เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2)

FarmerDebtModel

จากตอนที่ 1 ที่เล่าถึง “วงจรถดถอย” ได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่โมเดลธุรกิจ การทำเกษตรแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์เดิม การช่วยเหลือปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะการอุดหนุนรายได้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น

การแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจ เพื่อสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ออกจากวงจรถดถอย “โมเดลผลิตไม่ดี-ขาดทุนบ่อย-หนี้สูง-ปรับตัวไม่ได้-ผลิตภาพต่ำ” สู่วงจรโอกาส “โมเดลผลิตดี-สร้างกำไรสม่ำเสมอ-มีเงินสะสม-ลงทุนพัฒนา-ผลิตภาพสูงขึ้น”

เกษตรกรมีหลายทางเลือกการพัฒนาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศของ ธปท. พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวพัฒนาโมเดลธุรกิจจนสามารถปลดหนี้ หลุดพ้นจากวงจรถดถอยได้ และพัฒนาธุรกิจก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบมากมายที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม

 

ในความหลากหลายของโมเดลต้นแบบสามารถถอดบทเรียนได้เป็น 5 ชุดการพัฒนา ดังนี้

1. เกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก

เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง

2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืช     อื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี

3. เกษตรประณีต จากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2 พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17

และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต

เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

4. การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง

เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่น แปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน

5. ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่น เกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโมเดลธุรกิจทำได้หลายรูปแบบ เกษตรกรควรนำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตน โดยเริ่มจากความถนัดหรือการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่

เช่น ลดต้นทุนโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาต่อยอด เมื่อรู้แนวทางแล้วว่าสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง คำถามสำคัญถัดมาคือเกษตรกรจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

หลายโมเดลที่กล่าวมามีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคล้าย ๆ กัน จึงขอหยิบตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ที่พัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นตัวแทนเล่ากระบวนการพัฒนาไปสู่วงจรโอกาส ซึ่งถอดได้เป็น 4 ปัจจัยสำเร็จ ดังนี้

1. คิดใหม่ ไม่รอคอย ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของเกษตรกรดงขี้เหล็กเริ่มจากก้าวแรกนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สุด กล้าเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเดิม ๆ ไปปลูกอย่างอื่น เมื่อรู้ว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญ ไม่มัวรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ แต่ลุกมาจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ขุดสระน้ำลึกเพื่อกักเก็บน้ำฝน เรียกกันในชุมชนว่า “เขื่อนใต้ดิน”

2. ศึกษาฝึกฝนจนชำนาญ ใฝ่พัฒนา ศึกษาจนมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น รู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่ตน และรู้วิธีการกักเก็บและใช้น้ำที่เหมาะกับพื้นที่ตน กล้านำความรู้มาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญ เช่น ใช้เทคโนโลยีตะบันน้ำขึ้นไปพักน้ำบนที่สูง และทำระบบน้ำหยดที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนศึกษาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์

3. ชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนให้มุ่งพัฒนาชุมชนตนเอง และเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้

4. หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น มี “ภาชนะกักเก็บน้ำของตัวเอง” และระบบจัดการน้ำดี ซึ่งสร้างโอกาสให้พื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเกษตรได้หลากหลายชนิดและทำได้ตลอดทั้งปี

แต่ภาพจริงของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีปัจจัยเพียบพร้อมทั้ง 4 ด้าน แต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการส่งเสริมเกษตรกร ภาครัฐควรศึกษาจนเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน

จากนั้นมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามปัจจัยที่ขาดของครัวเรือนนั้น ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อตลาดกับสินค้าในพื้นที่ และให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจ

จึงจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโมเดลต้นแบบ พลิกชีวิตเกษตรกรจากวงจรถดถอยสู่วงจรโอกาส ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2565

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

จิรัฐ เจนพึ่งพร 

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทางออก, การปรับโครงสร้างหนี้, การแก้หนี้ที่ยั่งยืน, โมเดลแก้หนี้

  • ฮิต: 644

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ข้าว, เกษตรกร, ทางออก, การปรับตัวของชาวนา, นโยบายเกษตร, การเพิ่มรายได้, คนรุ่นใหม่

  • ฮิต: 678

ปลูกพืชตามกระแส รวยจริงไหม อะไรบ้างที่เกษตรกรควรรู้

ContractFarmingSeminar

เกษตรกรหลายรายมักเคยมีประสบการณ์ปลูกพืชตามกระแส เพราะเห็นว่าราคาดี แห่ปลูกตามๆ กัน คิดว่าทำแล้วจะรวย เกษตรกรจำนวนมากตัดสินใจปลูกพืชตามกระแสโดยไม่มีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เชื่อในคำชักชวนให้ลงทุน โดยไม่คิดอย่างรอบคอบ จึงมักลงเอยด้วยการขาดทุน บางรายถูกหลอก และเกิดภาระหนี้สินตามมา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท จัดเวทีเสวนา “รู้เท่าทัน...ก่อนเข้าสู่การปลูกพืชตามกระแสและเกษตรพันธสัญญา” ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบทเรียนประสบการณ์ของเกษตรกร และเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจกับเกษตรกรก่อนที่จะตัดสินใจเข้าสู่การปลูกพืชตามกระแสและเกษตรพันธสัญญา  

ตอนแรกคิดว่ามีตลาดพร้อมรองรับ…แต่อะไรก็เปลี่ยนแปลงได้

การปลูกพืชตามกระแสของเกษตรกรในปัจจุบัน มักจะมาพร้อมกับระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming เป็นระบบการทำเกษตรที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับคู่สัญญา หรือ “ผู้รับประกัน” โดยมากมักจะเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” โดยจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา

คุณบุญชู มณีวงษ์ ประธานกลุ่มพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี บอกเล่าถึงบทเรียนการปลูกพืชตามกระแสโดยมีสัญญารับซื้อกับบริษัทว่า  “จากบทเรียนการเลี้ยงด้วงสาคู ทางกลุ่มได้คุยกันว่าที่จริงแล้วพวกเราเจ็บเพราะ “ความโลภ” มองว่าการเลี้ยงด้วงมันดี ขายได้ทุก 45 วัน มีคนมาบอกวิธีการเลี้ยง พาไปดูการตลาด และรับซื้อแบบประกันราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ต้องซื้อพันธุ์ด้วงสาคูกับเขา เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด เส้นทางถูกปิด เกษตรกรมีค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งในแต่ละครั้งที่ค่อนข้างสูง อดทนทำประมาณ 6 เดือน ก็ต้องยอมเจ็บตัวและเลิกไปในที่สุด โชคดีตอนนั้นทางกลุ่มมีการปลูกกระชายขาวด้วย ช่วงโควิดกระชายเป็นที่ต้องการของตลาด จึงช่วยให้การเจ็บในครั้งนั้นไม่หนักมาก

ตอนนี้ก็มีสมาคมมาส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ “กัญชา” ซึ่งปลูกเพียง 4 เดือนก็สามารถขายได้ ปลูก 1 ไร่ จะขายได้เกือบ 8 แสนบาท แต่เราก็ต้องศึกษาความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในการทำโรงเรือน การทำโรงเก็บ คุณภาพและมาตรฐานตามที่ผู้รับซื้อกำหนด สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรที่มีภาระหนี้มองเห็นคือ “ความร่ำรวย” มองว่าใครทำอะไรแล้วรวยก็อยากทำตาม เหมือนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มะนาวแพงก็หันมาปลูกมะนาวกันหมด พอมะนาวราคาตก ขายไม่ออก แปรรูปไม่เป็น ก็ทิ้งกันเกลื่อนเจ๊งตามกันไปอีก”

Kratom

ก่อนปลูกพืชตามกระแส ต้องปลูกพืชไว้กินก่อน ศึกษาข้อมูล ความเสี่ยงและไม่เพิ่มหนี้

คุณสุนีย์ อ่ำทิม ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว จ.ชัยนาท กล่าวถึงแนวทางการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาของกลุ่มว่า “เกษตรกรต้องปลูกพืชที่เราต้องกินต้องใช้ก่อน ถ้าเราปลูกพืชที่เราไม่เคยกินเคยใช้เลยก็มักมีความเสี่ยง เพราะมันจะไปตามกระแส เมื่อตัดสินใจว่าจะปลูกพืชอะไรแล้ว สิ่งสำคัญต้องติดตามข่าวราคาพืชที่เราปลูกอยู่ตลอดเวลา พืชนั้นเขานำไปใช้อะไร มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น ตอนนี้เกษตรกรบางคนได้ทำพันธสัญญาปลูกพริกทำซอส เมื่อตัดสินใจลงมือปลูกก็ต้องดูแลให้ได้ผลผลิตที่ดี และต้องมองให้เห็นโอกาสทางการตลาดที่พึ่งตนเองได้อยู่ด้วย“สิ่งสำคัญคือต้องไม่เพิ่มหนี้” ถ้าผลผลิตมีคุณภาพก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการเอาเปรียบจากพันธสัญญา เพราะเขาต้องง้อเรา เขาต้องซื้อเรา ถึงเขาไม่ซื้อหรือทิ้งเรากลางทางเราก็สามารถเอาไปขายที่ตลาดนอกที่เขารับซื้อได้ เพราะเกษตรกรที่ปลูกพริกที่ไม่ได้อยู่ในพันธสัญญาก็ยังมีตลาดมากมายรับซื้อ”

เวลาทำสัญญาต้องรอบคอบ ไม่รีบร้อน และต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ

คุณนฤพนธ์ ยันสาด ทนายความอิสระ จ.ชัยนาท กล่าวถึงข้อควรรู้ของเกษตรกรก่อนเข้าสู่เกษตรพันธสัญญาว่าการทำสัญญาต้องดูให้รอบคอบก่อนว่าสัญญานี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับเราอย่างไร ดูข้อเท็จจริงว่าสัญญานี้สามารถเป็นไปได้ไหม ดูบริษัทที่เป็นคู่สัญญามีตัวตนหรือไม่ มีเงินทุนอยู่เท่าไหร่ กรรมการบริหารบริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง รวมถึงทรัพย์สินของบริษัทมีอะไร ถ้าบริษัทมีทรัพย์สินอยู่หลักแสนมาทำกิจการหลักล้านมันก็ไม่น่าคุ้ม หรือว่าบริษัทไม่มีทรัพย์สินหรือมีส่วนน้อย แต่ทรัพย์สินไปอยู่ที่กรรมการเวลาที่เกิดเรื่องฟ้องร้อง จะต้องฟ้องไปที่บริษัทไม่ได้ฟ้องไปที่กรรมการแล้วมันคุ้มที่เราจะเสี่ยงไหม

เวลาทำสัญญาจะเห็นมีการกาดอกจัน(***)เอาไว้ตามข้อต่างๆ เรามักจะไม่ได้อ่านมันเลยว่าสัญญานั้นระบุอะไรบ้าง เวลาเกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาลขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นจะเป็นข้อตกลงที่เราต้องยอมรับมัน สัญญาจะเป็นธรรมกับเกษตรกรไหมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและเจตนา สัญญานั้นอาจไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบ เกษตรกรควรต้องมีคนที่รู้กฎหมายช่วยแนะนำ เวลาทำสัญญาอะไรต้องรอบคอบ ไม่รีบร้อน และต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ

ดังนั้นไม่ว่าเกษตรกรจะปลูกพืชชนิดใด พืชตามกระแสหรือนอกกระแส เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ การลงทุน แรงงาน การตลาด ความเสี่ยง โดยต้องไม่คิดพึ่งการตลาดแหล่งเดียว ต้องรู้จักพึ่งพาตนเองไว้ด้วย เรียนรู้การแปรรูปร่วมด้วย และรู้ถึงข้อดีข้อเสียของสัญญา รู้เท่าทันกฎหมาย เพราะการไม่รู้กฎหมายจะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบนายทุน ถูกหลอก และเกิดภาระหนี้สินตามมาได้ในที่สุด

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 30 ส.ค. 2565

ผู้เขียน : ฐิติพรรณ มามาศ

  • ฮิต: 1051

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่ “ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

ข้าว, ประกันรายได้, การแก้หนี้ชาวนา, นโยบายข้าว, กลไกราคา

  • ฮิต: 822

“ผูกปิ่นโตข้าว” พลังผู้บริโภคสนับสนุนการแก้หนี้และเลิกเคมีของชาวนา

RiceFarmersupanburi

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ ใกล้จะมาถึงในเวลาไม่ช้าไม่นาน จับสัญญาณจากรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาบรรดา ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากฝั่งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างตบเท้ากันลงพื้นที่และจัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นำเสนอผลงานและนโยบายกับพี่น้องประชาชน ชาวนา เกษตรกร ในระดับพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก

“นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร” คือหนึ่งในนโยบายประชานิยม ทั้งแนวทางปลดหนี้ ลดหนี้ แก้หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทุกพรรคการเมือง ต่างหยิบยกนำมาใช้เพื่อหาเสียงกับชาวนาและเกษตรกร ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยพบว่านโยบายหรือมาตรการส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้ มักมุ่งเน้นที่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาปลายเหตุ “การลดหนี้เสีย”  ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีความซับซ้อน และเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การปรับแก้กลไกและกติกาสินเชื่อให้มีความเป็นธรรมต่อชาวนามากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง โดยทำมากกว่ามาตรการพักหนี้และยืดหนี้ และประการสุดท้ายการสนับสนุนการลงทุนการผลิตใหม่ การฟื้นฟูทางเลือกอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชาวนาและเกษตรกรไปพร้อมกัน

ชาวนาและเกษตรกรอยู่คู่กับปัญหาหนี้สินมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน และสองปีนับแต่มีโควิด (2563-2564) พบว่าชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74 หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ  150,636 บาท มาอยู่ที่  262,317 บาท แม้รัฐบาลจะมีโครงการและมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ  1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขไม่ให้กู้เงินเพิ่ม

อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ด้วยข้อจำกัดและเหตุผลประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อเงินทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นวงจรหนี้ไม่จบสิ้น

จากสภาพปัญหาและพื้นฐานข้อจำกัดของชาวนาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2565 นี้ ทางมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการปรับตัวเพื่อการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์จากการทำงานระดับพื้นที่ พบว่า ชาวนาที่มีหนี้มักมีสภาพจิตใจที่กดดันหลายด้าน ดังนั้นความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์เพื่อการแก้หนี้ของชาวนา จึงได้ริเริ่มโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว แก้หนี้ชาวนา”  ขึ้น

โดยหัวใจหลักและแนวคิดของโครงการนี้ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมพลัง และความเกื้อกูลระหว่างชาวนาผู้มีหนี้กับผู้บริโภคที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม การแก้หนี้ชาวนาโดยลำพังอาจไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้บริโภคทำความรู้จักกับชาวนาที่มีความตั้งใจปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์ จากนั้นผู้บริโภคเลือกสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี เพื่อให้ชาวนาเหล่านี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นในการทำนาอินทรีย์จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตของเขาอย่างแน่นอน ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เงินที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีเงินนำไปจัดหาและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเริ่มลงมือปรับระบบจากการทำนาเคมีสู่นาอินทรีย์  ชาวนาจะไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ของชาวนาไม่รู้จบให้หมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ส.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

การสูญเสียที่ดิน, พลังผู้บริโภค, การแก้หนี้ชาวนา, การเชื่อมโยงผู้บริโภค, ตลาดข้าวอินทรีย์

  • ฮิต: 675

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6741089
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
4304
4524
21281
132615
6741089

Your IP: 18.223.0.53
2024-04-25 13:59