• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การปรับโครงสร้างหนี้

ข่าวดีลูกหนี้! รัฐปรับเกณฑ์ชำระหนี้ที่เป็นธรรม คิดดบ.บวก 3 % บนฐานเงินต้นที่ผิดนัดจริง

Debt

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศแนวปฎิบัติสำคัญเรื่องการชำระหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และนายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนพร้อมดำเนินการเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฏหมาย

จากสถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง

 

  • คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต
  • คนไทยเป็นหนี้นาน โดยร้อยละ 80 ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2561) มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท

สถานการณ์โควิด 19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 83.8 ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน

ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ

1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชาระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

2. การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ดังนั้น การปรับ 2 เกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง

3. การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชาระหนี้จริง มาคำนวณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ โดยนับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตาม ประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะใน ปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

ทั้งนี้เกณฑ์การคิดคำนวณการผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะในส่วนของจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ไม่ใช่เงินคงค้างทั้งหมด หรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดให้บวกได้ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือเรื่องที่กำหนดให้เมื่อลูกหนี้นำเงินไปชำระแล้วให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปตัดในส่วนของค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก ทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ของประเทศไทย โดยจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวมของไทยอีกด้วย

นายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนและจัดการเจ้าหนี้โหด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง ยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ความจำเป็นที่ต้องกู้มาใช้ในสิ่งจำเป็นอาจมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอเรื่องการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในเวลาเดียวกันด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ในขณะที่ผู้กู้สามารถกู้เงินในระบบได้ง่ายกว่าเดิม รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินต้นและดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ นับแต่เริ่มให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อปี2559 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์รวม 858 ราย ใน 72 จังหวัด อนุมัติสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 328,300 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 8,250.38 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 25,130 บาทต่อบัญชี

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมอบหมายให้ธนาคารออมสิน เป็นอีกหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยทางธนาคาร ได้ออก “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” รอบ 2 ที่กู้ได้สูงสุดได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรก

ส่วนประเด็นการจัดการเจ้าหนี้โหด นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเข้มกับการเอาผิดเจ้าหนี้นอกระบบผิดกฎหมาย และกำชับให้ทุกภาคส่วนทำงานอย่างบูรณาการตามนโยบายแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล หากนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย จำนวนสะสม 7,476 ราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย การเพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน สำหรับประชาชนที่ถูกขูดรีดจากเจ้าหนี้ผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

ที่มา : Thaipublica วันที่ 8 พ.ย. 2563

ครม. เห็นชอบหลักการแก้หนี้เกษตรกร ให้พักดอกเบี้ย-ผ่อนชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง ผ่อนครบยกหนี้ให้ทั้งหมด

TheStandardFarmerDebtPoliy

วันนี้ (22 มีนาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำหรับชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี นับจากวันที่ ครม. อนุมัติ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ 

  • ปีที่ 1 จำนวน 10,000 ราย ขอใช้งบกลางฯ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2565 รวม 2,000 ล้านบาท 
  • ปีที่ 2 จำนวน 22,000 ราย
  • ปีที่ 3 จำนวน 18,621 ราย

ธนกรยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นหนี้ในระบบและประสงค์ที่จะให้กองทุนช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินและได้นำหนี้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ผิดนัดชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ตรวจสอบแล้วกำลังรอการแก้ปัญหาทั้งสิ้น จำนวน 50,621 ราย รวมมูลหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส. 47,973 ราย มูลค่าหนี้เงินต้นจำนวน 8,520.41 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 552 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 162.37 ล้านบาท, ธอส. 2,008 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 306.41 ล้านบาท และ ธพว. 88 ราย มูลค่าหนี้เงินต้น 293.72 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้น (ร้อยละ 50 ที่พักไว้) และดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล สำหรับการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใดอีก

สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคาร 4 แห่งนั้น ครม. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังหารือก่อนให้ ครม. พิจารณาต่อไป

ธนกรย้ำเป้าหมาย ครม. ในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้พักฟื้นเรื่องหนี้สิน รักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูตนเองและสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้เกษตรกร ตามที่ประกาศปี 2565 เป็นการแก้หนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : The Standard วันที่ 22 มี.ค. 2565

 

วิกฤตหนัก! เกษตรกรไทย 90% มีหนี้ -ธ.ก.ส. เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด

FarmDebtCrisis

วิกฤตเกษตรกรไทย! 90% มีหนี้ ติดกับดักนโยบายรัฐ -ปี 64 หนี้สิน 2.6 เเสนบาท/ครัวเรือน 'ดร.โสมรัศมิ์' สถาบันป๋วย ชี้เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด คือ ธ.ก.ส. เเนะเปลี่ยน KPI ดูคุณภาพสินเชื่อเเทนปริมาณ ช่วยเเก้ยั่งยืนได้  ด้าน ผู้ช่วย ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ยันมีเเผนเยียวยา พักชำระ ฟื้นฟู 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นางสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

ด้าน ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน"

ดร.โสมรัศมิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่

ขณะที่ นางเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภา กล่าว

ส่วนนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

ผู้ช่วย ผจก.ธ.ก.ส. กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก”  ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ที่มา : THAICH8.COM วันที่ 23 ก.พ. 2565

วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข

VeerathaiBankofThailand

"...งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่..."

...............................

หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ ภายในงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565

ที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของไทย เรามักจะติดกับดักเรื่องของกิจกรรม เวลาที่พูดถึงแผนพัฒนาก็จะมุ่งตรงไปสู่กิจกรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

ในบริบทข้างหน้า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาของเกษตรกรรายเล็กของเราซับซ้อนมากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกษตรกรรายเล็กของเราต้องแปลงร่างและพลิกโฉม หรือที่เรียกว่า transform ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายึดติดกับกิจกรรม ที่มักเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากของเดิม ก็อาจไม่เท่าทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง

สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องกิจกรรม คือ เราต้องช่วยกันกลั่น ‘หลักคิดนำทาง’ หรือ ‘guiding principles’ ที่จะช่วยสร้างอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย แม้ว่าผมไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร แต่ได้ติดตามงานต่างๆอยู่บ้าง จึงขอมองในมุมมองจากภาพใหญ่ว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่อง guiding principles หรือหลักคิดนำทางที่สำคัญ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งผมคิดว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน

@เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย

เรื่องแรก เวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก การมองเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามองอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก เพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องเอาคนไทย คุณภาพชีวิตของคน หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยรายเล็ก เป็นเป้าหมายหลัก หรือเป็นหลักคิดนำทาง และนโยบายต่างๆที่จะตามมานั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรรายเล็กของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน

หลายครั้งเวลาที่คิดถึงกรอบการพัฒนาหรือกรอบการแก้ปัญหา เรามักจะมองข้ามมิติเรื่องคนเป็นเป้าหมาย เราไม่ได้เอาคนเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งเราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่า เกษตรกรรายเล็กได้อะไรจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่เราทำ บางครั้งเราอาจให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ เช่น ประเทศไทยต้องรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้ได้อันดับต้นๆของโลก เรากังวลกับห่วงโซ่อุปทานว่า เดี๋ยวจะขาดวัตถุดิบทางการเกษตร และการทำนโยบายอุดหนุนต่างๆ

บางครั้งเราก็พูดภาพใหญ่ๆ เช่น เรื่องผลิตภาพของภาคการเกษตรไทย โดยไม่ได้ยึดโยงลงไปถึงว่า เกษตรกรรายเล็กเขาอยู่ตรงไหนในจิ๊กซอว์เหล่านั้น ยิ่งถ้าเรามองจากเลนส์หรือแว่นตาของหน่วยงานราชการ หรือจากพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง และคะแนนนิยมด้วยแล้ว คนทำนโยบายในระดับมหภาคมักจะลืมเรื่องการมองผ่านแว่นตาหรือเลนส์ของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย

จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในวันนี้ เราจะได้ guiding principles ที่เป็นมุมมองของคนที่เอาเกษตรกรรายเล็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยคลี่ออกมาว่า ระบบนิเวศและกลไกสนับสนุนควรให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรบ้าง หรือมิติใดบ้าง

@เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ติด ‘กับดักหนี้’ ทำให้ปรับตัวได้ยาก

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็กเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ (ผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’) แต่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งว่า จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรรายเล็ก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะในขณะที่เกษตรกรรายเล็กของไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆมากมายแล้ว ต้องปรับตัว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตร ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่พันธนาการการปรับตัวเหล่านั้น

มีงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และมีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรผู้สูงอายุที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงด้วย

งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่

ถ้าไปดูที่มาว่า เกษตรกรเป็นหนี้จากอะไร ในรายงานศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 73 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร และเกษตรกรกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อปี และเวลาที่เขาขาดสภาพคล่อง เขาต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป

และยังพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้อย่างที่คาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องช็อกที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 3 ปี ส่งผลให้เกษตรกรตกไปอยู่ในกับดักหนี้ และจากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ มีการประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกร จะมีปัญหาในการชำระหนี้

โจทย์สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตเกษตรกรไทยที่ต้องปรับตัว ก็มีคำถามสำคัญว่า เกษตรกรจะลงทุนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในเวลาที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร

ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการพักหนี้แบบเดิมนั้น ไม่ได้ช่วยให้หนี้หายไป และอาจไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้

@ต้องออกแบบ ‘โครงสร้างจูงใจ’ ที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เรื่องที่สาม การปรับตัวในลักษณะที่ต้องมีการพลิกโฉมอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับตัว แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรไทย ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ให้เหมาะสม และต้องเป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่ต้องมองผ่านแว่นของเกษตรกรรายเล็กด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานราชการ

ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาของการออกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่การพักหนี้ ที่อาจจะไม่เข้าใจ และไม่สนใจกับผลที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเกษตรกร รวมทั้งอาจสร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เกิดผลเสียระยะยาวหลายอย่าง เป็นผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจไม่ได้คิดให้รอบคอบตั้งแต่ตอนที่มีการกำหนดนโยบาย และโครงการเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเกษตรกร

ดังนั้น ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่า incentive structure ที่เราจัดให้มีนั้น จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนของเกษตรกรด้วย โดยมีทิศทางอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

ทิศทางแรก เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็ก มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นพรีเมียมโปรดักส์ เพราะการผลิตสินค้าเกษตรทั่วๆไปจะแข่งขันได้ยากมาก เนื่องจากเขาไม่ได้ประโยชน์จากการประหยัดของขนาด (economy of scale) เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยไปสู่การทำเกษตรประณีต หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องช่วยกันสร้าง incentive structure ที่จะจูงใจให้เกษตรกรไทยออกจากเกมที่ ‘เน้นเรื่องปริมาณ’ ไปเน้นในเรื่องเกม ‘คุณภาพ’

ทิศทางที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ใช้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพให้ได้ในกระบวนการผลิต เกษตรกรไม่สามารถทำแบบเดิมๆได้ และอาจจะต้องมองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรน้ำ การอยู่ร่วมกับป่า โดยเรื่องเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้าง incentive structure ที่เอื้อหรือสนับสนุนในระดับจุลภาค

ทิศทางที่สาม จะต้องให้เกษตรกรมุ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน การซื้อประกันภัยพืชผล หรือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่จะรับความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกในเรื่องการกระจายความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

ที่สำคัญนโยบายใหญ่ระดับประเทศหรือในระดับมหภาคจะต้องสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง และต้องไม่บิดเบือนโครงสร้างของแรงจูงใจที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับจุลภาพ ต้องไม่ทำลายโครงสร้างแรงจูงใจระดับฐานราก

อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในการทำนโยบาย หรือมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเรามุ่งไปทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ รับประกันต่างๆ ซึ่งก็ยังจำเป็น แต่ต้องมุ่งไปที่ผลผลิตคุณภาพสูงมากขึ้น และโครงสร้างของแรงจูงใจต้องมองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญมาก คือ

ตลาดวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะต้องทำเรื่องแรงจูงใจให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเงินเชื่อ และไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นได้ หรือไปผลิตพืชอื่นได้ เพราะไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยปรับพฤติกรรมได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถโยงกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับการปรับพฤติกรรมโดยการออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพผลิตผลของเกษตรกรรายเล็ก ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาของหนี้สินเกษตรกรได้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารเพื่องการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องมีบทบาทสำคัญมาก และมีบทบาทอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกษตรรายเล็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาด้วยในอนาคต

veerathai 11 05 22 1

@ต้องแก้ปัญหาเป็น ‘รายพื้นที่’-บริหารแบบ ‘รวมศูนย์’ ได้ผลลัพธ์น้อย

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตของเกษตรกรรายเล็กของไทย คือ โครงสร้างการทำงานที่ไปสนับสนุน ช่วยเหลือเกตรกรรายเล็ก ต้องต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาที่เกษตรกรรายเล็กเผชิญมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ และแต่ละพื้นที่มีผลที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

แต่จะพบว่าการทำงานสนับสนุน หรือการจัดโครงสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยกลไกภาครัฐใจช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการทำจากส่วนกลางลงไประดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ก็ใช้งบประมาณสูง และเกิดผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปอนาคต รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น ซึ่งหากยังทำงานแบบเดิม จะไม่เกิดผลแน่นอน และรัฐบาลไม่สามารถทำได้มากเท่าเดิมด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องมีลักษณะล่างขึ้นบน (bottom up) มากขึ้น มุ่งตอบโจทย์ในบริบทของของชาวบ้าน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อย่างน้อยก็แบ่งพื้นที่ที่ทำงานเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3S ได้แก่ กลุ่มเป็น Survive ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ส่วนที่กลุ่มเป็นเป็น Sufficiency กลุ่มนี้จะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่เกมที่อยู่ได้อย่างพอเพียง

และกลุ่ม Sustainability ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร โดยแต่ละพื้นที่เราจะเอาชีวิตเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และแต่ละกลุ่มจะต้องการการช่วยเหลือที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น นโยบายจากบนลงล่าง (top down) หรือนโยบายที่ไปจากส่วนกลางและทำเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้

เมื่อพูดถึงการพลิกโฉม การแปลงร่าง (transform) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 1 ปี หรือฤดูเพาะปลูกเพียงฤดูเดียว และ incentive structure จะต้องโยงกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้น กลไกการส่งเสริมจะต้องมีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ และการมีพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีการสร้างเครือข่ายที่หน่วยงานต่างๆเข้าไปร่วมกันทำได้ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายที่ราชการทำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตำบล เกษตรอำเภอนั้น ไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เกษตรกรรายเล็กพึ่งพิงรายได้เสริมเป็นจำนวนมาก โดยครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เสริมมากกว่ารายได้ที่มาจากการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เราจะลืมจิ๊กซอว์เรื่องการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการหารายได้เสริมของเกษตรกรไม่ได้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราพบว่าเขาไปอยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ และขณะนี้การท่องเที่ยวของเรายังไม่ฟื้น และพบว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การทำเกษตรหลังนา ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจชนบท เศรษฐกิจเมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

เรื่องที่ห้า เราจะต้องช่วยกันคิดเรื่อง guiding principles ที่จะทำให้เกษตรกรไทย สามารถรองรับภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบมากมาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเกิดโรคพืช และโรคสัตว์อุบัติใหม่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญในการปรับพฤติกรรม วิธีการปลูก วิธีการทำเกษตร ซึ่งด้านหนึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นระบบ และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว เท่าทัน รองรับสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวนได้

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 พ.ค. 2565

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2)

FarmerDebtModel

จากตอนที่ 1 ที่เล่าถึง “วงจรถดถอย” ได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่โมเดลธุรกิจ การทำเกษตรแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์เดิม การช่วยเหลือปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะการอุดหนุนรายได้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น

การแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจ เพื่อสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ออกจากวงจรถดถอย “โมเดลผลิตไม่ดี-ขาดทุนบ่อย-หนี้สูง-ปรับตัวไม่ได้-ผลิตภาพต่ำ” สู่วงจรโอกาส “โมเดลผลิตดี-สร้างกำไรสม่ำเสมอ-มีเงินสะสม-ลงทุนพัฒนา-ผลิตภาพสูงขึ้น”

เกษตรกรมีหลายทางเลือกการพัฒนาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศของ ธปท. พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวพัฒนาโมเดลธุรกิจจนสามารถปลดหนี้ หลุดพ้นจากวงจรถดถอยได้ และพัฒนาธุรกิจก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบมากมายที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม

 

ในความหลากหลายของโมเดลต้นแบบสามารถถอดบทเรียนได้เป็น 5 ชุดการพัฒนา ดังนี้

1. เกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก

เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง

2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืช     อื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี

3. เกษตรประณีต จากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2 พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17

และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต

เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

4. การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง

เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่น แปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน

5. ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่น เกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโมเดลธุรกิจทำได้หลายรูปแบบ เกษตรกรควรนำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตน โดยเริ่มจากความถนัดหรือการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่

เช่น ลดต้นทุนโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาต่อยอด เมื่อรู้แนวทางแล้วว่าสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง คำถามสำคัญถัดมาคือเกษตรกรจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’(ตอน2) | แจงสี่เบี้ย

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

หลายโมเดลที่กล่าวมามีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคล้าย ๆ กัน จึงขอหยิบตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ที่พัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นตัวแทนเล่ากระบวนการพัฒนาไปสู่วงจรโอกาส ซึ่งถอดได้เป็น 4 ปัจจัยสำเร็จ ดังนี้

1. คิดใหม่ ไม่รอคอย ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของเกษตรกรดงขี้เหล็กเริ่มจากก้าวแรกนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สุด กล้าเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเดิม ๆ ไปปลูกอย่างอื่น เมื่อรู้ว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญ ไม่มัวรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ แต่ลุกมาจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ขุดสระน้ำลึกเพื่อกักเก็บน้ำฝน เรียกกันในชุมชนว่า “เขื่อนใต้ดิน”

2. ศึกษาฝึกฝนจนชำนาญ ใฝ่พัฒนา ศึกษาจนมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น รู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่ตน และรู้วิธีการกักเก็บและใช้น้ำที่เหมาะกับพื้นที่ตน กล้านำความรู้มาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญ เช่น ใช้เทคโนโลยีตะบันน้ำขึ้นไปพักน้ำบนที่สูง และทำระบบน้ำหยดที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนศึกษาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์

3. ชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนให้มุ่งพัฒนาชุมชนตนเอง และเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้

4. หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น มี “ภาชนะกักเก็บน้ำของตัวเอง” และระบบจัดการน้ำดี ซึ่งสร้างโอกาสให้พื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเกษตรได้หลากหลายชนิดและทำได้ตลอดทั้งปี

แต่ภาพจริงของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีปัจจัยเพียบพร้อมทั้ง 4 ด้าน แต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการส่งเสริมเกษตรกร ภาครัฐควรศึกษาจนเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน

จากนั้นมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามปัจจัยที่ขาดของครัวเรือนนั้น ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อตลาดกับสินค้าในพื้นที่ และให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจ

จึงจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโมเดลต้นแบบ พลิกชีวิตเกษตรกรจากวงจรถดถอยสู่วงจรโอกาส ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2565

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

จิรัฐ เจนพึ่งพร 

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768934
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2214
5699
14689
160460
6768934

Your IP: 18.116.239.195
2024-04-30 10:59