นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ซึ่งรวมไปถึงพี่น้องชาวนา กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ประสานความร่วมมือในการเยียวยาชาวนา โดยยึดตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
หลังจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียอย่างสิ้นเชิง ซึ่งพี่น้องชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือ ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ อย่างไรก็ตามกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยหลังจากน้ำลดทั้งในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่นอกเขตชลประทาน ภาครัฐฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามให้คำแนะนำและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10ไร่ๆละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) ได้สั่งการให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ประสานความร่วมมือกับเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ ให้คำแนะนำพี่น้องชาวนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้
“นอกจากนั้นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมฉับพลับอยู่เป็นประจำ เกษตรกรควรใช้พันธุ์ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน คือ "พันธุ์กข 51" และในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แนะนำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวในระยะน้ำนมเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แทน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
ตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์เยียวยาเกษตรกรจาก "หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564" ระบุอยู่ในเงินทดรองราชการระเบียบ/หลักเกณฑ์/ประกาศ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ลงนามโดย นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านการเกษตรให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น โดยการเบิกจ่ายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดังต่อไปนี้
ด้านพืช
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้
- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้
ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท
- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถม จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
- กรณีดังกล่าวได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุ ที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ ราคาไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท
ด้านประมง
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติที่สัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ดังนี้
กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท
ด้านปศุสัตว์
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และการจัดหาอาหารสัตว์ ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม
การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่
การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้ (ตามรูปด้านล่าง)
ด้านการเกษตรอื่น ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้
การปรับเกลี่ยพื้นที่ด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่การไถพรวน การก่อสร้างคันดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชหรือประกอบกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยเหมาจ่าย โดยช่วยเหลือพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 800 บาท
การปรับเกลี่ยพื้นที่นาเกลือทะเลที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับพื้นที่ทำนาเกลือทะเล ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
ค่าซ่อมแซมอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้ในช่วงฉุกเฉิน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการระบายน้ำ ในกรณีใช้เครื่องจักรกลของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ งานกำจัดวัชพืชที่กีดขวางการระบายน้ำ งานขุดลอกดิน ทราย วัสดุที่ทับถมทางระบายน้ำ ให้นำอัตราราคางานตามราคากลางที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังมาใช้โดยอนุโลมค่าจ้างเหมารถยนต์ ค่าระวางบรรทุกรถไฟและเรือบรรทุกของเอกชน เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย และที่นำไปสนับสนุนหรือขนส่งพืชหญ้าอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ ให้เบิกจ่ายดังนี้
- ค่าจ้างเหมารถยนต์และเรือบรรทุกของเอกชน ให้จ่ายเป็นรายวันตามราคาท้องถิ่น
- ค่าระวางบรรทุกทางรถไฟ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงินให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม
ที่มา คอลัมน์การค้า การเกษตร ,ฐานเศรษฐกิจ