กับดักหนี้เกษตรกร โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข

SupapronRiceFarmer

ปัญหาครัวเรือนเกษตรกรไทยติด “กับดักหนี้” และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ต้องแก้ไข กับดักหนี้ (Debt Trap) หมายถึง ภาวะหนี้ท่วม ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินเกินศักยภาพในการชำระ มีรายได้ไม่เพียงพอ รายได้ไม่สม่ำเสมอ และรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นการจะหลุดออกจากกับดักหนี้สินของเกษตรกรจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ ดังนั้นการจัดการปัญหาหนี้สินเพื่อช่วยให้เกษตรกรหลุดออกจาก “กับดักหนี้” และเดินไปได้อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจปัญหาครัวเรือนเกษตรกร

เข้าใจปัญหาครัวเรือนเกษตรกรไทย

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี  ในงาน “BOT Symposium 2022 ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย” หนึ่งในหัวข้อสำคัญการสัมมนาครั้งนี้ คือ “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก” นำเสนอโดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญส่งผลให้เกิด “กับดักหนี้” และขัดขวางการพัฒนาครัวเรือนเกษตรให้เดินไปอย่างยั่งยืน ดังนี้

ประการแรก ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนเกษตร ได้แก่ 1) รายได้ไม่เพียงพอ พบว่า ร้อยละ 27 ของเกษตรกรมีรายได้ไม่พอใช้จ่ายจำเป็น ร้อยละ 41 ของเกษตรกรมีรายได้เหลือไม่พอชำระหนี้ 2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ รายได้เกษตรเข้ามาเป็นฤดูกาล พบว่า ร้อยละ 82 มีปัญหาสภาพคล่อง และเฉลี่ย 3 เดือนต่อปีจะมีรายได้เข้ามาน้อยกว่ารายจ่าย และ 3) รายได้ไม่แน่นอน เกษตรกรเผชิญความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติและการตลาด พบว่า 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะมีปัญหารายได้ตกต่ำจากผลผลิตหรือตลาด ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างมากของเกษตรกรในการบริหารจัดการการเงินอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่อง เช่น การมีรายได้มากเพียงพอในปีนี้เพื่อเกลี่ยไปใช้จ่ายในปีหน้า การมีทักษะการบริหารจัดการการเงินเมื่อมีภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกิดขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรมีปัญหาที่หลากหลาย แตกต่าง สามารถแยกครัวเรือนเกษตรตามประเภทลักษณะพฤติกรรมทางการเงิน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มยากจน รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน ร้อยละ 18  2) กลุ่มเปราะบาง มีปัญหาสภาพคล่อง กลุ่มใหญ่ที่สุด รายได้ไม่เพียงพอบางเดือน ร้อยละ 67 3) กลุ่มสภาพคล่องดี รายได้เพียงพอกับรายจ่ายทุกเดือน ร้อยละ 15

ประการที่สอง พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนเกษตร  พบว่า 1) ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์การออม และการจัดการหนี้สินในบางด้าน แต่มีทัศนคติทางการเงินที่ดีต่อการออม การก่อหนี้ การชำระหนี้ และการวางแผนทางการเงิน 2) พฤติกรรมการออมและการประกันของครัวเรือนเกษตร ยังไม่ช่วยสะสมความมั่งคั่ง และยังไม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะต่อรายได้ที่ผันผวนสูงของเกษตรกรได้ 3) เกษตรกรใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการเงิน ส่งผลทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นวงกว้างและมีหนี้มาก 4) หนี้ของครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี จนเกินศักยภาพในการชำระ และส่งผลต่อความสามารถในการกู้ใหม่ โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี มาจากหนี้เดิมที่ชำระไม่ได้ (รายได้ไม่พอ รายได้ไม่แน่นอน) และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มทุกปี ทบกันจนกลายเป็นวงจรหนี้

ประการที่สาม  ปัญหาเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงินฐานราก ปัจจุบันสถาบันการเงินยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนี้ 1) ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Information asymmetry) ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกร ทำให้ตลาดไม่สามารถปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึง ตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ และความไม่สมมาตรของข้อมูล ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลของเกษตรกรและระหว่างกันเอง ทำให้อาจปล่อยกู้รวมกันเกินศักยภาพและความเสี่ยง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ 2) การออกแบบสัญญาสินเชื่อ (Contract design problem) ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาเกษตรกร สัญญาชำระหนี้ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและจ่ายได้ พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรต้องการสัญญาชำระหนี้ที่สอดคล้องกับช่วงรายได้ที่เข้ามา ค่างวดที่จ่ายไม่สูง มีความยืดหยุ่น สามารถช่วยสร้างภาระผูกพันในการชำระคืนได้ 3) การบังคับให้จ่ายหนี้ (Enforcement problem) ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ดีนัก และ สินเชื่อค้ำประกันกลุ่ม อาจไม่ใช่กลไกบังคับการจ่ายหนี้ของเกษตรกรได้ดีเหมือนเช่นในอดีต ในขณะที่สถาบันการเงินชุมชนเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ด้านนี้ได้ดีกว่า

กับดักหนี้ กับดักแห่งการพัฒนา และทางออก

จะเห็นได้ว่ามิติด้านเศรษฐกิจครัวเรือน พฤติกรรมการเงิน และระบบสินเชื่อภาคเกษตร คือสามปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิด “กับดักหนี้” และ “กับดักแห่งการพัฒนา” โดยมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรอย่างยั่งยืน ดังนี้ การแก้ปัญหาของตลาดการเงินฐานรากอย่างรอบด้าน เพื่อแก้หนี้เดิม และเติมเงินใหม่ให้ทั่วถึง ตอบโจทย์ และยั่งยืน การแก้ปัญหาการเงินเกษตรกร ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ตามศักยภาพ และที่สำคัญคือนโยบายที่สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง เน้นช่วยให้ครัวเรือนเกษตรกรช่วยตัวเองได้ ผ่านเครื่องมือและตลาดการเงินที่เหมาะสม จะสามารถช่วยนำพาครัวเรือนเกษตรกรไทยออกจาก “กับดักหนี้” และ “กับดักการพัฒนา” นี้ได้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 28 ต.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

  • ฮิต: 572

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 2)

SmilingFarmer

เสียงสะท้อนของชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมากจาก 5,310 บาทต่อไร่ในช่วงสิ้นเดือนพฤษจิกายน 2564 เป็น 6,710 บาทต่อไร่ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2565 ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ยังคงต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ซึ่งหากข้าวเปลือกราคา 7,000 บาทต่อตัน จะทำให้การขายข้าวของชาวนาในปีนี้ต้องประสบกับภาวะขาดทุนทันที สอดคล้องกับผลการศึกษาจาก KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัคร ที่พบว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยต่ำกว่าผลผลิตของชาวนาในเอเซียในช่วง 10 ปี ถึง 32% นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะลงทุนสูงก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดกำไรมาก และยิ่งในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตที่สูง ชาวนาไทยอาจไปถึงจุดที่ขาดทุนสูง ทำให้เกิดภาระหนี้สินสะสม เพราะไม่สามารถชำระหนี้สินคืนได้ในฤดูกาลผลิตนี้

ผลการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ยังพบอีกว่า ชาวนาไทยอยู่คู่กับการเป็นหนี้สินสะสม จนแยกไม่ออกว่าเงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร โดยเริ่มต้นจากการกู้ยืมมาเพื่อการลงทุนทางการเกษตร พอนานวันเงินกู้เพื่อการลงทุนทางการเกษตรก็ถูกนำมาใช้ในการหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในครอบครัว หมุนเวียนเป็นเสมือนวัฎจักรหรือกับดักหนี้ที่ยากจะหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้โดยง่าย

มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร/ชาวนาไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เร่งให้เกิดความยากลำบากเช่นนี้ ทั้งจากการปรับตัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือเพิ่มรายได้ด้วยการประกอบอาชีพเสริมที่ต่อยอดจากอาชีพเดิม การขยายตลาดพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตามการปรับตัวของชาวนาเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร/ชาวนาไทยได้ หากขาดการสนับสนุนในเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันและต้องเร่งดำเนินการ  “นโยบายพิเศษเกี่ยวกับราคาข้าว” เป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงกว่าหรือสูงใกล้เคียงกับราคาขายอย่างเช่นในปัจจุบัน (สุบรรณ เอี่ยมวิจารณ์, 2557) ภายใต้การยึดหลักให้เกิดความเป็นธรรม (Equity) และการทำให้สังคมมีประสิทธิภาพ (Efficiency) เช่นเดียวกับแนวคิดของประทีป วีระพัฒนิรันดร์ นักพัฒนาชุมชน ได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของวารสารเคหการเกษตรเมื่อปี 2556 ว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการเกษตร (ประทีป วีระพัฒนิรันดร์, 2556) และการที่รัฐบาลในหลายประเทศยังคงใช้นโยบายในการแทรกแซงราคา ก็ด้วยเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสินค้าทางการเกษตรยังคงเป็นสินค้าหลักในการส่งออกโดยเฉพาะข้าวและหากยังปล่อยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ลำบากและมีรายได้ตกต่ำยิ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรนิ่งเฉย

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านราคาควรเป็นนโยบายระยะสั้น และสำคัญยิ่งกว่านั้นต้องมีการดำเนินการควบคู่กับการกำหนดนโยบายที่ไม่ใช่ราคา ที่ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา โดยเฉพาะนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพชาวนาไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพข้าวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดการส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ซึ่งคุณภาพของข้าวจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการแข่งขัน และสร้างโอกาสในการกลับมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ในวิกฤติที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างที่ควบคุมไม่ได้นี้ กลับถือเป็นโอกาสอันดีในการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของภาคการเกษตรโดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) มีการดำเนินงานในประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีการสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานให้กับเกษตรกรที่มีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้

นอกจากนี้ต้องพัฒนาศักยภาพชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ มีความรอบรู้ รู้เท่ากันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถปรับตัวได้แม้ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพชาวไทยที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกษตรกร/ชาวนามีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้นั้น ไม่เพียงแต่การส่งเสริมเพียงตัวเกษตรกรและครอบครัวเท่านั้น นโยบายที่สนับสนุนหรือเปรียบเสมือนอาหารเสริมหรือบางครั้งเปรียบเสมือนยารักษาโรคที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถต่อสู้กับสภาวะการณ์ไม่ปกติได้อย่างเข้มแข็ง จึงมีความสำคัญควบคู่กันไป เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร/ชาวนาไทยอย่างครบวงจรและนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 28 ต.ค. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

  • ฮิต: 644

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2)

FarmerDebtModel

จากตอนที่ 1 ที่เล่าถึง “วงจรถดถอย” ได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่โมเดลธุรกิจ การทำเกษตรแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์เดิม การช่วยเหลือปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะการอุดหนุนรายได้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น

การแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจ เพื่อสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ออกจากวงจรถดถอย “โมเดลผลิตไม่ดี-ขาดทุนบ่อย-หนี้สูง-ปรับตัวไม่ได้-ผลิตภาพต่ำ” สู่วงจรโอกาส “โมเดลผลิตดี-สร้างกำไรสม่ำเสมอ-มีเงินสะสม-ลงทุนพัฒนา-ผลิตภาพสูงขึ้น”

เกษตรกรมีหลายทางเลือกการพัฒนาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศของ ธปท. พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวพัฒนาโมเดลธุรกิจจนสามารถปลดหนี้ หลุดพ้นจากวงจรถดถอยได้ และพัฒนาธุรกิจก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบมากมายที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม

 

ในความหลากหลายของโมเดลต้นแบบสามารถถอดบทเรียนได้เป็น 5 ชุดการพัฒนา ดังนี้

1. เกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก

เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง

2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืช     อื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี

3. เกษตรประณีต จากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2 พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17

และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต

เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

4. การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง

เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่น แปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน

5. ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่น เกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโมเดลธุรกิจทำได้หลายรูปแบบ เกษตรกรควรนำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตน โดยเริ่มจากความถนัดหรือการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่

เช่น ลดต้นทุนโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาต่อยอด เมื่อรู้แนวทางแล้วว่าสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง คำถามสำคัญถัดมาคือเกษตรกรจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

หลายโมเดลที่กล่าวมามีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคล้าย ๆ กัน จึงขอหยิบตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ที่พัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นตัวแทนเล่ากระบวนการพัฒนาไปสู่วงจรโอกาส ซึ่งถอดได้เป็น 4 ปัจจัยสำเร็จ ดังนี้

1. คิดใหม่ ไม่รอคอย ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของเกษตรกรดงขี้เหล็กเริ่มจากก้าวแรกนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สุด กล้าเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเดิม ๆ ไปปลูกอย่างอื่น เมื่อรู้ว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญ ไม่มัวรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ แต่ลุกมาจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ขุดสระน้ำลึกเพื่อกักเก็บน้ำฝน เรียกกันในชุมชนว่า “เขื่อนใต้ดิน”

2. ศึกษาฝึกฝนจนชำนาญ ใฝ่พัฒนา ศึกษาจนมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น รู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่ตน และรู้วิธีการกักเก็บและใช้น้ำที่เหมาะกับพื้นที่ตน กล้านำความรู้มาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญ เช่น ใช้เทคโนโลยีตะบันน้ำขึ้นไปพักน้ำบนที่สูง และทำระบบน้ำหยดที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนศึกษาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์

3. ชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนให้มุ่งพัฒนาชุมชนตนเอง และเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้

4. หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น มี “ภาชนะกักเก็บน้ำของตัวเอง” และระบบจัดการน้ำดี ซึ่งสร้างโอกาสให้พื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเกษตรได้หลากหลายชนิดและทำได้ตลอดทั้งปี

แต่ภาพจริงของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีปัจจัยเพียบพร้อมทั้ง 4 ด้าน แต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการส่งเสริมเกษตรกร ภาครัฐควรศึกษาจนเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน

จากนั้นมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามปัจจัยที่ขาดของครัวเรือนนั้น ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อตลาดกับสินค้าในพื้นที่ และให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจ

จึงจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโมเดลต้นแบบ พลิกชีวิตเกษตรกรจากวงจรถดถอยสู่วงจรโอกาส ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2565

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

จิรัฐ เจนพึ่งพร 

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทางออก, การปรับโครงสร้างหนี้, การแก้หนี้ที่ยั่งยืน, โมเดลแก้หนี้

  • ฮิต: 639

การหมุนวนของวงเกลียวหนี้ บนวงจรชีวิตเกษตรกรไทย

RiceFamerMan

“เกษตรกรชุมนุมปักหลักจี้ ธ.ก.ส. เร่งแก้ไขปัญหาหนี้จากความล้มเหลวของโครงการเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เวบไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554

“ม็อบชาวนาขู่ ‘โกนหัว-อดอาหาร’ หากไร้วาระช่วยหนี้สินเข้าครม.” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 มีนาคม 2565   

          พาดหัวข่าวทั้ง 2 ชิ้นที่ยกมาข้างต้นฉายภาพของหนี้สินเกษตรกรอะไรให้เราเห็นบ้าง

  1. พาดหัวข่าวทั้ง 2 ชิ้น ห่างกัน 11 ปี ชิ้นแรก เขียนในปี 2554 ชิ้นที่ 2 เขียนในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ห่างกันหนี้สินเกษตรกรยังคงเป็นปัญหาของเกษตรกรไทย และหากสืบค้นลึกลงไปกว่านี้จะเห็นว่าประเด็นหนี้สินเกษตรกรเป็นข่าวใหญ่ ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่อเนื่องเกือบจะเคียงคู่กันมากับพัฒนาการของวงการสื่อมวลชนในบ้านเรา ให้นัยว่าไม่ว่ายุคใดสมัยใดประเด็นหนี้สินเกษตรกรก็มีความสำคัญมากพอที่สังคมควรต้องให้ความสนใจ
  2. พาดหัวข่าวทั้ง 2 ชิ้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกรไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่มีการยื่นมือเข้ามาช่วยของรัฐบาล
  3. พาดหัวข่าวทั้ง 2 ชิ้น ยังแสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรหนี้สินไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของตัวเกษตรกร หากรวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ภาครัฐนำลงไปให้ อย่าง “โครงการเกษตรกรพันธุ์ใหม่” โดยมีธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวละครหลักที่สำคัญ        

บทความชิ้นนี้จะชวนทุกคนเหลียวหลัง มองย้อนกลับไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างวงจรชีวิตเกษตรกรไทยกับวงเกลียวแห่งหนี้ที่ขดซ้อนจนเกือบเป็นวงจรเดียวกัน

เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีฐานะเป็นเกษตรกรรายย่อยต้นทุนการผลิตที่สำคัญคือที่ดิน และเงินทุนในการทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ น้อยรายมากที่จะทำการเกษตรได้ด้วยต้นทุนของตัวเอง แหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่คือสถาบันการเงินของรัฐ โดยมี ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร ต่างๆ รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รองลงไปคือสถาบันทางการเงินอื่น ๆ ของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ ไปจนถึงแหล่งเงินกู้เอกชน ทั้งเถ้าแก่ร้านปุ๋ย ร้านยา ไปจนถึงนายทุนเงินกู้ ปัญหาสำคัญของเกษตรกรคือต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายได้จากผลผลิตเกือบทุกฤดูกาล ความหลากหลายของเจ้าหนี้ ไม่ได้แสดงถึงการมีเครดิตดีของเกษตรกร หากคือการพยายามหมุนเงินกู้จากเจ้าหนี้รายหนึ่งไปโปะเจ้าหนี้อีกรายหนึ่ง สะสมเพิ่มพูนกลายเป็นภาระทางการเงินที่เกษตรกรไม่สามารถแบกรับไหว แน่นอนว่ารูปแบบหนี้ของเกษตรกรเป็นผลหรือมีความสัมพันธ์กับการปรับตัวของเจ้าหนี้

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรไทยและสรุปตลาดสินเชื่อ หรือนัยหนึ่งคือรูปแบบการเป็นหนี้ของเกษตรกรไทย ว่าติดอยู่ในวัฏจักรของ “การพักชำระหนี้ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้” โดย TDRI แบ่งพัฒนาการของสินเชื่อภาคเกษตรกรเป็น 4 ยุค ได้แก่

1. ยุคพึ่งตลาดสินเชื่อนอกระบบ (ประมาณ พ.ศ. 2500 – 2534) เป็นช่วงเวลาที่นายทุนเงินกู้นอกระบบเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้น คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง

2. ยุคกำเนิด ธ.ก.ส. (ประมาณ พ.ศ. 2534- 2543) ธ.ก.ส. ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลตั้ง ธ.ก.ส.ตั้งแต่ปี 2506 เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กับเกษตรกร แต่ TDRI มองว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ ธ.ก.ส. ประสบความสำเร็จในการปล่อยกู้เกษตรกรรายย่อยด้วยการสร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า “การค้ำประกันกลุ่ม” ทำให้เกษตรกรที่ไม่มีโฉนดที่ดินสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปัญหาการที่ ธ.ก.ส. ไม่ได้รับการชำระหนี้คืนจากเกษตรกร เพราะระบบการค้ำประกันกลุ่มจะให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มค้ำประกันซึ่งกันและกัน ให้เกษตรกรทำหน้าที่สอดส่องดูแลการชำระหนี้คืนของเพื่อนในกลุ่มแทน ธ.ก.ส. (นวัตกรรมนี้ภายหลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กดทับเกษตรกรไทย จะพูดถึงอย่างละเอียดในตอนต่อไป)

3. ยุคเปิดเสรีทางการเงิน (ประมาณปี 2537- 2544) เป็นยุคที่สถาบันการเงินไทยต่างๆ กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศจำนวนมากมาปล่อยกู้ในประเทศ โดยมีเกษตรกรเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้กู้รายใหญ่ ยุคนี้สัดส่วนเงินกู้ในระบบสูงขึ้นมาก และสามารถลดบทบาทความสำคัญของแหล่งเงินกู้นอกระบบลงไปได้

4.ยุคพักชำระหนี้กับการปรับโครงสร้างหนี้ (ประมาณปี 2545 – ปัจจุบัน) การไหลเข้าของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายทำให้เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งเมื่อฟองสบู่แตก ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรต้องประสบปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. เจ้าหนี้รายใหญ่ของภาคเกษตรเสนอให้รัฐบาลจัดทำนโยบาย พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมทั้งเสนอโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสานต่อจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย จนกลายเป็นวงจร “การพักชำระหนี้ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้”

TDRI ทำงานวิจัยชิ้นนี้โดยให้มุ่งมองไปที่สถาบันเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อตอบโจทย์การวิจัยของตนเองที่เน้นไปที่ตลาดสินเชื่อในชนบท หากเราขยับประเด็นมามองลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตภาคการเกษตรจะเห็นว่ารูปแบบการผลิตมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดภาวะหนี้สินของเกษตรกรอย่างมาก การเกษตรของประเทศไทยเติบโตควบคู่มากับโครงการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐ เช่น การปลูกพืชสายพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มาเป็น package พร้อมเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในการผลิตอื่น ๆ ตามที่รัฐกำหนด ซึ่งหลายครั้งเอื้อต่อธุรกิจเอกชน และจบลงด้วยการขาดทุนของเกษตรกร  การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตร ที่จำนวนไม่น้อยจบลงด้วยความล้มเหลวและเกษตรกรต้องแบกภาระหนี้ ไปจนถึงรูปแบบการผลิตในภาคเกษตรแบบใหม่ที่เรียกว่าการเกษตรแบบพันธะสัญญา (contract farming) ที่ภาคเอกชนเสนอเงื่อนไขให้เกษตรกรนำวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ หรือพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ (กรณีเลี้ยงสัตว์) ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ ไปใช้ก่อน เมื่อขายผลผลิตได้ ค่อยหักต้นทุนแล้วกำไรคืนให้เกษตรกร เกษตรกรไทยก็ยิ่งจมกับหนี้สินของบริษัทการเกษตรรายใหญ่ เพราะการทำเกษตรแบบพันธะสัญญากำหนดเงื่อนไขว่าต้องขายผลผลิตกับบริษัทที่เป็นผู้ลงทุนให้ได้รายเดียว โดยบริษัทเป็นผู้กำหนดรายละเอียดการขายทุกอย่าง ทั้งวันที่จะรับซื้อผลผลิต และราคาที่จะซื้อคืน มีหลายครั้งที่บริษัทไม่เข้าซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในเวลาที่เหมาะสม จนเวลาผ่านผลผลิตคุณภาพลดต่ำลงก็จะซื้อผลผลิตในราคาต่ำด้วยข้ออ้างว่าคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์  เมื่อนายทุนลงทุนให้ ควบคุมทุกอย่าง แล้วเกษตรกรจะได้กำไรได้ยังไง

หากยังจำได้ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมาส่งเสียงในช่วงต้นปี ว่าในขณะที่เนื้อหมูในตลาดสดแพง ตัวเองกลับยังไม่สามารถขายหมูได้เพราะบริษัทไม่มารับซื้อ และเมื่อมารับซื้อก็ให้ราคาต่ำกว่าท้องตลาด นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเกษตรแบบพันธะสัญญา  ในการทำเกษตรรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะพบว่าเมื่อการเก็บผลผลิตรอบแรกผ่านไป เกษตรกรจะมีหนี้คงค้างกับบริษัทเพราะผลผลิตที่ขายได้น้อยกว่าต้นทุนที่เชื่อบริษัทมาในครั้งแรก  บริษัทก็จะให้ลงทุนรอบสองที่จบลงด้วยการขาดทุนอีก หนี้เพิ่ม  ดอกเบี้ยเพิ่ม บริษัทชักชวนให้ลงทุนรอบ 3 หนี้เพิ่ม ดอกเบี้ยเพิ่ม สะสมไปเรื่อย ๆ  ถามว่าขาดทุนแล้วทำไมยังทำอยู่ คำตอบคือไม่มีทางเลือก เป็นหนี้เขาแล้ว ถ้าไม่สามารถใช้คืนได้ก็ต้องทำต่อ นอกจากจะยังไม่โดนทวงเงินแล้ว ยังมีงานให้ทำโดยไม่ต้องลงทุนก่อนด้วย  เกษตรพันธะสัญญาแบบนี้ที่แปลงสถานะของเกษตรกรให้เป็นเพียงคนรับจ้างผลิต หรือถ้าให้เห็นภาพกว่านั้น เกษตรกรพันธะสัญญาทำให้เกษตรกรกลายเป็นทาสในเรือนเบี้ยของนายทุนภาคเกษตร

ชีวิตเกษตรกรจึงวนเวียนอยู่กับหนี้สินในรูปแบบต่าง ๆ แม้รัฐบาลจะมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ในเรื่องของวงจรการผลิตและการควบคุมราคาวัตถุดิบรวมถึงต้นทุนการผลิต การทำให้ราคาขายสินค้าการเกษตรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นปัญหาหนี้สินได้  กองทุนต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งเงินทุนที่กลายเป็นยอดหนี้สะสมเพิ่มขึ้น เป็นหนี้ที่เกษตรกรไม่สามารถชำระคืนได้ มาดูตัวเลขในเชิงสถิติกัน ข้อมูลลูกหนี้กองทุนในปี 2557 ระบุว่า กองทุนที่สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกร ได้แก่ กองทุนจัดรูปที่ดิน กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ต่างกำลังประสบปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูง โดยเฉลี่ยมีสัดส่วนปริมาณ ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ต่อปริมาณลูกหนี้คงเหลือทั้งหมดประมาณร้อยละ 38.7 สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 79 สูงกว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ ธ.ก.ส. หลายเท่าตัว ขณะเดียวกันข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่าจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดของกองทุนฯ ประมาณ 5.67 ล้านคน มีเกษตรกรขึ้นที่ขึ้นทะเบียนหนี้ 5.16 แสนคน คิดเป็น 7.76% เป็นหนี้เร่งด่วน (NPL ขึ้นไป) 1.8 แสนคน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดหนี้เกษตรกรเพิ่มพูนขึ้นจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ นอกเหนือจากการที่ราคาขายผลผลิตต่ำกว่าต้นทุนอย่างต่อเนื่องแล้ว พบว่ายังเกิดจากกระบวนการปล่อยกู้และคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินต่าง ๆ แม้สถาบันการเงินในระบบจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อกลายเป็นคดีความเงินต้นจะถูกรวมดอกเบี้ยปกติ ค่าปรับและดอกเบี้ยจากการค้างชำระ คำนวณกลายเป็นยอดหนี้ใหม่ที่สูงกว่าเดิมบางครั้งสูงกว่าเงินต้นเดิมเกิน 2 เท่า

จากทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตเกษตรกรมีวงเกลียวของหนี้หมุนวนบดทับตลอดเวลา การจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร จึงต้องการบทบาทการทำงานของภาครัฐและสถาบันการเงินต่าง ๆ มากกว่าวงจรของ “การพักชำระหนี้ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้” ที่ทำให้หนี้สินกับเกษตรกรกลายเป็นของคู่กัน

อ้างอิง

  • มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. 2558. โครงการศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรและแนวทางการปรับปรุงศักยภาพการดำเนินงานกองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • เพ็ญนภา หงษ์ทอง และคณะ. 2564. คู่มือการช่วยเหลือภาระหนี้สินเกษตรกรโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย. นนทบุรี: มูลนิธิชีวิตไท
  • มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2558). โครงการศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรและแนวทางการปรับปรุงศักยภาพการดำเนินงานกองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • มนัส วงษ์จันทร์. 2565. ข้อมูลการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร. เอกสารประกอบการเสวนาวิชาการสาธารณะ “ปลดล็อกวิกฤติหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” 22 กุมภาพันธ์ 2565. โรงแรม TK Palace

Pennapa   

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง  มูลนิธิชีวิตไท   

เพ็ญนภา หงษ์ทอง  นักเขียน นักแปล อิสระ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

เกาะติดเรื่องราวปัญหาของเกษตรกรไทยตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวประจำห้องข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสมัชชาคนจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระประจำมูลนิธิชีวิตไท ศึกษากระบวนการก่อหนี้และการชำระหนี้ของเกษตรกร มีความฝันอยากเห็นชาวนาไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมาะสมกับสถานะผู้ผลิตอาหารหลักของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ติดอยู่กับวงจรหนี้

  • ฮิต: 863

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ข้าว, เกษตรกร, ทางออก, การปรับตัวของชาวนา, นโยบายเกษตร, การเพิ่มรายได้, คนรุ่นใหม่

  • ฮิต: 669

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6709687
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
24580
6353
44579
101213
6709687

Your IP: 3.17.28.48
2024-04-19 10:48