• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การแก้หนี้ชาวนา

'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

“ผูกปิ่นโตข้าว” พลังผู้บริโภคสนับสนุนการแก้หนี้และเลิกเคมีของชาวนา

RiceFarmersupanburi

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ ใกล้จะมาถึงในเวลาไม่ช้าไม่นาน จับสัญญาณจากรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาบรรดา ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากฝั่งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างตบเท้ากันลงพื้นที่และจัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นำเสนอผลงานและนโยบายกับพี่น้องประชาชน ชาวนา เกษตรกร ในระดับพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก

“นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร” คือหนึ่งในนโยบายประชานิยม ทั้งแนวทางปลดหนี้ ลดหนี้ แก้หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทุกพรรคการเมือง ต่างหยิบยกนำมาใช้เพื่อหาเสียงกับชาวนาและเกษตรกร ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยพบว่านโยบายหรือมาตรการส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้ มักมุ่งเน้นที่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาปลายเหตุ “การลดหนี้เสีย”  ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีความซับซ้อน และเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การปรับแก้กลไกและกติกาสินเชื่อให้มีความเป็นธรรมต่อชาวนามากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง โดยทำมากกว่ามาตรการพักหนี้และยืดหนี้ และประการสุดท้ายการสนับสนุนการลงทุนการผลิตใหม่ การฟื้นฟูทางเลือกอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชาวนาและเกษตรกรไปพร้อมกัน

ชาวนาและเกษตรกรอยู่คู่กับปัญหาหนี้สินมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน และสองปีนับแต่มีโควิด (2563-2564) พบว่าชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74 หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ  150,636 บาท มาอยู่ที่  262,317 บาท แม้รัฐบาลจะมีโครงการและมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ  1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขไม่ให้กู้เงินเพิ่ม

อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ด้วยข้อจำกัดและเหตุผลประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อเงินทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นวงจรหนี้ไม่จบสิ้น

จากสภาพปัญหาและพื้นฐานข้อจำกัดของชาวนาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2565 นี้ ทางมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการปรับตัวเพื่อการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์จากการทำงานระดับพื้นที่ พบว่า ชาวนาที่มีหนี้มักมีสภาพจิตใจที่กดดันหลายด้าน ดังนั้นความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์เพื่อการแก้หนี้ของชาวนา จึงได้ริเริ่มโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว แก้หนี้ชาวนา”  ขึ้น

โดยหัวใจหลักและแนวคิดของโครงการนี้ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมพลัง และความเกื้อกูลระหว่างชาวนาผู้มีหนี้กับผู้บริโภคที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม การแก้หนี้ชาวนาโดยลำพังอาจไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้บริโภคทำความรู้จักกับชาวนาที่มีความตั้งใจปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์ จากนั้นผู้บริโภคเลือกสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี เพื่อให้ชาวนาเหล่านี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นในการทำนาอินทรีย์จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตของเขาอย่างแน่นอน ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เงินที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีเงินนำไปจัดหาและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเริ่มลงมือปรับระบบจากการทำนาเคมีสู่นาอินทรีย์  ชาวนาจะไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ของชาวนาไม่รู้จบให้หมดไป

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ส.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

กองทุนฟื้นฟูฯ วางเป้า 6 เดือนเสร็จ สะสางข้อมูลทะเบียนหนี้ใหม่หมด ย้ำเกษตรกรอัพเดทด่วน

 ManusWongchan

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีนโยบายให้ดำเนินการสะสางข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรใหม่ทั้งหมด โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เป้าหมายเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับความเป็นจริง อันนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพทันต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนหนี้ ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยทดแทนระบบเดิมที่ใช้วิธีกรอกข้อมูลในเอกสารแล้วจึงนำมาลงในระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมลงทะเบียน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดประชุมซักซ้อมความข้าใจกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสาขาทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

อีกแนวทางที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันตามนโยบายของเลขาธิการ กฟก. คือ การประสานและตรวจสอบยืนยันเกี่ยวกับข้อมูลหนี้จากเจ้าหนี้ โดยในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดสาขา ประสานกับอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานข้อมูลจากเจ้าหนี้ เช่น สหกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ สำหรับในส่วนกลางสำนักงานใหญ่ จะดำเนินการประสานกับเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนของ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่างๆ และ ตรวจสอบยืนยันกับทางเจ้าหนี้ด้วย โดยเฉพาะทางสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในระดับพื้นที่ ส่วนเจ้าหนี้ที่อยู่ส่วนกลางที่ทางสำนักงานใหญ่ที่จะต้องเป็นคนประสาน อาทิ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น”
ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานั้น เกษตรกรสมาชิกที่ได้มาขึ้นทะเบียน บางส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยข้อมูลไว้อย่างนั้น ไม่มีการแจ้งถึงสถานะหนี้เปลี่ยนแปลงอย่างหรือไม่ หรืออยู่ในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องหรือยัง เป็นต้น ส่งผลให้ข้อมูลหนี้ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จนถึงขณะนี้มีประมาณ 510,000 กว่าราย รวมสัญญาจำนวน 769,000 กว่าสัญญา คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 107,000 ล้านบาท ทั้งจากที่ขึ้นทะเบียนไว้ 510,000 กว่าราย มีจำนวนถึง 200,000 กว่าราย ที่ไม่มีการอัพเดทสถานะหนี้ให้เป็นปัจจุบัน


“ ดังนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถมาติดต่อประสานกับทางสำนักงานจังหวัดในพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลปรับปรุงทะเบียนหนี้ของตนเอง ได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดได้ในทุกวันทำการ เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งกรณีเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระ หนี้จำเป็นเร่งด่วน หรือขั้นบังคับคดีขายทอดตลาด” นายมนัส กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา : สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ วันที่ 21 ก.ย. 2564

นาเคียงเมือง ผลผลิตจากใจชาวนาสู่ผู้บริโภค

Nakiangmueang

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/aMK7GQ1SHtI}

ความตั้งใจในการทำ "นาเคียงเมือง" เพื่อเป็นตัวกลางในการนำสินค้าของเกษตรกรมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเมือง พร้อมนำเสนอเรื่องราวของชาวนาและเกษตรกร ที่ตั้งใจทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย ์เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน มีผลผลิตอาหารที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสุขภาพ การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อรางกาย วิธีการปลูกผักอินทรีย์ แหล่งที่มา

นาเคียงเมืองเป็นช่องทางการตลาดที่จัดทำโดยมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพชาวนา สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของผู้บริโภค ทำงานกับชาวนาในพื้นที่ จ.ชัยนาท จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.พิษณุโลก ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สิน และมีความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน โดยส่งเสริมให้เกิดการวางแผนทางการเงิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบการผลิตที่ยั่งยืนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ มีอาหารคุณภาพดีและปลอดภัยไว้บริโภค และส่งต่อให้กับผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ

วิธีการสั่งสินค้า

1. สั่งผ่าน กล่องข้อความ (Messenger) แจ้งรายละเอียดสินค้าที่ต้องการ ชื่อและที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ของท่าน (ไม่รวมค่าจัดส่ง)

2. สั่งผ่านกลุ่ม Line : นาเคียงเมืองhttps://line.me/R/ti/g/L5oaSAN6TB ซึ่งเป็นรูปแบบการพรีออเดอร์สินค้าทุกวันศุกร์ และจัดส่งสินค้าทุกวันอังคาร ตามเส้นทาง ถนนวิภาวดีรังสิต งามวงศ์วาน และหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ขอบคุณที่สนับสนุนสินค้าที่มาจากเกษตรกร ที่มีความตั้งใจปรับวิถีการผลิตมาเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ทำหน้าร้านค้าในเพจ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกดูสินค้าและสั่งสินค้าได้ง่ายขึ้น

 

 

 

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่“ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

บทเรียนการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง

FarmerMarketLessonLearned

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/96LRjniEYmU}

เกษตรกรอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี คิดร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเคมีสู่อินทรีย์ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำการปลูกพืชผัก สมุนไพร พืชหมุนเวียนเพื่อพึ่งพาตนเองในครัวเรือน เหลือกินจึงขาย

ต่อมาเกิดคำถามว่า ปลูกกันมากขึ้น แล้วจะขายใคร? จึงเกิดแนวคิดแปรรูปผลผลิตที่ปลูกไว้มากในชุมชน คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชูจุดเด่นจากสรรพคุณของสมุนไพร ชาสมุนไพร สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร สเปรย์ไล่ยุงสมุนไพร น้ำพริกสมุนไพร กล้วยกระจก เมื่อมีผลิตภัณฑ์แล้วจึงมองหาช่องทางตลาด เริ่มจากการฝากขายที่หน้าร้านในชุมชน ออกร้านตามงาน การขายออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊กและเวบไซต์ จนก่อเกิดความสำเร็จ สินค้าของกลุ่มฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และผู้บริโภค สั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ผลจากการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ชุมชนพอใจในวิถีพอเพียงในปัจจุบัน สามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สิน และก่อเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

พันธนาการ “หนี้” และทางออกของชาวนายุคโควิด-19

BungOrnSupanburi

สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและเปราะบางสูงอยู่แล้ว ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินและปัญหาทางการเงินหนักมากขึ้น โดย 76% ของครัวเรือนเกษตรกรพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง และเงินโอนจากลูกหลาน ในขณะที่รายได้ในภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตตกต่ำ

โดยครัวเรือนเกษตรกร 90% มีปัญหาหนี้สิน 72% เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 430,000 บาท 25% เป็นหนี้สินเชื่อลิสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ และ 54% ของครัวเรือนอยู่ในโครงการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ มีหนี้หลายก้อนจากหลายแหล่ง จึงมีสถานะหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้วิธีการหมุนหนี้ คือ เป็นหนี้ก้อนใหม่เพื่อจ่ายคืนหนี้เก่า ในขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลทำให้เกิดวงจรสะสมหนี้ เป็นภาระหนี้ไม่จบไม่สิ้น (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค 10 ก.ย. 2564)


เมื่อมองลึกลงไปในระดับพื้นที่ยิ่งเห็นรูปธรรมปัญหาชัดขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลหนี้สินและผลกระทบการแพร่บาดโควิด-19 ของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 9 แห่ง ใน 5 จังหวัด ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก โดย มูลนิธิชีวิตไท เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า เกษตรกรเป้าหมาย 150 ครัวเรือน มีหนี้สิน 126 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84 หนี้สินเฉลี่ย 499,038 บาทต่อครัวเรือน

นด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ นโยบายการช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะลำบาก ด้วยผลผลิตเสียหาย ขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตกต่ำ ตลาดในท้องถิ่นถูกปิด บางครอบครัวมีลูกหลานหรือญาติที่เคยเป็นกำลังหลักในการหารายได้ ต้องถูกลดเวลาทำงาน หรือถูกเลิกจ้างงาน ทำให้ขาดรายได้ที่ต้องนำมาใช้จ่าย หลายรายต้องผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนขาดทักษะบางเรื่องที่จำเป็นในยุคนี้ เช่น การทำตลาดออนไลน์


สถานการณ์ปัญหาและปัจจัยภายนอกที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนามีความสุ่มเสี่ยงและเปราะบางสูงขึ้นต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและปัจจัยสร้างความมั่นคงในชีวิตของครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ท้าทายต่อการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท จึงมีข้อแนะนำวิธีหลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทตนเองได้ ดังต่อไปนี้


1) แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินหรือหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกร 2) วิเคราะห์ด้านสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด เนื่องจากสัมพันธ์กับอาชีพและรายได้ 3) วิเคราะห์รายรับรายจ่าย หนี้สิน อาชีพ ต้นทุนการผลิต การประกันความเสี่ยง 4) ปรับวิธีคิดใหม่ ปรับโครงสร้างการผลิต มีความมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาทางลดหนี้และรักษาที่ดินไว้ให้ได้ 5) วางแผนการเงินในครัวเรือน วิเคราะห์อาชีพปัจจุบันว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ต้องทำอาชีพเสริมแบบไหนเพื่อแก้หนี้ได้จริง 6) สร้างพฤติกรรมทางการเงินใหม่ ออมก่อนใช้เมื่อมีเงินนำไปชำระหนี้ก่อน


7) วางแผนพัฒนาเสริมรายได้ ยกระดับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร วิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลสำเร็จของอาชีพนั้น ๆ ที่เห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) ไปถึงปลายน้ำ (การตลาด) เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรกลุ่มนั้น ๆ มากที่สุด 8) ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ จดบันทึกขั้นตอนการผลิต ปัญหาอุปสรรคในแต่ละขึ้นตอน 9) การประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการทบทวนและแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์


9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นทางออกจากพันธนาการ “หนี้” ข้างต้น ได้ผ่านการทดสอบและลงมือปฏิบัติโดยกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินมาแล้ว และเห็นผลความสำเร็จ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเกษตรกรเป็นอันดับแรก และสร้างระบบกลุ่มที่ช่วยดูแลกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กลุ่มชาวนาและเกษตรกร บางส่วนสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้ได้ บางส่วนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้สำเร็จ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 5 ต.ค. 2564

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

 

วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข

VeerathaiBankofThailand

"...งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่..."

...............................

หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ ภายในงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565

ที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของไทย เรามักจะติดกับดักเรื่องของกิจกรรม เวลาที่พูดถึงแผนพัฒนาก็จะมุ่งตรงไปสู่กิจกรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

ในบริบทข้างหน้า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาของเกษตรกรรายเล็กของเราซับซ้อนมากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกษตรกรรายเล็กของเราต้องแปลงร่างและพลิกโฉม หรือที่เรียกว่า transform ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายึดติดกับกิจกรรม ที่มักเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากของเดิม ก็อาจไม่เท่าทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง

สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องกิจกรรม คือ เราต้องช่วยกันกลั่น ‘หลักคิดนำทาง’ หรือ ‘guiding principles’ ที่จะช่วยสร้างอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย แม้ว่าผมไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร แต่ได้ติดตามงานต่างๆอยู่บ้าง จึงขอมองในมุมมองจากภาพใหญ่ว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่อง guiding principles หรือหลักคิดนำทางที่สำคัญ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งผมคิดว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน

@เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย

เรื่องแรก เวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก การมองเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามองอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก เพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องเอาคนไทย คุณภาพชีวิตของคน หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยรายเล็ก เป็นเป้าหมายหลัก หรือเป็นหลักคิดนำทาง และนโยบายต่างๆที่จะตามมานั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรรายเล็กของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน

หลายครั้งเวลาที่คิดถึงกรอบการพัฒนาหรือกรอบการแก้ปัญหา เรามักจะมองข้ามมิติเรื่องคนเป็นเป้าหมาย เราไม่ได้เอาคนเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งเราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่า เกษตรกรรายเล็กได้อะไรจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่เราทำ บางครั้งเราอาจให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ เช่น ประเทศไทยต้องรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้ได้อันดับต้นๆของโลก เรากังวลกับห่วงโซ่อุปทานว่า เดี๋ยวจะขาดวัตถุดิบทางการเกษตร และการทำนโยบายอุดหนุนต่างๆ

บางครั้งเราก็พูดภาพใหญ่ๆ เช่น เรื่องผลิตภาพของภาคการเกษตรไทย โดยไม่ได้ยึดโยงลงไปถึงว่า เกษตรกรรายเล็กเขาอยู่ตรงไหนในจิ๊กซอว์เหล่านั้น ยิ่งถ้าเรามองจากเลนส์หรือแว่นตาของหน่วยงานราชการ หรือจากพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง และคะแนนนิยมด้วยแล้ว คนทำนโยบายในระดับมหภาคมักจะลืมเรื่องการมองผ่านแว่นตาหรือเลนส์ของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย

จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในวันนี้ เราจะได้ guiding principles ที่เป็นมุมมองของคนที่เอาเกษตรกรรายเล็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยคลี่ออกมาว่า ระบบนิเวศและกลไกสนับสนุนควรให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรบ้าง หรือมิติใดบ้าง

@เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ติด ‘กับดักหนี้’ ทำให้ปรับตัวได้ยาก

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็กเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ (ผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’) แต่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งว่า จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรรายเล็ก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะในขณะที่เกษตรกรรายเล็กของไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆมากมายแล้ว ต้องปรับตัว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตร ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่พันธนาการการปรับตัวเหล่านั้น

มีงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และมีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรผู้สูงอายุที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงด้วย

งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่

ถ้าไปดูที่มาว่า เกษตรกรเป็นหนี้จากอะไร ในรายงานศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 73 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร และเกษตรกรกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อปี และเวลาที่เขาขาดสภาพคล่อง เขาต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป

และยังพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้อย่างที่คาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องช็อกที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 3 ปี ส่งผลให้เกษตรกรตกไปอยู่ในกับดักหนี้ และจากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ มีการประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกร จะมีปัญหาในการชำระหนี้

โจทย์สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตเกษตรกรไทยที่ต้องปรับตัว ก็มีคำถามสำคัญว่า เกษตรกรจะลงทุนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในเวลาที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร

ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการพักหนี้แบบเดิมนั้น ไม่ได้ช่วยให้หนี้หายไป และอาจไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้

@ต้องออกแบบ ‘โครงสร้างจูงใจ’ ที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เรื่องที่สาม การปรับตัวในลักษณะที่ต้องมีการพลิกโฉมอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับตัว แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรไทย ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ให้เหมาะสม และต้องเป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่ต้องมองผ่านแว่นของเกษตรกรรายเล็กด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานราชการ

ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาของการออกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่การพักหนี้ ที่อาจจะไม่เข้าใจ และไม่สนใจกับผลที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเกษตรกร รวมทั้งอาจสร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เกิดผลเสียระยะยาวหลายอย่าง เป็นผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจไม่ได้คิดให้รอบคอบตั้งแต่ตอนที่มีการกำหนดนโยบาย และโครงการเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเกษตรกร

ดังนั้น ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่า incentive structure ที่เราจัดให้มีนั้น จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนของเกษตรกรด้วย โดยมีทิศทางอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

ทิศทางแรก เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็ก มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นพรีเมียมโปรดักส์ เพราะการผลิตสินค้าเกษตรทั่วๆไปจะแข่งขันได้ยากมาก เนื่องจากเขาไม่ได้ประโยชน์จากการประหยัดของขนาด (economy of scale) เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยไปสู่การทำเกษตรประณีต หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องช่วยกันสร้าง incentive structure ที่จะจูงใจให้เกษตรกรไทยออกจากเกมที่ ‘เน้นเรื่องปริมาณ’ ไปเน้นในเรื่องเกม ‘คุณภาพ’

ทิศทางที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ใช้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพให้ได้ในกระบวนการผลิต เกษตรกรไม่สามารถทำแบบเดิมๆได้ และอาจจะต้องมองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรน้ำ การอยู่ร่วมกับป่า โดยเรื่องเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้าง incentive structure ที่เอื้อหรือสนับสนุนในระดับจุลภาค

ทิศทางที่สาม จะต้องให้เกษตรกรมุ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน การซื้อประกันภัยพืชผล หรือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่จะรับความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกในเรื่องการกระจายความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

ที่สำคัญนโยบายใหญ่ระดับประเทศหรือในระดับมหภาคจะต้องสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง และต้องไม่บิดเบือนโครงสร้างของแรงจูงใจที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับจุลภาพ ต้องไม่ทำลายโครงสร้างแรงจูงใจระดับฐานราก

อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในการทำนโยบาย หรือมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเรามุ่งไปทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ รับประกันต่างๆ ซึ่งก็ยังจำเป็น แต่ต้องมุ่งไปที่ผลผลิตคุณภาพสูงมากขึ้น และโครงสร้างของแรงจูงใจต้องมองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญมาก คือ

ตลาดวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะต้องทำเรื่องแรงจูงใจให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเงินเชื่อ และไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นได้ หรือไปผลิตพืชอื่นได้ เพราะไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยปรับพฤติกรรมได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถโยงกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับการปรับพฤติกรรมโดยการออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพผลิตผลของเกษตรกรรายเล็ก ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาของหนี้สินเกษตรกรได้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารเพื่องการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องมีบทบาทสำคัญมาก และมีบทบาทอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกษตรรายเล็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาด้วยในอนาคต

veerathai 11 05 22 1

@ต้องแก้ปัญหาเป็น ‘รายพื้นที่’-บริหารแบบ ‘รวมศูนย์’ ได้ผลลัพธ์น้อย

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตของเกษตรกรรายเล็กของไทย คือ โครงสร้างการทำงานที่ไปสนับสนุน ช่วยเหลือเกตรกรรายเล็ก ต้องต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาที่เกษตรกรรายเล็กเผชิญมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ และแต่ละพื้นที่มีผลที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

แต่จะพบว่าการทำงานสนับสนุน หรือการจัดโครงสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยกลไกภาครัฐใจช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการทำจากส่วนกลางลงไประดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ก็ใช้งบประมาณสูง และเกิดผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปอนาคต รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น ซึ่งหากยังทำงานแบบเดิม จะไม่เกิดผลแน่นอน และรัฐบาลไม่สามารถทำได้มากเท่าเดิมด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องมีลักษณะล่างขึ้นบน (bottom up) มากขึ้น มุ่งตอบโจทย์ในบริบทของของชาวบ้าน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อย่างน้อยก็แบ่งพื้นที่ที่ทำงานเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3S ได้แก่ กลุ่มเป็น Survive ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ส่วนที่กลุ่มเป็นเป็น Sufficiency กลุ่มนี้จะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่เกมที่อยู่ได้อย่างพอเพียง

และกลุ่ม Sustainability ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร โดยแต่ละพื้นที่เราจะเอาชีวิตเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และแต่ละกลุ่มจะต้องการการช่วยเหลือที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น นโยบายจากบนลงล่าง (top down) หรือนโยบายที่ไปจากส่วนกลางและทำเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้

เมื่อพูดถึงการพลิกโฉม การแปลงร่าง (transform) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 1 ปี หรือฤดูเพาะปลูกเพียงฤดูเดียว และ incentive structure จะต้องโยงกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้น กลไกการส่งเสริมจะต้องมีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ และการมีพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีการสร้างเครือข่ายที่หน่วยงานต่างๆเข้าไปร่วมกันทำได้ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายที่ราชการทำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตำบล เกษตรอำเภอนั้น ไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เกษตรกรรายเล็กพึ่งพิงรายได้เสริมเป็นจำนวนมาก โดยครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เสริมมากกว่ารายได้ที่มาจากการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เราจะลืมจิ๊กซอว์เรื่องการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการหารายได้เสริมของเกษตรกรไม่ได้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราพบว่าเขาไปอยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ และขณะนี้การท่องเที่ยวของเรายังไม่ฟื้น และพบว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การทำเกษตรหลังนา ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจชนบท เศรษฐกิจเมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

เรื่องที่ห้า เราจะต้องช่วยกันคิดเรื่อง guiding principles ที่จะทำให้เกษตรกรไทย สามารถรองรับภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบมากมาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเกิดโรคพืช และโรคสัตว์อุบัติใหม่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญในการปรับพฤติกรรม วิธีการปลูก วิธีการทำเกษตร ซึ่งด้านหนึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นระบบ และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว เท่าทัน รองรับสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวนได้

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 พ.ค. 2565

 

เจาะลึกมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ที่นำทุกคนมาทวงความคืบหน้าจากรัฐบาล

 BigStoryFarmerDebt

  • สืบเนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากลงทะเบียนใช้สิทธิ์กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
  • แต่เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ที่ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล
  • ไทยรัฐพลัสชวนอ่านมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ จากปากของ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ที่เราได้พูดคุยแบบลงลึกไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร

ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ เกิดขึ้นมา เป็นกฎหมายที่ประชาชนเสนอร่างแล้วไม่ถูกแก้ไขเลย

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ คือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.5 - 1.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และการันตีว่าเกษตรกรจะไม่เสียหลักทรัพย์ (เกือบทั้งหมดคือที่ดิน) เหมือนอย่างที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน 

ด้วยข้อดีสองอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ 

กองทุนฯ เป็นทางออกที่เกษตรกรหวังพึ่งพา แต่สิ่งที่ยากคือ เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ระหว่างกองทุนฯ กับ 4 สถาบันการเงินของรัฐควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. 

ผลของความล่าช้าก็คือเกษตรกรยังคงต้องชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้เดิมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการชำระหนี้กองทุนฯ 

ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติเรื่องนี้ให้พวกเขาได้หรือยัง?

“การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ” 

นี่คือสรุปย่อๆ ว่าม็อบชาวนามาปักหลักเรียกร้องอะไรกัน ซึ่งไทยรัฐพลัสสรุปความจากที่พูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากการพูดคุยสอบถามความเดือดร้อนของเกษตรกร-ชาวนาที่มาชุมนุม และประเด็นที่มาทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล ไทยรัฐพลัสได้คุยกับชรินทร์ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ แบบลงลึกเรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร 

ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

ที่มาของเรื่องเป็นอย่างไร เงิน ‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’ มาจากไหน

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงินจากรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเล่าแบบมหากาพย์เลยคือ ในอดีต พี่น้องเกษตรกรมาชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรมานาน สมัยก่อน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรก็จะเข้ามากรุงเทพฯ มาชุมนุม ในที่สุดพวกเขาก็สรุปบทเรียนว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เกษตรกรก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายมากำกับมาแก้ปัญหา จึงเกิดกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ ขึ้นมา 

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกและฉบับเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชาวบ้านเข้าชื่อกันแล้วได้เป็นกฎหมายออกมา ที่สำคัญก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขเลย เสนอไปอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เนื่องจากว่าเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กฎหมายนี้เข้าสภาปี 2540 มันเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการที่รัฐบาลช่วยคนรวยจากวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลก็เลยไม่กล้าเสนอร่างประกบ จึงมีร่างของชาวบ้านร่างเดียว แล้วก็เลยได้กฎหมายออกมา

แต่พอได้กฎหมายออกมาแล้ว รัฐบาลก็ใช้วิธีการ slow down รัฐบาลไม่อยากทำ เพราะว่ามันกระทบเยอะ ที่กระทบแน่ๆ คือ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เพราะว่าถ้าชาวบ้านมาขอใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ ธ.ก.ส.ก็ต้องขายหนี้ให้กองทุน ธ.ก.ส.ก็เสียลูกค้าไปเรื่อยๆ เสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน

นี่คือที่มาของเรื่องนี้ การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ครม.อนุมัติเห็นชอบ เนื่องจากธนาคารทั้ง 4 แห่ง (ธ.ก.ส., ออมสิน, อาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์) เป็นธนาคารของรัฐ ไม่สามารถทำอะไรเองได้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นการซื้อขายหนี้รายหรือสองรายก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการซื้อขายลอตใหญ่ และเป็นการขายหนี้ให้หน่วยงานของรัฐด้วย จึงต้องใช้มติ ครม. 

เรื่องนี้ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงวันนี้เรื่องยังไม่ไปถึงไหน ติดอยู่ตรงความเห็นกระทรวงการคลังที่อ้างเรื่องวินัยการเงินการคลัง และเรื่องอะไรต่างๆ สารพัด เรามาชุมนุมขอให้ ครม. รีบเร่งมีมติ ในเมื่อธนาคารเจ้าหนี้เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบหมดแล้ว แล้วยังติดอะไร ล่าสุด ตอนนี้เขาบอกว่าไม่ติดอะไรแล้ว คาดว่าจะนำเข้า ครม. สัปดาห์หน้า 

การที่กองทุนฯ ซื้อหนี้ของเกษตรกรมาจากธนาคารเจ้าหนี้เดิม เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างไรบ้างนอกจากดอกเบี้ยที่ลดลง  

ตามกฎหมายให้กองทุนไปชำระหนี้แทนเกษตรกร กองทุนก็เอาเงินไปปิดบัญชีหนี้เลย แล้วโอนหลักทรัพย์ที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันกับ ธ.ก.ส. มาเป็นของกองทุนฯ ไม่ใช่การจำนองหลักทรัพย์ แต่หลักทรัพย์กลายเป็นของกองทุนเลย แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระในรูปแบบการเช่าซื้อ ซึ่งดอกเบี้ยจะถูกกว่าผ่อนกับธนาคารเจ้าหนี้เดิม และเกษตรกรจะไม่สูญเสียที่ดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้มีการยึดที่ดิน ให้ผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแล้วจึงได้โฉนดที่ดินกลับคืน ถ้ารุ่นนี้ผ่อนไม่หมดก็ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาชำระต่อจนกว่าจะหมด 

กฎหมายบอกไว้อย่างนี้ และเราก็เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยว่า ก่อนจะขายและโอนหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้จะต้องตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตัดค่าปรับทิ้งทั้งหมด และลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าหนี้ที่เกษตรกรต้องจ่ายก็ลดลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ตกลง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปหมดแล้วว่าการโอนหนี้จากเจ้าหนี้มาไว้กับกองทุนฯ ให้ตัดดอกและลดต้นครึ่งหนึ่ง 

พวกผมสู้จนชนะ ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราให้เงินต้นครึ่งหนึ่งถือว่าเป็นกำไรของธนาคารเสียด้วยซ้ำไป และข้อดีของธนาคารก็คือจะไปช่วยปิดหนี้ NPL ด้วย เพราะเมื่อโอนมากองทุนฯ หนี้เสียก็หมดไป แบงก์ก็จะมีสถานะดีขึ้น ตอนนี้แบงก์เอกชนไม่มีปัญหาเลย เขายอมขายหนี้หมด กองทุนซื้อหนี้เกษตรกรที่อยู่กับแบงก์เอกชนมาแล้ว แต่มีไม่เยอะ เพราะหนี้ชาวนามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่กับ ธ.ก.ส. 

ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว

 

รัฐให้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ปีละเท่าไร หรือให้อย่างไร 

ให้ปีแรก 1,800 ล้านบาท เป็นทุนประเดิม นับถึงตอนนี้เงินที่รัฐบาลให้กองทุนมาแล้วเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง 10,000 ล้านบาทที่ได้มาไม่ได้ได้มาจากการให้ตามงบประมาณปกติ แต่เป็นการให้ด้วยม็อบแบบนี้ เงินที่ได้มา กองทุนฯ เอาไปใช้หนี้แทนชาวบ้าน ซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้เดิม ย้ายชาวบ้านเข้ามาอยู่กับกองทุนฯ และให้กู้เพื่อให้ชาวบ้านฟื้นฟูอาชีพ ตอนนี้ซื้อหนี้หรือเรียกว่าไถ่ตัวชาวบ้านออกมาจากเจ้าหนี้แล้วประมาณ 7,300 ล้านบาท บวกส่วนให้กู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพ และบริหารจัดการด้วย รวมเป็น 10,000 ล้านบาทเศษๆ 

แปลว่า พ.ร.บ. และกองทุนฯ มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรต้องมาชุมนุมใหม่ทุกๆ ปี แต่ว่าพอมีแล้วก็ยังต้องมาชุมนุมอีกเหมือนเดิม?

ใช่ ก็ยังต้องมาอีก แต่จะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ผมก็ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่าการบริหารของสำนักงานกองทุนฯ มีปัญหา คือไม่มีประสิทธิภาพ และตอบคำถามสำนักงบประมาณไม่ได้ ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน 

กรรมการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปบีบอะไรรัฐบาล ความคืบหน้าของกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 20 ปีเกิดจากม็อบทั้งหมด ถ้าม็อบไม่มาเขาก็ไม่ทำอะไรกัน ทั้งรัฐบาล ทั้งสำนักงานกองทุนฯ ด้วย มันก็เป็นปัญหา ซึ่งในช่วงยุค คสช. ผมได้เสนอไปสองทางเลือก คือ หนึ่ง-ยุบสำนักงานกองทุนฯ แล้วให้หน่วยงานอื่นเข้ามาแก้ปัญหาของพี่น้องที่ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.นี้ให้หมดแล้วจบ ไม่มีการซื้อหนี้เพิ่มแล้ว และทางที่สองถ้าเห็นว่ากองทุนยังมีประโยชน์ในการช่วยพี่น้องเกษตรกรก็ให้ปฏิรูปกองทุนฯ ซึ่งก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งให้ปฏิรูปกองทุน แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการปฏิรูป

จุดอ่อน จุดด้อยตรงไหนที่ต้องปฏิรูป 

ต้องมาสังเคราะห์และมาดูกันว่าอะไรที่ต้องปรับต้องแก้ อย่างเช่น การบริหารของสำนักงานมีปัญหา ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นระบบราชการเกินไป พนักงานไม่ให้บริการเกษตรกรแต่กลับไปใช้อำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอำนาจ ไม่ลงพื้นที่ไปดูแลชาวบ้าน-ไปสำรวจตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไร ซื้อหนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร 

จริงๆ แล้วต้องปฏิรูปกันทุกองคาพยพเลย เพราะว่าอย่างกรรมการส่วนที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็ไม่มีความรู้เรื่องกองทุนฯ อย่างลึกซึ้ง พอมาเป็นแล้วก็มีเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ผลประโยชน์เรื่องเงินทอง แต่ว่าเป็นเรื่องคะแนนเสียง มีการไปรับปากชาวบ้านแบบนักการเมือง เวลาประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ก็ไม่ลงลึก แล้วก็ถูกฝ่ายการเมืองหลอก อีกอย่างคือความรู้ที่จะต้องใช้ในการจัดการกองทุนฯ มันอยู่นอกเหนือศาสตร์ที่เราเรียนกันมา ศาสตร์ที่เราเรียนมามันช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์ แต่อย่างเรื่องการซื้อหนี้ไม่เคยมีที่ไหนในโลก อย่างเรื่องการฟื้นฟู ตามกฎหมายกองทุนคือต้องทำการผลิตแบบครบวงจร ในส่วนการแปรรูปกับขาย กองทุนฯ ต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ ก็อยากทำ แต่ยังช้ามาก 

มีตัวเลขรวมไหมว่าเกษตรกรหรือเฉพาะชาวนามีหนี้รวมกันเป็นเงินกี่บาท

เกษตรกรที่เป็นหนี้มี 5,500,000 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบธนาคารของรัฐ 550,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ธนาคารอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐประมาณ 100,000 ล้านบาท และนอกระบบอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ในส่วนหนี้นอกระบบเราใช้การประมาณการ แต่สองตัวแรกคือหนี้ธนาคารของรัฐกับหนี้ธนาคารเอกชนตัวเลขค่อนข้างแน่ รวมทั้งหมดแล้วประมาณเกือบ 800,000 ล้านบาท

กองทุนฯ มีเงินไม่พอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรทั้งหมด มีแนวทางจะช่วยเหลือส่วนที่เหลืออย่างไร 

สมมติว่า ครม. มีมติเห็นชอบครั้งนี้ 300,000 ราย ก็เหลืออีกประมาณ 200,000 ราย สบายมาก เพราะว่าเกษตรกรชำระหนี้คืนกองทุนฯ เดือนละประมาณ 12 ล้านบาท มันมีเงินหมุน และดีตรงที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจว่าเงินที่เป็นรายได้กองทุนฯ ไม่ต้องนำส่งคืนรัฐ ให้เป็นรายได้ของกองทุนฯ เลย ฉะนั้นตอนนี้เท่ากับกองทุนฯ มีเงินที่เหมือนฝากชาวบ้านไว้ 7,300 ล้านบาท ชาวบ้านชำระคืนเดือนละประมาณ 12 ล้านบาท ถึง 15 ล้านบาท เงินตัวนี้ที่จะเป็นเงินหมุน 

ผมเคยคำนวณกับผู้เชี่ยวชาญว่า กองทุนฯ เราต้องชำระหนี้แทนเกษตรกรประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีเงินแค่ 30,000 ล้านบาทก็ทำได้แล้ว เพราะเงินมันจะหมุน สมมติว่าเราได้เงินจากรัฐบาล 30,000 ล้านบาท เราไม่ต้องขออีกเลย มันไม่ใช่ว่ากองทุนฯ จะขอเงินจากรัฐบาลแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือ การกู้เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต พอขายผลผลิตได้ราคาไม่ดี ทำให้มีเงินไม่พอใช้หนี้และไม่พอยังชีพ ก็เลยกู้อีก เป็นการกู้ทบกันไปเรื่อยๆ แบบนี้เข้าใจถูกไหม 

ใช่ ถูกต้องแล้ว หนี้เกิดจากการทำนาทำไร่ขาดทุน ไม่ใช่เกิดจากการใช้เงินนอกลู่นอกทาง ผมยกตัวอย่าง ต้นทุนปลูกข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำข้อมูลออกมาว่า ต้นทุนการผลิตข้าว 1 เกวียน หรือ 1 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ถึง 8,500 บาท แล้ววันนี้ราคาข้าวตันละ 6,000 บาท ถามว่ารัฐบาลรู้ไหม ทำไมจะไม่รู้ ในเมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำข้อมูล

แปลว่าตอนนี้ขาดทุนกันอยู่ประมาณตันละ 2,000 บาท?

2,000 ถึง 2,500 บาท และมันไม่ใช่เป็นแค่ปีนี้ เป็นแบบนี้มาตลอด มีปีเดียวที่ชาวนาไม่ขาดทุน พอมีเงินเหลือก็คือปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มารับซื้อตันละ 15,000 บาท ตอนนั้นผมก็ทำนาอยู่ ผมได้ 50 ตัน ปกติผมจะขายได้ 300,000 บาท ปีนั้นผมขายได้ 750,000 บาท คุณคิดดูสิมากกว่ากันเท่าตัว แบบนั้นผมอยู่ได้ 

วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน... จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท

เรื่องมาตรการพยุงราคาข้าว มีการเถียงกันว่า ‘จำนำ’ หรือ ‘รับประกันราคา’ ดีกว่ากัน ในความเห็นของคุณ มองอย่างไร 

มองว่าเป็นเรื่องทางแท็กติกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน ปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวจากชาวนา 15,000 บาท เขาได้กำไรอยู่แล้ว 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท 

ผมเสนอตัวเลข 12,000 บาท เพราะวันนี้นายทุนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้เงินไปตันละ 12,000 บาท เอามาคืนชาวนาครึ่งหนึ่งได้ไหม ครึ่งหนึ่งคือ 6,000 บาท บวกกับราคาที่ขายได้ตอนนี้ 6,000 บาท จะเป็น 12,000 บาท ราคานี้ชาวนาอยู่ได้ แล้วนายทุนตั้งแต่พ่อค้าคนกลาง โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก หรือพ่อค้ายี่ปั๊วซาปั๊วในประเทศคุณได้ไป 6,000 บาท ชาวนาเขารับความเสี่ยงทุกเรื่อง ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลง แต่เขาขายได้แค่ 6,000 ขณะที่คุณไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย ถ้าแบ่งให้เขา 6,000 คุณยังได้กำไร 6,000 ผมว่ามันมากพอ มากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคา 12,000 บาทต่อตัน เขาจะอยู่ได้ หักลบต้นทุน 8,500 บาทเขายังเหลือ ถ้าได้ราคานี้ อีก 10 ปีเขาน่าจะใช้หนี้หมด ไม่ต้องไปเดือดร้อนรัฐบาลมาช่วยเลย สินค้าเกษตรตัวอื่นก็เหมือนกัน 

 

 

รัฐบาลต้องช่วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรช่วยตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เป็นหนี้ดีกว่า?

ใช่ ถามว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าพูดเป็นประเด็นเป็นเรื่องๆ มันลำบาก มันไม่จบ ปัญหามันเป็นวัวพันหลัก เป็นงูกินหาง ผมพูดแบบภาพใหญ่เลย คือมาตั้งหลักตั้งต้นกันใหม่ มาคุยกันใหม่ว่าทิศทางเกษตรของเราจะเอายังไง มาเริ่มต้นกันใหม่ได้ไหม คุณพร้อมที่จะรับฟังชาวบ้านไหม มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย ตอนนี้เราแก้ปัญหาทีละเรื่องไม่ได้แล้ว 

 

ถ้าจะเริ่มใหม่ ข้อเสนอทางออกคืออะไร

ข้อเสนอของเราฟังดูยาก เพราะเราไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้ คือ เกษตรกรต้องทำการผลิตแบบครบวงจรเหมือนเกษตรกรในเมืองที่เจริญแล้ว อย่างในเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์เกษตรกรโคนมแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ผลิตนมโฟร์โมสต์ขายทั่วโลก บ้านเรายอมรับได้ไหมที่จะทำแบบนี้ ปัญหาของเรามันยาก เพราะว่าคนร่ำรวยในประเทศนี้ล้วนร่ำรวยจากเกษตรกรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้ผลประโยชน์จากชาวนาเขามีอำนาจเยอะ เขาจะยอมปล่อยไหม 

 

เพิ่งมีข่าวว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวเพราะว่าข้าวไทยแพง เป็นไปได้ว่าอาจจะโดนกดราคาลงอีก 

มีการพูดกันว่าเสียแชมป์ แล้วคุณจะเอาไปทำไมแชมป์ อยากเป็นแชมป์ส่งออก แต่คนที่ปลูกข้าวให้คุณไปขายอยู่กันสภาพแบบนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เสียแชมป์เพราะว่าคุณภาพข้าวเราสู้คนอื่นไม่ได้ มันจะไปสู้ได้ยังไงในเมื่อคนไม่มีกำลังใจจะผลิต เขาหมดกำลังใจนะ ผลิตไปวันๆ เพื่อใช้หนี้ สมมติว่าชาวนาเขาคิดว่าปีนี้หยุดก่อนเถอะ หยุดมาคิดวางแผนก่อนว่าเราจะผลิตข้าวให้ดีได้ยังไง เขาก็หยุดไม่ได้ เพราะว่าหนี้ไล่หลังมาแล้ว จะหยุดได้ยังไง คุณจะเอาแชมป์ไปทำไม ในเมื่อคนปลูกข้าวอยู่ในสภาพแบบนี้ ถามว่าแชมป์นี่ใครได้ประโยชน์ ก็ผู้ส่งออก 

 

ถ้าจะทำเกษตรครบวงจรเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเริ่มอะไรใหม่บ้าง ต้องรื้ออะไรบ้าง

รัฐต้องสนับสนุนในแง่โอกาส สิ่งสำคัญเลยคือโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร ส่วนเรื่องเงินผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง เพราะว่าการรวบรวมผลผลิตไม่ต้องซื้อ อย่างโรงสีเขาต้องซื้อข้าวจากชาวนา แต่ชาวนารวมกลุ่มกันเองไม่ต้องใช้เงินไปซื้อข้าว แต่ภาครัฐต้องให้โอกาส เช่น โอกาสทางการตลาดต้องเปิด ทรัพยากรที่ไปตั้งโรงสีก็ต้องให้ หรือไม่ต้องถึงขั้นสร้างโรงสีเองหรอก เพราะมีโรงสีที่รับจ้างสีอยู่จำนวนมาก 

 

 

หลักๆ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องช่วยส่งเสริมก็คือ เรื่องตลาด การขาย?

ใช่ ตลาดไม่ใช่หน้าตลาดกระทรวงการคลังในวันศุกร์ ตลาดหน้ากระทรวงเกษตรฯ วันพุธ ไม่ใช่แบบนั้น ต้องเป็นตลาดการขายทั่วไป หรือสนับสนุนการส่งออกไปเลย และเรายังมีภูมิปัญญาการผลิตข้าวของชาวบ้านที่ส่งเสริมได้อีกเยอะ ยังมีข้าวอีกหลายพันธุ์ที่คนไม่รู้จัก ไม่ว่าจะขายในวอลุ่มเล็กหรือวอลุ่มใหญ่ ก็ทำได้หมด ถ้าขายวอลุ่มใหญ่ก็ข้าวหอมมะลิ ถ้าวอลุ่มเล็กก็เช่น พันธุ์ชมพูนครชัยศรี พันธุ์หอมมะลิแดงบุรีรัมย์ อันนี้คือข้าวพิเศษวอลุ่มเล็กๆ สามารถส่งเสริมตลาดภายในประเทศได้ มีอีกเยอะแยะที่จะทำได้  

 

ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ ของเราตั้งธงไปทางไหน เมื่อหลายปีก่อนเห็นพูดเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแปลงใหญ่ ไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว 

ถ้าผมพูดแบบหยาบๆ นะ แนวคิดกระทรวงเกษตรเป็น ‘เกษตรโรแมนติก’ ฝันไปเรื่อย ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริงเลย ถามว่าที่เขาไปให้มาตรฐานสินค้า GAP (Good Agriculture Practices - การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ถามว่าใครได้ ก็มีแต่กลุ่มทุนทั้งนั้น ชาวนาได้ที่ไหนจะได้ พ่อค้าคนกลางทั้งนั้นแหละที่ไปแสตมป์ตรา GAP ซึ่งพ่อค้านี่เป็นตัวกดราคาสินค้าเกษตร 

เราต้องมาเริ่มต้นคุยกันใหม่ ผมสรุปใหญ่ๆ ก็คือว่าปัญหาของเกษตรกรไทยมันเกิดมาจากปัญหาโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างทางนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก ผลิตมาก เพื่อการส่งออก แต่คุณไม่เคยดูแล ไม่เคยคุ้มครองเขาเลย 

 

รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด 

ปัญหาโครงสร้างภาคการผลิตก็คือ รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด สมัยที่ข้าวราคาตันละ 15,000 บาท ปุ๋ยยูเรียกระสอบขนาด 150 กิโลกรัม ราคา 1,200 บาท พอประยุทธ์มา ราคาข้าวเหลือ 6,000 ปุ๋ยก็ลดลงมา 600 บาท วันที่เขาขึ้นราคา เขาบอกว่าต้นทุนสูง แล้ววันนี้ต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่งหรืออย่างไร ถึงลดราคาลงเหลือ 600 บาท สารเคมี-ยาฆ่าแมลงก็เหมือนกัน นั่นแปลว่าต้นทุนเขาไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ตอนที่ผลผลิตราคาสูง เขาเพิ่มราคาเพราะเขารู้ว่าถึงแม้ขายแพง เกษตรกรก็มีกำลังซื้อ เพราะผลผลิตมีราคาดี 
 

 

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไม่เคยดูแล ไม่เคยควบคุม ปุ๋ย สารเคมีทุกชนิด รวมถึงเครื่องจักรเครื่องกลการเกษตร มีมูลค่าการขายปีละประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ใครผูกขาดตรงนี้ได้คุณคิดดูสิว่าเขาได้กำไรเท่าไร อย่างน้อยก็กำไร 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เขาถึงรวยเอารวยเอา 

เกษตรกรคือลูกที่แสนดีของรัฐบาลมานานมาก ไม่เคยมีปากมีเสียง อย่างถามว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของอาชีพประมง กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเกษตรกรบนบก ใครใช้มากกว่ากัน แล้วเกษตรกรบนบกเคยได้สิทธิพิเศษเรื่องนี้ไหม ขณะที่ประมงมี ‘น้ำมันเขียว’ (น้ำมันที่ได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีและไม่ต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน) 

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือเขารวมตัวกันไม่ได้ รัฐบาลก็บอกให้รอเดี๋ยวจะแก้ให้ รัฐบาลไหนมาก็มีนโยบายด้านการเกษตรสวยหรูมาให้ชาวบ้านรอ เรื่องมันไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก แต่มันยากและแย่มาก เพราะทรรศนะของทุกรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกรนั้นแย่ ทรรศนะของฝ่ายการเมืองมองเกษตรกรเป็นตัวปัญหา มองว่าเกษตรกรไม่ช่วยตัวเอง เป็นหนี้เพราะสร้างหนี้กันเอง ทำไมต้องให้รัฐบาลมารับผิดชอบ ถ้ามองแบบนี้มันไม่จบ แก้ปัญหาไม่ได้ 

 

รัฐบาลไม่ได้มองว่า รัฐเองไม่ได้สร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อคนทุกคน?

ใช่ สมัยทักษิณสร้างเครื่องมืออันหนึ่งไว้ดีมาก ก็คือ กฎกระทรวงการคลังที่ให้อำนาจส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจำหน่ายหนี้สูญให้เกษตรกรได้ แต่ไม่มีใครเอามาใช้ นอกจากไม่ใช้แล้วยังทำลืมด้วย 

ทุกวันนี้ผมกล้าท้าเลยว่า ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน ต่อให้คุณปลดหนี้ให้เกษตรกรหมดเลย ยกหนี้ให้เกษตรกรเลยวันนี้ แล้วให้ไปทำนาทำไร่เหมือนเดิม ไม่เกินสามปีหนี้ก็กลับมาเหมือนเดิม เราต้องนับหนึ่งใหม่ วันนี้แก้ทีละปัญหา-ทีละประเด็นไม่ได้ เรื่องมันใหญ่เกินกว่านั้น ปัญหามันเกิดจากปัญหาโครงสร้าง ตั้งแต่โครงสร้างทางนโยบาย โครงสร้างการผลิต ทั้งนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก-เลี้ยงมาก เพื่อจะส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ โดยที่รัฐไม่รับผิดชอบอะไรเลย

 

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.พ. 2565
เรื่อง : รุ่งนภา พิมมะศรี
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย, รุ่งนภา พิมมะศรี 

เพราะเธอ...คือชาวนา

YouareFarmer

    เพราะเธอ...คือชาวนา

    โอกาสและความหวังการหลุดพ้นกับดักหนี้ของชาวนา


     พิมพ์ครั้งแรก : เมษายน 2562


    บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์


    กองบรรณาธิการ:

    ชญานี ชวะโนทย์ สฤณี อาชวานันทกุล

    เดชรัต สุขกำเนิด วริษา สุขกำเนิด

    ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์  นันทา กันตรี

    ดวงมณี เลาวกุล ณัฎฐวี สายสวัสดิ์

    อาภา หวังเกียรติ สมภพ ดอนดี

 

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท 


สนับสนุนการจัดพิมพ์ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

download

 

"เกษตรกรทุกรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนไม่เคยได้รับสำเนาสัญญาเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ได้รับเพียงสมุดคู่บัญชีเงินกู้ ซึ่งระบุเพียงตัวเลขเงินต้นและดอกเบี้ยค้างเท่านั้น การไม่ได้รับสำเนาสัญญาทำให้เกษตรกรในฐานะลูกหนี้ไม่สามารถรับรู้เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาเงินกู้ ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม งวดการผ่อนหลักประกัน..." บางส่วนบางตอนจากหนังสือโดยสฤณี อาชวานันทกุล

 

สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : https://www.facebook.com/LocalAct/

 

แก้หนี้ แก้จน ต้องเริ่มที่ปรับ 'Mindset' เชิงนโยบาย

KrunRiceFarmBangkud 

"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล  การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้  การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น  เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

แผ่นพับ "แก้หนี้ชาวนา รักษาที่ดินผืนสุดท้าย"

FarmerDebtSolution

ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
กี่ยุคสมัยผ่านไป ปัญหาหนี้สินชาวนา ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังคู่กับสังคมไทย ชาวนาที่ประสบปัญหาหนี้มักมีสภาพจิตใจที่ถูกกดดันหลายด้าน ดังนั้น ความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์
คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชาวนากลับตัวออกจากวงจรหนี้สิน ทำการผลิตอินทรีย์และรักษาที่ดินผืนสุดท้าย เพื่อการผลิตอาหารเลี้ยงปากท้อง และส่งต่อสิ่งดีดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค

RRAFA Brochures 1

RRAFA Brochures 2

แผนเกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ความหวังพลิกฟื้นวิกฤต

OrganicFarmerKanchanaburi

ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรฯ ดันไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์อาเซียน ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 1.34 ของพื้นที่ทางการเกษตรประเทศ 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนราย และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี  โดยได้นำเสนอผลสำเร็จการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,515,132 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.3 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 95,752 ราย (พื้นที่เฉลี่ย 15.82 ไร่ต่อราย) สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,069 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค  ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปีฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล

แนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามร่างแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ 1) ด้านส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 2) ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

3) ด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570  จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ในปี 2570 และ จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง 4) ด้านการพัฒนาการตลาดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญประกอบด้วย 1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรเน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม และควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้  2) ด้านการผลิตควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านระบบออนไลน์ และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ 4) ด้านตลาด ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาดออนไลน์ เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้น การผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเป็นทางเลือกและความหวังหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คือ การสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่เอื้อเชิงนโยบายให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหนี้สิน จึงควรมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์มากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6769095
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2375
5699
14850
160621
6769095

Your IP: 13.58.82.79
2024-04-30 12:30