โลโคลแอคเผยผลการศึกษา เกษตรกรมีโอกาสน้อยที่จะหลุดจากวงจรหนี้นอกระบบ ปัจจุบันกลายเป็นสาเหตุใหญ่ของการสูญเสียที่ดิน เหตุเพราะไม่มีสถาบันการเงินที่เกษตรกรพึ่งพิงได้จริงชี้นโยบายปล่อยเงินกู้เพิ่มของรัฐ ยังเป็นแค่การห้ามเลือดไม่ใช่การรักษาแผลให้หายขาดแนะรัฐบาลใช้หลักการธนาคารคนจนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และผลักดันปัญหาหนี้เกษตรกรเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 โลโคลแอคหรือกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนเปิดเผยผลการศึกษา โครงการวิจัยการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ โดยพบว่าเกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ เพราะปัญหาสำคัญ3 ประการ คือ ขาดทุนจากการผลิตเพราะภัยธรรมชาติและราคาผลผลิตตกต่ำ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ให้กู้จากธนาคารของรัฐและสถาบันการเงิน ขาดความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการผลิตการตลาดการใช้จ่ายและการออม
ทั้งนี้ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่าแม้รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตระหนักถึงปัญหาการถูกยึดที่ดินของเกษตรกรจากนายทุนหนี้นอกระบบ และมีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยสำรวจหนี้สินเกษตรกร โดยเบื้องต้นพบมีเกษตรกรมีหนี้นอกระบบจำนวน 143,437 ราย มูลหนี้21,590 ล้านบาท โดยมีกลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน จากการนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ และอยู่ในชั้นบังคับคดีถูกยึดที่ดินถึงร้อยละ 65 หรือ 92,945 ราย แต่มาตรการแก้ปัญหาหนี้ของรัฐด้วยการปล่อยเงินกู้เพิ่มผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินนั้น อาจเป็นแค่มาตรการห้ามเลือด แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในระดับสาเหตุที่แท้จริง และตัดวงจรหนี้นอกระบบที่คุกคามเกษตรกรในปัจจุบันได้
จากงานศึกษาวิจัยพบว่า เกษตรกรในพื้นที่มักเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ในระบบก่อน โดยการนำหลักทรัพย์ไปค้ำประกันเงินกู้ เมื่อขาดทุนจากการผลิตแต่ต้องการรักษาที่ทำกินไม่ให้ถูกสถาบันการเงินในระบบยึด จึงเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ เมื่อเป็นหนี้นอกระบบแล้ว เกษตรกรน้อยรายที่จะรักษาที่ทำกินไว้ได้ เนื่องจากนายทุนนอกระบบบางกลุ่มหวังผลในที่ดินและทรัพย์สินของเกษตรกรปัจจัยผลักดันสำคัญคือเกษตรกรไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันชุมชนไม่มีสถาบันการเงินรองรับความเดือดร้อนเฉพาะหน้า รัฐไม่มีสวัสดิการสังคมและมาตรการประกันความเสี่ยงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งไม่มีธนาคารที่ดินที่เกษตรกรจะสามารถนำที่ดินไปจำนองชั่วคราวได้
กรณีศึกษาในโครงการวิจัย นายอุดม คุ้มภัย เกษตรกรจังหวัดราชบุรีมีที่ทำกิน 1 ไร่ 2 งาน ประกอบอาชีพเพาะเห็ด ทำก้อนเชื้อเห็ดขาย เหตุเพราะต้องการทำโรงเรือนเพาะเห็ดจึงนำโฉนดที่ดินไปจำนองกับนายทุนเงินกู้นอกระบบและขอกู้เงิน300,000 บาทแต่ได้รับเงินกู้จริงเพียง280,000 บาท เพราะถูกหักดอกเบี้ยเมื่อลงทุนแล้วกลับประสบปัญหาไรแดงทำลายก้อนเห็ด เห็ดไม่ออกดอกและขาดทุนอย่างหนัก ด้วยเกรงว่าจะสูญเสียที่ดิน จึงต้องหาเงินกู้แหล่งใหม่เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่เนื่องจากไม่มีสถาบันการเงินที่พึ่งพิงได้ และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบถึง 7 แห่งเพื่อหมุนหนี้ รวมทั้งหนี้หมวกกันน็อคที่ตามทวงทุกวัน สุดท้ายรอดมาได้ด้วยการตั้งสติขอนัดเจรจากับเจ้าหนี้
รศ.วันชัย มีชาติคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการศึกษาพัฒนานโยบายการยุติธรรมเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบว่า ควรผลักดันให้แก้กฎหมายอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงปัจจุบันจดทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบ รวมทั้งลงทะเบียนแบ่งประเภทของลูกหนี้นอกระบบให้ชัดเจน เพื่อให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มที่มีปัญหาเร่งด่วน เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบปัญหาภัยพิบัติซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือ แบบกึ่งให้การสงเคราะห์ เหมือนกรณีตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก คือร้อยละ 0.5-1.5 ต่อปีเพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินได้รับการช่วยเหลือและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ผลการศึกษาของโลโคลแอค มีข้อเสนอว่าแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบคือการมีสถาบันการเงินในชุมชนที่เข้มแข็งและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่คัดกรองและช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบอย่างจริงจังควรลดกฎเกณฑ์การเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารของรัฐเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้จริงและควรใช้หลักการธนาคารเพื่อคนจนเข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เหมือนกรณีประเทศญี่ปุ่นและบังคลาเทศรวมทั้งควรสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรด้วยการสร้างหลักประกันทางรายได้ และการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อวางแผนการผลิตการตลาดและการออมในครัวเรือน