• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การจัดการหนี้

เกษตรปลอดเคมี ปลอดหนี้ พิสูจน์แล้วได้ผลจริง

Somjai

วิถีเกษตรกระแสหลักที่ปลูกในเชิงพาณิชย์  ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายนอกทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช แรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ และด้วยระบบการผลิตแบบเคมี ยิ่งทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ราคาถูกแต่คนซื้อน้อย จนเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรเจ้าของสวนนำของจำนวนมากออกมาเททิ้ง เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบอาชีพนี้  เข้าสู่วงจรยิ่งทำยิ่งจนแถมยังติดหนี้สิน เพราะต้นทุนการผลิตพุ่งไม่หยุด ต้องกู้เงินร้านปุ๋ยร้านยา ขายผลผลิตได้ก็ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ก่อน เพื่อได้มีเครดิตกู้ใหม่รอบต่อไปกลายเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น

ในกระแสธารการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ถาโถมเข้ามานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้ (ต้องใช้เงินซื้อในราคาสูงขึ้นทุกปี) แต่หากเราตั้งหลัก ยึดแนวทางการพึ่งพาตนเอง แสวงหาต้นทุน โอกาสที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับแนวทางดำเนินงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน ที่เป็นระบบการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง ตามวิถีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทางมูลนิธิชีวิตไทสนับสนุนส่งเสริมชาวนาและเกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ หน่ายงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สนับสนุนความรู้ เทคนิคด้านการผลิตและการสร้างตลาดอินทรีย์ในระดับต่าง ๆ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนทำการเกษตร ช่วยเรื่องสุขภาพของคนในครัวเรือน ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี สามารถเพิ่มมูลค่า มีช่องทางจำหน่ายชัดเจน

สมใจ ปลีอ่อน หรือใจ ชาวนาบ้านท่าสะตือ ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทั้งนาเช่าและนาตนเอง ทำนาประมาณ 20 ไร่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นนาลุ่ม ทำให้การทำนาของสมใจไม่ค่อยได้ผลผลิตเท่าที่ควร และการทำนาก็ค่อนข้างยากลำบาก ต้องทำนาในช่วงเวลาที่พร้อมกันกับนาแปลงอื่นๆ ถ้าทำนาล่าช้ากว่านาแปลงอื่นๆ ก็จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมแปลงนา ปี 2564 สมใจเหลือพื้นที่นำนา 17 ไร่ เนื่องจากพื้นที่นา 3 ไร่ถูกน้ำท่วม ไม่สามารถทำนาได้ “ไม่ทันน้ำท่วม”   เนื่องจากอาชีพทำนามีรายได้ไม่แน่นอน รายรับน้อยกว่ารายจ่าย จึงทำให้สมใจมีภาระหนี้สินสะสม 4 แสนกว่าบาท และเป็นการแก้หนี้ด้วยการกู้เพิ่ม ในปี 2563 สมใจจึงตัดสินใจประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้หลายทางทั้งในและนอกภาคเกษตร ได้แก่ นวดแผนไทย บริบาลผู้ป่วย เลี้ยงไก่ชนเพื่อขายไก่เนื้อ และปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อย

การปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อยเป็นอาชีพ เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ  มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1 งาน มีช่วงเวลาในการปลูกผักประมาณ 6 เดือน คือ เดือนธันวาคมถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำหลากท่วมในพื้นที่ ผักที่ปลูกจะเน้นนำมาบริโภคเอง เพื่อลดรายจ่ายด้านอาหารของครอบครัว และบางส่วนขายเพื่อนบ้านในชุมชน แปลงผักของสมใจปลูกผักหลายชนิด  เช่น มะเขือ มะละกอ บวบ กะเพรา กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก ถั่ว แครอท  ฯลฯ สภาพดินริมฝั่งแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้แปลงผักได้ผลผลิตดี  และเสริมด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกองสำหรับใช้เองในแปลง เน้นวัสดุและมูลสัตว์พื้นที่ใกล้เคียง เช่น มูลแพะ มูลวัว ฟางข้าว เศษหญ้าสด และ น้ำหมักสับปะรด 

สมใจบอกว่า “พี่ทำแบบง่าย ๆ โดยนำวัสดุฟางข้าว เศษหญ้าสด วางชั้นล่างสุด แล้วโรยด้วยมูลสัตว์ให้ทั่วกอง วางแบบนี้เป็นชั้น ๆ จนวัสดุหมด และราดให้ทั่วกองด้วยน้ำหมักสับปะรด ช่วยย่อยสลาย อาทิตย์ละครั้งพร้อมทั้งกลับกองปุ๋ย ใช้เวลาหมักนานประมาณ 1 เดือน ปุ๋ยจะร่วนซุยมีสีดำ สามารถนำมาใช้ผสมดินปลูก ดินเพาะได้"   หรือถ้าท่านสามารถใช้วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แบบไม่พลิกกลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

สามารถศึกษารายละเอียดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกองตามลิงค์นี้

OrganicFarmSomjai

แปลงผักและผลผลิต แครอทปลอดสารพิษริมแม่น้ำน้อยของพี่ใจ

นอกจากนี้ สมใจได้เลี้ยงไส้เดือนดินด้วยตนเอง เพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนมาผสมดินปลูกผัก พื้นที่แปลงผักขนาดเล็ก ใช้สัดส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนครึ่งกิโลกรัม  สัดส่วนมูลไส้เดือน 1 ส่วน เศษวัสดุที่จะใช้ปลูก 4 ส่วน และได้นำมูลไส้เดือนส่วนที่เหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมกับผู้สนใจในชุมชน

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 สมใจได้เข้าอบรมการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนดิน ให้ได้ปุ๋ยนำไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงไส้เดือนดิน พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง คือ พันธุ์ AF เป็นไส้เดือนดินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์รวดเร็วมาก มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน จึงชอบอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงสำหรับวิธีการเลี้ยงไส้เดือนเริ่มจาก

1. นำปุ๋ยคอกแช่น้ำ 2-3 วัน และถ่ายน้ำออก (ทำสองครั้งรวม 6-7 วัน) เพื่อให้ปุ๋ยคอกนิ่มและเย็นพร้อมเป็นอาหาร สิ่งนี้เรียกว่า “เบดดิ้ง”

2. ปล่อยไส้เดือนลงในภาชนะเลี้ยง (3 ขีดต่อกะละมัง หรือ 1 กิโลกรัมต่อรองซีเมนต์)

3. พรมน้ำแบบละออง วันละครั้งหรือมากกว่าเมื่ออากาศร้อน เพื่อให้เบดดิ้งมีความชื้นและเย็น

4. นำเศษผักหรือผลไม้ใส่ลงภาชนะเลี้ยงเพื่อเสริมธาตุอาหาร และ

5. ปาดมูลบริเวณผิวภาชนะ หลังเริ่มเลี้ยงไส้เดือน 5-7 วัน และทำการร่อนมูลไส้เดือนเพื่อคัดแยกมูลกับสิ่งเจือปนอื่น

CompostTraining01

อบรมวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน

CompostTraining02

                                                   เตรียมแปลงปลูกผัก                                                     มูลใส้เดือนพร้อมใช้จากพี่ใจ

ด้วยแนวทางการปรับระบบการเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ และการพัฒนาอาชีพเสริมรายได้อย่างจริงจัง (ไม่ทำนาอย่างเดียว ที่มีความเสี่ยงสูง) ส่งผลให้สมใจและชาวนาตำบลบางขุดหลายราย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนลงได้ (โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีซึ่งตอนนี้ขยับราคาสูงขึ้นอีกเท่าตัว) หลายคนมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 บาท และกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมโครงการ มีการออมเงินเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน แม้ยังไม่สามารถนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สินได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก เนื่องจากภาระหนี้สินมีอยู่มาก ประกอบกับรายได้ที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่หลายคนก็สามารถนำเงินที่ได้จากการขายผลผลิตไปผ่อนและลดภาระหนี้ได้บางส่วนแล้ว

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 26 เม.ย. 2565

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6810542
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1958
4076
6034
39448
6810542

Your IP: 3.129.45.92
2024-05-06 12:34