• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ปัจจัยการผลิต

ต้นทุนแพง ราคาข้าวต่ำ ซ้ำเติมหนี้สินชาวนา

Riceprice

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงค์รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น หมู ไก่ ผัก น้ำมันปาล์ม แต่เหตุใดราคาข้าวเปลือกจึงตกต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการทำนาที่พุ่งสูงขึ้น มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการผลิต ตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตปัญหาต้นทุนสูงและปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว จะส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ชาวนาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำในทุกชนิดข้าว ดังนี้ ปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.)  ราคาข้าวเปลือกเจ้า ลดลงเหลือ 7,801 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงเหลือ 9,651 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลงเหลือ 7,814 บาทต่อตัน  (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า 8,434 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,916 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,648 บาทต่อตัน  

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผลตอบแทนของชาวนาภาคกลาง ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายให้โรงสี จะเป็นข้าวความชื้นสูง 20-25% หลังหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนของชาวนาภาคกลางปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนามีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมชาวนาเช่า) และการปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน เฉลี่ย 700 กก.ต่อไร่ หรือได้รายได้ 4,900 บาทต่อไร่ หลังหักต้นทุนแล้วชาวนาจะมีกำไรจากการขายข้าวเพียง 900 บาทต่อไร่เท่านั้น และหากรวมเงินชดเชยส่วนต่างรายได้จากภาครัฐเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากรายได้ที่ต่ำต้อยเช่นนี้

ดังนั้นในปีการผลิตปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตสงคราม วิกฤตต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาภาคกลางเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ อาทิเช่น ค่ารถไถ จากเดิมไร่ละ 500 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 600 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไร่ละ 1,300 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 1,785 บาท โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 700 บาท เพิ่มเป็นกระสอบละ 1,800 บาท (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา จ.สุพรรณบุรี เดือนมิถุนายน 2565)  แม้ว่าจะมีชาวนาบางส่วนพยายามปรับตัวลดพื้นที่ทำนา ลดรอบการทำนา และลดต้นทุนการผลิตลงในส่วนที่สามารถจัดการได้เอง เช่น ปุ๋ย แรงงาน แต่ด้วยภาระหนี้สินติดพันของชาวนา การงดเว้นหรือหยุดทำนาชั่วคราวอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะชาวนาส่วนหนึ่งอยู่รอดได้จากการหมุนเวียนหนี้และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ซึ่งหากประเมินแนวโน้มราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้อาจสวนทางและตกต่ำเช่นนี้ ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิของชาวนาอาจติดลบหรือขาดทุนถึง 1,000-2,000 บาทต่อไร่  

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาของชาวนาไทย ที่เผชิญมาตลอดก็คือปัญหารายได้ต่ำ ปัญหารายได้ไม่แน่นอน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยรายได้จากการขายข้าวภายใต้กลไกตลาดที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะแพงหรือราคาข้าวตกต่ำ กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวนาแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวนาเป็นผู้แบกรับต้นทุนการผลิตและแบกรับความเสี่ยงไว้มากที่สุด ในปี 2551 ยุควิกฤตข้าวราคาแพง มูลนิธิชีวิตไท(Local Act) ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำไรจากข้าวสารบรรจุถุง ราคากิโลกรัมละ 37 บาท พบว่าชาวนาได้กำไร เพียงร้อยละ 8.35 ต้นทุนชาวนาร้อยละ 45.14  กำไรโรงสี ร้อยละ 17.62 ต้นทุนโรงสี ร้อยละ 2.92 ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 2.70 กำไรผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 3.27 กำไรผู้ค้าปลีก/ห้างค้าปลีก ร้อยละ 20

ชาวนาไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมแต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ ก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่ ราคา 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้งและไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ นั่นคือภาระหนี้สินในอดีต จากการลงทุนทำนาเพื่อหวังกอบกู้ฐานะตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา

ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเปราะบางกว่าอาชีพอื่น การปรับตัวของชาวนามีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวนาจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเองและฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6792873
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
4875
16904
38628
21779
6792873

Your IP: 3.144.36.141
2024-05-02 15:07