"กฤษฎา"สั่งช่วยด่วน"เกษตรกร"ล้มละลาย

Created
วันพฤหัสบดี, 10 พฤษภาคม 2561
Created by
คมชัดลึก
Categories
ข่าว
 

FarmerBankrupt

"กฤษฏา"สั่งกฟก.เร่งประสานเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม ช่วยเกษตรกรหนี้เร่งด่วน 7.9 พันรายทั้งถูกฟ้องล้มละลาย ขายทอดตลาด เตรียมปรับโครงสร้างให้เกษตรกรกองทุนฟื้นฟู

 

10 พฤษภาคม 2561 "กฤษฏา"สั่งกฟก.เร่งประสานเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม ช่วยเกษตรกรกรณีหนี้เร่งด่วน 7.9 พันราย ทั้งถูกฟ้องล้มละลาย ขายทอดตลาดเตรียมปรับโครงสร้างให้เกษตรกรกองทุนฟื้นฟู พร้อมสำรวจหนี้รอบใหม่ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.”    

        นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เปิดเผยว่านายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯให้ กฟก.เร่งประสานกับเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้

 

         จากนั้นให้สถาบันเจ้าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ องค์กรเกษตรกร และเกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้ จัดทำแผนฟื้นฟูแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ภายหลังครม.มีมติขยายเวลาแก้ไขหนี้ ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ 180 วัน  โดยเฉพาะกรณีหนี้เร่งด่วนทั้งหมดในชั้นดำเนินคดีขึ้นไป เช่น หนี้ล้มละลาย ขายทอดตลาด ถูกบังคับคดี มีคำพิพากษาหรือชั้นฟ้องคดี  จำนวน 7,930 ราย

        รวมทั้งผลการสำรวจหนี้รอบ 2  มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมารายงานตัวประมาณ 17 % จำนวน 40,179 ราย 74,331 สัญญาเมื่อรวมเกษตรกรที่มายืนยันตนรอบ 1 และรอบ 2 เป็นจำนวน 330,836 ราย 599,051 สัญญา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรมารายงานตัวได้อีกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561

         สำหรับข้อมูลหนี้เกษตรกร สำรวจในรอบที่ 1 จำนวน 290,657 ราย เป็นเกษตรกรที่ประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯจัดการหนี้ จำนวน 164,360 ราย มูลหนี้ 28,690 ล้านบาท และไม่ประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการหนี้ 126,297 ราย มูลหนี้ 15,912 ล้านบาท ซึ่งมีการตรวจสอบรายละเอียดแล้วจำนวน 85,864 ราย 186,731 สัญญา อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ กฟก.สามารถจัดการหนี้ได้จำนวน 10,679 ราย

          เป็นหนี้ที่มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อการเกษตรมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ได้จัดการหนี้ไปแล้วจำนวน 1,670 ราย มูลหนี้ 481,796,661.35 ล้านบาท

         อีกส่วนหนึ่งรอการจัดการหนี้จำนวน 9,009 ราย มูลหนี้2,527,902,099.59 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้ยังมีหนี้บุคคลค้ำประกันและวัตถุประสงค์การกู้ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจำนวน 75,185 ราย มูลหนี้ 17,337 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการจัดการหนี้ร่วมกับสถาบันเจ้าหนี้ โดยเสนอให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้

          ในการสำรวจหนี้ระยะที่ 2 ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มารายงานตัว จำนวน 238,123 ราย มูลหนี้ 33,751 ล้านบาท สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จะดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยการสำรวจและการตรวจสอบข้อมูลหนี้ของเกษตรกร เป็นการนำเข้าข้อมูลจากสถาบันเจ้าหนี้ เข้าสู่ระบบและตรวจสอบจากสถาบันเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.),สหกรณ์การเกษตร,ธนาคารพาณิชย์ และนิติบุคคลอื่นตามกฎหมาย

          จากนั้นให้เกษตรกรสมาชิกมายืนยันในแบบสำรวจและตรวจสอบโดยมีผู้แทน กฟก.แต่ละจังหวัด ผู้แทนจากสถาบันเจ้าหนี้ และผู้แทนฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) และเกษตรกรรับรอง และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ และส่งให้สำนักงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แต่ละจังหวัดรับรองความถูกต้อง เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดเห็นชอบ

         จากนั้นจะนำผลการสำรวจรายชื่อ พร้อมมูลหนี้เสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการชำระหนี้ จะเสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้ตามกฎหมาย

         ส่วนกรณีหนี้บุคคลค้ำประกัน หนี้ที่อุทธรณ์วัตถุประสงค์การกู้ไม่ใช่เพื่อการเกษตรสามารถใช้การปรับโครงสร้างหนี้ได้ หรือหากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติจะนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ หรือรายงานคณะรัฐมนตรี หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

 

ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 10 พ.ค. 2561