• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การเชื่อมโยงผู้บริโภค

“ผูกปิ่นโตข้าว” พลังผู้บริโภคสนับสนุนการแก้หนี้และเลิกเคมีของชาวนา

RiceFarmersupanburi

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ ใกล้จะมาถึงในเวลาไม่ช้าไม่นาน จับสัญญาณจากรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาบรรดา ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากฝั่งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างตบเท้ากันลงพื้นที่และจัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นำเสนอผลงานและนโยบายกับพี่น้องประชาชน ชาวนา เกษตรกร ในระดับพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก

“นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร” คือหนึ่งในนโยบายประชานิยม ทั้งแนวทางปลดหนี้ ลดหนี้ แก้หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทุกพรรคการเมือง ต่างหยิบยกนำมาใช้เพื่อหาเสียงกับชาวนาและเกษตรกร ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยพบว่านโยบายหรือมาตรการส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้ มักมุ่งเน้นที่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาปลายเหตุ “การลดหนี้เสีย”  ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีความซับซ้อน และเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การปรับแก้กลไกและกติกาสินเชื่อให้มีความเป็นธรรมต่อชาวนามากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง โดยทำมากกว่ามาตรการพักหนี้และยืดหนี้ และประการสุดท้ายการสนับสนุนการลงทุนการผลิตใหม่ การฟื้นฟูทางเลือกอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชาวนาและเกษตรกรไปพร้อมกัน

ชาวนาและเกษตรกรอยู่คู่กับปัญหาหนี้สินมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน และสองปีนับแต่มีโควิด (2563-2564) พบว่าชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74 หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ  150,636 บาท มาอยู่ที่  262,317 บาท แม้รัฐบาลจะมีโครงการและมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ  1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขไม่ให้กู้เงินเพิ่ม

อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ด้วยข้อจำกัดและเหตุผลประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อเงินทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นวงจรหนี้ไม่จบสิ้น

จากสภาพปัญหาและพื้นฐานข้อจำกัดของชาวนาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2565 นี้ ทางมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการปรับตัวเพื่อการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์จากการทำงานระดับพื้นที่ พบว่า ชาวนาที่มีหนี้มักมีสภาพจิตใจที่กดดันหลายด้าน ดังนั้นความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์เพื่อการแก้หนี้ของชาวนา จึงได้ริเริ่มโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว แก้หนี้ชาวนา”  ขึ้น

โดยหัวใจหลักและแนวคิดของโครงการนี้ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมพลัง และความเกื้อกูลระหว่างชาวนาผู้มีหนี้กับผู้บริโภคที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม การแก้หนี้ชาวนาโดยลำพังอาจไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้บริโภคทำความรู้จักกับชาวนาที่มีความตั้งใจปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์ จากนั้นผู้บริโภคเลือกสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี เพื่อให้ชาวนาเหล่านี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นในการทำนาอินทรีย์จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตของเขาอย่างแน่นอน ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เงินที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีเงินนำไปจัดหาและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเริ่มลงมือปรับระบบจากการทำนาเคมีสู่นาอินทรีย์  ชาวนาจะไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ของชาวนาไม่รู้จบให้หมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ส.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

นาเคียงเมือง ผลผลิตจากใจชาวนาสู่ผู้บริโภค

Nakiangmueang

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/aMK7GQ1SHtI}

ความตั้งใจในการทำ "นาเคียงเมือง" เพื่อเป็นตัวกลางในการนำสินค้าของเกษตรกรมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเมือง พร้อมนำเสนอเรื่องราวของชาวนาและเกษตรกร ที่ตั้งใจทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย ์เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน มีผลผลิตอาหารที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสุขภาพ การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อรางกาย วิธีการปลูกผักอินทรีย์ แหล่งที่มา

นาเคียงเมืองเป็นช่องทางการตลาดที่จัดทำโดยมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพชาวนา สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของผู้บริโภค ทำงานกับชาวนาในพื้นที่ จ.ชัยนาท จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.พิษณุโลก ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สิน และมีความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน โดยส่งเสริมให้เกิดการวางแผนทางการเงิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบการผลิตที่ยั่งยืนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ มีอาหารคุณภาพดีและปลอดภัยไว้บริโภค และส่งต่อให้กับผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ

วิธีการสั่งสินค้า

1. สั่งผ่าน กล่องข้อความ (Messenger) แจ้งรายละเอียดสินค้าที่ต้องการ ชื่อและที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ของท่าน (ไม่รวมค่าจัดส่ง)

2. สั่งผ่านกลุ่ม Line : นาเคียงเมืองhttps://line.me/R/ti/g/L5oaSAN6TB ซึ่งเป็นรูปแบบการพรีออเดอร์สินค้าทุกวันศุกร์ และจัดส่งสินค้าทุกวันอังคาร ตามเส้นทาง ถนนวิภาวดีรังสิต งามวงศ์วาน และหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ขอบคุณที่สนับสนุนสินค้าที่มาจากเกษตรกร ที่มีความตั้งใจปรับวิถีการผลิตมาเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ทำหน้าร้านค้าในเพจ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกดูสินค้าและสั่งสินค้าได้ง่ายขึ้น

 

 

 

ปรุงด้วยใจให้กับมือ

KruNoknoiMarket

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เป็นสังคมของผู้บริโภคที่มีความตระหนักและมีความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมีทางเลือกจากช่องทางตลาดและการเข้าถึงข้อมูลที่มีความรวดเร็วและหลากหลายมากขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล เปรียบเทียบคุณภาพและรายละเอียดของสินค้าและบริการ อีกส่วนที่สำคัญ คือ กระแสรักษ์โลก การดูแลสิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อมักจะเลือกซื้อของกินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แนวคิดเช่นนี้คือที่มาของงาน “ปรุงด้วยใจให้กับมือ” ซึ่งต้องการเป็นจุดหมายปลายทาง  จุดนัดพบพลพรรคคนรักษ์สุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการออกร้านจากผู้ผลิตและเกษตรกรรายย่อยโดยตรง  มีกิจกรรม Workshop  กิจกรรมรณรงค์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากความตระหนักในปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากวิถีการบริโภคเนื้อสัตว์และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และส่งเสริมการบริโภคอาหารจากพืช ผักผลไม้อินทรีย์และอาหารปลอดภัย เพื่อลดภาวะโลกร้อนและรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น

“ครูนกน้อย” เจ้าของสถานที่จัดงาน “ปรุงด้วยใจให้กับมือ” และเป็นเจ้าของ “โยคะบ้านสวน”  ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงจุดเริ่มต้นในการจัดงานว่า  เริ่มจากความสนใจสุขภาพด้วยการฝึกโยคะ มาตั้งแต่ปี  2557 ได้เปิดสอนโยคะ แล้วรู้สึกมีความสุข จึงต้องการส่งต่อความสุขให้กับคนในชุมชนละแวกไทรม้า-ท่าอิฐ นนทบุรี และมีความสนใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะพืชผักผลไม้อินทรีย์

ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดแพร่ระบาดที่ผ่านมา จึงได้เริ่มทำตลาดพรีออเดอร์ผักผลไม้อินทรีย์จากสวนของเกษตรกรโดยตรง และผักพื้นบ้านจากชาวสวนนนทบุรี มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ในย่านนี้ ผ่านไลน์กลุ่มของหมู่บ้าน โดยการจัดส่งให้ฟรี ทำให้มีโอกาสได้รู้จักเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าโฮมเมด และสินค้าเพื่อสุขภาพหลายราย อาทิเช่น ขนมผักกาดโฮมเมด รสมือแม่ Nanthinee Homemade , Kitchin AtHome  ขนมปัง Vegan homemade , นาเคียงเมือง , พอใจในวิถีพอเพียง สินค้าผลิตภัณฑ์ จากชุมชน , Millionaem มิลเลียนแหนมเห็ดนานาชนิด ,ร้านกรีนเจ, Wish Craft Coffee,ร้านนี้มีแต่ของดี, ผิงซันบุ๊ค เป็นต้น

 จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา โดยมีการออกร้านขายของ ขายอาหาร และจัดกิจกรรม Workshop โดยมีการไลฟ์สดผ่านเพจปรุงด้วยใจให้กับมือ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนหันกลับมาดูแลสุขภาพด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาทานอาหารจากผักผลไม้มากขึ้น โดยในงานได้ให้ความรู้ ความเข้าใจก่อนว่า อาหารวีแกน (Vegan) กับอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) และอาหารเจแตกต่างกันอย่างไร อาหารมังสวิรัติ ไม่เหมือนอาหารเจที่งดเว้นพืชผักบางชนิดด้วย อาหารมังสวิรัติบางกลุ่มยังกินผลิตภัณฑ์ทางอ้อมจากสัตว์ด้วย เช่น นมหรือเนย ส่วนอาหารวีแกนไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ใด ๆ เลย

กัลยาณมิตรหลายภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานปรุงด้วยใจให้กับมือ ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นบ้านสวนต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น อยู่ใกล้รถไฟฟ้า ไปมาสะดวก เป็นแหล่งสำหรับพบปะ แลกเปลี่ยน เสวนาเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ต้นไม้ ของใช้ จากธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่เป็น Homemade  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสุขภาพ อาหารเจ มังสวิรัติ วีแกน  มีการวางเป้าหมายในการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยให้นำภาชนะที่จัดเตรียมมาเอง หรือถุงผ้า นอกจากเรื่องอาหาร ยังรวมถึงสินค้าทำมือ เช่น ของใช้ จาน ชาม งาน Handmade ตลาดต้นไม้ที่ปลูกเอง ขายเอง  เป็นการส่งมอบสิ่งที่ทำ และ “ปรุงด้วยใจ”ของผู้ผลิต มอบ “ให้กับมือ”ผู้บริโภคโดยตรง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 26 ต.ค. 2564

 

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6792962
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
4964
16904
38717
21868
6792962

Your IP: 13.58.60.192
2024-05-02 15:31