีแปลงใหญ่ คนที่เป็นเลขา ก็คือ กรมส่งเสริมการเกษตร ก็เลยควบคุมอะไรไม่ได้

ดันโครงการข้าวรักษ์โลก ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน

นาย ณัฏฐกิตติ์  กล่าวว่า ในส่วนโครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ นับว่าเป็นโครงการ อันดับแรก ของศูนย์ข้าวชุมชน ที่มีการจัดระเบียบใหม่  ก็ได้ให้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง ชุมชนจะต้องแก้ปัญหาเอง ไม่ใช่เราจะไปแก้ปัญหาให้ เพราะฉะนั้นจะต้องเรียงลำดับความสำคัญว่าในหมู่บ้านชุมชนไหนที่มีความสำคัญ และชุมชนไหนจะผลิตและจริงจัง ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะของบประมาณมาโดยไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่รับ ต้องทำศูนย์ให้ปรากฏชัดเจน กรมการข้าวทำโครงการสนับสนุนไป

“วันนี้โครงการศูนย์ข้าวชุมชน จะเอาโครงการข้าวรักษ์โลกไปลงบังคับให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีต้องลงทุนใช้จุลินทรีย์ แล้วต้องปลูกข้าวตามพันธุ์ชนิด ที่กรมการข้าวกำหนด โดยครั้งแรกอาจจะต้องอุดหนุนเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปลูก เครื่องเพาะ ถึงจะได้ขายคาร์บอนเครดิต ก็ต้องทำตามทุกข้อ แล้วถ้าบริหารจัดการไม่ได้ก็เสียงบประมาณ เพราะฉะนั้นกรมต้องบริหารจัดการได้”

เล็งขายคาร์บอนเครดิตให้เนเธอร์แลนด์

นาย ณัฏฐกิตติ์   กล่าวว่า  วันนี้เราต้องทราบว่าใน 4-5 ปีข้างหน้า จะขายข้าวลำบาก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงได้ไปทำข้อตกลงกับประเทศเนเธอร์แลนด์จะส่งรายละเอียดตามข้อตกลงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงได้เห็นช่อง จึงนำโครงการนี้ลงไปใช้จุลินทรีย์เพื่อไม่ให้โครงการซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น จึงทำค่อยเป็นค่อยไป  อย่างโครงการส่งเสริมใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทำ 3-4 ปี ซ้อนในโครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพ”

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

ในการไปทำงานลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้สั่งกระชับคณะผู้บริหาร 8 คน ให้สำรวจแต่ละศูนย์มีเครื่องมืออะไรบ้าง  อาทิ ถ้ามีรถไถ หรือ รถเกี่ยว ก็ไม่ต้อง ให้ใช้ซื้องบประมาณในส่วนเครื่องมือขาด ไม่มี  แต่จะต้องซื้อให้เหมาะสม และมีคุณภาพ ต้องการเปิดกว้าง ใช้บทเรียนในอดีตอย่าไปคิดแทน พร้อมกับประสานโรงสี แต่ละพื้นที่มีความประสงค์จะซื้อข้าวชนิดไหน

“ ยกตัวอย่างพื้นที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ไม่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำนา 2 ครั้ง  เป็นข้าวนาปรัง เป็น พันธุ์ข้าวชัยนาท หรือพันธุ์ข้าว กข85 หรือพันธุ์ กข95 เป็นข้าวพื้นแข็ง จะให้ส่งข้าวโรงสี ในพื้นที่ตรงนั้น ชาวนาก็จะไม่สามารถกลับมาปลูกข้าวหอมมะลิได้แล้ว เพราะถ้าปล่อยให้กลับมาปลูกข้าวหอมมะลิ จะปนกัน”

นี่เป็นก้าวใหม่ ของ “ศูนย์ข้าวชุมชน” ที่อยู่ภายใต้การบริหารกรมการข้าว ต้องการให้เกษตรกรปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่างทั้งคุณภาพของดินปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชและได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ที่มา : คอลัมน์ การค้า การเกษตร ฐานเศรษฐกิจ / 11 ก.พ.2566

  • ฮิต: 1536

‘ข้อเสนอ’ รัฐบาลใหม่ ‘แก้หนี้เกษตรกร’ วิธีนั้นมี ‘วัดใจ-วัดกึ๋น’

FarmerDebtSolution22052023

ตอนที่แล้วทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อข้อมูลน่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อมูลโดย ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ มูลนิธิชีวิตไท ที่ได้ฉายภาพกรณี “หนี้สินเกษตรกรและชาวนา” ตอนนี้มาดูกันต่ออีกส่วนหนึ่ง...

ทั้งนี้ในคู่มือเกษตรกร “โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” โดยนักวิชาการท่านดังกล่าวนี้ นอกจากจะสะท้อน “สถานการณ์ปัญหาที่เกษตรกร-ชาวนาไทยต้องเผชิญ” แล้ว…ยังมีการ “เสนอแนวทางช่วยปลดล็อกวังวนหนี้” ให้กับเกษตรกรไว้ว่า…การจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น...

จะ “ต้องรู้ถึงรากของปัญหา” ที่เกิดขึ้น

รวมถึง “เหตุที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สิน”

“จึงจะสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ตรงจุด!!”

ทั้งนี้ ดร.รุ้งทอง มูลนิธิชีวิตไท ได้มีการระบุไว้ในคู่มือ “โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” ว่า… สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินนั้น มีหลายประการ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า… หนี้สินเกษตรกรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เพราะการเป็นหนี้สินของเกษตรกรและชาวนานั้น เกิดขึ้นมาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันหลากหลายด้าน

อนึ่ง นอกจากการที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและรายได้ที่ไม่พอเพียงกับรายจ่ายแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ “เกษตรกรตกอยู่ในวังวนหนี้” ก็คือ “ปัจจัยความรู้-ทัศนคติ” ที่ทำให้ไม่เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดย เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตทันทีหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งการขายแบบนี้ ทำให้ไม่เกิดการเพิ่มมูลค่า และไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

ยิ่งหาก “ขายผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง”

ยิ่งทำให้ “ขาดอำนาจต่อรองด้านราคา”

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้นี่เอง จึงเป็นที่มาในการจัดทำ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อการ “แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร” โดยในคู่มือดังกล่าว ได้มีการเสนอแนะการแก้ไขปัญหานี้ ผ่าน “แนวทาง” ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… “ไม่ควรแก้แบบแยกส่วน แต่ควรแก้ปัญหาอย่างครบวงจร” เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและชาวนานั้น มีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัยทำให้เกิดภาระหนี้สิน ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหานี้ได้จึงต้องมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การวิเคราะห์รากของปัญหา, การจัดทำกระบวนการทบทวนและวิเคราะห์หนี้, การวางแผนการลงมือปฏิบัติ เป็นต้น เพื่อที่จะ…

ให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการผลิต

ที่จะลดต้นทุนพร้อมกับการเพิ่มรายได้

 

แนวทางประการต่อมาคือ… “ควรระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์มาร่วมกันแก้ปัญหา” โดยเฉพาะในการ ออกแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาหนี้ของชาวนาและเกษตรกร เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนั้น มีความซับซ้อน และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากแค่เรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากจะอุดช่องว่างเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ ศาสตร์ อาทิ นักเศรษฐศาสตร์, นักการเกษตร, นักธุรกิจ, นักจิตวิทยา เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโมเดลการแก้ปัญหา 

ในรูปแบบ “ทำงานบูรณาการร่วมกัน”

มิใช่ปล่อยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเกษตรกร อาทิ… “ควรมีกระบวนการจัดการความเครียดให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้” ด้วย เนื่องจากพบว่า เกษตรกรและชาวนาในปัจจุบันนี้ตกอยู่ภาวะมีความเครียดรุนแรง จากปัญหาหนี้ จากปัญหาผลผลิตตกต่ำ และจากปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงปัญหาภายในครอบครัว โดยกระบวนการจัดการความเครียดนี้ จะช่วยลดแรงกดดันที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ ซึ่งหากสามารถลดความเครียดได้แล้ว เกษตรกรก็จะมีสติ…

จะนำไปสู่การ “เห็นทางออก-แนวทาง”

ที่จะนำมาแก้ปัญหาหนี้ของตัวเกษตรกรเอง

ถัดมา…“ควรมีโมเดลลดต้นทุนการผลิตที่ทำได้จริง” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปศึกษาและปรับใช้จริง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ เช่น การให้ความรู้เรื่องการลดรายจ่ายครัวเรือนที่ไม่จำเป็น, การส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางการเกษตร อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การปลูกพืชผสมผสานหลังฤดูทำนา การปลูกไม้ยืนต้น-ไม้เศรษฐกิจเสริม เป็นต้น เพื่อ…

“เพิ่มรายได้หมุนเวียน” ให้กับเกษตรกร

เติมรายได้ตลอดทั้งปีด้วยรายได้หมุนเวียน

และอีกแนวทางที่มีการเสนอไว้คือ… “ควรส่งเสริมให้มีระบบกลุ่มหรือเครือข่าย” ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เกษตรกรเห็นทางออกการแก้ปัญหา จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ พื้นที่ …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “แนวทางช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาหนี้” ที่จัดทำโดย ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ มูลนิธิชีวิตไท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเสนอ “ทางออกช่วยเหลือเกษตรกร-ชาวนา”

เหล่านี้นับว่าเป็นอีก “ชุดข้อมูลที่น่าสนใจ”

ในการ “ช่วยเกษตรกรไทยปลดล็อกหนี้”

อีก “ปัญหาที่รอความใส่ใจ?-วัดฝีมือ?” ของนักการเมือง…“ของรัฐบาลใหม่”.

‘ฉายภาพ’ รัฐบาลใหม่ ‘หนี้สินเกษตรกร’ วังวนนี้ ‘มีรากปัญหา’

ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 18 พ.ค. 2566 

  • ฮิต: 1590

“กรมการข้าว” เปิดจุดบริการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิ หนุนส่งออก

“กรมการข้าว” เปิดจุดบริการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิ หนุนส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงาน (10 ก.พ. 2566) นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้เดินทางเปิดหน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงสี และผู้ประกอบการค้าข้าว สามารถเข้าถึงบริการตรวจสอบการปลอมปนพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอที่ทันสมัยและแม่นยำสูงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

“กรมการข้าว” เปิดจุดบริการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิ หนุนส่งออก

สำหรับกรมการข้าว เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ซึ่งจากที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” นำสู่การจัดตั้ง "หน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย" ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมการข้าว ในการยกระดับมาตรฐาน และสร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออกข้าวไทย

“กรมการข้าว” เปิดจุดบริการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิ หนุนส่งออก

ทั้งนี้ได้นำองค์ความรู้พื้นฐานจากงานวิจัยเกี่ยวกับฐานข้อมูลเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมข้าวไทย (DNA Fingerprint) มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้วางแนวทางและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกมูลค่าสูงของไทย 

“กรมการข้าว” เปิดจุดบริการตรวจ DNA ข้าวหอมมะลิ หนุนส่งออก

สำหรับผู้ที่สนใจตรวจ DNA ข้าว สามารถติดต่อได้ที่ ดร.พัณณ์ชิตา เวชสาร ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี หรือส่งคำขอรับบริการผ่านทางเว็บไซต์ https://dna-testing.ricethailand.go.th/ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Tel : 093-5925056

ที่มา คอลัมน์การค้า การเกษตร ฐานเศรษฐกิจ / 10 ก.พ. 2566

  • ฮิต: 1411

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6769120
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2400
5699
14875
160646
6769120

Your IP: 3.138.138.144
2024-04-30 12:52