• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การแก้หนี้ที่ยั่งยืน

ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการสาธารณะ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00-16.30 น.

UnlockFarmerDebtSeminar

 

โครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้วิกฤตปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยคาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาทต่อครัวเรือนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาทต่อครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน

ทั้งนี้วิกฤตโควิดและวิกฤตหนี้สินยังส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากนำที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจำนองและขายฝากผู้อื่นอยู่ถึง 29,873,189 ไร่ (ที่มา : ลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตร ปี 2562 ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เมื่อประสบปัญหาวิกฤตรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาดและสูญเสียที่ดินในที่สุด ข้อมูลจากกรมบังคับคดี พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน-ขายทอดตลาด) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 348,573 คดี (ทุนทรัพย์ 510,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เทียบปีงบประมาณ 2563 มีคดีเกิดขึ้น 329,681 คดี (ทุนทรัพย์ 613,279 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 287,789 คดี (ทุนทรัพย์ 1,325,074 ล้านบาท) ซึ่งหากเทียบระยะ 2 ปี ก่อนและหลังการระบาดโควิด ปีงบประมาณ 2562 และ 2564 พบแนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 21.1

 นับเป็นนโยบายที่ดีเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน" ให้สำเร็จ  โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาภาระความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย (รวมถึงเกษตรกรรายย่อย) เป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยหากพิจารณากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจหลักในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย คือ หน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ดังนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีภารกิจในการดูแลหนี้ของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้วางแผนทางการเงิน การออกเกณฑ์การให้บริการสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และการแก้ปัญหาหนี้สิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับคนที่เริ่มผ่อนหนี้ไม่ไหว และคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ สูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 มูลหนี้รวม 7.195 ล้านล้านบาท และได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปบางส่วน ล่าสุด ณ เดือน พ.ค.64 มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 4.9 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการช่วยเหลือแก้หนี้อื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทยมีความสนใจร่วมวางแนวทางแก้ไขหนี้ของเกษตรกร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร จากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 พบว่า ธนาคารที่ครัวเรือนกู้เงินมากที่สุดร้อยละ 27.5 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แสดงให้เห็นว่าหนี้สินของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ในช่วงเกิดโควิดมีข้อมูลหนี้เสียของลูกค้าธ.ก.ส.เพิ่มขึ้น จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 เกี่ยวกับหนี้สงสัยจะสูญของ ธ.ก.ส. พบว่าแนวโน้มหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2563 มียอด 276,813.24 ล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ. 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 363,107.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.17 ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. หลายมาตรการ เช่น โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 - งวดเดือนมีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3,348,378 ราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,265,492 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มีบทบาทภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร โดยช่วยแก้ไขหนี้สินอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องเป็นหนี้ในระบบ ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯได้มีบทบาทการทำงานด้านการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสนับสนุนการจัดการหนี้ของเกษตรกร เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกรจะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และรักษาที่ดินทำกินให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและได้รับการขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 533,163 ราย 632,784 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 97,466,018,603.40 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 56,037,861,422 บาท คิดเป็นร้อยละ 57.49 ตั้งแต่ปี 2549-2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ และได้รับการจัดการหนี้แทนจากกองทุนฟื้นฟูฯ (หนี้ NPL และ NPA) จำนวน 29,755 ราย 29,827 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 6,493,995,929.14 บาท เมื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันเจ้าหนี้แทนเกษตรกรแล้วเกษตรกรต้องดำเนินการโอนหลักทรัพย์ที่ดินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันมีการโอนหลักทรัพย์ที่ดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 14,884 ราย 21,940 แปลง รวมเนื้อที่ 157,768 ไร่ และมีเกษตรกรชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนที่ดินคืนแล้วจำนวน 63,307 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.12

จะเห็นได้ว่ากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรเชิงระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผ่านโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังสะสมมานาน และการแก้หนี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปลดล็อกเชิงระบบและโครงสร้างไปพร้อมกัน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญและท้าทายจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งด้านการแก้ปัญหาหนี้เดิม ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ก้อนใหม่ และไม่เกิดวิกฤตอื่นที่ส่งผลรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการระดมความเห็นและร่วมผลักดันนโยบายทางออกที่เหมาะสมต่อแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน นั่นคือการมองเป้าหมายทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรไปสู่การฟื้นฟูอาชีพ การปรับระบบการผลิต การสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรในสถานการณ์โควิด และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

วัตถุประสงค์

   1. เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

  2. เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็น “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ เอกชน นักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนและมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

 2. สาธารณชนและสื่อมวลชนเข้าใจและสามารถสื่อสารข้อมูลผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การปรับตัวของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน และการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน

องค์กรร่วมจัด

  1. มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
  2. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
  3. สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)
  4. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.      กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.   เปิดเวทีการเสวนาและแสดงปาฐกถา โดย คุณศรีสะเกษ  สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ  “ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต”

13.20 – 15.30 น.      เวทีเสวนา หัวข้อ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณวรันธรณ์ แก้วทันคำ นักวิชาการอิสระ (บทเรียนนโยบายการจัดการหนี้เกษตรกร)

- คุณนครินทร์ อาสะไวย์ มูลนิธิชีวิตไท  (บทเรียนกระบวนการแก้หนี้เกษตรกรระดับพื้นที่)

- คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (บทเรียนการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร)

- คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร)

- ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (จากงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน

- ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บทเรียนการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน)

ดำเนินรายการโดย : คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อารีวรรณ 061-3914969 Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เกษตรกรดิ้นไม่หลุดกับดักหนี้สิน แบกหนี้เฉลี่ยเกือบครึ่งล้านต่อครัวเรือน

DrSommarat

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนฐานรากไทยอ่วมปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึง 91% ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกว่า 90% แบกหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท เกินศักยภาพในการชำระหนี้


หนี้สินครัวเรือนฐานรากหรือครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่ใน “กับดักหนี้สิน” อย่างดิ้นไม่หลุด เพราะสถาบันการเงินในประเทศไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับกับประชากรกลุ่มนี้ 

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในเวที “Policy forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

โสมรัศมิ์ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าตลาดต่างๆ ในระบบการเงินไทย โดยพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 สูงถึง 91% ต่อ GDP และโตขึ้นถึง 32% ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ในระบบและกว่า 1 ใน 6 มีหนี้เสีย มียอดหนี้เฉลี่ย 350,000 บาท ต่อคน ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง เมื่อศึกษาลงลึกไปในกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือครัวเรือนเกษตรกรพบว่า 90% ของเกษตรกรมีหนี้สินและมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว แต่โดยเฉลี่ยมีหนี้กันถึงคนละ 3.8 ก้อน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักการชำระหนี้มานานกว่า 4 ปี เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินกู้นอกระบบ บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 

“นโยบายการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน เพราะนโยบายพักหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เมื่อปล่อยให้พวกเขาอยู่กับการพักการชำระหนี้นาน ทำให้เขาติดในวงจรหนี้ นโยบายพวกนี้จึงกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรติดในกับดักหนี้จนกลายเป็นการฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ” 

ทั้งนี้เมื่อลองสำรวจมาตรการพักการชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าเป็นการให้ลูกหนี้พักหรือหยุดชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น 2 เดือน 3 เดือน และเป็นเพียงการอนุญาตให้หยุดการชำระโดยไม่มีการทวงถาม แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงดำเนินต่อไป การติดอยู่ในวงจรการพักการชำระหนี้นานไม่ต่างจากการผิดชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อไป กลายเป็นกับดักรั้งเกษตรกรไว้ไม่ให้หลุดไปจากวงจรหนี้ 

โสมรัศมิ์ยังพบว่าพฤติกรรมเอาตัวรอดจากหนี้ของเกษตรกรที่พบคือ การหมุนหนี้ กู้จากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่งวนไป จนสุดท้ายไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรหนี้ได้ 

สิ่งที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านนี้มองว่าจะเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงตามศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศมาก เพราะนั่นหมายถึงการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนจะมีศักยภาพทางการเงินไม่เท่ากัน การปรับโครงสร้างหนี้ต้องออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายด้วย ทั้งนี้แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ การนำเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ และดอกเบี้ยค่าปรับ ทั้งหมดมารวมกันเป็นยอดเงินกู้ยอดใหม่ ทำให้มูลหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ยังมองว่าภาคนโยบายทางการเงินของไทยควรต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่จะไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับแหล่งเงินกู้อื่น ทำให้ฐานข้อมูลการเงินของเกษตรกรในระบบไม่ชัด กลายเป็นการปล่อยวงเงินกู้เกินศักยภาพดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ข้อเสนอของโสมรัศมิ์ สอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง ธ.ก.ส. ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะขาดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การกำหนดให้เงินกู้ของเกษตรกรมีการชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องชำระรายเดือนเหมือนโครงการสินเชื่อทั่วไป แต่การให้เงินกู้นั้นก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตอาจเสียหาย หรือราคาผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ของ ธ.ก.ส.ได้ ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของชาวนาร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีหนี้หลายก้อนและเมื่อต้องชำระจะเลือกชำระก้อนเล็กที่เป็นการชำระรายเดือนก่อน เช่น หนี้ไฟแนนซ์รถ หนี้นอกระบบ และอื่นๆ เพราะหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มักให้ชำระครั้งเดียวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย หรือหากชำระบางส่วนจะถูกตัดเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการลดเงินต้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรเช่นนี้ยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมทางการเงินของชาวนา หรือนวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. เมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ให้เกษตรกรกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันกู้และค้ำประกันเอง โดยมีจุดมุ่งมายเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการผลักภาระความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. ไปสู่เกษตรกรคนอื่น เพราะเมื่อไม่สามารถได้รับการชำระหนี้จากเกษตรกรผู้กู้ ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้จะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายค้ำประกันฉบับเดิม ก่อนจะมีการแก้ไขในต้นปี 2565 นี้เอง ทั้งนี้เคยปรากฏว่าผู้ค้ำประกันถูกยึดที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพราะเกษตรกรผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา และสถาบันการเงินไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองเกษตรผู้ค้ำประกัน 

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ๋กล่าว 

ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ม.ค. 2566 

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง


  

เจาะลึกมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ที่นำทุกคนมาทวงความคืบหน้าจากรัฐบาล

 BigStoryFarmerDebt

  • สืบเนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากลงทะเบียนใช้สิทธิ์กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
  • แต่เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ที่ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล
  • ไทยรัฐพลัสชวนอ่านมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ จากปากของ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ที่เราได้พูดคุยแบบลงลึกไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร

ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ เกิดขึ้นมา เป็นกฎหมายที่ประชาชนเสนอร่างแล้วไม่ถูกแก้ไขเลย

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ คือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.5 - 1.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และการันตีว่าเกษตรกรจะไม่เสียหลักทรัพย์ (เกือบทั้งหมดคือที่ดิน) เหมือนอย่างที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน 

ด้วยข้อดีสองอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ 

กองทุนฯ เป็นทางออกที่เกษตรกรหวังพึ่งพา แต่สิ่งที่ยากคือ เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ระหว่างกองทุนฯ กับ 4 สถาบันการเงินของรัฐควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. 

ผลของความล่าช้าก็คือเกษตรกรยังคงต้องชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้เดิมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการชำระหนี้กองทุนฯ 

ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติเรื่องนี้ให้พวกเขาได้หรือยัง?

“การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ” 

นี่คือสรุปย่อๆ ว่าม็อบชาวนามาปักหลักเรียกร้องอะไรกัน ซึ่งไทยรัฐพลัสสรุปความจากที่พูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากการพูดคุยสอบถามความเดือดร้อนของเกษตรกร-ชาวนาที่มาชุมนุม และประเด็นที่มาทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล ไทยรัฐพลัสได้คุยกับชรินทร์ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ แบบลงลึกเรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร 

ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

ที่มาของเรื่องเป็นอย่างไร เงิน ‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’ มาจากไหน

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงินจากรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเล่าแบบมหากาพย์เลยคือ ในอดีต พี่น้องเกษตรกรมาชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรมานาน สมัยก่อน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรก็จะเข้ามากรุงเทพฯ มาชุมนุม ในที่สุดพวกเขาก็สรุปบทเรียนว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เกษตรกรก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายมากำกับมาแก้ปัญหา จึงเกิดกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ ขึ้นมา 

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกและฉบับเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชาวบ้านเข้าชื่อกันแล้วได้เป็นกฎหมายออกมา ที่สำคัญก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขเลย เสนอไปอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เนื่องจากว่าเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กฎหมายนี้เข้าสภาปี 2540 มันเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการที่รัฐบาลช่วยคนรวยจากวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลก็เลยไม่กล้าเสนอร่างประกบ จึงมีร่างของชาวบ้านร่างเดียว แล้วก็เลยได้กฎหมายออกมา

แต่พอได้กฎหมายออกมาแล้ว รัฐบาลก็ใช้วิธีการ slow down รัฐบาลไม่อยากทำ เพราะว่ามันกระทบเยอะ ที่กระทบแน่ๆ คือ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เพราะว่าถ้าชาวบ้านมาขอใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ ธ.ก.ส.ก็ต้องขายหนี้ให้กองทุน ธ.ก.ส.ก็เสียลูกค้าไปเรื่อยๆ เสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน

นี่คือที่มาของเรื่องนี้ การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ครม.อนุมัติเห็นชอบ เนื่องจากธนาคารทั้ง 4 แห่ง (ธ.ก.ส., ออมสิน, อาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์) เป็นธนาคารของรัฐ ไม่สามารถทำอะไรเองได้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นการซื้อขายหนี้รายหรือสองรายก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการซื้อขายลอตใหญ่ และเป็นการขายหนี้ให้หน่วยงานของรัฐด้วย จึงต้องใช้มติ ครม. 

เรื่องนี้ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงวันนี้เรื่องยังไม่ไปถึงไหน ติดอยู่ตรงความเห็นกระทรวงการคลังที่อ้างเรื่องวินัยการเงินการคลัง และเรื่องอะไรต่างๆ สารพัด เรามาชุมนุมขอให้ ครม. รีบเร่งมีมติ ในเมื่อธนาคารเจ้าหนี้เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบหมดแล้ว แล้วยังติดอะไร ล่าสุด ตอนนี้เขาบอกว่าไม่ติดอะไรแล้ว คาดว่าจะนำเข้า ครม. สัปดาห์หน้า 

การที่กองทุนฯ ซื้อหนี้ของเกษตรกรมาจากธนาคารเจ้าหนี้เดิม เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างไรบ้างนอกจากดอกเบี้ยที่ลดลง  

ตามกฎหมายให้กองทุนไปชำระหนี้แทนเกษตรกร กองทุนก็เอาเงินไปปิดบัญชีหนี้เลย แล้วโอนหลักทรัพย์ที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันกับ ธ.ก.ส. มาเป็นของกองทุนฯ ไม่ใช่การจำนองหลักทรัพย์ แต่หลักทรัพย์กลายเป็นของกองทุนเลย แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระในรูปแบบการเช่าซื้อ ซึ่งดอกเบี้ยจะถูกกว่าผ่อนกับธนาคารเจ้าหนี้เดิม และเกษตรกรจะไม่สูญเสียที่ดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้มีการยึดที่ดิน ให้ผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแล้วจึงได้โฉนดที่ดินกลับคืน ถ้ารุ่นนี้ผ่อนไม่หมดก็ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาชำระต่อจนกว่าจะหมด 

กฎหมายบอกไว้อย่างนี้ และเราก็เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยว่า ก่อนจะขายและโอนหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้จะต้องตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตัดค่าปรับทิ้งทั้งหมด และลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าหนี้ที่เกษตรกรต้องจ่ายก็ลดลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ตกลง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปหมดแล้วว่าการโอนหนี้จากเจ้าหนี้มาไว้กับกองทุนฯ ให้ตัดดอกและลดต้นครึ่งหนึ่ง 

พวกผมสู้จนชนะ ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราให้เงินต้นครึ่งหนึ่งถือว่าเป็นกำไรของธนาคารเสียด้วยซ้ำไป และข้อดีของธนาคารก็คือจะไปช่วยปิดหนี้ NPL ด้วย เพราะเมื่อโอนมากองทุนฯ หนี้เสียก็หมดไป แบงก์ก็จะมีสถานะดีขึ้น ตอนนี้แบงก์เอกชนไม่มีปัญหาเลย เขายอมขายหนี้หมด กองทุนซื้อหนี้เกษตรกรที่อยู่กับแบงก์เอกชนมาแล้ว แต่มีไม่เยอะ เพราะหนี้ชาวนามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่กับ ธ.ก.ส. 

ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว

 

รัฐให้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ปีละเท่าไร หรือให้อย่างไร 

ให้ปีแรก 1,800 ล้านบาท เป็นทุนประเดิม นับถึงตอนนี้เงินที่รัฐบาลให้กองทุนมาแล้วเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง 10,000 ล้านบาทที่ได้มาไม่ได้ได้มาจากการให้ตามงบประมาณปกติ แต่เป็นการให้ด้วยม็อบแบบนี้ เงินที่ได้มา กองทุนฯ เอาไปใช้หนี้แทนชาวบ้าน ซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้เดิม ย้ายชาวบ้านเข้ามาอยู่กับกองทุนฯ และให้กู้เพื่อให้ชาวบ้านฟื้นฟูอาชีพ ตอนนี้ซื้อหนี้หรือเรียกว่าไถ่ตัวชาวบ้านออกมาจากเจ้าหนี้แล้วประมาณ 7,300 ล้านบาท บวกส่วนให้กู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพ และบริหารจัดการด้วย รวมเป็น 10,000 ล้านบาทเศษๆ 

แปลว่า พ.ร.บ. และกองทุนฯ มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรต้องมาชุมนุมใหม่ทุกๆ ปี แต่ว่าพอมีแล้วก็ยังต้องมาชุมนุมอีกเหมือนเดิม?

ใช่ ก็ยังต้องมาอีก แต่จะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ผมก็ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่าการบริหารของสำนักงานกองทุนฯ มีปัญหา คือไม่มีประสิทธิภาพ และตอบคำถามสำนักงบประมาณไม่ได้ ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน 

กรรมการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปบีบอะไรรัฐบาล ความคืบหน้าของกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 20 ปีเกิดจากม็อบทั้งหมด ถ้าม็อบไม่มาเขาก็ไม่ทำอะไรกัน ทั้งรัฐบาล ทั้งสำนักงานกองทุนฯ ด้วย มันก็เป็นปัญหา ซึ่งในช่วงยุค คสช. ผมได้เสนอไปสองทางเลือก คือ หนึ่ง-ยุบสำนักงานกองทุนฯ แล้วให้หน่วยงานอื่นเข้ามาแก้ปัญหาของพี่น้องที่ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.นี้ให้หมดแล้วจบ ไม่มีการซื้อหนี้เพิ่มแล้ว และทางที่สองถ้าเห็นว่ากองทุนยังมีประโยชน์ในการช่วยพี่น้องเกษตรกรก็ให้ปฏิรูปกองทุนฯ ซึ่งก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งให้ปฏิรูปกองทุน แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการปฏิรูป

จุดอ่อน จุดด้อยตรงไหนที่ต้องปฏิรูป 

ต้องมาสังเคราะห์และมาดูกันว่าอะไรที่ต้องปรับต้องแก้ อย่างเช่น การบริหารของสำนักงานมีปัญหา ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นระบบราชการเกินไป พนักงานไม่ให้บริการเกษตรกรแต่กลับไปใช้อำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอำนาจ ไม่ลงพื้นที่ไปดูแลชาวบ้าน-ไปสำรวจตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไร ซื้อหนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร 

จริงๆ แล้วต้องปฏิรูปกันทุกองคาพยพเลย เพราะว่าอย่างกรรมการส่วนที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็ไม่มีความรู้เรื่องกองทุนฯ อย่างลึกซึ้ง พอมาเป็นแล้วก็มีเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ผลประโยชน์เรื่องเงินทอง แต่ว่าเป็นเรื่องคะแนนเสียง มีการไปรับปากชาวบ้านแบบนักการเมือง เวลาประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ก็ไม่ลงลึก แล้วก็ถูกฝ่ายการเมืองหลอก อีกอย่างคือความรู้ที่จะต้องใช้ในการจัดการกองทุนฯ มันอยู่นอกเหนือศาสตร์ที่เราเรียนกันมา ศาสตร์ที่เราเรียนมามันช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์ แต่อย่างเรื่องการซื้อหนี้ไม่เคยมีที่ไหนในโลก อย่างเรื่องการฟื้นฟู ตามกฎหมายกองทุนคือต้องทำการผลิตแบบครบวงจร ในส่วนการแปรรูปกับขาย กองทุนฯ ต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ ก็อยากทำ แต่ยังช้ามาก 

มีตัวเลขรวมไหมว่าเกษตรกรหรือเฉพาะชาวนามีหนี้รวมกันเป็นเงินกี่บาท

เกษตรกรที่เป็นหนี้มี 5,500,000 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบธนาคารของรัฐ 550,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ธนาคารอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐประมาณ 100,000 ล้านบาท และนอกระบบอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ในส่วนหนี้นอกระบบเราใช้การประมาณการ แต่สองตัวแรกคือหนี้ธนาคารของรัฐกับหนี้ธนาคารเอกชนตัวเลขค่อนข้างแน่ รวมทั้งหมดแล้วประมาณเกือบ 800,000 ล้านบาท

กองทุนฯ มีเงินไม่พอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรทั้งหมด มีแนวทางจะช่วยเหลือส่วนที่เหลืออย่างไร 

สมมติว่า ครม. มีมติเห็นชอบครั้งนี้ 300,000 ราย ก็เหลืออีกประมาณ 200,000 ราย สบายมาก เพราะว่าเกษตรกรชำระหนี้คืนกองทุนฯ เดือนละประมาณ 12 ล้านบาท มันมีเงินหมุน และดีตรงที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจว่าเงินที่เป็นรายได้กองทุนฯ ไม่ต้องนำส่งคืนรัฐ ให้เป็นรายได้ของกองทุนฯ เลย ฉะนั้นตอนนี้เท่ากับกองทุนฯ มีเงินที่เหมือนฝากชาวบ้านไว้ 7,300 ล้านบาท ชาวบ้านชำระคืนเดือนละประมาณ 12 ล้านบาท ถึง 15 ล้านบาท เงินตัวนี้ที่จะเป็นเงินหมุน 

ผมเคยคำนวณกับผู้เชี่ยวชาญว่า กองทุนฯ เราต้องชำระหนี้แทนเกษตรกรประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีเงินแค่ 30,000 ล้านบาทก็ทำได้แล้ว เพราะเงินมันจะหมุน สมมติว่าเราได้เงินจากรัฐบาล 30,000 ล้านบาท เราไม่ต้องขออีกเลย มันไม่ใช่ว่ากองทุนฯ จะขอเงินจากรัฐบาลแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือ การกู้เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต พอขายผลผลิตได้ราคาไม่ดี ทำให้มีเงินไม่พอใช้หนี้และไม่พอยังชีพ ก็เลยกู้อีก เป็นการกู้ทบกันไปเรื่อยๆ แบบนี้เข้าใจถูกไหม 

ใช่ ถูกต้องแล้ว หนี้เกิดจากการทำนาทำไร่ขาดทุน ไม่ใช่เกิดจากการใช้เงินนอกลู่นอกทาง ผมยกตัวอย่าง ต้นทุนปลูกข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำข้อมูลออกมาว่า ต้นทุนการผลิตข้าว 1 เกวียน หรือ 1 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ถึง 8,500 บาท แล้ววันนี้ราคาข้าวตันละ 6,000 บาท ถามว่ารัฐบาลรู้ไหม ทำไมจะไม่รู้ ในเมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำข้อมูล

แปลว่าตอนนี้ขาดทุนกันอยู่ประมาณตันละ 2,000 บาท?

2,000 ถึง 2,500 บาท และมันไม่ใช่เป็นแค่ปีนี้ เป็นแบบนี้มาตลอด มีปีเดียวที่ชาวนาไม่ขาดทุน พอมีเงินเหลือก็คือปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มารับซื้อตันละ 15,000 บาท ตอนนั้นผมก็ทำนาอยู่ ผมได้ 50 ตัน ปกติผมจะขายได้ 300,000 บาท ปีนั้นผมขายได้ 750,000 บาท คุณคิดดูสิมากกว่ากันเท่าตัว แบบนั้นผมอยู่ได้ 

วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน... จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท

เรื่องมาตรการพยุงราคาข้าว มีการเถียงกันว่า ‘จำนำ’ หรือ ‘รับประกันราคา’ ดีกว่ากัน ในความเห็นของคุณ มองอย่างไร 

มองว่าเป็นเรื่องทางแท็กติกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน ปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวจากชาวนา 15,000 บาท เขาได้กำไรอยู่แล้ว 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท 

ผมเสนอตัวเลข 12,000 บาท เพราะวันนี้นายทุนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้เงินไปตันละ 12,000 บาท เอามาคืนชาวนาครึ่งหนึ่งได้ไหม ครึ่งหนึ่งคือ 6,000 บาท บวกกับราคาที่ขายได้ตอนนี้ 6,000 บาท จะเป็น 12,000 บาท ราคานี้ชาวนาอยู่ได้ แล้วนายทุนตั้งแต่พ่อค้าคนกลาง โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก หรือพ่อค้ายี่ปั๊วซาปั๊วในประเทศคุณได้ไป 6,000 บาท ชาวนาเขารับความเสี่ยงทุกเรื่อง ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลง แต่เขาขายได้แค่ 6,000 ขณะที่คุณไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย ถ้าแบ่งให้เขา 6,000 คุณยังได้กำไร 6,000 ผมว่ามันมากพอ มากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคา 12,000 บาทต่อตัน เขาจะอยู่ได้ หักลบต้นทุน 8,500 บาทเขายังเหลือ ถ้าได้ราคานี้ อีก 10 ปีเขาน่าจะใช้หนี้หมด ไม่ต้องไปเดือดร้อนรัฐบาลมาช่วยเลย สินค้าเกษตรตัวอื่นก็เหมือนกัน 

 

 

รัฐบาลต้องช่วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรช่วยตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เป็นหนี้ดีกว่า?

ใช่ ถามว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าพูดเป็นประเด็นเป็นเรื่องๆ มันลำบาก มันไม่จบ ปัญหามันเป็นวัวพันหลัก เป็นงูกินหาง ผมพูดแบบภาพใหญ่เลย คือมาตั้งหลักตั้งต้นกันใหม่ มาคุยกันใหม่ว่าทิศทางเกษตรของเราจะเอายังไง มาเริ่มต้นกันใหม่ได้ไหม คุณพร้อมที่จะรับฟังชาวบ้านไหม มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย ตอนนี้เราแก้ปัญหาทีละเรื่องไม่ได้แล้ว 

 

ถ้าจะเริ่มใหม่ ข้อเสนอทางออกคืออะไร

ข้อเสนอของเราฟังดูยาก เพราะเราไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้ คือ เกษตรกรต้องทำการผลิตแบบครบวงจรเหมือนเกษตรกรในเมืองที่เจริญแล้ว อย่างในเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์เกษตรกรโคนมแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ผลิตนมโฟร์โมสต์ขายทั่วโลก บ้านเรายอมรับได้ไหมที่จะทำแบบนี้ ปัญหาของเรามันยาก เพราะว่าคนร่ำรวยในประเทศนี้ล้วนร่ำรวยจากเกษตรกรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้ผลประโยชน์จากชาวนาเขามีอำนาจเยอะ เขาจะยอมปล่อยไหม 

 

เพิ่งมีข่าวว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวเพราะว่าข้าวไทยแพง เป็นไปได้ว่าอาจจะโดนกดราคาลงอีก 

มีการพูดกันว่าเสียแชมป์ แล้วคุณจะเอาไปทำไมแชมป์ อยากเป็นแชมป์ส่งออก แต่คนที่ปลูกข้าวให้คุณไปขายอยู่กันสภาพแบบนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เสียแชมป์เพราะว่าคุณภาพข้าวเราสู้คนอื่นไม่ได้ มันจะไปสู้ได้ยังไงในเมื่อคนไม่มีกำลังใจจะผลิต เขาหมดกำลังใจนะ ผลิตไปวันๆ เพื่อใช้หนี้ สมมติว่าชาวนาเขาคิดว่าปีนี้หยุดก่อนเถอะ หยุดมาคิดวางแผนก่อนว่าเราจะผลิตข้าวให้ดีได้ยังไง เขาก็หยุดไม่ได้ เพราะว่าหนี้ไล่หลังมาแล้ว จะหยุดได้ยังไง คุณจะเอาแชมป์ไปทำไม ในเมื่อคนปลูกข้าวอยู่ในสภาพแบบนี้ ถามว่าแชมป์นี่ใครได้ประโยชน์ ก็ผู้ส่งออก 

 

ถ้าจะทำเกษตรครบวงจรเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเริ่มอะไรใหม่บ้าง ต้องรื้ออะไรบ้าง

รัฐต้องสนับสนุนในแง่โอกาส สิ่งสำคัญเลยคือโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร ส่วนเรื่องเงินผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง เพราะว่าการรวบรวมผลผลิตไม่ต้องซื้อ อย่างโรงสีเขาต้องซื้อข้าวจากชาวนา แต่ชาวนารวมกลุ่มกันเองไม่ต้องใช้เงินไปซื้อข้าว แต่ภาครัฐต้องให้โอกาส เช่น โอกาสทางการตลาดต้องเปิด ทรัพยากรที่ไปตั้งโรงสีก็ต้องให้ หรือไม่ต้องถึงขั้นสร้างโรงสีเองหรอก เพราะมีโรงสีที่รับจ้างสีอยู่จำนวนมาก 

 

 

หลักๆ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องช่วยส่งเสริมก็คือ เรื่องตลาด การขาย?

ใช่ ตลาดไม่ใช่หน้าตลาดกระทรวงการคลังในวันศุกร์ ตลาดหน้ากระทรวงเกษตรฯ วันพุธ ไม่ใช่แบบนั้น ต้องเป็นตลาดการขายทั่วไป หรือสนับสนุนการส่งออกไปเลย และเรายังมีภูมิปัญญาการผลิตข้าวของชาวบ้านที่ส่งเสริมได้อีกเยอะ ยังมีข้าวอีกหลายพันธุ์ที่คนไม่รู้จัก ไม่ว่าจะขายในวอลุ่มเล็กหรือวอลุ่มใหญ่ ก็ทำได้หมด ถ้าขายวอลุ่มใหญ่ก็ข้าวหอมมะลิ ถ้าวอลุ่มเล็กก็เช่น พันธุ์ชมพูนครชัยศรี พันธุ์หอมมะลิแดงบุรีรัมย์ อันนี้คือข้าวพิเศษวอลุ่มเล็กๆ สามารถส่งเสริมตลาดภายในประเทศได้ มีอีกเยอะแยะที่จะทำได้  

 

ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ ของเราตั้งธงไปทางไหน เมื่อหลายปีก่อนเห็นพูดเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแปลงใหญ่ ไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว 

ถ้าผมพูดแบบหยาบๆ นะ แนวคิดกระทรวงเกษตรเป็น ‘เกษตรโรแมนติก’ ฝันไปเรื่อย ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริงเลย ถามว่าที่เขาไปให้มาตรฐานสินค้า GAP (Good Agriculture Practices - การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ถามว่าใครได้ ก็มีแต่กลุ่มทุนทั้งนั้น ชาวนาได้ที่ไหนจะได้ พ่อค้าคนกลางทั้งนั้นแหละที่ไปแสตมป์ตรา GAP ซึ่งพ่อค้านี่เป็นตัวกดราคาสินค้าเกษตร 

เราต้องมาเริ่มต้นคุยกันใหม่ ผมสรุปใหญ่ๆ ก็คือว่าปัญหาของเกษตรกรไทยมันเกิดมาจากปัญหาโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างทางนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก ผลิตมาก เพื่อการส่งออก แต่คุณไม่เคยดูแล ไม่เคยคุ้มครองเขาเลย 

 

รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด 

ปัญหาโครงสร้างภาคการผลิตก็คือ รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด สมัยที่ข้าวราคาตันละ 15,000 บาท ปุ๋ยยูเรียกระสอบขนาด 150 กิโลกรัม ราคา 1,200 บาท พอประยุทธ์มา ราคาข้าวเหลือ 6,000 ปุ๋ยก็ลดลงมา 600 บาท วันที่เขาขึ้นราคา เขาบอกว่าต้นทุนสูง แล้ววันนี้ต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่งหรืออย่างไร ถึงลดราคาลงเหลือ 600 บาท สารเคมี-ยาฆ่าแมลงก็เหมือนกัน นั่นแปลว่าต้นทุนเขาไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ตอนที่ผลผลิตราคาสูง เขาเพิ่มราคาเพราะเขารู้ว่าถึงแม้ขายแพง เกษตรกรก็มีกำลังซื้อ เพราะผลผลิตมีราคาดี 
 

 

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไม่เคยดูแล ไม่เคยควบคุม ปุ๋ย สารเคมีทุกชนิด รวมถึงเครื่องจักรเครื่องกลการเกษตร มีมูลค่าการขายปีละประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ใครผูกขาดตรงนี้ได้คุณคิดดูสิว่าเขาได้กำไรเท่าไร อย่างน้อยก็กำไร 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เขาถึงรวยเอารวยเอา 

เกษตรกรคือลูกที่แสนดีของรัฐบาลมานานมาก ไม่เคยมีปากมีเสียง อย่างถามว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของอาชีพประมง กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเกษตรกรบนบก ใครใช้มากกว่ากัน แล้วเกษตรกรบนบกเคยได้สิทธิพิเศษเรื่องนี้ไหม ขณะที่ประมงมี ‘น้ำมันเขียว’ (น้ำมันที่ได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีและไม่ต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน) 

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือเขารวมตัวกันไม่ได้ รัฐบาลก็บอกให้รอเดี๋ยวจะแก้ให้ รัฐบาลไหนมาก็มีนโยบายด้านการเกษตรสวยหรูมาให้ชาวบ้านรอ เรื่องมันไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก แต่มันยากและแย่มาก เพราะทรรศนะของทุกรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกรนั้นแย่ ทรรศนะของฝ่ายการเมืองมองเกษตรกรเป็นตัวปัญหา มองว่าเกษตรกรไม่ช่วยตัวเอง เป็นหนี้เพราะสร้างหนี้กันเอง ทำไมต้องให้รัฐบาลมารับผิดชอบ ถ้ามองแบบนี้มันไม่จบ แก้ปัญหาไม่ได้ 

 

รัฐบาลไม่ได้มองว่า รัฐเองไม่ได้สร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อคนทุกคน?

ใช่ สมัยทักษิณสร้างเครื่องมืออันหนึ่งไว้ดีมาก ก็คือ กฎกระทรวงการคลังที่ให้อำนาจส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจำหน่ายหนี้สูญให้เกษตรกรได้ แต่ไม่มีใครเอามาใช้ นอกจากไม่ใช้แล้วยังทำลืมด้วย 

ทุกวันนี้ผมกล้าท้าเลยว่า ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน ต่อให้คุณปลดหนี้ให้เกษตรกรหมดเลย ยกหนี้ให้เกษตรกรเลยวันนี้ แล้วให้ไปทำนาทำไร่เหมือนเดิม ไม่เกินสามปีหนี้ก็กลับมาเหมือนเดิม เราต้องนับหนึ่งใหม่ วันนี้แก้ทีละปัญหา-ทีละประเด็นไม่ได้ เรื่องมันใหญ่เกินกว่านั้น ปัญหามันเกิดจากปัญหาโครงสร้าง ตั้งแต่โครงสร้างทางนโยบาย โครงสร้างการผลิต ทั้งนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก-เลี้ยงมาก เพื่อจะส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ โดยที่รัฐไม่รับผิดชอบอะไรเลย

 

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.พ. 2565
เรื่อง : รุ่งนภา พิมมะศรี
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย, รุ่งนภา พิมมะศรี 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2)

FarmerDebtModel

จากตอนที่ 1 ที่เล่าถึง “วงจรถดถอย” ได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่โมเดลธุรกิจ การทำเกษตรแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์เดิม การช่วยเหลือปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะการอุดหนุนรายได้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น

การแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจ เพื่อสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ออกจากวงจรถดถอย “โมเดลผลิตไม่ดี-ขาดทุนบ่อย-หนี้สูง-ปรับตัวไม่ได้-ผลิตภาพต่ำ” สู่วงจรโอกาส “โมเดลผลิตดี-สร้างกำไรสม่ำเสมอ-มีเงินสะสม-ลงทุนพัฒนา-ผลิตภาพสูงขึ้น”

เกษตรกรมีหลายทางเลือกการพัฒนาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศของ ธปท. พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวพัฒนาโมเดลธุรกิจจนสามารถปลดหนี้ หลุดพ้นจากวงจรถดถอยได้ และพัฒนาธุรกิจก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบมากมายที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม

 

ในความหลากหลายของโมเดลต้นแบบสามารถถอดบทเรียนได้เป็น 5 ชุดการพัฒนา ดังนี้

1. เกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก

เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง

2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืช     อื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี

3. เกษตรประณีต จากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2 พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17

และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต

เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

4. การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง

เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่น แปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน

5. ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่น เกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโมเดลธุรกิจทำได้หลายรูปแบบ เกษตรกรควรนำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตน โดยเริ่มจากความถนัดหรือการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่

เช่น ลดต้นทุนโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาต่อยอด เมื่อรู้แนวทางแล้วว่าสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง คำถามสำคัญถัดมาคือเกษตรกรจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

หลายโมเดลที่กล่าวมามีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคล้าย ๆ กัน จึงขอหยิบตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ที่พัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นตัวแทนเล่ากระบวนการพัฒนาไปสู่วงจรโอกาส ซึ่งถอดได้เป็น 4 ปัจจัยสำเร็จ ดังนี้

1. คิดใหม่ ไม่รอคอย ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของเกษตรกรดงขี้เหล็กเริ่มจากก้าวแรกนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สุด กล้าเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเดิม ๆ ไปปลูกอย่างอื่น เมื่อรู้ว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญ ไม่มัวรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ แต่ลุกมาจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ขุดสระน้ำลึกเพื่อกักเก็บน้ำฝน เรียกกันในชุมชนว่า “เขื่อนใต้ดิน”

2. ศึกษาฝึกฝนจนชำนาญ ใฝ่พัฒนา ศึกษาจนมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น รู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่ตน และรู้วิธีการกักเก็บและใช้น้ำที่เหมาะกับพื้นที่ตน กล้านำความรู้มาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญ เช่น ใช้เทคโนโลยีตะบันน้ำขึ้นไปพักน้ำบนที่สูง และทำระบบน้ำหยดที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนศึกษาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์

3. ชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนให้มุ่งพัฒนาชุมชนตนเอง และเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้

4. หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น มี “ภาชนะกักเก็บน้ำของตัวเอง” และระบบจัดการน้ำดี ซึ่งสร้างโอกาสให้พื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเกษตรได้หลากหลายชนิดและทำได้ตลอดทั้งปี

แต่ภาพจริงของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีปัจจัยเพียบพร้อมทั้ง 4 ด้าน แต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการส่งเสริมเกษตรกร ภาครัฐควรศึกษาจนเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน

จากนั้นมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามปัจจัยที่ขาดของครัวเรือนนั้น ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อตลาดกับสินค้าในพื้นที่ และให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจ

จึงจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโมเดลต้นแบบ พลิกชีวิตเกษตรกรจากวงจรถดถอยสู่วงจรโอกาส ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2565

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

จิรัฐ เจนพึ่งพร 

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แก้หนี้ แก้จน ต้องเริ่มที่ปรับ 'Mindset' เชิงนโยบาย

KrunRiceFarmBangkud 

"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล  การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้  การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น  เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6794063
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
6065
16904
39818
22969
6794063

Your IP: 3.144.113.197
2024-05-02 20:06