• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การเพิ่มรายได้

'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

KKP Research คาด วิกฤตอาหารโลกช่วยดันรายได้เกษตรกรไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี ยกเว้นชาวนาที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดทุน

KKP Research

สำนักวิจัย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดวิกฤตอาหารขาดแคลนไปทั่วโลก และน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก แต่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า จะเป็นแรงกดดันให้รายได้สุทธิของเกษตรกรปรับดีขึ้นได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวนา 

นอกจากนี้ ราคาอาหารที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตอย่างราคาปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ จะกลายเป็นความเสี่ยงหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยสูงมากกว่าที่คาด จากสัดส่วนอาหารสดและอาหารทุกประเภทในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 21% และ 38%

ต้นทุนปุ๋ยทะยาน

KKP Research ระบุว่า แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, มันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ราคาข้าวคาดว่าจะยังตกต่ำในปีนี้ จากผลผลิตที่ดีกว่าที่คาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ และจากการที่ไม่ได้เป็นสินค้าทดแทนพลังงานอย่างสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงคาดว่ารายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 9.7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตรทุกประเภท ยกเว้นชาวนาผู้ปลูกข้าวที่รายได้จะยังลดลงตามราคาข้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ในด้านต้นทุนราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะข้าวที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคกลางและเหนือ จะเปลี่ยนจากมีกำไร 20.9% ของรายได้ทั้งหมด มาเป็นขาดทุน 1.5% ขณะที่ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จากที่ขาดทุนอยู่แล้ว 27.5% ของรายได้ทั้งหมด จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.6% เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าข้าวเจ้ามากกว่า 2 เท่า แต่มีราคาที่สูงกว่าข้าวเจ้าเพียง 1.5 เท่า

นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นได้ โดยกำไรขั้นต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจาก 16.6% ของรายได้รวม เป็น 8.3% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงพอ

3 ความเปราะบางของชาวนาไทย

KKP Research ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ว่าเกิดจาก

  1. ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเอเชียถึง 32% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหรือเท่ากับเอเชีย เช่น ปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 21% หรือมันสำปะหลังที่สูงกว่า 6% 
  1. มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัด หรือ 13% ของจังหวัดทั้งหมดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ขณะที่สินค้าอื่นๆ จะมีการเพาะปลูกในบางจังหวัดเท่านั้น และมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่สัมพันธ์กับผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด
  1. ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งโลกในช่วงปี 2002-2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหากเทียบเฉพาะในอาเซียนก็ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 47% เท่านั้น โดยราคาของข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แพงกว่าข้าวหอมมะลิของเวียดนามและกัมพูชาประมาณ 50% และ 19% ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้าธรรมดาแพงกว่าเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ประมาณ 10%, 15% และ 18% ตามลำดับ

3 แนวทางเสริมแกร่งเกษตรกร

KKP Research ประเมินว่า ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาล นอกจากจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างปัญหาเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลงมาก และซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น 

  1. การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม คือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ ขณะเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังพบหลายจังหวัดมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยเกินไป แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงก็ตาม
  1. การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 59 ล้านไร่ กลับมีถึง 74.3% หรือ 44.5 ล้านไร่ ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และคิดเป็นผลผลิตถึง 65% ของปริมาณข้าวทั้งหมด และเมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ การปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60% โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 51%
  1. การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีตลาดประกันวินาศภัยในภาคเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้น

รับมือวิกฤตอาหาร

KKP Research มองว่า แม้ในปัจจุบันประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารในไทยอาจจะยังไม่น่ากังวลเหมือนหลายประเทศในโลก แต่ในระยะยาวจากความเปราะบางของภาคเกษตรไทยที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ ทำให้ไทยจำเป็นต้องวางแผน พัฒนา และลงทุน เพื่อเตรียมรับมือ 

โดยจากข้อมูล Global Food Security Index ของ The Economist พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability) แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเอง ยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก

ที่มา : The Standard วันที่ 5 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : ดำรงเกียรติ มาลา

 

คนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน เพิ่มน้อยกว่าที่คาดเพราะได้เงินรัฐเยียวยา

PoorThai2020

“สภาพัฒน์” เผยปี 63 คนจนเพิ่มขึ้น 500,000 คนจากปี 62 ถือว่าน้อยกว่าที่คาด หากเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวมากถึง 6.1% เพราะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการต่างๆที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ย 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือ 40% ของเส้นความยากจน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะมีการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในต้นปี 2565 สามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้ แต่ภาครัฐต้องดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบันทุกปี เพื่อให้การใช้เงินในโครงการตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดมากที่สุด ซึ่งการให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2565 ถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากครั้งล่าสุดที่ให้มีการลงทะเบียนคือตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการลงทะเบียนรอบใหม่ กระทรวงการคลังจะมีการนำเอาฐานข้อมูลรายได้ของครัวเรือนมาพิจารณาด้วย เพื่อให้ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องดูว่าเกณฑ์ที่ออกมาสุดท้ายแล้วจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการก็คือการเพิ่มโครงการ หรือกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเพิ่มรายได้ โดยอาจเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานที่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ในเชิงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวได้ เพราะภาครัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่ภาครัฐต้องมีกลไกให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถยกระดับรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพื่อขยับรายได้ให้มากขึ้นด้วย”

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย ที่ สศช.มีการติดตามสถานการณ์พบว่าในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 500,000 คน จากปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ที่หดตัวมากถึง 6.1% อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคนจนของ สศช.กับกระทรวงการคลังใช้คนละหลักเกณฑ์ ส่วนที่จำนวนคนจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามที่คาดไว้ เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน ในชุดมาตรการต่างๆ ซึ่งคิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ยทั้งปี 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเส้นความยากจน

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยา โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ใช้งบฯไปทั้งสิ้น 709,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 136,000 ล้านบาท หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต”.

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 29 พ.ย. 2564

ทางเลือกการปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ของเกษตรกรยุคโควิด

HerbalPlant

ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว   

และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน  ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ

รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง  ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย

สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2)  มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น  PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ  

3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ  4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แก้หนี้ แก้จน ต้องเริ่มที่ปรับ 'Mindset' เชิงนโยบาย

KrunRiceFarmBangkud 

"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล  การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้  การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น  เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768876
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2156
5699
14631
160402
6768876

Your IP: 3.143.17.127
2024-04-30 10:30