ตลาดออนไลน์ ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด-19

OnlineMarketforFarmer

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/_wPh3fN_xbM}

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติได้ ตลาดออนไลน์เป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง อย่างไรก็ตามตลาดออนไลน์มีการแข่งขันสูง การทำตลาดออนไลน์ให้ประสบผลสำเร็จเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและมีการกลับมาซื้อซ้ำหรือบอกต่อ มูลนิธิชีวิตไท จึงอยากนำเสนอเทคนิคและแนวทางการพัฒนาตลาดออนไลน์สำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีส่วนช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

จัดทำโดย : มูลนิธิชีวิตไท

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลิตเมื่อ : ธันวาคม 2564

ตลาดออนไลน์กับการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร

OnlineMarketFarmer

ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลัก คือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือเกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมทสินค้าของตนเองได้เลย

ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์ คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการย่นระยะเวลาและระยะทางในการพบเจอกันของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งตัวเกษตรกรเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ

นอกจากนี้ตลาดออนไลน์ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง แต่ทั้งนี้ตัวเกษตรกรต้องคำนึงถึงคุณภาพและกลุ่มลูกค้า ไม่ควรตั้งราคาที่ค้ากำไรเกินควรและต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรนั้น จากประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า Facebook และ Line เป็น 2 ช่องทางอันดับแรกที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวเกษตรกรเองต้องมีการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ตัวสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกชิ้น มีรูปลักษณ์ชวนดึงดูดผู้ซื้อ เรื่องราวของสินค้า การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน อีกทั้งต้องมีการเตรียมข้อมูลและวิธีในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า

เนื่องจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะฉะนั้นย่อมมีคู่แข่งที่มากกว่าการขายสินค้าแบบออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องมีการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมาตรฐานเพื่อขยายตลาดให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน PGS หรือ Organic Thailand ให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การยื่นขอ อย. สำหรับสินค้าแปรรูป เป็นต้น

สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร คือ การที่เกษตรกรยึดติดกับรูปแบบการขายสินค้าในรูปแบบเดิม คือ การรอให้ลูกค้าเข้าหา หรือการรอให้ลูกค้าเป็นคนเอ่ยถาม มากกว่าการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าก่อน อีกทั้งยังปิดกั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนช่องทางและวิธีการขายสินค้าของตนเองให้ทันยุคสมัย และไม่รอที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือรอลูกค้าเข้าหาตนเองอีกต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกที่จะขายสินค้าพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับของตนเอง ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคู่ค้า มีแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยกันพยุงช่องทางตลาดในรูปแบบออนไลน์ให้เหล่าเกษตรกรทั้งหลายได้มีพื้นที่ขายสินค้า มีพื้นที่บอกเล่าความเป็นมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติที่มาแบบไม่ทันคาดคิด

ท้ายที่สุดแล้วช่องทางการขายสินค้าของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่างกัน  หัวใจสำคัญคือเกษตรกรต้องก้าวไปสู่การยกระดับจากผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเดียวไปสู่เกษตรกรผู้ประกอบการ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดให้หลากหลาย กระจายความเสี่ยง  รวมถึงมีการปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรที่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในสังคมวิถีใหม่

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 พ.ย. 2564

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6805059
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
551
5748
551
33965
6805059

Your IP: 3.134.78.106
2024-05-05 03:38