ภาระหนี้ภาคการเกษตร ภาพสะท้อนความล้มเหลวระบบการเงินไทยต่อครัวเรือนเกษตรกร

ThaiHouseholdDebt

หนี้สินครัวเรือนภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นวิกฤติหนี้สินเกษตรกรที่กว่า 90% ของเกษตรกรในประเทศมีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ เป็นผลมาจากการไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานรากอย่างเกษตรกร

ตัวเลขจากงานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำขึ้นโดยการเก็บข้อมูลสถานการณ์การกู้เงินของเกษตรกรทั่วประเทศ สมาชิกกลุ่มสำคัญของครัวเรือนฐานราก ย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2564  พบว่าเกษตรกรกว่า 90% มีภาระหนี้สิน แต่ละครัวเรือนจะมีเงินกู้มากกว่า 1 ก้อน หรือ 1 สัญญา เฉลี่ยมีครัวเรือนละ 3.8 ก้อน โดยมียอดหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาท ต่อครัวเรือน สถานการณ์ปัจจุบันคือเกษตรกรส่วนใหญ่แบกภาระหนี้สินมากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง ทางออกของเกษตรกรในปัจจุบันคือการ “หมุนหนี้” หรือการกู้หนี้เพิ่มจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง

เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเห็นภาพใหญ่ของหนี้สินภาคการเกษตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพบว่ามูลหนี้รวมในปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) ของเกษตรกร 5.16 แสนรายที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ อยู่ที่ 108,816 ล้านบาท  เจ้าหนี้หลักคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เกษตรกรกว่า 300,000 ราย มีภาระสินเชื่อผูกพันอยู่ คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 60,861 ล้านบาท รองลงไปได้แก่สหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินนิติบุคคลรูปแบบอื่น  และสุดท้ายเจ้าหนี้ที่เป็นโครงการส่งเสริมของรัฐ

และเมื่อพิจารณาถึงสถานะหนี้แล้วพบว่ามูลหนี้ส่วนใหญ่คือ 66.39% หรือยอดหนี้รวม 50,434 ล้านบาท เกษตรกรลูกหนี้ 356,907 ราย ยังคงสถานะหนี้ปกติ มีมูลหนี้สถานะผิดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 159,789 ราย มูลหนี้ 40,984 ล้านบาท คิดเป็น  29.17% และหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 17,113 ล้านบาท คิดเป็น 4.45 % เกษตรกรลูกหนี้ 23,906 ราย (ตรงนี้ก็อาจทำกราฟฟิกได้)

หนี้สินสำคัญของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในระบบคือหนี้นอกระบบ เช่นการกู้หนี้ในลักษณะกู้ยืมเงินสดจากนายทุนในหมู่บ้าน หนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ยร้านยา ที่เกษตรกรจะใช้เครดิตนำปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรมาใช้ก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็นำเงินไปชำระหนี้ แต่มักปรากฏว่าเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้กลายเป็นยอดหนี้ที่เพิ่มพูนขึ้น

งานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยไว้ 3 ประการ

1. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้น้อย โดย 27% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดมีรายได้ทั้งปีไม่พอรายจ่าย และอีก 42% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นแต่ไม่มากพอที่จะชำระหนี้และไม่พอสำหรับการลงทุนการทำเกษตรในรอบต่อไป

2. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ไม่แน่นอน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเชิงระบบที่ทำให้บริหารจัดการยาก เช่น ภัยพิบัติ และราคาตลาดที่ผันผวน ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นนอนที่สูงขึ้นในอนาคต

3. มีปัญหาสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก 2 ข้อแรก โดยพบว่ากว่า 82% ของครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 3 เดือนต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการต้องมีรายจ่ายก้อนโตเพื่อลงทุนทำการเกษตร หรือรายจ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ที่เกิดมาตามวาระหรือเกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมไว้ เช่น รายจ่ายด้านการศึกษา หรือรายจ่ายด้านสุขภาพ

หากสรุปภาพรวมสถานะทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกรซึ่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยเก็บตัวอย่างจากเกษตรกร 720 ครัวเรือน จะสามารถแยกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน คิดเป็น 67% 2) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เคยพอค่าใช้จ่ายทุกเดือน คิดเป็น 18% และ 3) กลุ่มที่มีรายได้พอจ่ายทุกเดือน คิดเป็น 15% โดยครัวเรือนที่เป็นหนี้มักเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาสภาพคล่องสูง โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่าปัญหาทางการเงินของเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดสินเชื่อภาคการเกษตรมี segmentation ที่ชัดเจน แต่ระบบการเงินของไทยกลับมองข้าม segmentation นี้ จนทำให้เกิดปัญหาระบบการเงินฐานรากที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ประการ

1.ความไม่สมมาตรของข้อมูล เพราะทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพทางการเงิน ที่แท้จริงของเกษตรกร ผลที่ตามมาคือ ครัวเรือนเกษตรกรมีภาระหนี้สินเกินศักยภาพในการชำระหนี้ โสมรัศมิ์กล่าวว่าจากงานวิจัยของสถาบันป๋วยฯ ทำให้เห็นชัดว่าเกษตรกรที่อยู่ต่าง segmentation กัน กลับสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่ต่างกัน ทำให้ระบบการเงินครัวเรือนเกษตรกรไทยอาจปล่อยสินเชื่อมากเกินไปสำหรับครัวเรือนบางกลุ่ม แต่น้อยเกินไปสำหรับอีกบางกลุ่ม ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลจากความไม่สมมมาตรของข้อมูล

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ กล่าว

2. การออกแบบสัญญาสินเชื่อและสัญญาชำระหนี้อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินของเกษตรกร จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จูงใจให้ชำระหนี้ได้ ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีหนี้ได้จริง สถาบันวิจัยป๋วยฯ มีข้อเสนอว่าสัญญาชำระหนี้ที่เหมาะสมกับเกษตรกรควรมีการกำหนดวันชำระที่ตรงกับโครงสร้างรายได้ มีจำนวนงวดไม่สูง มีความยืดหยุ่นในกรณีที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีกลไกที่ช่วยสร้าง commitment ในการชำระคืนได้

3. การออกแบบการชำระหนี้ที่ไม่เอื้อให้มีการชำระหนี้ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions :SFI) ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ที่พบกว่าเกษตรกรมีการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าสถาบันการเงินชุมชน อย่างกองทุนหมู่บ้าน หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สถาบันการเงินชุมชนมีกลไกที่ช่วยในการบังคับการขำระหนี้ เช่น กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้คืนทั้งหมดก่อนจะกู้เงินครั้งต่อไปได้ ขณะที่กลไกการบังคับการชำระหนี้ของ SFI ยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ได้

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์กล่าว

ที่มา : ประชาไท วันที่ 20 ก.พ. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 713

มาตรการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในบริบทการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย

DrChayanatRiceFarmerResearch

"...การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของชาวนาโดยทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องใช้มาตรการแนวทางที่ครอบคลุมทั้งระบบ Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ควรมุ่งสร้าง “คน” เปลี่ยนจาก ชาวนาผู้ผลิต เป็น ผู้ประกอบการชาวนา (Entrepreneurial Farmer) โดยพัฒนาศักยภาพของชาวนารุ่นใหม่ด้วย มีดังนี้..."

ปัญหาความยากจนที่สะสมมานานของชาวนาไทย ทำให้ชาวนาเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มากกว่า 1 ใน 3 ของคนจนทั้งประเทศ) ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาย่อมหมายถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตะหนักเป็นอย่างดีว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจข้าวเป็นเรื่องหลักในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยยกระดับสู่การเกษตรสมัยใหม่ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ชาวนาไทยก็ยังคงประสบปัญหาความยากจน

ความยากจนเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ เป็นที่ประจักษ์เห็นได้ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยม อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน กระทั่งกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบกับความยากจนของประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในชนบทมีสาเหตุที่สะสมเรื้อรัง โดยเฉพาะจากการขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองและไม่มีความสามารถในการทำการตลาด จึงมักจะถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางเรื่อยมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งถูกยกย่องเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงสังคมมายาวนาน

1. สภาพปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของชาวนาไทยในปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาวนาที่มีประมาณ 17 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ และมีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงถึงกว่า 200,000 บาท ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านการเกษตร

ที่ผ่านมา กรมการข้าวมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรชาวนา หากแต่ยังมีช่องว่างในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสู่วิสัยทัศน์ตามที่ตั้งไว้ ได้แก่ มีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างองค์กร มีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรได้ทั่วถึงและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อยและเป็นเพียงผู้ผลิต และหากหน่วยงานภาครัฐยังใช้รูปแบบการดำเนินงานแบบเดิม ก็จะไม่สามารถก้าวทันต่อการแข่งขัน เกษตรกรชาวนาที่สูงวัยยังไม่สามารถปรับตัวได้ และชาวนารุ่นใหม่ขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพทำนา

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างตะหนักปัญหาเรื่องรายได้ของชาวนา และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวและชาวนามาตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือ การอุดหนุนเม็ดเงินเพื่อการช่วยเหลือชดเชยรายได้ของชาวนา หรือที่เรียกกันว่า “แทรกแซงราคาตลาด” โดยใช้ภาษีอากรของประเทศปีละหลายแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤติของโรคระบาด COVID-19 และเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำในปัจจุบัน ทำให้ประเทศทั่วโลกต้องการความมั่นคงทางอาหารที่มีราคาไม่สูง อีกทั้งมีแรงงานกลับถิ่นฐานจำนวนมาก นับว่าเป็นโอกาสของตลาดข้าวไทย ดังนั้น จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งหารูปแบบการพัฒนาระบบการผลิตข้าว ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าว ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

2. มาตรการแนวทางการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาไทย

การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของชาวนาโดยทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืน ต้องใช้มาตรการแนวทางที่ครอบคลุมทั้งระบบ Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ควรมุ่งสร้าง “คน” เปลี่ยนจาก ชาวนาผู้ผลิต เป็น ผู้ประกอบการชาวนา (Entrepreneurial Farmer) โดยพัฒนาศักยภาพของชาวนารุ่นใหม่ด้วย มีดังนี้

171022 farmer2

2.1 การปฏิรูปกระบวนการผลิตข้าว-การทำนา

การทำนาแบบมืออาชีพ ฉบับ “ไม่จน” นี้จะเป็นการทำนาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นคือเน้นเพิ่มผลผลิต (Yield) และลดต้นทุน ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี (Q-Seed) โดยรัฐสนับสนุนเงินทุน การใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Agri-Tech) ที่เหมาะกับสภาพดินและน้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้นำเครื่องจักรและทรัพยากรการปลูกข้าวมาแบ่งปันกันในชุมชน (Shared economy) นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญรัฐบาลควรแก้ปัญหาเรื่องชลประทานด้วยการลงทุนติดตั้งระบบน้ำอัจฉริยะทั้งประเทศ

ภาครัฐควรเร่งมีการส่งเสริมทฤษฎีการทำนาแบบผสมผสานแบบดั้งเดิมให้แก่ชาวนาที่มีพื้นที่ทำนาแปลงขาดเล็ก ชาวนาจำนวนไม่น้อยมีพื้นที่ทำนาแปลงเล็กและยังคงยึดแนวทางการทำนาแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพได้ หน่วยงานภาครัฐ และและเอกชน ควรส่งเสริมให้ชาวนาที่มีที่นาน้อยหันมาทำนาแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพตลอดทั้งปี รวมทั้งสนับสนุนการลดต้นทุนในการลงทุนการปลูกข้าวที่ใช้สารเคมีน้อยลง เป็นการทำเกษตรเชิงทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสาน

นอกจากนี้ รัฐยังสามารถส่งเสริมการทำนาแบบสมัยใหม่ควบคู่กันไป ด้วยจัดทำ Sandbox ทำนาแปลงใหญ่ และส่งเสริม StartUp เกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าวคือ
     - การจัดทำ Sandbox โดยใช้ที่ดิน สปก./สปท. หรือเขตทหาร เพื่อทำนาแปลงใหญ่ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการทำนา (Agri-tech) เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผลผลิตจากการทำนาแบบแปลงใหญ่มีประสิทธิภาพและต้นทุนถูกกว่า (กำไรสูงขึ้น) เมื่อเทียบกับการทำนาแบบดั่งเดิม จะทำให้ชาวนาเต็มใจเข้าร่วมโครงการ “นาแปลงใหญ่”
     - การส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามารับบริหารจัดการทำนาอย่างมืออาชีพ สามารถนำเอา Agri-tech มาใช้ในการทำนา นอกจากนี้ยังสามารถต่อรองราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย โดยแบ่งรายได้ระหว่างชาวนาและ startups โดยภาครัฐจัด seeding funds หรือ soft loans ให้แก่ start-ups กลุ่มนี้

171022 farmer3

2.2 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างแพลตฟอร์มข้าวแห่งชาติ (National Rice Platform)

โดยรวบรวมฐานข้อมูลจากระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น TPMAP ของ สวทช. Farmer One ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร Agri-Map ของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม เป็นต้น โดยสามารถประมวลข้อมูลได้ถึงระดับตัวชาวนา ระดับพิกัดแปลงนา และพันธุ์ข้าว เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและบูรณาการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาร่วมกัน

ข้อมูลชุดนี้มีประโยชน์มากในการแก้ปัญหารายได้ของชาวนาให้พ้นเส้นความยากจนแบบพุ่งเป้า คือเฉพาะกลุ่มยากจนที่มีปัญหา โดยใช้ AI ช่วยจัดกลุ่มประเภทชาวนา (Farmer Segmentation) และมีเครื่องมือในการแก้ปัญหา (Toolkit) ตามความจำเป็นของแต่ละราย นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสภาพดินและน้ำ สำหรับใช้ในการจัดการเรื่องเขตพื้นที่การเกษตร Zoning การรับซื้อข้าวของโรงสีและพ่อค้าคนกลางทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Demand & Supply optimization) และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงสี พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก และสรรพากร เพื่อการเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.3 กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก (ระดับปลายน้ำ)

กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย 4Ps ได้แก่ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) กลยุทธ์ด้านราคา (Price) กลยุทธ์ช่องทางตลาดและการจัดจำหน่าย (Place) และกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด (Promotion)) ดังนี้

(1) กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (PRODUCT) โดยการปรับนโยบายการวิจัยและพัฒนา (Research & Development)

กรมการข้าวควรให้ความสำคัญต่อการวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ข้าวเฉพาะกลุ่ม ข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น โดยเพิ่มงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯเพื่อวิเคราะห์ตลาดและพยากรณ์ความนิยมพันธุ์ข้าวล่วงหน้า นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณพัฒนาและวิจัยด้าน food science & bio-engineering กลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคที่ทำจากข้าว การใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของข้าว ได้แก่ แป้ง รำ แกลบ และฟางข้าว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตข้าว ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยมีผลผลิตจากข้าวในการส่งออกและนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศ โดยจูงใจให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม และยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากข้าวไปสู่ห่วงโซ่การผลิตของโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนถึงการถ่ายทอดผลการวิจัยการแปรรูปข้าวให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)

(2) กลยุทธ์ด้านราคา (PRICE) โดยการปฏิรูปนโยบายการกำหนดราคาข้าวให้สะท้อนต้นทุน (Cost-Plus Pricing Strategy) และปรับโครงสร้างการกระจายกำไรของห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ

ชาวนาผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาขายที่สะท้อนต้นทุนการผลิต (Cost-Plus Pricing Strategy) ให้เป็นไปตามกลไกการค้าขายเสรี ไม่มีการแทรกแซงตลาดด้วยการชดเชยหรือประกันราคา ที่ทำให้บิดเบือนกลไกตลาดและเป็นภาระต่องบประมาณ ปฏิรูปโครงสร้างกำไรของทุกห่วงโซ่ในระบบอุปทานข้าว คือการปรับให้กำไรของชาวนา โรงสี พ่อค้าคนกลาง ให้มีสัดส่วนสมดุล เหมาะสม เป็นธรรมมากขึ้น กล่าวคือ สัดส่วนกำไรในปัจจุบันของชาวนาอยู่ที่ประมาณเพียง ร้อยละ 10 ของกำไรทั้งหมดตั้งแต่ขายข้าวเปลือกจนถึงข้าวสารถึงผู้บริโภคในประเทศ

รัฐบาลควรส่งเสริมให้มี “การประกันความเสี่ยงราคาแปรปรวน” (Crop Insurance) โดยการจ่ายเงินเบี้ยประกันให้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก

ในระยะยาว การกำหนดราคาขายข้าวที่สะท้อนต้นทุนและโครงสร้างกำไรแบบใหม่เช่นนี้ จะทำให้ชาวนามีรายได้ที่ยั่งยืนและสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินชดเชยจากรัฐบาล

(3) กลยุทธ์ด้านช่องทางตลาดและจำหน่าย (PLACE) โดยลดขั้นตอนการจัดจำหน่ายที่ซับซ้อนด้วย eCommerce

ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รัฐสนับสนุนจัดให้มีตลาดกลาง (ประมูล) ที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้มีระบบการซื้อขายตามชั้นคุณภาพและกลุ่มพันธุ์ให้มากขึ้นและชัดเจน จัดให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้มีความสามารถในการประกอบธุรกิจออนไลน์ หรือ “ตลาดข้าวออนไลน์” (Digital Marketing) การส่งเสริมการตลาดทางตรงทั้งแบบ Farmer-to-Consumer (F2C - เกษตรกรกับผู้บริโภค) และแบบ Farmer-to-Business (F2B - เกษตรกรกับผู้ประกอบการ) ออกนโยบายการจัดซื้อข้าวของหน่วยงานราชการ ได้แก่ ทัณฑสถาน ค่ายทหาร ให้ซื้อข้าวโดยตรงกับชาวนาหรือกลุ่มชาวนาในท้องถิ่นโดยตรง) และการส่งเสริมให้สหกรณ์มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยในราคาต่ำ (ประมาณ 1%)

(4) ส่งเสริมตลาดข้าวส่งออกไปต่างประเทศ (PROMOTION) โดยการเพิ่มยอดขายตลาดเดิมที่มีศักยภาพ (Existing Potential Market) และการขยายหาตลาดใหม่ (New Market Development)

ที่ผ่านมาการบริโภคข้าวในประเทศคงที่มาโดยตลอด เนื่องจากจำนวนประชากรมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อวิเคราะห์ยอดส่งออกข้าวที่ผ่านมาเมื่อ พ.ศ. 2564 พบว่าปริมาณเพิ่มขึ้น 6.7% แต่มูลค่ากลับลดลง 7.1% โดยยอดขายที่ตกลงเป็นกลุ่มข้าวหอม แสดงว่าเรายังมีโอกาสในการทำการตลาดข้าวในต่างประเทศทั้งข้าวเกรดพรีเมี่ยม เช่น ข้าวหอม และเกรดข้าวธรรมดา ทำให้มีขีดความสามารถในการเจรจาระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้คณะกรรมการเจรจาสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแบบกรรมการถาวรไม่ใช่เฉพาะกิจ

กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกของข้าวไทย (Proactive Marketing Strategy)

171022 farmer4

2.4 มาตรการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกองทุน เพื่อการบริหารจัดการข้าว

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้าวตั้งแต่ระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด กระจัดกระจายหลายฉบับ เช่น พรบ.พันธุ์พืช 2518 พรบ.ค้าข้าว 2489 และฉบับอื่น ๆ ยากต่อการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขัน จึงควรให้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติข้าว พ.ศ... (ไม่ใช่ พรบ.ค้าข้าว ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการที่ดินทำนา กระบวนการปลูกข้าว การพาณิชย์และตลาด รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการแก่ชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของการวิวัฒนาการของโลก และมุ่งให้ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตและการบริหารจัดการข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและคงความเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวของโลก นั่นหมายถึงผู้ผลิตข้าวอย่างชาวนาได้รับการดูแล มีรายได้ดีขึ้น และหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับอาชีพชาวนา 3.72 ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียน ให้สวัสดิการครอบคลุมดูแลชาวนาตั้งแต่เกิดจนตาย รวมไปถึงการศึกษาของบุตรหลาน โดยเฉพาะบุตรหลานที่ศึกษาเรื่องการเกษตรทำนาและต้องการคืนถิ่นกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สามารถยื่นโครงการเพื่อขออนุมัติ Seeding Funds

แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย พรบ.ข้าว และกองทุนชาวนา

171022 farmer5

กรรมสิทธิ์การใช้ที่ดิน ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิต เป็นที่รวมของความเป็นครอบครัวและชุมชน เป็นแหล่งทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงเนื่องด้วยเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ปัญหาที่สำคัญคือเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน มีที่ดินไม่พอทำกิน การเช่าที่ดินราคาแพง เก็บไว้เก็งกำไร เป็นต้น คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเร่งรีบจัดการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรโดยด่วน นอกจากนี้จากกระแสข่าวชาวต่างชาติร่วมมือกับคนไทยทำการกว้านซื้อหรือเช่าที่นาหลายรูปแบบให้ราคาสูงในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งปลูกข้าวใหญ่ในภาคกลาง ส่งผลกระทบให้ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน เสียค่าเช่า และพื้นที่นาถูกปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน กฎหมายเรื่องนอมีนีต้องถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง

2.5 ปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องข้าว

การปรับปรุงกลไกภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปข้าวของประเทศไทยทั้งระบบ แม้ว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ แต่ในระดับการปฏิบัติการ เช่น กรมการข้าว ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงานเพราะมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องแต่ขาดการบูรณาการ ดังนั้น จึงควรปรับโครงสร้างหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมการข้าว ให้มีอำนาจและความรับผิดชอบการบริหารเสร็จสรรพ ครบวงจร ตั้งแต่งานวิจัย การบริหารอุปสงค์และอุปทาน การกำหนด Zoning ควบคุมมาตรฐานข้าว มาตรฐานโรงสี-การแปรรูป ไปจนถึงการจัดการพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบการควบคุมราคาสินค้าในตลาดเช่นเดียวกับราคาเนื้อหมู และการตลาดส่งออก

นอกจากนี้ กลไกของภาครัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับบริการสมาชิก การจัดตั้งเครือข่ายชาวนาในรูปของสมาคม/สภาชาวนา ที่มีองค์กรชาวนาต่าง ๆ เป็นสมาชิก ให้องค์กรชาวนาเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างภาครัฐและชาวนา ในด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการการผลิตของสมาชิก การช่วยเหลือสนับสนุนชาวนา และที่สำคัญคือสร้างจิตสำนึกให้ชาวนารู้จักพึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ประมาณการว่า มาตรการข้างต้นจะช่วยลดความยากจนของชาวนาไทย คือ (1) เพิ่มผลผลิตต่อไร่ 2 เท่าจากปัจจุบัน (2) ลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 20 และ (3) กำไรเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อกิโลกรัม จากการปรับสัดส่วนกำไรของทั้งระบบ ก็จะทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นประมาณ 132,000 บาทต่อราย ซึ่งสมมุติฐานนี้ เท่ากับว่า ชาวนาจะมีรายได้พ้นเส้นความยากจน (2,686 บาทต่อเดือน) อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทยได้มากกว่าร้อยละ 30

ดร.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย
กรรมการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา

ภาพประกอบ : https://bit.ly/3eBqMz3

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 17 ต.ค. 2565

  • ฮิต: 883

ลึกไม่ลับ เปิดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. เหมือนจะชัดแต่ไม่ชัด

FarmerInforntofBAAC

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2509 เพื่อให้เป็นธนาคารเฉพาะกิจคอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรโดยตรง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่สำคัญของเกษตรกร โดยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไทยเป็น “ลูกค้า” หรือนัยหนึ่ง ลูกหนี้ ของ ธ.ก.ส. หลายครัวเรือนความสัมพันธ์เริ่มตั้งแต่รุ่นพ่อสานต่อมาจนรุ่นลูกความสัมพันธ์ก็ยังไม่จบ บทความนี้ชวนทุกท่านย้อนมองสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับสถาบันการเงินแห่งนี้

1. เริ่มต้นความสัมพันธ์ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีที่ดิน

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530 เกษตรกรจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายได้ เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเองทำให้ไม่มีหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ธ.ก.ส. ได้คิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้บุคคลค้ำประกันแทน โดยให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อกู้และค้ำประกันซึ่งกันและกัน ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. แม้นวัตกรรมนี้จะมีข้อดีต่อเกษตรกรรายย่อยอย่างมาก แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นผลบวกกับธนาคารมากกว่า เพราะสามารถถ่ายโอนภาระในการแบกรับความเสี่ยงไปยังเกษตรกรผู้ค้ำประกันได้ กล่าวคือเกษตรกรที่เป็นผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ธนาคารก็สามารถเรียกเก็บเงินต้นและสินเชื่อจากเกษตรกรผู้ค้ำประกันได้ มีเกษตรกรผู้ค้ำประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องรับชำระหนี้แทนเกษตรกรผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลายครอบครัวต้องยอมเสียที่ดินเพื่อแลกกับเงินที่จะนำไปใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ ในขณะที่การกู้เงินโดยใช้บุคคลค้ำประกัน ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์ฐานะลูกหนี้เจ้าหนี้กับ ธ.ก.ส. ได้ นวัตกรรมนี้ก็ทำลายความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนเดียวกันจำนวนมาก

2. ความสัมพันธ์ที่มีแค่สมุดเล่มเหลืองไว้ดูต่างหน้า

สมุดเล่มเหลืองคือบัญชีเงินกู้ของ ธ.ก.ส. ลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ทุกคนจะมีสมุดเล่มนี้ประจำตัว ข้างในจะมีรายละเอียดเงินกู้แยกเป็นรายโครงการหรือรายผลิตภัณฑ์การเงิน เนื่องจาก ธ.ก.ส.จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่มที่มีคุณสมบัติพื้นฐานต่างกัน  น่าแปลกที่สมุดเล่มเหลือง รูปธรรมที่ยึดโยง ธ.ก.ส.กับเกษตรกรไว้ด้วยกันนี้มีเกษตรกรน้อยรายมากที่จะอ่านมันเข้าใจ เพราะส่วนใหญ่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซ้อนทับไปหลายรายการ จนหลายรายจำไม่ได้ว่ายอดสินเชื่อในปัจจุบันมาจากไหนบ้าง เพราะเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ ถูกนับรวมซ้อนกันกลายเป็นยอดเงินต้นใหม่หลายครั้งหลายครา สมุดเล่มเหลืองนี้จะไม่บอกรายละเอียดสัญญาเงินกู้ รายละเอียดการชำระ และระยะเวลาสัญญา เมื่อถามรายละเอียดเหล่านี้เกษตรกรหลายคนมักมึนงง เพราะไม่มีข้อมูลเช่นกัน

3. ความสัมพันธ์เชิงสินเชื่อที่ลูกหนี้แทบไม่เคยเห็นสัญญาเงินกู้

แม้ ธ.ก.ส. จะยืนยันหนักแน่นว่าเกษตรกรผู้กู้ทุกคนจะได้รับสัญญาเงินกู้คู่ฉบับกับที่ ธ.ก.ส. เก็บรักษาไว้ แต่เกษตรกรทุกคนที่มูลนิธิชีวิตไทลงไปเก็บข้อมูลต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยได้รับสัญญาเงินกู้ คงมีเพียงสมุดเล่มเหลืองเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อถามรายละเอียดภาระหนี้สินกับ ธ.ก.ส. เกือบทุกคนจะตอบว่าไม่รู้

4. ความสัมพันธ์ที่ผู้ให้กู้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้กู้ล่วงหน้า

ในเอกสารสัญญาเงินกู้ที่นักวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทได้รับเพื่อนำมาศึกษาเกี่ยวกับความ “ไม่เป็นธรรม” ของสัญญาสินเชื่อ ธ.ก.ส. พบว่ามีรายละเอียดที่ให้ ธ.ก.ส. สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งเกษตรกรผู้กู้ก่อน เมื่อย้อนถามเกษตรกรผู้กู้ไม่มีใครรู้หรือตระหนักว่าสัญญาเงินกู้ที่มีผลผูกมัดตัวเองมีข้อความเหล่านี้อยู่ เช่น

4.1 ประเด็นวงเงินกู้และกำหนดชำระหนี้ มีข้อความระบุว่า “...ถ้าผู้อนุมัติเงินกู้กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าจำนวนตามข้อ 1 หรือกำหนดให้ข้าพเจ้าชำระหนี้ให้เสร็จภายในเวลาสั้นกว่าที่เสนอไว้ตามรายการข้างต้นนี้ ข้าพเจ้ายอมผูกพันและปฏิบัติตาม” โดยไม่ขยายความว่าธนาคารจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงของวงเงินกู้หรือกำหนดชำระหนี้ให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าหรือไม่

4.2 อัตราดอกเบี้ย มีข้อความระบุว่า “...ต่อไปภายหน้าหากธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากที่กำหนดไว้เดิม แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดข้าพเจ้ายอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่” นอกจากนี้ในเอกสารที่เรียกว่า “รายงานเบิกเงินกู้” ซึ่งใช้แทนสัญญาเงินกู้มีการใช้ข้อความที่ทำให้สามารถเข้าใจไปได้ว่าเกษตรกรลูกหนี้เป็นผู้เสนอวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย กำหนดการชำระหนี้ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ธนาคาร ทั้งที่ในความเป็นจริง ธนาคารเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขทุกอย่าง และมีเนื้อความที่ให้อำนาจธนาคารให้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งแก่เกษตรกรผู้กู้ เช่น “...ถ้าผู้อนุมัติกำหนดจำนวนเงินและหรือกำหนดชำระคืนแตกต่างจากที่ข้าพเจ้าเสนอไว้แล้วนี้ ข้าพเจ้าเป็นอันยินยอมและปฏิบัติตาม” และ “...ต่อไปภายหน้าหากธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้นี้ แต่ไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดขึ้นใหม่นับแต่วันที่กำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระคืนเสร็จ โดยธนาคารไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

5. เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ - ลูกหนี้ ที่อยู่นอกกรอบความสามารถในการชำระหนี้

สำหรับสถาบันการเงินเจ้าหนี้โดยทั่วไป ศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการปล่อยกู้ แต่ที่ ธ.ก.ส. เราจะพบว่าแม้เกษตรกรจะสูงอายุและไม่มีศักยภาพในการทำการเกษตรแล้วก็ยังสามารถยื่นกู้ได้ ตัวเลขจาก ธ.ก.ส. ในปี 2564 ระบุว่ามีลูกหนี้ที่อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปถึง 414,576 ราย ในจำนวนนี้เป็นหนี้ NPL ถึง 56,015 ราย สามารถแจกแจงรายละเอียดช่วงอายุลูกหนี้สูงอายุของ ธ.ก.ส. ลงไปได้ดังนี้ 70-79ปี  347,415 ราย อายุ 80-89 ลูกหนี้ที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ปี 63,597 ราย  และ อายุ 90 ปีขึ้นไป 3,564 ราย  

6. ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่มีลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง น้อยกว่าลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ

ข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ณ เดือนธันวาคม 2564 พบว่าจากจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่มีกว่า 4.8 ล้านราย มีเพียง 799,902 รายที่มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง คิดเป็นร้อยละ 16 ของลูกหนี้ทั้งหมด และมีลูกหนี้ที่มีศักยภาพต่ำถึง 1,965,691 รายคิดเป็นร้อยละ  41 แม้จะมีลูกหนี้ศักยภาพต่ำเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ ธ.ก.ส. ก็ยังคงผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรลูกค้ามากที่สุด

          นี่เป็นเพียงเรื่องราวรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับ ธ.ก.ส. ฐานะสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ความสัมพันธ์ที่ควรจะชัดแต่ก็ไม่ชัด ที่ดำรงมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ อนาคตความสัมพันธ์นี้จะเป็นเช่นไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป

     Pennapa.jpg   ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง มูลนิธิชีวิตไท

นักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เกาะติดเรื่องราวปัญหาของเกษตรกรไทยตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวประจำห้องข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสมัชชาคนจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระประจำมูลนิธิชีวิตไท ศึกษากระบวนการก่อหนี้และการชำระหนี้ของเกษตรกร มีความฝันอยาก เห็นชาวนาไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมาะสมกับสถานะผู้ผลิตอาหารหลักของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ติดอยู่กับวงจรหนี้ 

 

  • ฮิต: 1141

เมื่อพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกรเดินสวนทาง กับรูปแบบสินเชื่อเพื่อการเกษตร

BAACBillPayment

ภาระหนี้สินเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมเกษตรกรของไทยมายาวนาน และมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามเวลา จนหลายครอบครัวอาจไม่สามารถจำได้ว่าหนี้ก้อนแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร และเดินทางมาสู่ภาระหนี้สินในปัจจุบันได้อย่างไร เพราะสัญญาเงินกู้มีการเปลี่ยนแปลงตามการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมกรรมการเงินของตัวเกษตรกรเองอีกทีหนึ่ง บทความนี้ชวนผู้อ่านย้อนมองพฤติกรรมการเงินของเกษตรกรควบคู่ไปกับการศึกษารูปแบบสินเชื่อการเกษตรที่มีในปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการมีชีวิตในกับดักหนี้ของเกษตรกร

เศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกร

ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีรายได้ 2 ทาง คือ รายได้จากภาคเกษตรและรายได้นอกภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ที่มาจากลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ที่ทำการเกษตรในชนบท รวมถึงรายได้จากการรับจ้างต่างๆ และรายได้จากสวัสดิการของรัฐ รายได้จากการเกษตรจะมากกว่ารายได้จากนอกภาคเกษตรเล็กน้อย ข้อมูลจากรายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ในภาพร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2556 รายได้เงินสดของครัวเรือนเกษตรกรอยู่ที่ 268,303 บาท แบ่งเป็นรายได้จากภาคเกษตร 148,240 บาท รายได้นอกภาคเกษตร 120,063 บาท เมื่อหักรายจ่ายทั้งในภาคเกษตร (ต้นทุนการผลิต) และนอกภาคเกษตร (ค่าอุปโภคบริโภค) เหลือรายได้สุทธิ 38,343 บาท ขณะที่ตัวเลขรายรับรายจ่ายในปี 2559 พบว่ารายได้รวมอยู่ที่ 309,278 บาท แบ่งเป็นรายได้จากภาคเกษตร 160,932 บาท  รายได้นอกภาคเกษตร 148,346 บาท เมื่อหักรายจ่ายทั้งหมดแล้วคงเหลือรายได้สุทธิ 66,100 บาท รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรที่ปรากฏข้างต้นคือตัวเลขภาพรวมรายปีที่ยังไม่ได้ชำระสินเชื่อทั้งหมดที่เกษตรกรกู้ยืมมา

เมื่อเปรียบเทียบรายได้สุทธิรายปีกับขนาดหนี้สินปลายปีจะพบว่ารายได้ของครัวเรือนเกษตรกรไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ โดยปี 2556 รายได้สุทธิครัวเรือนเกษตร 38,343 บาท แต่ขนาดหนี้สินปลายปีอยู่ที่ 100,977 บาท และรายได้สุทธิปี 2559 อยู่ที่ 66,100 บาท แต่ยอดหนี้สินปลายปีอยู่ที่ 123,454 บาท จะเห็นว่าเมื่อรายได้รวมต่อปีเพิ่มขึ้น ขนาดหนี้สินรายปีก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ยอดหนี้สินที่เป็นตัวเลขในภาพรวม ที่หากนำมาแจกแจงจะพบว่ามีหนี้หลายก้อน บางก้อนก็ครบกำหนดชำระ บางก้อนยังไม่ครบกำหนด และบางก้อนเลยกำหนดชำระแล้ว เกษตรกรหลายครัวเรือนนำเงินรายได้สุทธิที่เหลืออยู่ไปชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ทำให้ยอดเงินต้นในแต่ละปีของบัญชีเงินกู้บางบัญชีไม่ลดลงเลย ไม่ต้องพูดถึงเงินออมประจำปีที่แทบไม่ปรากฏในระบบเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกร

พฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของครัวเรือนเกษตรกร

เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกรจะพบความแตกต่างระหว่างรายรับและรายจ่าย กล่าวคือรายรับจากภาคการเกษตรจะมาเป็นก้อนใหญ่ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัวอย่างครัวเรือนเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทซึ่งปลูกข้าวเป็นหลัก จะมีรายได้จากการขายข้าวเป็นก้อนใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 90,000 บาท ในเดือนมกราคมและกรกฎาคม และเป็นเพียง 2 เดือนที่ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ในเดือนอื่นๆ นั้นรายได้ของเกษตรกรครอบครัวนี้มาจากเงินจากบัตรสวัสดิการของรัฐเดือนละ 500 บาท และ 300 บาท ไม่เท่ากันแล้วแต่โครงการที่รัฐมี และเงินส่วนนี้นำไปซื้อของได้เฉพาะในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น มีเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเงินที่ลูกหลานส่งมาให้เดือนละ 2,000 บาท รายรับเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท เงินจำนวนนี้สำหรับใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เงินให้หลานไปโรงเรียน โดยรวมๆ แล้วเกิน 4,000 บาททุกเดือน

รายได้ก้อนใหญ่จากการขายข้าวครั้งละ 90,000 บาท จะถูกนำไปจ่ายหนี้ให้กับร้านค้าในหมู่บ้านที่ให้เชื่อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา และสารเคมีอื่นๆ มาก่อน เงินที่เหลือจึงจะถูกนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนซึ่งเกษตรกรต้องจัดสรรเงินรายได้ก้อนใหญ่นี้ให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งก็สามารถทำได้ยาก เพราะทุกปีจะมีรายจ่ายก้อนใหญ่ด้านอื่นๆ รออยู่เช่นกัน เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนของหลานที่ต้องจ่ายในทุกเดือนเมษายนเพื่อเตรียมรับการเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม บางปีอาจมีค่าซ่อมอุปกรณ์การเกษตร ค่าซ่อมบ้าน ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซองทั้งงานมงคลและอวมงคล

หนี้สินและการชำระหนี้

คราวนี้มาทำความรู้จักกับเจ้าหนี้ของเกษตรกรและระบบการชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละราย ตามรายงานของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เปิดเผยปลายปี 2565 ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้โดยเฉลี่ย 3.5 ก้อน อาจจะจากเจ้าหนรี้เดียว หรือหลายเจ้าหนี้ ต่อไปนี้เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรส่วนใหญ่

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันการเงินเจ้าหนี้หลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยปกติ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เกษตรกรเพื่อให้นำเงินไปลงทุนทำการผลิตโดยจะกำหนดระยะเวลาในการชำระครั้ง เดียวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นการให้ปิดบัญชีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้มียอดชำระสูง

2. หนี้เถ้าแก่ร้ายปุ๋ย ยา ถือเป็นหนี้นอกระบบอย่างหนึ่ง หนี้มาในรูปของปุ๋ย ยา และสารเคมีการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้ โดยเถ้าแก่จะให้เกษตรกรนำมาใช้ก่อน แล้วค่อยนำเงินสดไปใช้คืนเมื่อเก็บเกี่ยวและขายผลผลิต โดยทั่วไปชำระครั้งเดียว เผื่อให้สามารถกู้ยืมใหม่ได้ในการทำการเกษตรรอบต่อไป เหตุผลที่เกษตรกรมีหนี้ก้อนนี้ทั้งที่กู้จาก ธ.ก.ส. มาลงทุนทำการเกษตรแล้วเพราะเงินสดที่ได้จาก ธ.ก.ส. มักถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นแทน

3. หนี้สหกรณ์การเกษตร เป็นการกู้สหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่เพื่อมาใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งในความเป็นจริงมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ค่อนข้างสูง หนี้สหกรณ์มักเป็นหนี้จำนอง และกำหนดการผ่อนชำระเป็นรายเดือน

4. หนี้ไฟแนนซ์ ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมาเป็นหนี้ไฟแนนซ์ บ้างผ่อนรถกระบะ บ้างผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ชำระรายเดือนเช่นเดียวกับไฟแนนซ์ทั่วไป

5. หนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้อื่นๆ สถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ มักมีโปรแกรมสินเชื่อเพื่อเกษตรกรเป็นกรณีพิเศษ มักเป็นสินเชื่อระยะสั้น โดยทั่วไปกำหนดการชำระเป็นรายเดือน ยอดการผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน

6. หนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่กองทุนฯ เข้ามาซื้อหนี้ NPL ของเกษตรกร แล้วเกษตรกรต้องผ่อนชำระหนี้กับกองทุนฯ การชำระมักกำหนดเป็นรายเดือน มีสัญญาเงินกู้ระยะยาว

7. หนี้นอกระบบ เป็นการกู้จากเจ้าหนี้นอกระบบ ต่างจากหนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ยยา ตรงที่การกู้แบบนี้เกษตรกรจะได้เงินสดมาใช้จ่าย มักต้องมีการนำเอกสารสิทธิ์ที่ดินไปเป็นหลักประกัน กำหนดการผ่อนชำระรายเดือน ดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

8. หนี้กองทุนหมู่บ้าน เจ้าหนี้คือสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้เกษตรกรกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน กำหนดการชำระปีละ 1 ครั้ง เมื่อชำระแล้วสามารถกู้เงินใหม่ได้ ยอดกู้ส่วนใหญ่อยู่ที่รายละ 30,000 บาท

การศึกษาของมูลนิธิชีวิตไทพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกชำระเงินกู้รายเดือนก่อน เนื่องจากยอดผ่อนชำระน้อย โดยหนี้ที่พบว่ามีการชำระสม่ำเสมอคือหนี้ไฟแนนซ์รถ นอกจากยอดการชำระโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าเงินกู้ก้อนอื่นๆ แล้ว ยังพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับหน้าตาและศักดิ์ศรีในสังคม เพราะหากไม่สามารถชำระหนี้ก้อนนี้ได้รถที่ผ่อนไว้จะถูกยึด คนในสังคมจะรับรู้ถึงการไม่สามารถชำระหนี้ได้ของครัวเรือน ส่วนหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ พบว่าส่วนใหญ่จะสามารถชำระได้เพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น ทำให้ยอดเงินต้นไม่ลดลง ก้อนหนี้อีกก้อนหนึ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ชำระได้คือหนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ย ร้านยา แม้จะเป็นการชำระเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะชำระหนี้ก้อนหนี้เพราะต้องการกู้ใหม่เพื่อทำการเกษตรรอบต่อไป เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้าน ที่แม้จะกำหนดให้ชำระปีละครั้ง เป็นเงินก้อนเงินต้น 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในคราวเดียว เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะชำระเงินกู้ก้อนหนี้เพื่อรักษาเครดิตตัวเอง โดยพบว่าการชำระเงินกู้กองทุนหมู่บ้านจะทำโดยเกษตรกรจะกู้เงินนอกระบบ ที่มีโครงการพิเศษให้กู้ระยะสั้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นการกู้และชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยในวันเดียวกัน เพื่อนำเงินมาชำระกองทุนหมู่บ้านก่อน แล้วยื่นเรื่องกู้ใหม่ซึ่งจะได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จากกองทุนในวันเดียวกันเลย เงินที่กู้ใหม่นี้จะถูกนำไปชำระให้นายทุนนอกระบบพร้อมดอกเบี้ยในทันที กองทุนหมู่บ้านจึงเป็นแหล่งเงินกู้ที่เกือบจะถาวรของเกษตรกรจำนวนมาก

ส่วนสินเชื่อ ธ.ก.ส. แม้จะออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีเกษตรกร คือชำระเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่กลับเป็นก้อนหนี้ที่ชำระยากที่สุดสำหรับเกษตรกรเพราะต้องชำระเป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งเกินกว่าเงินสดสุทธิคงเหลือรายปีของครัวเรือนเกษตรกร ทั้งนี้หลังขายผลผลิตเกษตรกรมักไม่เหลือเงินมากพอที่จะชำระ ธ.ก.ส. ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งผลผลิตไม่ได้ผลอย่างที่คาด ทั้งการมีรายจ่ายตลอดปีที่ต้องใช้ ทำให้ไม่สามารถมีเงินชำระหนี้ก้อนใหญ่มากพอได้ เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. จึงมักเป็นหนี้ตลอดไป 

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกร มีความไม่สอดคล้องกับรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินภาครัฐ การจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในระยะยาวจึงควรต้องคำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกรด้วย

แหล่งข้อมูล

1. รายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

2. พฤติกรรมการเงินของชาวนาและความไม่เป็นธรรมของสัญญาสินเชื่อ ธ.ก.ส.  โดย ชญานี ชวะโนทย์ และ สฤณี อาชวานันทกุล จากหนังสือ เพราะเธอคือชาวนา พิมพ์โดยมูลนิธิชีวิตไท

 

ที่มา : ประชาไท วันที่ 4 ก.พ. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 682

กรุ่น แย้มหลง และ ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

FieldDuck

“ฉันโดนกรมส่งเสริมสหกรณ์ฟ้อง เขาจะยึดที่นาอยู่แล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ฉันไม่ได้กู้เขาหรอก เงินเขาฉันไม่ได้ใช้สักบาท แต่ฉันเป็นกรรมการสหกรณ์ เขาก็บอกว่าต้องรับผิดชอบ” 

กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เล่าให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทที่กำลังลงเก็บข้อมูลเกษตรกรเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีจากภาระหนี้สินในพื้นที่ตำบลบางขุดฟัง 

เรื่องราวที่พรั่งพรูจากปากน้ากรุ่นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรของรัฐ หากได้รับการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ และไม่ได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ อาจกลายเป็นต้นเหตุวงจรหนี้ของเกษตรกรได้ 

เช่นเดียวกับหนี้มหาศาลที่น้ากรุ่นแบกอยู่ในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองจากเกษตรกรเลี้ยง ‘เป็ดไล่ทุ่ง’ มาเป็นการทำฟาร์มระบบปิด และการรวมกลุ่มกับเกษตรกรเลี้ยงเป็ดด้วยกันเป็นสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงเป็ด ตามคำแนะนำของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว 

นอกจากการทำฟาร์มเป็ดระบบปิดจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว น้ากรุ่นยังต้องตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ที่มีหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโจทก์ด้วย 

เรื่องราวของน้ากรุ่น คือภาพสะท้อนชะตากรรมของเกษตรกรที่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

ย้อนกลับไปก่อนปี 2548 กรุ่น แย้มหลง เกษตรกรแห่งตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท สร้างฐานะด้วยการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง มีเป็ดฝูงใหญ่ฝูงหนึ่ง น้ากรุ่นเอาขึ้นรถ 6 ล้อ ไปปล่อยให้หากินเองตามที่ท้องทุ่งท้องนา แหล่งน้ำต่างๆ  น้ากรุ่นและครอบครัวอพยพเร่รอนไปตามเส้นทางของเป็ด โดยปกติจะมีระบบของเกษตรกรด้วยกันคอยส่งข่าวว่าพื้นที่ไหนอยากให้เอาเป็ดไล่ทุ่งไปลง น้ากรุ่นบอกว่า ชาวนาชอบให้เป็ดไล่ทุ่งไปลงแปลงนาตัวเอง เพราะเป็ดกินหอยเชอรี่ ศัตรูตัวฉกาจของนาข้าว และขี้เป็ดยังเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็ดไล่ทุ่งจึงเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่มีแต่ผลกระทบทางบวก แทบไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ 

จากชัยนาท บางทีน้ากรุ่นพาเป็ดไปหากินถึงทางอีสาน ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเดือนๆ แม้จะมีต้นทุนค่าน้ำมันเดินทางขนส่งเป็ด และค่าอาหารตัวเอง แต่ประหยัดค่าอาหารเป็ดได้มหาศาล และสามารถขายไข่เป็ดได้ราคาดี เนื่องจากไข่เป็ดไล่ทุ่งจะใบใหญ่กว่าไข่เป็ดที่เลี้ยงในระบบปิด 

นอกจากครอบครัวไม่มีหนี้แล้ว ยังสามารถซื้อที่ดินเพิ่ม มีรถ 6 ล้อเป็นของตัวเองสำหรับขนเป็ดข้ามจังหวัด มีปิกอัพไว้ใช้ในครอบครัว และปลูกบ้านหลังใหญ่ได้ หากไม่นับหนี้ ธ.ก.ส. ที่รับมรดกมาจากพ่อที่เสียชีวิตไปในปี 2540 น้ากรุ่นก็เป็นเกษตรกรที่ไม่มีหนี้เลย  

จากฟาร์มตัวอย่างของกระทรวงเกษตรฯ สู่หายนะใหญ่ในชีวิต

ชีวิตเกษตรกรเป็ดไล่ทุ่งของน้ากรุ่น เดินหน้าไปด้วยดีมาตลอด จนปี 2548 ไข้หวัดนกระบาดไปทั่ว เป็ดไล่ทุ่งถูกมองเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศมาตรการควบคุมโรค ห้ามไม่ให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ สนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มเป็ดระบบปิด และกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด โดยมีคำแนะนำให้และส่งพี่เลี้ยงจากกรมมาช่วยดูแล  

น้ากรุ่นตัดสินใจกู้เงินจากธนาคาร  SME มา 1.3 ล้านบาท โดยนำโฉนดที่ดินไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลงทุนทำฟาร์มระบบปิดบนที่ดินตัวเอง ทำทุกอย่างตามที่กระทรวงเกษตรฯ แนะนำโดยใช้เงินที่กู้มา 

ฟาร์มเป็ดของ กรุ่น แย้มหลง กลายเป็นฟาร์มตัวอย่างที่กระทรวงเกษตรฯ ติดต่อให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชม ในฐานะตัวอย่างผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกของประเทศไทย จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก 

จากคำบอกเล่าของน้ากรุ่น หลังจากองค์การอนามัยโลกกลับไป ตัวน้ากรุ่นซึ่งไม่มีประสบการณ์การทำฟาร์มเป็ดระบบปิด ต้องเดินหน้าต่อไปคนเดียว ทั้งดูแลเป็ดเก่าที่ค้างมาจากการทำเป็ดไล่ทุ่ง และดูแลเป็ดใหม่ที่ซื้อมาเพื่อเลี้ยงในระบบปิด 

“ฉันก็ไม่รู้อะไรหรอก เขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขา ด้วยเงินตัวเองทั้งหมด แล้วเขาก็ติดต่อให้ฝรั่งจากองค์การอนามัยโลกมาดู เขาว่าฉันทำฟาร์มได้ดีเป็นตัวอย่าง แต่พอหลังจากฝรั่งไป ก็ไม่มีใครมาสนใจฉันอีก มีภาพใบนี้ให้ฉันใบเดียว เขาทำมาให้ บอกว่าเป็นที่ระลึก” 

น้ากรุ่นบอกเล่าประสบการณ์ พลางอวดภาพถ่ายเก่าสมัยที่ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมชมฟาร์มของแกให้ดู 


ภาพเมื่อครั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พาผู้แทนองค์การอนามัยโลกเยี่ยมชมฟาร์มของ กรุ่น แย้มหลง (เสื้อส้มตรงกลาง) 

แม้เป็ดในฟาร์มจะออกไข่มาให้บ้าง แต่ก็ใบเล็ก ขายไม่ได้ราคา เพราะช่วงนั้นมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งยังคงลักลอบเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ทำให้มีไข่เป็ดขนาดใหญ่ออกมายึดตลาดได้ 

ตลอดระยะเวลา 1 ปี น้ากรุ่นพยายามดิ้นรนเพื่อให้ฟาร์มเป็ดไปรอด ทางเดียวที่จะดิ้นรนได้คือการกู้เงิน ทั้งการกู้เพิ่มโดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินเดิม ทำให้ต้องจ่ายหนี้เดือนละ 30,000 แต่สุดท้ายฟาร์มระบบปิดก็ไปไม่รอด ปลายปี 2549 น้ากรุ่นตัดสินใจขายเป็ดทั้งหมดให้โรงเชือดไปในราคาถูก การเป็นเกษตรกรที่ดีเดินตามนโยบายรัฐจบลงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับหนี้สินก้อนมโหฬาร 

ฟาร์มตัวอย่างวันนี้เหลือเพียงโรงเรือนร้างกับหนี้ธนาคารที่ตัดสินใจกู้ ธ.ก.ส. 3.3 ล้านบาท มาปิดบัญชีธนาคาร SME เพราะไม่สามารถรับภาระการผ่อนชำระรายเดือนได้ โฉนดที่ดินที่ต้องย้ายจาก SME มาไว้กับ ธ.ก.ส. ยังคงอยู่กับ ธ.ก.ส. จนถึงวันนี้ เงินกู้ทั้งก้อนเก่าก้อนใหม่ ทั้งดอกเบี้ยจากการค้างจ่ายถึงปี 2565 อยู่ที่เกือบ 6 ล้านบาท ไม่นับหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายอื่นที่ต้องกู้มากินใช้ในชีวิตประจำวันและลงทุนอื่นๆ 

ฟาร์มเป็ดระบบปิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยนำเสนอเป็นผลงานการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกให้กับผู้แทนองค์การอนามัยโลก วันนี้ถูกทิ้งร้าง

รวมกลุ่มสหกรณ์ หายนะรอบที่ 2     

ในเอกสารด่วนที่สุดจากกรมปศุสัตว์ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ลงนามโดย ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ในขณะนั้น ระบุว่าให้ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสหกรณ์จังหวัด เร่งประชุมชี้แจงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเพื่อให้จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเฉพาะเป็ดไล่ทุ่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 โดยให้ปศุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดร่วมกันประชาสัมพันธ์แหล่งสินเชื่อในการปรับระบบการเลี้ยง คือ ธ.ก.ส. และแหล่งสินเชื่อสำหรับกลุ่มสหกรณ์ คือกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งดูแลโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ 

ตามคำบอกเล่าของน้ากรุ่น การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดในจังหวัดชัยนาทรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท โดยชวนน้ากรุ่นและคนอื่นๆ ที่อยู่ต่างอำเภอ ซึ่งหลายคนไม่รู้จักกัน เข้ามารวมกลุ่มกัน ตั้งกรรมการสหกรณ์ขึ้นมา 1 ชุด 

น้ากรุ่นเป็นหนึ่งในนั้น ทำหน้าที่เหรัญญิก โดยผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท เพื่อนำไปจัดซื้ออาหารเป็ดมาให้สหกรณ์ขายต่อสมาชิกในราคาถูก และให้สมาชิกกู้สัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท ที่มีสหกรณ์จังหวัดชัยนาท ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงนามในฐานะผู้ให้กู้ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด โดยมีเกษตรกรที่เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ และ กรุ่น แย้มหลง เหรัญญิก ร่วมกันลงนามในฐานะผู้กู้ ถูกทำขึ้นในวันที่  22 มิถุนายน 2549 

แต่แล้วผลประกอบการของสหกรณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด น้ากรุ่นบอกว่าปัจจัยสำคัญเพราะตัวเกษตรกรที่เข้ามารวมกลุ่มเองไม่เข้าใจและไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานสหกรณ์ เมื่อกรรมการสหกรณ์นำเงินที่กู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์มาปล่อยให้สมาชิกกู้ต่อเพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ด ไม่มีสมาชิกคนใดประสบความสำเร็จในกิจกรรมเลี้ยงเป็ด เพราะส่วนใหญ่ทำการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งกันมาก่อน ไม่มีประสบการณ์ในการทำฟาร์มเป็ด สุดท้ายไม่มีใครชำระเงินกู้ กิจการของสหกรณ์ก็ต้องยุติลง และสหกรณ์ไม่มีเงินชำระคืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ 

น้ากรุ่น บอกว่า กรรมการสหกรณ์ ณ ตอนนั้น ไม่มีความรู้ว่าควรต้องทำอย่างไร การไม่ชำระหนี้ของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจึงไม่ถูกดำเนินการใดๆ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ไม่ได้มีการชำระเงินกู้คืนกองทุนพัฒนาสหกรณ์เลย จนเดือนตุลาคม 2552 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ยื่นฟ้องสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด กับพวกรวม 16 คน เพื่อให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 

เดือนธันวาคม 2552 ศาลมีคำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ถึง 16 (จำเลยที่ 1 คือสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาท จำกัด และจำเลยที่ 2-16 คือ กรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ด ชัยนาท โดยน้ากรุ่นตกเป็นจำเลยที่ 4) ตกลงยอมชำระหนี้เงินจำนวนประมาณ 1.15 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยชำระงวดแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่จำเลยทั้ง 16 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และวันที่ 11 เมษายน 2556 ศาลมีคำสั่งบังคับคดีจำเลยทั้ง 16 ส่วนการที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจะไปทวงเงินคืนจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่กู้เงินไป เพื่อนำมาชำระหนี้ในส่วนนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว

ในบรรดาจำเลยทั้ง 16 คนนั้น มีเพียง 8 คนที่มีทรัพย์ให้ยึด รวมถึงน้ากรุ่น เพื่อนำเข้าสู่ระบวนการบังคับคดี

“เป็นหนี้ที่ฉันเองไม่ได้กู้มาใช้เลยสักบาท แต่ก็ต้องมารับภาระตรงนี้” น้ากรุ่น กล่าว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา น้ากรุ่นและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดที่ตกเป็นจำเลยพยายามต่อรองกับกรมส่งเสริมสหกรณ์มาตลอด ความคืบหน้าล่าสุดเฉพาะในส่วนความรับผิดชอบของน้ากรุ่นคือต้องชำระหนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 130,000 บาทภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2565  เพื่อรักษาที่ดินจำนวน 20 ไร่ ไม่ให้โดนขายทอดตลาด น้ากรุ่นตัดสินใจยืมเงินญาติๆ มาจ่ายให้กรมส่งสริมสหกรณ์ไปแล้ว 

แม้ที่ดินจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีขายทอดตลาด แต่ที่ดินผืนนี้ก็ยังถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์อายัดไว้จนกว่าจะได้รับเงินจากจำเลยคนอื่นครบตามมูลค่าที่ศาลมีคำพิพากษาไว้ 

เหตุการณ์ที่เกิดกับน้ากรุ่นและกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด ทำให้ผู้เขียนเป็นห่วงชะตากรรมของกรรมการบริหารและสมาชิกสหกรณ์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงเดียวกันด้วยเหตุผลเดียวกัน  

ย้อนกลับไปในช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว มีสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ตามคำแนะนำของปสุสัตว์จังหวัดและสหกรณ์จังหวัดรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง 

นอกจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดชัยนาทจำกัด จังหวัดชัยนาท แล้วยังมีสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุพรรณบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดสุโขทัย สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็นสิงห์บุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดเมือง-วังทอง จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดวัดโบสถ์พรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และสหกรณ์ผู้เลี้ยงเป็ดบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์ใด ได้แต่ตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามกับตัวเองว่าเมื่อมีการแนะนำและสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งสหกรณ์ได้แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ย่อมได้ผลงาน แต่เมื่อสหกรณ์ล้มเหลว กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่ 

กรุ่น แย้มหลง เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ตกอยู่ในวงจรหนี้จากการทำตัวเป็นเกษตรที่ดีของภาครัฐ ทำตามคำแนะนำด้วยความหวังจะเป็นเกษตรกรที่มีชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตกลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม  

ปัจจุบัน น้ากรุ่นพยายามหาเงินมาใช้หนี้ด้วยการนำทุนทำรีสอร์ตเล็กๆ บนที่ดินที่ติดจำนองอยู่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดโฆสิตาราม (วัดหลวงพ่อกวย) ควบคู่กับการขายพวงมาลัยหน้าวัด ซึ่งรวมๆ แล้วรายได้เพียงพอแค่ยังชีพ ไม่สามารถชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้ ครั้นอยากกลับไปทำเป็ดไล่ทุ่งที่เชี่ยวชาญ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินทุน 

เมื่อถามว่า หากเลือกได้ ในวันนี้น้ากรุ่นจะเลือกอะไร คำตอบคือ

“เลือกกลับไปวันนั้น แล้วไม่เชื่อกระทรวงเกษตรฯ ถ้าวันนั้นไม่เลิกทำเป็ดไล่ทุ่ง ชีวิตคงไม่เป็นแบบนี้”      

ที่มา : ไทยรัฐพลัส วันที่ 11 ม.ค. 2566

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

 

  • ฮิต: 669

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6733497
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1236
4433
13689
125023
6733497

Your IP: 3.144.212.145
2024-04-24 04:01