'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" จี้รัฐทบทวนประกันรายได้ เสนอ 12 แนวทางปฏิรูปภาคการเกษตรไทย

AnusornThamjai

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองไม่ควรขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 เพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยชาวนาและเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้ เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง เสนอตัดงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นมาช่วยเหลือแทน พร้อมแนะแนวทางปฏิรูปภาคการเกษตร 12 ข้อ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้ความเห็นว่าไม่ควรขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลังเพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนาและเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้

เนื่องจากมาตรา 28 กำหนดกรอบวงหนี้รวมไว้ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีป้องกันให้มีการก่อหนี้สาธารณะเกินตัวในแต่ละปี อย่างในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลจะต้องมีหนี้ไม่เกิน 930,000 ล้านบาท จากงบประมาณปี 65 ที่มีกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท การตั้งงบประมาณอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรฤดูกาลผลิต ปี 65 ได้ตั้งงบไว้ที่ 1.74 แสนล้านบาท

ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังและวินัยทางการคลังอย่างยิ่ง และในฤดูการผลิต ปี 64/65 เราอาจต้องใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ในการชดเชยส่วนต่างราคาประกันเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ในการลงทุนทางด้านอื่นๆ เพื่อปรับปรุงภาคเกษตรกรรมของไทยให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าแปรรูปให้เป็นสินค้าที่มีราคามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงเอาไว้และต้องมีมาตรการแทรกแซงราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลต้องใช้วิธีตัดงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นหรือสามารถเลื่อนการใช้จ่ายอื่นๆ ออกไปก่อน

เช่น งบประมาณจัดซื้ออาวุธ งบประมาณก่อสร้างสถานที่ราชการที่หรูหราใหญ่โตเกินความจำเป็นแห่งการใช้สอย งบประมาณเดินทางไปดูงานต่างประเทศ งบประมาณประชาสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะประชาสัมพันธ์บุคคลแทนที่เป็นการประชาสัมพันธ์เนื้องาน เป็นต้น แล้วนำงบประมาณที่ปรับลดมาจ่ายค่าประกันรายได้ให้กับเกษตรกร

โดยกู้เงินให้น้อยที่สุดและไม่ควรเกินกรอบ 30% ต่อปี หากกู้เกินกรอบเพดานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากนโยบายแทรกแซงราคาของรัฐบาลก่อนหน้านี้ สิ่งนี้พอเป็นข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่านโยบายประกันรายได้ หรือ นโยบายรับจำนำ ล้วนก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลังได้ทั้งสิ้นและไม่ใช่การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำที่ยั่งยืน เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่นโยบายประกันรายได้นั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการคลังแบบไม่มีเพดานหากราคาข้าวในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

ส่วนนโยบายรับจำนำเกิดความเสียหายสินค้าเกษตรที่อยู่ในสต็อคที่ไม่สามารถระบายออกได้หรือสินค้าเสื่อมคุณภาพนอกจากนี้ยังมีโอกาสให้เกิดการทุจริตรั่วไหลในขั้นตอนต่างๆของการรับจำนำได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันรายได้หรือนโยบายรับจำนำซึ่งเป็นมาตรการแทรกแซงราคาไม่สามารถเอาชนะกลไกตลาดโลกได้และยิ่งในสภาวะที่ประเทศไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้นที่เราจะเอาชนะกลไกตลาดโลกได้

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการประกันรายได้อันทำให้เกิดภาระต่อธนาคารของรัฐผ่านมาตรการกึ่งการคลังนั้น แม้ในเบื้องต้นเงินที่ใช้ชดเชยจำนวนมากจะไม่ได้รวมอยู่ในหนี้สาธารณะ อย่างหนี้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรสะสมอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกือบ 700,000 ล้านบาท และมีหนี้จากโครงการประกันรายได้ที่อยู่ธนาคารออมสินอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาชดเชย

หากรัฐบาลไม่มีเงินก็ต้องไปก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม การดำเนินมาตรการกึ่งการคลังเช่นนี้ก็กลายเป็นภาระทางการคลังในภายหลัง และหนี้ทั้งหมดจะถูกรวมอยู่ในหนี้สาธารณะในที่สุด การประกันรายได้เกษตรกรนั้นเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจระยะสั้น การประกันรายได้ให้ชาวนาเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำแต่มาตรการดังกล่าวไม่มีความยั่งยืนและมีโอกาสที่จะต้องใช้เงินงบประมาณมากเกินกว่าที่วางแผนเอาไว้อย่างค่อนข้างมากหากราคาข้าวในตลาดปรับตัวลงอย่างหนัก

การก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยรายได้โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพหรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหรือแปรรูปย่อมส่งผลบวกระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะปานกลางและระยะยาวแล้วส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ขีดความสามารถในการแข่งขันทางของสินค้าเกษตรของไทย

ทั้งนี้มองว่าแนวทางที่ยั่งยืน คือ มาตรการลดต้นทุนการผลิต มาตรการเพิ่มรายได้จากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่หรือเพิ่มผลิตภาพ มาตรการส่งเสริมตลาดเสรีในการแข่งขันเพื่อลดอำนาจผูกขาดในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้าง โดยขอเสนอแนะในทางนโยบาย 12 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต

2. ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน

3. ใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการความรู้ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)

4. เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร

5. ทยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค

6. พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

7. จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC

8. ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

9. การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของโลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคา

10. จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

11. ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

12. นำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาดำเนินการจนกว่าราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งและยกเลิกนโยบายแจกเงินผ่านการประกันรายได้ให้ชาวนาเนื่องจากประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ยากและก่อให้เกิดประโยชน์เพียงบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้การกำหนดมาตรการแบบนี้อยู่บนฐานคิดแบบสังคมสังเคราะห์และส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์มากกว่าระบบรัฐสวัสดิการ อันไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวและยังเป็นการทำให้ประชาธิปไตยฐานรากอ่อนแอลงด้วย

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า พัฒนาการในเกษตรกรรมไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับแนวโน้มของภาคเกษตรกรรมไทยในสองรูปแบบใหญ่ ดังต่อไปนี้ รูปแบบที่หนึ่ง เกษตรทางเลือก (Alternative Agriculture) โดยในรูปแบบเกษตรทางเลือกเองก็มีหลายประเภท เช่น เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียง สินค้าเกษตรเหล่านี้มีแนวโน้มได้ความนิยมมากขึ้นตามลำดับพร้อมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อสินค้าเกษตรประเภทนี้

รูปแบบที่สอง เกษตรเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Agriculture) ภาคเกษตรกรรมของไทยพัฒนาสู่การเป็นเกษตรเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับ มีการควบรวมกิจการ ในภาคเกษตรกรรมให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในการผลิตในพื้นที่ขนาดใหญ่จะมีการใช้ระบบจ้างเหมาดำเนินกิจการ (Outsourcing) การประกอบกิจการเกษตรทำในรูปกิจการบริษัทมากขึ้น มีขนาดพื้นที่ผลิตใหญ่ขึ้น การลดลงของมูลค่าผลผลิตจากเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี เป็นเส้นทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเดินตามเส้นทางของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศที่มีสัดส่วนของแรงงานและจีดีพีภาคเกษตรกรรมลดลง ประชากรไทยผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาคเกษตรกรรมไทยจะได้รับผลกระทบจากการกระจายตัวของประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นโดยภายในทศวรรษ 2560 นี้ ประชากรไทยจะอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท และ ในปี พ.ศ. 2570 ประชากรไทยจะอาศัยอยู่ในชนบทเพียง หนึ่งในห้า เท่านั้น แรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงได้เพิ่มความสำคัญต่อแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร

ส่วนสถานการณ์เฉพาะหน้า หากราคาข้าวและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำลงไปเรื่อยๆและกระทรวงคลังต้องหาเงินมาชดเชยส่วนต่างจำนวนมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมมาก ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มและอาจทะลุเพดานกรอบวินัยการเงินการคลัง ความจำเป็นในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามข้อเสนอ 12 ประการที่กล่าวมา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พ.ย. 2564

 

การปรับตัวของชาวนาไทย

ThaiRiceFarmerAdabtation การปรับตัวของชาวนาไทย                                    

 พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2561 

 บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ 

 กองบรรณาธิการ : รศ.สมพร อิศวิลานนท์, 

 ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์, รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, 

 นันทวัน หาญดี, สมจิต คงทน, วรากร น้อยพันธ์, 

 อารีวรรณ คูสันเทียะ, ธีระพงษ์ วงษ์นา, ประพันธ์ โพธิ์พูลพรหม 

 ฝ่ายประสานงาน : นาขวัญ สกุลลักษณ์

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)  

    download

   

   

 

 

 

"งานศึกษาชิ้นนี้ได้บ่งบอกว่า หากภาครัฐต้องการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร

เพื่อให้มีพลวัตรไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนาน

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากไปกว่านโยบายระยะสั้น

และเห็นคุณค่าของการลงทุนทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านความรู้

ทุนด้านความคิด ด้านเครือข่าย เงินทุนที่มีความยั่งยืน และการจัดสรรที่ดิน

เพื่อให้โอกาสทำกินแก่เกษตรกร เพื่อการลงทุนด้านสังคมทั้งหมดนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพ

เพื่อให้การปรับตัวขอ่งชาวนาและเกษตรกรไทย.....

เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน"

        

ข้าวไทยติดหล่มประชานิยม อุดหนุนบานปลาย-เร่งพัฒนาพันธุ์

ThaiRiceResearch

การใช้นโยบายประชานิยม อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนา ยกระดับและนำเทคโนโลยีมาใช้ นับเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความกังวลออกมาจากการประชุมเวทีข้าวไทย 2565 ก้าวต่อไป นโยบายข้าวไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

รายได้เกษตรกรติดหล่ม

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวไทยในกระแสของโลกยุคใหม่” ว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยในอดีตเติบโตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก จากการสนับสนุนนโยบายรัฐ และการเดินหน้าของภาคเอกชนที่สร้างกลไกการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 นานกว่า 2 ทศวรรษ

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวไทยเกิดการหยุดชะงัก สูญเสียตลาดให้คู่แข่ง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวให้กับเวียดนาม ข้าวขาว ข้าวนึ่งให้กับอินเดีย

“ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็ทรงตัวแค่ 485 กก./ไร่ ต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชีย เวียดนาม 928 กก./ไร่ กัมพูชา 567 กก./ไร่ แพ้แม้กระทั่งบังกลาเทศ 752 กก./ไร่ ศรีลังกา เนปาล 608 กก./ไร่ เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก”

ขณะที่อัตราการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลง และมีปัญหาคุณภาพแรงงาน ความต้องการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรประมาณ 25-28% ขณะที่ GDP ภาคการเกษตรมีเพียง 8-9% ซึ่งก่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในภาคการเกษตร กับนอกภาคการเกษตร สูงถึง 4.5 เท่า เทียบกับมาเลเซียและจีนที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว

แก้ต้นเหตุ

สาเหตุที่โครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยหยุดชะงัก เกิดวัฏจักรกับดักผลิตภาพต่ำ มาจากหลายปัจจัยทั้งมาตรการการอุดหนุนในภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่กำลังทำลายแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้ อีกทั้งมาตรการมีความซ้ำซ้อน

ทั้งโครงการประกันรายได้ และก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพข้าว ด้วยมี 2 พรรคการเมืองที่มีการหาเสียงไว้ ทำให้เกิดนโยบายซ้ำซ้อน เกิดการอุดหนุนเพิ่มขึ้น สูญเสียงบประมาณปีละ 140,000 ล้านบาท “สูงกว่า” งบประมาณของทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังใช้เงินนอกงบประมาณปีละแสนล้านบาทด้วย

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงการถูกดิสรัปชั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีการลงทุนงานวิจัย รวมไปถึงมีนักวิจัยมากกว่าไทย ซึ่งเมื่อดูงบประมาณวิจัยพันธุ์ข้าวของไทยมีเพียง 150-180 ล้านบาทต่อปี นักวิจัยน้อยลง ขาดนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันก็มาเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตต่ำลง ใช้น้ำสิ้นเปลืองเมื่อเทียบพืชอื่น ๆ และกำลังจะได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรปและสหรัฐ ปรับขึ้นภาษีหากไม่มีการปรับตัว

เพิ่มรายได้เกษตรกร

เป้าหมายสำคัญไทยต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวในภาคเกษตรเทียบเท่ารายได้นอกภาคการเกษตรได้อย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน และต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการยกระดับคุณภาพแรงงานภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตต่อไร่

ตาราง เงินอุดหนุนชาวนา

 

“เป้าหมายการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ ทุกสาขาเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายไปพร้อมกันในภาพรวม”

ถึงเวลาปฏิรูปข้าวไทย

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร หากยังมีนโยบายอุดหนุนจำเป็นต้องมีเงื่อนไข เพราะหากไม่มีเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัว

ดังนั้น ต้องลดการอุดหนุนที่มีความซ้ำซ้อน เช่น ประกันรายได้ใช้งบประมาณปีละ 8.67 หมื่นล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพข้าว 5.53 หมื่นล้านบาท ออกจากกัน และให้นำงบฯส่วนนี้มาตั้ง “กองทุน” เพิ่มงานวิจัย และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดการเผา เป็นต้น

“รัฐต้องเพิ่มงบฯวิจัยข้าว 1% ของจีดีพีข้าว คิดเป็นปีละ 3,000-3,500 ล้านบาท เวลา 5 ปีให้ได้ เปลี่ยนฐานะกรมวิชาการเกษตรและการวิจัยข้าว มารวมเป็นสถาบันอิสระ สร้างแรงจูงใจให้ทุนนักเรียนไทย เป็นนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

แก้ไขกฎหมายให้กรรมสิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์ เปลี่ยนบทบาทนโยบายของรัฐจากเป็นผู้ประเมิน ให้เกษตรกรดำเนินการ ปฏิรูปรับรอง มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพราะเสียเวลา เปิดให้นำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาวิจัย เป็นต้น”

นายสมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวของรัฐกับการพัฒนาข้าวไทย” ระบุว่า โครงการประกันรายได้เริ่มเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2551-2552 ใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันปี 2562-2563 ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท บวกกับมาตรการคู่ขนานอีก 20,000 ล้านบาท

สิ่งสำคัญต้องผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปี ยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรายได้เกษตรกร รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าข้าวไทยถูกลากจูงไปสู่พืชการเมือง นโยบายประชานิยม ใช้งบประมาณกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ในระยะยาวหากไม่เปลี่ยนแปลงจะแข่งขันลำบาก โดยการอุดหนุนทำได้แต่จำเป็นต้องแยกกลุ่มเปราะบาง จัดลำดับและช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

ถอดโมเดลอินเดีย

ด้าน นายศฎาวุฒิ กุลมณี รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ภาคีรัฐร่วมเอกชนในการพัฒนาข้าวของอินเดีย” ระบุว่า อินเดียมีพื้นที่ปลูกมากกว่าไทย 4 เท่า มีผลผลิตรวมเฉลี่ย 110-120 ล้านตันต่อปี

อินเดียให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์อย่างมาก โดยมีการสต๊อกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ส่งออกแล้ว 18 ล้านตัน ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งออกได้ 20 ล้านตัน

“การที่อินเดียมีการเติบโตทั้งด้านผลผลิตและการส่งออก เป็นผลมาจากสภาวิจัยการเกษตรอินเดีย (ICAR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับผิดชอบการศึกษาการเกษตรประสานงานและการวิจัย ภายใต้กระทรวงเกษตรอินเดีย มีงบประมาณ 5.8 หมื่นล้านรูปี

ใช้ศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร ส่งออก เพื่อยกระดับวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับหลายหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา อีกทั้งรัฐเสริมงบประมาณ 2% ของจีดีพี หรือ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการเพาะปลูก ทั้งปุ๋ย ประกันรายได้ ไฟฟ้าฟรี ภาครัฐช่วยด้านการผลิต สร้างชลประทาน

รวมถึงส่งเสริมเครื่องจักร จนในปัจจุบันอินเดียสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวบาสมาติ มากกว่า 34 สายพันธุ์แล้ว”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ธ.ค. 2565

ฉุด! วงจรข้าวประเทศไทย ออกจากวังวนข้าวตกต่ำ ฉาย “ฉากทัศน์” ปรับนโยบายข้าวก่อนสาย

PlantingRice

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ยุคสมัยเปลี่ยน คนเริ่มให้ความสำคัญกับข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวคุณภาพ รสชาติอร่อย เน้นสะดวกมากขึ้น TDRI เปิด 4 ฉากทัศน์ข้าวไทย ย้ำ รัฐต้องมีผู้ร่วมสนับสนุนและนโยบายส่งเสริมอีกมาก เพื่อพ้นวังวนข้าวตกต่ำ

ในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับโลก แต่เวลานี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะข้าวไทยเริ่มไร้อันดับ และที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าว จากเดิม 10 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 4-5 ล้านตันเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ รายได้ของชาวนาเริ่มผันผวน จำนวนเกษตรกรลดลง แต่กลับมีหนี้สินเพิ่ม อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ยากจะควบคุม

ข้าว

รศ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวจาก 10 ล้านตัน เหลือ 4-5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ รายได้ของชาวนาก็ผันผวนมาก เป็นปัญหาที่อยู่เฉยไม่ได้ อนาคตของชาวนาไทย รายเล็ก รายกลาง ควรเป็นเรื่องต้องคิดต่อ ซึ่งจากการทำวิจัยมาทุกปี ทำให้เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และต้องหาทางสร้างนโยบายรองรับ ขณะเดียวกันเกษตรกรมีจำนวนลดลง คนหนุ่มสาวเปลี่ยนอาชีพ ส่งผลให้องค์ความรู้ลดลง ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบมากกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกร ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นนอกเขตชลประทานหรือในเขตชลประทาน 4 ฉากทัศน์ จากบางส่วนของการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ทิศทาง คือ ต้องมีผู้ร่วมสนับสนุน ส่วนภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายมาหนุนเสริมอีกมาก

สำหรับฉากทัศน์แรก คือ ภาพอนาคตในอีก 5- 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นฉากทัศน์เหมือนปัจุบัน คือ เกษตรกรมือถือ คือ ทำงานบางเวลา ใช้มือถือจ้างคนทำนา อันนี้คือในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ จะสูญเสียความสามารถไปหลายเรื่อง ซึ่งรุ่นหลังก็ไม่อยากทำต่อ

ส่วน ฉากทัศน์ที่สอง เกษตรกรที่ทำแบบดั้งเดิม บางครั้งจ้างคนทำ มีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น กรณีภาคอีสาน ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ใช้วิธีผลิตแบบดั้งเดิม และขายได้ในราคาที่สูงมากกว่าท้องตลาด ร้อยละ 30%

“เราจะหากลุ่มแบบนี้ยากมากที่ประสบความสำเร็จ แต่กระบวนการคิด จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาต่อ เพราะอนาคตฉากทัศน์ใหม่อาจมาจากเกษตรกรมืออาชีพเดิม หรือกลุ่มอาชีพใหม่มาเป็นเกษตรกร”

 
 

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา กล่าวว่า การใช้ฉากทัศน์ทำให้เห็นว่าถ้าไทยไม่ทำอะไร จะเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ แต่การใช้ฉากทัศน์ ทำให้มีทางเลือกที่จะพัฒนา หรือทิศทางว่าจะขับเคลื่อนชาวนาไปสู่อะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์ที่เน้นการแข่งขันมากขึ้น และประสิทธิภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเพิ่มมูลค่าจากตลาดระดับบน บางคนอยากปรับปรุงคุณภาพให้ผลผลิตมากขึ้นและต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันในตลาดทั่วไป แต่บางคนก็อยากเน้นตลาดท้องถิ่น ที่อยากตอบโจทย์ในแง่ของคุณภาพความปลอดภัยและไม่ได้เน้นต่างประเทศ ดังนั้น เวลามอง 4 ฉากทัศน์ แล้วสะท้อนต่อเชิงนโยบาย ได้ว่า จุดนี้จะมีเกษตรกรค่อนข้างหลากหลายในบริบทของประเทศไทยที่ต้องพัฒนาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่มีนโยบายเดียว แล้วใช้ทั้งประเทศ

สำหรับประเด็นหนี้สินเกษตรกร ที่ต้องปรับพร้อมฉากทัศน์ การปรับโครงสร้างหนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ควรจะเป็นการลดหย่อนหนี้ แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะเปลี่ยนเกษตรแบบเดิมไปเป็นอย่างอื่น หรือเปลื่ยนพื้นที่เกษตรกรให้เพิ่มมูลค่าทางการเงินมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ปลูกต้นไม่มีมูลค่า หรือ เอาไปเป็นที่ตั้งของแผงโซลาเซลล์และขายไฟให้เข้ากับระบบไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมย้ำว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทางเลือก เพียงแต่น่าจะมีทางเลือกอื่น เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง สร้างความสมดุลในภาคการเกษตร

ข้าว ชาวนา

ที่มา : The Active ThaiPBS วันที่ 13 มี.ค. 2565

 

นายกฯ มอบนโยบายด้านข้าว ขอให้เกษตรกรปรับวัฒนธรรมทำนา นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

PrayuthChanocha

7 มิ.ย.64 - เวลา 14.00 น. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนายศักดิ์ดา เขตกลาง ชาวนาดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 คณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรับฟังนโยบายด้านข้าวจากนายกรัฐมนตรีเนื่องในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายด้านข้าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าวและพี่น้องชาวนามาโดยตลอด จึงมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพข้าวและรายได้ของชาวนา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งได้แยกตลาดข้าวทั่วไปกับตลาดเฉพาะ เพื่อให้สามารถดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ให้ลดราคาข้าวลงมาให้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้นำชาวนาก็ต้องรับทราบและไปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยการพัฒนาภาคการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเน้นใช้การเกษตรสร้างมูลค่าเพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องยกระดับภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และทันต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ต้องมีการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง พัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาและองค์กรชาวนาพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอและอยู่ดีมีสุขนั้น ได้กำหนดเป้าหมายให้ “ชุมชนข้าว” ประกอบด้วยสหกรณ์การเกษตรข้าว วิสาหกิจชุมชนข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มชาวนา ไม่น้อยกว่า 10,000 กลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็งระดับมาตรฐานในปี 2567 โดยให้ชุมชนชาวนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายขยายผล โดยมีชุมชนข้าวประกอบด้วย 1) ศูนย์ข้าวชุมชน (ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน) 2) ชุมชนแปลงขยายพันธุ์ข้าว 3) ชุมชนข้าวแปลงใหญ่ 4) ชุมชนข้าวอินทรีย์ ขณะที่ในส่วนของการพัฒนาชาวนา จะมีการพัฒนาชาวนาในชุมชนข้าวเป้าหมายที่กำหนดเพื่อให้มีจำนวนชาวนาวปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ปราชญ์ชาวนา (Super Farmers) และชาวนารุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกัน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะชาวนาที่มีแปลงที่นาจำนวนน้อย ซึ่งชาวนาในส่วนนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้มีการรวมแปลงเป็นชุมชนข้าวแปลงใหญ่เพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่ทั่วถึงกัน ซึ่งที่สำคัญคือต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านเครื่องจักรกลการเกษตรให้มากที่สุด พร้อมกับต้องรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้ได้เพราะเป็นรายได้ของชาวนา และปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล จึงขอให้เกษตรกรชาวนาได้ปรับวัฒนธรรมในการทำนา โดยให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยรัฐบาลจะดูแลเกษตรกรชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ SMEs และภาคอื่น ๆ ของประเทศไปพร้อมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเชื่อมั่นว่าการรวมกลุ่มของชาวในรูปแบบนาแปลงใหญ่ และพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิตข้าวและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจะช่วยให้พี่น้องชาวนามีความสามารถในการผลิต และช่วยขับเคลื่อนการผลิตข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยขอขอบคุณชาวนาไทยที่ได้ทุ่มเท แรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาข้าวไทยและเพิ่มผลิตภาพข้าวไทยให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนให้ภาคเกษตรไทยมาโดยตลอด พร้อมย้ำว่า “ใจของนายกรัฐมนตรีไม่เคยทิ้งเกษตรกร” ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 เห็นชอบให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของข้าวในฐานะที่เป็นพืชอาหารหลักและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนาไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักให้กับประชาชน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 7 มิ.ย. 2564

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่“ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

สภาเกษตรกรฯ ถกแก้ปัญหาข้าวไทย เน้นแผนผลิตตามตลาดต้องการ ดันชาวนาปรับตัวสร้างอาชีพยั่งยืน

SapaFarmer

ข้าวไทยแข่งไม่ได้ในตลาดโลก!! สภาเกษตรกรฯ ประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ตั้งกลุ่มวางแผนผลิตตามความต้องการ ดันชาวนาปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ

วันที่ 26 ม.ค.65 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนาไทย ครั้งที่ 1/2565 ณ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาว่า เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยพร้อมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 9 สมาคม 1 ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ชาวนา ผลิต กลางน้ำ โรงสี แปรรูป และปลายน้ำ ผู้ส่งออก ตลาด เพื่อจะเตรียมวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไปของชาวนา ทั้งนี้ ด้วยปัญหาหลักของชาวนา ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงไม่คุ้มทุน 2.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 3.คุณภาพข้าวไม่ตรงตามความต้องการของตลาด 4.ขาดการวางแผนร่วมในการผลิต ซึ่งข้อสรุปในที่ประชุมเพื่อเป็นแผนการทำงานต่อไป คือ ตั้งกลุ่มทำงานเพื่อหารือเรื่องแผนการผลิตข้าวในรอบต่อไปว่าควรจะผลิตข้าวสายพันธุ์อะไรบ้าง เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่นๆในแต่ละพื้นที่ โดยนำข้อมูลจากผู้ส่งออกนำไปให้ชาวนาใช้ประกอบ ทั้งเรื่องการผลิต,กระบวนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหลายเครือข่าย/องค์กร มีวิธีลดที่ดีเยี่ยมและครอบคลุมทุกภูมิภาค และการตลาด รวมทั้งการมอบให้ทีมงานลงพื้นที่ไปจัดเก็บ ประมวลองค์ความรู้ทั้งหมด ทุกเครือข่าย ในด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การฟื้นฟูดินหลังจากที่ทำนามาตลอดหลายสิบปี การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพตามลำดับ โดยชาวนาหลายเครือข่ายมีวิธีการฟื้นฟูดินจนสามารถทำให้ดินกลับฟื้นสมบูรณ์เหมือนเดิม ซึ่งทั้งหมดจะจัดเก็บเป็นเอกสาร แล้วนำสู่เวทีประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาข้าวทั้งระบบอย่างยั่งยืน แล้วจักได้นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ สภาเกษตรกรทุกจังหวัดที่มีการทำนาได้นำไปใช้ในพื้นที่ สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคมก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นควรเรื่องการปรับการผลิตของชาวนาให้เข้าสู่ระบบ GAP ทั้งประเทศ ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำงานร่วมกัน และหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำให้ชาวนาปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิต GAP สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อได้รับทราบแล้วนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใต้ระบบ GAP จักได้นำเสนอไปยังประเทศลูกค้าทั่วโลกว่าประเทศไทยได้ผลิตข้าวด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

"ด้านการตลาดนั้น ปัญหาใหญ่มากของการค้าข้าวไทย คือ แข่งขันไม่ได้ ทั้งด้านราคา คุณภาพและชนิดของข้าว ตลาดข้าวโลกมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มจำนวนมาก แต่ประเทศไทยผลิตข้าวพื้นแข็งจำนวนมาก สินค้าที่เราจะไปขายไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญก็คือราคาเราแข่งไม่ได้เพราะว่าประเทศที่เคยเป็นคู่ค้า เคยซื้อข้าวไทยบัดนี้เป็นคู่แข่งขายข้าวกับเรา ทำให้สูญเสียตลาดไปพอสมควรและจะสูญเสียไปเรื่อยๆเพราะไม่ได้วางแผนการผลิต ไม่เข้าใจเรื่องความต้องการของตลาด และเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะประสานเรียนเชิญ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน เครือข่ายชาวนา พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการวางแผนด้านการผลิต และจากนี้ไปสภาเกษตรกรฯก็จะพยายามทำงานด้านข้าวและชาวนานำเสนอถึงรัฐบาลให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อนำสู่การพยายามผลักดันให้ชาวนาปรับตัวโดยเร็วเพื่อความอยู่รอดของอาชีพการทำนาสืบไป"นายประพัฒน์ กล่าว

ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 26 ม.ค. 2565

อนาคตข้าวและชาวนาไทยในภาวะถดถอย

FarmerinCrisis

ช่วงกลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปี ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไม่นาน ชาวนาในอดีตจะมีประเพณีและความเชื่อเรื่องการ “กินข้าวใหม่” ซึ่งมีนิยามหมายถึงการเฉลิมฉลองและขอบคุณธรรมชาติที่ประทานข้าว ปลา อาหารมาให้ ด้วยการนำข้าวใหม่ไปทำบุญ ทำกิน ทำทาน แบ่งปัน พักผ่อนและมีความสุข หลังจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ได้สูญหายไปจากสังคมชาวนาไทยส่วนใหญ่เสียแล้ว เนื่องจากรูปแบบการทำนาสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตข้าวเพื่อการค้าเป็นสำคัญ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้องรีบขายข้าวให้โรงสี นำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าหนี้ และซื้อข้าวกิน ซึ่งวิถีการผลิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

วิถีการทำนาสมัยใหม่ไม่เพียงทำให้ประเพณีเกี่ยวกับข้าวของชาวนาสูญหายไป แต่หายไปพร้อมกับคุณค่าวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตวิญญาณของผู้คน รวมถึงรากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาเดิมที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามเราคงหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะวิถีการผลิตและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่อยากชวนมองไปสู่อนาคตและความยั่งยืนร่วมกัน เพราะปัจจุบันมีหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าทิศทางการผลิตข้าวที่เน้นการปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์เพื่อการส่งออกกำลังเดินสู่เข้าสู่ภาวะถดถอยและร่วงโรยมากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณบ่งชี้ว่าข้าวไทยอยู่ในภาวะถดถอยมายาวนาน นั่นคือ หนึ่ง การส่งออกข้าวปรับตัวลดลง ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2547 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 47 ปี ในปี 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.6  สอง ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจสีข้าวที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 12.7 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.2 ในปี 2563  สาม ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคอีสานซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.8 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 77.6 ในปี 2563 (ที่มา : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์)

ในขณะที่รัฐบาลยังคงมีทิศทางนโยบายหลักในการค้ำยันอุตสาหกรรมข้าวที่กำลังเดินสู่ภาวะถดถอยนี้ต่อไปเรื่อย ๆ รอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมกว่า 160,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 21,000 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 50,600 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 ราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มขึ้น จำนวน 89,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมโครงการคู่ขนานอีกกว่า 50,000 ล้านบาท)

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 เราคงไม่สามารถนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้กับนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ได้เรื่อยๆ เราต้องหันกลับมาสรุปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ศึกษาเรียนรู้จากของเดิมว่าผิดพลาดตรงไหน และปรับตัวหาทิศทางใหม่

การสรุปและทบทวนจากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูคุณค่าของข้าวและคุณภาพชีวิตชาวนา คือการฟื้นคุณค่าไปสู่มูลค่า ชาวนาจะปลูกข้าวต้องมองถึงคุณค่า การเพิ่มมูลค่าการตลาด การเพิ่มสตอรี่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา การเชื่อมโยงอดีต และการพัฒนารูปแบบตลาดใหม่   ประการที่หนึ่ง คือ การฟื้นเรื่องราวสตอรี่ของข้าว แม้เทศกาลกินข้าวใหม่จะหายไป แต่เรื่องราวยังเหลืออยู่และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและรากฐานภูมิปัญญาเดิมที่ยังเหลืออยู่ ประการที่สอง แม้เราจะเปลี่ยนวิถีรูปแบบการทำนา แต่สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรความหลากหลายที่สำคัญในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิแดง มีคุณสมบัติเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ และมีการนำไปวิจัยพบคุณสมบัติในการเป็นเซรั่มเครื่องสำอาง นี่คือหนทางที่สามารถพัฒนาได้

ประการที่สาม การฟื้นคุณค่าของข้าว ความหอม รสชาติ การมาใช้ในโลกยุคใหม่ที่คนไทยกินข้าวน้อยลง ในอดีตคนไทยกินข้าว 170 กก.ต่อคนต่อปี เหลือ 95 กก.ต่อคนต่อปี กรณีตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นกินข้าวน้อยลงเกือบเท่าตัว แต่ปรากฎการณ์คือ ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น เนื่องจากทิศทางการผลิตข้าวเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ผลิตเป็นข้าวสารแบบในอดีต แต่ผลิตเพื่อกินเป็นยา แปรรูปเป็นขนม และเครื่องสำอาง เป็นต้น  

นั่นคือทิศทางและข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดข้าวเพื่อหลุดออกจากภาวะถดถอยของการตลาดข้าวในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาคุณค่าข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวสี ข้าวโภชนาการสูง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวทั่วไป ทำอย่างไรจะพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะเหล่านี้ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยไม่ควรทำเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่ทำภายใต้ระบบการปลูกที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต คนปลูก คนกิน เพื่อวิถีการบริโภคและวัฒนธรรม ทำให้เรามีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

 

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768854
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2134
5699
14609
160380
6768854

Your IP: 18.226.28.197
2024-04-30 10:24