“หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนองานวิจัยเพื่อผลักดันสู่นโยบาย

FarmerDebtSeminar28032023

มรดกหนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรไทย โดยพบว่าจำนวนลูกหนี้ กว่า 1 ใน 4 จาก 5 ล้านราย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความเสี่ยงที่จะส่งต่อหนี้เสียนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน ปัญหาหนี้สินชาวนาจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  ทางออกการแก้หนี้เชิงระบบและโครงสร้างเป็นสิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแก้หนี้เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการผลักดันให้อยู่ในนโยบายภาครัฐ การปรับแก้ระบบและโครงสร้างให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม รวมทั้งจำเป็นที่จะได้รับการส่งเสริม การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในหลายมิติที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกทางการตลาด ราคาที่เป็นธรรม ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ประกอบการเสริมศักยภาพชาวนาให้มีความรู้มากขึ้นเพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปให้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจะนำไปสู่แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้นที่สามารถนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นไปได้จริง

ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิชีวิตไทและองค์กรร่วมจัด ได้แก่ มูลนิธิสัมมาชีพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะ ผลงานการศึกษาวิจัยใน 5 ประเด็นได้แก่

ความเป็นธรรมด้านกลไกราคาและกลไกการเงิน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญก็คือนโยบายของรัฐควรสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง พัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ทำ จำเป็นต้องให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต

ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ข้อเสนอในงานวิจัยคือ 1)ปรับปรุงการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับเกษตรกร 2) ควรให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน 3) ธ.ก.ส.ควรเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ 4) จัดให้มีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านสินเชื่อ

ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก สถาบันการเงินจำเป็นต้องรู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกรเพื่อให้การปล่อยกู้มีประสิทธิภาพและไม่นำไปสู่วงจรการหมุนหนี้ นอกจากนี้ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องอยู่บนฐานความเข้าใจของเกษตรกรคือ 1) ต้องสร้างและใช้ข้อมูลเพื่อสะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น 2) กลไกการบังคับหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ตรงกับศักยภาพเกษตรกร ให้ข้อมูลที่เหมาะสมและต้องสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ 3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม 4) พัฒนาศักยภาพและรายได้ให้กับเกษตรกร

ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้สินของชาวนา จากการวิจัยได้มีการนำเสนอรูปแบบแก้หนี้สินเกษตรกรโดยเกษตรกร ซึ่งได้แก่ การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรกรรม การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ การออมเงินและการสร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งสามารถนำแนวคิดในการแก้หนี้ไปใช้และปฏิบัติได้เลย สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ การลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุงด้วยตัวเอง โดยที่เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการผลิต การประกอบอาชีพและการปรับเปลี่ยนวิธีคิด

ความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน การพัฒนาตลาดสีเขียวถือเป็นหนึ่งเครื่องมือในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้และเป็นการสร้างช่องทางจำหน่ายอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีอุปสรรคจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการสนับสนุนพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชนและการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการของชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในกลุ่มเกษตรกรเอง

ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ จากการวิจัยพบว่า การส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ทุนภายใน ทุนความรู้และการสร้างสรรค์ ทุนสนับสนุนจากภายนอก เช่น ความรู้ การเงิน และทรัพยากรอื่น ๆ ในการประกอบกิจการและอาชีพ

บทสรุปที่ได้จากผลการวิจัยที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรอย่างรอบด้านและหลากหลายประเด็น เราหวังข้อมูลวิจัยจากเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถนำข้อมูลไปพิจารณาและปรับใช้สู่การแก้ไขปัญหาหนี้ชาวนาและเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ภายใต้ความคาดหวังว่าปลายทางการพัฒนาจะช่วยให้ชาวนาและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เป็นอาชีพที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถปลดเปลื้องภาระหนี้สิน และส่งต่อมรดกอาชีพที่ปลอดจากภาระหนี้สู่ลูกหลานได้ในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 11 เม.ย. 2566

ผู้เขียน : นุศจี ทวีวงศ์

  • ฮิต: 815

ออกแบบนโยบายข้าวอินทรีย์ “ทรงอย่างไหน” จึงจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

RicePricePolicy

  • ข้าวอินทรีย์มีตลาดแน่นอน แต่ปัจจุบันการผลิตทำได้น้อยกว่าความต้องการของตลาด
  • ข้าวอินทรีย์ขายได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป เพราะมีค่าพรีเมียมของความเป็นข้าวอินทรีย์ที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่าย

เมื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไป แล้วเหตุใดชาวนาที่เลือกเดินบนหนทางข้าวอินทรีย์จึงมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับชาวนาทั้งหมดของประเทศ ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยอิสระ  ที่ทำการศึกษากระบวนการปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ข้าวอินทรีย์ที่จะเอื้อต่อเกษตรกรที่มีภาระหนี้สิน มีคำตอบ

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานตัวเลขล่าสุดของพื้นที่การปลูกเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในปี 2564 ว่ามีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ มีเกษตรกรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศที่มีอยู่ประมาณ 71.8 ล้านไร่ ทั้งที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และมีการประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ 2560-2565 ราคาข้าวอินทรีย์บรรจุถุงในปัจจุบันสูงกว่าราคาข้าวทั่วไปร้อยละ 20 และราคาข้าวอินทรีย์ที่ส่งออกไปต่างประเทศสูงกว่าราคาข้าวสารทั่วไปร้อยละ 25-30  จากการศึกษาของปิยาพรพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวนาไม่ยอมรับหรือปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การทำข้าวอินทรีย์ คือ กระบวนการผลิตและระบบรับรองมาตรฐาน รวมถึงการลดลงของปริมาณผลผลิตและผลตอบแทนที่ได้

ทั้งนี้การปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิตอินทรีย์ต้องใช้ระยะเวลา กว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวที่จะทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาเกษตรอินทรีย์ ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 3 ปี ทำให้ชาวนาโดยเฉพาะรายย่อยที่มีฐานะยากจนและแบกภาระหนี้สินอยู่แล้วไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นภายหลังอาจไม่คุ้มค่าต่อการแลกเปลี่ยนกับข้อจำกัดในปัจจุบัน ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภค และภาระดอกเบี้ยที่ต้องกู้มาลงทุน

จากการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนระหว่างการปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวทั่วไป ปิยาพรพบว่า แม้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวทั่วไปแต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไปในหลายประเด็น ทั้งต้นทุนด้านแรงงานและต้นทุนด้านเศรษฐกิจ โดยต้นทุนด้านแรงงานนั้นพบว่านาข้าวอินทรีย์ต้องการการใช้แรงงานที่เข้มข้นกว่านาข้าวทั่วไป ทั้งการปลูกและเตรียมพันธุ์ ทั้งการดูแลรักษา และทั้งการเก็บเกี่ยวและรวบรวม ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามอัตราของปริมาณการทำนา เช่น ค่าไถพรวน ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ รวมทั้ง ค่าเพาะปลูก และการดูแลรักษาระหว่างการเพาะปลูกซึ่งล้วนแต่ราคาสูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไป

“ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างเองได้ จึงต้องมีการจ้างงาน หากไม่มีทุนมากพอ การกู้ยืมจะเป็นทางออกที่สำคัญ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หลุดไม่พ้นวงจรหนี้สิน”  ปิยาพรกล่าว

ในด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจนั้นก็พบว่าการผลิตข้าวอินทรีย์ต้องการเงินลงทุนประมาณ 2,198 บาท/ ไร่ ขณะที่ข้าวทั่วไปต้องการเงินลงทุน 2,789 บาท/ ไร่ ซึ่งในช่วงที่เกษตรกรยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจากนาข้าวธรรมดาเป็นนาข้าวอินทรีย์ ยังไม่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาข้าวอินทรีย์ จะทำให้มีอัตราการขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 48 บาท/ ไร่ ซึ่งการขาดทุนสุทธิและภาระต้นทุนที่สูงนี้เป็นแรงต้านที่สำคัญในการทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกข้าวอินทรีย์ได้ไม่สำเร็จ

นอกจากนี้เมื่อเทียบรายได้กับเส้นความยากจน แม้จะพบว่าการทำนาข้าวอินทรีย์มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจนสูงกว่าการทำนาข้าวทั่วไป แต่จำนวนร้อยละของเกษตรกรที่มีรายได้จากข้าวอินทรีย์ที่อยู่เหนือเส้นความยากจนยังมีอยู่น้อยมาก โดยพบว่าเกษตรกรในระยะปรับเปลี่ยนอยู่เหนือเส้นความยากจนเพียงร้อยละ 9 เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ อยู่เหนือเส้นความยากจนร้อยละ 21 และเกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ในเกษตรผสมผสาน ร้อยละ 29 ปิยาพรจึงสรุปว่า “อาชีพการทำนาข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่ให้รายได้เกษตรกรอยู่เหนือเส้นความยากจน หรือ อาชีพการผลิตข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่แก้ความยากจนทางเศรษฐกิจ”

ในการศึกษาชิ้นนี้ปิยาพรยังพบว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะส่งผลให้เกิด “การมีส่วนเกินทางรายได้” เมื่อมีการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แหล่งกระจายปัจจัยการผลิต แหล่งรวม และรับซื้อผลผลิต ทั้งนี้ปิยาพรค้นพบว่า ในทัศนะของเกษตรกรแล้วการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวได้ยาก เนื่องด้วยระบบการรับรองและการตลาด ซึ่งไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก นอกจากนี้ชาวนาส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ คือจบเพียงชั้นประถมศึกษา และฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อหันมาพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐ สามารถแบ่งแนวนโยบายได้เป็น 2 ประเภท คือ นโยบายเกี่ยวกับราคา (price policy) เป็นนโยบายที่ใช้เครื่องมือต่างๆ มากำหนดราคา หรือสร้างเสถียรภาพราคา และยกระดับรายได้ของเกษตรกร เช่น นโยบายรับจำนำผลผลิต นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับเกษตรกร เป็นต้น และนโยบายที่ไม่ใช่ราคา (non-price policy) คือการใช้เครื่องมือในการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร เช่น การพัฒนาระบบชลประทาน การเร่งวิจัยในภาคเกษตร นโยบายปฏิรูปที่ดิน หรือนโยบายที่เกี่ยวกับสินเชื่อเกษตรกร เป็นต้น ปิยาพรมีข้อเสนอต่อการออกแบบนโยบายเพื่อให้เหมาะกับโครงสร้างภาคเกษตรและวิถีชีวิตของเกษตรกร ดังนี้

  • นโยบายการกำหนดราคาข้าว ควรนำมาใช้ในยามจำเป็น ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่ราคาข้าวตำว่าต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินหรือติดกับดักหนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทย และการกำหนดราคาข้าวควรต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านแรงงานของชาวนาด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าการกำหนดราคาข้าวอินทรีย์ของเกษตรกร จะอิงตามราคาตลาดหรือราคาประกัน ซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนด้านแรงงานของเกษตรกร ซึ่งตัวเกษตรกรเองก็ไม่ตระหนักถึงความสำคัญแรงงานตนเองว่าต้องถูกนำมาคำนวณเป็นต้นทุนการผลิตด้วย
  • รัฐบาลควรมุ่งสนับสนุนให้ชาวนามีความแข็งแกร่ง ส่งเสริมให้ชาวนาเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องวางแผนเป็น และนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับชาวนาให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ  ต้องทำให้มีการวางแผนการผลิตที่ดีเพื่อลดต้นทุน และชะลอความเสี่ยง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพและราคา ส่งเสริมการพึ่งพาและร่วมมือกันของเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองโดยนำไปสู่การขายและการจำหน่าย
  • ฮิต: 779

เปรียบเทียบนโยบายด้านการเกษตรพรรคการเมือง ปัญหาหนี้สินแม้ถูกมองเห็นแต่ยังแก้ไม่ตรงจุด

 

FarmerPolicy2023

ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทุกพรรคการเมืองที่ต่างต้องมีนโยบายมาดึงดูดคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่านโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ยังแก้ไม่ตรงประเด็นปัญหาของเกษตรกร

หากจำแนกปัญหาหลักๆ ของเกษตรกรไทยในปัจจุบันจะพบว่ามี 4 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต และการไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เมื่อวิเคราะห์นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มมีการเผยแพร่ผ่านสื่อแล้วพบว่า ก้าวไกลเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายครอบคลุมทุกปัญหา        ส่วนพรรคพลังประชารัฐและพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่มีนโยบายที่จะตอบสนองปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอย่างปัญหาหนี้สินการเกษตรกรและการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรประมง สามารถวิเคราะห์นโยบายหาเสียงตามประเด็นปัญหาของเกษตรกรจะได้ดังนี้

ปัญหาหนี้สิน

ปัญหาหนี้สินที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่พบว่ามีเพียง 2 พรรคการเมืองที่มีนโยบายรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร คือพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบาย “พักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอก” และพรรคก้าวไกล ที่มาพร้อมนโยบาย “ลดเงินต้นก่อนลดดอกเบี้ย” และการมุ่ง “ปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย เกษตรกรจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง”

หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 พรรคการเมืองแล้วดูเหมือนว่า ก้าวไกลจะเข้าใจโครงสร้างปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดีกว่าเพื่อไทย ทั้งนี้สาเหตุหลักประการหนึ่งที่เกษตรกรไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ มาจากเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยอดเงินที่ชำระถูกนำไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยก่อน ทำให้ยอดเงินต้นแทบไม่ลด การลดต้นก่อนลดดอกเบี้ยหากทำได้จริงน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับการปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย  ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีเกษตรกรลูกหนี้อายุมากกว่า 60 ปีถึงเกือบ 1.4 ล้านราย ในจำนวนนี้อายุมากกว่า 70 ปีถึง 414,576 ราย ซึ่งเกษตรกรวัยนี้ไม่น่าจะสามารถก่อให้เกิดรายได้แล้ว การให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่ง น่าจะสามารถปลดเปลื้องภาระได้ แต่ในระยะยาว ปัญหานี้ก็จะปะทุขึ้นมาอีก ตราบที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรสูงอายุ

ส่วนนโยบายพักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอกของพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นความพยายามปิดช่องโหว่ของนโยบายพักชำระหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ต้องส่งเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อทำให้สุดท้ายการพักชำระหนี้แบบไม่หยุดดอกเบี้ยทำให้ยอดเงินกู้ของเกษตรกรเติบโตงอกงามขึ้น แต่การพักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย สุดท้ายก็จะเป็นเพียงการให้เกษตรกรได้พัก หยุดหายใจ ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ระยะยาวได้

ปัญหาที่ดินทำกิน

มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และก้าวไกลที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยพรรคประชาธิปัตย์มาพร้อมกับนโยบายการออกโฉนดที่ดินให้ได้ 1 ล้านแปลง ภายในเวลา 4 ปี โดยไม่มีการพูดถึงปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งน่าจะเป็นรากของปัญหาการที่เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในขณะที่ก้าวไกลประกาศให้ที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินนิคมสหกรณ์ สามารถนำมาออกโฉนดได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งกองทุนเพื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ โดยตั้งงบประมาณกองทุนสูงถึง 10,000 ล้านบาท และยังจะพยายามให้มีการกระจายการถือครองที่ดินด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดินและเปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน

ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต

เกือบทุกพรรคยกเว้นเพื่อไทยและภูมิใจไทย มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาด้านนี้ ประชาธิปัตย์และชาติไทยพัฒนายึดแนวการแจก โดยชาติไทยพัฒนาจะแจกพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรฟรี 60 ล้านไร่ ส่วนประชาธิปัตย์จะให้เงินอุดหนุนชาวนาปลูกข้าวครอบครัวละ 30,000 บาท และให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงกลุ่มละ 100,000 บาท/ ปี ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการประมงอย่างชัดเจน นอกจากการให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรชาวประมงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มประมงพาณิชย์ โดยมีนโยบายที่จะมุ่งแก้ปัญหาการติด Blacklist ของสหภาพยุโรป เนื่องจาก IUU หรือการเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายประมง ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายให้เงินอุดหนุนธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชนอีกแห่งละ 2 ล้านบาท คาดว่าเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงปัจจัยด้านการเงินให้เกษตรกร

ส่วนก้าวไกลมาพร้อมนโยบายเป็นแพกเก็จ ตั้งแต่การจะให้เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยราคาถูกได้โดยผ่านสหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้เกษตรกรนำไปซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร เช่น รถไถ รถดำนา  ส่วนพลังประชารัฐเน้นไปที่การดูแลต้นทุนด้านทรัพยากรน้ำ โดยจะจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การเก็บกักน้ำ และการเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง     

การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ

พรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดเจนสนับสนุนการทำ contract farming โดยให้รัฐเป็นผู้ทำสัญญากับเกษตรกรแทนเอกชน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรที่ทำ contract farming กับภาคเอกชนจำนวนมาก ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและจมอยู่กับวงจรหนี้ เพราะเอกชนสามารถควบคุมทุกอย่างได้  ภูมิใจไทยประกาศชัดว่าการทำ contract farming กับรัฐจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้ โดยจะนำร่องที่พืชเศรษฐกิจหลัก 4 อย่างก่อนคือ ข้าว ยางพารา  มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเดียวที่พร้อมจะยกระดับภาคการเกษตรไทยทันความเคลื่อนไหวของสังคมโลก ด้วยการประกาศนำแนวคิด agritech หรือการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อยกระดับสินค้าเกษตร และจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งการใช้ตลาดเป็นตัวนำกำหนดแนวทางให้ภาคการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มผลิต พรรคก้าวไกลมีนโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเช่นกัน แต่แนวทางของก้าวไกลจะเน้นไปที่การเรียนรู้ของเกษตรกร โดยจะจ้างให้เกษตรกรรุ่นใหม่สอนให้เกษตรกรรุ่นเก่ารู้จักการใช้เทคโนโลยี ซึ่ง ณ  ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกลจะนำไปสอนคือเทคโนโลยีอะไร

ชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคเดียวที่เชื่อมโยงภาคเกษตรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยประกาศจะทำให้ภาคเกษตรของไทยสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้       

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการรีวิวนโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ไม่ได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายของพรรคการเมืองใดๆ

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 564

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร

DebtPolicyBrift

มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) องค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชาวนาและเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน มาเป็นเวลานาน และพบว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่ใช่ปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินส่วนตัวของชาวเกษตรกร หากเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ที่กดทับเกษตรกรไทยมานานนับทศวรรษ เพื่อให้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งผูกโยงไปถึงปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ปัญหาคุณภาพชีวิตและการขาดแคลนโอกาสต่างๆ ทางสังคม และการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวเกษตรกรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ มูลนิธิชีวิตไทมองเห็นความจำเป็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนในระดับนโยบาย จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ นำไปพิจารณาปรับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น และพัฒนาไปสู่นโยบายที่มีผลในทางปฏิบัติได้จริง

ข้อเสนอเชิงนโยบายชุดนี้เป็นผลจากการทำงานของมูลนิธิ และการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งในรูปของการศึกษาวิจัย การทำโครงการเชิงปฏิบัติการและการฝึกอบรม การวิจัยเชิงทดลอง และอื่นๆ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากหลากหลายองค์กร รวมไปถึงอาจเป็นข้อเสนอจากองค์กรอื่นที่มูลนิธิชีวิตไท เล็งเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่จะสามารถนำสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเสนอต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธ.ก.ส. เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของเกษตรกรไทย มีปริมาณสินเชื่อภาคเกษตรร้อยละ 85.89 ของปริมาณสินเชื่อภาคเกษตรทั้งหมด  และมีแนวโน้มการให้สินเชื่อเกษตรกรสูงขึ้นทุกปี ร้อยละ 50 ของครัวเรือนชาวนาไทยที่มีกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน เป็นหนี้ ธ.ก.ส. มากกว่า 2 แสนบาท และร้อยละ 20 เป็นหนี้ ธ.ก.ส. มากกว่า 4 แสนบาท จากการศึกษาของมูลนิธิชีวิตไทพบว่าเมื่อเกษตรกรเริ่มทำสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ครั้งแรกแล้วยากที่จะก้าวหลุดออกมาจากวงจรสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ทั้งด้วยเหตุผลของตัวเกษตรกรเองและด้วยเหตุผลของ ธ.ก.ส. ที่มีนโยบายและการดำเนินการไม่เอื้อให้เกษตรกรปิดยอดหนี้ได้ โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันที่ใช้รูปแบบเดียวกันหมด คือ นำเงินต้นมารวมกับดอกเบี้ยค้างชำระ และค่าปรับการผิดนัดชำระให้เป็นยอดหนี้ก้อนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น แล้วให้เกษตรผ่อนชำระด้วยโครงสร้างเงื่อนเงื่อนไขในลักษะะเดียวกับสัญญาเงินกู้เดิม  มูลนิธิชีวิตไทจึงมีข้อเสนอต่อ ธ.ก.ส. ดังนี้

1.การปรับโครงสร้างหนี้ควรมีการออกแบบให้สอดคล้องเหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อเอื้อและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผ่อนชำระหนี้ได้มากที่สุด  และการผ่อนชำระควรเป็นลักษณะการลดเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ใช่การปรับลดดอกเบี้ยก่อนค่อยลดเงินต้นภายหลัง

2.ธ.ก.ส. ควรออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่ช่วยส่งเสริมการออมของเกษตรกรด้วย และควรมีระบบการชำระคืนที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยลดการสะสมหนี้ในระยะยาวของเกษตรกร

ข้อเสนอต่อกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนอื่นในกำกับของภาครัฐ

กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกลไกภาครัฐที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน และช่วยให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูชีวิตตนเองขึ้นมาได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ากองทุนฟื้นฟูฯ สามารถให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างจำกัด เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพกองทุนฟื้นฟูฯ ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้

1.ควรพัฒนาการสื่อสารกับเกษตรกรให้ชัดเจนและทั่วถึงยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรตระหนักและเข้าใจบทบาทของกองทุนมากขึ้น โดยเฉพาะต้องทำให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกเข้าใจบทบาทตนเองในฐานะสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มากยิ่งขึ้น

2.การดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูเกษตรกร ควรต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถส่งต่อทุนสนับสนุนให้ถึงมือเกษตรกรได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อมูลการคาดการณ์ราคาสินค้าให้เกษตรกรได้รับทราบและนำไปพิจารณากับการทำเกษตรของตนเอง

ข้อเสนอด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินเกษตรกร

จากการศึกษาของมูลนิธิชีวิตไทพบว่าการเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับหนี้สิน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่กับกับดักหนี้สิน โดยเฉพาะเมื่อต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งแล้วไม่สามารถสู้คดีได้ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นนี้ ดังนี้

1.ควรมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแก่เกษตรกร

2.ควรมีการปรับแก้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการขายทอดตลาดเพื่อให้มีความเป็นธรรมทั้งต่อฝ่ายเจ้าหนี้และเกษตรกรลูกหนี้

3.ระบบกฎหมายของไทยควรให้การรองรับการชำระหนี้ของเกษตรกรที่ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษร หรือในกระบวนการยุติธรรมควรให้มีการสืบค้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชำระหนี้ของเกษตรกร ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรจำนวนมากเชื่อเจ้าหนี้ ทำให้มีการชำระหนี้ไปโดยไม่ได้เก็บหลักฐานกลับมา เมื่อเกิดการฟ้องร้องจึงไม่มีหลักฐานยืนยันการชำระเงินของตนเอง

4. ปรับปรุงกฎหมายค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ผลักภาระความเสี่ยงไปยังบุคคลผู้เป็นคนค้ำประกันได้ และไม่ควรให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระในการชำระหนี้แทนผู้กู้ตัวจริงเต็ม 100 % ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ข้อเสนอต่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเกษตรกรเอง ทั้งความบกพร่องในพฤติกรรมการเงิน และการขาดความรู้ด้านบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล งานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่ามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือจากธนาคารเฉพาะกิจทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งขาดความพยายามในการจัดการหนี้สินของตนเอง หรือขาดแรงจูงใจการเพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านการจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต ราคาและการตลาด การพัฒนาความสามารถในการลงทุน การผลิตและจัดการตลาด และการเงิน การสร้างแหล่งเรียนรู้หรือช่องทางกระจายองค์ความรู้ในส่วนที่ขาดหายนี้จึงขาดไม่ได้ มูลนิธิชีวิตไทยพบว่ามีหลายภาคส่วนได้ทำการศึกษาและพัฒนาข้อเสนอเพื่อปิดช่องโหว่ในส่วนนี้ จึงขอรวมมานำเสนอในที่นี้

1.ส่งเสริมเกษตรกรให้หารายได้เสริมจากแหล่งอื่น ซึ่งผลบวกที่ได้จากจุดนี้คือการกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร โดยทำควบคู่กับการลดรายจ่ายของครัวเรือนหรือชะลอรายจ่ายที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหากระแสเงินสดไม่เพียงพอใช้จ่ายในแต่ละเดือน

2.การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความรู้ด้านการเงินสามารถวางแผนการเงินทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤติ รู้จักการวางแผนการออมเพื่อลงทุนและใช้จ่าย วิเคราะห์ศักยภาพและความเสี่ยงในการลงทุนของตนเอง

3.สร้างแนวทางการถอดบทเรียน ทบทวนประสบการณ์ และส่งเสริมการเรียนรู้แก่เกษตรกรและครอบครัวเพื่อปรับวิธีคิด ปรับตัว เปลี่ยนวิถีการผลิต รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรในระดับต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ การหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ให้เอื้อต่อการพ้นจากภาวะหนี้สินได้ในที่สุด

4.เพิ่มอำนาจและบทบาทหน้าที่แก่หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นในการสนับสนุนกระบวนการปรับตัวของเกษตรกรอย่างครบวงจร สร้างการทำงานเชิงรุกร่วมกันกับเกษตรกร การอุดหนุนงบประมาณที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา

การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่ความยั่งยืน

การส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลักคือ กลยุทธ์ดึง (Pull Strategy) หมายถึงกลยุทธ์ที่ทำให้การทำเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่สร้างความมั่นใจและดึงดูดเกษตรกรที่เป็นหนี้  และกลยุทธ์ผลัก (Push Strategy) หมายถึงกลยุทธ์ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งสองกลยุทธ์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ

กลยุทธ์ดึง ควรต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้คำแนะนำเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกลงทุนในขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป มีการลดความเสี่ยงด้วยการทำสัญญารับซื้อประประกันราคาล่วงหน้าให้เกษตรกร  และการสร้างตลาดสินค้าอินทรีย์ให้เกษตรกร

กลยุทธ์ผลัก ได้แก่การมีมาตรการลดภาระหนี้ หรือต้นทุนแฝงของหนี้เดิม เช่น การเจรจาประนอมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การวางแผนการจัดการการเงินของเกษตรกร เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรชนิดที่เป็นนวัตกรรมทางนโยบาย แต่ถูกเสนอมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ข้อเสนอบางประการ เกษตรกรด้วยกันเองสามารถลงมือทำได้ทันทีองค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ หรือสถาบันการเงินสามารถผลักดันได้ด้วยตนเองหรือผ่านการร่วมมือกัน แต่หลายข้อเสนอต้องอาศัยรัฐเป็นผู้ดำเนินการแบบบูรณาการ ไม่แยกส่วนเช่นที่เป็นอยู่ เพราะปัญหาหนี้สินเกษตรกรเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน อีกทั้ง ต้องไม่ลืมด้วยว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรฉีกไม่ขาดจากปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่ต่างก็เป็นประเด็นใหญ่โตโดยตัวมันเอง เช่น ความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัวของที่ดินในมือกลุ่มทุนใหญ่ การเข้าถึงทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทุน การศึกษาที่มีคุณภาพ หรือกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องทำให้เสียงของเกษตรกร (และประชาชน) แปรเป็น ‘เจตจำนงทางการเมือง’ ที่รัฐบาลต้องฟัง ต้องอาศัยการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อส่งผ่านเสียงจากประชาชนไปยังรัฐบาล แปรเจตจำนงเป็นกฎหมายและนโยบายที่จับต้องได้ปฏิบัติจริง ต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 746

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ..ทางออกอยู่ตรงไหน?

 FarmerDebtSeminar28march2023

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 1 โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยมีองค์ร่วมจัดประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาองค์กรเกษตรกรแห่งชาติ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ได้กล่าวเปิดงาน และกล่าวถึงวงจรหนี้สินชาวนาส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และการขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างนโยบาย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสวนาวิชาการสาธารณะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะใน 5 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับทางออกและข้อเสนอทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเพื่อเปลี่ยนเรียนรู้ระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ

 รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวปาฐกถานำการเสวนา หัวข้อ ‘“หนี้ชาวนาไม่ได้เป็นเพียง “ปัญหาส่วนตัว” ทัศนะว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” ได้ชี้ให้เห็นเส้นทาง “วรจรหนี้สิ้นแบบไม่รู้จบ” ผ่านงานวิจัยข้อมูลการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย “พบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 450,000 บาท ร้อยละ 54 อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ และครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรกรที่มีหนี้สินเป็นหนี้สินรวมจากทุกแหล่งซึ่งสูงเกินศักยภาพในการชำระหนี้ และยังมีพฤติกรรมหมุนหนี้  “ผลัดผ้าขาวม้า” หรือการกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าในวงกว้างทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินไม่จบสิ้น

ยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ “การซื้อหนี้หรือชำระหนี้แทนเกษตรกรมีน้อยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านเดินขบวนต่อรองไม่ได้ ช่วงรัฐบาลปี 2560-2563 กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้เฉลี่ยปีละ 320 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 105 ล้านบาท/ปี และหากมีเพียงกลไกเดียวใช้แก้หนี้สินชาวนา 4.8 ล้านคนจะใช้เวลาราว 15,000 ปี ถ้าคิดเฉพาะแค่เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน  516,965 ราย จะใช้เวลาราว 1,647 ปี”

ด้านนโยบาย รศ.ดร.ประภาส มองว่า “ปัญหาหนี้สินและเกษตรกรต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง “พลิกโฉม” เพราะที่ผ่านมาการชดเชยแม้ใช้เงินมากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรอยู่ได้ และไม่สามารถหลุดพ้นจากหนี้สินได้” ดังนั้น งานวิจัยเชิงปฏิบัติการของมูลนิธิชีวิตไทดำเนินการและนำมาสัมมนาวันนี้จึงมีคุณค่ามากว่าการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรให้พ้นจากวงจรหนี้ ต้องลงแรงมากอย่างไร และกระบวนการทำงานต้องเป็นอย่างไร

จากนั้นจึงนำเข้าสู่เวทีเสวนา หัวข้อ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม” 

คุณปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอความเป็นธรรมด้านกลไกราคา/กลไกการเงิน มีข้อเสนอทางนโยบายที่น่าสนใจว่า นโยบายการกำหนดราคาข้าวของไทย ควรนำมาใช้แต่ในยามจำเป็นช่วงสั้น เช่น ช่วงที่ราคาข้าวมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินหรือติดกับดักหนี้ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลควรมุ่งสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนเป็นและนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ และหาแนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ เพราะปัจจุบันชาวนามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความไม่รู้และขาดทักษะการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงต้องพัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ซึ่งจะต้องได้รับความรู้ทั้งด้านการประกอบอาชีพ และความรู้ในการดำเนินชีวิตควบคู่กัน

คุณวรันธรณ์ แก้วทันคํา นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรเข้าใจถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ทาง ธ.ก.ส. ได้นำเสนอ แต่เกษตรกรไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แตกต่างกันได้ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกสินเชื่อของเกษตรกร นอกจากนี้พบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างทุกรายไม่ได้อ่านสัญญาสินเชื่อ ขณะที่การถือคู่สัญญาเงินกู้พบว่า เกษตรกรที่กู้โดยการค้ำประกันกลุ่มไม่ได้ถือคู่สัญญาเงินกู้ มีเพียง “สมุดบัญชีเงินกู้” อย่างไรก็ตามทาง ธ.ก.ส. แจ้งว่า ในปี พ.ศ. 2567 จะปรับแนวนโยบายใหม่ให้มีการมอบคู่สัญญากับลูกค้าทุกราย และสืบเนื่องจากเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึง มีข้อจำกัดในการจดจำ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาแนวทางแก้ไขเช่นกัน  ข้อเสนอจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ (1) ปรับปรุงให้มีการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารเกษตรกร (2) ให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน เช่น ส่งสัญญาให้เกษตรกรทบทวนก่อนลงนาม (3) ธ.ก.ส เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ (4) จัดมีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมถึงให้คววามรู้ด้านสินเชื่อ การเก็บ และอ่านเอกสารด้านสินเชื่อ

หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอ ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก โดยสรุปให้เห็นถึง สามปัญหาของระบบการเงินฐานรากไทย คือ (1) ความไม่สมมาตรทางข้อมูลและการไม่แชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกัน ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกร ทำาให้ตลาดไม่สามารถปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ ยังทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลของเกษตรกรและระหว่างกัน ทำาให้อาจปล่อยกู้รวมกันเกินศักยภาพและความเสี่ยง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ (2) กลไกการการบังคับหนี้ ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ดีนัก และ (3) การออกแบบสัญญา ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาเกษตรกรและไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและจ่ายได้ ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจของเกษตรกรเป็นหลัก คือ (1) ต้องแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล คือต้องสร้างและใช้ข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น ต้องแก้เรื่องข้อมูล ให้ข้อมูลที่มากขึ้น (2) กลไกการการบังคับหนี้ เริ่มาจากแก้หนี้เก่า ปรับโครงสร้างหนี้ตรงศักยภาพ ให้ข้อมูลเหมาะสม มีเครื่องมือสร้างข้อตกลงและกระตุ้นแรงจูงใจชำระหนี้ ปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ขึ้น  จากนั้น (3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะเฉพาะกลุ่ม และ (4) ต่อยอดศักยภาพและรายได้ เกษตรกร และตลอดห่วงโซ่จนปลายน้ำ

ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ นักวิชาการอิสระ ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้ของชาวนา โดยเสนอรูปแบบการแก้หนี้ชาวนา 4 โมเดล คือ (1) ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร  (2) ลดรายจ่ายครัวเรือน (3) การออม/เงินออม และ (4) สร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ต้องทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพิ่มความรู้ที่หลากหลายให้กับเกษตรกร พัฒนาระบบกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เกษตรกรมองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สิน และสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ เกษตรกรจะต้องลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุง ด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นนี้มีความท้าทายใหม่ทั้งระดับการดำเนินโครงการและระดับนโยบาย คือ การพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพที่หลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งด้านการผลิตทั้งต่อยอดและขยายผล ด้านการประกอบอาชีพอื่น ด้านการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ฯลฯ และการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพหลากหลายมิตินั้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์มาร่วมมือกัน

คุณนันทา กันตรี ได้รายงานความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน ศึกษาตลาดเขียวในฐานะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ใน 3 ตลาด คือ ตลาดอนามัยบางขุด ตลาดพอใจ และตลาด 8 ไร่สมาร์ทฟาร์ม เป็นตลาดทั้งรูปแบบมีหน้าร้านและแบบออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า ตลาดมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในด้านราคาที่เป็นธรรม ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐานรับรองและมีความจริงใจและความไว้วางใจกันระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า ความเป็นธรรมต่อผู้เกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้ มีอาหารปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน มีช่องทางการจําหน่ายผลผลิตอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิต อย่างไรก็ตามตลาดเขียวมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากลูกค้ายังน้อย เนื่องจากความหลากหลายของสินค้ายังมีไม่มาก จำนวนร้านค้ามีน้อย สินค้าในตลาดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ คู่แข่งคือตลาดนัดและรถเร่ ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้น้อย ผู้ผลิตมีปัญหาหนี้สิน มีฐานะยากจน ผู้ขายไม่กล้าลงทุนมากมีโอกาสที่จะกลับเข้าวงจรหนี้สิน มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้  สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชน มีศูนย์กระจายอาหารปลอดภัยขุมชน การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการชาวนา เช่น ทักษะการขายออนไลน์ การทำกลยุทธ์ทางการตลาด การสนับสนุนการปลดหนี้ชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนเกษตรกร

คุณวลัยพร ทิพยศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ นำเสนองานวิจัย ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ โดยเครื่องมือประเมินศักยภาพการประกอบการชุมชน 5 ด้าน คือ (1) จริยธรรม-สัมมาชีพ (2) การจัดการองค์กร (3) การจัดการวิสาหกิจ (4) นวัตกรรม และ (5) การสร้างผลลัพธ์ต่อชุมชน โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้ทบทวนสถานะของกลุ่ม ตลอดจนความเข้มแข็งของกลุ่มในการมุ่งหน้าสู่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จากการวิจัยพบว่าการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 3 ประการคือ (1) ทุนภายใน เช่น วัตถุดิบ ภูมิปัญญา ผู้นำ การรวมกลุ่มที่มีโครงสร้าง ระเบียบที่ชัดเจน เพื่อการประกอบกิจการหรืออาชีพ (2) ทุนความรู้และการสร้างสรรค์  คือ ความรู้และความสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ เพื่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือธุรกิจชุมชน และ (3) ทุนสนับสนุนจากภายนอก  เช่น  ความรู้ เงิน ทรัพยากรอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ อาชีพ หรือ ธุรกิจชุมชน

ที่มา : เกษตรก้าวไกล วันที่ 29 มี.ค. 2566

 

  • ฮิต: 712

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6710791
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
25684
6353
45683
102317
6710791

Your IP: 52.14.253.170
2024-04-19 16:05