• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - วิกฤตเศรษฐกิจ

KKP Research คาด วิกฤตอาหารโลกช่วยดันรายได้เกษตรกรไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี ยกเว้นชาวนาที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดทุน

KKP Research

สำนักวิจัย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดวิกฤตอาหารขาดแคลนไปทั่วโลก และน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก แต่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า จะเป็นแรงกดดันให้รายได้สุทธิของเกษตรกรปรับดีขึ้นได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวนา 

นอกจากนี้ ราคาอาหารที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตอย่างราคาปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ จะกลายเป็นความเสี่ยงหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยสูงมากกว่าที่คาด จากสัดส่วนอาหารสดและอาหารทุกประเภทในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 21% และ 38%

ต้นทุนปุ๋ยทะยาน

KKP Research ระบุว่า แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, มันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ราคาข้าวคาดว่าจะยังตกต่ำในปีนี้ จากผลผลิตที่ดีกว่าที่คาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ และจากการที่ไม่ได้เป็นสินค้าทดแทนพลังงานอย่างสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงคาดว่ารายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 9.7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตรทุกประเภท ยกเว้นชาวนาผู้ปลูกข้าวที่รายได้จะยังลดลงตามราคาข้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ในด้านต้นทุนราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะข้าวที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคกลางและเหนือ จะเปลี่ยนจากมีกำไร 20.9% ของรายได้ทั้งหมด มาเป็นขาดทุน 1.5% ขณะที่ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จากที่ขาดทุนอยู่แล้ว 27.5% ของรายได้ทั้งหมด จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.6% เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าข้าวเจ้ามากกว่า 2 เท่า แต่มีราคาที่สูงกว่าข้าวเจ้าเพียง 1.5 เท่า

นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นได้ โดยกำไรขั้นต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจาก 16.6% ของรายได้รวม เป็น 8.3% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงพอ

3 ความเปราะบางของชาวนาไทย

KKP Research ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ว่าเกิดจาก

  1. ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเอเชียถึง 32% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหรือเท่ากับเอเชีย เช่น ปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 21% หรือมันสำปะหลังที่สูงกว่า 6% 
  1. มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัด หรือ 13% ของจังหวัดทั้งหมดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ขณะที่สินค้าอื่นๆ จะมีการเพาะปลูกในบางจังหวัดเท่านั้น และมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่สัมพันธ์กับผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด
  1. ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งโลกในช่วงปี 2002-2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหากเทียบเฉพาะในอาเซียนก็ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 47% เท่านั้น โดยราคาของข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แพงกว่าข้าวหอมมะลิของเวียดนามและกัมพูชาประมาณ 50% และ 19% ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้าธรรมดาแพงกว่าเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ประมาณ 10%, 15% และ 18% ตามลำดับ

3 แนวทางเสริมแกร่งเกษตรกร

KKP Research ประเมินว่า ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาล นอกจากจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างปัญหาเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลงมาก และซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น 

  1. การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม คือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ ขณะเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังพบหลายจังหวัดมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยเกินไป แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงก็ตาม
  1. การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 59 ล้านไร่ กลับมีถึง 74.3% หรือ 44.5 ล้านไร่ ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และคิดเป็นผลผลิตถึง 65% ของปริมาณข้าวทั้งหมด และเมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ การปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60% โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 51%
  1. การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีตลาดประกันวินาศภัยในภาคเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้น

รับมือวิกฤตอาหาร

KKP Research มองว่า แม้ในปัจจุบันประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารในไทยอาจจะยังไม่น่ากังวลเหมือนหลายประเทศในโลก แต่ในระยะยาวจากความเปราะบางของภาคเกษตรไทยที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ ทำให้ไทยจำเป็นต้องวางแผน พัฒนา และลงทุน เพื่อเตรียมรับมือ 

โดยจากข้อมูล Global Food Security Index ของ The Economist พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability) แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเอง ยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก

ที่มา : The Standard วันที่ 5 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : ดำรงเกียรติ มาลา

 

แผนเกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ความหวังพลิกฟื้นวิกฤต

OrganicFarmerKanchanaburi

ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรฯ ดันไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์อาเซียน ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 1.34 ของพื้นที่ทางการเกษตรประเทศ 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนราย และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี  โดยได้นำเสนอผลสำเร็จการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,515,132 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.3 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 95,752 ราย (พื้นที่เฉลี่ย 15.82 ไร่ต่อราย) สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,069 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค  ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปีฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล

แนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามร่างแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ 1) ด้านส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 2) ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

3) ด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570  จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ในปี 2570 และ จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง 4) ด้านการพัฒนาการตลาดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญประกอบด้วย 1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรเน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม และควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้  2) ด้านการผลิตควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านระบบออนไลน์ และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ 4) ด้านตลาด ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาดออนไลน์ เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้น การผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเป็นทางเลือกและความหวังหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คือ การสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่เอื้อเชิงนโยบายให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหนี้สิน จึงควรมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์มากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6792316
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
4318
16904
38071
21222
6792316

Your IP: 18.219.14.63
2024-05-02 12:36