ช่วยเหลือชาวนาเรื่องข้าว ผลประโยชน์ใครกันแน่

Created
วันอาทิตย์, 23 พฤษภาคม 2553
Created by
นรัญกร กลวัชร
Categories
สัมมนา/วิจัย
 

ปี 2550 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการประกันราคาข้าวทั้งสิ้น 3,102 ล้านบาท    โดยให้ องค์การคลังสินค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการค้าภายใน เป็นผู้ดำเนินโครงการรับจำนำและเก็บรักษาผลผลิตข้าว  มีรูปแบบการรับจำนำ 3 ประเภทคือ (1) รับจำนำข้าวเปลือก (2) รับจำนำใบประทวน[1] และ (3) รับจำนำยุ้งฉาง  ราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกปีการผลิต 2549/50  อยู่ที่ราคาระหว่าง 6,100 – 9,000 บาทต่อเกวียน  ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของข้าว

 

เป้าหมายและขั้นตอนโดยปกติของการรับจำนำข้าว รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะมอบหมายให้  ธ.ก.ส. และ อคส. ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก   เป้า หมายหลักเพื่อช่วยเหลือชาวนา โดย อคส. จะรับฝากเก็บข้าวเปลือกไว้ในคลังสินค้าที่กำหนด และออกใบประทวนสินค้าให้แก่ชาวนาผู้ฝากเก็บ  เพื่อนำไปจำนำไว้กับ ธ.ก.ส. เมื่อ ถึงเวลาที่ข้าวราคาสูงขึ้น  ชาวนาสามารถมาไถ่ข้าวที่จำนำไว้  นำไปขายในราคาที่สูงกว่าได้   หากชาวนาไม่มาไถ่ข้าวคืน    ข้าวที่ถูกเก็บไว้ในคลังสินค้า  รัฐก็จะปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลข้าวออกไปขาย และส่งออกต่อไป 

โดยหลักการเป้าหมาย  การรับจำนำข้าวจากชาวนา  น่าจะสามารถช่วยเหลือชาวนาในเรื่องราคาข้าวได้  แต่ในความเป็นจริง  มีรายละเอียดหลายประการที่ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา  ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

ที่จังหวัดชัยนาท ในปี 2550 ราคา ข้าวเปลือกปทุมธานี ที่ชาวนาขายได้จริง ณ โรงสี คือ 5,500 บาทต่อตัน ราคานี้เมื่อเทียบกับข้าวคุณภาพเดียวกัน  ยังต่ำกว่าราคาตลาดหรือราคารับซื้อของรัฐ 6,500 บาทอยู่ถึงพันบาท ต่อตัน 

ถึงอย่างไรชาวนาก็ยังต้องขายข้าวของตนเองออกไป เนื่องจากเหตุผลความขัดสนทางการเงิน และหนี้สินในครอบครัว   ชาวนาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ เหตุผลทั้งในเรื่องปริมาณข้าวที่เปิดให้มีการรับจำนำมีปริมาณจำกัดเกินไป   ประกอบกับหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ชาวนาต้องรีบขายข้าวเพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนใช้ในครอบครัว   ข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จใหม่ๆ ยังไม่แห้งดี  เมื่อนำไปขาย  จะได้ราคาที่ต่ำลงเนื่องจากจะถูกหักค่าความชื้นที่สูงเกินไป

นอกจากนี้ถ้าชาวนารายใดเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.อยู่  ก็จะประสบความยุ่งยากลำบากใจในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐ   เพราะเมื่อชาวนานำใบประทวนไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. ชาวนารู้ดีว่า  ธ.ก.ส. จะหักชำระหนี้เอาไว้เลย พวกเขาจึงไม่มีโอกาสได้รับเงินสด   ถ้าไม่ไปขอกู้รอบใหม่ กับ ธ.ก.ส.  ประเด็น คือ  ชาวนากว่า 90 % ปัจจุบัน  มีหนี้อยู่กับ ธกส ทั้งสิ้น ถ้าชาวนาที่ต้องการรับเงินสดจากการขายข้าวจริงๆ ดูเหมือน การเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว  จะไม่ใช่เงื่อนไขที่ดี  ที่จะได้รับเงินสดจากการขายข้าว

ในปี 2550  รัฐบาลมีมติกำหนดมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2549/50 จำนวน9 ล้านตันข้าวเปลือก และนาปรัง ปีการผลิต 2549 จำนวน 2.0 ล้านตันข้าวเปลือก  ขั้น ตอนการรับจำนำข้าวที่ปล่อยให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการ  ประกอบกับการตรวจสอบที่ไม่รัดกุมของภาครัฐ   ทำให้โครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐที่ควรจะประสบความสำเร็จกลับต้องประสบ ปัญหาขาดทุนทุกปี  โดยในรัฐบาลชุดที่แล้วของ พ.ต.ท. ทักษิณ ขาดทุนถึงปีละ 10,000 ล้านบาท  และขาดทุนอีกปีละ 3,000 ล้านบาทในรัฐบาลต่อมา ที่สำคัญคนรับผลประโยชน์  ก็มิใช่ชาวนา

มีโรงสีถึงกว่า 40 % ของ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว  ดำเนินการรับจำนำ และเก็บรักษาผลผลิตข้าวโดยไม่โปร่งใส  มีทั้งการรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ต่ำกว่าราคาจำนำ  เนื่องจากรู้ว่า ชาวนามีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินเร็ว  จึงสร้างเงื่อนไขใหม่ที่สามารถจ่ายเงินสดให้ชาวนาได้ทันที  แต่ต้องเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาจำนำ  และต้องยินยอมเซ็นเอกสารที่ทำให้โรงสีสามารถนำใบระทวนเพื่อสวมสิทธิ์ เกษตรกร  ไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.  ได้ในราคาจำนำ

ในขณะเดียวกัน  ข้าวที่ถูกฝากไว้กับโรงสี ที่ดูแลกำกับโดย อคส. หรือ อตก. ในหลายจังหวัด  มีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส  เช่นการปลอมปนข้าว  เปลี่ยนเอาข้าวราคาแพงที่รับจำนำไว้ไปขาย  และซื้อข้าวราคาถูกกว่ามาผสม  หรือมาคืนเก็บไว้ในคลังสินค้าแทน   หรือแม้แต่การลักลอบขโมยนำเข้ารัฐที่ฝากไว้ ไปขายในคลังสินค้าจึงมีแต่สต็อกลมแทน  จะ เห็นได้ว่า การคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ   ทำให้รัฐต้องรับซื้อข้าวในราคาที่แพง   แต่คนที่ได้รับประโยชน์จากการรับซื้อข้าวแพง  กลับเป็นพ่อค้าเอกชนหรือโรงสีที่เห็นช่องว่างและเข้าไปสวมสิทธิ์เกษตรกร

ส่วนในขั้นตอนการประมูลข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าเพื่อนำออกมาขาย  โดยปกติรัฐจะเปิดให้ภาคเอกชนจากที่ต่างๆ  ยืนขอประมูลซื้อข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าเพื่อนำออกมาขายและส่งออก  ที่ผ่านมารัฐต้องขาดทุนทุกครั้งจากโครงการรับจำนำข้าว  เพราะเวลาประมูลข้าวออกมาขาย  พบว่าบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลข้าว มักเป็นบริษัทเอกชนที่มีเส้นสายใกล้ชิดกับคนวงในรัฐบาล   ราคาประมูลจึงมักเป็นราคาที่ต่ำ   และรัฐต้องขาดทุน  เนื่องจากซื้อข้าวมาแพง แต่ต้องขายออกไปในราคาที่ถูกกว่า    

ตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการก่อตั้งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ขึ้น    คชก.ได้อนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ กู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร  จนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 9.3 หมื่นล้านบาท  80% ของเงินกู้จำนวนนี้  เป็นเงินที่นำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น   สรุปภาพรวมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐจากปี 2542-2546 รัฐบาลขาดทุนสะสมกว่า 17,000 ล้าน บาท และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนต่อไป   พ่อค้ารายหนึ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำ ถึงกับยอมรับว่าเขาสามารถทำกำไรจากการจำหน่ายข้าวจากสต็อกรัฐบาลล็อตใหญ่ได้ เป็นจำนวนถึง 3,000 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นเหมือนโครงการสร้างความร่ำรวยให้กับภาคธุรกิจเอกชน  พ่อค้ารับซื้อข้าว โรงสี  และบริษัทส่งออกข้าว  ภายใต้คำกล่าวอ้างเป้าหมายของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น

ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องข้าวและชาวนาไทยยังคงถูกปล่อยปะละเลยให้เป็นไปตามยถากรรม วนเวียนอยู่ในวงจรเก่าๆ ที่ถูกนักการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่ได้มีจิตสำนึกอย่างแท้จริงต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา ไทย มีเพียงมาตรการในการจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนาพึงพอใจในราคาข้าวเปลือก แต่ไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาชาวนาและข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

แต่ทำไมนักการเมืองกลับชอบให้มีโครงการจำนำและแทรกแซงข้าว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และก็ทำต่อเนื่องกันมาทุกปีและทุกรัฐบาล คำตอบก็คือ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลได้ช่วยชาวนาแล้ว  น่าเสียดายที่โครงการจำนำข้าวกลับเต็มไปด้วยวงจรอุบาทว์ของการทุจริตและ คอรัปชั่นอย่างเป็นขบวนการ

ขณะเดียวที่ชาวนากลับอ่อนแอลง จาก การศึกษาต้นทุนการทำนาในปี 2550 ของชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขุด  จังหวัดชัยนาท พบว่าชาวนามีต้นทุนการผลิตถึง 3,165 บาทต่อไร่ นั่นคือหากประมาณการแล้วในแต่ละรอบการผลิตชาวนาจะต้องนำเงินที่กู้ยืมมาหมุน เวียนลงทุนประมาณ 30,000 บาทต่อครอบครัวเป็นอย่างต่ำ

ตารางแสดงต้นทุนการทำนาปรัง ตำบลบางขุด ปี 2550

ต้นทุนการผลิต

บาท/ ไร่

1. ค่าจ้างไถรถแทรคเตอร์

300

2. ค่าสารเคมีฆ่าหอยเชอรี่ (3 ขวดต่อ 10 ไร่)

100

3. ค่าจ้างรถหว่านข้าว

40

4. ค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำเข้านา

30

5. ค่าสารเคมีจำกัดวัชพืช  (1 ขวด 270 บาท ต่อ 3 ไร่)

90

6. ค่าปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยยูเรีย 50กก. 700  บาท ปุ๋ยสูตร 50กก. 500 บาท)

1,200

7. ค่าสารเคมีจำกัดแมลง

200

8. ค่าเมล็ดพันธุ์ (3 ถังต่อไร่ ถังละ 110 บาท)

330

9. ค่าเช่านา (ข้าวเปลือก 15 ถังต่อไร่ ถังละ 55 บาท)

225

10. ค่าฮอร์โมนฉีดพ่นตอนข้าวออกรวง(อามูเร่)

70

11. ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว

420

12. ค่าจ้างแรงงานขนข้าวขึ้นรถ

100

13. ค่าจ้างรถขนข้าวไปขาย (100 บาทต่อตัน)

60

ต้นทุนการผลิตรวมต่อไร่

3,165

ผลผลิตต่อไร่ (กก.ต่อไร่)

700

ราคาที่ชาวนาขายได้ ต่อตัน

5,500

ผลตอบแทนต่อไร่ /บาท

3,850

ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ /บาท

685

ที่มา : ข้อมูลจากเวทีเสวนากับกลุ่มชาวนา สคปท.จังหวัดชัยนาท วันที่ 28 พ.ย. 2550 ณ บ้านใหญ่ จ.ชัยนาท

เมื่อ พิจารณาต้นทุนการผลิตของชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขุดจะเห็นได้ว่า ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวที่สูงที่สุดคือ ต้นทุนด้านเคมีภัณฑ์ได้แก่ ปุ๋ยเคมี  ฮอร์โมน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 52.45 รองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องจักรกลการเกษตรได้แก่ รถแทรคเตอร์ รถเกี่ยว รถขนส่ง และค่าน้ำมันร้อยละ 26.85 ค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 10.43 ค่าเช่านาร้อยละ 7.11 และสุดท้ายคือค่าจ้างแรงงานร้อยละ 3.16  ซึ่งแนวโน้มราคาต้นทุนการผลิตเหล่านี้ทั้งหมดเป็นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี

เมื่อหักต้นทุนแล้ว ผลตอบแทนสุทธิที่ชาวนาได้รับคือ 685 บาทต่อไร่  โดยเฉลี่ยต่อครอบครัวจะมีผลตอบแทนประมาณ 6,850 บาทต่อครอบครัว ใน 1 รอบการผลิต คือ 4 เดือน นั่นคือ 1,712.50 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้จำนวนนี้สำหรับชาวนาในพื้นที่บางขุดแล้วย่อมไม่เพียงพอต่อค่าใช้ จ่ายในการดำรงชีพของครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวต้องส่งลูกหลานไปทำงานในเมือง เนื่องจากรายได้จากการทำนาไม่สามารถทำให้ครอบครัวอยู่รอดได้

ในขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่ในตำบลบางขุดร้อยละ 60-70 ของพื้นที่  ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่นาจากนายทุนเพื่อทำนา ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ที่นาเช่าก็คือที่นาเดิมซึ่งเคยเป็นของตนเองนั่นเอง แต่เนื่องจากประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นจึงต้องขายเพื่อปลดหนี้

สภาวะหนี้สินของชาวนาในพื้นที่โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวนามีหนี้สินตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาทต่อครัวเรือน ชาวนาส่วนที่เหลือซึ่งที่ดินยังอยู่ในมือ แต่ก็มีแนวโน้มว่าที่นาจะหลุดมือไปในไม่ช้าเพราะก็กำลังเผชิญชะตากรรมบ่วง หนี้อยู่เช่นกัน

 สอดรับกับข้อมูลหนี้สินระดับประเทศ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2537 -2549 ที่แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินชาวนาในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะใน ปี 2545-2549 ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40 จาก 82,485 บาท เป็น 116,585 บาทต่อครัวเรือน

ตารางแสดงสภาวะหนี้สินชาวนาปี 2537-2549

ปี พ.ศ.

หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน/บาท

2537

31,387

2539

52,001

2541

69,674

2542

71,713

2543

68,405

2544

68,279

2545

82,485

2547

104,571

2549

116,585

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

กล่าวได้ว่าสถานะของการทำนาที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออกของชาวนาพื้นที่ตำบลบางขุด ของจังหวัดชัยนาททุกวันนี้ก็คือการผลิตเพื่อหมุนเวียนหนี้ เป็นการผลิตที่มีต้นทุนสูง เมื่อขายข้าวได้ก็ต้องรีบนำเงินดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย และขอกู้ยืมต่อทันที เพื่อจะได้นำเงินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนารอบต่อไป โดยบ่วงหนี้เหล่านี้หมุนเวียนมายาวนานนับตั้งแต่มีการปลูกข้าวเพื่อการส่ง ออก

ข้าว คือพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่พรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือสร้างฐานทางการเมือง เมื่อพรรคใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาลจึงมีการ "ทุ่นทุน" เพื่อสินค้าข้าวเป็นพิเศษ การกำหนดนโยบายเพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น โครงการจำนำและแทรกแซงราคาข้าว  เป็นเพียงข้ออ้างในการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล และผลประโยชน์ทางการเมืองที่นักการเมืองหวังได้คะแนนเสียงจากชาวนาผู้ปลูก ข้าว ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของประเทศ   

กลไกการแก้ไขปัญหาราคาข้าวและช่วยเหลือชาวนารายย่อย  อยู่ในสภาพย่ำแย่ และขาดการเยียวยามานานแล้ว   ผลประโยชน์ของการส่งออกข้าวจำนวนมหาศาล  ผลประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือชาวนา  โครงการรับจำนำข้าวไม่เคยตกถึงมือของชาวนารายย่อยจริง   แต่ได้ถูกเล่นแร่แปรธาตุ  โยกย้ายเข้าไปอยู่ในมือของพ่อค้า   โรงสี  และบริษัทส่งออกข้าวเกือบทั้งสิ้น   ดูแค่จำนวนหนี้สินล้นพ้นตัวที่ชาวนาไม่มีความสามารถในการใช้คืนในปีปัจจุบัน นี้   ก็พอจะเข้าใจได้ถ่องแท้แล้ว

นรัญกร กลวัชร

กุมภาพันธ์ 2551


[1] ใบ ประทวน คือ ตราสารทางการเงิน (คล้ายตั๋วจำนำ) ที่ชาวนานำสินค้ามาฝากไว้ที่โรงสี โดย อคส. จะออกใบประทวนให้ชาวนา ชาวนาเพื่อนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส. โดยมีรายละเอียดที่ อคส. กับ ธ.ก.ส. ตกลงกันไว้ให้ครบถ้วน ก็จะขึ้นเงินได้