การเผาในภาคเกษตร ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องแก้ด้วยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์

BuringricefieldSSS

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเผาในภาคเกษตร เป็นสาเหตุหลักประการสำคัญของปัญหา PM2.5 ที่ทำให้คุณภาพอากาศในประเทศไทยย่ำแย่จนติดอันดับโลกหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีมานี้ แม้หลายฝ่ายจะตระหนัก และมีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผาในไร่นา แต่ก็ยังพบว่าการเผายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายภาคเกษตรของประเทศ คำถามสำคัญคือการเผาในภาคเกษตรจะไม่สามารถแก้ไขได้จริงหรือ

ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช  นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาการเผาในภาคเกษตร และได้พบความจริงและข้อเสนอหลายประการที่ควรจะทำให้ปัญหาการเผาลดน้อยลงได้ หากถูกนำมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ขอนำมาถ่ายทอดต่อ ณ ที่นี้

การเผาในไร่นา แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

อาจารย์วิษณุ ซึ่งติดตามทั้งปัญหาการเผาในไร่นาและปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามลงมือแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เกิดจากปัญหาพื้นฐานทั่วไป 2 ประการ

1. ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหาการเผาในไร่นา ลักษณะการแก้ปัญหาจึงเป็นแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างแก้ นอกจากนี้โครงสร้างอำนาจตามกฎหมายของประเทศ ยังอยู่ในลักษณะกระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับกระทรวงอื่น ต่างกับในหลายประเทศที่จะมีหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐอเมริกามีองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่รู้จักกันทั่วไปว่า USEPA  

2. การใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ถูกจัดสรรในลักษณะเงินเยียวยาแบบให้เปล่า เช่น การประกันราคาข้าว การรับจำนำข้าว ซึ่งอาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และเป็นนโยบายที่ไม่ถาวร แม้หลายครั้งพบว่ารัฐบาลใช้นโยบายสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นโยบายนั้นกลับขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเมื่อได้รับเงินสนับสนุนไปแล้วเกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตหรือไม่

เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาการเผาในไร่นา และการแก้ PM2.5 ถูกกำหนดบนปัญหาเชิงโครงสร้างทั้ง 2 ปัญหานั้น ทำให้มาตรการแก้ไขที่เกิดขึ้น ทำก็เหมือนไม่ได้ทำ เพราะแก้ปัญหาก็เหมือนไม่ได้แก้

สนับสนุนธุรกิจการเช่าเครื่องจักร มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ตอบโจทย์พื้นฐานภาคเกษตรไทย

การเผาในไร่นาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแปลงปลูกข้าว ข้าวโพด และ อ้อย ซึ่งยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และเป็นพืชที่มีปัญหาสำคัญร่วมกันคือการขาดแคลนแรงงานและการขาดแคลนทุน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญผลักให้เกิดการเผาในไร่นา ที่ประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และประหยัดเวลา

ความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการเผาในไร่นา ที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ คือ การชักชวนและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนระบบการผลิต ใช้เครื่องจักรทำงานแทนคน เช่น การใช้รถอัดฟาง เพื่อเก็บและอัดฟางจากนาข้าวเป็นก้อน ส่งขายต่อไป หรือการใช้ไถดิน รถเกี่ยวข้าว หรือการใช้รถตัดอ้อยแทนการใช้แรงงานคน ซึ่งจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การคืนทุนจะเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ต้องประหยัดต้นทุนทั้งด้านเวลาและที่เป็นตัวเงินด้วยการเผา แต่ก็มีอุปสรรคด้านเศรษฐกิจเนื่องจากเครื่องจักรการเกษตรมีราคาสูง เกษตรกรไม่สามารถแบกรับไหว อาจารย์วิษณุจึงเสนอทางออกให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีระบบบริการเช่าเครื่องจักร ซึ่งจะสามารถทำให้เกษตรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินขนาดเล็กสามารถเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรราคาหลักสิบล้านบาทได้

“การเช่าเครื่องจักรไม่ใช่เรื่องใหม่ของเกษตรกร แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเข้ามาจัดการและสนับสนุน ทำให้เอกชนก็ไม่อยากลงทุน รัฐควรเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันกันทำธุรกิจเช่าเครื่องจักรทางการเกษตร ใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ กลไกทางตลาดเข้ามาให้เกิดการแข่งขัน จะได้เกิดคุณภาพ”  อาจารย์วิษณุกล่าว

ระบบการเช่าเครื่องจักรทางการเกษตร ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง ที่มีเครื่องจักรในมือแล้วเข้ามาเอาเปรียบเกษตรกร เช่น การนำรถอัดฟาง มากว้านซื้อฟางจากเกษตรกรในราคาถูก แล้วนำไปอัดก้อนส่งขายในราคาแพง ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่ได้มีรายได้เพิ่มมากเท่าไรนักจากการขายฟาง แต่กลับต้องใช้เวลารอรถอัดฟางนานกว่าจะเข้ามาในไร่นาตนเองได้  เกษตรกรจึงเลือกเผาฟางซึ่งสะดวก และรวดเร็วกว่าแทน

อาจารย์วิษณุยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันเมื่อพูดถึงปัญหาการเผาในไร่นา สังคมจะชี้นิ้วไปที่เกษตรกรทันที ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกคนล้วนสามารถช่วยผลักดันให้เกิดการลด ละ เลิก การเผาได้ ไม่ใช่เพียงตัวเกษตรกร เช่น

ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรด้วยว่าหากเปลี่ยนระบบการผลิต ไม่ทำการเผาในไร่นาแล้ว เขาจะสามารถอยู่รอดได้ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นคนแบกภาระตามลำพัง เช่น อาจเริ่มจากการที่รัฐให้การช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะให้เปล่าก่อน แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นการสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข ไปจนถึงการสร้างระบบพี่เลี้ยงคอยดูแลในช่วงของการเปลี่ยนผ่านวิธีการผลิต ซึ่งการมีพี่เลี้ยงในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จำเป็นต้องทำอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การทำในลักษณะสร้างเกษตรกรตัวอย่างเสร็จแล้วจบ เหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้บริโภคควรใช้อำนาจซื้อในมือให้เป็นประโยชน์ด้วยการซื้อเฉพาะผลิตผลที่ไม่มีกระบวนการเผาในไร่นา ซึ่งภาครัฐต้องเขามาสนับสนุน เช่น การทำตราสัญลักษณ์ให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่มีการเผาในไร่นา ออกจากที่มีการเผาได้

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน อาจารย์วิษณุมองว่าหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle : PPP) ยังคงเป็นแนวคิดที่ต้องนำมาใช้กับการเผาในไร่นา คือเกษตรกรต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการแก้ไขปัญหาและปรับระบบการผลิต แต่รัฐบาลและสังคมทั้งสังคมต้องร่วมกันให้การสนับสนุน ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรแบกรับปัญหาตามลำพัง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 เม.ย. 2567

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 77

เกษตรกรได้อะไรจากนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาล

BookBankBAAC

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล ดำเนินการผ่านกลไกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรไทย เริ่มประกาศใช้นโยบายครั้งแรกในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วรวม 14 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หมดเขตวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่น่าแปลกใจคืองานวิจัยชี้ชัดว่า นโยบายการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา เกษตรกรไทยกลับมีมูลค่าหนี้เพิ่มสูงขึ้น บทความนี้ชวนทุกคนหาคำตอบว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาล

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการพักชำระหนี้ก่อน

การพักการชำระหนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ การปรับโครงสร้างหนี้ทั่วไป และการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา หมายถึงหนี้ที่ลูกหนี้เริ่มไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ นโยบายพักการชำระหนี้ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมามีหลากหลายรูปแบบทั้งการพักการชำระหนี้เฉพาะเงินต้น การพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แล้วแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

เพื่อทำความเข้าใจการพักการชำระหนี้กับผลกระทบต่อเกษตรกร มาทำความเข้าใจกับโครงสร้างหนี้และการผ่อนชำระหนี้กันก่อน  ปกติค่างวดที่เกษตรกรต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้จะประกอบด้วยส่วนของเงินต้นกับดอกเบี้ย การพักการชำระเงินต้นเพียงอย่างเดียว จึงหมายถึงการอนุญาตให้เกษตรกรหยุดการชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่หยุดเดินหน้าหากจะสะสมเพิ่มพูนขึ้น  การพักการชำระหนี้แบบนี้จึงทำให้เงินต้นไม่ลดลง แต่ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น การพักการชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ย จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงด้วย ส่วนการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย คือการที่ในช่วงของการหยุดชำระหนี้นั้นเงินต้นจะไม่ลด และดอกเบี้ยจะไม่เพิ่ม

การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ในช่วงปี 2558 -2564 มีหนี้สินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่พบว่าการพักชำระหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมา (ไม่นับครั้งล่าสุดในปีที่แล้ว) กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรสูงขึ้น โดยมีเหตุผล 2 ประการ

  1. เกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 77% เคยเข้าโครงการพักชำระหนี้ ที่มีเงื่อนไขกำหนดว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่สามารถขอเงินกู้เพิ่ม แต่เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ จำเป็นต้องมีเงินลงทุน ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้หันหน้าไปกู้นอกระบบหรือกู้จากกองทุนหมู่บ้าน กลายเป็นมีเจ้าหนี้เพิ่มมากขึ้น และเลือกชำระหนี้ส่วนอื่นๆ ก่อน ส่วนหนี้ ธ.ก.ส. จ่ายเป็นลำดับสุดท้าย
  2. พบว่ามีหลายกรณีที่ ธ.ก.ส. กำหนดให้เกษตรกรที่จะเข้าโครงการพักชำระหนี้ ต้องนำดอกเบี้ยค้างจ่าย มาทบรวมกับเงินต้น ทำให้ยอดเงินกู้ขยับสูงขึ้น

การพักการชำระหนี้จึงไม่ต่างจากกับดักทางการเงินที่ทำให้เกษตรกรวนเวียนอยู่ในวัฏจักรหนี้ ซึ่งการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรกว่า 90% มีหนี้คงค้างเฉลี่ยสูงถึง 432,932 บาท และกว่า 30% ของครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สูงกว่า 5 แสนบาท มูลค่าหนี้ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์แล้วจะพบว่าครัวเรือนเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยมีหนี้คิดเป็นมูลค่าถึง  70% ของสินทรัพย์เลยทีเดียว

ข้อมูลที่ชวนให้วิตกยิ่งประการหนึ่งคือ การที่เกษตรกรอายุเกินกว่า 60 ปี ซึ่งไม่ใช่วัยทำงานแล้ว แต่ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับไว้อยู่มากถึง 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.8 แสนคน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ

อย่างไรก็ดีนโยบายพักการชำระหนี้ครั้งล่าสุดของ ธ.ก.ส. ที่ประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2566 นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ธ.ก.ส. น่าจะได้ยินเสียงของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในประเด็นหนี้สินเกษตรกรอยู่บ้าง เพราะนโยบายพักการชำระหนี้รอบล่าสุดนี้ นอกจากการพักชำระเงินต้นแล้ว รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยระหว่างการพักการชำระหนี้ให้แทนเกษตรกรด้วย (แต่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างชำระ) โดยมูลค่าดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะชำระให้เกษตรกรตามนโยบายการพักการชำระหนี้รอบล่าสุดนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมถึงกว่า 54,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการพักการชำระหนี้ ที่รัฐบาลช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนนี้ต้องมีหนี้คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท ต่อราย และสามารถกู้เงินเพิ่มได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งประการหลังนี้จะทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบน้อยลง  นอกจากนี้ระหว่างที่อยู่ในช่วงของการพักการชำระหนี้ ธ.ก.ส. มีมาตรการพิเศษสำหรับลูกหนี้ที่ดี ให้สามารถนำเงินมาชำระเงินต้นได้โดยคิดเงินต้นได้ในอัตรา 50% ตลอดช่วงระยะเวลาของการพักการชำระหนี้ ทำให้เมื่อพ้นช่วงของการชำระหนี้มูลหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของเกษตรกรจะลดลง  ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ถูกมองว่าเป็นการพักการชำระหนี้ที่น่าจะเป็นมิตรและมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของเกษตรได้จริง

อย่างไรก็ตามภาระหนี้สินของเกษตรกรไม่ได้ผูกพันอยู่กับเจ้าหนี้ ธ.ก.ส. รายเดียว การศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบว่าครอบครัวเกษตรกร 1 ครัวเรือน มีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน เจ้าหนี้สำคัญนอกจาก ธ.ก.ส. แล้วยังมี สถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน และสถาบันการเงินเอกชน เช่น บริษัทเช่าซื้อ รวมถึงสินเชื่อนอกระบบ โดยสาเหตุของการเป็นหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ รายรับไม่พอรายจ่าย การประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ  เป็นหนี้เพราะคนใกล้ชิด เช่น การค้ำประกันให้เพื่อน หรือญาติพี่น้อง และการเป็นหนี้เพราะนโยบายของรัฐ ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของภาครัฐ นอกจากจะคำนึงถึงการลดลงของยอดหนี้ของ ธ.ก.ส. แล้ว ยังควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่จะไม่สร้างมูลหนี้เพิ่มในหนี้ยอดอื่นด้วย  

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มี.ค. 2567

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

  • ฮิต: 127

นโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นแค่ยาชาที่รอการผ่าตัดใหญ่

Debt suspension policy

คุณสมบัติของนโยบายพักหนี้เกษตกร ในวงเงินเพดานไม่เกิน 3 แสนบาท ในยุคของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แม้จะช่วยลดต้นลดดอกได้ถ้าใช้หนี้ตามกำหนด แต่หลายฝ่ายก็ยอมรับ อาจช่วยเกษตรกรได้แค่กลุ่มเดียวที่มีหนี้ไม่มาก แต่หากล้วงลึกถึงลูกหนี้กลุ่มใหญ่ของไทยก็คือเกษตรกรและพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 เกษตรกรไทยเป็นหนี้ และมีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของเกษตกรไทยที่อาจยังต้องใช้ชีวิตหมุนหนี้ไม่รู้จบ

ก่อนหน้านี้ The Active จัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 5 “นโยบายพักหนี้เกษตรกร” เปิดพื้นที่สะท้อนความคิดเห็นหาคำตอบให้กับนโยบายพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นวังวนหนี้สินมีหลากหลายมุมมอง พบว่าการแก้หนี้มีหลายมิติที่ต้องลงลึกให้ถึงนโยบายที่ตรงจุด

ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้กันเป็นวงกว้างและมีหนี้ปริมาณมาก กว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ และมีหนี้เฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน แม้จะมีมาตรการพักหนี้พักดอก แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ แก้ปัญหาหนี้สินที่เป็นอยู่ได้เพราะหนี้สินของเกษตกรไทยมักยากเกินจะแก้ไขสำหรับผู้ที่ติดกับวังวน ทั้งหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ถ้าเรามาย้อนดูภาคเกษตรไทย พบว่า รายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จากกราฟแท่งรูปนี้จะพบว่า ถ้าเทียบกับจังหวัดต่ำสุด ค่าแรงขึ้นต่ำ อยู่ที่ 328 บาท/วัน/คน ซึ้งถ้าดูกำไรจากการเกษตร (เฉลี่ย เมื่อปี 2017 -2021) จะพบว่า เกษตรกรไทยมีค่าแรง 202.7 บาท/คน/ครัวเรือน หากเทียบกันแล้ว รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรไทย มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

Debt suspension policy00

นโยบายพักหนี้เกษตกร เป็นแค่ยาชาที่รอการผ่าตัดใหญ่

นโยบายพักหนี้แบบเดิมยุค ‘ยิ่งลักษณ์’

คุณสมบัติ กู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไข ลูกหนี้ค้างชำระไม่สามารถกู้เพิ่มได้ ซึ่งจะเห็นว่านโยบายพักหนี้แบบเก่าพักแค่ต้นไม่ได้พักดอกเบี้ย ก็จะไปกู้นอกระบบ กู้แล้วจ่ายไม่ไหว จ่ายแต่ดอก หนี้ในระบบจะจ่ายหลังสุด บางคนก็หมุนหนี้และไม่รู้ผลกระทบระยะยาว จนทำให้ติดกับดักหนี้

นโยบายพักหนี้ปัจจุบันยุคเศรษฐา คุณสมบัติ กู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับลูกหนี้ค้างชำระ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน มีเงื่อนไข ลูกหนี้ค้างชำระเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะเห็นว่า ถ้ามองนโยบายพักหนี้ในปัจจุบัน แบบลงลึก เกษตกรต้องมีหนี้ ธ.ก.ส. รวมไม่เกิน 300,000 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การพักชำระหนี้รอบนี้ จะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินต้น คงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาทโดยในช่วง 3 ปี เงินต้นยังไม่ต้องชำระ ให้ชำระปีสุดท้าย ส่วนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างพักชำระหนี้รัฐบาลจะจ่ายชดเชยแทนให้กับ ธ.ก.ส. ปัจจุบัน มีเกษตกรมาแสดงความประสงค์แล้ว 1.6 ล้านคน เหลืออีก 6 แสนคน

สิ่งที่น่ากังวล คือการแก้นี้ไม่ตรงจุด เพราะเกษตกรกลุ่มใหญ่มีหนี้ก้อนใหญ่ต่ำสุด กว่า 4 แสน 5 หมื่นบาท ช่วยได้เกษตกรที่มีหนี้น้อย สิ่งที่หน้ากังวลอีกเรื่องคือ ยืดอายุหนี้ แต่ไม่ได้แก้หนี้ หนี้วิกฤตเข้าร่วมไม่ได้ ส่วนใหญ่อายุมากใช้หนี้ไม่ไหว เกิดมรดกหนี้ และเกิดหนี้เรื้อรัง

สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ย้ำว่า การกำหนดเพดานรวมหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท คือสัดส่วนของเกษตรกรที่ไม่มาก เพราะปัจจุบัน เกษตรกรมีหนี้มากกว่า 450,000 บาทต่อคน มูลนิธิชีวิตไท เคยเก็บสำรวจเกษตรกร 145 คน พบ เกษตกรมีหนี้ มากถึง 600,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นสัดส่วนของคนที่เข้าโครงการยังค่อนข้างน้อย

อาจารย์ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เกษตรกรไทยมีหนี้สินกันเป็นวงกว้าง และมีหนี้เฉลี่ยมากถึงกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโตขึ้นถึงร้อยละ 75 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และกว่าร้อยละ 57 ของครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกินศักยภาพในการชำระไปแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีหนี้ร้อยละ 90 ของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สิน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มหนี้เกษตรกรได้ออกเป็น 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้และหนี้จ่ายไม่ได้เลย กลุ่มหนี้ หรือหนี้เสียมีประมาณ ร้อยละ 20
  2. กลุ่มที่เป็นหนี้แต่จ่ายเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น หรือเรียกว่ากลุ่มหนี้เรื้อรัง ซึ่งถ้าจ่ายแต่ดอกเบี้ยหนี้ก็จะไม่ลดลงเลยเป็นกลุ่มที่ปิดดอกเบี้ยได้ยาก เรียกว่าติดกับดักหนี้ กลุ่มนี้มีประมาณ ร้อยละ 50 ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด
  3. กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินชำระได้ มีประมาณร้อยละ 30
Debt suspension policy04

“มาตรการพักหนี้ที่ผ่านมา 13 ครั้ง ในรอบ 8 ปี ครั้งนี้ก็ถือว่ามีความแตกต่างในครั้งก่อน ๆ การพักหนี้เกษตกรรรอบใหม่ สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน ที่เป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคนนั้น ก็ถือเป็นการพักทั้งต้นและพักทั้งดอก ถ้าไม่จ่ายก็เป็นการพักหนี้ปกติ แต่ถ้าจ่ายเงิน ก็จะเข้าไปตัดต้นและหนี้ลดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจนถ้าจ่ายก็จะลดหนี้ได้เร็ว”

อาจารย์ โสมรัศมิ์ ยังมีข้อเนอเชิงนโยบาย ย้ำถึงรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ดี แต่ก็ยอมรับว่ามาตรการพักหนี้อาจไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริง ประเด็นสำคัญต้องแก้ไขกลุ่มที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย คือกลุ่มหนี้เรื้อรังที่เป็นกลุ่มใหญ่เกิน ร้อยละ 50 ของลูกหนี้เกษตรกร เพราะปัญหาที่เกษตรกรกลุ่มนี้ จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ เช่น หนี้สินเกินศักยภาพที่จะจ่ายได้ ดังนั้นเงินที่จะจ่ายเท่าไร ก็ตัดได้แค่ดอกเบี้ย กลุ่มนี้ต้องช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพของเขา เช่น ลูกหนี้มีอายุไม่มาก ก็ยืดสัญญาออกเพื่อให้งวดต่อปีลดลง เพื่อจ่ายไปแล้วอาจตัดต้นเงินไปบ้าง แต่ถ้าลูกหนี้อายุมาก อาจปรับลำดับชำระ หรือมีดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งจริง ๆ แล้ว จะพบว่าหนี้เกษตรกรมักจะจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่มีดอกเบื้อสูงจากแหล่งอื่น ๆ ก่อน

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในระยะสั้น ควรส่งเสริมนโยบายการสื่อสาร ให้เกษตกรรับรู้และเข้าใจมาตรการแก้หนี้อย่างถูกวิธี ซึ่งภาคนโยบายต้องสร้างแรงจูงใจ และสื่อสารถึงเป้าหมายของการชำระหนี้ ขณะที่ภาคนโยบายควรเพิ่มการลดดอกเบี้ย

ในมุมมองการเพิ่มศักยภาพเกษตรกร ต้องเริ่มให้มีการต่อยอดเกษตรกร ทั้งการสนับสนุนการทำบัญชี การเริ่มออมเงิน การทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และตลาดนำการผลิต ขณะเดียวกันต้องมีสวัสดิการพื้นฐาน การเสริมทักษะนอกภาคการเกษตรด้วยการเสริมอาชีพอื่น ๆ สร้างงานที่หลากหลาย

ปรับโครงสร้างท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เช่นการกระจายอำนาจ ภายใต้แนวคิดพัฒนาชนบท ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร หนี้ที่เกิดจากความผิดพลาดจากนโยบายรัฐ ขณะที่รัฐต้องปรับนโยบาย คือภาครัฐต้องปรับนโยบายการอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จัดการหนี้นอกระบบ สนับสนุนกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยให้มีการพัฒนาต่อยอดได้

ตัวชี้วัดความสำเร็จนโยบาย

เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากที่สุด ยอดหนี้รวมลดลง เพิ่มรายได้ 15 % ลดรายจ่าย 15 % มีอาชีพเสริม

ตัวชี้วัดระยะยาว

เกษตรกรเกษียณโดยปลดหนี้ได้ มีเงินออม มีวินันชำระหนี้ ลดหนี้ได้จริง ไม่กู้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่ม รักษาพื้นที่ดินทำกินไว้ได้

 

ที่มา : The Active ThaiPBS วันที่ 13 ธ.ค. 2566

ผู้เขียน : นิตยา กีรติเสริมสิน

  • ฮิต: 200

หนี้สินเกษตรกร กับปัญหา PM 2.5 ในภาคการเกษตร

BurningRicefield

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคเกษตรเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน โดยมี “การเผา” เป็นปัจจัยสำคัญ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะลดความรุนแรงของปัญหา PM 2.5 ด้วยการควบคุมการเผาในภาคเกษตร ทั้งด้วยการ “สั่ง” และ “ส่งเสริม” ให้หยุดเผา แต่นโยบายเหล่านั้นไม่อาจส่งผลในทางปฏิบัติ ตราบที่รัฐมองไม่เห็นว่า “การเผา” ในภาคเกษตรเป็นปัญหาโครงสร้าง ที่เชื่อมโยงไปถึงหนี้สินเกษตรกร ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะแก้ไขได้ด้วยมาตรการเฉพาะหน้า

          ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งใช้ดาวเทียมในการตรวจวัดจุดความร้อน พบว่าปี 2566  ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะ 4 เดือนแรก ที่ชาวไทยมีจำนวนวันที่อากาศสะอาดให้สูดลมหายใจกันลึกๆ ได้น้อยมาก เป็นปีที่มีจำนวนจุดความร้อนในภาคเกษตรสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อจำแนกร้อยละของจุดความร้อนตามพื้นที่เกษตรก็พบว่าพบมากสุดในพื้นที่นาข้าว ทั้งข้าวนาปีและนาปรัง  รองลงมาคือในไร่ข้าวโพด และไร่อ้อย สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่พบว่าข้าว ข้าวโพด และ อ้อย เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่มีการเผามากที่สุด

          สิ่งที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามทำเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีต้นกำเนิดจากภาคการเกษตรคือ การรณรงค์ให้ลดและเลิกการเผา เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยเน้นการอบรมเกษตรกรและสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กรมการข้าว ลดการเผาตอซังข้าว สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินโครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน  การเฝ้าระวังการเผาซากวัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง แต่การเผาในพื้นที่การเกษตรก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมาตรการลดการเผาที่กล่าวมานั้นไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเผาได้

การจะลดการเผาในภาคเกษตรให้ได้ผล ต้องเข้าใจหลักการและเหตุผลที่เกษตรกรต้องทำการเผาในพื้นที่เกษตรของตนเองก่อน

          การเผาเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่เกษตรมักทำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาจจะก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการปลูกพืชชนิดใด พื้นที่นาข้าว ชาวนาจะเผาตอซังฟางข้าว ก่อนไถเตรียมดิน เพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน สำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูต่อไป ไร่อ้อย จะมีทั้งการเผาก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การเผาก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยและลดต้นทุนค่าจ้างตัด ส่วนการเผาหลังเก็บเกี่ยวจะทำเพื่อเผาใบอ้อยที่อยู่ในไร่ เพื่อป้องกันไฟไหม้ในช่วงอ้อยแตกหน่อใหม่ หรือเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน ในกรณีจะรื้อตออ้อยเพื่อปลูกอ้อยรอบใหม่ ส่วนไร่ข้าวโพด เกษตรกรจะเผาต้นและใบข้าวโพดในแปลงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน

          แล้วทำไมถึงต้องเผา ทั้งที่ปัจจุบันมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ใช้มากมาย คำตอบคือเพราะการเผาใช้ต้นทุนถูกกว่ามากทั้งต้นทุนด้านการเงินและแรงงาน เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี ทั้งรถไถกลบ ทั้งแทรกเตอร์ที่ช่วยเตรียมดินได้ดี ทั้งรถเกี่ยวผลผลิต การเผายังสะดวก และทำให้ร่นระยะเวลาในการทำการเกษตรได้ ฐานะการเงินของเกษตรกรไทยที่ยังวนเวียนติดกับดักภาระหนี้สินอย่างชนิดที่หาทางออกไม่ได้ สิ่งไหนที่ลดต้นทุนการผลิตได้สิ่งนั้นย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

          ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2556-2564 เกษตรกรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20,000-23,000 บาท ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่ประมาณ 15,000-17,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมการชำระหนี้สินที่แบกอยู่เต็ม 2 บ่า ปี 2556-2564 หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกรไทยอยู่ที่ 168,119-311,098 บาท โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นเจ้าหนี้หลัก

          การจะลดหรือเลิกการเผาพื้นที่จึงเป็นเรื่องยาก เพราะมันหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

          การจะทำให้เกษตรกรลดหรือเลิกเผาจะเกิดขึ้นได้จริงต่อเมื่อมีมาตรการจูงใจที่ส่งผลบวกต่อการลดหนี้สินหรือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ด้วยมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งประเด็นนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ได้ลุกขึ้นมาทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว โดยใช้ปัจจัยทางการเงินมาสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไร่อ้อยเลิกเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว มาตรการที่สำคัญคือมาตรการราคาที่มีการกำหนดให้ค่าส่วนต่างระหว่างอ้อยสดกับอ้อยเผาใบหรือบางครั้งเรียกว่าอ้อยไฟไหม้แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากจะกำหนดราคาโดยวัดค่าความหวาน (CCS) ซึ่งอ้อยสดจะมีค่าความหวานสูงกว่าอ้อยเผาใบทำให้โรงงานซื้อในราคาสูงกว่าแล้ว เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดยังได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ 120 บาท ต่อตันอ้อยอีกด้วย นอกจากนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังมีมาตรการจูงใจอื่นๆ ให้กับเกษตรกร เช่น โรงงานน้ำตาลมิตรผลรับซื้อใบอ้อยอัดก้อนจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เปลี่ยนใบอ้อยที่เคยถูกเกษตรกรเผาทิ้งให้กลายเป็นแหล่งรายได้เสริม แน่นอนว่าทำให้การเผาในไร่อ้อยลดปริมาณลง

          ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไร่อ้อยและน้ำตาล เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรเองก็พร้อมที่จะลดและเลิกการเผา หากมันช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น

          ปัจจุบันการทำไร่อ้อยแบบปลอดการเผายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรไร่อ้อยเองเคยออกมาบอกว่าการทำไร่อ้อยแบบปลอดการเผาจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเช่าซื้อเครื่องจักร เช่นรถตัดอ้อยสด หรือรถไถขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องสับใบอ้อย ไปจนถึงการสนับสนุนพันธุ์อ้อยที่กาบใบหลุดร่วงง่าย

          ในส่วนของไร่ข้าวโพดและนาข้าว ยังไม่พบว่ามีการเชื่อมโยงปัญหารายได้และหนี้สินเกษตรกรเข้ากับปัญหาการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ PM 2.5 อย่างเป็นระบบ มีเพียงบริษัท SCG ที่ดำเนินโครงการรับซื้อฟางข้าวจากชาวนาเพื่อลดปัญหาการเผาฟางข้าว โดยจะนำฟางไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์  ซึ่งพบว่ามีการทำโครงการร่วมกับชาวนาบางกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรบางส่วนนำฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้เสริม  แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในฐานะส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา PM 2.5 จากภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ

          ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงเห็นว่าการขับเคลื่อนของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 ควรต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติในการมองปัญหาฝุ่นจากการเผาไหม้ในภาคเกษตร จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้เป็นปัญหาโครงสร้างของภาคเกษตร ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหานี้สินเกษตรกรก่อนจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด  

ที่มา : ประชาไท วันที่ 8 มี.ค. 2567

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

 

  • ฮิต: 760

เกษตรกรจมกองหนี้ แค่การพักชำระหนี้ไม่เพียงพอ

Farmer counts money

เกษตรกรนับเงินหลังจากขายข้าวให้โรงสีแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชัยนาท วันที่ 29 สิงหาคม 2566

 อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ในจังหวัดยโสธรทางภาคอีสาน อานนท์ งิ้วลาย ทำนามาหลายสิบปีโดยที่เจ้าตัวอาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อมาซื้อที่ดิน วัว ควาย ปุ๋ย และเครื่องมือในการทำนา

เมื่อปีที่ผ่านมา อานนท์ขอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ เพื่อซื้อรถแทร็กเตอร์ราคา 1.2 ล้านบาท (ราว $32,000) ในเดือนมีนาคม อานนท์จ่ายหนี้เงินกู้บางส่วนไปบ้างแล้ว แต่ตามอายุสัญญาหนี้ ยังเหลืออีกราว 8 ปีกว่าที่จะชำระหนี้หมด เมื่อถึงตอนนั้น อานนท์จะมีอายุ 73 ปี

อานนท์ก็เหมือนกับเกษตรกรชาวไทยคนอื่น ๆ ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่กระนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามปีของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการรักษาฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัจจัยที่ผลักดันให้เกษตรกรไทยต้องประสบกับวิกฤตหนี้สินล้นพ้นตัว

"ตอนนี้เป็นเพียงการประคองคนไข้ คนไข้ก็ยังเป็นโรค" อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว

โครงการนี้เป็นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยสำหรับเกษตรกรที่มีเงินต้นคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ไม่เกิน 300,000 บาท (ราว $8,351) มีการประเมินว่าโครงการนี้จะเข้าถึงเกษตรกรเพียงหนึ่งในสามของเกษตรกรจำนวน 8 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยเท่านั้น

งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยราว 450,000 บาท และ 57% ของจำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้ ไร้หนทางที่จะชำระหนี้ได้หมด

TH-farmers-debt-2.jpg

เกษตรกรช่วยกันตัดหญ้าที่ขึ้นในนาข้าว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 มิถุนายน 2556 (อภิชาติ วีระวงษ์/เอพี)

"เราเน้นไปที่เกษตรกรรายย่อย เราต้องการช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน จำเป็นที่สุดก่อน" เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

‘นโยบายประชานิยม’

นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โครงการพักชำระหนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะคืนขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร อย่างไรก็แล้วแต่ นโยบายที่คล้ายคลึงกันในอดีตหลายรัฐบาลที่ผ่านไม่สามารถแก้ไขวงจรหนี้สินที่ไม่สิ้นสุดของเกษตรกรไทยได้

ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนมาเป็นเวลานาน ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ราวหนึ่งในสามของประชากร 71 ล้านคนกำลังประสบกับภาวะหนี้สิน โดยคิดเป็นจำนวนราว 90% ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน ในขณะเดียวกัน หนี้สินเกษตรกรที่พุ่งสูงขึ้นก็อาจเพิ่มให้วิกฤตหนี้สินทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 75%

TH-farmers-debt-3.jpg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2566 หลังจากนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง (ศักดิ์ชัย ละลิต/เอพี)

โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรซึ่งใช้งบประมาณของรัฐมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาทในกรอบระยะเวลาสามปี เป็นหนึ่งในบรรดานโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลใหม่ได้นำเสนอหลังการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 

โครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าจัดทำ รวมไปถึงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ต้องอัดฉีดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทเพื่อแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นการแจกเงินแบบประชานิยมในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดเพิ่มเติม เช่น ลดค่าพลังงาน และขยายการพักชำระหนี้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า รัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการหลุดพ้นจากการเป็นหนี้แต่อย่างใด

‘เลวร้ายยิ่งกว่าโครงการจำนำข้าว’

อาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนื้ กล่าวว่า “เท่าที่ฟังเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ดี ไม่ใช่ลูกหนี้ประเภท NPL ต้องดูว่าผิดกฏหมายการเงินการคลังหรือไม่”

อาจินเปรียบเทียบโครงการดังกล่าวกับโครงการจำนำข้าวที่เกิดขึ้นในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาในท้องตลาด

ในปี 2560 ยิ่งลักษณ์ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่เธอถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหารในปี 2557 มีการประเมินว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างหนี้สาธารณะราว 500,000 ล้านบาทด้วยกัน

“รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยเจ้าหนี้ มันยิ่งกว่าจำนำข้าวอีก” อาจินกล่าว

ประชาชนจมกองหนี้

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าว ทุเรียน และยางพารารายต้น ๆ ของโลก แต่เกษตรกรหลายล้านคนกลับตกอยู่ในวงจรแห่ง “หนี้อมตะ"

“กู้มาแล้ว ส่วนหนึ่งเอาไปกลบหนี้เดิม หนี้อมตะ รองลงมาปุ๋ย สารเคมี 35% เมล็ดพันธ์ 15%... เกษตรกรมักติดอยู่ในวังวนการผลิตเชิงเดี่ยว และจะเปลี่ยนที่ดินนั้นปลูกอย่างอื่นไม่ได้เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า ราคาปุ๋ยแพงขึ้น 11 เท่า หากเทียบกับราคาเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ราว 260 บาท ($7.25) ต่อวันเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยในปี 2565 ที่ 337 บาท ($9.40) เสียอีก

วิฑูรย์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาต่างออกนโยบายอุดหนุนราคาผลผลิตเพื่อรับประกันรายได้ของเกษตรกร แต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินนั้นกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข ในประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินของตนเองแต่อย่างใด

TH-farmers-debt-4.jpg

กลุ่มเกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์กลับบ้าน หลังการชุมนุมบนทางหลวง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557

(พรชัย กิตติวงศ์สกุล/เอเอฟพี)

สมศักดิ์ โยอินชัย เกษตรกรที่จังหวัดเชียงราย เป็นกรณีศึกษาในการหลุดจากวังวนแห่งการกู้หนี้ยืมสิน สมศักดิ์ ขอกู้จากธนาคารรัฐเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อเริ่มปลูกลำไย แต่กลับพบว่าต้นลำไยต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะออกผล

“ตอนกู้ครั้งแรกปลูกลำไย สี่ปีแรกไม่ได้เลย ปีที่สามเริ่มมีปัญหา ภาระครอบครัว การศึกษาลูก เอาเงินไปใช้ตรงนั้น แต่ก่อนปลูกกระเทียม กะหล่ำ ก็เป็นรายได้ประคับประคองครอบครัวสี่ปีแรก” สมศักดิ์กล่าว

ในช่วงเวลานั้น สมศักดิ์ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องกับธนาคาร ขณะนี้ เขาเปลี่ยนมาปลูกสมุนไพรแล้ว

“ตอนนี้ปลูกขิง ข่า ตะไคร้ ผมทำน้ำมันหอมระเหยพืชสมุนไพร มีสปามาซื้อ”

อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า กุญแจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตหนี้สิน คือการแนะนำให้เกษตรกรปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด มากกว่าการพึ่งพิงการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงิน หรือเงินอุดหนุน

"หากจะทำให้คนไข้หรือชาวนาหายป่วย ต้องทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุน และปรับแนวทางการตลาดตามผู้บริโภค" อัทธ์กล่าว

ที่มา : Benar News วันที่ 1 พ.ย. 2566

ผู้เขียน : จิตต์สิรี ทองน้อย

  • ฮิต: 601

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6749213
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2391
10037
29405
140739
6749213

Your IP: 18.116.36.221
2024-04-26 12:17