การปรับตัวของชาวนาและคนจนยุค ‘ต้นทุนชีวิตแพง’

FarmerEating

2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยและสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาโรคระบาดยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาใหม่ก็วิ่งเข้ามา ปัญหาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และจากการสำรวจของธนาคารโลก กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะรายจ่ายด้านพลังงานและอาหารเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ นั่นหมายความว่าต้นทุนชีวิตของคนจนจะแพงกว่านั่นเอง กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” เพราะเมื่อราคาค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือนด้วย

“รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนช่วยประหยัดพลังงานลดค่าใช้จ่ายตนเอง...” ถ้อยแถลงของรัฐบาลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกรอบ เมื่อวันที่  8 มีนาคม 2565

“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เมื่อรายได้ลดลง ราคาสินค้าพลังงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้นเกือบ 50% ทำให้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ต้นทุนชีวิตคนจนแพงทั้งแผ่นดิน

ปัญหาเศรษฐกิจและต้นทุนราคาสินค้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยอย่างรุนแรงมากที่สุด เพราะรายได้ที่หามานั้น จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เฉลี่ยประมาณ 50-70% ของรายได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนสำคัญในการผลิตขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารและของใช้จำเป็น อาทิเช่น แก๊ซหุงต้ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช หมู ไก่ แพงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5-20% เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนกลุ่มนี้ที่ยังเท่าเดิม แล้วปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะอยู่รอดได้อย่างไร ต้องบอกว่าแม้คนจนเหล่านี้จะพยายามแล้ว ก็ยังอยู่ยาก และอาจพากันอดตาย

ต้นทุนการผลิตของชาวนาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

จากภาวะต้นทุนและภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากไม่ต่างจากคนจนเมืองและผู้ใช้แรงงาน แม้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารด้วยการทำเกษตรหลากหลายไว้บริโภคเองในครัวเรือน แต่ชาวนาส่วนใหญ่มีต้นทุนชีวิตติดลบมานานแล้ว จากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและความเสียหายจากภาวะสภาพภูมิอากาศ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินชาวนาและเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74  รวมถึงยังมีหนี้งอกออกมาจากโครงการพักชำระหนี้ของรัฐ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้พักด้วย เข้ามาซ้ำเติมจนเกิดเป็นหนี้สะสม  

การปลูกข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 100% และจะปรับสูงขึ้นแบบขั้นบันไดอีกไม่ต่ำกว่า 20% การปรับตัวของชาวนาหากมีการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตการทำนาลดลงจาก 4,000 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,000 บาทต่อไร่ (ที่มา: สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย 25 เม.ย. 2565 )

การปรับตัวของชาวนาและคนจน รับมือต้นทุนชีวิตแพง

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงหรือขอความร่วมมือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต่างปรับตัวและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายตามเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็น หารายได้เสริม วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า เกษตรกร แรงงานและประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งก็เผชิญปัญหา “รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น” จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แถมคนส่วนหนึ่งยังตกงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าแรง ทั้งนี้ทางออกต่อวิกฤตปัญหาปากท้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพต้องมองทั้งระดับปัจเจกและโครงสร้าง ต้องมองไกลไปกว่าการ “ปรับพฤติกรรม” หรือ ““ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาลคือนโยบายการลดและบรรเทาภาระความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การลดต้นทุน/ภาระค่าครองชีพ ควบคู่กับการนำเม็ดเงินจากภาครัฐมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และจับต้องได้นั่นคือ “เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น” เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนมีรายได้มาสู้กับภาวะต้นทุนชีวิตแพงทั้งแผ่นดิน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 3 พ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ต้นทุนแพง ราคาข้าวต่ำ ซ้ำเติมหนี้สินชาวนา

Riceprice

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงค์รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น หมู ไก่ ผัก น้ำมันปาล์ม แต่เหตุใดราคาข้าวเปลือกจึงตกต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการทำนาที่พุ่งสูงขึ้น มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการผลิต ตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตปัญหาต้นทุนสูงและปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว จะส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ชาวนาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำในทุกชนิดข้าว ดังนี้ ปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.)  ราคาข้าวเปลือกเจ้า ลดลงเหลือ 7,801 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงเหลือ 9,651 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลงเหลือ 7,814 บาทต่อตัน  (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า 8,434 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,916 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,648 บาทต่อตัน  

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผลตอบแทนของชาวนาภาคกลาง ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายให้โรงสี จะเป็นข้าวความชื้นสูง 20-25% หลังหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนของชาวนาภาคกลางปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนามีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมชาวนาเช่า) และการปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน เฉลี่ย 700 กก.ต่อไร่ หรือได้รายได้ 4,900 บาทต่อไร่ หลังหักต้นทุนแล้วชาวนาจะมีกำไรจากการขายข้าวเพียง 900 บาทต่อไร่เท่านั้น และหากรวมเงินชดเชยส่วนต่างรายได้จากภาครัฐเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากรายได้ที่ต่ำต้อยเช่นนี้

ดังนั้นในปีการผลิตปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตสงคราม วิกฤตต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาภาคกลางเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ อาทิเช่น ค่ารถไถ จากเดิมไร่ละ 500 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 600 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไร่ละ 1,300 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 1,785 บาท โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 700 บาท เพิ่มเป็นกระสอบละ 1,800 บาท (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา จ.สุพรรณบุรี เดือนมิถุนายน 2565)  แม้ว่าจะมีชาวนาบางส่วนพยายามปรับตัวลดพื้นที่ทำนา ลดรอบการทำนา และลดต้นทุนการผลิตลงในส่วนที่สามารถจัดการได้เอง เช่น ปุ๋ย แรงงาน แต่ด้วยภาระหนี้สินติดพันของชาวนา การงดเว้นหรือหยุดทำนาชั่วคราวอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะชาวนาส่วนหนึ่งอยู่รอดได้จากการหมุนเวียนหนี้และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ซึ่งหากประเมินแนวโน้มราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้อาจสวนทางและตกต่ำเช่นนี้ ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิของชาวนาอาจติดลบหรือขาดทุนถึง 1,000-2,000 บาทต่อไร่  

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาของชาวนาไทย ที่เผชิญมาตลอดก็คือปัญหารายได้ต่ำ ปัญหารายได้ไม่แน่นอน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยรายได้จากการขายข้าวภายใต้กลไกตลาดที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะแพงหรือราคาข้าวตกต่ำ กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวนาแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวนาเป็นผู้แบกรับต้นทุนการผลิตและแบกรับความเสี่ยงไว้มากที่สุด ในปี 2551 ยุควิกฤตข้าวราคาแพง มูลนิธิชีวิตไท(Local Act) ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำไรจากข้าวสารบรรจุถุง ราคากิโลกรัมละ 37 บาท พบว่าชาวนาได้กำไร เพียงร้อยละ 8.35 ต้นทุนชาวนาร้อยละ 45.14  กำไรโรงสี ร้อยละ 17.62 ต้นทุนโรงสี ร้อยละ 2.92 ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 2.70 กำไรผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 3.27 กำไรผู้ค้าปลีก/ห้างค้าปลีก ร้อยละ 20

ชาวนาไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมแต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ ก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่ ราคา 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้งและไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ นั่นคือภาระหนี้สินในอดีต จากการลงทุนทำนาเพื่อหวังกอบกู้ฐานะตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา

ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเปราะบางกว่าอาชีพอื่น การปรับตัวของชาวนามีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวนาจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเองและฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่“ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6791997
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
3999
16904
37752
20903
6791997

Your IP: 3.17.28.48
2024-05-02 09:53