ลึกไม่ลับ เปิดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. เหมือนจะชัดแต่ไม่ชัด

FarmerInforntofBAAC

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2509 เพื่อให้เป็นธนาคารเฉพาะกิจคอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรโดยตรง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่สำคัญของเกษตรกร โดยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไทยเป็น “ลูกค้า” หรือนัยหนึ่ง ลูกหนี้ ของ ธ.ก.ส. หลายครัวเรือนความสัมพันธ์เริ่มตั้งแต่รุ่นพ่อสานต่อมาจนรุ่นลูกความสัมพันธ์ก็ยังไม่จบ บทความนี้ชวนทุกท่านย้อนมองสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับสถาบันการเงินแห่งนี้

1. เริ่มต้นความสัมพันธ์ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีที่ดิน

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530 เกษตรกรจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายได้ เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเองทำให้ไม่มีหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ธ.ก.ส. ได้คิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้บุคคลค้ำประกันแทน โดยให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อกู้และค้ำประกันซึ่งกันและกัน ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. แม้นวัตกรรมนี้จะมีข้อดีต่อเกษตรกรรายย่อยอย่างมาก แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นผลบวกกับธนาคารมากกว่า เพราะสามารถถ่ายโอนภาระในการแบกรับความเสี่ยงไปยังเกษตรกรผู้ค้ำประกันได้ กล่าวคือเกษตรกรที่เป็นผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ธนาคารก็สามารถเรียกเก็บเงินต้นและสินเชื่อจากเกษตรกรผู้ค้ำประกันได้ มีเกษตรกรผู้ค้ำประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องรับชำระหนี้แทนเกษตรกรผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลายครอบครัวต้องยอมเสียที่ดินเพื่อแลกกับเงินที่จะนำไปใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ ในขณะที่การกู้เงินโดยใช้บุคคลค้ำประกัน ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์ฐานะลูกหนี้เจ้าหนี้กับ ธ.ก.ส. ได้ นวัตกรรมนี้ก็ทำลายความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนเดียวกันจำนวนมาก

2. ความสัมพันธ์ที่มีแค่สมุดเล่มเหลืองไว้ดูต่างหน้า

สมุดเล่มเหลืองคือบัญชีเงินกู้ของ ธ.ก.ส. ลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ทุกคนจะมีสมุดเล่มนี้ประจำตัว ข้างในจะมีรายละเอียดเงินกู้แยกเป็นรายโครงการหรือรายผลิตภัณฑ์การเงิน เนื่องจาก ธ.ก.ส.จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่มที่มีคุณสมบัติพื้นฐานต่างกัน  น่าแปลกที่สมุดเล่มเหลือง รูปธรรมที่ยึดโยง ธ.ก.ส.กับเกษตรกรไว้ด้วยกันนี้มีเกษตรกรน้อยรายมากที่จะอ่านมันเข้าใจ เพราะส่วนใหญ่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซ้อนทับไปหลายรายการ จนหลายรายจำไม่ได้ว่ายอดสินเชื่อในปัจจุบันมาจากไหนบ้าง เพราะเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ ถูกนับรวมซ้อนกันกลายเป็นยอดเงินต้นใหม่หลายครั้งหลายครา สมุดเล่มเหลืองนี้จะไม่บอกรายละเอียดสัญญาเงินกู้ รายละเอียดการชำระ และระยะเวลาสัญญา เมื่อถามรายละเอียดเหล่านี้เกษตรกรหลายคนมักมึนงง เพราะไม่มีข้อมูลเช่นกัน

3. ความสัมพันธ์เชิงสินเชื่อที่ลูกหนี้แทบไม่เคยเห็นสัญญาเงินกู้

แม้ ธ.ก.ส. จะยืนยันหนักแน่นว่าเกษตรกรผู้กู้ทุกคนจะได้รับสัญญาเงินกู้คู่ฉบับกับที่ ธ.ก.ส. เก็บรักษาไว้ แต่เกษตรกรทุกคนที่มูลนิธิชีวิตไทลงไปเก็บข้อมูลต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยได้รับสัญญาเงินกู้ คงมีเพียงสมุดเล่มเหลืองเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อถามรายละเอียดภาระหนี้สินกับ ธ.ก.ส. เกือบทุกคนจะตอบว่าไม่รู้

4. ความสัมพันธ์ที่ผู้ให้กู้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้กู้ล่วงหน้า

ในเอกสารสัญญาเงินกู้ที่นักวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทได้รับเพื่อนำมาศึกษาเกี่ยวกับความ “ไม่เป็นธรรม” ของสัญญาสินเชื่อ ธ.ก.ส. พบว่ามีรายละเอียดที่ให้ ธ.ก.ส. สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งเกษตรกรผู้กู้ก่อน เมื่อย้อนถามเกษตรกรผู้กู้ไม่มีใครรู้หรือตระหนักว่าสัญญาเงินกู้ที่มีผลผูกมัดตัวเองมีข้อความเหล่านี้อยู่ เช่น

4.1 ประเด็นวงเงินกู้และกำหนดชำระหนี้ มีข้อความระบุว่า “...ถ้าผู้อนุมัติเงินกู้กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าจำนวนตามข้อ 1 หรือกำหนดให้ข้าพเจ้าชำระหนี้ให้เสร็จภายในเวลาสั้นกว่าที่เสนอไว้ตามรายการข้างต้นนี้ ข้าพเจ้ายอมผูกพันและปฏิบัติตาม” โดยไม่ขยายความว่าธนาคารจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงของวงเงินกู้หรือกำหนดชำระหนี้ให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าหรือไม่

4.2 อัตราดอกเบี้ย มีข้อความระบุว่า “...ต่อไปภายหน้าหากธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากที่กำหนดไว้เดิม แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดข้าพเจ้ายอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่” นอกจากนี้ในเอกสารที่เรียกว่า “รายงานเบิกเงินกู้” ซึ่งใช้แทนสัญญาเงินกู้มีการใช้ข้อความที่ทำให้สามารถเข้าใจไปได้ว่าเกษตรกรลูกหนี้เป็นผู้เสนอวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย กำหนดการชำระหนี้ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ธนาคาร ทั้งที่ในความเป็นจริง ธนาคารเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขทุกอย่าง และมีเนื้อความที่ให้อำนาจธนาคารให้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งแก่เกษตรกรผู้กู้ เช่น “...ถ้าผู้อนุมัติกำหนดจำนวนเงินและหรือกำหนดชำระคืนแตกต่างจากที่ข้าพเจ้าเสนอไว้แล้วนี้ ข้าพเจ้าเป็นอันยินยอมและปฏิบัติตาม” และ “...ต่อไปภายหน้าหากธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้นี้ แต่ไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่นับแต่วันที่กำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระคืนเสร็จ โดยธนาคารไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

5. เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ - ลูกหนี้ ที่อยู่นอกกรอบความสามารถในการชำระหนี้

สำหรับสถาบันการเงินเจ้าหนี้โดยทั่วไป ศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการปล่อยกู้ แต่ที่ ธ.ก.ส. เราจะพบว่าแม้เกษตรกรจะสูงอายุและไม่มีศักยภาพในการทำการเกษตรแล้วก็ยังสามารถยื่นกู้ได้ ตัวเลขจาก ธ.ก.ส. ในปี 2564 ระบุว่ามีลูกหนี้ที่อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปถึง 414,576 ราย ในจำนวนนี้เป็นหนี้ NPL ถึง 56,015 ราย สามารถแจกแจงรายละเอียดช่วงอายุลูกหนี้สูงอายุของ ธ.ก.ส. ลงไปได้ดังนี้ 70-79ปี  347,415 ราย อายุ 80-89 ลูกหนี้ที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ปี 63,597 ราย  และ อายุ 90 ปีขึ้นไป 3,564 ราย  

6. ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่มีลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง น้อยกว่าลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ

ข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ณ เดือนธันวาคม 2564 พบว่าจากจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่มีกว่า 4.8 ล้านราย มีเพียง 799,902 รายที่มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง คิดเป็นร้อยละ 16 ของลูกหนี้ทั้งหมด และมีลูกหนี้ที่มีศักยภาพต่ำถึง 1,965,691 รายคิดเป็นร้อยละ  41 แม้จะมีลูกหนี้ศักยภาพต่ำเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ ธ.ก.ส. ก็ยังคงผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรลูกค้ามากที่สุด

          นี่เป็นเพียงเรื่องราวรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับ ธ.ก.ส. ฐานะสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ความสัมพันธ์ที่ควรจะชัดแต่ก็ไม่ชัด ที่ดำรงมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ อนาคตความสัมพันธ์นี้จะเป็นเช่นไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป

     Pennapa.jpg   ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง มูลนิธิชีวิตไท

นักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เกาะติดเรื่องราวปัญหาของเกษตรกรไทยตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวประจำห้องข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสมัชชาคนจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระประจำมูลนิธิชีวิตไท ศึกษากระบวนการก่อหนี้และการชำระหนี้ของเกษตรกร มีความฝันอยาก เห็นชาวนาไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมาะสมกับสถานะผู้ผลิตอาหารหลักของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ติดอยู่กับวงจรหนี้ 

 

  • ฮิต: 1140

กรุ่น แย้มหลง และ ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

FieldDuck

“ฉันโดนกรมส่งเสริมสหกรณ์ฟ้อง เขาจะยึดที่นาอยู่แล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ฉันไม่ได้กู้เขาหรอก เงินเขาฉันไม่ได้ใช้สักบาท แต่ฉันเป็นกรรมการสหกรณ์ เขาก็บอกว่าต้องรับผิดชอบ” 

กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เล่าให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทที่กำลังลงเก็บข้อมูลเกษตรกรเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีจากภาระหนี้สินในพื้นที่ตำบลบางขุดฟัง 

เรื่องราวที่พรั่งพรูจากปากน้ากรุ่นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรของรัฐ หากได้รับการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ และไม่ได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ อาจกลายเป็นต้นเหตุวงจรหนี้ของเกษตรกรได้ 

เช่นเดียวกับหนี้มหาศาลที่น้ากรุ่นแบกอยู่ในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองจากเกษตรกรเลี้ยง ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ มาเป็นการทำฟาร์มระบบปิด และการรวมกลุ่มกับเกษตรกรเลี้ยงเป็ดด้วยกันเป็นสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงเป็ด ตามคำแนะนำของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว 

นอกจากการทำฟาร์มเป็ดระบบปิดจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว น้ากรุ่นยังต้องตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ที่มีหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโจทก์ด้วย 

เรื่องราวของน้ากรุ่น คือภาพสะท้อนชะตากรรมของเกษตรกรที่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

ย้อนกลับไปก่อนปี 2548 กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท สร้างฐานะด้วยการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง มีเป็ดฝูงใหญ่ฝูงหนึ่ง น้ากรุ่นเอาขึ้นรถ 6 ล้อ ไปปล่อยให้หากินเองตามที่ท้องทุ่งท้องนา แหล่งน้ำต่างๆ  น้ากรุ่นและครอบครัวอพยพเร่รอนไปตามเส้นทางของเป็ด โดยปกติจะมีระบบของเกษตรกรด้วยกันคอยส่งข่าวว่าพื้นที่ไหนอยากให้เอาเป็ดไล่ทุ่งไปลง น้ากรุ่นบอกว่า ชาวนาชอบให้เป็ดไล่ทุ่งไปลงแปลงนาตัวเอง เพราะเป็ดกินหอยเชอรี่ ศัตรูตัวฉกาจของนาข้าว และขี้เป็ดยังเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็ดไล่ทุ่งจึงเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่มีแต่ผลกระทบทางบวก แทบไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ 

จากชัยนาท บางทีน้ากรุ่นพาเป็ดไปหากินถึงทางอีสาน ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเดือนๆ แม้จะมีต้นทุนค่าน้ำมันเดินทางขนส่งเป็ด และค่าอาหารตัวเอง แต่ประหยัดค่าอาหารเป็ดได้มหาศาล และสามารถขายไข่เป็ดได้ราคาดี เนื่องจากไข่เป็ดไล่ทุ่งจะใบใหญ่กว่าไข่เป็ดที่เลี้ยงในระบบปิด 

นอกจากครอบครัวไม่มีหนี้แล้ว ยังสามารถซื้อที่ดินเพิ่ม มีรถ 6 ล้อเป็นของตัวเองสำหรับขนเป็ดข้ามจังหวัด มีปิกอัพไว้ใช้ในครอบครัว และปลูกบ้านหลังใหญ่ได้ หากไม่นับหนี้ ธ.ก.ส. ที่รับมรดกมาจากพ่อที่เสียชีวิตไปในปี 2540 น้ากรุ่นก็เป็นเกษตรกรที่ไม่มีหนี้เลย  

จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

ชีวิตเกษตรกรเป็ดไล่ทุ่งของน้ากรุ่น เดินหน้าไปด้วยดีมาตลอด จนปี 2548 ไข้หวัดนกระบาดไปทั่ว เป็ดไล่ทุ่งถูกมองเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศมาตรการควบคุมโรค ห้ามไม่ให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ สนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มเป็ดระบบปิด และกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด โดยมีคำแนะนำให้และส่งพี่เลี้ยงจากกรมมาช่วยดูแล  

น้ากรุ่นตัดสินใจกู้เงินจากธนาคาร  SME มา 1.3 ล้านบาท โดยนำโฉนดที่ดินไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลงทุนทำฟาร์มระบบปิดบนที่ดินตัวเอง ทำทุกอย่างตามที่กระทรวงเกษตรฯ แนะนำโดยใช้เงินที่กู้มา 

ฟาร์มเป็ดของ กรุ่น แย้มหลง กลายเป็นฟาร์มตัวอย่างที่กระทรวงเกษตรฯ ติดต่อให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชม ในฐานะตัวอย่างผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกของประเทศไทย จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก 

จากคำบอกเล่าของน้ากรุ่น หลังจากองค์การอนามัยโลกกลับไป ตัวน้ากรุ่นซึ่งไม่มีประสบการณ์การทำฟาร์มเป็ดระบบปิด ต้องเดินหน้าต่อไปคนเดียว ทั้งดูแลเป็ดเก่าที่ค้างมาจากการทำเป็ดไล่ทุ่ง และดูแลเป็ดใหม่ที่ซื้อมาเพื่อเลี้ยงในระบบปิด 

“ฉันก็ไม่รู้อะไรหรอก เขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขา ด้วยเงินตัวเองทั้งหมด แล้วเขาก็ติดต่อให้ฝรั่งจากองค์การอนามัยโลกมาดู เขาว่าฉันทำฟาร์มได้ดีเป็นตัวอย่าง แต่พอหลังจากฝรั่งไป ก็ไม่มีใครมาสนใจฉันอีก มีภาพใบนี้ให้ฉันใบเดียว เขาทำมาให้ บอกว่าเป็นที่ระลึก” 

น้ากรุ่นบอกเล่าประสบการณ์ พลางอวดภาพถ่ายเก่าสมัยที่ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชมฟาร์มของแกให้ดู 


ภาพเมื่อครั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พาผู้แทนองค์การอนามัยโลกเยี่ยมชมฟาร์มของ กรุ่น แย้มหลง (เสื้อส้มตรงกลาง) 

แม้เป็ดในฟาร์มจะออกไข่มาให้บ้าง แต่ก็ใบเล็ก ขายไม่ได้ราคา เพราะช่วงนั้นมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งยังคงลักลอบเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ทำให้มีไข่เป็ดขนาดใหญ่ออกมายึดตลาดได้ 

ตลอดระยะเวลา 1 ปี น้ากรุ่นพยายามดิ้นรนเพื่อให้ฟาร์มเป็ดไปรอด ทางเดียวที่จะดิ้นรนได้คือการกู้เงิน ทั้งการกู้เพิ่มโดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินเดิม ทำให้ต้องจ่ายหนี้เดือนละ 30,000 แต่สุดท้ายฟาร์มระบบปิดก็ไปไม่รอด ปลายปี 2549 น้ากรุ่นตัดสินใจขายเป็ดทั้งหมดให้โรงเชือดไปในราคาถูก การเป็นเกษตรกรที่ดีเดินตามนโยบายรัฐจบลงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับหนี้สินก้อนมโหฬาร 

ฟาร์มตัวอย่างวันนี้เหลือเพียงโรงเรือนร้างกับหนี้ธนาคารที่ตัดสินใจกู้ ธ.ก.ส. 3.3 ล้านบาท มาปิดบัญชีธนาคาร SME เพราะไม่สามารถรับภาระการผ่อนชำระรายเดือนได้ โฉนดที่ดินที่ต้องย้ายจาก SME มาไว้กับ ธ.ก.ส. ยังคงอยู่กับ ธ.ก.ส. จนถึงวันนี้ เงินกู้ทั้งก้อนเก่าก้อนใหม่ ทั้งดอกเบี้ยจากการค้างจ่ายถึงปี 2565 อยู่ที่เกือบ 6 ล้านบาท ไม่นับหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายอื่นที่ต้องกู้มากินใช้ในชีวิตประจำวันและลงทุนอื่นๆ 

ฟาร์มเป็ดระบบปิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยนำเสนอเป็นผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกให้กับผู้แทนองค์การอนามัยโลก วันนี้ถูกทิ้งร้าง

รวมกลุ่มสหกรณ์ หายนะรอบที่ 2     

ในเอกสารด่วนที่สุดจากกรมปศุสัตว์ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ลงนามโดย ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ในขณะนั้น ระบุว่าให้ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสหกรณ์จังหวัด เร่งประชุมชี้แจงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเพื่อให้จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเฉพาะเป็ดไล่ทุ่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 โดยให้ปศุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดร่วมกันประชาสัมพันธ์แหล่งสินเชื่อในการปรับระบบการเลี้ยง คือ ธ.ก.ส. และแหล่งสินเชื่อสำหรับกลุ่มสหกรณ์ คือกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งดูแลโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ 

ตามคำบอกเล่าของน้ากรุ่น การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดในจังหวัดชัยนาทรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท โดยชวนน้ากรุ่นและคนอื่นๆ ที่อยู่ต่างอำเภอ ซึ่งหลายคนไม่รู้จักกัน เข้ามารวมกลุ่มกัน ตั้งกรรมการสหกรณ์ขึ้นมา 1 ชุด 

น้ากรุ่นเป็นหนึ่งในนั้น ทำหน้าที่เหรัญญิก โดยผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท เพื่อนำไปจัดซื้ออาหารเป็ดมาให้สหกรณ์ขายต่อสมาชิกในราคาถูก และให้สมาชิกกู้สัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท ที่มีสหกรณ์จังหวัดชัยนาท ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงนามในฐานะผู้ให้กู้ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด โดยมีเกษตรกรที่เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ และ กรุ่น แย้มหลง เหรัญญิก ร่วมกันลงนามในฐานะผู้กู้ ถูกทำขึ้นในวันที่  22 มิถุนายน 2549 

แต่แล้วผลประกอบการของสหกรณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด น้ากรุ่นบอกว่าปัจจัยสำคัญเพราะตัวเกษตรกรที่เข้ามารวมกลุ่มเองไม่เข้าใจและไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานสหกรณ์ เมื่อกรรมการสหกรณ์นำเงินที่กู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์มาปล่อยให้สมาชิกกู้ต่อเพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ด ไม่มีสมาชิกคนใดประสบความสำเร็จในกิจกรรมเลี้ยงเป็ด เพราะส่วนใหญ่ทำการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งกันมาก่อน ไม่มีประสบการณ์ในการทำฟาร์มเป็ด สุดท้ายไม่มีใครชำระเงินกู้ กิจการของสหกรณ์ก็ต้องยุติลง และสหกรณ์ไม่มีเงินชำระคืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ 

น้ากรุ่น บอกว่า กรรมการสหกรณ์ ณ ตอนนั้น ไม่มีความรู้ว่าควรต้องทำอย่างไร การไม่ชำระหนี้ของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจึงไม่ถูกดำเนินการใดๆ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ไม่ได้มีการชำระเงินกู้คืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์เลย จนเดือนตุลาคม 2552 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ยื่นฟ้องสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด กับพวกรวม 16 คน เพื่อให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 

เดือนธันวาคม 2552 ศาลมีคำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ถึง 16 (จำเลยที่ 1 คือสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด และจำเลยที่ 2-16 คือ กรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด ชัยนาท โดยน้ากรุ่นตกเป็นจำเลยที่ 4) ตกลงยอมชำระหนี้เงินจำนวนประมาณ 1.15 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยชำระงวดแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่จำเลยทั้ง 16 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และวันที่ 11 เมษายน 2556 ศาลมีคำสั่งบังคับคดีจำเลยทั้ง 16 ส่วนการที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจะไปทวงเงินคืนจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่กู้เงินไป เพื่อนำมาชำระหนี้ในส่วนนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว

ในบรรดาจำเลยทั้ง 16 คนนั้น มีเพียง 8 คนที่มีทรัพย์ให้ยึด รวมถึงน้ากรุ่น เพื่อนำเข้าสู่ระบวนการบังคับคดี

“เป็นหนี้ที่ฉันเองไม่ได้กู้มาใช้เลยสักบาท แต่ก็ต้องมารับภาระตรงนี้” น้ากรุ่น กล่าว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา น้ากรุ่นและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดที่ตกเป็นจำเลยพยายามต่อรองกับกรมส่งเสริมสหกรณ์มาตลอด ความคืบหน้าล่าสุดเฉพาะในส่วนความรับผิดชอบของน้ากรุ่นคือต้องชำระหนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 130,000 บาทภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2565  เพื่อรักษาที่ดินจำนวน 20 ไร่ ไม่ให้โดนขายทอดตลาด น้ากรุ่นตัดสินใจยืมเงินญาติๆ มาจ่ายให้กรมส่งสริมสหกรณ์ไปแล้ว 

แม้ที่ดินจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีขายทอดตลาด แต่ที่ดินผืนนี้ก็ยังถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์อายัดไว้จนกว่าจะได้รับเงินจากจำเลยคนอื่นครบตามมูลค่าที่ศาลมีคำพิพากษาไว้ 

เหตุการณ์ที่เกิดกับน้ากรุ่นและกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ทำให้ผู้เขียนเป็นห่วงชะตากรรมของกรรมการบริหารและสมาชิกสหกรณ์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงเดียวกันด้วยเหตุผลเดียวกัน  

ย้อนกลับไปในช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว มีสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ตามคำแนะนำของปสุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง 

นอกจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด จังหวัดชัยนาท แล้วยังมีสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุพรรณบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุโขทัย สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็นสิงห์บุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเมือง-วังทอง จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดวัดโบสถ์พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์ใด ได้แต่ตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามกับตัวเองว่าเมื่อมีการแนะนำและสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งสหกรณ์ได้แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ย่อมได้ผลงาน แต่เมื่อสหกรณ์ล้มเหลว กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่ 

กรุ่น แย้มหลง เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ตกอยู่ในวงจรหนี้จากการทำตัวเป็นเกษตรที่ดีของภาครัฐ ทำตามคำแนะนำด้วยความหวังจะเป็นเกษตรกรที่มีชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตกลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม  

ปัจจุบัน น้ากรุ่นพยายามหาเงินมาใช้หนี้ด้วยการนำทุนทำรีสอร์ตเล็กๆ บนที่ดินที่ติดจำนองอยู่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดโฆสิตาราม (วัดหลวงพ่อกวย) ควบคู่กับการขายพวงมาลัยหน้าวัด ซึ่งรวมๆ แล้วรายได้เพียงพอแค่ยังชีพ ไม่สามารถชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้ ครั้นอยากกลับไปทำเป็ดไล่ทุ่งที่เชี่ยวชาญ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินทุน 

เมื่อถามว่า หากเลือกได้ ในวันนี้น้ากรุ่นจะเลือกอะไร คำตอบคือ

“เลือกกลับไปวันนั้น แล้วไม่เชื่อกระทรวงเกษตรฯ ถ้าวันนั้นไม่เลิกทำเป็ดไล่ทุ่ง ชีวิตคงไม่เป็นแบบนี้”      

ที่มา : ไทยรัฐพลัส วันที่ 11 ม.ค. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

 

  • ฮิต: 669

แก้หนี้ แก้จน ต้องเริ่มที่ปรับ 'Mindset' เชิงนโยบาย

KrunRiceFarmBangkud 

"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล  การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้  การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น  เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

นโยบายแก้หนี้, การแก้หนี้ชาวนา, การเพิ่มรายได้, การแก้หนี้ที่ยั่งยืน

  • ฮิต: 588

เกษตรกรดิ้นไม่หลุดกับดักหนี้สิน แบกหนี้เฉลี่ยเกือบครึ่งล้านต่อครัวเรือน

DrSommarat

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนฐานรากไทยอ่วมปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึง 91% ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกว่า 90% แบกหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท เกินศักยภาพในการชำระหนี้


หนี้สินครัวเรือนฐานรากหรือครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่ใน “กับดักหนี้สิน” อย่างดิ้นไม่หลุด เพราะสถาบันการเงินในประเทศไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับกับประชากรกลุ่มนี้ 

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในเวที “Policy forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

โสมรัศมิ์ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าตลาดต่างๆ ในระบบการเงินไทย โดยพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 สูงถึง 91% ต่อ GDP และโตขึ้นถึง 32% ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ในระบบและกว่า 1 ใน 6 มีหนี้เสีย มียอดหนี้เฉลี่ย 350,000 บาท ต่อคน ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง เมื่อศึกษาลงลึกไปในกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือครัวเรือนเกษตรกรพบว่า 90% ของเกษตรกรมีหนี้สินและมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว แต่โดยเฉลี่ยมีหนี้กันถึงคนละ 3.8 ก้อน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักการชำระหนี้มานานกว่า 4 ปี เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินกู้นอกระบบ บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 

“นโยบายการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน เพราะนโยบายพักหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เมื่อปล่อยให้พวกเขาอยู่กับการพักการชำระหนี้นาน ทำให้เขาติดในวงจรหนี้ นโยบายพวกนี้จึงกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรติดในกับดักหนี้จนกลายเป็นการฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ” 

ทั้งนี้เมื่อลองสำรวจมาตรการพักการชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าเป็นการให้ลูกหนี้พักหรือหยุดชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น 2 เดือน 3 เดือน และเป็นเพียงการอนุญาตให้หยุดการชำระโดยไม่มีการทวงถาม แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงดำเนินต่อไป การติดอยู่ในวงจรการพักการชำระหนี้นานไม่ต่างจากการผิดชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อไป กลายเป็นกับดักรั้งเกษตรกรไว้ไม่ให้หลุดไปจากวงจรหนี้ 

โสมรัศมิ์ยังพบว่าพฤติกรรมเอาตัวรอดจากหนี้ของเกษตรกรที่พบคือ การหมุนหนี้ กู้จากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่งวนไป จนสุดท้ายไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรหนี้ได้ 

สิ่งที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านนี้มองว่าจะเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงตามศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศมาก เพราะนั่นหมายถึงการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนจะมีศักยภาพทางการเงินไม่เท่ากัน การปรับโครงสร้างหนี้ต้องออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายด้วย ทั้งนี้แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ การนำเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ และดอกเบี้ยค่าปรับ ทั้งหมดมารวมกันเป็นยอดเงินกู้ยอดใหม่ ทำให้มูลหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ยังมองว่าภาคนโยบายทางการเงินของไทยควรต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่จะไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับแหล่งเงินกู้อื่น ทำให้ฐานข้อมูลการเงินของเกษตรกรในระบบไม่ชัด กลายเป็นการปล่อยวงเงินกู้เกินศักยภาพดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ข้อเสนอของโสมรัศมิ์ สอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง ธ.ก.ส. ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะขาดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การกำหนดให้เงินกู้ของเกษตรกรมีการชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องชำระรายเดือนเหมือนโครงการสินเชื่อทั่วไป แต่การให้เงินกู้นั้นก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตอาจเสียหาย หรือราคาผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ของ ธ.ก.ส.ได้ ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของชาวนาร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีหนี้หลายก้อนและเมื่อต้องชำระจะเลือกชำระก้อนเล็กที่เป็นการชำระรายเดือนก่อน เช่น หนี้ไฟแนนซ์รถ หนี้นอกระบบ และอื่นๆ เพราะหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มักให้ชำระครั้งเดียวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย หรือหากชำระบางส่วนจะถูกตัดเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการลดเงินต้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรเช่นนี้ยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมทางการเงินของชาวนา หรือนวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. เมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ให้เกษตรกรกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันกู้และค้ำประกันเอง โดยมีจุดมุ่งมายเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการผลักภาระความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. ไปสู่เกษตรกรคนอื่น เพราะเมื่อไม่สามารถได้รับการชำระหนี้จากเกษตรกรผู้กู้ ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้จะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายค้ำประกันฉบับเดิม ก่อนจะมีการแก้ไขในต้นปี 2565 นี้เอง ทั้งนี้เคยปรากฏว่าผู้ค้ำประกันถูกยึดที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพราะเกษตรกรผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา และสถาบันการเงินไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองเกษตรผู้ค้ำประกัน 

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ๋กล่าว 

ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ม.ค. 2566 

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง


  

ทางออก, นโยบายแก้หนี้, นโยบายเกษตร, การแก้หนี้ที่ยั่งยืน

  • ฮิต: 551

ข้าวไทยติดหล่มประชานิยม อุดหนุนบานปลาย-เร่งพัฒนาพันธุ์

ThaiRiceResearch

การใช้นโยบายประชานิยม อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนา ยกระดับและนำเทคโนโลยีมาใช้ นับเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความกังวลออกมาจากการประชุมเวทีข้าวไทย 2565 ก้าวต่อไป นโยบายข้าวไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

รายได้เกษตรกรติดหล่ม

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวไทยในกระแสของโลกยุคใหม่” ว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยในอดีตเติบโตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก จากการสนับสนุนนโยบายรัฐ และการเดินหน้าของภาคเอกชนที่สร้างกลไกการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 นานกว่า 2 ทศวรรษ

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวไทยเกิดการหยุดชะงัก สูญเสียตลาดให้คู่แข่ง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวให้กับเวียดนาม ข้าวขาว ข้าวนึ่งให้กับอินเดีย

“ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็ทรงตัวแค่ 485 กก./ไร่ ต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชีย เวียดนาม 928 กก./ไร่ กัมพูชา 567 กก./ไร่ แพ้แม้กระทั่งบังกลาเทศ 752 กก./ไร่ ศรีลังกา เนปาล 608 กก./ไร่ เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก”

ขณะที่อัตราการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลง และมีปัญหาคุณภาพแรงงาน ความต้องการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรประมาณ 25-28% ขณะที่ GDP ภาคการเกษตรมีเพียง 8-9% ซึ่งก่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในภาคการเกษตร กับนอกภาคการเกษตร สูงถึง 4.5 เท่า เทียบกับมาเลเซียและจีนที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว

แก้ต้นเหตุ

สาเหตุที่โครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยหยุดชะงัก เกิดวัฏจักรกับดักผลิตภาพต่ำ มาจากหลายปัจจัยทั้งมาตรการการอุดหนุนในภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่กำลังทำลายแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้ อีกทั้งมาตรการมีความซ้ำซ้อน

ทั้งโครงการประกันรายได้ และก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพข้าว ด้วยมี 2 พรรคการเมืองที่มีการหาเสียงไว้ ทำให้เกิดนโยบายซ้ำซ้อน เกิดการอุดหนุนเพิ่มขึ้น สูญเสียงบประมาณปีละ 140,000 ล้านบาท “สูงกว่า” งบประมาณของทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังใช้เงินนอกงบประมาณปีละแสนล้านบาทด้วย

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงการถูกดิสรัปชั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีการลงทุนงานวิจัย รวมไปถึงมีนักวิจัยมากกว่าไทย ซึ่งเมื่อดูงบประมาณวิจัยพันธุ์ข้าวของไทยมีเพียง 150-180 ล้านบาทต่อปี นักวิจัยน้อยลง ขาดนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันก็มาเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตต่ำลง ใช้น้ำสิ้นเปลืองเมื่อเทียบพืชอื่น ๆ และกำลังจะได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรปและสหรัฐ ปรับขึ้นภาษีหากไม่มีการปรับตัว

เพิ่มรายได้เกษตรกร

เป้าหมายสำคัญไทยต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวในภาคเกษตรเทียบเท่ารายได้นอกภาคการเกษตรได้อย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน และต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการยกระดับคุณภาพแรงงานภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตต่อไร่

ตาราง เงินอุดหนุนชาวนา

 

“เป้าหมายการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ ทุกสาขาเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายไปพร้อมกันในภาพรวม”

ถึงเวลาปฏิรูปข้าวไทย

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร หากยังมีนโยบายอุดหนุนจำเป็นต้องมีเงื่อนไข เพราะหากไม่มีเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัว

ดังนั้น ต้องลดการอุดหนุนที่มีความซ้ำซ้อน เช่น ประกันรายได้ใช้งบประมาณปีละ 8.67 หมื่นล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพข้าว 5.53 หมื่นล้านบาท ออกจากกัน และให้นำงบฯส่วนนี้มาตั้ง “กองทุน” เพิ่มงานวิจัย และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดการเผา เป็นต้น

“รัฐต้องเพิ่มงบฯวิจัยข้าว 1% ของจีดีพีข้าว คิดเป็นปีละ 3,000-3,500 ล้านบาท เวลา 5 ปีให้ได้ เปลี่ยนฐานะกรมวิชาการเกษตรและการวิจัยข้าว มารวมเป็นสถาบันอิสระ สร้างแรงจูงใจให้ทุนนักเรียนไทย เป็นนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

แก้ไขกฎหมายให้กรรมสิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์ เปลี่ยนบทบาทนโยบายของรัฐจากเป็นผู้ประเมิน ให้เกษตรกรดำเนินการ ปฏิรูปรับรอง มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพราะเสียเวลา เปิดให้นำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาวิจัย เป็นต้น”

นายสมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวของรัฐกับการพัฒนาข้าวไทย” ระบุว่า โครงการประกันรายได้เริ่มเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2551-2552 ใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันปี 2562-2563 ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท บวกกับมาตรการคู่ขนานอีก 20,000 ล้านบาท

สิ่งสำคัญต้องผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปี ยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรายได้เกษตรกร รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าข้าวไทยถูกลากจูงไปสู่พืชการเมือง นโยบายประชานิยม ใช้งบประมาณกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ในระยะยาวหากไม่เปลี่ยนแปลงจะแข่งขันลำบาก โดยการอุดหนุนทำได้แต่จำเป็นต้องแยกกลุ่มเปราะบาง จัดลำดับและช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

ถอดโมเดลอินเดีย

ด้าน นายศฎาวุฒิ กุลมณี รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ภาคีรัฐร่วมเอกชนในการพัฒนาข้าวของอินเดีย” ระบุว่า อินเดียมีพื้นที่ปลูกมากกว่าไทย 4 เท่า มีผลผลิตรวมเฉลี่ย 110-120 ล้านตันต่อปี

อินเดียให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์อย่างมาก โดยมีการสต๊อกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ส่งออกแล้ว 18 ล้านตัน ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งออกได้ 20 ล้านตัน

“การที่อินเดียมีการเติบโตทั้งด้านผลผลิตและการส่งออก เป็นผลมาจากสภาวิจัยการเกษตรอินเดีย (ICAR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับผิดชอบการศึกษาการเกษตรประสานงานและการวิจัย ภายใต้กระทรวงเกษตรอินเดีย มีงบประมาณ 5.8 หมื่นล้านรูปี

ใช้ศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร ส่งออก เพื่อยกระดับวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับหลายหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา อีกทั้งรัฐเสริมงบประมาณ 2% ของจีดีพี หรือ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการเพาะปลูก ทั้งปุ๋ย ประกันรายได้ ไฟฟ้าฟรี ภาครัฐช่วยด้านการผลิต สร้างชลประทาน

รวมถึงส่งเสริมเครื่องจักร จนในปัจจุบันอินเดียสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวบาสมาติ มากกว่า 34 สายพันธุ์แล้ว”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ธ.ค. 2565

ข้าวไทย, นโยบายข้าว, นโยบายเกษตร, ประชานิยม

  • ฮิต: 457

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6729928
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2100
3844
10120
121454
6729928

Your IP: 18.218.127.141
2024-04-23 15:17