ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2504 ปัจจุบันเข้าสู่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 แม้การพัฒนาแบบวางแผนจากส่วนกลางจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวขึ้น แต่ก็มีปัญหาที่ตามมาจาก “การพัฒนา”ในรูปแบบนี้หลายประการ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การพุ่งขึ้นของค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 5.98% แม้กระทรวงพาณิชย์จะบอกว่าตัวเลขลดลงเป็นเดือนที่ 2 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมากยิ่งตอกย้ำให้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศเพิ่มมากขึ้นจนน่าวิตกทั้งในแง่ของความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะออกมาชี้แจงว่าสถานการณ์ความยากจนของไทยนั้นดีขึ้นจากในช่วงโควิด-19 เมื่อวัดจากระดับรายได้พบว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคนจากเดิม 4.7 ล้านคนในปี 2563 แต่ก็มีคำถามชวนให้คิดว่าแม้ขีดเส้นความยากจนที่ระดับ 2762 บาทต่อคนต่อเดือน “คนจน” ตามนิยามในไทยก็มีมากถึง 4.3 ล้านคน
หากขยับเส้นยากจนขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงขึ้นตามมาตรฐานค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันจำนวนคนจน ในประเทศไทยอาจมีมากนับสิบล้านคน ใกล้เคียงกับตัวเลขการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ที่มีการลงทะเบียนมากกว่า 20 ล้านราย
นอกจากนั้นปัญหาช่องว่างทางรายได้และความเหลื่อมล้ำ ดัชนีความเหลื่อมล้ำของธนาคารโลกในปี 2564 บอกว่าดัชนีความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.429 ในปี 2562 เป็น 0.430 สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการเดิมๆที่มุ่งอัดฉีดงบประมาณ เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จีดีพีเติบโต หรือเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายหมื่น หลายแสนล้านบาท แล้วทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมืองไม่กี่แห่งได้อีกต่อไป
ในเวทีชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning and Innovation Community) ที่พึ่งจัดขึ้นเร็วๆนี้โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟัง ปาฐกถาพิเศษ ของศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ที่กล่าวในหัวข้อ “ยกระดับชุมชนท้องถิ่นไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไปมากเพื่อเพิ่มขนาดจีดีพีซึ่งทำให้เศรษฐกิจและจีดีพีเติบโตได้แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจฐานรากและชนบทถูกละเลย
วันนี้ทางรอดของประเทศไทยภายหลังจากที่ผ่านสถานการณ์วิกฤตโควิดมาได้ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น รายได้คนลดลง และค่าครองชีพสูงขึ้นจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนชนบทเข้มแข็ง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องไม่ละเลยการพัฒนาจากชุมชนท้องถิ่น ที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้การลงทุนและพัฒนาในโครงการขนาดใหญ่ที่เดินหน้าเพื่อดึงดูดการลงทุน
สิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงคือ “การบูรณาการ” ของทุกฝ่ายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจและภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่มีส่วนช่วยเพื่อจะนำเอาองค์ความรู้ นวัตกรรม และงานวิจัยที่เหมาะสมลงไปช่วยยกระดับรายได้ของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนจากฐานรากของประเทศจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ด้วยการเพิ่มรายได้ของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคต
“ที่ผ่านมามีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นแต่ตอนนี้เหมือนรัฐบาลให้ความสำคัญลดลง เช่น เรื่องโอทอป เรื่องของเมดอินไทยแลนด์ ทางรอดของประเทศไทย หลังโควิดคือต้องกลับมาให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น และชนบท ทุกภาคส่วนช่วยกันนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม
เครื่องจักรการผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งความรู้และความคิดใหม่ๆเข้าไปติดปีกให้กับชุมชนเพื่อสร้างรายได้ การแก้ปัญหาแบบนี้จะยั่งยืนมากกว่าการให้เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว”นายแพทย์ สุทธิพร กล่าว
ถือเป็นแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศที่ให้ข้อคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และชุมชน ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 เข้าสู่โหมดการฟื้นตัว และเข้าสู่ช่วงเวลาการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต่างโหมประชันเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการต่างๆ
...แต่ตอนนี้มองไปยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีนโยบายในการสร้างฐานราก พัฒนาชนบทอย่างจริงจัง
ที่มา คอลัมน์เศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ/ นครินทร์ ศรีเลิศ /13 พ.ย. 2565