'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

การปรับตัวของชาวนาไทย

ThaiRiceFarmerAdabtation การปรับตัวของชาวนาไทย                                    

 พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2561 

 บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ 

 กองบรรณาธิการ : รศ.สมพร อิศวิลานนท์, 

 ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์, รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, 

 นันทวัน หาญดี, สมจิต คงทน, วรากร น้อยพันธ์, 

 อารีวรรณ คูสันเทียะ, ธีระพงษ์ วงษ์นา, ประพันธ์ โพธิ์พูลพรหม 

 ฝ่ายประสานงาน : นาขวัญ สกุลลักษณ์

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)  

    download

   

   

 

 

 

"งานศึกษาชิ้นนี้ได้บ่งบอกว่า หากภาครัฐต้องการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร

เพื่อให้มีพลวัตรไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนาน

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากไปกว่านโยบายระยะสั้น

และเห็นคุณค่าของการลงทุนทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านความรู้

ทุนด้านความคิด ด้านเครือข่าย เงินทุนที่มีความยั่งยืน และการจัดสรรที่ดิน

เพื่อให้โอกาสทำกินแก่เกษตรกร เพื่อการลงทุนด้านสังคมทั้งหมดนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพ

เพื่อให้การปรับตัวขอ่งชาวนาและเกษตรกรไทย.....

เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน"

        

ข้าวไทยติดหล่มประชานิยม อุดหนุนบานปลาย-เร่งพัฒนาพันธุ์

ThaiRiceResearch

การใช้นโยบายประชานิยม อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนา ยกระดับและนำเทคโนโลยีมาใช้ นับเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความกังวลออกมาจากการประชุมเวทีข้าวไทย 2565 ก้าวต่อไป นโยบายข้าวไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

รายได้เกษตรกรติดหล่ม

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวไทยในกระแสของโลกยุคใหม่” ว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยในอดีตเติบโตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก จากการสนับสนุนนโยบายรัฐ และการเดินหน้าของภาคเอกชนที่สร้างกลไกการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 นานกว่า 2 ทศวรรษ

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวไทยเกิดการหยุดชะงัก สูญเสียตลาดให้คู่แข่ง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวให้กับเวียดนาม ข้าวขาว ข้าวนึ่งให้กับอินเดีย

“ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็ทรงตัวแค่ 485 กก./ไร่ ต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชีย เวียดนาม 928 กก./ไร่ กัมพูชา 567 กก./ไร่ แพ้แม้กระทั่งบังกลาเทศ 752 กก./ไร่ ศรีลังกา เนปาล 608 กก./ไร่ เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก”

ขณะที่อัตราการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลง และมีปัญหาคุณภาพแรงงาน ความต้องการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรประมาณ 25-28% ขณะที่ GDP ภาคการเกษตรมีเพียง 8-9% ซึ่งก่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในภาคการเกษตร กับนอกภาคการเกษตร สูงถึง 4.5 เท่า เทียบกับมาเลเซียและจีนที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว

แก้ต้นเหตุ

สาเหตุที่โครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยหยุดชะงัก เกิดวัฏจักรกับดักผลิตภาพต่ำ มาจากหลายปัจจัยทั้งมาตรการการอุดหนุนในภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่กำลังทำลายแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้ อีกทั้งมาตรการมีความซ้ำซ้อน

ทั้งโครงการประกันรายได้ และก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพข้าว ด้วยมี 2 พรรคการเมืองที่มีการหาเสียงไว้ ทำให้เกิดนโยบายซ้ำซ้อน เกิดการอุดหนุนเพิ่มขึ้น สูญเสียงบประมาณปีละ 140,000 ล้านบาท “สูงกว่า” งบประมาณของทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังใช้เงินนอกงบประมาณปีละแสนล้านบาทด้วย

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงการถูกดิสรัปชั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีการลงทุนงานวิจัย รวมไปถึงมีนักวิจัยมากกว่าไทย ซึ่งเมื่อดูงบประมาณวิจัยพันธุ์ข้าวของไทยมีเพียง 150-180 ล้านบาทต่อปี นักวิจัยน้อยลง ขาดนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันก็มาเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตต่ำลง ใช้น้ำสิ้นเปลืองเมื่อเทียบพืชอื่น ๆ และกำลังจะได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรปและสหรัฐ ปรับขึ้นภาษีหากไม่มีการปรับตัว

เพิ่มรายได้เกษตรกร

เป้าหมายสำคัญไทยต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวในภาคเกษตรเทียบเท่ารายได้นอกภาคการเกษตรได้อย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน และต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการยกระดับคุณภาพแรงงานภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตต่อไร่

ตาราง เงินอุดหนุนชาวนา

 

“เป้าหมายการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ ทุกสาขาเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายไปพร้อมกันในภาพรวม”

ถึงเวลาปฏิรูปข้าวไทย

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร หากยังมีนโยบายอุดหนุนจำเป็นต้องมีเงื่อนไข เพราะหากไม่มีเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัว

ดังนั้น ต้องลดการอุดหนุนที่มีความซ้ำซ้อน เช่น ประกันรายได้ใช้งบประมาณปีละ 8.67 หมื่นล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพข้าว 5.53 หมื่นล้านบาท ออกจากกัน และให้นำงบฯส่วนนี้มาตั้ง “กองทุน” เพิ่มงานวิจัย และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดการเผา เป็นต้น

“รัฐต้องเพิ่มงบฯวิจัยข้าว 1% ของจีดีพีข้าว คิดเป็นปีละ 3,000-3,500 ล้านบาท เวลา 5 ปีให้ได้ เปลี่ยนฐานะกรมวิชาการเกษตรและการวิจัยข้าว มารวมเป็นสถาบันอิสระ สร้างแรงจูงใจให้ทุนนักเรียนไทย เป็นนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

แก้ไขกฎหมายให้กรรมสิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์ เปลี่ยนบทบาทนโยบายของรัฐจากเป็นผู้ประเมิน ให้เกษตรกรดำเนินการ ปฏิรูปรับรอง มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพราะเสียเวลา เปิดให้นำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาวิจัย เป็นต้น”

นายสมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวของรัฐกับการพัฒนาข้าวไทย” ระบุว่า โครงการประกันรายได้เริ่มเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2551-2552 ใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันปี 2562-2563 ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท บวกกับมาตรการคู่ขนานอีก 20,000 ล้านบาท

สิ่งสำคัญต้องผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปี ยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรายได้เกษตรกร รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าข้าวไทยถูกลากจูงไปสู่พืชการเมือง นโยบายประชานิยม ใช้งบประมาณกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ในระยะยาวหากไม่เปลี่ยนแปลงจะแข่งขันลำบาก โดยการอุดหนุนทำได้แต่จำเป็นต้องแยกกลุ่มเปราะบาง จัดลำดับและช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

ถอดโมเดลอินเดีย

ด้าน นายศฎาวุฒิ กุลมณี รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ภาคีรัฐร่วมเอกชนในการพัฒนาข้าวของอินเดีย” ระบุว่า อินเดียมีพื้นที่ปลูกมากกว่าไทย 4 เท่า มีผลผลิตรวมเฉลี่ย 110-120 ล้านตันต่อปี

อินเดียให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์อย่างมาก โดยมีการสต๊อกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ส่งออกแล้ว 18 ล้านตัน ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งออกได้ 20 ล้านตัน

“การที่อินเดียมีการเติบโตทั้งด้านผลผลิตและการส่งออก เป็นผลมาจากสภาวิจัยการเกษตรอินเดีย (ICAR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับผิดชอบการศึกษาการเกษตรประสานงานและการวิจัย ภายใต้กระทรวงเกษตรอินเดีย มีงบประมาณ 5.8 หมื่นล้านรูปี

ใช้ศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร ส่งออก เพื่อยกระดับวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับหลายหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา อีกทั้งรัฐเสริมงบประมาณ 2% ของจีดีพี หรือ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการเพาะปลูก ทั้งปุ๋ย ประกันรายได้ ไฟฟ้าฟรี ภาครัฐช่วยด้านการผลิต สร้างชลประทาน

รวมถึงส่งเสริมเครื่องจักร จนในปัจจุบันอินเดียสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวบาสมาติ มากกว่า 34 สายพันธุ์แล้ว”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ธ.ค. 2565

วิเคราะห์ '8 นโยบายเกษตร' สร้างมูลค่าต่ำกว่าเม็ดเงินงบลงทุน

8AgriPolicyAnalysis

หลากหลายรูปแบบที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตร แต่ผลวิเคราะห์ 8 นโยบายสาธารณะปี 63 ที่ใช้งบบกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 1.06 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำ และไม่ได้ลดหนี้ให้เกษตรกรได้แต่อย่างใด

นาย วิษณุ อรรถวานิช  อาจารย์ และนักวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เปิดเผยว่าในอดีตภาคเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งจ้างงาน แหล่งรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีตทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร GDP ภาคเกษตรในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.63%  แต่ภาคการเกษตรถือเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ 12.62ล้านคนและมีครัวเรือนในภาคเกษตร 8.06 ล้านครัวเรือน

163006547848

ปัจจุบันเกษตรกรได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น แต่การผลิตในภาคเกษตรไทยยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของเกษตรกร   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนเกษตร รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ใช้นโยบายเกษตรในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแทรกแซงราคาตลาด การส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่ ส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งนโยบายต่างๆใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก

โครงการวิจัยและประเมินครั้งนี้ ได้หยิบยกผลกระทบของ 8 นโยบายสาธารณะที่หลากหลาย ต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย   คือ  1. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2. แปลงใหญ่ 3. การบริหารจัดการน้ำ 4. แผนการผลิตข้าวครบวงจร 5. Zoning by Agri-Map 6. ธนาคารสินค้าเกษตร 7. มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP/ เกษตรอินทรีย์ และ 8. โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีความแตกต่างของรายได้ทางตรงจากการเข้าร่วมแต่ละนโยบายของครัวเรือนเกษตรเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้เข้าร่วม ในโครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 128,018 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ มีเพิ่มรายได้ 397,793 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 67,637 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  นโยบาย Zoning by Agri-Map ลดรายได้26,443 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้237,759 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้ของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ในด้านต้นทุนการผลิต พบว่า โครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 107,255 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มต้นทุน 219,458 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map เพิ่มต้นทุน 278,962 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดต้นทุน 24,586 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดต้นทุน 112,857 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้ต้นทุนของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ด้านรายได้สุทธิ การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มรายได้สุทธิ 178,852 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่ แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดรายได้สุทธิ43,158 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map ลดรายได้สุทธิ 32,976 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้สุทธิ125,568 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

เมื่อนำรายได้สุทธิมาเฉลี่ยกับ 8.06 ล้านครัวเรือน  พบว่าเกษตรกรที่เข้าถึงโครงการการบริหารจัดการน้ำ  26.23%  สร้างเพิ่มมูลค่าได้ 378,221 ล้านบาทต่อปี  แผนการผลิตข้าวครบวงจร 3.4 ล้านครัวเรือน  มีมูลค่าลดลง 150,959 ล้านบาทต่อปี Zoning by Agri Map ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 1.80% มีมูลค่าลดลง 4,785 ล้านบาทต่อปี และ ธนาคารสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 4.129% มีมูลค่าลดลง  41,790 ล้านบาทต่อปี

และมูลค่าผลกระทบจากทั้ง 8 นโยบาย เท่ากับ180,686.25 ล้านบาทต่อปี เมื่อนำมาหักลบงบประมาณที่ใช้จ่ายตลอด 3ปี 8 นโยบายสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงบวกรวม 106,908 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งหมดจะพบว่าเกิดขึ้นจากนโยบาย การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น ดังนั้นควรพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงนโยบายอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น  อีกทั้งนโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร และควรส่งเสริมการขยายแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานมากขึ้น

ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงเดียวกับเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะครัวเรือนที่ปลูกข้าว ให้เงินช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไขเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า  รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเกษตรกรวัยหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ส.ค. 2564

ผู้เขียน : ยุพิน พงษ์ทอง

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

WorldKithchenThailand

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ร่วมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในนามนักวิชาการ ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมสะท้อนอุปสรรค โอกาส และแนวทางการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมือง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจากปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต”

 

 

 ส่วนประเด็นร้อนตอนนี้ ปุ๋ยแพง ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ควรไปทางไหนดี นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า “ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจากปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน”

  

 

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า “ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญ จากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนราย จนในที่สุด ต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น”

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด ได้เล่าประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) ไว้ว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้ง ความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ”

 

ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP (เกษตรเคมี) สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้ง สารกำจัดศัตรูพืช ได้บริหารจัดการนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยในปีนี้ คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญที่สุด กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งการเกษตรระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่”

 

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างน่าสนใจ โดย พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ความสำคัญในเรื่อง “เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์”

ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เน้นว่า “นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ”

 

 

 

 

 

ด้าน พรรคก้าวไกล ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทยว่า “หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น ด้วย 1) แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2) แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3) แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมียม ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อกหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองต่อทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

และ พรรคเพื่อไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ เสริมว่า “เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือ เพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต”

 

 

 

 “ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP (เกษตรเคมี) อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

ที่มา : มติชน วันที่ 21 มิ.ย. 2565

เกษตรกรดิ้นไม่หลุดกับดักหนี้สิน แบกหนี้เฉลี่ยเกือบครึ่งล้านต่อครัวเรือน

DrSommarat

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนฐานรากไทยอ่วมปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึง 91% ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกว่า 90% แบกหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท เกินศักยภาพในการชำระหนี้


หนี้สินครัวเรือนฐานรากหรือครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่ใน “กับดักหนี้สิน” อย่างดิ้นไม่หลุด เพราะสถาบันการเงินในประเทศไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับกับประชากรกลุ่มนี้ 

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในเวที “Policy forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

โสมรัศมิ์ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าตลาดต่างๆ ในระบบการเงินไทย โดยพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 สูงถึง 91% ต่อ GDP และโตขึ้นถึง 32% ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ในระบบและกว่า 1 ใน 6 มีหนี้เสีย มียอดหนี้เฉลี่ย 350,000 บาท ต่อคน ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง เมื่อศึกษาลงลึกไปในกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือครัวเรือนเกษตรกรพบว่า 90% ของเกษตรกรมีหนี้สินและมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว แต่โดยเฉลี่ยมีหนี้กันถึงคนละ 3.8 ก้อน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักการชำระหนี้มานานกว่า 4 ปี เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินกู้นอกระบบ บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 

“นโยบายการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน เพราะนโยบายพักหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เมื่อปล่อยให้พวกเขาอยู่กับการพักการชำระหนี้นาน ทำให้เขาติดในวงจรหนี้ นโยบายพวกนี้จึงกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรติดในกับดักหนี้จนกลายเป็นการฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ” 

ทั้งนี้เมื่อลองสำรวจมาตรการพักการชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าเป็นการให้ลูกหนี้พักหรือหยุดชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น 2 เดือน 3 เดือน และเป็นเพียงการอนุญาตให้หยุดการชำระโดยไม่มีการทวงถาม แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงดำเนินต่อไป การติดอยู่ในวงจรการพักการชำระหนี้นานไม่ต่างจากการผิดชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อไป กลายเป็นกับดักรั้งเกษตรกรไว้ไม่ให้หลุดไปจากวงจรหนี้ 

โสมรัศมิ์ยังพบว่าพฤติกรรมเอาตัวรอดจากหนี้ของเกษตรกรที่พบคือ การหมุนหนี้ กู้จากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่งวนไป จนสุดท้ายไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรหนี้ได้ 

สิ่งที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านนี้มองว่าจะเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงตามศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศมาก เพราะนั่นหมายถึงการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนจะมีศักยภาพทางการเงินไม่เท่ากัน การปรับโครงสร้างหนี้ต้องออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายด้วย ทั้งนี้แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ การนำเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ และดอกเบี้ยค่าปรับ ทั้งหมดมารวมกันเป็นยอดเงินกู้ยอดใหม่ ทำให้มูลหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ยังมองว่าภาคนโยบายทางการเงินของไทยควรต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่จะไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับแหล่งเงินกู้อื่น ทำให้ฐานข้อมูลการเงินของเกษตรกรในระบบไม่ชัด กลายเป็นการปล่อยวงเงินกู้เกินศักยภาพดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ข้อเสนอของโสมรัศมิ์ สอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง ธ.ก.ส. ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะขาดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การกำหนดให้เงินกู้ของเกษตรกรมีการชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องชำระรายเดือนเหมือนโครงการสินเชื่อทั่วไป แต่การให้เงินกู้นั้นก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตอาจเสียหาย หรือราคาผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ของ ธ.ก.ส.ได้ ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของชาวนาร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีหนี้หลายก้อนและเมื่อต้องชำระจะเลือกชำระก้อนเล็กที่เป็นการชำระรายเดือนก่อน เช่น หนี้ไฟแนนซ์รถ หนี้นอกระบบ และอื่นๆ เพราะหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มักให้ชำระครั้งเดียวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย หรือหากชำระบางส่วนจะถูกตัดเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการลดเงินต้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรเช่นนี้ยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมทางการเงินของชาวนา หรือนวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. เมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ให้เกษตรกรกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันกู้และค้ำประกันเอง โดยมีจุดมุ่งมายเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการผลักภาระความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. ไปสู่เกษตรกรคนอื่น เพราะเมื่อไม่สามารถได้รับการชำระหนี้จากเกษตรกรผู้กู้ ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้จะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายค้ำประกันฉบับเดิม ก่อนจะมีการแก้ไขในต้นปี 2565 นี้เอง ทั้งนี้เคยปรากฏว่าผู้ค้ำประกันถูกยึดที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพราะเกษตรกรผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา และสถาบันการเงินไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองเกษตรผู้ค้ำประกัน 

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ๋กล่าว 

ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ม.ค. 2566 

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง


  

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แผนเกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ความหวังพลิกฟื้นวิกฤต

OrganicFarmerKanchanaburi

ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรฯ ดันไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์อาเซียน ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 1.34 ของพื้นที่ทางการเกษตรประเทศ 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนราย และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี  โดยได้นำเสนอผลสำเร็จการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,515,132 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.3 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 95,752 ราย (พื้นที่เฉลี่ย 15.82 ไร่ต่อราย) สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,069 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค  ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปีฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล

แนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามร่างแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ 1) ด้านส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 2) ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

3) ด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570  จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ในปี 2570 และ จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง 4) ด้านการพัฒนาการตลาดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญประกอบด้วย 1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรเน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม และควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้  2) ด้านการผลิตควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านระบบออนไลน์ และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ 4) ด้านตลาด ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาดออนไลน์ เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้น การผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเป็นทางเลือกและความหวังหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คือ การสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่เอื้อเชิงนโยบายให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหนี้สิน จึงควรมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์มากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768794
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2074
5699
14549
160320
6768794

Your IP: 3.133.121.160
2024-04-30 09:43