• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - กระบวนการยุติธรรม

การบังคับคดี กระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูก

FarmersExcution

เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ที่กลุ่มชาวนาและเกษตรกรปักหลักชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอยู่ริมถนนในกรุงเทพฯ ข้อเรียกร้องประการแรกของกลุ่มชาวนาคือขอให้มีการชะลอการบังคับคดีและยึดทรัพย์ขายทอดตลาด สะท้อนให้เห็นว่าการถูกบังคับคดีและการขายทอดตลาดกำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกรไทย

ตัวเลขจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ระบุว่ากลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่กองทุนฯ ตั้งเป้าว่าจะให้การช่วยเหลือในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,425 รายนั้น เป็นเกษตรกรที่กำลังถูกบังคับคดีถึง 1,966 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 715 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 57.40 ของมูลหนี้ทั้งหมดที่กองทุนฯ ตั้งเป้าซื้อในปีงบประมาณนี้ นี่เป็นเพียงตัวเลขของเกษตรกรที่อยู่ในสารบบที่จะได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ มีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกบังคับคดี แต่ยังไม่ได้อยู่ในโควตาการได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ หรือแย่กว่านั้นคือไม่ได้อยู่ในสารบบของกองทุนฯ เลย

นอกจากกลุ่มเกษตรกรที่ถูกฟ้องบังคับคดีแล้ว ยังมีเกษตรกรลูกหนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว และอยู่ในข่ายที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ซึ่งอีกไม่นานก็จะถูกเจ้าหนี้ร้องต่อศาลขอให้มีการบังคับคดี โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีมานี้ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวนเกษตรกรที่หนี้อยู่ในสถานะของการถูกบังคับคดีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสารบบของกองทุนฟื้นฟูฯ นี่คือเหตุผลว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูฯ 2 พันล้านบาทแล้ว เกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่กลับบ้าน  เพราะข้อเรียกร้องพวกเขาคือการขอให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อนยังไม่ได้รับการตอบสนอง

การบังคับคดีเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ที่มุ่งให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ ที่ไม่ได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในขณะที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้เจ้าหนี้กลับกลายเป็นการบีบบังคับให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูก เนื่องจากในการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นรูปแบบการขายทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี โดยทั่วไปราคาขายจะต่ำกว่าราคาท้องตลาด โดยเฉพาะการขายทรัพย์ในครั้งหลังราคาจะต่ำมาก 

ทั้งนี้การขายทอดตลาดในกระบวนการบังคับคดีส่วนใหญ่กำหนดการขายที่ 6 ครั้ง ราคาเริ่มต้นของการขายครั้งแรกกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาของกรมบังคับคดีเอง ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาท้องตลาด   หากครั้งแรกขายไม่ได้  การขายทอดตลาดในครั้งที่ 2 ราคาเริ่มต้นจะลดลงไปอีก 10%  หากมีการขายครั้งที่ 3 และ 4 ราคาก็จะลดลงจากราคาเริ่มต้นครั้งแรกครั้งละ  10%  ราคาที่ดินที่ถูกบังคับคดีจึงต่ำกว่าราคาที่ควรขายได้จริงอย่างมาก หลายครั้งที่พบว่าผู้ที่เข้าร่วมเสนอราคามีเพียงเจ้าหนี้ หรือนักลงทุนที่เข้าใจกระบวนการขายทอดตลาด ที่มักรอซื้อในการขายทอดตลาดครั้งหลังๆ เพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด หากราคาขายไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้เจ้าหนี้สามารถร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์อื่นของเกษตรกรลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดอีกจนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ตามที่ศาลสั่ง

การถูกบังคับคดีไม่เพียงเป็นการบีบให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูกที่เป็นปัญหาเชิงปัจเจก  การบังคับคดีหนี้เกษตรกรยังส่งผลต่อภาพการเกษตรของประเทศในภาพรวม เพราะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตรในปี 2562 ว่ามีที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศรวม 149,252,451 ไร่ เป็นที่ดินของตนเอง 41,713,855 ไร่  (ลดลงจากปี 2556  ที่มีอยู่ 71.64 ล้านไร่) เป็นที่ดินเช่าผู้อื่น 29,226,840 ไร่ และทำฟรีโดยไม่เสียค่าเช่า (บนที่ดินของผู้อื่นรวมทั้งที่ดินของรัฐ) 47,618,619 ไร่ ในขณะที่มีที่ดินเพื่อการเกษตรอยู่ระหว่างจำนอง/ขายฝาก  30,630,138 ไร่ ขณะเดียวกันข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่าจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดของกองทุนฯ ประมาณ 5.67 ล้านคน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ 5.16 แสนคน คิดเป็น  7.76% เป็นหนี้เร่งด่วน (NPL ขึ้นไป) 1.8 แสนคน  

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการบังคับคดีกลายเป็นกระบวนการเร่งให้ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตและต้นทุนที่สำคัญในชีวิต และระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของสังคมด้วย ดังนั้นการตอบรับข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวนาและเกษตรกรเรื่องการชะลอการบังคับคดีจึงไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกร หากยังช่วยรักษาที่ดินภาคเกษตรไว้ในมือเกษตรกรรายย่อย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร จากปัญหาการจำนองและขายฝาก

RicefieldBangkud

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤติต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรและความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาวิกฤติรายได้และความสามารถชำระหนี้ลดลง ทั้งรายได้เงินโอนจากลูกหลานส่งมาให้ลดลง รายได้จากภาคเกษตรลดลง จากปัญหาตลาดถูกปิด สินค้าการเกษตรราคาตกต่ำ เมื่อเกิดวิกฤติด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เกษตรกรจะเดินเข้าสู่การฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี และถูกยึดที่ดินทำกินขายทอดตลาดในที่สุด

          จากการสำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 พบว่า จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้นกว่า 149.24 ล้านไร่ มีจำนวน 77.60 ล้านไร่ หรือร้อยละ 52 เป็นพื้นที่เช่า และจำนวน 71.64 ล้านไร่ หรือร้อยละ 48 เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง แต่ในจำนวนนี้มี 29.73 ล้านไร่ติดภาระจำนอง และ 1.15 แสนไร่ อยู่ในกระบวนการขายฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ที่ดินจะหลุดมือจากเกษตรกรไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบหรือสถาบันการเงิน หากเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

          ข้อมูลจากกรมบังคับ พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 -ก.ย 2563) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 226,862 คดี (ทุนทรัพย์ 372,366.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 222,657 คดี (ทุนทรัพย์ 491,050 ล้านบาท) โดยที่ผ่านมากรมบังคดีได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาและอยู่ระหว่างการบังคับคดีในโครงการ  “บังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือเกษตรกรถูกยึดทรัพย์จำนอง” ผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ ทั้งสิ้น 49 เรื่อง จำนวนเงิน 12 ล้านบาท ทำให้มีการชะลอ งดการบังคับคดีกับที่ดิน และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเป็นที่ดิน จำนวน 222 ไร่ และบ้านอยู่อาศัย จำนวน 7 หลัง

          นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าภายใต้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายทอดตลาดฉบับใหม่ ปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาการขายทอดตลาดที่ล่าช้า  อาจเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานที่มีภาระกิจช่วยเหลือเกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ทันท่วงที หรือทำให้เกษตรกรมีโอกาสสูญเสียที่ดินง่ายขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการขายทอดตลาดที่แทบจะปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมา เนื่องจากระยะเวลาซื้อทรัพย์คืนมีจำกัด ลูกหนี้ไม่มีเวลาคัดค้านการขายทอดตลาด หรือเจรจาเพื่อซื้อทรัพย์สินคืนได้

          ในส่วนของกลไกหน่วยงานปกติที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร ข้อมูลจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) มีเกษตรกรที่ยื่นขอความช่วยเหลือภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งมีปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินจากการจำนองและขายฝาก จำนวน 900 ราย เข้าหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือ 630 ราย ระหว่างปี 2559-2562 บจธ. ได้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนไปแล้ว 334 ราย รวมเนื้อที่ 2,319 ไร่เศษ และในปีงบประมาณ 2565 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้รับการพิจารณางบประมาณแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เพียง 25 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 25 ราย

          ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากผลกระทบโควิด-19 เช่น ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ตอนนี้มีคดีหนี้โดยรวมในแต่ละปีประมาณ 8 แสนคดี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยได้ประมาณ 1 แสนคดี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3 ล้านราย มี 8 แสนรายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธ.ก.ส. ช่วยได้เพียง 4 หมื่นราย ในส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประมาณ  5 แสนราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้เพียง 3 หมื่นราย (ที่มา: ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”)

          จะเห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น  แม้ภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ขีดความสามารถที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ภายใต้กลไกปกติของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาหนี้สิน จากการถูกยึดที่ดินและขายทอดตลาดที่ดิน ทั้งก่อนและหลังโควิด-19 ความช่วยเหลือยังอยู่ในวงจำกัดและไม่เพียงพอกับขนาดปัญหาขนาดใหญ่ที่สะสมมานาน จึงมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มเติมทั้งทรัพยากร งบประมาณและกลไกความช่วยเหลือพิเศษทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้น  

         สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรภายใต้วิกฤติโควิด คือ ขอให้กรมบังคับคดีชะลอการบังคับคดีเกษตรกรไว้ก่อน และคดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน ทั้งนี้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย นอกจากนี้ในระยะต่อไปขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ส.ค. 2564

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ครม. อนุมัติ 2,000 ล้าน ให้กฟก. ซื้อหนี้เกษตรกรจากแบงก์ สกัดที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้

ThaiBahtFarmDebt

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อรับซื้อหนี้สินเกษตรกร เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 3,425 ราย จากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน เข้ามาไว้ที่ กฟก. ไม่ให้ที่ดินที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันตกเป็นของเจ้าหนี้ ตามนโยบายและข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในปี 2563-65 กฟก. ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จึงทำให้ในปี 2565 นี้ กองทุนฯ มีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการ โดยวงเงินที่ ครม. อนุมัติ จะใช้ดำเนินการในเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานฯ ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) วงเงิน 230.38 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,425 ราย วงเงิน 1,500 ล้านบาทและ การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 42,034 ราย 776 องค์กร วงเงิน 267.62 ล้านบาท

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร, ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม, พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม และ พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ที่มา : ข่าวสด วันที่ 1 มี.ค. 2565

  

ถอดรหัสคดีหนี้ชาวนา

BookCoverFarmerCases

   ถอดรหัสคดีหนี้ชาวนา

     เมื่อชาวนาต้องเผชิญกับคดีหนี้สิน พวกเขารับมืออย่างไร

     พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2564

     บรรณาธิการ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

     กองบรรณาธิการ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์

     เพ็ญนภา หงษ์ทอง ดร.ปิยาพร อรุณพงษ์ เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน

     จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร ปกรณ์สิทธิ ฐานา นิชาภัทร ไม้งาม

     จัดพิมพ์โดย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

     สนับสนุนการจัดพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

       download

 

 

"หลายครั้งพบว่า เกษตรกรเริ่มต้นกู้จำนองด้วยยอดเงินที่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ภายหลังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะเสนอให้กู้เงินเพิ่มนำเงินกู้ยอดใหม่มาชำระหนี้ยอดเก่าที่มีดอกเบี้ยและเงินค่าปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเข้าไปด้วย การเพิ่มวงเงินกู้นี้อาจเกิดขึ้นหลายครั้งจนสุดท้ายยอดเงินกู้เท่ากับราคาประเมินของที่ดินหรือบางรายพบว่าสูงกว่าราคาประเมินที่ดินด้วย จนเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้และไม่สามารถเพิ่มวงเงินกู้ด้วยหลักทรัพย์ที่ดินแปลงเดิมอีก สุดท้ายจึงถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางศาล ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียที่ดินสูงมาก เพราะลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และต้องถูกบังคับคดียึดที่ดิน" 

-เพ็ญนภา หงษ์ทอง-

"หากกฎกติกาในการกู้ยืมเงินของเกษตรกรมีความเป็นธรรมมากขึ้น การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้มีแรงจูงใจและมีทรัพยากรที่เพียงพอ เกษตรกรมีทางเลือกและมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีสถาบันที่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่มากขึ้น สังคมไทยก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่เริ่มตั้งเป้าหมายในการลดหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 12 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2575)”

-ดร.เดชรัต สุขกำเนิด-

"หากเกษตรกรเดินทางมาถึงขั้นที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้ถือเป็นความจำเป็นที่เกษตรกรต้องเจรจากับสถาบันแหล่งเงินกู้ โดยรูปแบบของการเจรจามีได้หลายรูปแบบ เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวด ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัดชำระ ขอหยุดดอกเบี้ย ขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับ ขอโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งการขอลดยอดหนี้ลงบางส่วนเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนได้"

-ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์-

"ในภาพรวม ชาวนาและเกษตรกรที่มีหนี้สินต้องจัดปรับกระบวนทัศน์และวิถีการผลิตใหม่หลายประการ โดยต้องทำกิจกรรมการผลิตในหลายด้าน หรือสร้างเศรษฐกิจหลายขาเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น งานศึกษาหลายชิ้นพบตรงกันว่า การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ดี และลดผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้"

-ดร.ปิยาพร อรุณพงษ์-

 

ราคาเล่มละ 160 บาท (รายได้สมทบเข้ากองทุนสนับสนุนการแก้หนี้และปรับตัวของชาวนา)

สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : www.facebook.com/LocalAct 

 

 

 

ทวี สอดส่อง ชี้ ต้องมีมาตรการคุ้มครองสมบัติชิ้นสุดท้าย ป้องไร้ที่ทำกิน

ThanveeSodsong

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยถึงประเด็น “บ้านและที่ดินทรัพย์สินสุดท้าย” ต้องมีมาตรการรักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติกาล โดยมีมูลค่ามากกว่า 14.128 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.6 ของ GDP (ข้อมูล ธปท.30 มิถุนายน 2564 ) ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีอีกเป็นจำนวนมาก

ในการกู้เงินส่วนใหญ่ลูกหนี้ต้องใช้เอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ “จำนอง และขายฝาก” เพื่อประกันการในการกู้เงินและมักเป็นที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง(บ้านที่อยู่อาศัย)ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้ายเพื่อดำรงชีวิต เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในกรณีที่ดินจำนองเจ้าหนี้จะฟ้องคดีต่อศาลเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะส่งคำพิพากษาไปยังกรมบังคับคดีจะมีการยึดทรัพย์และขายทอดตลาด

ถ้าขายแล้วยังไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถสืบทรัพย์อื่นและยึดทรัพย์อื่นขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้ได้ครบทั้งหมด ส่วนกรณีที่ดินขายฝากหากลูกหนี้ไม่ชำระเงินไถ่ถอนภายในกำหนดก็หมดสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ ผู้รับซื้อฝากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องบังคับคดี ทำให้ลูกหนี้จะเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและไร้ที่ทำมาหากิน

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายให้การคุ้มครองทรัพย์สินบ้านและที่ดินที่เป็นสินทรัพย์สุดท้ายไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จะมีกำหนดไว้เพียงทรัพย์ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องนุ่งห่มหลับนอน ราคาไม่เกิน 20,000 บาท ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเท่านั้น (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ มาตรา 301) ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้าย “จำนอง-ขายฝาก และถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด” ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเกิดความยากไร้และมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

การจำนองและขายฝากที่ดินกฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับพนักงานที่ดินซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พบว่าในปีพ.ศ. 2557-2564(8 เดือน) มีที่ดินหรือหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียน คือ “จำนอง” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 1,161,297 แปลง, ปี 2558 จำนวน 1,268,848 แปลง, ปี 2559 จำนวน 1,312,197 แปลง, ปี 2560 จำนวน 1,171,166 แปลง,ปี 2561 จำนวน 1,265,769 แปลง ,ปี 2562 จำนวน 1,242,133 แปลง และ ปี 2563( 8 เดือน) จำนวน 750,158 แปลง

“ขายฝาก” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 84,333 แปลง,ปี 2558 จำนวน 91,516,ปี 2559 จำนวน 85,835,ปี 2560 จำนวน 77,498 แปลง,ปี 2561 จำนวน 69,363 แปลง,ปี 2562 จำนวน 46,011 แปลง และในปี 2563 (8 เดือน) จำนวน 25,723 แปลง

ในกรณีการ “ยึดทรัพย์ และขายทอดตลาด” ข้อมูลจากกรมบังคับคดี ปี พ.ศ.2557-2563(6เดือน) คือ ปี 2557 จำนวน 14,452 คดี ที่ดิน 34,070 แปลง ราคาประเมินรวม 23,859,953,708 ล้านบาทเศษ,ปี 2558 จำนวน 13,996 คดี ที่ดิน 35,136 แปลง ราคาประเมินรวม 25,974,921,611 ล้านบาทเศษ,ปี 2559 จำนวน 1583 คดี ที่ดิน 4,057 แปลง ราคาประเมินรวม 5,217,198,799 ล้านบาทเศษ,ปี 2560 จำนวน 2,447 ที่ดิน 6,563 แปลง ราคาประเมินรวม 6,850,321,170 ล้านบาทเศษ,ปี 2561 จำนวน 3770 คดี จำนวนที่ดิน 9,501 แปลง ราคาประเมินรวม 7,925,553,481 ล้านบาทเศษ ปี 2562 จำนวน 5,357 คดี ที่ดินท14,572 แปลง ราคาประเมินรวม 11,718,737,638 ล้านบาทเศษ และในปี 2563( ช่วง 6 เดือน ถึง 9 กรกฎาคม 2563) จำนวน 2,187 คดี ที่ดิน 5,608 แปลง 5,276,680,849 ล้านบาทเศษ

ประเทศไทยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ถือที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่ ที่ดินจึงเป็นสินค้าที่กักตุนไว้เก็งกำไรอย่างไม่จำกัดเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งของฐานะ ส่วนประชาชนที่เป็นเกษตรกรและผู้ยากไร้ถือว่าที่ดิน “เป็นแหล่งผลิตหรือเครื่องมือในการผลิต” ต้องทำงานกับที่ดินมีการใช้แรงงานหรือขยันทำงานจึงจะมีเงินรายได้เกิดขึ้น

ส่วนตัวมีข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงวิกฤติโควิด -19 รัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่รัฐบาลจัดงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 เพียง 31 ล้านบาทเศษเท่านั้น ควรเพิ่มภารกิจ หน้าที่และอำนาจเป็น “กองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของคนไทย” อีกภารกิจหนึ่ง เป็นโครงการในระยะ 10 ปีโดยรัฐสนับสนุนงบประมาณผูกพันประมาณ 2 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) เพื่อซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเป็นที่ดิน สิ่งก่อสร้างบนที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ลูกหนี้ได้นำไปจำนอง ขายฝากไว้กับเจ้าหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ และจากกรมบังคับคดี ซึ่งที่ดินดังกล่าวมักเป็นหลักทรัพย์ชิ้นสุดท้ายของประชาชนพักอาศัยและเป็นที่ทำกิน ที่รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ลูกหนี้ซื้อคืนกลับ

โดยการพักชำระหนี้ประมาณ 10 ปี และไม่มีดอกเบี้ย หรือให้เช่า หากมีดอกเบี้ยก็ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากกองทุนซื้อหนี้แล้วจัดให้มีมาตรการติดตาม นำมาตรการฟื้นฟูต่างๆที่รัฐดำเนินการอยู่แล้วเป็นกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือเพื่อ”รักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย”ให้มีรายได้เพียงพอมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชำระชำระหนี้ได้ โดยทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน “ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้อง ไม่สูญเสียบ้านและที่ดินทำกิน และจะได้ทรัพย์คืน เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ และรัฐบาลจะไม่สูญเสียบุคลากร (ทรัพยากรมนุษย์) และเสียหาย” การช่วยเหลือขายคืนให้ลูกหนี้ในราคาเท่าทุน แต่กองทุนสามารถบริหารที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ซื้อมาเพื่อให้ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐอีกตามหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาลโปร่งใส

การแก้ปัญหาระยะยาวควรยกเลิกกฏหมายขายฝากเพราะที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ กับแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ให้การคุ้มครองลูกหนี้ กรณีบ้านและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อการยังชีพได้ ช่วยเหลือความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้มาตรการรัฐ หลายโครงการจะมุ่งช่วยเหลือคนรวยหรือภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้ในอดีตช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้น กับ ธปท. ได้เคยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นคนรวยมาแล้ว

โดยให้ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” รับโอนหนี้สินของเอกชนที่อยู่ใน 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ คือโอนหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว และ ปรส. ได้ขายสินทรัพย์เสร็จสิ้นได้เพียงประมาณร้อยละ 20 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 23 ปีแล้ว หนี้ ปรส. ยังเหลืออยู่เกือบ 8 แสนล้านบาท แต่การช่วยเหลือประชาชนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายของคนไทยทั้งประเทศยังไม่ปรากฏ ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องคุ้มครองให้ประชาชนอยู่รอดและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยังยืนได้

ที่มา : ข่าวสด วันที่ 10 ก.ค. 2564

บทเรียนการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาที่ดินเกษตรกร

FarmerLegalThaipost

เกษตรกรผู้ผลิตอาหารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคชนบทที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหารายได้ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น หลายครัวเรือนต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไทได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในปัญหาหนี้สินด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมาย  จากผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการกู้ยืมของเกษตรกรกับแหล่งเงินกู้มี 2 รูปแบบที่มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องและสูญเสียที่ดิน

การกู้แบบใช้บุคคลค้ำประกัน พบกับแหล่งเงินกู้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีแนวคิดช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกขึ้น โดยกำหนดให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกจับกลุ่มกันกู้และค้ำประกันกันเอง เกษตรกรเรียกการกู้ในลักษณะนี้ว่า “กู้ 3 คนค้ำ” หรือ “กู้ 4 คนค้ำ” ซึ่งพบว่าการกู้รูปแบบนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องมากขึ้น แม้ว่าเกษตรกรจะรับผิดชอบต่อหนี้สินของตนเอง แต่ไม่สามารถควบคุมการชำระหนี้ของเพื่อนเกษตรกรร่วมกู้คนอื่นได้ เพราะเพียงกลุ่มมีคนไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทุกคนก็สามารถตกเป็นจำเลยได้ทันที  นอกจากนี้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลบังคับคดีหรือยึดทรัพย์จากจำเลยคนอื่นมาขายทอดตลาดและชำระหนี้ ส่งผลให้เกษตรกรบางรายที่ดินหลุดมือเพราะตนเองเป็นผู้เซ็นค้ำประกัน

การกู้จำนอง เป็นการกู้โดยมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ มีการทำสัญญาเงินกู้และจดจำนองที่ดินไว้กับเจ้าหนี้ โดยไปทำเรื่องที่สำนักงานที่ดิน ทั้งนี้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของลูกหนี้ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเงินกู้ เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้มีสิทธิฟ้องร้องเพื่อให้ศาลสั่งบังคับให้นำที่ดินแปลงที่จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เกษตรกรที่ตกเป็นจำเลยมีทั้งโจทก์เป็นเจ้าหนี้นอกระบบและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน  พบว่าหลายครั้งเกษตรกรเริ่มต้นกู้จำนองด้วยยอดเงินที่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ภายหลังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะเสนอให้กู้เพิ่ม โดยนำเงินกู้ยอดใหม่มาจ่ายหนี้ยอดเก่าที่มีดอกเบี้ยและเงินค่าปรับ จนยอดเงินกู้สูงเท่ากับราคาประเมินหลักทรัพย์หรือบางรายสูงกว่าราคาประเมินจนเกษตรกรไม่สามารถชำหนี้ได้ สุดท้ายถูกเจ้าหนี้ฟ้อง  ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนทางศาลทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียที่ดินสูงมากเพราะลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้และถูกบังคับคดี

การกู้จำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่าการกู้ครั้งแรกเกษตรกรนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ถือไว้ การกู้ในช่วงนี้เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยและเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้จะให้ทำสัญญาจำนอง ทำให้ยอดเงินกู้ในสัญญาจำนองอาจสูงกว่ายอดหนี้เดิม ทั้งที่เกษตรกรมีการผ่อนชำระให้เจ้าหนี้มาบ้างแล้ว  อีกแบบหนึ่งเป็นการจำนองลับหลังลูกหนี้โดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง เพราะในการกู้ครั้งแรกเกษตรกรจะนำโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ แต่เจ้าหนี้จะให้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ด้วย โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ามอบอำนาจให้ใคร เรื่องอะไร และเมื่อเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็จะนำหนังสือมอบอำนาจนี้ไปจดจำนองเองโดยไม่แจ้งเกษตรกร มารู้ตัวเมื่อถูกหมายเรียกจากศาลในคดีผิดสัญญากู้ยืมจำนอง

บทเรียนการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร

1) เมื่อได้รับหมายศาล หน้าที่สำคัญของเกษตรกร คือ อ่านสำนวนคำฟ้องให้ละเอียด ซึ่งจะระบุสัญญาการกู้ยืม ยอดเงินต้น อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการชำระเงิน รายละเอียดการชำระเงินที่ผ่านมาของลูกหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับกรณีผิดชำระหนี้  เกษตรกรต้องเทียบรายละเอียดในสาระคำฟ้องกับสำเนาสัญญาเงินกู้ว่าตรงกันหรือไม่ หากรายละเอียดไม่ตรงกัน แปลว่าคำฟ้องนั้นไม่ชอบและเกษตรกรสามารถหยิบมาเป็นประเด็นต่อสู้ในชั้นศาลได้ รวมทั้งต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม เช่น เอกสารสัญญาเงินกู้ สัญญากู้จำนอง หลักฐานการชำระเงิน หลักฐานเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแนวทางการต่อสู้คดี

2) ประเด็นการต่อสู้คดีทางกฎหมาย เช่น จำเลยไม่มีเจตนาจำนอง การจำนองทำโดยจำเลยไม่รู้ไม่เห็น สัญญาเงินกู้ปลอม เพราะขณะกู้ไม่มีการทำสัญญาและตัวเลขที่ระบุในคำฟ้องไม่ใช่ตัวเลขของยอดเงินกู้จริง จำเลยไม่ผิดสัญญาเงินกู้ เพราะในสัญญาจำนองระบุเพียงจะมีการชำระดอกเบี้ยทุกเดือนไม่ได้ระบุถึงการชำระเงินต้น และการคำนวณดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้จุดมุ่งหมายจากผลการต่อสู้คดีด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากจำเลย(เกษตรกร)เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ “เป็นหนี้ ต้องใช้หนี้”แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกรมากขึ้น โดยปกติเกษตรกรลูกหนี้ไม่ค่อยเลือกการสู้คดี และมักยอมตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ซึ่งมักอยู่บนฐานของความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าทนายความมาศาล ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจหากสู้คดีแล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การมีกลุ่มองค์กรและทนายความสนับสนุนเกษตรกร ช่วยเหลือด้านคดีความหนี้สินจึงมีส่วนสำคัญให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 เมษายน 2564

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

พันธนาการ “หนี้” และทางออกของชาวนายุคโควิด-19

BungOrnSupanburi

สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและเปราะบางสูงอยู่แล้ว ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินและปัญหาทางการเงินหนักมากขึ้น โดย 76% ของครัวเรือนเกษตรกรพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง และเงินโอนจากลูกหลาน ในขณะที่รายได้ในภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตตกต่ำ

โดยครัวเรือนเกษตรกร 90% มีปัญหาหนี้สิน 72% เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 430,000 บาท 25% เป็นหนี้สินเชื่อลิสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ และ 54% ของครัวเรือนอยู่ในโครงการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ มีหนี้หลายก้อนจากหลายแหล่ง จึงมีสถานะหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้วิธีการหมุนหนี้ คือ เป็นหนี้ก้อนใหม่เพื่อจ่ายคืนหนี้เก่า ในขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลทำให้เกิดวงจรสะสมหนี้ เป็นภาระหนี้ไม่จบไม่สิ้น (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค 10 ก.ย. 2564)


เมื่อมองลึกลงไปในระดับพื้นที่ยิ่งเห็นรูปธรรมปัญหาชัดขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลหนี้สินและผลกระทบการแพร่บาดโควิด-19 ของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 9 แห่ง ใน 5 จังหวัด ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก โดย มูลนิธิชีวิตไท เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า เกษตรกรเป้าหมาย 150 ครัวเรือน มีหนี้สิน 126 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84 หนี้สินเฉลี่ย 499,038 บาทต่อครัวเรือน

นด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ นโยบายการช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะลำบาก ด้วยผลผลิตเสียหาย ขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตกต่ำ ตลาดในท้องถิ่นถูกปิด บางครอบครัวมีลูกหลานหรือญาติที่เคยเป็นกำลังหลักในการหารายได้ ต้องถูกลดเวลาทำงาน หรือถูกเลิกจ้างงาน ทำให้ขาดรายได้ที่ต้องนำมาใช้จ่าย หลายรายต้องผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนขาดทักษะบางเรื่องที่จำเป็นในยุคนี้ เช่น การทำตลาดออนไลน์


สถานการณ์ปัญหาและปัจจัยภายนอกที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนามีความสุ่มเสี่ยงและเปราะบางสูงขึ้นต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและปัจจัยสร้างความมั่นคงในชีวิตของครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ท้าทายต่อการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท จึงมีข้อแนะนำวิธีหลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทตนเองได้ ดังต่อไปนี้


1) แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินหรือหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกร 2) วิเคราะห์ด้านสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด เนื่องจากสัมพันธ์กับอาชีพและรายได้ 3) วิเคราะห์รายรับรายจ่าย หนี้สิน อาชีพ ต้นทุนการผลิต การประกันความเสี่ยง 4) ปรับวิธีคิดใหม่ ปรับโครงสร้างการผลิต มีความมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาทางลดหนี้และรักษาที่ดินไว้ให้ได้ 5) วางแผนการเงินในครัวเรือน วิเคราะห์อาชีพปัจจุบันว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ต้องทำอาชีพเสริมแบบไหนเพื่อแก้หนี้ได้จริง 6) สร้างพฤติกรรมทางการเงินใหม่ ออมก่อนใช้เมื่อมีเงินนำไปชำระหนี้ก่อน


7) วางแผนพัฒนาเสริมรายได้ ยกระดับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร วิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลสำเร็จของอาชีพนั้น ๆ ที่เห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) ไปถึงปลายน้ำ (การตลาด) เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรกลุ่มนั้น ๆ มากที่สุด 8) ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ จดบันทึกขั้นตอนการผลิต ปัญหาอุปสรรคในแต่ละขึ้นตอน 9) การประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการทบทวนและแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์


9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นทางออกจากพันธนาการ “หนี้” ข้างต้น ได้ผ่านการทดสอบและลงมือปฏิบัติโดยกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินมาแล้ว และเห็นผลความสำเร็จ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเกษตรกรเป็นอันดับแรก และสร้างระบบกลุ่มที่ช่วยดูแลกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กลุ่มชาวนาและเกษตรกร บางส่วนสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้ได้ บางส่วนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้สำเร็จ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 5 ต.ค. 2564

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

 

แผ่นพับ "แก้หนี้ชาวนา รักษาที่ดินผืนสุดท้าย"

FarmerDebtSolution

ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
กี่ยุคสมัยผ่านไป ปัญหาหนี้สินชาวนา ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังคู่กับสังคมไทย ชาวนาที่ประสบปัญหาหนี้มักมีสภาพจิตใจที่ถูกกดดันหลายด้าน ดังนั้น ความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์
คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชาวนากลับตัวออกจากวงจรหนี้สิน ทำการผลิตอินทรีย์และรักษาที่ดินผืนสุดท้าย เพื่อการผลิตอาหารเลี้ยงปากท้อง และส่งต่อสิ่งดีดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค

RRAFA Brochures 1

RRAFA Brochures 2

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768761
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2041
5699
14516
160287
6768761

Your IP: 3.136.22.50
2024-04-30 09:18