• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - พฤติกรรมการกิน

จากแปลงปลูก...สู่จานสุขภาพ ในสำรับอาหารของชาวนาและผองเพื่อน

VetgetableBangkud

ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชักชวน “ชาวนา” ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งคนปลูกข้าว คนปลูกผักผลไม้ และนักแปรรูปผลผลิตการเกษตร ใน จ.ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก มาเข้าร่วมกิจกรรม “บริโภคผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะชาวนา”พร้อมทั้งยังชักชวน “ผองเพื่อน” คือ “กลุ่มผู้บริโภค” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่สนับสนุนกลุ่มชาวนามาอย่างยาวนาน มาร่วมกิจกรรม 21 วัน พิชิตจานสุขภาพ” พร้อมกับมี “เพื่อนใหม่”จากหลากหลายสาขาอาชีพทางโลกออนไลน์  ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

เป็นการรวมพลคนรักสุขภาพที่สนใจแนวคิด “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” (Lifestyle Management) ด้านพฤติกรรมการกินอยู่ เรียนรู้การบริโภคอาหารที่ดีและมีคุณค่าต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยในปริมาณที่เพียงพอ ผสมผสานการออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและห่างไกลจาก “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Non-Communicable Diseases : NCDS) ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคไต ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนได้เริ่มมีอาการป่วย /กำลังป่วย /หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้แล้ว ซึ่งมีสาเหตุจาก “พฤติกรรมการกิน” เป็นหลัก เป็นปัญหาด้านการสาธารณสุขที่สร้างภาระติดพัน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย

มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายได้พิสูจน์ให้เห็นผลประจักษ์ว่า การปรับพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผสมผสานควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยป้องกันและพลิกฟื้นอาการจากโรคกลุ่ม NCDS ได้เทียบเท่าหรือดีกว่าการรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว หากแต่ความเคยชินของผู้คนที่ยังไม่เข้าใจ และพึ่งพาการรักษาด้วยยามาโดยตลอด ก็อาจรู้สึกว่าการปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก จึงได้เชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ โดยยกตัวอย่างประกอบจากกรณีศึกษาต่าง ๆ และจากอาการป่วยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง

เสริมด้วยความรอบรู้ด้านอาหาร  ในมิติความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย โภชนาการ และความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตั้งแต่การเลือก การเตรียม การปรุง การกิน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติ บอกต่อ และขยายผลได้

21DayChallange

ต่อด้วย “กิจกรรม Challenge” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพอาหารเพื่อสุขภาพที่รับประทานในแต่ละมื้อ ส่งเข้ามาในไลน์ทางการ “นาเคียงเมือง” อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 21 วัน โดยเป็นเมนูอาหารที่สร้างสรรค์ โดยคงคุณค่าของสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน มีความหลากหลาย ไม่เน้นการปรุงรสชาติที่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง และในมื้อนั้นควรมีอัตราส่วน 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน ข้าวหรืออาหารจากแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือโปรตีน 1 ส่วน

ความงดงามที่เห็นได้จากสำรับอาหารของชาวนา คือ กับข้าวกับปลาแบบบ้าน ๆ ที่ปรุงง่าย ๆ จากพืชผักที่ปลูกเอง เช่น ผัดผักหรือแกงส้มจากผักรวมรอบบ้าน ผัดมะละกอใส่ไข่ แกงจืดตำลึงริมรั้ว เสริมโปรตีนด้วยปลาทอดหรือไข่ต้มจากแม่ไก่ที่เลี้ยงเอง แทบทุกบ้านจะมีน้ำพริกยืนพื้น พร้อมผักเหนาะทั้งผักสดและผักลวก และหลายบ้านจะนำสมุนไพรปลูกเอง เช่น เตยหอม ตะไคร้ อัญชัน มาทำน้ำสมุนไพรดื่ม

ขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ถึง “พลังความสุขของผู้ผลิตอาหารอินทรีย์” ทั้งคนปลูกข้าวที่บรรจงเลือกพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ทีละเมล็ดด้วยความใส่ใจ เพื่อให้ข้าวในฤดูทำนาครั้งหน้ามีคุณภาพดี เห็นความตั้งใจของคนปลูกผักที่ลงมือเพาะกล้า ทำปุ๋ย ปรุงดิน ดูแลให้ต้นกล้าผักเติบโตแข็งแรง รอเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้คนกินได้ผักที่รสชาติดี กรอบ อร่อย และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน         

ขณะที่บรรดาผองเพื่อนของชาวนาที่เป็นผู้บริโภค หลายคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ก็ยังอุตส่าห์ทำแปลงผักเล็ก ๆ หรือปลูกผักในกระถางไว้ปรุงอาหารกินเอง และนำมาอวดโชว์เพื่อน ๆ อย่างภาคภูมิใจ ขณะที่หลายคนแม้ต้องซื้อหาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีความรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีและมีประโยชน์มาปรุงอาหาร ดังนั้น สำรับอาหารจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งเมนูต้ม ผัด แกง ทอด หรือนึ่งแบบไทย ๆ หรือดัดแปลงเป็นสัญชาติอื่น เช่น สลัดผัก พิซซ่าเพื่อสุขภาพ ผักโขมอบชีส เสริมโปรตีนด้วยเต้าหู้ ถั่วเหลือง หรือเนื้อปลา บางคนพยายามกินผักผลไม้ให้ครบทั้ง 5 สี (สีเขียว สีเหลืองหรือส้ม สีน้ำเงินหรือม่วง สีขาวหรือน้ำตาล และสีแดง) นำมาดัดแปลงทำทั้งอาหารคาว ขนม ของว่าง หรือนำมาทำน้ำผักผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ

เมื่อเวลาผ่านไป สำรับอาหารในแต่ละวันได้กลายเป็นสื่อกลางให้เริ่มมีประเด็นพูดคุยในเชิงสร้างสรรค์ต่อกันมากขึ้น เช่น ศึกษาที่มาที่ไปของวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่น เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารดีที่ควรกินสม่ำเสมอ กินได้บ้าง หรือไม่ควรกินเลย การติดตามและให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนสินค้าชุมชน ฯลฯ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยความเข้าอกเข้าใจต่อกัน พร้อมหนุนเสริมกัน และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ใช้ชีวิตวิถีใหม่เพื่อสุขภาวะไปทีละน้อย

ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ของคนกลุ่มหนึ่งบนโลกออนไลน์ แต่ก็นับเป็นการเริ่มจุดประกายสร้างพื้นที่พบปะสร้างสรรค์เล็ก ๆ ให้นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม ในฐานะ “พลเมืองอาหาร”ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อร่วมรักษาพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ที่อาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดระบบการผลิตและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างมีพลังและยั่งยืนในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์

ปัญหาสุขภาวะชาวนา โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร

OrganicVegettable

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพและสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรค NCDs ถึง 14  ล้านคน เสียชีวิตปีละกว่า 300,000 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารผิดส่วนทั้งในเรื่องของคุณภาพ และปริมาณ การเลือกอาหารโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อร่างกาย การติดอาหารที่มีรสจัดเกินพอดี เช่น  เผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม และมัน การเลือกกินอาหารสำเร็จรูป และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้เราแทบจะไม่ได้ขยับแรงกาย  การเลือกความสะดวกเป็นสำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มาจากพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้พลังงานของร่างกายที่ไม่เหมาะสม ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย

ความมั่นคงในการประกอบอาชีพทำนา สุขภาพที่ดี และมีอำนาจต่อรอง เป็นเป้าหมายหลักของการสร้าง “สุขภาวะชาวนา” ดังนั้นที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไทไม่เพียงทำงานส่งเสริมศักยภาพด้านการปรับตัวของชาวนาเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน การรักษาที่ดินทำกิน ด้วยการปรับวิถีการผลิตสู่เกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เน้นวิถีการผลิตสู่การพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่นคงทางอาหาร หนึ่งในประเด็นปัญหาที่เราค้นพบว่าเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพและต้นทุนคุณภาพชีวิตของชาวนาและเกษตรกรนั่นคือ ปัญหาสุขภาพของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกร

จากผลการสำรวจปัญหาสุขภาวะของชาวนาและเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด จำนวน 150 ครัวเรือน ในเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 66 มีโรคประจำตัว/คนป่วย มีโรคประจำตัวสูงสุดอันดับหนึ่ง คือ โรคความดันโลหิต ร้อยละ 38.36 รองลงมา คือ โรคไขมันในเลือด ร้อยละ 29.56 โรคเบาหวาน ร้อยละ 26.42 โรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 3.14 และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 2.52 นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะโรคอ้วน และภาวะโรคอ้วนอันตราย รวมกันถึงร้อยละ 56.75   ภาวะโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ

เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต มูลนิธิชีวิตไทตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้ความรู้ความเข้าใจให้กับชาวนาและเกษตรกรในการดูแลสุขภาพ ป้องกันบรรเทาโรค NCDs รวมทั้งข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จึงจัดอบรม “การบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะชาวนา” โดยมีวิทยากรคือคุณแววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ และที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม สสส.

คุณแววตา เอกชาวนา ได้นำเสนอว่าคนเราจะมีอายุจริง คือ อายุปฏิทิน  กับ อายุร่างกาย คือ อายุสุขภาพ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อายุร่างกายมากกว่าอายุปฏิทิน (ร่างกายแก่) เกิดจากการกิน การใช้ชีวิต (น้ำตาล ความเครียด ภาวะอักเสบ) ถ้ากินดี ใช้ชีวิตดี สุขภาพของเราก็จะดี การที่เราจะมีสุขภาพดี เป็นเรื่องที่ว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ดังนั้นเราควรมาดูกันว่าในช่วงวัยของเราควรกินอะไรบ้าง ซึ่งวิทยากรได้แนะนำว่าเรื่องไขมันใต้พุง ผู้หญิงไม่ควรมีเส้นรอบพุงเกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร โรคอ้วนลงพุงเกิดจากเราทานหวาน เค็ม มันมากเกินไป ถ้าเรามีพุงตามมาตรฐานก็จะทำให้สุขภาพของเราดี และห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา

นอกจากนี้เราควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมาะสมกับความต้องการในช่วงอายุต่าง ๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดโทษในระยะยาว และมีความปลอดภัย เลือกอาหารจากแหล่งที่เราไว้ใจได้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกปลูกผักกินเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งมีกรรมวิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้อง นอกจากการเลือกกินให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยยืดอายุให้ยืนยาวแล้ว เราควรใส่ใจและกินให้พอดี กินให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ร่างกายต้องการ  หรือมีวิธีการเลือกสัดส่วนการทานอาหารต่อมื้อ คือ ผัก 2 ส่วน  เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และข้าว 1 ส่วน ก็จะเป็นการกะปริมาณอาหารที่พอดีในหนึ่งมื้อได้ และทำให้เราไม่ทานมากจนเกินหรือน้อยเกินไปตามที่ร่างกายจะได้รับ

จากการที่เกษตรกรได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคที่มาจากพฤติกรรมการกินอาหาร รวมถึงเกษตรกรได้เรียนรู้แนวทางปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี “กินให้ดี แล้วโรคจะไม่มี” ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับร่างกายและช่วงวัยมากยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่พอดีแก่ร่างกาย จะห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างไรก็ตามพฤติกรรมความเคยชินถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเกษตรกรอย่างหนึ่ง เพราะเป็นความเคยชินที่ทำมานาน ซึ่งหลายคนก็อาจจะประสบกับปัญหานี้ แต่หากไม่เริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ “สุขภาพที่ดี” ก็คงเป็นได้เพียงภาพแห่งความฝัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 4 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6805763
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1255
5748
1255
34669
6805763

Your IP: 3.21.233.41
2024-05-05 08:18