• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ประกันรายได้

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" จี้รัฐทบทวนประกันรายได้ เสนอ 12 แนวทางปฏิรูปภาคการเกษตรไทย

AnusornThamjai

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองไม่ควรขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 เพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยชาวนาและเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้ เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง เสนอตัดงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นมาช่วยเหลือแทน พร้อมแนะแนวทางปฏิรูปภาคการเกษตร 12 ข้อ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้ความเห็นว่าไม่ควรขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลังเพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนาและเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้

เนื่องจากมาตรา 28 กำหนดกรอบวงหนี้รวมไว้ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีป้องกันให้มีการก่อหนี้สาธารณะเกินตัวในแต่ละปี อย่างในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลจะต้องมีหนี้ไม่เกิน 930,000 ล้านบาท จากงบประมาณปี 65 ที่มีกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท การตั้งงบประมาณอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรฤดูกาลผลิต ปี 65 ได้ตั้งงบไว้ที่ 1.74 แสนล้านบาท

ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังและวินัยทางการคลังอย่างยิ่ง และในฤดูการผลิต ปี 64/65 เราอาจต้องใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ในการชดเชยส่วนต่างราคาประกันเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ในการลงทุนทางด้านอื่นๆ เพื่อปรับปรุงภาคเกษตรกรรมของไทยให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าแปรรูปให้เป็นสินค้าที่มีราคามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงเอาไว้และต้องมีมาตรการแทรกแซงราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลต้องใช้วิธีตัดงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นหรือสามารถเลื่อนการใช้จ่ายอื่นๆ ออกไปก่อน

เช่น งบประมาณจัดซื้ออาวุธ งบประมาณก่อสร้างสถานที่ราชการที่หรูหราใหญ่โตเกินความจำเป็นแห่งการใช้สอย งบประมาณเดินทางไปดูงานต่างประเทศ งบประมาณประชาสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะประชาสัมพันธ์บุคคลแทนที่เป็นการประชาสัมพันธ์เนื้องาน เป็นต้น แล้วนำงบประมาณที่ปรับลดมาจ่ายค่าประกันรายได้ให้กับเกษตรกร

โดยกู้เงินให้น้อยที่สุดและไม่ควรเกินกรอบ 30% ต่อปี หากกู้เกินกรอบเพดานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากนโยบายแทรกแซงราคาของรัฐบาลก่อนหน้านี้ สิ่งนี้พอเป็นข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่านโยบายประกันรายได้ หรือ นโยบายรับจำนำ ล้วนก่อให้เกิดปัญหาฐานะทางการคลังได้ทั้งสิ้นและไม่ใช่การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำที่ยั่งยืน เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่นโยบายประกันรายได้นั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการคลังแบบไม่มีเพดานหากราคาข้าวในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

ส่วนนโยบายรับจำนำเกิดความเสียหายสินค้าเกษตรที่อยู่ในสต็อคที่ไม่สามารถระบายออกได้หรือสินค้าเสื่อมคุณภาพนอกจากนี้ยังมีโอกาสให้เกิดการทุจริตรั่วไหลในขั้นตอนต่างๆของการรับจำนำได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันรายได้หรือนโยบายรับจำนำซึ่งเป็นมาตรการแทรกแซงราคาไม่สามารถเอาชนะกลไกตลาดโลกได้และยิ่งในสภาวะที่ประเทศไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้นที่เราจะเอาชนะกลไกตลาดโลกได้

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการประกันรายได้อันทำให้เกิดภาระต่อธนาคารของรัฐผ่านมาตรการกึ่งการคลังนั้น แม้ในเบื้องต้นเงินที่ใช้ชดเชยจำนวนมากจะไม่ได้รวมอยู่ในหนี้สาธารณะ อย่างหนี้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรสะสมอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกือบ 700,000 ล้านบาท และมีหนี้จากโครงการประกันรายได้ที่อยู่ธนาคารออมสินอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาชดเชย

หากรัฐบาลไม่มีเงินก็ต้องไปก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม การดำเนินมาตรการกึ่งการคลังเช่นนี้ก็กลายเป็นภาระทางการคลังในภายหลัง และหนี้ทั้งหมดจะถูกรวมอยู่ในหนี้สาธารณะในที่สุด การประกันรายได้เกษตรกรนั้นเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจระยะสั้น การประกันรายได้ให้ชาวนาเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำแต่มาตรการดังกล่าวไม่มีความยั่งยืนและมีโอกาสที่จะต้องใช้เงินงบประมาณมากเกินกว่าที่วางแผนเอาไว้อย่างค่อนข้างมากหากราคาข้าวในตลาดปรับตัวลงอย่างหนัก

การก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยรายได้โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพหรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหรือแปรรูปย่อมส่งผลบวกระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะปานกลางและระยะยาวแล้วส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ขีดความสามารถในการแข่งขันทางของสินค้าเกษตรของไทย

ทั้งนี้มองว่าแนวทางที่ยั่งยืน คือ มาตรการลดต้นทุนการผลิต มาตรการเพิ่มรายได้จากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่หรือเพิ่มผลิตภาพ มาตรการส่งเสริมตลาดเสรีในการแข่งขันเพื่อลดอำนาจผูกขาดในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้าง โดยขอเสนอแนะในทางนโยบาย 12 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต

2. ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน

3. ใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการความรู้ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)

4. เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร

5. ทยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค

6. พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

7. จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC

8. ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

9. การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของโลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคา

10. จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

11. ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

12. นำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาดำเนินการจนกว่าราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งและยกเลิกนโยบายแจกเงินผ่านการประกันรายได้ให้ชาวนาเนื่องจากประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ยากและก่อให้เกิดประโยชน์เพียงบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้การกำหนดมาตรการแบบนี้อยู่บนฐานคิดแบบสังคมสังเคราะห์และส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์มากกว่าระบบรัฐสวัสดิการ อันไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวและยังเป็นการทำให้ประชาธิปไตยฐานรากอ่อนแอลงด้วย

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า พัฒนาการในเกษตรกรรมไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับแนวโน้มของภาคเกษตรกรรมไทยในสองรูปแบบใหญ่ ดังต่อไปนี้ รูปแบบที่หนึ่ง เกษตรทางเลือก (Alternative Agriculture) โดยในรูปแบบเกษตรทางเลือกเองก็มีหลายประเภท เช่น เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียง สินค้าเกษตรเหล่านี้มีแนวโน้มได้ความนิยมมากขึ้นตามลำดับพร้อมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อสินค้าเกษตรประเภทนี้

รูปแบบที่สอง เกษตรเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Agriculture) ภาคเกษตรกรรมของไทยพัฒนาสู่การเป็นเกษตรเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับ มีการควบรวมกิจการ ในภาคเกษตรกรรมให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในการผลิตในพื้นที่ขนาดใหญ่จะมีการใช้ระบบจ้างเหมาดำเนินกิจการ (Outsourcing) การประกอบกิจการเกษตรทำในรูปกิจการบริษัทมากขึ้น มีขนาดพื้นที่ผลิตใหญ่ขึ้น การลดลงของมูลค่าผลผลิตจากเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี เป็นเส้นทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเดินตามเส้นทางของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศที่มีสัดส่วนของแรงงานและจีดีพีภาคเกษตรกรรมลดลง ประชากรไทยผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาคเกษตรกรรมไทยจะได้รับผลกระทบจากการกระจายตัวของประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นโดยภายในทศวรรษ 2560 นี้ ประชากรไทยจะอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท และ ในปี พ.ศ. 2570 ประชากรไทยจะอาศัยอยู่ในชนบทเพียง หนึ่งในห้า เท่านั้น แรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงได้เพิ่มความสำคัญต่อแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร

ส่วนสถานการณ์เฉพาะหน้า หากราคาข้าวและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำลงไปเรื่อยๆและกระทรวงคลังต้องหาเงินมาชดเชยส่วนต่างจำนวนมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมมาก ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มและอาจทะลุเพดานกรอบวินัยการเงินการคลัง ความจำเป็นในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามข้อเสนอ 12 ประการที่กล่าวมา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พ.ย. 2564

 

นโยบายพิเศษด้านราคาข้าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

RicefarmerBangkud

ถึงเวลาหรือยังที่“ชาวนาไทย” จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง?

อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงชีพของคนไทยและหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารมาอย่างยาวนาน แต่อาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นอาชีพที่ถูกด้อยค่าและเกษตรกรไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน แม้ในยามสถานการณ์ปกติอาชีพเกษตรกรรมก็มีความอ่อนไหวและได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าอาชีพอื่นอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าจ้างทางการเกษตร ต่างพากันรวมตัวกันขึ้นราคาตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และไม่ได้ลดลงเมื่อน้ำมันลดราคาลงแต่อย่างใด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายสาขาอาชีพรวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมที่เกิดการหยุดชะงักของการค้าขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม

“ข้าว” เป็นผลผลิตทางการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้อันดับหนึ่งให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2002-2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบันก็ตาม (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, 2565) ซึ่งโดยความเข้าใจของคนทั่วไป “ชาวนาไทย” ในฐานะผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะรายได้จากการขายข้าว แต่ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากการทำงานของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า ชาวนาไทยต้องพบกับภาระหนี้สินทั้งเพื่อการลงทุนในการผลิตและหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินคืน จนกลายเป็นหนี้สินสะสมและมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียที่ดินทำกินที่นำไปจำนองกับแหล่งเงินกู้ โดยมีเกษตรกรบางรายต้องพบกับการสูญเสียที่ดินทำกินไป ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้หลักไป

นอกจากนี้ชาวนาไทยยังเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจต่อรองเรื่องราคาข้าว แม้กระทั่งการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อาชีพเกษตรกรรมทำนาจะหายไปจากสังคมไทย แต่กลับยังคงอยู่เพื่อให้เห็นรากเหง้าของสังคมไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นภาพความสวยงามบนความขมขื่น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนานหลายปัญหา นอกเหนือจากสภาวะการณ์ทางดิน ฟ้า อากาศ และโรคพืช/โรคแมลงที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ปัญหารายได้ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ บวกกับชาวนาไทยมีการขายข้าวเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนในการผลิต รวมถึงระบบกลไกทางการตลาดที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นและราคาค่าแรงขั้นต่ำก็สูงตาม ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งต้นทุนการผลิตทางการเกษตรขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องคาดเดา สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บวกกับชาวนาไทยในปัจจุบันไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนเหมือนในอดีตแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรถูกนำเข้ามาแทนที่เพื่อความสะดวกสบายทุกกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกษตรกรมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น

โดยผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกษตรกรไทยที่อายุสูง คือ ช่วงอายุ 55-64 ปี สูงที่สุด (ร้อยละ 31.6) และอายุ 65 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 18.7 ซึ่งสถิตินี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีพ.ศ.2556 นอกจากนี้ผู้ถือครองพื้นที่ทางการเกษตรมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 44.1 ในปีพ.ศ.2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) นั่นหมายความว่าการใช้แรงงานในครัวเรือนยิ่งลดน้อยถอยลงไปทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้จัดเก็บไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่พบว่า ร้อยละ 41.5 เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มูลนิธิชีวิตไท, 2565)

ดังนั้นในปัจจุบันบทบาทของชาวนาจึงกลับกลายเป็นผู้จัดการแปลงนาไม่ใช่ชาวนาที่ใช้แรงงานในการทำนาเหมือนเช่นในอดีต นั่นหมายถึงว่า ต้นทุนด้านค่าจ้างในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในกระบวนการผลิตถูกแทนที่การใช้แรงงานในครัวเรือนอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้นทุนทุกอย่างเพิ่มราคาสูงขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและแทบจะไม่มีโอกาสลดราคาลงเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ทุกอย่างเป็นเหมือนคลื่นถาโถมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ก.ย. 2565

ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์

ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’

PrayutRiceIncome

“…เราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม…”

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว กับโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา’

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 และรัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ งวดที่ 1 ให้กับชาวนาแล้ว 7.86 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,387.06 ล้านบาท และอยู่ระหว่างทยอยโอนเงินงวดที่ 2

ปีนี้ เป็นอีกปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณและวงเงินสินเชื่อ เพื่อดูแลและช่วยเหลือชาวนา 4.56 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 115,588.60 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจ่ายขาด 85,304.60 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 30,284 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 วงเงินจ่ายขาด 23,495.71 ล้านบาท โดยใช้แหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. (วงเงินชดเชยส่วนต่าง) วงเงิน 22,957.37 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 538.34 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826.76 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 4,542.76 ล้านบาท ตั้งเป้าชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 1.5 ล้านตัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท

3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,562.50 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท (เป้าหมาย 1 ล้านตัน) และวงเงินจ่ายขาด 562.50 ล้านบาท

4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 610 ล้านบาท ตั้งเป้าดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน เก็บไว้ในสต๊อก 2-6 เดือน

5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 56,063.63 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจ่ายขาดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4.56 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท และการชดเชยต้นทุนเงินให้ธ.ก.ส. วงเงิน 1,233.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ครม.อนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาด วงเงิน 51,858.14 ล้านบาท จากวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด 85,304.60 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และดึงอุปทานออกจากตลาด ในช่วงที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย.2563

gov rice 22 11 20 1

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนาน ในช่วง 2 ปีการผลิต คือ ปีการผลิต 2562/63 และการผลิต 2563/64 จะใช้เม็ดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 2.21 แสนล้านบาท แต่พบว่าโครงการประกันรายได้ฯ ในปีการผลิต 2563/64 ใช้เงินเพิ่มจากปีการผลิต 2562/63 ไม่มากนัก

โดยโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2563/64 ใช้วงเงินสนับสนุน 115,588 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2562/63 ใช้วงเงินสนับสนุน 106,043 ล้านบาท ทั้งนี้ งบในส่วนการจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกอีก 6,956 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่มเป้าหมายข้าวเปลือกที่เข้าโครงการฯเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน เป็นต้น

rice 22 11 20 2

“ตอนนี้ข้าวหอมมะลิเกี่ยวแล้ว และเดือนหน้าจะเกี่ยวเยอะเลยแถวอีสาน ส่วนข้าวเหนียว ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเหลือไม่เท่าไหร่ก็หมดแล้ว จะมีก็แต่ภาคกลาง ซึ่งข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่ม ข้าว กข. 79 แถวกำแพงเพชร ข้าวหอมมะลินอกเขต อุตรดิตถ์และพิษณุโลกลงมา ตอนนี้ออกเยอะมาก

ซึ่งข้าวหอมมะลิ ถ้าชาวนาได้จากรัฐบาลอีกตันละ 2,900 บาท ก็พอถัวอยู่ได้ ส่วนข้าวขาว ถ้าเราได้จากรัฐบาลอีกตันละ 1,000 บาท จะทำให้ชาวนามีรายได้ตันละไม่ต่ำกว่า 8,000-8,500 บาท ชาวนาก็พออยู่ได้” ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ปราโมทย์ บอกด้วยว่า “ถ้าไม่มีโครงการประกันรายได้ มันจบเลยนะ”

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ชาวนา และมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าต้นทุนเก็บเกี่ยว และค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มาตรการเหล่านี้ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง และเชื่อว่าชาวนาน่าจะพอใจกับรายได้ในขณะนี้

“ตอนนี้รัฐบาลออกมาประกันราคาข้าวเปลือกและมาตรการคู่ขนาน สำหรับชาวนา ผมคิดว่าเขาโอเคนะ รายรับไม่ได้ลดลง แม้ว่าราคาในตลาดจะลง เพราะรัฐบาลประกันราคาให้ ดังนั้น เรื่องราคาข้าวเปลือก ชาวนาได้ผลประโยชน์ตรง และยังได้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท และถ้าขึ้นยุ้งฉางก็ได้อีกตันละ 1,500 บาท” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

อย่างไรก็ดี ในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และถูกคู่แข่งที่แย่งชิงตลาดไปต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตันเท่านั้น

“ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 3-4 ปี เราอาจจะหล่นลงมาเป็นที่ 4-5 ก็ได้…ตอนนี้เรามีคู่แข่ง เมื่อไหร่ราคาข้าวเราสูงเกินไป เราก็ถูกเขาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป” ร.ต.ท.เจริญย้ำ

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการคร่ำหวอดในวงการข้าวมาไม่น้อยกว่า 30 ปี อย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินในโครงการประกันรายได้ ปีการผลิต 2563/64 สูงถึง 1.15 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว พบว่ารัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า และไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้

สมพร เสนอว่า เพื่อลดภาระส่วนต่างการชดเชยรายได้ในโครงการฯ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่จะสร้างเข้มแข็งให้กับ ‘กลไกตลาด’ เพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ตบ’ ราคาข้าวเปลือกให้ลดลงของบรรดาพ่อค้า 

“ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกที่จะสร้างกลไกตลาดให้เข้มแข็งพอ มันยากมากที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะสูงเกินกว่าราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ เพราะเวลาราคาข้าวจะไปถึงเป้าหมาย พ่อค้าจะตบลงมา ตลาดจะตบราคาลงมาให้ต่ำกว่าราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง แต่พ่อค้าจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกที่ลดลง” สมพรเสนอ

สมพร ยังเสนอว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ทำให้ชาวนาข้าวเปลือกได้ในราคา ‘ยุติธรรม’ เพราะปัจจุบันชาวนาขายข้าวเปียก (ข้าวเปลือกที่มีความชื้นมากกว่า 15%) เป็นหลัก แม้ว่าแปลงเป็นราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ได้ แต่จะพบว่าชาวนาไม่สามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งต้องสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนให้โรงสีใช้การซื้อข้าวเปลือก เพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกลงไปอีก

“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะออกมาเยอะ ชาวนาหลายคนต้องการเงินสด พอเกี่ยวเสร็จก็เอาไปขายโรงสีทันที ราคาก็ลง และถ้าโรงสีไม่มีเงินรับซื้อ ราคาก็ตกลงไปอีก เพราะไม่มีคนมาช้อนซื้อ แต่ถ้าโรงสีมีเงิน เขาก็จะไปช้อนซื้อ เพราะรู้ว่าถ้าเก็บไว้ซักพักราคาก็จะเพิ่มขึ้น อย่างข้าวหอมมะลิ ปลายปีราคาก็ขึ้น” สมพรย้ำ

สมพร ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น แม้โครงการประกันรายได้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ แต่โครงการลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ชาวนามีความเข้มแข็งในระยะยาว

“หากไทยทำโครงการประกันรายได้เป็นระยะเวลายาวนาน จะเท่ากับเราแช่แข็งชาวนาให้อยู่กับที่ เพราะแทนที่ชาวนาจะมองหาโอกาสและปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ และต้องถูกล่อให้ติดอยู่กับการปลูกข้าว ซึ่งวันนี้ต้องถือว่าอยู่ในสถานการณ์ข้าวไทยอยู่ในภาวะ ‘โรยรา’ หรือ ‘ชราภาพ’ แล้ว เพราะต้นทุนสูง แข่งขันไม่ได้

และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็แข่งขันไม่ได้อยู่ดี เพราะต้นทุนเราไม่ได้ลดลง วันนี้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว และปีนี้ผมคิดว่าเราอาจจะส่งออกข้าวได้น้อยลงกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป โดยคาดว่าไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 7.5 ล้านตัน” สมพรกล่าว

somporn pic

(สมพร อิศวิลานนท์)

สมพร เสนอด้วยว่า รัฐบาลควรมีมาตรการคู่ขนานอื่นๆ ที่ทำให้ชาวนามีการปรับตัวไปสู่การใช้นวัตกรรมมากขึ้น หันไปปลูกชนิดใหม่ๆ หรือแม้แต่การปลูกพืชผสมผสาน เป็นต้น

“เราอาจใช้เงินไม่มาก ประมาณ 1 แสนล้านต่อปี ซึ่งดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่โอกาสที่เราจะใช้เงินไปทำอย่างอื่นจะหดหายไป และวันนี้ แม้แต่เรื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ หรือการจัดการเรื่องปลอมปนพันธุ์ข้าว เรายังไม่ได้ทำ เพราะเราเอาเงินมาใช้ลักษณะนี้

ซึ่งผมเห็นว่า เราจะต้องเข้าไปยกระดับซัพพลายเชน (ห่วงโซ่การผลิต) ให้ดีขึ้น สร้างกลไกตลาด แม้ว่าเราจะไม่มีกลไกตลาดกลางค้าข้าวแล้ว แต่เราสามารถมี Market place ที่ใช้ระบบไอทีรวบรวมผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่บนออนไลน์ และซื้อขายในรูปแบบออนไลน์ อย่างนี้ก็จะช่วยเกษตรกรได้

และในประเทศที่มีการให้เงินอุดหนุนระยะสั้นแบบที่ไทยทำ เขามีลูกเล่น คือ มีมาตรการคู่ขนานเพิ่มเข้าไป เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ปลูกข้าวปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆคู่ขนานกันไป แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่มีกลไกอย่างนั้น” สมพรกล่าว

สมพร ทิ้งท้ายว่า “การอุดหนุนชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ ในทางการเมืองเขาถือว่าคุ้มค่า ถ้าไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็บอกว่าดีกว่าโครงการรับจำนำ แต่เราต้องคิดถึงความเข้มแข็งของภาคเกษตรด้วย คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่รอด มั่งคั่ง มั่นคง แต่วิธีการอย่างนี้ มันไม่ได้มั่งคั่ง มั่นคง มันมีแต่จะร่วงโรย

และเราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม”

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 22 พ.ย. 2563

อนาคตชาวนาไทย หลังมรสุมโควิด-19

RiceHarvestingChainat

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ข้าวที่ชาวนาปลูกไว้จะเริ่มสุกเหลือง ส่งสัญญาณว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่ชาวนารอคอยมาถึงแล้ว  พร้อมกับปัญหาสุดคลาสสิคที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี นั่นคือ ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ

ปัญหาซ้ำเดิมนี้ภาครัฐมักจะใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการทางการเงินหรือการจ่ายเงินช่วยเหลือ เช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าว ในปีการผลิต 2562/2563 ที่ผ่านมา  ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท  

อย่างไรก็ตามปีนี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำสาหัสกว่าทุกครั้ง ผลพวงจากมรสุมทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยปัญหาแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำทุกชนิด การส่งออกข้าวชะลอตัวจากความต้องการในตลาดลดลง คาดว่าปีการผลิต 2563/2564  ภาครัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว  

อันที่จริงแล้วปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติปัญหาของชาวนาและภาคเกษตรกรรม และเกิดขึ้นมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาหลายเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรังและสั่งสมมานาน แต่ยังไม่มีแนวนโยบายและการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เป็นต้น ลำพังความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากเม็ดเงินประกันรายได้และส่วนต่างที่ชาวนาจะได้รับครัวเรือนละ 20,000-40,000 บาท ตามเนื้อที่เพาะปลูกและชนิดของข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อาจแค่พอต่อลมหายใจให้ชาวนา นำเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่ารถเกี่ยว และค่าเทอมลูกในเดือนหน้า แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวนาสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางวิกฤติรอบด้านเหล่านี้ 

สภาวะวิกฤติของชาวนาและเกษตรกร

ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน หมายความว่าเกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุนวนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ

ปัญหาที่ดินทำกิน ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด นั่นคือกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน

ปัญหาหนี้สินเกษตรกรชาวนาและเกษตรกรไทยมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่กลับมีหนี้สินที่กู้ยืมมามาก ในปี 2561 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท ปัจจุบันหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่าเกษตรกรต้องทำงาน 39 เดือน ถึงจะมีรายได้มาจ่ายหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ย

ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ พบว่ากลุ่มเกษตรกรสูงอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ในขณะเดียวกันเกษตรกรวัยแรงงานอายุ 15-40 ปี ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเช่นปัจจุบัน และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกนั้นจะต่ำสุดในรอบ 40 ปี เกษตรกรหลายจังหวัดต้องเลื่อนการทำนาและเพาะปลูกออกไป หมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง 

ทางออกท่ามกลางสภาวะวิกฤติ

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชาวนาและเกษตรกรไทยยังเจอปัญหาเดิมซ้ำ ๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว หลังมรสุมโควิด-19 ภาคเกษตรกรรมยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความชราภาพของเกษตรกร เป็นต้น

แนวทางออกและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อรองรับและสร้างภูมิต้านทานสภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น  การมีหลักประกันด้านรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีรูปแบบการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน   ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองทางอาหาร

เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค หรือพัฒนาระบบตลาดออนไลน์ทางเลือก โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สังคมไทยมีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6804070
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5310
4124
49825
32976
6804070

Your IP: 3.144.116.159
2024-05-04 21:09