วิกฤตสังคมสูงวัย กับการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร

Sanamchaikhet

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 9 ปี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า ในปี 2555 มีอัตราการเกิด 818,901 คน อัตราการตาย 423,213 คน ปี 2564 มีอัตราการเกิด 544,570 คน อัตราการตาย 563,650 คน จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 9 ปี มีอัตราการเกิดลดลงเกือบ 3 แสนคน และในปี 2564 มีอัตราการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่มาทดแทนอย่างเพียงพอ รวมถึงภาคเกษตรกรรม จากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 อาจเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดโอกาสทำให้แรงงานบางส่วนตัดสินใจกลับบ้านทำอาชีพภาคเกษตร อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤตคลายตัวแรงงานเหล่านี้ก็เลือกกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างนายทุนเช่นเดิม ในเวทีแลกเปลี่ยนของเครือข่ายภาคเกษตรจึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจภาคการเกษตรและเข้ามาสืบทอดอาชีพได้อย่างมั่นคง

          เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนและทีมงานมูลนิธิชีวิตไทได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและถอดบทเรียนการรับมือผลกระทบในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการพัฒนาพื้นที่นำร่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีศึกษากลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดขึ้นโดย สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ได้มีการพูดถึงประเด็น “แนวทางการสืบทอดอาชีพของเกษตรกรรุ่นใหม่” การแลกเปลี่ยนบทเรียนกันในเวทีได้เสนอว่า การสืบทอดอาชีพภาคเกษตรควรแยกเป็น 2 ประเด็น คือ การส่งเสริมคนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพภาคเกษตร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรด้วยตนเอง

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่

DongbunOrganicgroup

การที่คนรุ่นใหม่หันออกจากภาคเกษตรนั้นส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของพ่อแม่ที่มาจากประสบการณ์ความลำบากของตนเอง ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง จึงได้สร้างแนวคิดและสังคมใหม่ให้ลูก ผู้เข้าร่วมในเวทีได้แลกเปลี่ยนบทเรียนกัน ดังนี้

          “ในสมัยเด็กๆ เราเติบโตมาในสังคมการเกษตร หลักคิดโบราณเมื่อพ่อแม่เป็นเกษตรกรแล้วเราช่วยงานในแปลงของพ่อแม่ ต้องมีลูกเยอะเพื่อเป็นแรงงาน แต่คนสมัยนี้พอตนทำไร่ทำนาแล้วลำบากก็เลยเลี้ยงลูกให้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ใช้ลูกเลย เด็กสมัยนี้เราก็จะเห็นว่าลูกหลานเราจะไปเรียนและเล่นเกมเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความบังเอิญเกิดขึ้น ลูกเล่นเกมไปเล่นเกมมา แล้วคิดว่ามาทำเกษตรดีกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราควรสร้างสังคมเกษตรกรแบบดั้งเดิม”

          ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่งมีความเห็นสอดคล้องว่า “อนาคตจะไม่เหลือคนทำเกษตรต่อ เพราะคนรุ่นหลังไม่ค่อยสนใจการเกษตร วิถีวัฒนธรรมยุคใหม่ แม้กระทั่งพ่อแม่ปู่ย่าตายายทั้งหลายก็ไม่ส่งเสริม เพราะอาชีพเกษตรกรทำรายได้น้อย การส่งเสริมยุคก่อนมีค่านิยมให้ลูกเป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการมีความมั่นคงในชีวิต”

          ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์ของตนเองว่า “การสืบทอดอาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่ อาจต้องรอเวลา ไม่ควรไปบังคับ อาจจะหลังเกษียณหรือลาออกงานประจำเพื่อมาทำเกษตร เชื่อว่าวันหนึ่งเขาต้องถูกผลักให้เข้าสู่ภาคเกษตร อย่างไรก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดภาคเกษตรแน่นอน”

          จากการแลกเปลี่ยนข้างต้นจะเห็นว่า “คนรุ่นใหม่ในภาคเกษตร” ไม่ได้หมายถึง คนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่รวมถึงคนเกษียณอายุ คนจากภาคอาชีพอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องให้คนรุ่นใหม่ทุกคนมีอาชีพเกษตรกรทั้งหมด แต่คนรุ่นใหม่เขามาพร้อมกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ  บางส่วนอาจเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ระบบอาหารและพันธมิตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกร เช่น การทำร้านอาหาร การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้ผลผลิตเกษตรกร

          ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร นอกจากวิธีคิดของพ่อแม่และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแล้วยังมีเรื่อง การไม่มีสวัสดิการให้กับภาคเกษตร ภาคการเกษตรรายได้ต่ำ และการขาดปัจจัยการผลิตหรือทุนในการผลิต คนรุ่นใหม่บางคนไม่มีความสนใจแต่มีที่ดิน บางคนไม่มีที่ดินแต่มีความสนใจ ดังนั้นการที่จะดึงให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งท้าทาย

          นอกจากนี้ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ภาคเกษตรว่า คนรุ่นใหม่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ภาคเกษตร แต่ต้องมีจุดที่มาบรรจบกันของแนวคิดของเกษตรกรรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่และคนในสังคม ทั้งเรื่องการมีสวัสดิการ การมีรายได้ที่มั่นคง มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับอาชีพอื่นในสังคม รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ทำเกษตร และต้องเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ถ้ามีนโยบายมาสนับสนุน ก็จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเข้าสู่ภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้น

          รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ระบุในบทความ “ตั้งหลักใหม่ภาคเกษตรไทย: เกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวมากกว่าที่รัฐคิด” มองว่าเกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว และได้ยกตัวอย่างนโยบายการดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรของประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ไว้ว่า ประเทศเหล่านี้มีนโยบายการให้เงินทุนและสินเชื่อราคาถูกแก่นักศึกษาที่จบปวช. ปวส. หรือปริญญาตรีด้านเกษตร สามารถเข้าไปก่อร่างสร้างตัวด้วยอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะ นอกจากจะให้ทุนแล้ว ยังให้หลักประกันด้วย โดยมีข้อกำหนดเลยว่าหากประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐจะสนับสนุนอะไร อย่างไรบ้าง

     ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางส่งเสริมการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่เพื่อให้ทันกับภาวะวิกฤตสังคมสูงวัยและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ควรมีทั้งการปรับวิธีคิดและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนทั้งจากสังคมภาคเกษตร การแบ่งบทบาทและจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนระหว่างคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่ออาชีพเกษตรกรของสังคมด้วย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิ.ย. 2565

ผู้เขียน : จินดาพร เกลี้ยงเกลา

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6793806
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5808
16904
39561
22712
6793806

Your IP: 18.223.106.100
2024-05-02 18:20