• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ครัวไทยสู่ครัวโลก

KKP Research คาด วิกฤตอาหารโลกช่วยดันรายได้เกษตรกรไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี ยกเว้นชาวนาที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดทุน

KKP Research

สำนักวิจัย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดวิกฤตอาหารขาดแคลนไปทั่วโลก และน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก แต่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า จะเป็นแรงกดดันให้รายได้สุทธิของเกษตรกรปรับดีขึ้นได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวนา 

นอกจากนี้ ราคาอาหารที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตอย่างราคาปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ จะกลายเป็นความเสี่ยงหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยสูงมากกว่าที่คาด จากสัดส่วนอาหารสดและอาหารทุกประเภทในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 21% และ 38%

ต้นทุนปุ๋ยทะยาน

KKP Research ระบุว่า แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, มันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ราคาข้าวคาดว่าจะยังตกต่ำในปีนี้ จากผลผลิตที่ดีกว่าที่คาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ และจากการที่ไม่ได้เป็นสินค้าทดแทนพลังงานอย่างสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงคาดว่ารายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 9.7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตรทุกประเภท ยกเว้นชาวนาผู้ปลูกข้าวที่รายได้จะยังลดลงตามราคาข้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ในด้านต้นทุนราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะข้าวที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคกลางและเหนือ จะเปลี่ยนจากมีกำไร 20.9% ของรายได้ทั้งหมด มาเป็นขาดทุน 1.5% ขณะที่ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จากที่ขาดทุนอยู่แล้ว 27.5% ของรายได้ทั้งหมด จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.6% เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าข้าวเจ้ามากกว่า 2 เท่า แต่มีราคาที่สูงกว่าข้าวเจ้าเพียง 1.5 เท่า

นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นได้ โดยกำไรขั้นต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจาก 16.6% ของรายได้รวม เป็น 8.3% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงพอ

3 ความเปราะบางของชาวนาไทย

KKP Research ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ว่าเกิดจาก

  1. ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเอเชียถึง 32% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหรือเท่ากับเอเชีย เช่น ปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 21% หรือมันสำปะหลังที่สูงกว่า 6% 
  1. มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัด หรือ 13% ของจังหวัดทั้งหมดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ขณะที่สินค้าอื่นๆ จะมีการเพาะปลูกในบางจังหวัดเท่านั้น และมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่สัมพันธ์กับผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด
  1. ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งโลกในช่วงปี 2002-2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหากเทียบเฉพาะในอาเซียนก็ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 47% เท่านั้น โดยราคาของข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แพงกว่าข้าวหอมมะลิของเวียดนามและกัมพูชาประมาณ 50% และ 19% ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้าธรรมดาแพงกว่าเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ประมาณ 10%, 15% และ 18% ตามลำดับ

3 แนวทางเสริมแกร่งเกษตรกร

KKP Research ประเมินว่า ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาล นอกจากจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างปัญหาเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลงมาก และซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น 

  1. การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม คือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ ขณะเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังพบหลายจังหวัดมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยเกินไป แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงก็ตาม
  1. การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 59 ล้านไร่ กลับมีถึง 74.3% หรือ 44.5 ล้านไร่ ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และคิดเป็นผลผลิตถึง 65% ของปริมาณข้าวทั้งหมด และเมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ การปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60% โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 51%
  1. การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีตลาดประกันวินาศภัยในภาคเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้น

รับมือวิกฤตอาหาร

KKP Research มองว่า แม้ในปัจจุบันประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารในไทยอาจจะยังไม่น่ากังวลเหมือนหลายประเทศในโลก แต่ในระยะยาวจากความเปราะบางของภาคเกษตรไทยที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ ทำให้ไทยจำเป็นต้องวางแผน พัฒนา และลงทุน เพื่อเตรียมรับมือ 

โดยจากข้อมูล Global Food Security Index ของ The Economist พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability) แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเอง ยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก

ที่มา : The Standard วันที่ 5 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : ดำรงเกียรติ มาลา

 

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

WorldKithchenThailand

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ร่วมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในนามนักวิชาการ ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมสะท้อนอุปสรรค โอกาส และแนวทางการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมือง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจากปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต”

 

 

 ส่วนประเด็นร้อนตอนนี้ ปุ๋ยแพง ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ควรไปทางไหนดี นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า “ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจากปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน”

  

 

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า “ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญ จากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนราย จนในที่สุด ต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น”

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด ได้เล่าประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) ไว้ว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้ง ความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ”

 

ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP (เกษตรเคมี) สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้ง สารกำจัดศัตรูพืช ได้บริหารจัดการนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยในปีนี้ คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญที่สุด กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งการเกษตรระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่”

 

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างน่าสนใจ โดย พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ความสำคัญในเรื่อง “เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์”

ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เน้นว่า “นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ”

 

 

 

 

 

ด้าน พรรคก้าวไกล ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทยว่า “หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น ด้วย 1) แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2) แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3) แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมียม ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อกหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองต่อทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

และ พรรคเพื่อไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ เสริมว่า “เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือ เพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต”

 

 

 

 “ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP (เกษตรเคมี) อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

ที่มา : มติชน วันที่ 21 มิ.ย. 2565

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6791836
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
3838
16904
37591
20742
6791836

Your IP: 18.216.190.167
2024-05-02 08:41