นโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นแค่ยาชาที่รอการผ่าตัดใหญ่

Debt suspension policy

คุณสมบัติของนโยบายพักหนี้เกษตกร ในวงเงินเพดานไม่เกิน 3 แสนบาท ในยุคของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แม้จะช่วยลดต้นลดดอกได้ถ้าใช้หนี้ตามกำหนด แต่หลายฝ่ายก็ยอมรับ อาจช่วยเกษตรกรได้แค่กลุ่มเดียวที่มีหนี้ไม่มาก แต่หากล้วงลึกถึงลูกหนี้กลุ่มใหญ่ของไทยก็คือเกษตรกรและพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 เกษตรกรไทยเป็นหนี้ และมีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของเกษตกรไทยที่อาจยังต้องใช้ชีวิตหมุนหนี้ไม่รู้จบ

ก่อนหน้านี้ The Active จัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 5 “นโยบายพักหนี้เกษตรกร” เปิดพื้นที่สะท้อนความคิดเห็นหาคำตอบให้กับนโยบายพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นวังวนหนี้สินมีหลากหลายมุมมอง พบว่าการแก้หนี้มีหลายมิติที่ต้องลงลึกให้ถึงนโยบายที่ตรงจุด

ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้กันเป็นวงกว้างและมีหนี้ปริมาณมาก กว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ และมีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน แม้จะมีมาตรการพักหนี้พักดอก แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ แก้ปัญหาหนี้สินที่เป็นอยู่ได้เพราะหนี้สินของเกษตกรไทยมักยากเกินจะแก้ไขสำหรับผู้ที่ติดกับวังวน ทั้งหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ถ้าเรามาย้อนดูภาคเกษตรไทย พบว่า รายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จากกราฟแท่งรูปนี้จะพบว่า ถ้าเทียบกับจังหวัดต่ำสุด ค่าแรงขึ้นต่ำ อยู่ที่ 328 บาท/วัน/คน ซึ้งถ้าดูกำไรจากการเกษตร (เฉลี่ย เมื่อปี 2017 -2021) จะพบว่า เกษตรกรไทยมีค่าแรง 202.7 บาท/คน/ครัวเรือน หากเทียบกันแล้ว รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรไทย มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

Debt suspension policy00

นโยบายพักหนี้เกษตกร เป็นแค่ยาชาที่รอการผ่าตัดใหญ่

นโยบายพักหนี้แบบเดิมยุค ‘ยิ่งลักษณ์’

คุณสมบัติ กู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไข ลูกหนี้ค้างชำระไม่สามารถกู้เพิ่มได้ ซึ่งจะเห็นว่านโยบายพักหนี้แบบเก่าพักแค่ต้นไม่ได้พักดอกเบี้ย ก็จะไปกู้นอกระบบ กู้แล้วจ่ายไม่ไหว จ่ายแต่ดอก หนี้ในระบบจะจ่ายหลังสุด บางคนก็หมุนหนี้และไม่รู้ผลกระทบระยะยาว จนทำให้ติดกับดักหนี้

นโยบายพักหนี้ปัจจุบันยุคเศรษฐา คุณสมบัติ กู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับลูกหนี้ค้างชำระ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน มีเงื่อนไข ลูกหนี้ค้างชำระเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะเห็นว่า ถ้ามองนโยบายพักหนี้ในปัจจุบัน แบบลงลึก เกษตกรต้องมีหนี้ ธ.ก.ส. รวมไม่เกิน 300,000 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การพักชำระหนี้รอบนี้ จะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินต้น คงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาทโดยในช่วง 3 ปี เงินต้นยังไม่ต้องชำระ ให้ชำระปีสุดท้าย ส่วนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างพักชำระหนี้รัฐบาลจะจ่ายชดเชยแทนให้กับ ธ.ก.ส. ปัจจุบัน มีเกษตกรมาแสดงความประสงค์แล้ว 1.6 ล้านคน เหลืออีก 6 แสนคน

สิ่งที่น่ากังวล คือการแก้นี้ไม่ตรงจุด เพราะเกษตกรกลุ่มใหญ่มีหนี้ก้อนใหญ่ต่ำสุด กว่า 4 แสน 5 หมื่นบาท ช่วยได้เกษตกรที่มีหนี้น้อย สิ่งที่หน้ากังวลอีกเรื่องคือ ยืดอายุหนี้ แต่ไม่ได้แก้หนี้ หนี้วิกฤตเข้าร่วมไม่ได้ ส่วนใหญ่อายุมากใช้หนี้ไม่ไหว เกิดมรดกหนี้ และเกิดหนี้เรื้อรัง

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ย้ำว่า การกำหนดเพดานรวมหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท คือสัดส่วนของเกษตรกรที่ไม่มาก เพราะปัจจุบัน เกษตรกรมีหนี้มากกว่า 450,000 บาทต่อคน มูลนิธิชีวิตไท เคยเก็บสำรวจเกษตรกร 145 คน พบ เกษตกรมีหนี้ มากถึง 600,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นสัดส่วนของคนที่เข้าโครงการยังค่อนข้างน้อย

อาจารย์ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เกษตรกรไทยมีหนี้สินกันเป็นวงกว้าง และมีหนี้เฉลี่ยมากถึงกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโตขึ้นถึงร้อยละ 75 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และกว่าร้อยละ 57 ของครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกินศักยภาพในการชำระไปแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีหนี้ร้อยละ 90 ของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สิน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มหนี้เกษตรกรได้ออกเป็น 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้และหนี้จ่ายไม่ได้เลย กลุ่มหนี้ หรือหนี้เสียมีประมาณ ร้อยละ 20
  2. กลุ่มที่เป็นหนี้แต่จ่ายเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น หรือเรียกว่ากลุ่มหนี้เรื้อรัง ซึ่งถ้าจ่ายแต่ดอกเบี้ยหนี้ก็จะไม่ลดลงเลยเป็นกลุ่มที่ปิดดอกเบี้ยได้ยาก เรียกว่าติดกับดักหนี้ กลุ่มนี้มีประมาณ ร้อยละ 50 ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด
  3. กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินชำระได้ มีประมาณร้อยละ 30
Debt suspension policy04

“มาตรการพักหนี้ที่ผ่านมา 13 ครั้ง ในรอบ 8 ปี ครั้งนี้ก็ถือว่ามีความแตกต่างในครั้งก่อน ๆ การพักหนี้เกษตกรรรอบใหม่ สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน ที่เป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคนนั้น ก็ถือเป็นการพักทั้งต้นและพักทั้งดอก ถ้าไม่จ่ายก็เป็นการพักหนี้ปกติ แต่ถ้าจ่ายเงิน ก็จะเข้าไปตัดต้นและหนี้ลดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจนถ้าจ่ายก็จะลดหนี้ได้เร็ว”

อาจารย์ โสมรัศมิ์ ยังมีข้อเนอเชิงนโยบาย ย้ำถึงรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ดี แต่ก็ยอมรับว่ามาตรการพักหนี้อาจไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริง ประเด็นสำคัญต้องแก้ไขกลุ่มที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย คือกลุ่มหนี้เรื้อรังที่เป็นกลุ่มใหญ่เกิน ร้อยละ 50 ของลูกหนี้เกษตรกร เพราะปัญหาที่เกษตรกรกลุ่มนี้ จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ เช่น หนี้สินเกินศักยภาพที่จะจ่ายได้ ดังนั้นเงินที่จะจ่ายเท่าไร ก็ตัดได้แค่ดอกเบี้ย กลุ่มนี้ต้องช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพของเขา เช่น ลูกหนี้มีอายุไม่มาก ก็ยืดสัญญาออกเพื่อให้งวดต่อปีลดลง เพื่อจ่ายไปแล้วอาจตัดต้นเงินไปบ้าง แต่ถ้าลูกหนี้อายุมาก อาจปรับลำดับชำระ หรือมีดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งจริง ๆ แล้ว จะพบว่าหนี้เกษตรกรมักจะจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่มีดอกเบื้อสูงจากแหล่งอื่น ๆ ก่อน

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในระยะสั้น ควรส่งเสริมนโยบายการสื่อสาร ให้เกษตกรรับรู้และเข้าใจมาตรการแก้หนี้อย่างถูกวิธี ซึ่งภาคนโยบายต้องสร้างแรงจูงใจ และสื่อสารถึงเป้าหมายของการชำระหนี้ ขณะที่ภาคนโยบายควรเพิ่มการลดดอกเบี้ย

ในมุมมองการเพิ่มศักยภาพเกษตรกร ต้องเริ่มให้มีการต่อยอดเกษตรกร ทั้งการสนับสนุนการทำบัญชี การเริ่มออมเงิน การทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และตลาดนำการผลิต ขณะเดียวกันต้องมีสวัสดิการพื้นฐาน การเสริมทักษะนอกภาคการเกษตรด้วยการเสริมอาชีพอื่น ๆ สร้างงานที่หลากหลาย

ปรับโครงสร้างท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เช่นการกระจายอำนาจ ภายใต้แนวคิดพัฒนาชนบท ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร หนี้ที่เกิดจากความผิดพลาดจากนโยบายรัฐ ขณะที่รัฐต้องปรับนโยบาย คือภาครัฐต้องปรับนโยบายการอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จัดการหนี้นอกระบบ สนับสนุนกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยให้มีการพัฒนาต่อยอดได้

ตัวชี้วัดความสำเร็จนโยบาย

เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากที่สุด ยอดหนี้รวมลดลง เพิ่มรายได้ 15 % ลดรายจ่าย 15 % มีอาชีพเสริม

ตัวชี้วัดระยะยาว

เกษตรกรเกษียณโดยปลดหนี้ได้ มีเงินออม มีวินันชำระหนี้ ลดหนี้ได้จริง ไม่กู้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่ม รักษาพื้นที่ดินทำกินไว้ได้

 

ที่มา : The Active ThaiPBS วันที่ 13 ธ.ค. 2566

ผู้เขียน : นิตยา กีรติเสริมสิน

  • ฮิต: 200

เกษตรกรจมกองหนี้ แค่การพักชำระหนี้ไม่เพียงพอ

Farmer counts money

เกษตรกรนับเงินหลังจากขายข้าวให้โรงสีแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชัยนาท วันที่ 29 สิงหาคม 2566

 อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ในจังหวัดยโสธรทางภาคอีสาน อานนท์ งิ้วลาย ทำนามาหลายสิบปีโดยที่เจ้าตัวอาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อมาซื้อที่ดิน วัว ควาย ปุ๋ย และเครื่องมือในการทำนา

เมื่อปีที่ผ่านมา อานนท์ขอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ เพื่อซื้อรถแทร็กเตอร์ราคา 1.2 ล้านบาท (ราว $32,000) ในเดือนมีนาคม อานนท์จ่ายหนี้เงินกู้บางส่วนไปบ้างแล้ว แต่ตามอายุสัญญาหนี้ ยังเหลืออีกราว 8 ปีกว่าที่จะชำระหนี้หมด เมื่อถึงตอนนั้น อานนท์จะมีอายุ 73 ปี

อานนท์ก็เหมือนกับเกษตรกรชาวไทยคนอื่น ๆ ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่กระนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามปีของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการรักษาฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัจจัยที่ผลักดันให้เกษตรกรไทยต้องประสบกับวิกฤตหนี้สินล้นพ้นตัว

"ตอนนี้เป็นเพียงการประคองคนไข้ คนไข้ก็ยังเป็นโรค" อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว

โครงการนี้เป็นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยสำหรับเกษตรกรที่มีเงินต้นคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ไม่เกิน 300,000 บาท (ราว $8,351) มีการประเมินว่าโครงการนี้จะเข้าถึงเกษตรกรเพียงหนึ่งในสามของเกษตรกรจำนวน 8 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยเท่านั้น

งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยราว 450,000 บาท และ 57% ของจำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้ ไร้หนทางที่จะชำระหนี้ได้หมด

TH-farmers-debt-2.jpg

เกษตรกรช่วยกันตัดหญ้าที่ขึ้นในนาข้าว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 มิถุนายน 2556 (อภิชาติ วีระวงษ์/เอพี)

"เราเน้นไปที่เกษตรกรรายย่อย เราต้องการช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน จำเป็นที่สุดก่อน" เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

‘นโยบายประชานิยม’

นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โครงการพักชำระหนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะคืนขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร อย่างไรก็แล้วแต่ นโยบายที่คล้ายคลึงกันในอดีตหลายรัฐบาลที่ผ่านไม่สามารถแก้ไขวงจรหนี้สินที่ไม่สิ้นสุดของเกษตรกรไทยได้

ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนมาเป็นเวลานาน ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ราวหนึ่งในสามของประชากร 71 ล้านคนกำลังประสบกับภาวะหนี้สิน โดยคิดเป็นจำนวนราว 90% ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน ในขณะเดียวกัน หนี้สินเกษตรกรที่พุ่งสูงขึ้นก็อาจเพิ่มให้วิกฤตหนี้สินทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 75%

TH-farmers-debt-3.jpg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2566 หลังจากนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง (ศักดิ์ชัย ละลิต/เอพี)

โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรซึ่งใช้งบประมาณของรัฐมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาทในกรอบระยะเวลาสามปี เป็นหนึ่งในบรรดานโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลใหม่ได้นำเสนอหลังการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 

โครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าจัดทำ รวมไปถึงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ต้องอัดฉีดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทเพื่อแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นการแจกเงินแบบประชานิยมในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดเพิ่มเติม เช่น ลดค่าพลังงาน และขยายการพักชำระหนี้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า รัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการหลุดพ้นจากการเป็นหนี้แต่อย่างใด

‘เลวร้ายยิ่งกว่าโครงการจำนำข้าว’

อาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนื้ กล่าวว่า “เท่าที่ฟังเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ดี ไม่ใช่ลูกหนี้ประเภท NPL ต้องดูว่าผิดกฏหมายการเงินการคลังหรือไม่”

อาจินเปรียบเทียบโครงการดังกล่าวกับโครงการจำนำข้าวที่เกิดขึ้นในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาในท้องตลาด

ในปี 2560 ยิ่งลักษณ์ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่เธอถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหารในปี 2557 มีการประเมินว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างหนี้สาธารณะราว 500,000 ล้านบาทด้วยกัน

“รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยเจ้าหนี้ มันยิ่งกว่าจำนำข้าวอีก” อาจินกล่าว

ประชาชนจมกองหนี้

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าว ทุเรียน และยางพารารายต้น ๆ ของโลก แต่เกษตรกรหลายล้านคนกลับตกอยู่ในวงจรแห่ง “หนี้อมตะ"

“กู้มาแล้ว ส่วนหนึ่งเอาไปกลบหนี้เดิม หนี้อมตะ รองลงมาปุ๋ย สารเคมี 35% เมล็ดพันธ์ 15%... เกษตรกรมักติดอยู่ในวังวนการผลิตเชิงเดี่ยว และจะเปลี่ยนที่ดินนั้นปลูกอย่างอื่นไม่ได้เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า ราคาปุ๋ยแพงขึ้น 11 เท่า หากเทียบกับราคาเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ราว 260 บาท ($7.25) ต่อวันเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยในปี 2565 ที่ 337 บาท ($9.40) เสียอีก

วิฑูรย์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาต่างออกนโยบายอุดหนุนราคาผลผลิตเพื่อรับประกันรายได้ของเกษตรกร แต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินนั้นกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข ในประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินของตนเองแต่อย่างใด

TH-farmers-debt-4.jpg

กลุ่มเกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์กลับบ้าน หลังการชุมนุมบนทางหลวง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557

(พรชัย กิตติวงศ์สกุล/เอเอฟพี)

สมศักดิ์ โยอินชัย เกษตรกรที่จังหวัดเชียงราย เป็นกรณีศึกษาในการหลุดจากวังวนแห่งการกู้หนี้ยืมสิน สมศักดิ์ ขอกู้จากธนาคารรัฐเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อเริ่มปลูกลำไย แต่กลับพบว่าต้นลำไยต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะออกผล

“ตอนกู้ครั้งแรกปลูกลำไย สี่ปีแรกไม่ได้เลย ปีที่สามเริ่มมีปัญหา ภาระครอบครัว การศึกษาลูก เอาเงินไปใช้ตรงนั้น แต่ก่อนปลูกกระเทียม กะหล่ำ ก็เป็นรายได้ประคับประคองครอบครัวสี่ปีแรก” สมศักดิ์กล่าว

ในช่วงเวลานั้น สมศักดิ์ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องกับธนาคาร ขณะนี้ เขาเปลี่ยนมาปลูกสมุนไพรแล้ว

“ตอนนี้ปลูกขิง ข่า ตะไคร้ ผมทำน้ำมันหอมระเหยพืชสมุนไพร มีสปามาซื้อ”

อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า กุญแจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตหนี้สิน คือการแนะนำให้เกษตรกรปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด มากกว่าการพึ่งพิงการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงิน หรือเงินอุดหนุน

"หากจะทำให้คนไข้หรือชาวนาหายป่วย ต้องทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุน และปรับแนวทางการตลาดตามผู้บริโภค" อัทธ์กล่าว

ที่มา : Benar News วันที่ 1 พ.ย. 2566

ผู้เขียน : จิตต์สิรี ทองน้อย

  • ฮิต: 600

“หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนองานวิจัยเพื่อผลักดันสู่นโยบาย

FarmerDebtSeminar28032023

มรดกหนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรไทย โดยพบว่าจำนวนลูกหนี้ กว่า 1 ใน 4 จาก 5 ล้านราย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความเสี่ยงที่จะส่งต่อหนี้เสียนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน ปัญหาหนี้สินชาวนาจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  ทางออกการแก้หนี้เชิงระบบและโครงสร้างเป็นสิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแก้หนี้เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการผลักดันให้อยู่ในนโยบายภาครัฐ การปรับแก้ระบบและโครงสร้างให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม รวมทั้งจำเป็นที่จะได้รับการส่งเสริม การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในหลายมิติที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกทางการตลาด ราคาที่เป็นธรรม ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ประกอบการเสริมศักยภาพชาวนาให้มีความรู้มากขึ้นเพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปให้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจะนำไปสู่แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้นที่สามารถนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นไปได้จริง

ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิชีวิตไทและองค์กรร่วมจัด ได้แก่ มูลนิธิสัมมาชีพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะ ผลงานการศึกษาวิจัยใน 5 ประเด็นได้แก่

ความเป็นธรรมด้านกลไกราคาและกลไกการเงิน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญก็คือนโยบายของรัฐควรสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง พัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ทำ จำเป็นต้องให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต

ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ข้อเสนอในงานวิจัยคือ 1)ปรับปรุงการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับเกษตรกร 2) ควรให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน 3) ธ.ก.ส.ควรเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ 4) จัดให้มีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านสินเชื่อ

ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก สถาบันการเงินจำเป็นต้องรู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกรเพื่อให้การปล่อยกู้มีประสิทธิภาพและไม่นำไปสู่วงจรการหมุนหนี้ นอกจากนี้ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องอยู่บนฐานความเข้าใจของเกษตรกรคือ 1) ต้องสร้างและใช้ข้อมูลเพื่อสะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น 2) กลไกการบังคับหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ตรงกับศักยภาพเกษตรกร ให้ข้อมูลที่เหมาะสมและต้องสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ 3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม 4) พัฒนาศักยภาพและรายได้ให้กับเกษตรกร

ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้สินของชาวนา จากการวิจัยได้มีการนำเสนอรูปแบบแก้หนี้สินเกษตรกรโดยเกษตรกร ซึ่งได้แก่ การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรกรรม การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ การออมเงินและการสร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งสามารถนำแนวคิดในการแก้หนี้ไปใช้และปฏิบัติได้เลย สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ การลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุงด้วยตัวเอง โดยที่เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการผลิต การประกอบอาชีพและการปรับเปลี่ยนวิธีคิด

ความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน การพัฒนาตลาดสีเขียวถือเป็นหนึ่งเครื่องมือในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้และเป็นการสร้างช่องทางจำหน่ายอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีอุปสรรคจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการสนับสนุนพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชนและการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการของชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในกลุ่มเกษตรกรเอง

ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ จากการวิจัยพบว่า การส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ทุนภายใน ทุนความรู้และการสร้างสรรค์ ทุนสนับสนุนจากภายนอก เช่น ความรู้ การเงิน และทรัพยากรอื่น ๆ ในการประกอบกิจการและอาชีพ

บทสรุปที่ได้จากผลการวิจัยที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรอย่างรอบด้านและหลากหลายประเด็น เราหวังข้อมูลวิจัยจากเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถนำข้อมูลไปพิจารณาและปรับใช้สู่การแก้ไขปัญหาหนี้ชาวนาและเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ภายใต้ความคาดหวังว่าปลายทางการพัฒนาจะช่วยให้ชาวนาและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เป็นอาชีพที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถปลดเปลื้องภาระหนี้สิน และส่งต่อมรดกอาชีพที่ปลอดจากภาระหนี้สู่ลูกหลานได้ในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 11 เม.ย. 2566

ผู้เขียน : นุศจี ทวีวงศ์

  • ฮิต: 832

ผลวิจัยเผย เกษตรกรไทยเกินครึ่ง มีแนวโน้มเป็น "หนี้ข้ามรุ่น"

FarmerDebtTNN

"สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ เผยเกษตรกรไทยเกินครึ่งเป็น "หนี้ข้ามรุ่น" ไม่สามารถปิดหนี้จบได้ก่อนเลิกทำงาน ต้องส่งต่อหนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน"

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยดร. โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ ดร. ลัทธพร รัตนวรารักษ์ เปิดเผยผลการศึกษา 'หนี้ข้ามรุ่น' ของเกษตรกรไทย จะมีเยอะแค่ไหนหากยังไม่มีแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง? โดยระบุว่า การศึกษานี้ใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโรกว่า 5 ปีของเกษตรกรกว่า 3.5 ล้านคนทั่วประเทศที่มีสินเชื่อที่เป็น term loan ซึ่งมีข้อมูลมากพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมการชำระหนี้ได้ (คิดเป็นร้อยละ 87 ของเกษตรกรที่กู้ในระบบทั้งหมด) 

โดยจากพฤติกรรมการชำระหนี้ตลอด 5 ปีของกลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่า มีร้อยละ 28 ที่สามารถจ่ายตัดต้นได้บ้าง แต่กว่าร้อยละ 56 กำลังพยุงปัญหาหนี้โดยการชำระหนี้คืนเพียงเล็กน้อยตลอดมา และร้อยละ 16 ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย 

ดังนั้น หากมองให้ลึก ปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรังที่มีแนวโน้มปิดจบได้ยาก (หรือที่ในต่างประเทศเรียกว่า persistent debt) 

นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า เกษตรกรเกินครึ่งมีแนวโน้มต้องส่งต่อหนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน หากยังคงไม่มีแนวทางแก้ไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเมื่อนำ (1) อายุปัจจุบันของเกษตรกร (2) ปริมาณหนี้ในปัจจุบัน และ (3) พฤติกรรมการชำระหนี้เฉลี่ยตลอด 5 ปีของเกษตรกรแต่ละราย มาประมาณการอายุที่เกษตรกรจะสามารถปลดหนี้ได้ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า เกษตรกรจะยังชำระหนี้ตามพฤติกรรมในอดีต 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 67 จะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ก่อนเลิกทำงานที่อายุ 70 ปี และร้อยละ 56 น่าจะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ก่อนอายุ 80 ปี

ผลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันกำลังมีปัญหา ซึ่งน่าจะมาจากทั้งปัญหาความสามารถในการจ่ายหนี้ ( ability to pay) เนื่องจากโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันเกินศักยภาพในการชำระไปตัดต้นเงินได้ และปัญหาด้านวินัยและแรงจูงใจในการชำระหนี้ 

ดังนั้น หลักการในการแก้หนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ควรจะต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับศักยภาพ และการสร้างกลไกกระตุ้นการชำระหนี้ เพื่อสร้างวินัยและจูงใจให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ให้ได้ตามวิถีของรายได้ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก และต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมศักยภาพ สร้างรายได้ และภูมิคุ้มกันทางการเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระและลดการพึ่งพิงสินเชื่อในอนาคต

ที่มา : TNN Online วันที่ 12 มิ.ย. 2566

 

  • ฮิต: 633

ออกแบบนโยบายข้าวอินทรีย์ “ทรงอย่างไหน” จึงจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

RicePricePolicy

  • ข้าวอินทรีย์มีตลาดแน่นอน แต่ปัจจุบันการผลิตทำได้น้อยกว่าความต้องการของตลาด
  • ข้าวอินทรีย์ขายได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป เพราะมีค่าพรีเมียมของความเป็นข้าวอินทรีย์ที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่าย

เมื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไป แล้วเหตุใดชาวนาที่เลือกเดินบนหนทางข้าวอินทรีย์จึงมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับชาวนาทั้งหมดของประเทศ ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยอิสระ  ที่ทำการศึกษากระบวนการปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ข้าวอินทรีย์ที่จะเอื้อต่อเกษตรกรที่มีภาระหนี้สิน มีคำตอบ

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานตัวเลขล่าสุดของพื้นที่การปลูกเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในปี 2564 ว่ามีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ มีเกษตรกรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศที่มีอยู่ประมาณ 71.8 ล้านไร่ ทั้งที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และมีการประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ 2560-2565 ราคาข้าวอินทรีย์บรรจุถุงในปัจจุบันสูงกว่าราคาข้าวทั่วไปร้อยละ 20 และราคาข้าวอินทรีย์ที่ส่งออกไปต่างประเทศสูงกว่าราคาข้าวสารทั่วไปร้อยละ 25-30  จากการศึกษาของปิยาพรพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวนาไม่ยอมรับหรือปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การทำข้าวอินทรีย์ คือ กระบวนการผลิตและระบบรับรองมาตรฐาน รวมถึงการลดลงของปริมาณผลผลิตและผลตอบแทนที่ได้

ทั้งนี้การปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิตอินทรีย์ต้องใช้ระยะเวลา กว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวที่จะทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาเกษตรอินทรีย์ ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 3 ปี ทำให้ชาวนาโดยเฉพาะรายย่อยที่มีฐานะยากจนและแบกภาระหนี้สินอยู่แล้วไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นภายหลังอาจไม่คุ้มค่าต่อการแลกเปลี่ยนกับข้อจำกัดในปัจจุบัน ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภค และภาระดอกเบี้ยที่ต้องกู้มาลงทุน

จากการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนระหว่างการปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวทั่วไป ปิยาพรพบว่า แม้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวทั่วไปแต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไปในหลายประเด็น ทั้งต้นทุนด้านแรงงานและต้นทุนด้านเศรษฐกิจ โดยต้นทุนด้านแรงงานนั้นพบว่านาข้าวอินทรีย์ต้องการการใช้แรงงานที่เข้มข้นกว่านาข้าวทั่วไป ทั้งการปลูกและเตรียมพันธุ์ ทั้งการดูแลรักษา และทั้งการเก็บเกี่ยวและรวบรวม ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามอัตราของปริมาณการทำนา เช่น ค่าไถพรวน ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ รวมทั้ง ค่าเพาะปลูก และการดูแลรักษาระหว่างการเพาะปลูกซึ่งล้วนแต่ราคาสูงกว่าการปลูกข้าวทั่วไป

“ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างเองได้ จึงต้องมีการจ้างงาน หากไม่มีทุนมากพอ การกู้ยืมจะเป็นทางออกที่สำคัญ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หลุดไม่พ้นวงจรหนี้สิน”  ปิยาพรกล่าว

ในด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจนั้นก็พบว่าการผลิตข้าวอินทรีย์ต้องการเงินลงทุนประมาณ 2,198 บาท/ ไร่ ขณะที่ข้าวทั่วไปต้องการเงินลงทุน 2,789 บาท/ ไร่ ซึ่งในช่วงที่เกษตรกรยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจากนาข้าวธรรมดาเป็นนาข้าวอินทรีย์ ยังไม่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาข้าวอินทรีย์ จะทำให้มีอัตราการขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 48 บาท/ ไร่ ซึ่งการขาดทุนสุทธิและภาระต้นทุนที่สูงนี้เป็นแรงต้านที่สำคัญในการทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกข้าวอินทรีย์ได้ไม่สำเร็จ

นอกจากนี้เมื่อเทียบรายได้กับเส้นความยากจน แม้จะพบว่าการทำนาข้าวอินทรีย์มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจนสูงกว่าการทำนาข้าวทั่วไป แต่จำนวนร้อยละของเกษตรกรที่มีรายได้จากข้าวอินทรีย์ที่อยู่เหนือเส้นความยากจนยังมีอยู่น้อยมาก โดยพบว่าเกษตรกรในระยะปรับเปลี่ยนอยู่เหนือเส้นความยากจนเพียงร้อยละ 9 เกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ อยู่เหนือเส้นความยากจนร้อยละ 21 และเกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ในเกษตรผสมผสาน ร้อยละ 29 ปิยาพรจึงสรุปว่า “อาชีพการทำนาข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่ให้รายได้เกษตรกรอยู่เหนือเส้นความยากจน หรือ อาชีพการผลิตข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่แก้ความยากจนทางเศรษฐกิจ”

ในการศึกษาชิ้นนี้ปิยาพรยังพบว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะส่งผลให้เกิด “การมีส่วนเกินทางรายได้” เมื่อมีการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แหล่งกระจายปัจจัยการผลิต แหล่งรวม และรับซื้อผลผลิต ทั้งนี้ปิยาพรค้นพบว่า ในทัศนะของเกษตรกรแล้วการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวได้ยาก เนื่องด้วยระบบการรับรองและการตลาด ซึ่งไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก นอกจากนี้ชาวนาส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ คือจบเพียงชั้นประถมศึกษา และฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อหันมาพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐ สามารถแบ่งแนวนโยบายได้เป็น 2 ประเภท คือ นโยบายเกี่ยวกับราคา (price policy) เป็นนโยบายที่ใช้เครื่องมือต่างๆ มากำหนดราคา หรือสร้างเสถียรภาพราคา และยกระดับรายได้ของเกษตรกร เช่น นโยบายรับจำนำผลผลิต นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับเกษตรกร เป็นต้น และนโยบายที่ไม่ใช่ราคา (non-price policy) คือการใช้เครื่องมือในการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร เช่น การพัฒนาระบบชลประทาน การเร่งวิจัยในภาคเกษตร นโยบายปฏิรูปที่ดิน หรือนโยบายที่เกี่ยวกับสินเชื่อเกษตรกร เป็นต้น ปิยาพรมีข้อเสนอต่อการออกแบบนโยบายเพื่อให้เหมาะกับโครงสร้างภาคเกษตรและวิถีชีวิตของเกษตรกร ดังนี้

  • นโยบายการกำหนดราคาข้าว ควรนำมาใช้ในยามจำเป็น ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่ราคาข้าวตำว่าต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินหรือติดกับดักหนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทย และการกำหนดราคาข้าวควรต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านแรงงานของชาวนาด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าการกำหนดราคาข้าวอินทรีย์ของเกษตรกร จะอิงตามราคาตลาดหรือราคาประกัน ซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนด้านแรงงานของเกษตรกร ซึ่งตัวเกษตรกรเองก็ไม่ตระหนักถึงความสำคัญแรงงานตนเองว่าต้องถูกนำมาคำนวณเป็นต้นทุนการผลิตด้วย
  • รัฐบาลควรมุ่งสนับสนุนให้ชาวนามีความแข็งแกร่ง ส่งเสริมให้ชาวนาเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องวางแผนเป็น และนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับชาวนาให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ  ต้องทำให้มีการวางแผนการผลิตที่ดีเพื่อลดต้นทุน และชะลอความเสี่ยง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพและราคา ส่งเสริมการพึ่งพาและร่วมมือกันของเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองโดยนำไปสู่การขายและการจำหน่าย
  • ฮิต: 803

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6747540
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
718
10037
27732
139066
6747540

Your IP: 3.19.30.232
2024-04-26 03:25