• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - กองทุนฟื้นฟู

กองทุนฟื้นฟูฯ วางเป้า 6 เดือนเสร็จ สะสางข้อมูลทะเบียนหนี้ใหม่หมด ย้ำเกษตรกรอัพเดทด่วน

 ManusWongchan

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีนโยบายให้ดำเนินการสะสางข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรใหม่ทั้งหมด โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เป้าหมายเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับความเป็นจริง อันนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพทันต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนหนี้ ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยทดแทนระบบเดิมที่ใช้วิธีกรอกข้อมูลในเอกสารแล้วจึงนำมาลงในระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมลงทะเบียน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดประชุมซักซ้อมความข้าใจกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสาขาทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

อีกแนวทางที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันตามนโยบายของเลขาธิการ กฟก. คือ การประสานและตรวจสอบยืนยันเกี่ยวกับข้อมูลหนี้จากเจ้าหนี้ โดยในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดสาขา ประสานกับอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานข้อมูลจากเจ้าหนี้ เช่น สหกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ สำหรับในส่วนกลางสำนักงานใหญ่ จะดำเนินการประสานกับเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนของ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่างๆ และ ตรวจสอบยืนยันกับทางเจ้าหนี้ด้วย โดยเฉพาะทางสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในระดับพื้นที่ ส่วนเจ้าหนี้ที่อยู่ส่วนกลางที่ทางสำนักงานใหญ่ที่จะต้องเป็นคนประสาน อาทิ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น”
ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานั้น เกษตรกรสมาชิกที่ได้มาขึ้นทะเบียน บางส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยข้อมูลไว้อย่างนั้น ไม่มีการแจ้งถึงสถานะหนี้เปลี่ยนแปลงอย่างหรือไม่ หรืออยู่ในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องหรือยัง เป็นต้น ส่งผลให้ข้อมูลหนี้ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จนถึงขณะนี้มีประมาณ 510,000 กว่าราย รวมสัญญาจำนวน 769,000 กว่าสัญญา คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 107,000 ล้านบาท ทั้งจากที่ขึ้นทะเบียนไว้ 510,000 กว่าราย มีจำนวนถึง 200,000 กว่าราย ที่ไม่มีการอัพเดทสถานะหนี้ให้เป็นปัจจุบัน


“ ดังนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถมาติดต่อประสานกับทางสำนักงานจังหวัดในพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลปรับปรุงทะเบียนหนี้ของตนเอง ได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดได้ในทุกวันทำการ เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งกรณีเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระ หนี้จำเป็นเร่งด่วน หรือขั้นบังคับคดีขายทอดตลาด” นายมนัส กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา : สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ วันที่ 21 ก.ย. 2564

ครม. อนุมัติ 2,000 ล้าน ให้กฟก. ซื้อหนี้เกษตรกรจากแบงก์ สกัดที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้

ThaiBahtFarmDebt

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อรับซื้อหนี้สินเกษตรกร เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 3,425 ราย จากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน เข้ามาไว้ที่ กฟก. ไม่ให้ที่ดินที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันตกเป็นของเจ้าหนี้ ตามนโยบายและข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในปี 2563-65 กฟก. ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จึงทำให้ในปี 2565 นี้ กองทุนฯ มีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการ โดยวงเงินที่ ครม. อนุมัติ จะใช้ดำเนินการในเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานฯ ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) วงเงิน 230.38 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,425 ราย วงเงิน 1,500 ล้านบาทและ การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 42,034 ราย 776 องค์กร วงเงิน 267.62 ล้านบาท

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร, ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม, พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม และ พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ที่มา : ข่าวสด วันที่ 1 มี.ค. 2565

  

ครม. เห็นชอบหลักการแก้หนี้เกษตรกร ให้พักดอกเบี้ย-ผ่อนชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง ผ่อนครบยกหนี้ให้ทั้งหมด

TheStandardFarmerDebtPoliy

วันนี้ (22 มีนาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี นับจากวันที่ ครม. อนุมัติ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ 

  • ปีที่ 1 จำนวน 10,000 ราย ขอใช้งบกลางฯ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2565 รวม 2,000 ล้านบาท 
  • ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย
  • ปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย

ธนกรยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นหนี้ในระบบและประสงค์ที่จะให้กองทุนช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินและได้นำหนี้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ผิดนัดชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ตรวจสอบแล้วกำลังรอการแก้ปัญหาทั้งสิ้น จำนวน 50,621 ราย รวมมูลหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. 47,973 ราย มูลค่าหนี้เงินต้นจำนวน 8,520.41 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 552 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 162.37 ล้านบาท, ธอส. 2,008 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 306.41 ล้านบาท และ ธพว. 88 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 293.72 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้น (ร้อยละ 50 ที่พักไว้) และดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล สำหรับการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใดอีก

สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคาร 4 แห่งนั้น ครม. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังหารือก่อนให้ ครม. พิจารณาต่อไป

ธนกรย้ำเป้าหมาย ครม. ในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้พักฟื้นเรื่องหนี้สิน รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูตนเองและสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้เกษตรกร ตามที่ประกาศปี 2565 เป็นการแก้หนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : The Standard วันที่ 22 มี.ค. 2565

 

วิกฤตหนัก! เกษตรกรไทย 90% มีหนี้ -ธ.ก.ส. เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด

FarmDebtCrisis

วิกฤตเกษตรกรไทย! 90% มีหนี้ ติดกับดักนโยบายรัฐ -ปี 64 หนี้สิน 2.6 เเสนบาท/ครัวเรือน 'ดร.โสมรัศมิ์' สถาบันป๋วย ชี้เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด คือ ธ.ก.ส. เเนะเปลี่ยน KPI ดูคุณภาพสินเชื่อเเทนปริมาณ ช่วยเเก้ยั่งยืนได้  ด้าน ผู้ช่วย ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ยันมีเเผนเยียวยา พักชำระ ฟื้นฟู 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นางสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

ด้าน ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน"

ดร.โสมรัศมิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่

ขณะที่ นางเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภา กล่าว

ส่วนนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

ผู้ช่วย ผจก.ธ.ก.ส. กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก”  ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ที่มา : THAICH8.COM วันที่ 23 ก.พ. 2565

เจาะลึกมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ที่นำทุกคนมาทวงความคืบหน้าจากรัฐบาล

 BigStoryFarmerDebt

  • สืบเนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากลงทะเบียนใช้สิทธิ์กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
  • แต่เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ที่ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล
  • ไทยรัฐพลัสชวนอ่านมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ จากปากของ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ที่เราได้พูดคุยแบบลงลึกไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร

ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ เกิดขึ้นมา เป็นกฎหมายที่ประชาชนเสนอร่างแล้วไม่ถูกแก้ไขเลย

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ คือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.5 - 1.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และการันตีว่าเกษตรกรจะไม่เสียหลักทรัพย์ (เกือบทั้งหมดคือที่ดิน) เหมือนอย่างที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน 

ด้วยข้อดีสองอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ 

กองทุนฯ เป็นทางออกที่เกษตรกรหวังพึ่งพา แต่สิ่งที่ยากคือ เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ระหว่างกองทุนฯ กับ 4 สถาบันการเงินของรัฐควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. 

ผลของความล่าช้าก็คือเกษตรกรยังคงต้องชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้เดิมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการชำระหนี้กองทุนฯ 

ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติเรื่องนี้ให้พวกเขาได้หรือยัง?

“การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ” 

นี่คือสรุปย่อๆ ว่าม็อบชาวนามาปักหลักเรียกร้องอะไรกัน ซึ่งไทยรัฐพลัสสรุปความจากที่พูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากการพูดคุยสอบถามความเดือดร้อนของเกษตรกร-ชาวนาที่มาชุมนุม และประเด็นที่มาทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล ไทยรัฐพลัสได้คุยกับชรินทร์ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ แบบลงลึกเรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร 

ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

ที่มาของเรื่องเป็นอย่างไร เงิน ‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’ มาจากไหน

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงินจากรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเล่าแบบมหากาพย์เลยคือ ในอดีต พี่น้องเกษตรกรมาชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรมานาน สมัยก่อน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรก็จะเข้ามากรุงเทพฯ มาชุมนุม ในที่สุดพวกเขาก็สรุปบทเรียนว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เกษตรกรก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายมากำกับมาแก้ปัญหา จึงเกิดกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ ขึ้นมา 

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกและฉบับเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชาวบ้านเข้าชื่อกันแล้วได้เป็นกฎหมายออกมา ที่สำคัญก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขเลย เสนอไปอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เนื่องจากว่าเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กฎหมายนี้เข้าสภาปี 2540 มันเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการที่รัฐบาลช่วยคนรวยจากวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลก็เลยไม่กล้าเสนอร่างประกบ จึงมีร่างของชาวบ้านร่างเดียว แล้วก็เลยได้กฎหมายออกมา

แต่พอได้กฎหมายออกมาแล้ว รัฐบาลก็ใช้วิธีการ slow down รัฐบาลไม่อยากทำ เพราะว่ามันกระทบเยอะ ที่กระทบแน่ๆ คือ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เพราะว่าถ้าชาวบ้านมาขอใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ ธ.ก.ส.ก็ต้องขายหนี้ให้กองทุน ธ.ก.ส.ก็เสียลูกค้าไปเรื่อยๆ เสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน

นี่คือที่มาของเรื่องนี้ การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ครม.อนุมัติเห็นชอบ เนื่องจากธนาคารทั้ง 4 แห่ง (ธ.ก.ส., ออมสิน, อาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์) เป็นธนาคารของรัฐ ไม่สามารถทำอะไรเองได้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นการซื้อขายหนี้รายหรือสองรายก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการซื้อขายลอตใหญ่ และเป็นการขายหนี้ให้หน่วยงานของรัฐด้วย จึงต้องใช้มติ ครม. 

เรื่องนี้ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงวันนี้เรื่องยังไม่ไปถึงไหน ติดอยู่ตรงความเห็นกระทรวงการคลังที่อ้างเรื่องวินัยการเงินการคลัง และเรื่องอะไรต่างๆ สารพัด เรามาชุมนุมขอให้ ครม. รีบเร่งมีมติ ในเมื่อธนาคารเจ้าหนี้เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบหมดแล้ว แล้วยังติดอะไร ล่าสุด ตอนนี้เขาบอกว่าไม่ติดอะไรแล้ว คาดว่าจะนำเข้า ครม. สัปดาห์หน้า 

การที่กองทุนฯ ซื้อหนี้ของเกษตรกรมาจากธนาคารเจ้าหนี้เดิม เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างไรบ้างนอกจากดอกเบี้ยที่ลดลง  

ตามกฎหมายให้กองทุนไปชำระหนี้แทนเกษตรกร กองทุนก็เอาเงินไปปิดบัญชีหนี้เลย แล้วโอนหลักทรัพย์ที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันกับ ธ.ก.ส. มาเป็นของกองทุนฯ ไม่ใช่การจำนองหลักทรัพย์ แต่หลักทรัพย์กลายเป็นของกองทุนเลย แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระในรูปแบบการเช่าซื้อ ซึ่งดอกเบี้ยจะถูกกว่าผ่อนกับธนาคารเจ้าหนี้เดิม และเกษตรกรจะไม่สูญเสียที่ดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้มีการยึดที่ดิน ให้ผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแล้วจึงได้โฉนดที่ดินกลับคืน ถ้ารุ่นนี้ผ่อนไม่หมดก็ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาชำระต่อจนกว่าจะหมด 

กฎหมายบอกไว้อย่างนี้ และเราก็เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยว่า ก่อนจะขายและโอนหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้จะต้องตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตัดค่าปรับทิ้งทั้งหมด และลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าหนี้ที่เกษตรกรต้องจ่ายก็ลดลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ตกลง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปหมดแล้วว่าการโอนหนี้จากเจ้าหนี้มาไว้กับกองทุนฯ ให้ตัดดอกและลดต้นครึ่งหนึ่ง 

พวกผมสู้จนชนะ ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราให้เงินต้นครึ่งหนึ่งถือว่าเป็นกำไรของธนาคารเสียด้วยซ้ำไป และข้อดีของธนาคารก็คือจะไปช่วยปิดหนี้ NPL ด้วย เพราะเมื่อโอนมากองทุนฯ หนี้เสียก็หมดไป แบงก์ก็จะมีสถานะดีขึ้น ตอนนี้แบงก์เอกชนไม่มีปัญหาเลย เขายอมขายหนี้หมด กองทุนซื้อหนี้เกษตรกรที่อยู่กับแบงก์เอกชนมาแล้ว แต่มีไม่เยอะ เพราะหนี้ชาวนามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่กับ ธ.ก.ส. 

ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว

 

รัฐให้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ปีละเท่าไร หรือให้อย่างไร 

ให้ปีแรก 1,800 ล้านบาท เป็นทุนประเดิม นับถึงตอนนี้เงินที่รัฐบาลให้กองทุนมาแล้วเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง 10,000 ล้านบาทที่ได้มาไม่ได้ได้มาจากการให้ตามงบประมาณปกติ แต่เป็นการให้ด้วยม็อบแบบนี้ เงินที่ได้มา กองทุนฯ เอาไปใช้หนี้แทนชาวบ้าน ซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้เดิม ย้ายชาวบ้านเข้ามาอยู่กับกองทุนฯ และให้กู้เพื่อให้ชาวบ้านฟื้นฟูอาชีพ ตอนนี้ซื้อหนี้หรือเรียกว่าไถ่ตัวชาวบ้านออกมาจากเจ้าหนี้แล้วประมาณ 7,300 ล้านบาท บวกส่วนให้กู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพ และบริหารจัดการด้วย รวมเป็น 10,000 ล้านบาทเศษๆ 

แปลว่า พ.ร.บ. และกองทุนฯ มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรต้องมาชุมนุมใหม่ทุกๆ ปี แต่ว่าพอมีแล้วก็ยังต้องมาชุมนุมอีกเหมือนเดิม?

ใช่ ก็ยังต้องมาอีก แต่จะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ผมก็ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่าการบริหารของสำนักงานกองทุนฯ มีปัญหา คือไม่มีประสิทธิภาพ และตอบคำถามสำนักงบประมาณไม่ได้ ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน 

กรรมการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปบีบอะไรรัฐบาล ความคืบหน้าของกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 20 ปีเกิดจากม็อบทั้งหมด ถ้าม็อบไม่มาเขาก็ไม่ทำอะไรกัน ทั้งรัฐบาล ทั้งสำนักงานกองทุนฯ ด้วย มันก็เป็นปัญหา ซึ่งในช่วงยุค คสช. ผมได้เสนอไปสองทางเลือก คือ หนึ่ง-ยุบสำนักงานกองทุนฯ แล้วให้หน่วยงานอื่นเข้ามาแก้ปัญหาของพี่น้องที่ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.นี้ให้หมดแล้วจบ ไม่มีการซื้อหนี้เพิ่มแล้ว และทางที่สองถ้าเห็นว่ากองทุนยังมีประโยชน์ในการช่วยพี่น้องเกษตรกรก็ให้ปฏิรูปกองทุนฯ ซึ่งก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งให้ปฏิรูปกองทุน แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการปฏิรูป

จุดอ่อน จุดด้อยตรงไหนที่ต้องปฏิรูป 

ต้องมาสังเคราะห์และมาดูกันว่าอะไรที่ต้องปรับต้องแก้ อย่างเช่น การบริหารของสำนักงานมีปัญหา ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นระบบราชการเกินไป พนักงานไม่ให้บริการเกษตรกรแต่กลับไปใช้อำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอำนาจ ไม่ลงพื้นที่ไปดูแลชาวบ้าน-ไปสำรวจตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไร ซื้อหนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร 

จริงๆ แล้วต้องปฏิรูปกันทุกองคาพยพเลย เพราะว่าอย่างกรรมการส่วนที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็ไม่มีความรู้เรื่องกองทุนฯ อย่างลึกซึ้ง พอมาเป็นแล้วก็มีเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ผลประโยชน์เรื่องเงินทอง แต่ว่าเป็นเรื่องคะแนนเสียง มีการไปรับปากชาวบ้านแบบนักการเมือง เวลาประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ก็ไม่ลงลึก แล้วก็ถูกฝ่ายการเมืองหลอก อีกอย่างคือความรู้ที่จะต้องใช้ในการจัดการกองทุนฯ มันอยู่นอกเหนือศาสตร์ที่เราเรียนกันมา ศาสตร์ที่เราเรียนมามันช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์ แต่อย่างเรื่องการซื้อหนี้ไม่เคยมีที่ไหนในโลก อย่างเรื่องการฟื้นฟู ตามกฎหมายกองทุนคือต้องทำการผลิตแบบครบวงจร ในส่วนการแปรรูปกับขาย กองทุนฯ ต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ ก็อยากทำ แต่ยังช้ามาก 

มีตัวเลขรวมไหมว่าเกษตรกรหรือเฉพาะชาวนามีหนี้รวมกันเป็นเงินกี่บาท

เกษตรกรที่เป็นหนี้มี 5,500,000 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบธนาคารของรัฐ 550,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ธนาคารอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐประมาณ 100,000 ล้านบาท และนอกระบบอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ในส่วนหนี้นอกระบบเราใช้การประมาณการ แต่สองตัวแรกคือหนี้ธนาคารของรัฐกับหนี้ธนาคารเอกชนตัวเลขค่อนข้างแน่ รวมทั้งหมดแล้วประมาณเกือบ 800,000 ล้านบาท

กองทุนฯ มีเงินไม่พอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรทั้งหมด มีแนวทางจะช่วยเหลือส่วนที่เหลืออย่างไร 

สมมติว่า ครม. มีมติเห็นชอบครั้งนี้ 300,000 ราย ก็เหลืออีกประมาณ 200,000 ราย สบายมาก เพราะว่าเกษตรกรชำระหนี้คืนกองทุนฯ เดือนละประมาณ 12 ล้านบาท มันมีเงินหมุน และดีตรงที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจว่าเงินที่เป็นรายได้กองทุนฯ ไม่ต้องนำส่งคืนรัฐ ให้เป็นรายได้ของกองทุนฯ เลย ฉะนั้นตอนนี้เท่ากับกองทุนฯ มีเงินที่เหมือนฝากชาวบ้านไว้ 7,300 ล้านบาท ชาวบ้านชำระคืนเดือนละประมาณ 12 ล้านบาท ถึง 15 ล้านบาท เงินตัวนี้ที่จะเป็นเงินหมุน 

ผมเคยคำนวณกับผู้เชี่ยวชาญว่า กองทุนฯ เราต้องชำระหนี้แทนเกษตรกรประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีเงินแค่ 30,000 ล้านบาทก็ทำได้แล้ว เพราะเงินมันจะหมุน สมมติว่าเราได้เงินจากรัฐบาล 30,000 ล้านบาท เราไม่ต้องขออีกเลย มันไม่ใช่ว่ากองทุนฯ จะขอเงินจากรัฐบาลแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือ การกู้เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต พอขายผลผลิตได้ราคาไม่ดี ทำให้มีเงินไม่พอใช้หนี้และไม่พอยังชีพ ก็เลยกู้อีก เป็นการกู้ทบกันไปเรื่อยๆ แบบนี้เข้าใจถูกไหม 

ใช่ ถูกต้องแล้ว หนี้เกิดจากการทำนาทำไร่ขาดทุน ไม่ใช่เกิดจากการใช้เงินนอกลู่นอกทาง ผมยกตัวอย่าง ต้นทุนปลูกข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำข้อมูลออกมาว่า ต้นทุนการผลิตข้าว 1 เกวียน หรือ 1 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ถึง 8,500 บาท แล้ววันนี้ราคาข้าวตันละ 6,000 บาท ถามว่ารัฐบาลรู้ไหม ทำไมจะไม่รู้ ในเมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำข้อมูล

แปลว่าตอนนี้ขาดทุนกันอยู่ประมาณตันละ 2,000 บาท?

2,000 ถึง 2,500 บาท และมันไม่ใช่เป็นแค่ปีนี้ เป็นแบบนี้มาตลอด มีปีเดียวที่ชาวนาไม่ขาดทุน พอมีเงินเหลือก็คือปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มารับซื้อตันละ 15,000 บาท ตอนนั้นผมก็ทำนาอยู่ ผมได้ 50 ตัน ปกติผมจะขายได้ 300,000 บาท ปีนั้นผมขายได้ 750,000 บาท คุณคิดดูสิมากกว่ากันเท่าตัว แบบนั้นผมอยู่ได้ 

วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน... จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท

เรื่องมาตรการพยุงราคาข้าว มีการเถียงกันว่า ‘จำนำ’ หรือ ‘รับประกันราคา’ ดีกว่ากัน ในความเห็นของคุณ มองอย่างไร 

มองว่าเป็นเรื่องทางแท็กติกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน ปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวจากชาวนา 15,000 บาท เขาได้กำไรอยู่แล้ว 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท 

ผมเสนอตัวเลข 12,000 บาท เพราะวันนี้นายทุนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้เงินไปตันละ 12,000 บาท เอามาคืนชาวนาครึ่งหนึ่งได้ไหม ครึ่งหนึ่งคือ 6,000 บาท บวกกับราคาที่ขายได้ตอนนี้ 6,000 บาท จะเป็น 12,000 บาท ราคานี้ชาวนาอยู่ได้ แล้วนายทุนตั้งแต่พ่อค้าคนกลาง โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก หรือพ่อค้ายี่ปั๊วซาปั๊วในประเทศคุณได้ไป 6,000 บาท ชาวนาเขารับความเสี่ยงทุกเรื่อง ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลง แต่เขาขายได้แค่ 6,000 ขณะที่คุณไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย ถ้าแบ่งให้เขา 6,000 คุณยังได้กำไร 6,000 ผมว่ามันมากพอ มากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคา 12,000 บาทต่อตัน เขาจะอยู่ได้ หักลบต้นทุน 8,500 บาทเขายังเหลือ ถ้าได้ราคานี้ อีก 10 ปีเขาน่าจะใช้หนี้หมด ไม่ต้องไปเดือดร้อนรัฐบาลมาช่วยเลย สินค้าเกษตรตัวอื่นก็เหมือนกัน 

 

 

รัฐบาลต้องช่วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรช่วยตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เป็นหนี้ดีกว่า?

ใช่ ถามว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าพูดเป็นประเด็นเป็นเรื่องๆ มันลำบาก มันไม่จบ ปัญหามันเป็นวัวพันหลัก เป็นงูกินหาง ผมพูดแบบภาพใหญ่เลย คือมาตั้งหลักตั้งต้นกันใหม่ มาคุยกันใหม่ว่าทิศทางเกษตรของเราจะเอายังไง มาเริ่มต้นกันใหม่ได้ไหม คุณพร้อมที่จะรับฟังชาวบ้านไหม มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย ตอนนี้เราแก้ปัญหาทีละเรื่องไม่ได้แล้ว 

 

ถ้าจะเริ่มใหม่ ข้อเสนอทางออกคืออะไร

ข้อเสนอของเราฟังดูยาก เพราะเราไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้ คือ เกษตรกรต้องทำการผลิตแบบครบวงจรเหมือนเกษตรกรในเมืองที่เจริญแล้ว อย่างในเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์เกษตรกรโคนมแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ผลิตนมโฟร์โมสต์ขายทั่วโลก บ้านเรายอมรับได้ไหมที่จะทำแบบนี้ ปัญหาของเรามันยาก เพราะว่าคนร่ำรวยในประเทศนี้ล้วนร่ำรวยจากเกษตรกรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้ผลประโยชน์จากชาวนาเขามีอำนาจเยอะ เขาจะยอมปล่อยไหม 

 

เพิ่งมีข่าวว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวเพราะว่าข้าวไทยแพง เป็นไปได้ว่าอาจจะโดนกดราคาลงอีก 

มีการพูดกันว่าเสียแชมป์ แล้วคุณจะเอาไปทำไมแชมป์ อยากเป็นแชมป์ส่งออก แต่คนที่ปลูกข้าวให้คุณไปขายอยู่กันสภาพแบบนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เสียแชมป์เพราะว่าคุณภาพข้าวเราสู้คนอื่นไม่ได้ มันจะไปสู้ได้ยังไงในเมื่อคนไม่มีกำลังใจจะผลิต เขาหมดกำลังใจนะ ผลิตไปวันๆ เพื่อใช้หนี้ สมมติว่าชาวนาเขาคิดว่าปีนี้หยุดก่อนเถอะ หยุดมาคิดวางแผนก่อนว่าเราจะผลิตข้าวให้ดีได้ยังไง เขาก็หยุดไม่ได้ เพราะว่าหนี้ไล่หลังมาแล้ว จะหยุดได้ยังไง คุณจะเอาแชมป์ไปทำไม ในเมื่อคนปลูกข้าวอยู่ในสภาพแบบนี้ ถามว่าแชมป์นี่ใครได้ประโยชน์ ก็ผู้ส่งออก 

 

ถ้าจะทำเกษตรครบวงจรเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเริ่มอะไรใหม่บ้าง ต้องรื้ออะไรบ้าง

รัฐต้องสนับสนุนในแง่โอกาส สิ่งสำคัญเลยคือโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร ส่วนเรื่องเงินผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง เพราะว่าการรวบรวมผลผลิตไม่ต้องซื้อ อย่างโรงสีเขาต้องซื้อข้าวจากชาวนา แต่ชาวนารวมกลุ่มกันเองไม่ต้องใช้เงินไปซื้อข้าว แต่ภาครัฐต้องให้โอกาส เช่น โอกาสทางการตลาดต้องเปิด ทรัพยากรที่ไปตั้งโรงสีก็ต้องให้ หรือไม่ต้องถึงขั้นสร้างโรงสีเองหรอก เพราะมีโรงสีที่รับจ้างสีอยู่จำนวนมาก 

 

 

หลักๆ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องช่วยส่งเสริมก็คือ เรื่องตลาด การขาย?

ใช่ ตลาดไม่ใช่หน้าตลาดกระทรวงการคลังในวันศุกร์ ตลาดหน้ากระทรวงเกษตรฯ วันพุธ ไม่ใช่แบบนั้น ต้องเป็นตลาดการขายทั่วไป หรือสนับสนุนการส่งออกไปเลย และเรายังมีภูมิปัญญาการผลิตข้าวของชาวบ้านที่ส่งเสริมได้อีกเยอะ ยังมีข้าวอีกหลายพันธุ์ที่คนไม่รู้จัก ไม่ว่าจะขายในวอลุ่มเล็กหรือวอลุ่มใหญ่ ก็ทำได้หมด ถ้าขายวอลุ่มใหญ่ก็ข้าวหอมมะลิ ถ้าวอลุ่มเล็กก็เช่น พันธุ์ชมพูนครชัยศรี พันธุ์หอมมะลิแดงบุรีรัมย์ อันนี้คือข้าวพิเศษวอลุ่มเล็กๆ สามารถส่งเสริมตลาดภายในประเทศได้ มีอีกเยอะแยะที่จะทำได้  

 

ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ ของเราตั้งธงไปทางไหน เมื่อหลายปีก่อนเห็นพูดเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแปลงใหญ่ ไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว 

ถ้าผมพูดแบบหยาบๆ นะ แนวคิดกระทรวงเกษตรเป็น ‘เกษตรโรแมนติก’ ฝันไปเรื่อย ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริงเลย ถามว่าที่เขาไปให้มาตรฐานสินค้า GAP (Good Agriculture Practices - การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ถามว่าใครได้ ก็มีแต่กลุ่มทุนทั้งนั้น ชาวนาได้ที่ไหนจะได้ พ่อค้าคนกลางทั้งนั้นแหละที่ไปแสตมป์ตรา GAP ซึ่งพ่อค้านี่เป็นตัวกดราคาสินค้าเกษตร 

เราต้องมาเริ่มต้นคุยกันใหม่ ผมสรุปใหญ่ๆ ก็คือว่าปัญหาของเกษตรกรไทยมันเกิดมาจากปัญหาโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างทางนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก ผลิตมาก เพื่อการส่งออก แต่คุณไม่เคยดูแล ไม่เคยคุ้มครองเขาเลย 

 

รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด 

ปัญหาโครงสร้างภาคการผลิตก็คือ รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด สมัยที่ข้าวราคาตันละ 15,000 บาท ปุ๋ยยูเรียกระสอบขนาด 150 กิโลกรัม ราคา 1,200 บาท พอประยุทธ์มา ราคาข้าวเหลือ 6,000 ปุ๋ยก็ลดลงมา 600 บาท วันที่เขาขึ้นราคา เขาบอกว่าต้นทุนสูง แล้ววันนี้ต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่งหรืออย่างไร ถึงลดราคาลงเหลือ 600 บาท สารเคมี-ยาฆ่าแมลงก็เหมือนกัน นั่นแปลว่าต้นทุนเขาไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ตอนที่ผลผลิตราคาสูง เขาเพิ่มราคาเพราะเขารู้ว่าถึงแม้ขายแพง เกษตรกรก็มีกำลังซื้อ เพราะผลผลิตมีราคาดี 
 

 

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไม่เคยดูแล ไม่เคยควบคุม ปุ๋ย สารเคมีทุกชนิด รวมถึงเครื่องจักรเครื่องกลการเกษตร มีมูลค่าการขายปีละประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ใครผูกขาดตรงนี้ได้คุณคิดดูสิว่าเขาได้กำไรเท่าไร อย่างน้อยก็กำไร 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เขาถึงรวยเอารวยเอา 

เกษตรกรคือลูกที่แสนดีของรัฐบาลมานานมาก ไม่เคยมีปากมีเสียง อย่างถามว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของอาชีพประมง กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเกษตรกรบนบก ใครใช้มากกว่ากัน แล้วเกษตรกรบนบกเคยได้สิทธิพิเศษเรื่องนี้ไหม ขณะที่ประมงมี ‘น้ำมันเขียว’ (น้ำมันที่ได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีและไม่ต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน) 

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือเขารวมตัวกันไม่ได้ รัฐบาลก็บอกให้รอเดี๋ยวจะแก้ให้ รัฐบาลไหนมาก็มีนโยบายด้านการเกษตรสวยหรูมาให้ชาวบ้านรอ เรื่องมันไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก แต่มันยากและแย่มาก เพราะทรรศนะของทุกรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกรนั้นแย่ ทรรศนะของฝ่ายการเมืองมองเกษตรกรเป็นตัวปัญหา มองว่าเกษตรกรไม่ช่วยตัวเอง เป็นหนี้เพราะสร้างหนี้กันเอง ทำไมต้องให้รัฐบาลมารับผิดชอบ ถ้ามองแบบนี้มันไม่จบ แก้ปัญหาไม่ได้ 

 

รัฐบาลไม่ได้มองว่า รัฐเองไม่ได้สร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อคนทุกคน?

ใช่ สมัยทักษิณสร้างเครื่องมืออันหนึ่งไว้ดีมาก ก็คือ กฎกระทรวงการคลังที่ให้อำนาจส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจำหน่ายหนี้สูญให้เกษตรกรได้ แต่ไม่มีใครเอามาใช้ นอกจากไม่ใช้แล้วยังทำลืมด้วย 

ทุกวันนี้ผมกล้าท้าเลยว่า ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน ต่อให้คุณปลดหนี้ให้เกษตรกรหมดเลย ยกหนี้ให้เกษตรกรเลยวันนี้ แล้วให้ไปทำนาทำไร่เหมือนเดิม ไม่เกินสามปีหนี้ก็กลับมาเหมือนเดิม เราต้องนับหนึ่งใหม่ วันนี้แก้ทีละปัญหา-ทีละประเด็นไม่ได้ เรื่องมันใหญ่เกินกว่านั้น ปัญหามันเกิดจากปัญหาโครงสร้าง ตั้งแต่โครงสร้างทางนโยบาย โครงสร้างการผลิต ทั้งนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก-เลี้ยงมาก เพื่อจะส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ โดยที่รัฐไม่รับผิดชอบอะไรเลย

 

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.พ. 2565
เรื่อง : รุ่งนภา พิมมะศรี
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย, รุ่งนภา พิมมะศรี 

โอ้วว "กองทุนฟื้นฟูฯ" เปิดตัวเลขหนี้เกษตรกรกว่าแสนล้านบาท

FarmerDebtFund

"กองทุนฟื้นฟูฯ" เปิดตัวเลขเกษตรกรเป็นหนี้ 508,942 ราย มูลค่าหนี้รวม 104,226 ล้านบาท พร้อมขอเชิญชวนเกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ได้ตลอดปี ลั่นเดินหน้าแก้หนี้เต็มพิกัด ทั้งหนี้มีหลักทรัพย์และหนี้บุคคลค้ำประกัน

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เงียบหายไปนาน หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก มีแรงงานว่างงานไม่มีรายได้มายังชีพ ขณะที่ครอบครัวเกษตรกรไทยก็ได้รับผลกระทบจากญาติพี่น้องถูกเลิกจ้าง เช่นกัน

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แล้ว  จากการเปิดใจให้สัมภาษณ์ของ นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับเกษตรกรสมาชิก ที่มีความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดทั่วประเทศได้ทุกวันในวันและเวลาทำการ

ทั้งนี้ การเปิดรับขึ้นทะเบียนหนี้ได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นอีกหนึ่งการทำงานเพื่อเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิมที่กำหนดเปิดรับขึ้นทะเบียนเพียงช่วงเวลา 3-6 เดือนในแต่ละปี แต่เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่นำมาซึ่งประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุนและรักษาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร รวมถึงการรักษาพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหนี้ ได้ทุกวันทำการ

“ ต้องขอชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนหนี้กับ กฟก. มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ขอเพียงมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดที่เกษตรกรมีที่อยู่อาศัย โดยเอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นประกอบพร้อมแบบฟอร์มขอขึ้นทะเบียน เช่น หลักฐานการเป็นหนี้ สัญญากู้ยืมเงิน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน

แต่หากเป็นเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องบังคับคดี จำเป็นต้องแนบหลักฐานการฟ้องด้วย โดยยื่นเอกสารทั้งหมดพร้อมแบบฟอร์มกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาขา จากนั้นสาขาจะรวบรวมรายชื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดพิจารณาอนุมัติ ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ” รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าว

นายสมยศ กล่าวต่อไปว่า การพิจารณาว่าเกษตรกรท่านใด จะได้รับการขึ้นทะเบียนหนี้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นเกษตรกร ตามนิยมคือ มีรายได้มาจากการประกอบอาชีพเกษตร มากกว่าร้อยละ 50

และที่สำคัญอีกประการ คือ ต้องเป็นหนี้ในระบบ เช่น เป็นหนี้ธนาคาร หนี้สหกรณ์ ที่นำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นถ้าข้อมูลและเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รับรองได้ว่าเกษตรกรต้องได้รับการช่วยเหลือทุกราย" นายสมยศ กล่าว

“ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ จำนวน 508,942 ราย มูลค่าหนี้รวม 104,226 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการจัดการหนี้ หรือชำระหนี้แทนให้เกษตรกรแล้ว เป็นจำนวนถึง 30,000 ราย เป็นเงินเกือบ 7,000 ล้านบาท ส่วนกรณีของหนี้ NPA หรือที่เรียกว่า ทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด เป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯกำลังดำเนินการช่วยเหลือด้วยการขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการซื้อทรัพย์สินคืนให้พี่น้องเกษตรกร และมีผลดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการซื้อทรัพย์คืนเกษตรกร ไปแล้ว 500 กว่าราย เป็นเงินกว่า 300 ล้าน” นายสมยศ กล่าว

นายสมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกในอนาคต กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในปีงบประมาณ 2564 และที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 เช่น การแก้ไขกฏหมายผ่านทางรัฐสภา ซึ่งล่าสุดคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563

ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 มิ.ย. 2564

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768528
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1808
5699
14283
160054
6768528

Your IP: 18.224.32.86
2024-04-30 07:57