เปรียบเทียบนโยบายด้านการเกษตรพรรคการเมือง ปัญหาหนี้สินแม้ถูกมองเห็นแต่ยังแก้ไม่ตรงจุด

 

FarmerPolicy2023

ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทุกพรรคการเมืองที่ต่างต้องมีนโยบายมาดึงดูดคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่านโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ยังแก้ไม่ตรงประเด็นปัญหาของเกษตรกร

หากจำแนกปัญหาหลักๆ ของเกษตรกรไทยในปัจจุบันจะพบว่ามี 4 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต และการไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เมื่อวิเคราะห์นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มมีการเผยแพร่ผ่านสื่อแล้วพบว่า ก้าวไกลเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายครอบคลุมทุกปัญหา        ส่วนพรรคพลังประชารัฐและพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่มีนโยบายที่จะตอบสนองปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอย่างปัญหาหนี้สินการเกษตรกรและการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรประมง สามารถวิเคราะห์นโยบายหาเสียงตามประเด็นปัญหาของเกษตรกรจะได้ดังนี้

ปัญหาหนี้สิน

ปัญหาหนี้สินที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่พบว่ามีเพียง 2 พรรคการเมืองที่มีนโยบายรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร คือพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบาย “พักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอก” และพรรคก้าวไกล ที่มาพร้อมนโยบาย “ลดเงินต้นก่อนลดดอกเบี้ย” และการมุ่ง “ปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย เกษตรกรจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง”

หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 พรรคการเมืองแล้วดูเหมือนว่า ก้าวไกลจะเข้าใจโครงสร้างปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดีกว่าเพื่อไทย ทั้งนี้สาเหตุหลักประการหนึ่งที่เกษตรกรไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ มาจากเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยอดเงินที่ชำระถูกนำไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยก่อน ทำให้ยอดเงินต้นแทบไม่ลด การลดต้นก่อนลดดอกเบี้ยหากทำได้จริงน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับการปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย  ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีเกษตรกรลูกหนี้อายุมากกว่า 60 ปีถึงเกือบ 1.4 ล้านราย ในจำนวนนี้อายุมากกว่า 70 ปีถึง 414,576 ราย ซึ่งเกษตรกรวัยนี้ไม่น่าจะสามารถก่อให้เกิดรายได้แล้ว การให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่ง น่าจะสามารถปลดเปลื้องภาระได้ แต่ในระยะยาว ปัญหานี้ก็จะปะทุขึ้นมาอีก ตราบที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรสูงอายุ

ส่วนนโยบายพักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอกของพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นความพยายามปิดช่องโหว่ของนโยบายพักชำระหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ต้องส่งเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อทำให้สุดท้ายการพักชำระหนี้แบบไม่หยุดดอกเบี้ยทำให้ยอดเงินกู้ของเกษตรกรเติบโตงอกงามขึ้น แต่การพักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย สุดท้ายก็จะเป็นเพียงการให้เกษตรกรได้พัก หยุดหายใจ ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ระยะยาวได้

ปัญหาที่ดินทำกิน

มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และก้าวไกลที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยพรรคประชาธิปัตย์มาพร้อมกับนโยบายการออกโฉนดที่ดินให้ได้ 1 ล้านแปลง ภายในเวลา 4 ปี โดยไม่มีการพูดถึงปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งน่าจะเป็นรากของปัญหาการที่เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในขณะที่ก้าวไกลประกาศให้ที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินนิคมสหกรณ์ สามารถนำมาออกโฉนดได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งกองทุนเพื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ โดยตั้งงบประมาณกองทุนสูงถึง 10,000 ล้านบาท และยังจะพยายามให้มีการกระจายการถือครองที่ดินด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดินและเปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน

ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต

เกือบทุกพรรคยกเว้นเพื่อไทยและภูมิใจไทย มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาด้านนี้ ประชาธิปัตย์และชาติไทยพัฒนายึดแนวการแจก โดยชาติไทยพัฒนาจะแจกพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรฟรี 60 ล้านไร่ ส่วนประชาธิปัตย์จะให้เงินอุดหนุนชาวนาปลูกข้าวครอบครัวละ 30,000 บาท และให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงกลุ่มละ 100,000 บาท/ ปี ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการประมงอย่างชัดเจน นอกจากการให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรชาวประมงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มประมงพาณิชย์ โดยมีนโยบายที่จะมุ่งแก้ปัญหาการติด Blacklist ของสหภาพยุโรป เนื่องจาก IUU หรือการเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายประมง ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายให้เงินอุดหนุนธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชนอีกแห่งละ 2 ล้านบาท คาดว่าเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงปัจจัยด้านการเงินให้เกษตรกร

ส่วนก้าวไกลมาพร้อมนโยบายเป็นแพกเก็จ ตั้งแต่การจะให้เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยราคาถูกได้โดยผ่านสหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้เกษตรกรนำไปซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร เช่น รถไถ รถดำนา  ส่วนพลังประชารัฐเน้นไปที่การดูแลต้นทุนด้านทรัพยากรน้ำ โดยจะจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การเก็บกักน้ำ และการเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง     

การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ

พรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดเจนสนับสนุนการทำ contract farming โดยให้รัฐเป็นผู้ทำสัญญากับเกษตรกรแทนเอกชน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรที่ทำ contract farming กับภาคเอกชนจำนวนมาก ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและจมอยู่กับวงจรหนี้ เพราะเอกชนสามารถควบคุมทุกอย่างได้  ภูมิใจไทยประกาศชัดว่าการทำ contract farming กับรัฐจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้ โดยจะนำร่องที่พืชเศรษฐกิจหลัก 4 อย่างก่อนคือ ข้าว ยางพารา  มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเดียวที่พร้อมจะยกระดับภาคการเกษตรไทยทันความเคลื่อนไหวของสังคมโลก ด้วยการประกาศนำแนวคิด agritech หรือการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อยกระดับสินค้าเกษตร และจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งการใช้ตลาดเป็นตัวนำกำหนดแนวทางให้ภาคการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มผลิต พรรคก้าวไกลมีนโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเช่นกัน แต่แนวทางของก้าวไกลจะเน้นไปที่การเรียนรู้ของเกษตรกร โดยจะจ้างให้เกษตรกรรุ่นใหม่สอนให้เกษตรกรรุ่นเก่ารู้จักการใช้เทคโนโลยี ซึ่ง ณ  ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกลจะนำไปสอนคือเทคโนโลยีอะไร

ชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคเดียวที่เชื่อมโยงภาคเกษตรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยประกาศจะทำให้ภาคเกษตรของไทยสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้       

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการรีวิวนโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ไม่ได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายของพรรคการเมืองใดๆ

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 683

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ..ทางออกอยู่ตรงไหน?

 FarmerDebtSeminar28march2023

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 1 โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยมีองค์ร่วมจัดประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาองค์กรเกษตรกรแห่งชาติ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ได้กล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงวงจรหนี้สินชาวนาส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และการขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างนโยบาย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสวนาวิชาการสาธารณะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะใน 5 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับทางออกและข้อเสนอทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเพื่อเปลี่ยนเรียนรู้ระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ

 รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวปาฐกถานำการเสวนา หัวข้อ ‘“หนี้ชาวนาไม่ได้เป็นเพียง “ปัญหาส่วนตัว” ทัศนะว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” ได้ชี้ให้เห็นเส้นทาง “วรจรหนี้สิ้นแบบไม่รู้จบ” ผ่านงานวิจัยข้อมูลการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย “พบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 450,000 บาท ร้อยละ 54 อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ และครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรกรที่มีหนี้สินเป็นหนี้สินรวมจากทุกแหล่งซึ่งสูงเกินศักยภาพในการชำระหนี้ และยังมีพฤติกรรมหมุนหนี้  “ผลัดผ้าขาวม้า” หรือการกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าในวงกว้างทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินไม่จบสิ้น

ยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ “การซื้อหนี้หรือชำระหนี้แทนเกษตรกรมีน้อยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านเดินขบวนต่อรองไม่ได้ ช่วงรัฐบาลปี 2560-2563 กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้เฉลี่ยปีละ 320 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 105 ล้านบาท/ปี และหากมีเพียงกลไกเดียวใช้แก้หนี้สินชาวนา 4.8 ล้านคนจะใช้เวลาราว 15,000 ปี ถ้าคิดเฉพาะแค่เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน  516,965 ราย จะใช้เวลาราว 1,647 ปี”

ด้านนโยบาย รศ.ดร.ประภาส มองว่า “ปัญหาหนี้สินและเกษตรกรต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง “พลิกโฉม” เพราะที่ผ่านมาการชดเชยแม้ใช้เงินมากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรอยู่ได้ และไม่สามารถหลุดพ้นจากหนี้สินได้” ดังนั้น งานวิจัยเชิงปฏิบัติการของมูลนิธิชีวิตไทดำเนินการและนำมาสัมมนาวันนี้จึงมีคุณค่ามากว่าการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรให้พ้นจากวงจรหนี้ ต้องลงแรงมากอย่างไร และกระบวนการทำงานต้องเป็นอย่างไร

จากนั้นจึงนำเข้าสู่เวทีเสวนา หัวข้อ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” 

คุณปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอความเป็นธรรมด้านกลไกราคา/กลไกการเงิน มีข้อเสนอทางนโยบายที่น่าสนใจว่า นโยบายการกำหนดราคาข้าวของไทย ควรนำมาใช้แต่ในยามจำเป็นช่วงสั้น เช่น ช่วงที่ราคาข้าวมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินหรือติดกับดักหนี้ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลควรมุ่งสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนเป็นและนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ และหาแนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ เพราะปัจจุบันชาวนามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความไม่รู้และขาดทักษะการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงต้องพัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ซึ่งจะต้องได้รับความรู้ทั้งด้านการประกอบอาชีพ และความรู้ในการดำเนินชีวิตควบคู่กัน

คุณวรันธรณ์ แก้วทันคํา นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรเข้าใจถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ทาง ธ.ก.ส. ได้นำเสนอ แต่เกษตรกรไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แตกต่างกันได้ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกสินเชื่อของเกษตรกร นอกจากนี้พบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างทุกรายไม่ได้อ่านสัญญาสินเชื่อ ขณะที่การถือคู่สัญญาเงินกู้พบว่า เกษตรกรที่กู้โดยการค้ำประกันกลุ่มไม่ได้ถือคู่สัญญาเงินกู้ มีเพียง “สมุดบัญชีเงินกู้” อย่างไรก็ตามทาง ธ.ก.ส. แจ้งว่า ในปี พ.ศ. 2567 จะปรับแนวนโยบายใหม่ให้มีการมอบคู่สัญญากับลูกค้าทุกราย และสืบเนื่องจากเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึง มีข้อจำกัดในการจดจำ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาแนวทางแก้ไขเช่นกัน  ข้อเสนอจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ (1) ปรับปรุงให้มีการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารเกษตรกร (2) ให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน เช่น ส่งสัญญาให้เกษตรกรทบทวนก่อนลงนาม (3) ธ.ก.ส เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ (4) จัดมีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมถึงให้คววามรู้ด้านสินเชื่อ การเก็บ และอ่านเอกสารด้านสินเชื่อ

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก โดยสรุปให้เห็นถึง สามปัญหาของระบบการเงินฐานรากไทย คือ (1) ความไม่สมมาตรทางข้อมูลและการไม่แชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกัน ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกร ทำาให้ตลาดไม่สามารถปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ ยังทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลของเกษตรกรและระหว่างกัน ทำาให้อาจปล่อยกู้รวมกันเกินศักยภาพและความเสี่ยง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ (2) กลไกการการบังคับหนี้ ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ดีนัก และ (3) การออกแบบสัญญา ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาเกษตรกรและไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและจ่ายได้ ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจของเกษตรกรเป็นหลัก คือ (1) ต้องแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล คือต้องสร้างและใช้ข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น ต้องแก้เรื่องข้อมูล ให้ข้อมูลที่มากขึ้น (2) กลไกการการบังคับหนี้ เริ่มาจากแก้หนี้เก่า ปรับโครงสร้างหนี้ตรงศักยภาพ ให้ข้อมูลเหมาะสม มีเครื่องมือสร้างข้อตกลงและกระตุ้นแรงจูงใจชำระหนี้ ปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ขึ้น  จากนั้น (3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะเฉพาะกลุ่ม และ (4) ต่อยอดศักยภาพและรายได้ เกษตรกร และตลอดห่วงโซ่จนปลายน้ำ

ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ นักวิชาการอิสระ ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้ของชาวนา โดยเสนอรูปแบบการแก้หนี้ชาวนา 4 โมเดล คือ (1) ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร  (2) ลดรายจ่ายครัวเรือน (3) การออม/เงินออม และ (4) สร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ต้องทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพิ่มความรู้ที่หลากหลายให้กับเกษตรกร พัฒนาระบบกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เกษตรกรมองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สิน และสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ เกษตรกรจะต้องลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุง ด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นนี้มีความท้าทายใหม่ทั้งระดับการดำเนินโครงการและระดับนโยบาย คือ การพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพที่หลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งด้านการผลิตทั้งต่อยอดและขยายผล ด้านการประกอบอาชีพอื่น ด้านการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ฯลฯ และการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพหลากหลายมิตินั้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์มาร่วมมือกัน

คุณนันทา กันตรี ได้รายงานความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน ศึกษาตลาดเขียวในฐานะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ใน 3 ตลาด คือ ตลาดอนามัยบางขุด ตลาดพอใจ และตลาด 8 ไร่สมาร์ทฟาร์ม เป็นตลาดทั้งรูปแบบมีหน้าร้านและแบบออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า ตลาดมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในด้านราคาที่เป็นธรรม ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐานรับรองและมีความจริงใจและความไว้วางใจกันระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า ความเป็นธรรมต่อผู้เกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้ มีอาหารปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน มีช่องทางการจําหน่ายผลผลิตอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิต อย่างไรก็ตามตลาดเขียวมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากลูกค้ายังน้อย เนื่องจากความหลากหลายของสินค้ายังมีไม่มาก จำนวนร้านค้ามีน้อย สินค้าในตลาดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ คู่แข่งคือตลาดนัดและรถเร่ ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้น้อย ผู้ผลิตมีปัญหาหนี้สิน มีฐานะยากจน ผู้ขายไม่กล้าลงทุนมากมีโอกาสที่จะกลับเข้าวงจรหนี้สิน มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้  สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชน มีศูนย์กระจายอาหารปลอดภัยขุมชน การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการชาวนา เช่น ทักษะการขายออนไลน์ การทำกลยุทธ์ทางการตลาด การสนับสนุนการปลดหนี้ชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนเกษตรกร

คุณวลัยพร ทิพยศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ นำเสนองานวิจัย ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ โดยเครื่องมือประเมินศักยภาพการประกอบการชุมชน 5 ด้าน คือ (1) จริยธรรม-สัมมาชีพ (2) การจัดการองค์กร (3) การจัดการวิสาหกิจ (4) นวัตกรรม และ (5) การสร้างผลลัพธ์ต่อชุมชน โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้ทบทวนสถานะของกลุ่ม ตลอดจนความเข้มแข็งของกลุ่มในการมุ่งหน้าสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จากการวิจัยพบว่าการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 3 ประการคือ (1) ทุนภายใน เช่น วัตถุดิบ ภูมิปัญญา ผู้นำ การรวมกลุ่มที่มีโครงสร้าง ระเบียบที่ชัดเจน เพื่อการประกอบกิจการหรืออาชีพ (2) ทุนความรู้และการสร้างสรรค์  คือ ความรู้และความสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ เพื่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือธุรกิจชุมชน และ (3) ทุนสนับสนุนจากภายนอก  เช่น  ความรู้ เงิน ทรัพยากรอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือ ธุรกิจชุมชน

ที่มา : เกษตรก้าวไกล วันที่ 29 มี.ค. 2566

 

  • ฮิต: 731

ภาระหนี้ภาคการเกษตร ภาพสะท้อนความล้มเหลวระบบการเงินไทยต่อครัวเรือนเกษตรกร

ThaiHouseholdDebt

หนี้สินครัวเรือนภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นวิกฤติหนี้สินเกษตรกรที่กว่า 90% ของเกษตรกรในประเทศมีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ เป็นผลมาจากการไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานรากอย่างเกษตรกร

ตัวเลขจากงานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำขึ้นโดยการเก็บข้อมูลสถานการณ์การกู้เงินของเกษตรกรทั่วประเทศ สมาชิกกลุ่มสำคัญของครัวเรือนฐานราก ย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2564  พบว่าเกษตรกรกว่า 90% มีภาระหนี้สิน แต่ละครัวเรือนจะมีเงินกู้มากกว่า 1 ก้อน หรือ 1 สัญญา เฉลี่ยมีครัวเรือนละ 3.8 ก้อน โดยมียอดหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาท ต่อครัวเรือน สถานการณ์ปัจจุบันคือเกษตรกรส่วนใหญ่แบกภาระหนี้สินมากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง ทางออกของเกษตรกรในปัจจุบันคือการ “หมุนหนี้” หรือการกู้หนี้เพิ่มจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง

เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเห็นภาพใหญ่ของหนี้สินภาคการเกษตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพบว่ามูลหนี้รวมในปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) ของเกษตรกร 5.16 แสนรายที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ อยู่ที่ 108,816 ล้านบาท  เจ้าหนี้หลักคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เกษตรกรกว่า 300,000 ราย มีภาระสินเชื่อผูกพันอยู่ คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 60,861 ล้านบาท รองลงไปได้แก่สหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินนิติบุคคลรูปแบบอื่น  และสุดท้ายเจ้าหนี้ที่เป็นโครงการส่งเสริมของรัฐ

และเมื่อพิจารณาถึงสถานะหนี้แล้วพบว่ามูลหนี้ส่วนใหญ่คือ 66.39% หรือยอดหนี้รวม 50,434 ล้านบาท เกษตรกรลูกหนี้ 356,907 ราย ยังคงสถานะหนี้ปกติ มีมูลหนี้สถานะผิดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 159,789 ราย มูลหนี้ 40,984 ล้านบาท คิดเป็น  29.17% และหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 17,113 ล้านบาท คิดเป็น 4.45 % เกษตรกรลูกหนี้ 23,906 ราย (ตรงนี้ก็อาจทำกราฟฟิกได้)

หนี้สินสำคัญของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในระบบคือหนี้นอกระบบ เช่นการกู้หนี้ในลักษณะกู้ยืมเงินสดจากนายทุนในหมู่บ้าน หนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ยร้านยา ที่เกษตรกรจะใช้เครดิตนำปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรมาใช้ก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็นำเงินไปชำระหนี้ แต่มักปรากฏว่าเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้กลายเป็นยอดหนี้ที่เพิ่มพูนขึ้น

งานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยไว้ 3 ประการ

1. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้น้อย โดย 27% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดมีรายได้ทั้งปีไม่พอรายจ่าย และอีก 42% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นแต่ไม่มากพอที่จะชำระหนี้และไม่พอสำหรับการลงทุนการทำเกษตรในรอบต่อไป

2. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ไม่แน่นอน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเชิงระบบที่ทำให้บริหารจัดการยาก เช่น ภัยพิบัติ และราคาตลาดที่ผันผวน ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นนอนที่สูงขึ้นในอนาคต

3. มีปัญหาสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก 2 ข้อแรก โดยพบว่ากว่า 82% ของครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 3 เดือนต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการต้องมีรายจ่ายก้อนโตเพื่อลงทุนทำการเกษตร หรือรายจ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ที่เกิดมาตามวาระหรือเกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมไว้ เช่น รายจ่ายด้านการศึกษา หรือรายจ่ายด้านสุขภาพ

หากสรุปภาพรวมสถานะทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกรซึ่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยเก็บตัวอย่างจากเกษตรกร 720 ครัวเรือน จะสามารถแยกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน คิดเป็น 67% 2) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เคยพอค่าใช้จ่ายทุกเดือน คิดเป็น 18% และ 3) กลุ่มที่มีรายได้พอจ่ายทุกเดือน คิดเป็น 15% โดยครัวเรือนที่เป็นหนี้มักเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาสภาพคล่องสูง โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่าปัญหาทางการเงินของเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดสินเชื่อภาคการเกษตรมี segmentation ที่ชัดเจน แต่ระบบการเงินของไทยกลับมองข้าม segmentation นี้ จนทำให้เกิดปัญหาระบบการเงินฐานรากที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ประการ

1.ความไม่สมมาตรของข้อมูล เพราะทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพทางการเงิน ที่แท้จริงของเกษตรกร ผลที่ตามมาคือ ครัวเรือนเกษตรกรมีภาระหนี้สินเกินศักยภาพในการชำระหนี้ โสมรัศมิ์กล่าวว่าจากงานวิจัยของสถาบันป๋วยฯ ทำให้เห็นชัดว่าเกษตรกรที่อยู่ต่าง segmentation กัน กลับสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่ต่างกัน ทำให้ระบบการเงินครัวเรือนเกษตรกรไทยอาจปล่อยสินเชื่อมากเกินไปสำหรับครัวเรือนบางกลุ่ม แต่น้อยเกินไปสำหรับอีกบางกลุ่ม ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลจากความไม่สมมมาตรของข้อมูล

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ กล่าว

2. การออกแบบสัญญาสินเชื่อและสัญญาชำระหนี้อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินของเกษตรกร จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จูงใจให้ชำระหนี้ได้ ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีหนี้ได้จริง สถาบันวิจัยป๋วยฯ มีข้อเสนอว่าสัญญาชำระหนี้ที่เหมาะสมกับเกษตรกรควรมีการกำหนดวันชำระที่ตรงกับโครงสร้างรายได้ มีจำนวนงวดไม่สูง มีความยืดหยุ่นในกรณีที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีกลไกที่ช่วยสร้าง commitment ในการชำระคืนได้

3. การออกแบบการชำระหนี้ที่ไม่เอื้อให้มีการชำระหนี้ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions :SFI) ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ที่พบกว่าเกษตรกรมีการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าสถาบันการเงินชุมชน อย่างกองทุนหมู่บ้าน หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สถาบันการเงินชุมชนมีกลไกที่ช่วยในการบังคับการขำระหนี้ เช่น กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้คืนทั้งหมดก่อนจะกู้เงินครั้งต่อไปได้ ขณะที่กลไกการบังคับการชำระหนี้ของ SFI ยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ได้

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์กล่าว

ที่มา : ประชาไท วันที่ 20 ก.พ. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 715

ชาวนาคิดแก้หนี้ แนวคิดและประสบการณ์ตรงจากชาวนาสู่ชาวนา

SomjaiBangkudRicefield

กลุ่มชาวนาถือเป็นฐานเสียงสำคัญในทุกสมัยการเลือกตั้ง เพราะมีถึง 4.5 ล้านครัวเรือน แต่ที่ผ่านมาทุกคำสัญญาและนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น ทุกวันนี้พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ ขาดความเข้มแข็งและเปราะบาง แก่นกลางของปัญหาอาจเกิดจากผู้แก้ปัญหาไม่ใช่ผู้มีปัญหาโดยตรง แนวทางแก้จึงยังไม่ตรงจุด รวมถึงการมีเจตนารมย์และความจริงใจในการแก้ปัญหา บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนความพยายามของกลุ่มชาวนาจำนวนหนึ่งที่เราได้เข้าไปพูดคุยถึงแนวทางแก้หนี้และวิธีการแก้หนี้ที่ชาวนาทำได้สำเร็จ เขาทำอย่างไรกันและทำสำเร็จได้จริง โดยมีทัศนคติชัดเจนว่า “อย่าให้หนี้เพิ่ม  อะไรเป็นเหตุของการเป็นหนี้ อะไรเป็นสาเหตุความยากจน…แก้ที่ต้นเหตุ”

กลุ่มชาวนามีแนวคิดและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาหนี้สิน และต้องการให้ชาวนาด้วยกันหลุดพ้นจากหนี้ด้วยการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนให้กันและกัน ขณะเดียวกันการปรับตัวและเปลี่ยนทัศนคติในการทำนาจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ที่สำคัญคือความตั้งใจในการปลดหนี้

ความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาเริ่มต้นที่ความตั้งใจและกำลังใจที่จะหลุดพ้นจากหนี้สิน สิ่งที่ต้องเริ่มคิดวิเคราะห์คือสาเหตุของหนี้ และวิธีการในการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งได้ข้อสรุปที่ไม่ต่างกันมากนัก เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทุนในการกู้เงินมาเพื่อใช้ในการลงทุนและการบริหารเงินในการทำนาเพื่อใช้หนี้ ขณะเดียวกันเราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและความคิดให้ได้ โดยการทิ้งวิธีการทำนาแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา

ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนที่ได้มาจากการสะสม ไม่ใช้เงินจากการกู้ แต่ถ้ากู้ก็ต้องรู้ว่าจะแก้ปัญหาหนี้ก้อนนั้นอย่างไร อีกอย่างต้องคิดว่า ชาวนาไม่ใช่แค่ทำนาอย่างเดียว ควรเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ต้องทำเกษตรผสมผสานด้วย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เหลือเงินเก็บให้สามารถนำไปซื้อปุ๋ยและปัจจัยการผลิต ซึ่งมีช่วงเวลาพอที่จะได้เงินจากส่วนอื่นมาลงทุนได้ อาจจะมากหรือน้อยก็ได้ พอเก็บเกี่ยวข้าวเราก็จะพอมีเงินก้อนในการนำไปชำระหนี้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการบริหารหนี้แบบยั่งยืน ดังนั้นอาชีพเสริมของเกษตรกรจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้วิธีการทำนาแบบใหม่จะมีการคำนวณพื้นที่ในการใช้ปัจจัยการผลิต ตามสภาพความจำเป็น จะไม่ใช้ทั้งแปลงเหมือนเช่นแต่ก่อน ก็จะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ และการออกแบบการใช้ที่ดินก็สำคัญมากที่ช่วยให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งมีแนวคิดวิธีการทำนาแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) แปลงนาลดต้นทุน 10-20 ไร่ 2) แปลงนา 2 ไร่ทำกิน ด้วยกระบวนการชีวภาพ 3) แปลง 3 ไร่ ปลูกพืชผัก หรือจะเป็นไม้ป่าเพื่อเอาไม้มาทำถ่าน ฯลฯ

การปรับเปลี่ยนที่ดินเช่นนี้จะช่วยให้ชาวนาสามารถมีรายได้ทุกวันช่วยให้รายจ่ายในแต่ละวันลดลง รายได้และรายจ่ายของชาวนาจำเป็นต้องทำบัญชีครัวเรือนควบคู่ไปด้วย จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงการเงินได้ชัดเจนและมีกำลังใจในการปลดหนี้ของตัวเองได้ แนวทางนี้เป็นหนึ่งในวิธีแก้หนี้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พออยู่พอกิน มีคุณธรรม ทำทีละอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป ทำอะไรก็ต้องศึกษาหาข้อมูล ทดลอง เรียนรู้ก่อน เป็นต้น

เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนความคิดในเรื่องการทำการเกษตร ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตแล้ว บริหารการจัดการหนี้ก็ต้องควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีความตั้งใจในการแก้หนี้อย่างจริงจัง โดยใช้หลักคิดการแก้หนี้ที่ทำให้หลุดพ้นได้จริงคือ หนี้ไม่ลด แต่ไม่เพิ่ม และหาวิธีหรือหนทางอื่นไปผ่อนหนี้ ซึ่งชาวนาต้องมีความมุ่งมั่นว่าถ้ารู้จักใช้หนี้ หนี้ก็ต้องหมด

หลังจากการพูดคุยกับชาวนากลุ่มนี้ เราได้บทสรุปในการทำเกษตรแก้หนี้สรุปสั้นๆ คือ 1) การทำนาได้เงินเป็นก้อนก็ช่วยลดหนี้ได้ 2) ช่วงไม่มีรายได้เข้ามาก็ไปหารายได้จากทางอื่น 3) หมุนเงินบางส่วนมาใช้จ่ายในครัวเรือน 4) รายได้ไม่เยอะสามารถลดหนี้ได้ ทยอยใช้หนี้ 5) หาวิธีการต่อรองกับเจ้าหนี้ ขอจ่ายเงินต้นเท่าที่ได้

เมื่อวิเคราะห์ปัญหาหนี้สิน กระบวนการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อแก้ปัญหาหนี้แล้ว ไม่เพียงแค่ปรับวิถีการผลิต แต่สิ่งสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนและการพัฒนากรอบและวิธีคิดสู่การพึ่งพาตนเองของชาวนา ได้แก่ 1) ให้มีองค์ความรู้ สามารถเชื่อมโยงเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น 2) การลงมือทำ ทดลอง วิเคราะห์ 3) ต้องสร้างอำนาจต่อรอง ให้สินค้าเป็นที่ต้องการ สินค้ามีคุณภาพ 4) เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมตรงกับฤดูกาล 5) ตรวจสภาพดินให้เหมาะสม วิเคราะห์ดินในแปลง 6) จำเป็นต้องพึ่งพากัน แลกเปลี่ยนความรู้ 7) เปลี่ยนทัศนคติในการทำนาแบบเดิม ๆ 8) ปรับเปลี่ยนการผลิต ผสมผสาน เพื่อลดต้นทุน

เราเชื่อว่า ความตั้งใจจริงในการแก้หนี้สินของชาวนาเป็นหัวใจสำคัญที่สุดและเป็นทางเลือกของความคิดใหม่ในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับชาวนารายอื่นได้ หากเราอยากหลุดจากวงจรหนี้ แนวคิดนี้ก็จะเป็นอีกประสบการณ์ตรงจากชาวนาสู่ชาวนา ให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้ในกระบวนการทำเกษตรกรรมเพื่อปลดหนี้ ความสำเร็จนี้จะช่วยให้ชาวนามีกำลังใจในการปลดแอกชีวิตตัวเองให้ได้ในสักวัน...

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 ก.พ. 2566

ผู้เขียน : นุศจี ทวีวงศ์

  • ฮิต: 820

มาตรการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในบริบทการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย

DrChayanatRiceFarmerResearch

"...การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของชาวนาโดยทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องใช้มาตรการแนวทางที่ครอบคลุมทั้งระบบ Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ควรมุ่งสร้าง “คน” เปลี่ยนจาก ชาวนาผู้ผลิต เป็น ผู้ประกอบการชาวนา (Entrepreneurial Farmer) โดยพัฒนาศักยภาพของชาวนารุ่นใหม่ด้วย มีดังนี้..."

ปัญหาความยากจนที่สะสมมานานของชาวนาไทย ทำให้ชาวนาเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มากกว่า 1 ใน 3 ของคนจนทั้งประเทศ) ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาย่อมหมายถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตะหนักเป็นอย่างดีว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจข้าวเป็นเรื่องหลักในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยยกระดับสู่การเกษตรสมัยใหม่ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ชาวนาไทยก็ยังคงประสบปัญหาความยากจน

ความยากจนเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ เป็นที่ประจักษ์เห็นได้ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยม อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน กระทั่งกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบกับความยากจนของประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในชนบทมีสาเหตุที่สะสมเรื้อรัง โดยเฉพาะจากการขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองและไม่มีความสามารถในการทำการตลาด จึงมักจะถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางเรื่อยมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งถูกยกย่องเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงสังคมมายาวนาน

1. สภาพปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของชาวนาไทยในปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาวนาที่มีประมาณ 17 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ และมีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงถึงกว่า 200,000 บาท ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านการเกษตร

ที่ผ่านมา กรมการข้าวมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรชาวนา หากแต่ยังมีช่องว่างในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสู่วิสัยทัศน์ตามที่ตั้งไว้ ได้แก่ มีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างองค์กร มีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรได้ทั่วถึงและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อยและเป็นเพียงผู้ผลิต และหากหน่วยงานภาครัฐยังใช้รูปแบบการดำเนินงานแบบเดิม ก็จะไม่สามารถก้าวทันต่อการแข่งขัน เกษตรกรชาวนาที่สูงวัยยังไม่สามารถปรับตัวได้ และชาวนารุ่นใหม่ขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพทำนา

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างตะหนักปัญหาเรื่องรายได้ของชาวนา และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวและชาวนามาตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือ การอุดหนุนเม็ดเงินเพื่อการช่วยเหลือชดเชยรายได้ของชาวนา หรือที่เรียกกันว่า “แทรกแซงราคาตลาด” โดยใช้ภาษีอากรของประเทศปีละหลายแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤติของโรคระบาด COVID-19 และเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำในปัจจุบัน ทำให้ประเทศทั่วโลกต้องการความมั่นคงทางอาหารที่มีราคาไม่สูง อีกทั้งมีแรงงานกลับถิ่นฐานจำนวนมาก นับว่าเป็นโอกาสของตลาดข้าวไทย ดังนั้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งหารูปแบบการพัฒนาระบบการผลิตข้าว ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าว ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

2. มาตรการแนวทางการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย

การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของชาวนาโดยทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องใช้มาตรการแนวทางที่ครอบคลุมทั้งระบบ Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ควรมุ่งสร้าง “คน” เปลี่ยนจาก ชาวนาผู้ผลิต เป็น ผู้ประกอบการชาวนา (Entrepreneurial Farmer) โดยพัฒนาศักยภาพของชาวนารุ่นใหม่ด้วย มีดังนี้

171022 farmer2

2.1 การปฏิรูปกระบวนการผลิตข้าว-การทำนา

การทำนาแบบมืออาชีพ ฉบับ “ไม่จน” นี้จะเป็นการทำนาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นคือเน้นเพิ่มผลผลิต (Yield) และลดต้นทุน ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี (Q-Seed) โดยรัฐสนับสนุนเงินทุน การใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Agri-Tech) ที่เหมาะกับสภาพดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้นำเครื่องจักรและทรัพยากรการปลูกข้าวมาแบ่งปันกันในชุมชน (Shared economy) นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญรัฐบาลควรแก้ปัญหาเรื่องชลประทานด้วยการลงทุนติดตั้งระบบน้ำอัจฉริยะทั้งประเทศ

ภาครัฐควรเร่งมีการส่งเสริมทฤษฎีการทำนาแบบผสมผสานแบบดั้งเดิมให้แก่ชาวนาที่มีพื้นที่ทำนาแปลงขาดเล็ก ชาวนาจำนวนไม่น้อยมีพื้นที่ทำนาแปลงเล็กและยังคงยึดแนวทางการทำนาแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพได้ หน่วยงานภาครัฐ และและเอกชน ควรส่งเสริมให้ชาวนาที่มีที่นาน้อยหันมาทำนาแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพตลอดทั้งปี รวมทั้งสนับสนุนการลดต้นทุนในการลงทุนการปลูกข้าวที่ใช้สารเคมีน้อยลง เป็นการทำเกษตรเชิงทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสาน

นอกจากนี้ รัฐยังสามารถส่งเสริมการทำนาแบบสมัยใหม่ควบคู่กันไป ด้วยจัดทำ Sandbox ทำนาแปลงใหญ่ และส่งเสริม StartUp เกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าวคือ
     - การจัดทำ Sandbox โดยใช้ที่ดิน สปก./สปท. หรือเขตทหาร เพื่อทำนาแปลงใหญ่ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการทำนา (Agri-tech) เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผลผลิตจากการทำนาแบบแปลงใหญ่มีประสิทธิภาพและต้นทุนถูกกว่า (กำไรสูงขึ้น) เมื่อเทียบกับการทำนาแบบดั่งเดิม จะทำให้ชาวนาเต็มใจเข้าร่วมโครงการ “นาแปลงใหญ่”
     - การส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามารับบริหารจัดการทำนาอย่างมืออาชีพ สามารถนำเอา Agri-tech มาใช้ในการทำนา นอกจากนี้ยังสามารถต่อรองราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย โดยแบ่งรายได้ระหว่างชาวนาและ startups โดยภาครัฐจัด seeding funds หรือ soft loans ให้แก่ start-ups กลุ่มนี้

171022 farmer3

2.2 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างแพลตฟอร์มข้าวแห่งชาติ (National Rice Platform)

โดยรวบรวมฐานข้อมูลจากระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น TPMAP ของ สวทช. Farmer One ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร Agri-Map ของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม เป็นต้น โดยสามารถประมวลข้อมูลได้ถึงระดับตัวชาวนา ระดับพิกัดแปลงนา และพันธุ์ข้าว เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและบูรณาการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาร่วมกัน

ข้อมูลชุดนี้มีประโยชน์มากในการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาให้พ้นเส้นความยากจนแบบพุ่งเป้า คือเฉพาะกลุ่มยากจนที่มีปัญหา โดยใช้ AI ช่วยจัดกลุ่มประเภทชาวนา (Farmer Segmentation) และมีเครื่องมือในการแก้ปัญหา (Toolkit) ตามความจำเป็นของแต่ละราย นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสภาพดินและน้ำ สำหรับใช้ในการจัดการเรื่องเขตพื้นที่การเกษตร Zoning การรับซื้อข้าวของโรงสีและพ่อค้าคนกลางทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Demand & Supply optimization) และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงสี พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก และสรรพากร เพื่อการเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.3 กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก (ระดับปลายน้ำ)

กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย 4Ps ได้แก่ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) กลยุทธ์ด้านราคา (Price) กลยุทธ์ช่องทางตลาดและการจัดจำหน่าย (Place) และกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด (Promotion)) ดังนี้

(1) กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (PRODUCT) โดยการปรับนโยบายการวิจัยและพัฒนา (Research & Development)

กรมการข้าวควรให้ความสำคัญต่อการวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ข้าวเฉพาะกลุ่ม ข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น โดยเพิ่มงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯเพื่อวิเคราะห์ตลาดและพยากรณ์ความนิยมพันธุ์ข้าวล่วงหน้า นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณพัฒนาและวิจัยด้าน food science & bio-engineering กลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคที่ทำจากข้าว การใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของข้าว ได้แก่ แป้ง รำ แกลบ และฟางข้าว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตข้าว ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยมีผลผลิตจากข้าวในการส่งออกและนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศ โดยจูงใจให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม และยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากข้าวไปสู่ห่วงโซ่การผลิตของโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนถึงการถ่ายทอดผลการวิจัยการแปรรูปข้าวให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)

(2) กลยุทธ์ด้านราคา (PRICE) โดยการปฏิรูปนโยบายการกำหนดราคาข้าวให้สะท้อนต้นทุน (Cost-Plus Pricing Strategy) และปรับโครงสร้างการกระจายกำไรของห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ

ชาวนาผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาขายที่สะท้อนต้นทุนการผลิต (Cost-Plus Pricing Strategy) ให้เป็นไปตามกลไกการค้าขายเสรี ไม่มีการแทรกแซงตลาดด้วยการชดเชยหรือประกันราคา ที่ทำให้บิดเบือนกลไกตลาดและเป็นภาระต่องบประมาณ ปฏิรูปโครงสร้างกำไรของทุกห่วงโซ่ในระบบอุปทานข้าว คือการปรับให้กำไรของชาวนา โรงสี พ่อค้าคนกลาง ให้มีสัดส่วนสมดุล เหมาะสม เป็นธรรมมากขึ้น กล่าวคือ สัดส่วนกำไรในปัจจุบันของชาวนาอยู่ที่ประมาณเพียง ร้อยละ 10 ของกำไรทั้งหมดตั้งแต่ขายข้าวเปลือกจนถึงข้าวสารถึงผู้บริโภคในประเทศ

รัฐบาลควรส่งเสริมให้มี “การประกันความเสี่ยงราคาแปรปรวน” (Crop Insurance) โดยการจ่ายเงินเบี้ยประกันให้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก

ในระยะยาว การกำหนดราคาขายข้าวที่สะท้อนต้นทุนและโครงสร้างกำไรแบบใหม่เช่นนี้ จะทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืนและสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินชดเชยจากรัฐบาล

(3) กลยุทธ์ด้านช่องทางตลาดและจำหน่าย (PLACE) โดยลดขั้นตอนการจัดจำหน่ายที่ซับซ้อนด้วย eCommerce

ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รัฐสนับสนุนจัดให้มีตลาดกลาง (ประมูล) ที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้มีระบบการซื้อขายตามชั้นคุณภาพและกลุ่มพันธุ์ให้มากขึ้นและชัดเจน จัดให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้มีความสามารถในการประกอบธุรกิจออนไลน์ หรือ “ตลาดข้าวออนไลน์” (Digital Marketing) การส่งเสริมการตลาดทางตรงทั้งแบบ Farmer-to-Consumer (F2C - เกษตรกรกับผู้บริโภค) และแบบ Farmer-to-Business (F2B - เกษตรกรกับผู้ประกอบการ) ออกนโยบายการจัดซื้อข้าวของหน่วยงานราชการ ได้แก่ ทัณฑสถาน ค่ายทหาร ให้ซื้อข้าวโดยตรงกับชาวนาหรือกลุ่มชาวนาในท้องถิ่นโดยตรง) และการส่งเสริมให้สหกรณ์มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยในราคาต่ำ (ประมาณ 1%)

(4) ส่งเสริมตลาดข้าวส่งออกไปต่างประเทศ (PROMOTION) โดยการเพิ่มยอดขายตลาดเดิมที่มีศักยภาพ (Existing Potential Market) และการขยายหาตลาดใหม่ (New Market Development)

ที่ผ่านมาการบริโภคข้าวในประเทศคงที่มาโดยตลอด เนื่องจากจำนวนประชากรมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อวิเคราะห์ยอดส่งออกข้าวที่ผ่านมาเมื่อ พ.ศ. 2564 พบว่าปริมาณเพิ่มขึ้น 6.7% แต่มูลค่ากลับลดลง 7.1% โดยยอดขายที่ตกลงเป็นกลุ่มข้าวหอม แสดงว่าเรายังมีโอกาสในการทำการตลาดข้าวในต่างประเทศทั้งข้าวเกรดพรีเมี่ยม เช่น ข้าวหอม และเกรดข้าวธรรมดา ทำให้มีขีดความสามารถในการเจรจาระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้คณะกรรมการเจรจาสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแบบกรรมการถาวรไม่ใช่เฉพาะกิจ

กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกของข้าวไทย (Proactive Marketing Strategy)

171022 farmer4

2.4 มาตรการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกองทุน เพื่อการบริหารจัดการข้าว

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้าวตั้งแต่ระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด กระจัดกระจายหลายฉบับ เช่น พรบ.พันธุ์พืช 2518 พรบ.ค้าข้าว 2489 และฉบับอื่น ๆ ยากต่อการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขัน จึงควรให้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติข้าว พ.ศ... (ไม่ใช่ พรบ.ค้าข้าว ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการที่ดินทำนา กระบวนการปลูกข้าว การพาณิชย์และตลาด รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการแก่ชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของการวิวัฒนาการของโลก และมุ่งให้ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตและการบริหารจัดการข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและคงความเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวของโลก นั่นหมายถึงผู้ผลิตข้าวอย่างชาวนาได้รับการดูแล มีรายได้ดีขึ้น และหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับอาชีพชาวนา 3.72 ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียน ให้สวัสดิการครอบคลุมดูแลชาวนาตั้งแต่เกิดจนตาย รวมไปถึงการศึกษาของบุตรหลาน โดยเฉพาะบุตรหลานที่ศึกษาเรื่องการเกษตรทำนาและต้องการคืนถิ่นกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สามารถยื่นโครงการเพื่อขออนุมัติ Seeding Funds

แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย พรบ.ข้าว และกองทุนชาวนา

171022 farmer5

กรรมสิทธิ์การใช้ที่ดิน ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิต เป็นที่รวมของความเป็นครอบครัวและชุมชน เป็นแหล่งทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงเนื่องด้วยเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ปัญหาที่สำคัญคือเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน มีที่ดินไม่พอทำกิน การเช่าที่ดินราคาแพง เก็บไว้เก็งกำไร เป็นต้น คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเร่งรีบจัดการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรโดยด่วน นอกจากนี้จากกระแสข่าวชาวต่างชาติร่วมมือกับคนไทยทำการกว้านซื้อหรือเช่าที่นาหลายรูปแบบให้ราคาสูงในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งปลูกข้าวใหญ่ในภาคกลาง ส่งผลกระทบให้ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน เสียค่าเช่า และพื้นที่นาถูกปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน กฎหมายเรื่องนอมีนีต้องถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง

2.5 ปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องข้าว

การปรับปรุงกลไกภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปข้าวของประเทศไทยทั้งระบบ แม้ว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ แต่ในระดับการปฏิบัติการ เช่น กรมการข้าว ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงานเพราะมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องแต่ขาดการบูรณาการ ดังนั้น จึงควรปรับโครงสร้างหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมการข้าว ให้มีอำนาจและความรับผิดชอบการบริหารเสร็จสรรพ ครบวงจร ตั้งแต่งานวิจัย การบริหารอุปสงค์และอุปทาน การกำหนด Zoning ควบคุมมาตรฐานข้าว มาตรฐานโรงสี-การแปรรูป ไปจนถึงการจัดการพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบการควบคุมราคาสินค้าในตลาดเช่นเดียวกับราคาเนื้อหมู และการตลาดส่งออก

นอกจากนี้ กลไกของภาครัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับบริการสมาชิก การจัดตั้งเครือข่ายชาวนาในรูปของสมาคม/สภาชาวนา ที่มีองค์กรชาวนาต่าง ๆ เป็นสมาชิก ให้องค์กรชาวนาเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างภาครัฐและชาวนา ในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการการผลิตของสมาชิก การช่วยเหลือสนับสนุนชาวนา และที่สำคัญคือสร้างจิตสำนึกให้ชาวนารู้จักพึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ประมาณการว่า มาตรการข้างต้นจะช่วยลดความยากจนของชาวนาไทย คือ (1) เพิ่มผลผลิตต่อไร่ 2 เท่าจากปัจจุบัน (2) ลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 20 และ (3) กำไรเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อกิโลกรัม จากการปรับสัดส่วนกำไรของทั้งระบบ ก็จะทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นประมาณ 132,000 บาทต่อราย ซึ่งสมมุติฐานนี้ เท่ากับว่า ชาวนาจะมีรายได้พ้นเส้นความยากจน (2,686 บาทต่อเดือน) อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทยได้มากกว่าร้อยละ 30

ดร.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย
กรรมการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา

ภาพประกอบ : https://bit.ly/3eBqMz3

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 17 ต.ค. 2565

  • ฮิต: 883

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6751712
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
384
4506
31904
143238
6751712

Your IP: 3.144.36.141
2024-04-27 03:39