• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ตลาดข้าวอินทรีย์

“ผูกปิ่นโตข้าว” พลังผู้บริโภคสนับสนุนการแก้หนี้และเลิกเคมีของชาวนา

RiceFarmersupanburi

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ ใกล้จะมาถึงในเวลาไม่ช้าไม่นาน จับสัญญาณจากรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาบรรดา ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากฝั่งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างตบเท้ากันลงพื้นที่และจัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นำเสนอผลงานและนโยบายกับพี่น้องประชาชน ชาวนา เกษตรกร ในระดับพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก

“นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร” คือหนึ่งในนโยบายประชานิยม ทั้งแนวทางปลดหนี้ ลดหนี้ แก้หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทุกพรรคการเมือง ต่างหยิบยกนำมาใช้เพื่อหาเสียงกับชาวนาและเกษตรกร ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยพบว่านโยบายหรือมาตรการส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้ มักมุ่งเน้นที่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาปลายเหตุ “การลดหนี้เสีย”  ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีความซับซ้อน และเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การปรับแก้กลไกและกติกาสินเชื่อให้มีความเป็นธรรมต่อชาวนามากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง โดยทำมากกว่ามาตรการพักหนี้และยืดหนี้ และประการสุดท้ายการสนับสนุนการลงทุนการผลิตใหม่ การฟื้นฟูทางเลือกอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชาวนาและเกษตรกรไปพร้อมกัน

ชาวนาและเกษตรกรอยู่คู่กับปัญหาหนี้สินมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน และสองปีนับแต่มีโควิด (2563-2564) พบว่าชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74 หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ  150,636 บาท มาอยู่ที่  262,317 บาท แม้รัฐบาลจะมีโครงการและมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ  1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขไม่ให้กู้เงินเพิ่ม

อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ด้วยข้อจำกัดและเหตุผลประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อเงินทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นวงจรหนี้ไม่จบสิ้น

จากสภาพปัญหาและพื้นฐานข้อจำกัดของชาวนาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2565 นี้ ทางมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการปรับตัวเพื่อการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์จากการทำงานระดับพื้นที่ พบว่า ชาวนาที่มีหนี้มักมีสภาพจิตใจที่กดดันหลายด้าน ดังนั้นความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์เพื่อการแก้หนี้ของชาวนา จึงได้ริเริ่มโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว แก้หนี้ชาวนา”  ขึ้น

โดยหัวใจหลักและแนวคิดของโครงการนี้ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมพลัง และความเกื้อกูลระหว่างชาวนาผู้มีหนี้กับผู้บริโภคที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม การแก้หนี้ชาวนาโดยลำพังอาจไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้บริโภคทำความรู้จักกับชาวนาที่มีความตั้งใจปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์ จากนั้นผู้บริโภคเลือกสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี เพื่อให้ชาวนาเหล่านี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นในการทำนาอินทรีย์จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตของเขาอย่างแน่นอน ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เงินที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีเงินนำไปจัดหาและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเริ่มลงมือปรับระบบจากการทำนาเคมีสู่นาอินทรีย์  ชาวนาจะไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ของชาวนาไม่รู้จบให้หมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ส.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6793976
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5978
16904
39731
22882
6793976

Your IP: 18.219.14.63
2024-05-02 19:30