ต้นทุนแพง ราคาข้าวต่ำ ซ้ำเติมหนี้สินชาวนา

Riceprice

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงค์รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น หมู ไก่ ผัก น้ำมันปาล์ม แต่เหตุใดราคาข้าวเปลือกจึงตกต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการทำนาที่พุ่งสูงขึ้น มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการผลิต ตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตปัญหาต้นทุนสูงและปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว จะส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ชาวนาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำในทุกชนิดข้าว ดังนี้ ปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.)  ราคาข้าวเปลือกเจ้า ลดลงเหลือ 7,801 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงเหลือ 9,651 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลงเหลือ 7,814 บาทต่อตัน  (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า 8,434 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,916 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,648 บาทต่อตัน  

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผลตอบแทนของชาวนาภาคกลาง ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายให้โรงสี จะเป็นข้าวความชื้นสูง 20-25% หลังหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนของชาวนาภาคกลางปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนามีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมชาวนาเช่า) และการปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน เฉลี่ย 700 กก.ต่อไร่ หรือได้รายได้ 4,900 บาทต่อไร่ หลังหักต้นทุนแล้วชาวนาจะมีกำไรจากการขายข้าวเพียง 900 บาทต่อไร่เท่านั้น และหากรวมเงินชดเชยส่วนต่างรายได้จากภาครัฐเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากรายได้ที่ต่ำต้อยเช่นนี้

ดังนั้นในปีการผลิตปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตสงคราม วิกฤตต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาภาคกลางเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ อาทิเช่น ค่ารถไถ จากเดิมไร่ละ 500 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 600 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไร่ละ 1,300 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 1,785 บาท โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 700 บาท เพิ่มเป็นกระสอบละ 1,800 บาท (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา จ.สุพรรณบุรี เดือนมิถุนายน 2565)  แม้ว่าจะมีชาวนาบางส่วนพยายามปรับตัวลดพื้นที่ทำนา ลดรอบการทำนา และลดต้นทุนการผลิตลงในส่วนที่สามารถจัดการได้เอง เช่น ปุ๋ย แรงงาน แต่ด้วยภาระหนี้สินติดพันของชาวนา การงดเว้นหรือหยุดทำนาชั่วคราวอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะชาวนาส่วนหนึ่งอยู่รอดได้จากการหมุนเวียนหนี้และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ซึ่งหากประเมินแนวโน้มราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้อาจสวนทางและตกต่ำเช่นนี้ ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิของชาวนาอาจติดลบหรือขาดทุนถึง 1,000-2,000 บาทต่อไร่  

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาของชาวนาไทย ที่เผชิญมาตลอดก็คือปัญหารายได้ต่ำ ปัญหารายได้ไม่แน่นอน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยรายได้จากการขายข้าวภายใต้กลไกตลาดที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะแพงหรือราคาข้าวตกต่ำ กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวนาแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวนาเป็นผู้แบกรับต้นทุนการผลิตและแบกรับความเสี่ยงไว้มากที่สุด ในปี 2551 ยุควิกฤตข้าวราคาแพง มูลนิธิชีวิตไท(Local Act) ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำไรจากข้าวสารบรรจุถุง ราคากิโลกรัมละ 37 บาท พบว่าชาวนาได้กำไร เพียงร้อยละ 8.35 ต้นทุนชาวนาร้อยละ 45.14  กำไรโรงสี ร้อยละ 17.62 ต้นทุนโรงสี ร้อยละ 2.92 ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 2.70 กำไรผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 3.27 กำไรผู้ค้าปลีก/ห้างค้าปลีก ร้อยละ 20

ชาวนาไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมแต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ ก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่ ราคา 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้งและไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ นั่นคือภาระหนี้สินในอดีต จากการลงทุนทำนาเพื่อหวังกอบกู้ฐานะตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา

ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเปราะบางกว่าอาชีพอื่น การปรับตัวของชาวนามีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวนาจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเองและฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

อนาคตข้าวและชาวนาไทยในภาวะถดถอย

FarmerinCrisis

ช่วงกลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปี ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไม่นาน ชาวนาในอดีตจะมีประเพณีและความเชื่อเรื่องการ “กินข้าวใหม่” ซึ่งมีนิยามหมายถึงการเฉลิมฉลองและขอบคุณธรรมชาติที่ประทานข้าว ปลา อาหารมาให้ ด้วยการนำข้าวใหม่ไปทำบุญ ทำกิน ทำทาน แบ่งปัน พักผ่อนและมีความสุข หลังจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ได้สูญหายไปจากสังคมชาวนาไทยส่วนใหญ่เสียแล้ว เนื่องจากรูปแบบการทำนาสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตข้าวเพื่อการค้าเป็นสำคัญ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้องรีบขายข้าวให้โรงสี นำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าหนี้ และซื้อข้าวกิน ซึ่งวิถีการผลิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

วิถีการทำนาสมัยใหม่ไม่เพียงทำให้ประเพณีเกี่ยวกับข้าวของชาวนาสูญหายไป แต่หายไปพร้อมกับคุณค่าวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตวิญญาณของผู้คน รวมถึงรากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาเดิมที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามเราคงหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะวิถีการผลิตและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่อยากชวนมองไปสู่อนาคตและความยั่งยืนร่วมกัน เพราะปัจจุบันมีหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าทิศทางการผลิตข้าวที่เน้นการปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์เพื่อการส่งออกกำลังเดินสู่เข้าสู่ภาวะถดถอยและร่วงโรยมากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณบ่งชี้ว่าข้าวไทยอยู่ในภาวะถดถอยมายาวนาน นั่นคือ หนึ่ง การส่งออกข้าวปรับตัวลดลง ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2547 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 47 ปี ในปี 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.6  สอง ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจสีข้าวที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 12.7 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.2 ในปี 2563  สาม ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคอีสานซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.8 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 77.6 ในปี 2563 (ที่มา : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์)

ในขณะที่รัฐบาลยังคงมีทิศทางนโยบายหลักในการค้ำยันอุตสาหกรรมข้าวที่กำลังเดินสู่ภาวะถดถอยนี้ต่อไปเรื่อย ๆ รอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมกว่า 160,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 21,000 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 50,600 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 ราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มขึ้น จำนวน 89,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมโครงการคู่ขนานอีกกว่า 50,000 ล้านบาท)

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 เราคงไม่สามารถนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้กับนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ได้เรื่อยๆ เราต้องหันกลับมาสรุปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ศึกษาเรียนรู้จากของเดิมว่าผิดพลาดตรงไหน และปรับตัวหาทิศทางใหม่

การสรุปและทบทวนจากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูคุณค่าของข้าวและคุณภาพชีวิตชาวนา คือการฟื้นคุณค่าไปสู่มูลค่า ชาวนาจะปลูกข้าวต้องมองถึงคุณค่า การเพิ่มมูลค่าการตลาด การเพิ่มสตอรี่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา การเชื่อมโยงอดีต และการพัฒนารูปแบบตลาดใหม่   ประการที่หนึ่ง คือ การฟื้นเรื่องราวสตอรี่ของข้าว แม้เทศกาลกินข้าวใหม่จะหายไป แต่เรื่องราวยังเหลืออยู่และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและรากฐานภูมิปัญญาเดิมที่ยังเหลืออยู่ ประการที่สอง แม้เราจะเปลี่ยนวิถีรูปแบบการทำนา แต่สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรความหลากหลายที่สำคัญในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิแดง มีคุณสมบัติเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ และมีการนำไปวิจัยพบคุณสมบัติในการเป็นเซรั่มเครื่องสำอาง นี่คือหนทางที่สามารถพัฒนาได้

ประการที่สาม การฟื้นคุณค่าของข้าว ความหอม รสชาติ การมาใช้ในโลกยุคใหม่ที่คนไทยกินข้าวน้อยลง ในอดีตคนไทยกินข้าว 170 กก.ต่อคนต่อปี เหลือ 95 กก.ต่อคนต่อปี กรณีตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นกินข้าวน้อยลงเกือบเท่าตัว แต่ปรากฎการณ์คือ ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น เนื่องจากทิศทางการผลิตข้าวเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ผลิตเป็นข้าวสารแบบในอดีต แต่ผลิตเพื่อกินเป็นยา แปรรูปเป็นขนม และเครื่องสำอาง เป็นต้น  

นั่นคือทิศทางและข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดข้าวเพื่อหลุดออกจากภาวะถดถอยของการตลาดข้าวในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาคุณค่าข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวสี ข้าวโภชนาการสูง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวทั่วไป ทำอย่างไรจะพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะเหล่านี้ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยไม่ควรทำเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่ทำภายใต้ระบบการปลูกที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต คนปลูก คนกิน เพื่อวิถีการบริโภคและวัฒนธรรม ทำให้เรามีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

 

อนาคตชาวนาไทย หลังมรสุมโควิด-19

RiceHarvestingChainat

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ข้าวที่ชาวนาปลูกไว้จะเริ่มสุกเหลือง ส่งสัญญาณว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่ชาวนารอคอยมาถึงแล้ว  พร้อมกับปัญหาสุดคลาสสิคที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี นั่นคือ ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ

ปัญหาซ้ำเดิมนี้ภาครัฐมักจะใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการทางการเงินหรือการจ่ายเงินช่วยเหลือ เช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าว ในปีการผลิต 2562/2563 ที่ผ่านมา  ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท  

อย่างไรก็ตามปีนี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำสาหัสกว่าทุกครั้ง ผลพวงจากมรสุมทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยปัญหาแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำทุกชนิด การส่งออกข้าวชะลอตัวจากความต้องการในตลาดลดลง คาดว่าปีการผลิต 2563/2564  ภาครัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว  

อันที่จริงแล้วปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติปัญหาของชาวนาและภาคเกษตรกรรม และเกิดขึ้นมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาหลายเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรังและสั่งสมมานาน แต่ยังไม่มีแนวนโยบายและการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เป็นต้น ลำพังความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากเม็ดเงินประกันรายได้และส่วนต่างที่ชาวนาจะได้รับครัวเรือนละ 20,000-40,000 บาท ตามเนื้อที่เพาะปลูกและชนิดของข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อาจแค่พอต่อลมหายใจให้ชาวนา นำเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่ารถเกี่ยว และค่าเทอมลูกในเดือนหน้า แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวนาสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางวิกฤติรอบด้านเหล่านี้ 

สภาวะวิกฤติของชาวนาและเกษตรกร

ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน หมายความว่าเกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุนวนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ

ปัญหาที่ดินทำกิน ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด นั่นคือกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน

ปัญหาหนี้สินเกษตรกรชาวนาและเกษตรกรไทยมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่กลับมีหนี้สินที่กู้ยืมมามาก ในปี 2561 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท ปัจจุบันหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่าเกษตรกรต้องทำงาน 39 เดือน ถึงจะมีรายได้มาจ่ายหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ย

ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ พบว่ากลุ่มเกษตรกรสูงอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ในขณะเดียวกันเกษตรกรวัยแรงงานอายุ 15-40 ปี ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเช่นปัจจุบัน และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกนั้นจะต่ำสุดในรอบ 40 ปี เกษตรกรหลายจังหวัดต้องเลื่อนการทำนาและเพาะปลูกออกไป หมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง 

ทางออกท่ามกลางสภาวะวิกฤติ

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชาวนาและเกษตรกรไทยยังเจอปัญหาเดิมซ้ำ ๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว หลังมรสุมโควิด-19 ภาคเกษตรกรรมยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความชราภาพของเกษตรกร เป็นต้น

แนวทางออกและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อรองรับและสร้างภูมิต้านทานสภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น  การมีหลักประกันด้านรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีรูปแบบการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน   ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองทางอาหาร

เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค หรือพัฒนาระบบตลาดออนไลน์ทางเลือก โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สังคมไทยมีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6791890
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
3892
16904
37645
20796
6791890

Your IP: 13.58.39.23
2024-05-02 09:08