• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - นโยบายแก้หนี้

‘รัฐบาล’ เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ท้าทาย เน้นเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อให้เป็นธรรม

Anucha

‘รัฐบาล’ เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ท้าทาย เน้นเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อให้เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมายาวนาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และยิ่งทำให้ปัญหานี้ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจึงเดินหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

นายอนุชากล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้จะมีผลช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ประชาชนมีเงินเหลือไว้ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะมีประชาชนกลุ่มต่างๆ หลายล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “การเป็นหนี้” ไม่มีทางที่จะยั่งยืน สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพในระยะยาว ประชาชนที่มีหนี้มักจะมีความกังวลต่างๆ ไม่มีสมาธิ ทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพของประเทศโดยรวม

นายอนุชากล่าวว่า การผลักดันมาตรการแก้หนี้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและที่เรียกเก็บอย่างไม่สมควร โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้โดยเร็วที่สุด การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) และสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่เหมาะสม ลดการให้ลูกหนี้ซื้อประกันความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นและพิจารณายกเลิกการค้ำประกันด้วยบุคคล เน้นการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เร่งไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้กับผู้กู้ที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านราย และกลุ่มที่ยังไม่ฟ้องอีก 1.1 ล้านราย และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะการที่ประชาชนรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้และต้องไปกู้นอกระบบเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเป็นหนี้ที่กติกาไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยสูงเกินเหตุ

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับแนวทางในทางแก้ไขหนี้สินครู ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ในปัจจุบันพบว่าครูและข้าราชการจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเงินเดือนหลังหักจ่ายหนี้แล้วเหลือไม่พอดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีภาระหนี้รวมในปัจจุบันสูงกว่าศักยภาพของเงินเดือน ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ
1.การยุบยอดหนี้เงินต้นให้ลดลง ด้วยการนำรายได้ของข้าราชการเองในอนาคตมาลดภาระหนี้เงินกู้
2.การให้เจ้าหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ข้าราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะได้ตัดเงินหน้าซองเงินเดือนทุกเดือน
3.การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น เช่น การทำประกัน ฯลฯ
4.การปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

“การแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้ให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม และแก้ไขหนี้สินทั้งระบบ ไม่ใช่เป็นการแก้เฉพาะหนี้เสีย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปในคราวเดียวกันด้วย เพื่อให้เอื้อและไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้” นายอนุชากล่าว

ที่มา : มติชน วันที่ 11 ก.ค. 2564

การปรับตัวของชาวนาไทย

ThaiRiceFarmerAdabtation การปรับตัวของชาวนาไทย                                    

 พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2561 

 บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ 

 กองบรรณาธิการ : รศ.สมพร อิศวิลานนท์, 

 ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์, รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, 

 นันทวัน หาญดี, สมจิต คงทน, วรากร น้อยพันธ์, 

 อารีวรรณ คูสันเทียะ, ธีระพงษ์ วงษ์นา, ประพันธ์ โพธิ์พูลพรหม 

 ฝ่ายประสานงาน : นาขวัญ สกุลลักษณ์

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)  

    download

   

   

 

 

 

"งานศึกษาชิ้นนี้ได้บ่งบอกว่า หากภาครัฐต้องการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร

เพื่อให้มีพลวัตรไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนาน

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากไปกว่านโยบายระยะสั้น

และเห็นคุณค่าของการลงทุนทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านความรู้

ทุนด้านความคิด ด้านเครือข่าย เงินทุนที่มีความยั่งยืน และการจัดสรรที่ดิน

เพื่อให้โอกาสทำกินแก่เกษตรกร เพื่อการลงทุนด้านสังคมทั้งหมดนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพ

เพื่อให้การปรับตัวขอ่งชาวนาและเกษตรกรไทย.....

เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน"

        

ครม. อนุมัติ 2,000 ล้าน ให้กฟก. ซื้อหนี้เกษตรกรจากแบงก์ สกัดที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้

ThaiBahtFarmDebt

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อรับซื้อหนี้สินเกษตรกร เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 3,425 ราย จากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน เข้ามาไว้ที่ กฟก. ไม่ให้ที่ดินที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันตกเป็นของเจ้าหนี้ ตามนโยบายและข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในปี 2563-65 กฟก. ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จึงทำให้ในปี 2565 นี้ กองทุนฯ มีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการ โดยวงเงินที่ ครม. อนุมัติ จะใช้ดำเนินการในเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานฯ ไตรมาสที่ 3-4 (งบบุคลากร งบดำเนินงาน) วงเงิน 230.38 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,425 ราย วงเงิน 1,500 ล้านบาทและ การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 42,034 ราย 776 องค์กร วงเงิน 267.62 ล้านบาท

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งโดย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาของเกษตรกร, ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม, พัฒนาความรู้ด้านเกษตรกรรม และ พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ที่มา : ข่าวสด วันที่ 1 มี.ค. 2565

  

ครม. เห็นชอบหลักการแก้หนี้เกษตรกร ให้พักดอกเบี้ย-ผ่อนชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง ผ่อนครบยกหนี้ให้ทั้งหมด

TheStandardFarmerDebtPoliy

วันนี้ (22 มีนาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี นับจากวันที่ ครม. อนุมัติ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ 

  • ปีที่ 1 จำนวน 10,000 ราย ขอใช้งบกลางฯ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2565 รวม 2,000 ล้านบาท 
  • ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย
  • ปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย

ธนกรยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นหนี้ในระบบและประสงค์ที่จะให้กองทุนช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินและได้นำหนี้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ผิดนัดชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ตรวจสอบแล้วกำลังรอการแก้ปัญหาทั้งสิ้น จำนวน 50,621 ราย รวมมูลหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. 47,973 ราย มูลค่าหนี้เงินต้นจำนวน 8,520.41 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 552 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 162.37 ล้านบาท, ธอส. 2,008 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 306.41 ล้านบาท และ ธพว. 88 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 293.72 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้น (ร้อยละ 50 ที่พักไว้) และดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล สำหรับการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใดอีก

สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคาร 4 แห่งนั้น ครม. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังหารือก่อนให้ ครม. พิจารณาต่อไป

ธนกรย้ำเป้าหมาย ครม. ในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้พักฟื้นเรื่องหนี้สิน รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูตนเองและสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้เกษตรกร ตามที่ประกาศปี 2565 เป็นการแก้หนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : The Standard วันที่ 22 มี.ค. 2565

 

วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข

VeerathaiBankofThailand

"...งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่..."

...............................

หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ ภายในงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565

ที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของไทย เรามักจะติดกับดักเรื่องของกิจกรรม เวลาที่พูดถึงแผนพัฒนาก็จะมุ่งตรงไปสู่กิจกรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

ในบริบทข้างหน้า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาของเกษตรกรรายเล็กของเราซับซ้อนมากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกษตรกรรายเล็กของเราต้องแปลงร่างและพลิกโฉม หรือที่เรียกว่า transform ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายึดติดกับกิจกรรม ที่มักเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากของเดิม ก็อาจไม่เท่าทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง

สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องกิจกรรม คือ เราต้องช่วยกันกลั่น ‘หลักคิดนำทาง’ หรือ ‘guiding principles’ ที่จะช่วยสร้างอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย แม้ว่าผมไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร แต่ได้ติดตามงานต่างๆอยู่บ้าง จึงขอมองในมุมมองจากภาพใหญ่ว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่อง guiding principles หรือหลักคิดนำทางที่สำคัญ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งผมคิดว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน

@เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย

เรื่องแรก เวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก การมองเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามองอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก เพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องเอาคนไทย คุณภาพชีวิตของคน หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยรายเล็ก เป็นเป้าหมายหลัก หรือเป็นหลักคิดนำทาง และนโยบายต่างๆที่จะตามมานั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรรายเล็กของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน

หลายครั้งเวลาที่คิดถึงกรอบการพัฒนาหรือกรอบการแก้ปัญหา เรามักจะมองข้ามมิติเรื่องคนเป็นเป้าหมาย เราไม่ได้เอาคนเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งเราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่า เกษตรกรรายเล็กได้อะไรจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่เราทำ บางครั้งเราอาจให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ เช่น ประเทศไทยต้องรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้ได้อันดับต้นๆของโลก เรากังวลกับห่วงโซ่อุปทานว่า เดี๋ยวจะขาดวัตถุดิบทางการเกษตร และการทำนโยบายอุดหนุนต่างๆ

บางครั้งเราก็พูดภาพใหญ่ๆ เช่น เรื่องผลิตภาพของภาคการเกษตรไทย โดยไม่ได้ยึดโยงลงไปถึงว่า เกษตรกรรายเล็กเขาอยู่ตรงไหนในจิ๊กซอว์เหล่านั้น ยิ่งถ้าเรามองจากเลนส์หรือแว่นตาของหน่วยงานราชการ หรือจากพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง และคะแนนนิยมด้วยแล้ว คนทำนโยบายในระดับมหภาคมักจะลืมเรื่องการมองผ่านแว่นตาหรือเลนส์ของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย

จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในวันนี้ เราจะได้ guiding principles ที่เป็นมุมมองของคนที่เอาเกษตรกรรายเล็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยคลี่ออกมาว่า ระบบนิเวศและกลไกสนับสนุนควรให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรบ้าง หรือมิติใดบ้าง

@เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ติด ‘กับดักหนี้’ ทำให้ปรับตัวได้ยาก

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็กเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ (ผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’) แต่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งว่า จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรรายเล็ก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะในขณะที่เกษตรกรรายเล็กของไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆมากมายแล้ว ต้องปรับตัว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตร ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่พันธนาการการปรับตัวเหล่านั้น

มีงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และมีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรผู้สูงอายุที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงด้วย

งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่

ถ้าไปดูที่มาว่า เกษตรกรเป็นหนี้จากอะไร ในรายงานศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 73 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร และเกษตรกรกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อปี และเวลาที่เขาขาดสภาพคล่อง เขาต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป

และยังพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้อย่างที่คาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องช็อกที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 3 ปี ส่งผลให้เกษตรกรตกไปอยู่ในกับดักหนี้ และจากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ มีการประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกร จะมีปัญหาในการชำระหนี้

โจทย์สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตเกษตรกรไทยที่ต้องปรับตัว ก็มีคำถามสำคัญว่า เกษตรกรจะลงทุนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในเวลาที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร

ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการพักหนี้แบบเดิมนั้น ไม่ได้ช่วยให้หนี้หายไป และอาจไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้

@ต้องออกแบบ ‘โครงสร้างจูงใจ’ ที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เรื่องที่สาม การปรับตัวในลักษณะที่ต้องมีการพลิกโฉมอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับตัว แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรไทย ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ให้เหมาะสม และต้องเป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่ต้องมองผ่านแว่นของเกษตรกรรายเล็กด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานราชการ

ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาของการออกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่การพักหนี้ ที่อาจจะไม่เข้าใจ และไม่สนใจกับผลที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเกษตรกร รวมทั้งอาจสร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เกิดผลเสียระยะยาวหลายอย่าง เป็นผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจไม่ได้คิดให้รอบคอบตั้งแต่ตอนที่มีการกำหนดนโยบาย และโครงการเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเกษตรกร

ดังนั้น ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่า incentive structure ที่เราจัดให้มีนั้น จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนของเกษตรกรด้วย โดยมีทิศทางอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

ทิศทางแรก เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็ก มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นพรีเมียมโปรดักส์ เพราะการผลิตสินค้าเกษตรทั่วๆไปจะแข่งขันได้ยากมาก เนื่องจากเขาไม่ได้ประโยชน์จากการประหยัดของขนาด (economy of scale) เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยไปสู่การทำเกษตรประณีต หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องช่วยกันสร้าง incentive structure ที่จะจูงใจให้เกษตรกรไทยออกจากเกมที่ ‘เน้นเรื่องปริมาณ’ ไปเน้นในเรื่องเกม ‘คุณภาพ’

ทิศทางที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ใช้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพให้ได้ในกระบวนการผลิต เกษตรกรไม่สามารถทำแบบเดิมๆได้ และอาจจะต้องมองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรน้ำ การอยู่ร่วมกับป่า โดยเรื่องเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้าง incentive structure ที่เอื้อหรือสนับสนุนในระดับจุลภาค

ทิศทางที่สาม จะต้องให้เกษตรกรมุ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน การซื้อประกันภัยพืชผล หรือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่จะรับความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกในเรื่องการกระจายความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

ที่สำคัญนโยบายใหญ่ระดับประเทศหรือในระดับมหภาคจะต้องสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง และต้องไม่บิดเบือนโครงสร้างของแรงจูงใจที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับจุลภาพ ต้องไม่ทำลายโครงสร้างแรงจูงใจระดับฐานราก

อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในการทำนโยบาย หรือมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเรามุ่งไปทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ รับประกันต่างๆ ซึ่งก็ยังจำเป็น แต่ต้องมุ่งไปที่ผลผลิตคุณภาพสูงมากขึ้น และโครงสร้างของแรงจูงใจต้องมองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญมาก คือ

ตลาดวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะต้องทำเรื่องแรงจูงใจให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเงินเชื่อ และไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นได้ หรือไปผลิตพืชอื่นได้ เพราะไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยปรับพฤติกรรมได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถโยงกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับการปรับพฤติกรรมโดยการออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพผลิตผลของเกษตรกรรายเล็ก ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาของหนี้สินเกษตรกรได้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารเพื่องการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องมีบทบาทสำคัญมาก และมีบทบาทอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกษตรรายเล็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาด้วยในอนาคต

veerathai 11 05 22 1

@ต้องแก้ปัญหาเป็น ‘รายพื้นที่’-บริหารแบบ ‘รวมศูนย์’ ได้ผลลัพธ์น้อย

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตของเกษตรกรรายเล็กของไทย คือ โครงสร้างการทำงานที่ไปสนับสนุน ช่วยเหลือเกตรกรรายเล็ก ต้องต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาที่เกษตรกรรายเล็กเผชิญมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ และแต่ละพื้นที่มีผลที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

แต่จะพบว่าการทำงานสนับสนุน หรือการจัดโครงสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยกลไกภาครัฐใจช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการทำจากส่วนกลางลงไประดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ก็ใช้งบประมาณสูง และเกิดผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปอนาคต รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น ซึ่งหากยังทำงานแบบเดิม จะไม่เกิดผลแน่นอน และรัฐบาลไม่สามารถทำได้มากเท่าเดิมด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องมีลักษณะล่างขึ้นบน (bottom up) มากขึ้น มุ่งตอบโจทย์ในบริบทของของชาวบ้าน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อย่างน้อยก็แบ่งพื้นที่ที่ทำงานเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3S ได้แก่ กลุ่มเป็น Survive ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ส่วนที่กลุ่มเป็นเป็น Sufficiency กลุ่มนี้จะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่เกมที่อยู่ได้อย่างพอเพียง

และกลุ่ม Sustainability ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร โดยแต่ละพื้นที่เราจะเอาชีวิตเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และแต่ละกลุ่มจะต้องการการช่วยเหลือที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น นโยบายจากบนลงล่าง (top down) หรือนโยบายที่ไปจากส่วนกลางและทำเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้

เมื่อพูดถึงการพลิกโฉม การแปลงร่าง (transform) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 1 ปี หรือฤดูเพาะปลูกเพียงฤดูเดียว และ incentive structure จะต้องโยงกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้น กลไกการส่งเสริมจะต้องมีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ และการมีพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีการสร้างเครือข่ายที่หน่วยงานต่างๆเข้าไปร่วมกันทำได้ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายที่ราชการทำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตำบล เกษตรอำเภอนั้น ไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เกษตรกรรายเล็กพึ่งพิงรายได้เสริมเป็นจำนวนมาก โดยครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เสริมมากกว่ารายได้ที่มาจากการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เราจะลืมจิ๊กซอว์เรื่องการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการหารายได้เสริมของเกษตรกรไม่ได้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราพบว่าเขาไปอยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ และขณะนี้การท่องเที่ยวของเรายังไม่ฟื้น และพบว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การทำเกษตรหลังนา ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจชนบท เศรษฐกิจเมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

เรื่องที่ห้า เราจะต้องช่วยกันคิดเรื่อง guiding principles ที่จะทำให้เกษตรกรไทย สามารถรองรับภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบมากมาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเกิดโรคพืช และโรคสัตว์อุบัติใหม่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญในการปรับพฤติกรรม วิธีการปลูก วิธีการทำเกษตร ซึ่งด้านหนึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นระบบ และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว เท่าทัน รองรับสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวนได้

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 พ.ค. 2565

 

วิเคราะห์ '8 นโยบายเกษตร' สร้างมูลค่าต่ำกว่าเม็ดเงินงบลงทุน

8AgriPolicyAnalysis

หลากหลายรูปแบบที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตร แต่ผลวิเคราะห์ 8 นโยบายสาธารณะปี 63 ที่ใช้งบบกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 1.06 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำ และไม่ได้ลดหนี้ให้เกษตรกรได้แต่อย่างใด

นาย วิษณุ อรรถวานิช  อาจารย์ และนักวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เปิดเผยว่าในอดีตภาคเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งจ้างงาน แหล่งรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีตทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร GDP ภาคเกษตรในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.63%  แต่ภาคการเกษตรถือเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ 12.62ล้านคนและมีครัวเรือนในภาคเกษตร 8.06 ล้านครัวเรือน

163006547848

ปัจจุบันเกษตรกรได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น แต่การผลิตในภาคเกษตรไทยยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของเกษตรกร   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนเกษตร รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ใช้นโยบายเกษตรในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแทรกแซงราคาตลาด การส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่ ส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งนโยบายต่างๆใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก

โครงการวิจัยและประเมินครั้งนี้ ได้หยิบยกผลกระทบของ 8 นโยบายสาธารณะที่หลากหลาย ต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย   คือ  1. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2. แปลงใหญ่ 3. การบริหารจัดการน้ำ 4. แผนการผลิตข้าวครบวงจร 5. Zoning by Agri-Map 6. ธนาคารสินค้าเกษตร 7. มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP/ เกษตรอินทรีย์ และ 8. โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีความแตกต่างของรายได้ทางตรงจากการเข้าร่วมแต่ละนโยบายของครัวเรือนเกษตรเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้เข้าร่วม ในโครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 128,018 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ มีเพิ่มรายได้ 397,793 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 67,637 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  นโยบาย Zoning by Agri-Map ลดรายได้26,443 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้237,759 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้ของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ในด้านต้นทุนการผลิต พบว่า โครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 107,255 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มต้นทุน 219,458 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map เพิ่มต้นทุน 278,962 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดต้นทุน 24,586 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดต้นทุน 112,857 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้ต้นทุนของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ด้านรายได้สุทธิ การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มรายได้สุทธิ 178,852 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่ แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดรายได้สุทธิ43,158 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map ลดรายได้สุทธิ 32,976 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้สุทธิ125,568 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

เมื่อนำรายได้สุทธิมาเฉลี่ยกับ 8.06 ล้านครัวเรือน  พบว่าเกษตรกรที่เข้าถึงโครงการการบริหารจัดการน้ำ  26.23%  สร้างเพิ่มมูลค่าได้ 378,221 ล้านบาทต่อปี  แผนการผลิตข้าวครบวงจร 3.4 ล้านครัวเรือน  มีมูลค่าลดลง 150,959 ล้านบาทต่อปี Zoning by Agri Map ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 1.80% มีมูลค่าลดลง 4,785 ล้านบาทต่อปี และ ธนาคารสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 4.129% มีมูลค่าลดลง  41,790 ล้านบาทต่อปี

และมูลค่าผลกระทบจากทั้ง 8 นโยบาย เท่ากับ180,686.25 ล้านบาทต่อปี เมื่อนำมาหักลบงบประมาณที่ใช้จ่ายตลอด 3ปี 8 นโยบายสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงบวกรวม 106,908 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งหมดจะพบว่าเกิดขึ้นจากนโยบาย การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น ดังนั้นควรพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงนโยบายอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น  อีกทั้งนโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร และควรส่งเสริมการขยายแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานมากขึ้น

ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงเดียวกับเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะครัวเรือนที่ปลูกข้าว ให้เงินช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไขเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า  รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเกษตรกรวัยหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ส.ค. 2564

ผู้เขียน : ยุพิน พงษ์ทอง

เกษตรกรดิ้นไม่หลุดกับดักหนี้สิน แบกหนี้เฉลี่ยเกือบครึ่งล้านต่อครัวเรือน

DrSommarat

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนฐานรากไทยอ่วมปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึง 91% ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกว่า 90% แบกหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท เกินศักยภาพในการชำระหนี้


หนี้สินครัวเรือนฐานรากหรือครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่ใน “กับดักหนี้สิน” อย่างดิ้นไม่หลุด เพราะสถาบันการเงินในประเทศไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับกับประชากรกลุ่มนี้ 

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในเวที “Policy forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

โสมรัศมิ์ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าตลาดต่างๆ ในระบบการเงินไทย โดยพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 สูงถึง 91% ต่อ GDP และโตขึ้นถึง 32% ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ในระบบและกว่า 1 ใน 6 มีหนี้เสีย มียอดหนี้เฉลี่ย 350,000 บาท ต่อคน ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง เมื่อศึกษาลงลึกไปในกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือครัวเรือนเกษตรกรพบว่า 90% ของเกษตรกรมีหนี้สินและมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว แต่โดยเฉลี่ยมีหนี้กันถึงคนละ 3.8 ก้อน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักการชำระหนี้มานานกว่า 4 ปี เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินกู้นอกระบบ บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 

“นโยบายการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน เพราะนโยบายพักหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เมื่อปล่อยให้พวกเขาอยู่กับการพักการชำระหนี้นาน ทำให้เขาติดในวงจรหนี้ นโยบายพวกนี้จึงกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรติดในกับดักหนี้จนกลายเป็นการฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ” 

ทั้งนี้เมื่อลองสำรวจมาตรการพักการชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าเป็นการให้ลูกหนี้พักหรือหยุดชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น 2 เดือน 3 เดือน และเป็นเพียงการอนุญาตให้หยุดการชำระโดยไม่มีการทวงถาม แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงดำเนินต่อไป การติดอยู่ในวงจรการพักการชำระหนี้นานไม่ต่างจากการผิดชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อไป กลายเป็นกับดักรั้งเกษตรกรไว้ไม่ให้หลุดไปจากวงจรหนี้ 

โสมรัศมิ์ยังพบว่าพฤติกรรมเอาตัวรอดจากหนี้ของเกษตรกรที่พบคือ การหมุนหนี้ กู้จากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่งวนไป จนสุดท้ายไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรหนี้ได้ 

สิ่งที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านนี้มองว่าจะเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงตามศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศมาก เพราะนั่นหมายถึงการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนจะมีศักยภาพทางการเงินไม่เท่ากัน การปรับโครงสร้างหนี้ต้องออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายด้วย ทั้งนี้แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ การนำเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ และดอกเบี้ยค่าปรับ ทั้งหมดมารวมกันเป็นยอดเงินกู้ยอดใหม่ ทำให้มูลหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ยังมองว่าภาคนโยบายทางการเงินของไทยควรต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่จะไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับแหล่งเงินกู้อื่น ทำให้ฐานข้อมูลการเงินของเกษตรกรในระบบไม่ชัด กลายเป็นการปล่อยวงเงินกู้เกินศักยภาพดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ข้อเสนอของโสมรัศมิ์ สอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง ธ.ก.ส. ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะขาดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การกำหนดให้เงินกู้ของเกษตรกรมีการชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องชำระรายเดือนเหมือนโครงการสินเชื่อทั่วไป แต่การให้เงินกู้นั้นก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตอาจเสียหาย หรือราคาผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ของ ธ.ก.ส.ได้ ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของชาวนาร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีหนี้หลายก้อนและเมื่อต้องชำระจะเลือกชำระก้อนเล็กที่เป็นการชำระรายเดือนก่อน เช่น หนี้ไฟแนนซ์รถ หนี้นอกระบบ และอื่นๆ เพราะหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มักให้ชำระครั้งเดียวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย หรือหากชำระบางส่วนจะถูกตัดเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการลดเงินต้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรเช่นนี้ยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมทางการเงินของชาวนา หรือนวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. เมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ให้เกษตรกรกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันกู้และค้ำประกันเอง โดยมีจุดมุ่งมายเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการผลักภาระความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. ไปสู่เกษตรกรคนอื่น เพราะเมื่อไม่สามารถได้รับการชำระหนี้จากเกษตรกรผู้กู้ ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้จะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายค้ำประกันฉบับเดิม ก่อนจะมีการแก้ไขในต้นปี 2565 นี้เอง ทั้งนี้เคยปรากฏว่าผู้ค้ำประกันถูกยึดที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพราะเกษตรกรผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา และสถาบันการเงินไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองเกษตรผู้ค้ำประกัน 

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ๋กล่าว 

ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ม.ค. 2566 

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง


  

เจาะลึกมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ที่นำทุกคนมาทวงความคืบหน้าจากรัฐบาล

 BigStoryFarmerDebt

  • สืบเนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากลงทะเบียนใช้สิทธิ์กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้ของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
  • แต่เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ที่ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล
  • ไทยรัฐพลัสชวนอ่านมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ จากปากของ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ที่เราได้พูดคุยแบบลงลึกไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร

ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ เกิดขึ้นมา เป็นกฎหมายที่ประชาชนเสนอร่างแล้วไม่ถูกแก้ไขเลย

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ คือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.5 - 1.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และการันตีว่าเกษตรกรจะไม่เสียหลักทรัพย์ (เกือบทั้งหมดคือที่ดิน) เหมือนอย่างที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน 

ด้วยข้อดีสองอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ 

กองทุนฯ เป็นทางออกที่เกษตรกรหวังพึ่งพา แต่สิ่งที่ยากคือ เกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน จึงจะมีผลให้โอนหนี้ได้ ซึ่งข้อตกลงซื้อขายหนี้ระหว่างกองทุนฯ กับ 4 สถาบันการเงินของรัฐควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. 

ผลของความล่าช้าก็คือเกษตรกรยังคงต้องชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้เดิมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการชำระหนี้กองทุนฯ 

ชาวนาจาก 36 จังหวัดจึงมารวมตัวกันปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติเรื่องนี้ให้พวกเขาได้หรือยัง?

“การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ” 

นี่คือสรุปย่อๆ ว่าม็อบชาวนามาปักหลักเรียกร้องอะไรกัน ซึ่งไทยรัฐพลัสสรุปความจากที่พูดคุยกับ ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

นอกจากการพูดคุยสอบถามความเดือดร้อนของเกษตรกร-ชาวนาที่มาชุมนุม และประเด็นที่มาทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล ไทยรัฐพลัสได้คุยกับชรินทร์ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ แบบลงลึกเรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาโดยกองทุนฟื้นฟูฯ ไปจนถึงว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ควรจะทำอย่างไร 

ชรินทร์ ดวงดารา แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

ที่มาของเรื่องเป็นอย่างไร เงิน ‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’ มาจากไหน

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเงินจากรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเล่าแบบมหากาพย์เลยคือ ในอดีต พี่น้องเกษตรกรมาชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรมานาน สมัยก่อน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรก็จะเข้ามากรุงเทพฯ มาชุมนุม ในที่สุดพวกเขาก็สรุปบทเรียนว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลนั้นแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เกษตรกรก็เลยคิดว่าควรจะต้องมีกฎหมายมากำกับมาแก้ปัญหา จึงเกิดกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ ขึ้นมา 

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกและฉบับเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชาวบ้านเข้าชื่อกันแล้วได้เป็นกฎหมายออกมา ที่สำคัญก็คือว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขเลย เสนอไปอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เนื่องจากว่าเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กฎหมายนี้เข้าสภาปี 2540 มันเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการที่รัฐบาลช่วยคนรวยจากวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลก็เลยไม่กล้าเสนอร่างประกบ จึงมีร่างของชาวบ้านร่างเดียว แล้วก็เลยได้กฎหมายออกมา

แต่พอได้กฎหมายออกมาแล้ว รัฐบาลก็ใช้วิธีการ slow down รัฐบาลไม่อยากทำ เพราะว่ามันกระทบเยอะ ที่กระทบแน่ๆ คือ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เพราะว่าถ้าชาวบ้านมาขอใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ ธ.ก.ส.ก็ต้องขายหนี้ให้กองทุน ธ.ก.ส.ก็เสียลูกค้าไปเรื่อยๆ เสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วน

นี่คือที่มาของเรื่องนี้ การมาชุมนุมคราวนี้ เราไม่ได้มาเรียกร้อง ไม่ได้เสนอประเด็นอะไรใหม่ เรามาตามเรื่องเดิมที่เกษตรกรกับเจ้าหนี้ 4 ธนาคารของรัฐได้ทำโครงการร่วมกัน ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าธนาคารเจ้าหนี้จะขายหนี้ของเกษตรกรให้กองทุนฯ แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ครม.อนุมัติเห็นชอบ เนื่องจากธนาคารทั้ง 4 แห่ง (ธ.ก.ส., ออมสิน, อาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์) เป็นธนาคารของรัฐ ไม่สามารถทำอะไรเองได้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นการซื้อขายหนี้รายหรือสองรายก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการซื้อขายลอตใหญ่ และเป็นการขายหนี้ให้หน่วยงานของรัฐด้วย จึงต้องใช้มติ ครม. 

เรื่องนี้ควรจะเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงวันนี้เรื่องยังไม่ไปถึงไหน ติดอยู่ตรงความเห็นกระทรวงการคลังที่อ้างเรื่องวินัยการเงินการคลัง และเรื่องอะไรต่างๆ สารพัด เรามาชุมนุมขอให้ ครม. รีบเร่งมีมติ ในเมื่อธนาคารเจ้าหนี้เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบหมดแล้ว แล้วยังติดอะไร ล่าสุด ตอนนี้เขาบอกว่าไม่ติดอะไรแล้ว คาดว่าจะนำเข้า ครม. สัปดาห์หน้า 

การที่กองทุนฯ ซื้อหนี้ของเกษตรกรมาจากธนาคารเจ้าหนี้เดิม เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างไรบ้างนอกจากดอกเบี้ยที่ลดลง  

ตามกฎหมายให้กองทุนไปชำระหนี้แทนเกษตรกร กองทุนก็เอาเงินไปปิดบัญชีหนี้เลย แล้วโอนหลักทรัพย์ที่เกษตรกรนำไปค้ำประกันกับ ธ.ก.ส. มาเป็นของกองทุนฯ ไม่ใช่การจำนองหลักทรัพย์ แต่หลักทรัพย์กลายเป็นของกองทุนเลย แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระในรูปแบบการเช่าซื้อ ซึ่งดอกเบี้ยจะถูกกว่าผ่อนกับธนาคารเจ้าหนี้เดิม และเกษตรกรจะไม่สูญเสียที่ดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่ให้มีการยึดที่ดิน ให้ผ่อนชำระหนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแล้วจึงได้โฉนดที่ดินกลับคืน ถ้ารุ่นนี้ผ่อนไม่หมดก็ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานมาชำระต่อจนกว่าจะหมด 

กฎหมายบอกไว้อย่างนี้ และเราก็เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยว่า ก่อนจะขายและโอนหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้จะต้องตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ตัดค่าปรับทิ้งทั้งหมด และลดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าหนี้ที่เกษตรกรต้องจ่ายก็ลดลงมากกว่าครึ่ง ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ตกลง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปหมดแล้วว่าการโอนหนี้จากเจ้าหนี้มาไว้กับกองทุนฯ ให้ตัดดอกและลดต้นครึ่งหนึ่ง 

พวกผมสู้จนชนะ ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราให้เงินต้นครึ่งหนึ่งถือว่าเป็นกำไรของธนาคารเสียด้วยซ้ำไป และข้อดีของธนาคารก็คือจะไปช่วยปิดหนี้ NPL ด้วย เพราะเมื่อโอนมากองทุนฯ หนี้เสียก็หมดไป แบงก์ก็จะมีสถานะดีขึ้น ตอนนี้แบงก์เอกชนไม่มีปัญหาเลย เขายอมขายหนี้หมด กองทุนซื้อหนี้เกษตรกรที่อยู่กับแบงก์เอกชนมาแล้ว แต่มีไม่เยอะ เพราะหนี้ชาวนามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่กับ ธ.ก.ส. 

ผมถามเจ้าหนี้โดยตรงว่า หนี้สินที่เกษตรกรชาวนาเขามีอยู่นี่พวกคุณเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้วใช่ไหม ก็ไม่มีใครเถียงผมได้ เพราะมีผลงานทางวิชาการยืนยันว่าเจ้าหนี้กินดอกเบี้ยไปจนเกินเงินต้นหมดแล้ว

 

รัฐให้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ ปีละเท่าไร หรือให้อย่างไร 

ให้ปีแรก 1,800 ล้านบาท เป็นทุนประเดิม นับถึงตอนนี้เงินที่รัฐบาลให้กองทุนมาแล้วเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง 10,000 ล้านบาทที่ได้มาไม่ได้ได้มาจากการให้ตามงบประมาณปกติ แต่เป็นการให้ด้วยม็อบแบบนี้ เงินที่ได้มา กองทุนฯ เอาไปใช้หนี้แทนชาวบ้าน ซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้เดิม ย้ายชาวบ้านเข้ามาอยู่กับกองทุนฯ และให้กู้เพื่อให้ชาวบ้านฟื้นฟูอาชีพ ตอนนี้ซื้อหนี้หรือเรียกว่าไถ่ตัวชาวบ้านออกมาจากเจ้าหนี้แล้วประมาณ 7,300 ล้านบาท บวกส่วนให้กู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพ และบริหารจัดการด้วย รวมเป็น 10,000 ล้านบาทเศษๆ 

แปลว่า พ.ร.บ. และกองทุนฯ มีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรต้องมาชุมนุมใหม่ทุกๆ ปี แต่ว่าพอมีแล้วก็ยังต้องมาชุมนุมอีกเหมือนเดิม?

ใช่ ก็ยังต้องมาอีก แต่จะโทษรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ผมก็ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะว่าการบริหารของสำนักงานกองทุนฯ มีปัญหา คือไม่มีประสิทธิภาพ และตอบคำถามสำนักงบประมาณไม่ได้ ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน 

กรรมการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปบีบอะไรรัฐบาล ความคืบหน้าของกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 20 ปีเกิดจากม็อบทั้งหมด ถ้าม็อบไม่มาเขาก็ไม่ทำอะไรกัน ทั้งรัฐบาล ทั้งสำนักงานกองทุนฯ ด้วย มันก็เป็นปัญหา ซึ่งในช่วงยุค คสช. ผมได้เสนอไปสองทางเลือก คือ หนึ่ง-ยุบสำนักงานกองทุนฯ แล้วให้หน่วยงานอื่นเข้ามาแก้ปัญหาของพี่น้องที่ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.นี้ให้หมดแล้วจบ ไม่มีการซื้อหนี้เพิ่มแล้ว และทางที่สองถ้าเห็นว่ากองทุนยังมีประโยชน์ในการช่วยพี่น้องเกษตรกรก็ให้ปฏิรูปกองทุนฯ ซึ่งก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งให้ปฏิรูปกองทุน แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการปฏิรูป

จุดอ่อน จุดด้อยตรงไหนที่ต้องปฏิรูป 

ต้องมาสังเคราะห์และมาดูกันว่าอะไรที่ต้องปรับต้องแก้ อย่างเช่น การบริหารของสำนักงานมีปัญหา ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นระบบราชการเกินไป พนักงานไม่ให้บริการเกษตรกรแต่กลับไปใช้อำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีอำนาจ ไม่ลงพื้นที่ไปดูแลชาวบ้าน-ไปสำรวจตรวจสอบว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไร ซื้อหนี้ไปแล้วเป็นอย่างไร 

จริงๆ แล้วต้องปฏิรูปกันทุกองคาพยพเลย เพราะว่าอย่างกรรมการส่วนที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็ไม่มีความรู้เรื่องกองทุนฯ อย่างลึกซึ้ง พอมาเป็นแล้วก็มีเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ผลประโยชน์เรื่องเงินทอง แต่ว่าเป็นเรื่องคะแนนเสียง มีการไปรับปากชาวบ้านแบบนักการเมือง เวลาประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ก็ไม่ลงลึก แล้วก็ถูกฝ่ายการเมืองหลอก อีกอย่างคือความรู้ที่จะต้องใช้ในการจัดการกองทุนฯ มันอยู่นอกเหนือศาสตร์ที่เราเรียนกันมา ศาสตร์ที่เราเรียนมามันช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์ แต่อย่างเรื่องการซื้อหนี้ไม่เคยมีที่ไหนในโลก อย่างเรื่องการฟื้นฟู ตามกฎหมายกองทุนคือต้องทำการผลิตแบบครบวงจร ในส่วนการแปรรูปกับขาย กองทุนฯ ต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ ก็อยากทำ แต่ยังช้ามาก 

มีตัวเลขรวมไหมว่าเกษตรกรหรือเฉพาะชาวนามีหนี้รวมกันเป็นเงินกี่บาท

เกษตรกรที่เป็นหนี้มี 5,500,000 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบธนาคารของรัฐ 550,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ธนาคารอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐประมาณ 100,000 ล้านบาท และนอกระบบอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ในส่วนหนี้นอกระบบเราใช้การประมาณการ แต่สองตัวแรกคือหนี้ธนาคารของรัฐกับหนี้ธนาคารเอกชนตัวเลขค่อนข้างแน่ รวมทั้งหมดแล้วประมาณเกือบ 800,000 ล้านบาท

กองทุนฯ มีเงินไม่พอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรทั้งหมด มีแนวทางจะช่วยเหลือส่วนที่เหลืออย่างไร 

สมมติว่า ครม. มีมติเห็นชอบครั้งนี้ 300,000 ราย ก็เหลืออีกประมาณ 200,000 ราย สบายมาก เพราะว่าเกษตรกรชำระหนี้คืนกองทุนฯ เดือนละประมาณ 12 ล้านบาท มันมีเงินหมุน และดีตรงที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจว่าเงินที่เป็นรายได้กองทุนฯ ไม่ต้องนำส่งคืนรัฐ ให้เป็นรายได้ของกองทุนฯ เลย ฉะนั้นตอนนี้เท่ากับกองทุนฯ มีเงินที่เหมือนฝากชาวบ้านไว้ 7,300 ล้านบาท ชาวบ้านชำระคืนเดือนละประมาณ 12 ล้านบาท ถึง 15 ล้านบาท เงินตัวนี้ที่จะเป็นเงินหมุน 

ผมเคยคำนวณกับผู้เชี่ยวชาญว่า กองทุนฯ เราต้องชำระหนี้แทนเกษตรกรประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีเงินแค่ 30,000 ล้านบาทก็ทำได้แล้ว เพราะเงินมันจะหมุน สมมติว่าเราได้เงินจากรัฐบาล 30,000 ล้านบาท เราไม่ต้องขออีกเลย มันไม่ใช่ว่ากองทุนฯ จะขอเงินจากรัฐบาลแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือ การกู้เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต พอขายผลผลิตได้ราคาไม่ดี ทำให้มีเงินไม่พอใช้หนี้และไม่พอยังชีพ ก็เลยกู้อีก เป็นการกู้ทบกันไปเรื่อยๆ แบบนี้เข้าใจถูกไหม 

ใช่ ถูกต้องแล้ว หนี้เกิดจากการทำนาทำไร่ขาดทุน ไม่ใช่เกิดจากการใช้เงินนอกลู่นอกทาง ผมยกตัวอย่าง ต้นทุนปลูกข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทำข้อมูลออกมาว่า ต้นทุนการผลิตข้าว 1 เกวียน หรือ 1 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ถึง 8,500 บาท แล้ววันนี้ราคาข้าวตันละ 6,000 บาท ถามว่ารัฐบาลรู้ไหม ทำไมจะไม่รู้ ในเมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนทำข้อมูล

แปลว่าตอนนี้ขาดทุนกันอยู่ประมาณตันละ 2,000 บาท?

2,000 ถึง 2,500 บาท และมันไม่ใช่เป็นแค่ปีนี้ เป็นแบบนี้มาตลอด มีปีเดียวที่ชาวนาไม่ขาดทุน พอมีเงินเหลือก็คือปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มารับซื้อตันละ 15,000 บาท ตอนนั้นผมก็ทำนาอยู่ ผมได้ 50 ตัน ปกติผมจะขายได้ 300,000 บาท ปีนั้นผมขายได้ 750,000 บาท คุณคิดดูสิมากกว่ากันเท่าตัว แบบนั้นผมอยู่ได้ 

วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน... จะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท

เรื่องมาตรการพยุงราคาข้าว มีการเถียงกันว่า ‘จำนำ’ หรือ ‘รับประกันราคา’ ดีกว่ากัน ในความเห็นของคุณ มองอย่างไร 

มองว่าเป็นเรื่องทางแท็กติกที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้ราคาข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่กิโลฯ ละ 30 บาท แต่เขาซื้อจากชาวนาไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท คือตันละ 6,000 บาท ไปสีออกมาเป็นข้าวสารราคาตันละ 18,000 บาท ส่วนต่าง 12,000 อยู่ที่ไหน ปีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวจากชาวนา 15,000 บาท เขาได้กำไรอยู่แล้ว 3,000 บาท เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวนาขายข้าวได้อย่างต่ำที่สุดตันละ 12,000 บาท 

ผมเสนอตัวเลข 12,000 บาท เพราะวันนี้นายทุนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้เงินไปตันละ 12,000 บาท เอามาคืนชาวนาครึ่งหนึ่งได้ไหม ครึ่งหนึ่งคือ 6,000 บาท บวกกับราคาที่ขายได้ตอนนี้ 6,000 บาท จะเป็น 12,000 บาท ราคานี้ชาวนาอยู่ได้ แล้วนายทุนตั้งแต่พ่อค้าคนกลาง โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก หรือพ่อค้ายี่ปั๊วซาปั๊วในประเทศคุณได้ไป 6,000 บาท ชาวนาเขารับความเสี่ยงทุกเรื่อง ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลง แต่เขาขายได้แค่ 6,000 ขณะที่คุณไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย ถ้าแบ่งให้เขา 6,000 คุณยังได้กำไร 6,000 ผมว่ามันมากพอ มากเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคา 12,000 บาทต่อตัน เขาจะอยู่ได้ หักลบต้นทุน 8,500 บาทเขายังเหลือ ถ้าได้ราคานี้ อีก 10 ปีเขาน่าจะใช้หนี้หมด ไม่ต้องไปเดือดร้อนรัฐบาลมาช่วยเลย สินค้าเกษตรตัวอื่นก็เหมือนกัน 

 

 

รัฐบาลต้องช่วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรช่วยตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เป็นหนี้ดีกว่า?

ใช่ ถามว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าพูดเป็นประเด็นเป็นเรื่องๆ มันลำบาก มันไม่จบ ปัญหามันเป็นวัวพันหลัก เป็นงูกินหาง ผมพูดแบบภาพใหญ่เลย คือมาตั้งหลักตั้งต้นกันใหม่ มาคุยกันใหม่ว่าทิศทางเกษตรของเราจะเอายังไง มาเริ่มต้นกันใหม่ได้ไหม คุณพร้อมที่จะรับฟังชาวบ้านไหม มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย ตอนนี้เราแก้ปัญหาทีละเรื่องไม่ได้แล้ว 

 

ถ้าจะเริ่มใหม่ ข้อเสนอทางออกคืออะไร

ข้อเสนอของเราฟังดูยาก เพราะเราไม่คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้ คือ เกษตรกรต้องทำการผลิตแบบครบวงจรเหมือนเกษตรกรในเมืองที่เจริญแล้ว อย่างในเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์เกษตรกรโคนมแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ผลิตนมโฟร์โมสต์ขายทั่วโลก บ้านเรายอมรับได้ไหมที่จะทำแบบนี้ ปัญหาของเรามันยาก เพราะว่าคนร่ำรวยในประเทศนี้ล้วนร่ำรวยจากเกษตรกรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ได้ผลประโยชน์จากชาวนาเขามีอำนาจเยอะ เขาจะยอมปล่อยไหม 

 

เพิ่งมีข่าวว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวเพราะว่าข้าวไทยแพง เป็นไปได้ว่าอาจจะโดนกดราคาลงอีก 

มีการพูดกันว่าเสียแชมป์ แล้วคุณจะเอาไปทำไมแชมป์ อยากเป็นแชมป์ส่งออก แต่คนที่ปลูกข้าวให้คุณไปขายอยู่กันสภาพแบบนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เสียแชมป์เพราะว่าคุณภาพข้าวเราสู้คนอื่นไม่ได้ มันจะไปสู้ได้ยังไงในเมื่อคนไม่มีกำลังใจจะผลิต เขาหมดกำลังใจนะ ผลิตไปวันๆ เพื่อใช้หนี้ สมมติว่าชาวนาเขาคิดว่าปีนี้หยุดก่อนเถอะ หยุดมาคิดวางแผนก่อนว่าเราจะผลิตข้าวให้ดีได้ยังไง เขาก็หยุดไม่ได้ เพราะว่าหนี้ไล่หลังมาแล้ว จะหยุดได้ยังไง คุณจะเอาแชมป์ไปทำไม ในเมื่อคนปลูกข้าวอยู่ในสภาพแบบนี้ ถามว่าแชมป์นี่ใครได้ประโยชน์ ก็ผู้ส่งออก 

 

ถ้าจะทำเกษตรครบวงจรเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเริ่มอะไรใหม่บ้าง ต้องรื้ออะไรบ้าง

รัฐต้องสนับสนุนในแง่โอกาส สิ่งสำคัญเลยคือโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร ส่วนเรื่องเงินผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง เพราะว่าการรวบรวมผลผลิตไม่ต้องซื้อ อย่างโรงสีเขาต้องซื้อข้าวจากชาวนา แต่ชาวนารวมกลุ่มกันเองไม่ต้องใช้เงินไปซื้อข้าว แต่ภาครัฐต้องให้โอกาส เช่น โอกาสทางการตลาดต้องเปิด ทรัพยากรที่ไปตั้งโรงสีก็ต้องให้ หรือไม่ต้องถึงขั้นสร้างโรงสีเองหรอก เพราะมีโรงสีที่รับจ้างสีอยู่จำนวนมาก 

 

 

หลักๆ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องช่วยส่งเสริมก็คือ เรื่องตลาด การขาย?

ใช่ ตลาดไม่ใช่หน้าตลาดกระทรวงการคลังในวันศุกร์ ตลาดหน้ากระทรวงเกษตรฯ วันพุธ ไม่ใช่แบบนั้น ต้องเป็นตลาดการขายทั่วไป หรือสนับสนุนการส่งออกไปเลย และเรายังมีภูมิปัญญาการผลิตข้าวของชาวบ้านที่ส่งเสริมได้อีกเยอะ ยังมีข้าวอีกหลายพันธุ์ที่คนไม่รู้จัก ไม่ว่าจะขายในวอลุ่มเล็กหรือวอลุ่มใหญ่ ก็ทำได้หมด ถ้าขายวอลุ่มใหญ่ก็ข้าวหอมมะลิ ถ้าวอลุ่มเล็กก็เช่น พันธุ์ชมพูนครชัยศรี พันธุ์หอมมะลิแดงบุรีรัมย์ อันนี้คือข้าวพิเศษวอลุ่มเล็กๆ สามารถส่งเสริมตลาดภายในประเทศได้ มีอีกเยอะแยะที่จะทำได้  

 

ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ ของเราตั้งธงไปทางไหน เมื่อหลายปีก่อนเห็นพูดเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแปลงใหญ่ ไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว 

ถ้าผมพูดแบบหยาบๆ นะ แนวคิดกระทรวงเกษตรเป็น ‘เกษตรโรแมนติก’ ฝันไปเรื่อย ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริงเลย ถามว่าที่เขาไปให้มาตรฐานสินค้า GAP (Good Agriculture Practices - การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ถามว่าใครได้ ก็มีแต่กลุ่มทุนทั้งนั้น ชาวนาได้ที่ไหนจะได้ พ่อค้าคนกลางทั้งนั้นแหละที่ไปแสตมป์ตรา GAP ซึ่งพ่อค้านี่เป็นตัวกดราคาสินค้าเกษตร 

เราต้องมาเริ่มต้นคุยกันใหม่ ผมสรุปใหญ่ๆ ก็คือว่าปัญหาของเกษตรกรไทยมันเกิดมาจากปัญหาโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างทางนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก ผลิตมาก เพื่อการส่งออก แต่คุณไม่เคยดูแล ไม่เคยคุ้มครองเขาเลย 

 

รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด 

ปัญหาโครงสร้างภาคการผลิตก็คือ รัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งมาเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งในแง่ราคาผลผลิต และสินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าที่เป็นต้นทุนทางการเกษตรไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเลย ราคาขึ้นลงตามใจตลอด สมัยที่ข้าวราคาตันละ 15,000 บาท ปุ๋ยยูเรียกระสอบขนาด 150 กิโลกรัม ราคา 1,200 บาท พอประยุทธ์มา ราคาข้าวเหลือ 6,000 ปุ๋ยก็ลดลงมา 600 บาท วันที่เขาขึ้นราคา เขาบอกว่าต้นทุนสูง แล้ววันนี้ต้นทุนลดลงครึ่งหนึ่งหรืออย่างไร ถึงลดราคาลงเหลือ 600 บาท สารเคมี-ยาฆ่าแมลงก็เหมือนกัน นั่นแปลว่าต้นทุนเขาไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ตอนที่ผลผลิตราคาสูง เขาเพิ่มราคาเพราะเขารู้ว่าถึงแม้ขายแพง เกษตรกรก็มีกำลังซื้อ เพราะผลผลิตมีราคาดี 
 

 

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลไม่เคยดูแล ไม่เคยควบคุม ปุ๋ย สารเคมีทุกชนิด รวมถึงเครื่องจักรเครื่องกลการเกษตร มีมูลค่าการขายปีละประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ใครผูกขาดตรงนี้ได้คุณคิดดูสิว่าเขาได้กำไรเท่าไร อย่างน้อยก็กำไร 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เขาถึงรวยเอารวยเอา 

เกษตรกรคือลูกที่แสนดีของรัฐบาลมานานมาก ไม่เคยมีปากมีเสียง อย่างถามว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของอาชีพประมง กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเกษตรกรบนบก ใครใช้มากกว่ากัน แล้วเกษตรกรบนบกเคยได้สิทธิพิเศษเรื่องนี้ไหม ขณะที่ประมงมี ‘น้ำมันเขียว’ (น้ำมันที่ได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีและไม่ต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน) 

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือเขารวมตัวกันไม่ได้ รัฐบาลก็บอกให้รอเดี๋ยวจะแก้ให้ รัฐบาลไหนมาก็มีนโยบายด้านการเกษตรสวยหรูมาให้ชาวบ้านรอ เรื่องมันไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก แต่มันยากและแย่มาก เพราะทรรศนะของทุกรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกรนั้นแย่ ทรรศนะของฝ่ายการเมืองมองเกษตรกรเป็นตัวปัญหา มองว่าเกษตรกรไม่ช่วยตัวเอง เป็นหนี้เพราะสร้างหนี้กันเอง ทำไมต้องให้รัฐบาลมารับผิดชอบ ถ้ามองแบบนี้มันไม่จบ แก้ปัญหาไม่ได้ 

 

รัฐบาลไม่ได้มองว่า รัฐเองไม่ได้สร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อคนทุกคน?

ใช่ สมัยทักษิณสร้างเครื่องมืออันหนึ่งไว้ดีมาก ก็คือ กฎกระทรวงการคลังที่ให้อำนาจส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจำหน่ายหนี้สูญให้เกษตรกรได้ แต่ไม่มีใครเอามาใช้ นอกจากไม่ใช้แล้วยังทำลืมด้วย 

ทุกวันนี้ผมกล้าท้าเลยว่า ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน ต่อให้คุณปลดหนี้ให้เกษตรกรหมดเลย ยกหนี้ให้เกษตรกรเลยวันนี้ แล้วให้ไปทำนาทำไร่เหมือนเดิม ไม่เกินสามปีหนี้ก็กลับมาเหมือนเดิม เราต้องนับหนึ่งใหม่ วันนี้แก้ทีละปัญหา-ทีละประเด็นไม่ได้ เรื่องมันใหญ่เกินกว่านั้น ปัญหามันเกิดจากปัญหาโครงสร้าง ตั้งแต่โครงสร้างทางนโยบาย โครงสร้างการผลิต ทั้งนโยบายที่ส่งเสริมให้ปลูกมาก-เลี้ยงมาก เพื่อจะส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ โดยที่รัฐไม่รับผิดชอบอะไรเลย

 

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.พ. 2565
เรื่อง : รุ่งนภา พิมมะศรี
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย, รุ่งนภา พิมมะศรี 

เปิดปูม ชีวิต(ห)นี้ เกษตรกรไทย ทำไมต้องกู้?

 

FarmerDebtSeminar2021

ค้นหาปัญหาหนี้ชาวนา ทุกข์ที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

แบกชีวิตพอเกิดมาก็เป็นหนี้

อยู่อย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่พ้น

อยากจะมีเงินไม่พอต้องขอผ่อน

หากเดือดร้อนก็จะยอมสู้อดทน

ความทุกข์หนึ่งที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นั่นคือการที่เกษตรกรไทยต้องมีชีวิตผูกพันหนี้สิน

“หนี้” คือบ่อเกิดความจนซ้ำซ้อน และซ้ำซากของเกษตรกรไทย เป็นหนังชีวิตเรื่องเก่าที่เล่าสืบต่อมานานนม ที่ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใด... ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม หรือยุคดิจิทัล หนี้ยังเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรของไทยไม่สิ้นสลาย

และยังบาดใจพอๆ กับ เนื้อเพลง “ชีวิตหนี้” ที่กำลังสะท้อนชีวิตเกษตรกรไทยเอาไว้อย่างหมดจด

ชีวิตหนี้เกษตรกรยุคดิจิทัล

“เมื่อรายรับมันไม่พอรับรายจ่าย ต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรก็กู้เขา”

ทำไมปัญหาหนี้ชาวนาเกษตรกรเป็นวงจรที่ไม่เคยจบสิ้น?

หากค้นหาต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยถูกกัดกร่อนด้วยหนี้สินมาอย่างยาวนาน จะพบต้นตอปัญหาที่ “หยั่งรากลึก” กว่าที่คิด จากการศึกษาหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่ใช่เพื่อการเกษตรอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรขาดความสามารถในการชำระหนี้ จึงเกิดจากปัญหาผิดนัดชำระ ทำให้โดนดอกเบี้ยค่าปรับที่สูงพอกพูน

ที่สำคัญ “ปัญหาหนี้เกษตรกร” นั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเกษตรกรคนเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่ “ทุกคน” ในสังคมไม่ควรเพิกเฉย  มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พากันชักชวนเหล่านักวิจัย นักคิด และเกษตรกรชีวิตหนี้ตัวจริง จับมือกันสกัดบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อร่วมระดมหาทางออก ในเสวนาวิชาการสาธารณะเรื่อง "ชีวิตหนี้...นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19 "  สะท้อนชีวิตจริงเกษตรกรไทย ท่ามกลางสังคมภายนอกที่ตั้งคำถามว่า  “แล้วทำไมไม่เปลี่ยน”

 

เริ่มจากมาฟังผลการตรวจสุขภาพทางการเงินเกษตรกร จาก ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัย รายได้ชาวนาและเกษตรกรนั้นไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เป็นฤดูกาล ไม่ใช่รายได้ประจำ

“รายรับมาเป็นรอบๆ แต่รายจ่ายมีทุกวัน”

เมื่อขัดสนเกษตรกรจึงเลือกที่จะ ยืม กู้ (สิน)เชื่อ เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิตและใช้จ่ายครัวเรือน

มีเพียงเกษตรกร 20% เท่านั้นที่ใช้เงินออมในการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต

แม้แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือเกษตรกรควรมีรายได้มาจากหลายช่องทาง

“แต่ถามว่าทำไมเขาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่มีทุน การจะเปลี่ยนอะไรต้องใช้เงินลงทุน”

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต อย่างเช่นกรณีโควิด 19 ทำให้รายได้ครัวเรือนของเกษตรกรลดลง ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ โดยเกือบ 60% ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้

“พอจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดมีแต่จ่ายดอกเบี้ย แต่ต้นไม่ลดเลย ทำให้เขาท้อ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกร  หากให้เขาเลือกจ่ายเป็นรอบการผลิต หรือจ่ายแบบย่อยรายเดือนละไม่เกิน 500-1,000 บาท เขายังสามารถชำระหนี้ได้”

ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ที่จะแก้ปัญหาได้คือ การให้ความสำคัญแก่การจ่ายคืนเงินต้น มากกว่าการจ่ายคืนแค่ดอกเบี้ย ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินแบบที่เข้าใจง่ายต่อเกษตรกร รวมถึงการอาจต้องมีเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยง เช่นการประกันภัยพืชผล การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลวางแผนผลผลิต เป็นต้น

หนี้พอกหางหมู

ด้าน จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยโครงการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกร บอกเล่าที่มาว่า การที่เกษตรกรเป็นหนี้เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตตกต่ำ ความผันผวนของธรรมชาติ ความไม่แน่นอนของผลผลิตที่ได้ และกลไกราคาสินค้าเกษตรที่อำนาจต่อรองอยู่ในมือของ “นายทุน” หรือ “เจ้าหนี้”  ตลอดจน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ไม่นับรวมวิกฤตต่าง ๆ ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในแต่ละครั้ง

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำเหตุผลที่ทำให้ “วงจรหนี้” ชาวนาไทย

“โครงการมีการศึกษากลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 10 ราย ที่เคยเป็นหนี้และสามารถแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองได้ในหลายพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้ คือ หนึ่งเกิดจาก ปัจจัยส่วนบุคคล โดยเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจและมีใจสู้ปัญหา มักประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านครอบครัวคือการมีบุตรหลานก็มีส่วนสำคัญ  เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ลูกหลานแบกรับภาระหนี้ของตนเอง” จารุวัฒน์เล่าถึงผลการถอดบทเรียน

ในแง่ทางออกยั่งยืน จารุวัฒน์เผยว่าเกษตรกรเหล่านี้มักจะพยายามค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้านการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองมากขึ้น เช่น การรู้จักประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดการขาดทุน 

เขาบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่รู้ดีว่าการลดต้นทุนเป็นทางแก้ปัญหา หรือการหารายได้เสริมมีความสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถทำได้ เช่น การมีทุนจำกัด ทำให้พวกเขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะทดลองลงทุนสิ่งใหม่ ๆ

อีกบทเรียนสำคัญที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ การค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงของการติดอยู่ในกับดักหนี้สินของเกษตรกร อาจเกิดจากการที่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาผลผลิตได้ หรือรายได้ได้

“เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนก่อนการผลิต ทุกคนต่างคิดหรือมีความตั้งใจดีที่จะใช้หนี้สิน แต่เมื่อผลผลิตออกมาไม่ตรงตามความคาดหมาย ทำให้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันการมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้เกษตรกรได้มีโอกาสพักชำระหนี้และฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอในการนำเงินไปชำระหนี้ได้ดีขึ้น

“แต่จากการถอดบทเรียน เรามีข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น คือ หนึ่ง กองทุนฯ ควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นในบทบาทของกองทุนฯ สอง การติดตามสอดส่อง ดูแลพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูมีความสำคัญมาก หากมีความเข้มแข็งก็จะทำให้กลุ่มมีประสิทธิภาพและเดินไปตามแนวทางที่ดี และสาม การสร้างความหลากหลายของช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนต้องรวดเร็วและทันการณ์ นอกจากนี้ การให้ข่าวสารข้อมูล การคาดการณ์เกี่ยวกับผลผลิต การตลาด ราคาสินค้า พิบัติธรรมชาติหรือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นล่วงหน้าแก่เกษตรกร จะช่วยได้ ตลอดจนการหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าหรือทำการตลาดช่วยเกษตรกร” จารุวัฒน์กล่าว

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิจัยอิสระ ของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เมื่อเกษตรกรถูกฟ้องหรือตกเป็นจำเลยคดีหนี้สิน มักไม่สามารถที่จะรับมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเกษตรกรรู้ไม่เท่าทันกระบวนการกฎหมายหรือสิทธิของตนเอง

“ส่วนใหญ่เมื่อได้รับหมายศาลเลือกที่จะไม่ไปศาล เพราะเขาไม่รู้ว่าไปแล้วได้อะไรบ้าง หรือไม่มีความรู้และไม่สามารถหาทนายความไปขึ้นศาลด้วยได้ จึงเลือกที่จะไม่ไปสู้คดี”

บางรายไปแล้ว ก็ต้องเจอกับทนายความเจ้าหนี้ที่มักมีกลเกมในการทำเจรจาหรือทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  หรือทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ

“หนี้จากการกู้ค้ำประกันเป็นปัญหามากสำหรับเกษตรกร และเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเยอะ ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นหนี้ค้ำประกันถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนหนี้จดจำนองส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นหนี้นอกระบบ นั่นคือการเอาโฉนดไปจำนองไว้  แต่เจ้าหนี้นอกระบบบางรายยึดโฉนดที่ดินไว้และให้ลูกหนี้เซ็นมอบอำนาจ แล้วจงใจปล่อยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงระยะเวลาที่กำหนด จนทำให้ดอกทบสูงจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ก็มักถูกเจ้าหนี้นำดอกและสินทรัพย์มาแปลงให้กลายเป็นหนี้ในระบบ โดยเจ้าหนี้ก็จะแอบนำไปจดจำนองโดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็บังคับให้ลูกหนี้จดจำนองภายหลัง” เธอเล่าเบื้องหลังเบื้องลึก

ทางออกของปัญหานี้ เพ็ญนภาแนะว่า จำเป็นต้องมีผู้รู้หรือหน่วยงานทางกฎหมายเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางศาลระหว่างโจทย์ (เจ้าหนี้) และจำเลย (เกษตรกร) เพื่อสร้างข้อตกลงประนีประนอม หรือให้การพิพากษาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรมากที่สุด นอกจากนี้การช่วยเหลือทางคดีนี้ยิ่งเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพ

ปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปรับหนี้

อีกมุมมองหนึ่งจาก เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชากรอิสระ ได้ร่วมเสนอแนวทางการจัดปรับภูมิทัศน์และความสัมพันธ์ใหม่ในระบบการผลิตและตลาดสู่วิถีอินทรีย์แก่ชาวนาที่มีหนี้สิน  โดยกล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ และเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเกษตรกรกับสังคม ผู้ประกอบการ การตลาด ชุมชน หรือ ผู้บริโภค เป็นต้น

โดยบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ตนเองได้ทำการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเกษตรกร 3 กลุ่มที่เคยมีหนี้สินมาก่อน ได้ข้อสรุปว่าหากเกษตรกรที่เป็นหนี้สินอยากจะออกจากวงจรหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ให้เบาลง จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการหรือมีศักยภาพดังนี้

“เกษตรกรทำนาสามรอบ แต่ไม่รวย กลับมีแต่เพิ่มหนี้จากต้นทุน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ เกษตรกรที่มีหนี้ควรเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรต้องมีการสร้างทางเลือกที่อาชีพหลากหลาย หรือมากกว่าทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ ปลูกชนิดอื่น หรือไปทำอาชีพเสริมอื่น แปรรูปการเกษตร เป็นต้น รู้จักการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกจากนี้เกษตรกรต้องมีความสามารถทำการตลาดได้เอง และชาวนาต้องเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรอง ต้องรวมกลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็ง”

สำหรับการปรับตัวสู่ระบบการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ จะเป็นหนทางช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะลดการใช้สารเคมีทำให้ช่วยลดต้นทุนได้  

“เกษตรกรควรพัฒนาช่องทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากตลาดในชุมชนเองได้ เพราะคนในชุมชนเองก็มีต้องการอาหารปลอดภัย รวมถึงหาตลาดเทศกาล เชื่อมโยงเอกชน ภาครัฐ ออนไลน์ หรือระบบสมาชิก พรี ออร์เดอร์ เป็นต้น”

บุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช เผยถึงชีวิตหนี้ของตนว่า เกิดจากการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง เพลี้ยแมลงลง ระยะหลังทำแล้วขาดทุนหมดทุกรอบ จนต้องเผชิญปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มจากการเป็นหนี้ ธกส. แล้วไปกู้หนี้นอกระบบทำให้เพิ่มหนี้จากสองแสนเป็นห้าแสน หลังมีหนี้สินมากมาย บุญชูดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาปลูกข้าวหอมมะลิแทน รวมถึงหาทางช่องทางสร้างรายได้เสริมทั้งขายยำ ขายอาหาร มะม่วง ขนมปัง ทำทุกอย่างเพื่อปลดหนี้

“ ตอนที่ปลูกข้าว กข แม้ผลผลิตต่อไร่เยอะกว่าแต่ราคาตกต่ำ ปลูกข้าวหอมมะลิได้น้อยกว่า แต่หอมมะลิขายได้ราคาดีกว่า เพราะขายปลีกเพื่อนบ้านในชุมชน พอลูกเรียนจบทำงาน ก็มาช่วยเราผ่อนหนี้สินก็เลยดีขึ้น”

สุนทร คมคาย เป็นเกษตรกรอีกรายที่มีหนี้สินล้นตัว เขาสารภาพว่าเคยเป็นหนี้สูงถึงสามล้านบาท

“เราทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ต้องลงทุนเครื่องจักร จึงไปกู้เงินมาเพื่อซื้อเครื่องจักร”

แต่หลังเผชิญหนี้หนัก ความคิดเขา “เปลี่ยน” สุนทรหันมาสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทั้งทำนาอินทรี เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ปลูกสมุนไพรส่งให้ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศฯ ทำให้เขาสามารถค่อยปลดปลงหนี้ที่มีได้มากขึ้น

“เรามีช่องทางมากขึ้นในการสร้างรายได้ การหันมาวิถีอินทรีย์มีความเสี่ยงปัญหาผลผลิตน้อยลง การทำเกษตรอินทรี ผสมผสานทำให้มีรายได้ทั้งรายปี รายเดือนและรายวัน แตกต่างกับการปลูกพืชไร่ ที่ได้เป็นงวด”

สุนทรแนะนำเพื่อนเกษตรกรว่า การทำเกษตรต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง

“การทำตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรควรรู้ว่าควรปลูกอะไรแล้วจะขายได้แน่นอน ราคาแค่ไหน ที่สำคัญการเป็นเกษตรกรมันแตกต่างกับการทำงานในเมือง เป็นเกษตรกร ต้องใช้จ่ายพอเพียง จะใช้แบบเดิมไม่ได้”

 161519293522

หา “หลังพิง” ให้เกษตรกรไทย

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์เสริมว่า เมื่อก่อนการกู้ค้ำประกันกลุ่ม สามารถช่วยไห้เกษตรกรหันมากู้ในระบบมากขึ้น แต่ด้วยสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจกลายเป็นภาระหนี้ข้ามรุ่น ส่งต่อหนี้ถึงลูกหลาน เห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเกษตรกร เรื่องระยะสั้นหรือส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

ดร.เดชรัตนำเสนอแผนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เผชิญหนี้  3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกต้องมีการเปลี่ยนกติกาใหม่ให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรลูกหนี้มากขึ้น เช่น ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับหรือผิดชำระใหม่จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 15 มาเป็นการบวกเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1-3 จากอัตราดอกเบี้ยเดิมเท่านั้น

หรือควรปรับระบบหักดอกเบี้ย มาเป็นการหักในสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลดลงพร้อมกันทุกครั้ง เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจชำระหนี้

ขั้นตอนที่สอง ควรเกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลไกปกติ แต่ปัจจุบัน แต่ละปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3,000,000 ราย มี 800,000 รายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธกส. ช่วยได้เพียง 40,000 ราย ส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูประมาณ 500,000 ราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้แล้ว 30, 000 ราย ซึ่งแม้จะช่วยเต็มที่ แต่จะเห็นว่าความสามารถในการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับขนาดปัญหา ดังนั้นควรมองหาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้ได้มากขึ้น

ขั้นตอนที่สาม การเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ทางหนึ่งคือการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ เช่น มีกองทุนฟื้นฟู หรือกลไกอื่นก็ได้จะเข้ามาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการผลิต ส่วนเกษตรกรและทายาทที่ไม่ประสงค์จะทำเกษตรกรในเกษตรในที่ดินนั้นแล้ว ทางเลือกคือให้นำที่ดินเขาที่มีอยู่มาเช่าที่ดินหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะยาว อาทิ ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าเนื้อไม้ในระยะยาว หรือการขายแบบผ่อนชำระที่เรียกว่า Reverse Mortgageให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นทางเลือกในการรักษาที่ดินแปลงนั้นเผื่อไว้ในอนาคต ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินจำเป็นต้องมีการสร้างงานขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้

“ที่จริงเกษตรกรกลุ่มนี้มีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 68,000 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้จะอยู่ที่ 400,000 บาทโดยเฉลี่ย ควรใช้วิธีการสร้างงานใหม่ที่มีรายได้แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกลุ่มนี้ เช่น การเพาะกล้าไม้ กิจการทางเลือก ในกองทุนหรือ การดูแลผู้สูงอายุ จ้างติดโซล่าเซลล์ เป็นต้น สำคัญที่สุด สามขั้นตอนนี้ รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง” ดร.เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 มี.ค. 2564

เสวนาวิชาการสาธารณะ "ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19"

FarmerDebtAcademicPanelDiscussion

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมแคนนา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.     กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.     เปิดเวทีการเสวนา โดย คุณมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร “นโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกรภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19”

13.20 – 15.30 น.     เวทีเสวนา หัวข้อ “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร)

- คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ (กระบวนการสร้างแรงจูงใจชาวนาที่มีหนี้ให้ปรับเปลี่ยนมาทำการผลิตอินทรีย์)

- ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถานการณ์ทางการเงินและรูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับชาวนา)

- คุณบุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี (บทเรียนการปรับตัวของชาวนาผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 กรณีชุมชนชาวนาภาคกลาง)

- คุณสุนทร คมคาย กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี (บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 กรณีเกษตรกรปลูกผักและทำเกษตรผสมผสาน)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (โอกาสและความท้าทายต่อการปรับตัวของเกษตรกรผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 และข้อเสนอทางออก)

ดำเนินรายการโดย : คุณกนกวรรณ กนกวนาวงศ์ นักจัดรายการวิทยุ FM.97.0

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

รายละเอียดเพิ่มเติม....

https://drive.google.com/file/d/1aPYbIy81oJ0_y3OEiVTvPiiwPl4_cJFp/view?usp=sharing

 

แก้หนี้ แก้จน ต้องเริ่มที่ปรับ 'Mindset' เชิงนโยบาย

KrunRiceFarmBangkud 

"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล  การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้  การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น

ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น  เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6769379
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2659
5699
15134
160905
6769379

Your IP: 13.58.82.79
2024-04-30 15:04