• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - การปรับตัวของชาวนา

'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

'โรงเรียนชาวนา' ที่นี่ไม่ได้สอนแค่ปลูกข้าวอินทรีย์ ยังศรัทธาและเชื่อมโยงกับ'แม่โพสพ'

KhaokhuanFarmerSchool

ชาวนาทั่วประเทศ เคยมาเรียนที่ "โรงเรียนชาวนา" มูลนิธิข้าวขวัญ ได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ที่นี่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความรู้การเกษตร ยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความเข้าใจเรื่องแม่โพสพ

 
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทางมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ได้จัดพิธีบวงสรวงรูปเคารพแม่โพสพ แม่เมรัย(เทวนารีดูแลต้นกัญชา) ที่ช่างเฉลิม พึ่งแตง ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี ได้วาดภาพ และปั้นรูปประติมากรรมปูนปั้น ไว้อย่างงดงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทางพี่นิด-พี่เบญจมาศ ศิริภัทร ภรรยาพี่เดชาและคุณพิม หลานพี่เดชา ได้มาพบดิฉันที่บ้านเมืองเพชรบุรี มารับรูปเคารพแม่โพสพกับแม่เมรัย ผลงานช่างเฉลิม เพื่อนำกลับเมืองสุพรรณไปทำพิธีบวงสรวงบูชาในวันนี้ พี่เดชาและคนสายข้าวขวัญ ลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาทั่วประเทศ และลูกศิษย์ชาวจีนไต้หวัน ศรัทธา เคารพแม่โพสพอย่างยิ่ง
 
แม่โพสพ ผู้ปกป้องต้นข้าว
 
สำหรับพวกเราแม่โพสพ แม่เมรัย ไม่ใช่บุคคลาธิษฐาน ภาพแทนความเชื่อใดๆ แต่ท่านคือ “เทพ” คือ “เทวนารี” ผู้ปกป้องดูแลต้นข้าว ต้นกัญชา ให้ความรู้ให้ปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์และใช้ยาพืชสมุนไพรต่างๆ กับพวกเรา
 
ดังที่พี่เดชา เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า
 
“เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผมเชิญคุณโดโรธี แมคลีน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้านฟินด์ฮอร์น ผู้ได้ชื่อว่ามีความสามารถสื่อสารกับจิตวิญญาณในธรรมชาติ (รวมทั้งเทพ เทวดา ในความเชื่อของคนไทยด้วย) มาจัดฝึกอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ 3 วัน เชิญคนไทยมาเข้าร่วม 30 คน
 
ผมทำงานเรื่องข้าว และชาวนามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 รวม 30 ปี ผมศึกษาเรื่องความเชื่อของชาวนาไทยในอดีตที่เคารพในพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ ผมเชื่อมาตลอดว่า เทพเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ เป็นเพียงความเชื่อสืบต่อ ๆ กันมา
 
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 เมื่อคุณโดโรธี แมคลีน และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ติดต่อสื่อสารกับ พระแม่โพสพ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด และใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปี
 
ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ผมเชื่อว่า พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ และชาวนาบางคนที่สื่อสารกับท่านได้ ความรู้เรื่องข้าวนี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันของชาวนาได้จริง”
 
 
เดชา ศิริภัทร, 4 สิงหาคม พ.ศ.2557
.....................
 
ข้อความข้างต้นนี้ที่ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้กล่าวไว้ใน “คำนิยม” หนังสือ นักบวช นักรบ นักฆ่า ของดิฉัน โดยยืนยันชัดเจนว่าตลอด 30 ปี ของการทุ่มเททำงานในเรื่องข้าวของ อ.เดชา จากที่เคยเชื่อว่าเทพต่างๆ ทั้งแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ เป็นเพียงแค่บุคลาธิษฐาน ไม่มีตัวตนจริงๆ
 
แต่เมื่อได้พบและฝึกอบรมกับคุณโดโรธี แมคลีน แม่มดฝรั่ง ผู้นำกลุ่มNew Age ของโลก อ.เดชาได้ใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นแล้วว่า
 
“พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ”
 
162771819246
 
                                                              บนพื้นดินที่ปลูกข้าว ก็ต้องทำพิธีเคารพแม่โพสพ (ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว)
 
 
ที่มาโรงเรียนชาวนาไทย
 
อาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานโดยตรงในเรื่องข้าว และเปิดโรงเรียนชาวนาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์กับชาวนาไทย
 
มูลนิธิข้าวขวัญเป็นแหล่งเสริมสร้างปลูกฝังความรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร
 
ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี โดยมูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนชาวนาไทย มีประวัติที่มาดังนี้คือ
 
 
162771782857
 
มูลนิธิข้าวขวัญ กับการเกษตรยั่งยืน
 
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology Association - ATA )
 
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
 
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
 
และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ที่อยู่คือ 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซ. 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72330)
 
โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, อ.บางปลาม้า, อ.อู่ทอง, และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศ
หลักสูตรเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนชาวนาที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนของชาวนาไทยนี้ ปรากฏผลว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีชาวนาทั่วประเทศไทยมาเข้าเรียนการทำเกษตรอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ
 
และได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ดังเช่น การไม่เผาฟาง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรขับไล่แมลง รวมทั้งการรู้จักแมลงดี-แมลงร้าย การเก็บและขยายจุลินทรีย์ การทำฮอร์โมนเพื่อการบำรุงต้นข้าว เป็นต้น
 
 
162771830039
 
 
การพึ่งตนเองของโรงเรียนชาวนา
 
การที่ชาวนาพยายามหาสิ่งทดแทนสารเคมีทั้งหมด ทั้งการใช้จุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมแมลง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพื้นถิ่นชนิดต่างๆ เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีผลิต
 
ที่ในท้ายที่สุด กระบวนการและเทคนิคต่างๆจะเป็นหนทางกลับมาฟื้นฟูการพึ่งตนเองของชาวนา เพราะเมื่อชาวนาสามารถควบคุมแมลง ปรับปรุงดิน พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว
 
สิ่งที่ปรากฏต่อมาจากนี้ก็คือ เทคนิคต่างๆเหล่านั้นก็แทบจะไม่จำเป็นในการนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแปลงนาในพื้นที่เกษตร จะเกิดความสมดุลด้วยตัวมันเอง
 
ดังนั้นสาระสำคัญที่ชาวนาไทยได้รับความรู้ไปจากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ก็คือ “ใช้เพื่อที่จะไม่ต้องใช้อีก” เพราะในที่สุด ด้วยหนทางที่มูลนิธิข้าวขวัญสอนชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนชาวนาเพื่อเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตรนี้
 
เมื่อชาวนาได้ความรู้เต็มที่และนำกลับไปใช้ในแปลงนาของตนทั้ง  3 หลักสูตรแล้ว ระบบนิเวศยั่งยืนและสมดุลของธรรมชาติก็จะกลับคืนมา อันจะทำให้ชาวนาสามารถหลุดพ้นจากวังวนของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในทุกขั้นตอน
 
นั่นหมายถึงว่า นักเรียนชาวนาที่ใช้ 3 หลักสูตรของมูลนิธิข้าวขวัญจะสามารถ “ปลดแอก” และ “หลุด” ออกจากวิถีเกษตรแบบปฏิวัติเขียวที่ต้องเป็นหนี้ในการซื้อหาปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง
.
วิถีเกษตรยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวไว้ในการสอนลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาว่า
“เทคนิคของเราเป็นการทำตามหนทางของพระพุทธเจ้า นั่นคือการไม่เห็นแก่ตัว พึ่งตนเอง ไม่ใช้ความรุนแรง หลักการนี้ปรับให้เป็นรูปธรรมก็คือเราไม่ฆ่าแมลง ไม่เบียดเบียนใคร
 
และใช้ปัญญาญาณจากธรรมชาติ ทุกสิ่งที่ทำต้องสอดคล้องครรลองธรรมชาติ เพราะเป้าหมายชีวิตของคนไทยแต่เดิมคือการบรรลุนิพพาน
 
ดังนั้นชาวนาจึงต้องทำงานในผืนนาด้วยวิถีธรรม ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายน้ำ ไม่ทำลายอากาศ วิธีการใช้แมลงดีควบคุมแมลงเลวของเรา เป็นรักษาสมดุลระหว่างแมลง ไม่ใช่มุ่งทำลายชีวิตเขา
 
เทคนิคนี้เราได้จากแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็จริง แต่ลูกศิษย์ของเรามีอยู่ทุกศาสนา ซึ่งทุกศาสนาก็ทำได้ และภาษิตโบราณของไทยยังมีอีกด้วยว่า คนฉลาดต้องตัดเกือกให้พอดีตีน คนโง่จะตัดตีนให้พอดีเกือก
 
จากภาษิตนี้เราเทียบได้ว่า เมล็ดข้าวคือเกือก ท้องทุ่งคือตีน ตีนจะเปลี่ยนไม่ได้ ส่วนเกือกมันเปลี่ยนได้ชั่วชีวิต แต่ชาวนาไทยทุกวันนี้กลับตัดตีนให้เหมาะกับเกือก
 
พวกเขาพยายามเปลี่ยนดินให้เข้ากับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อหามาจากตลาด หรือได้รับมาจากรัฐบาล ข้าวขวัญจึงเข้าไปแก้ปัญหานี้โดยตรง เราไปแก้ปัญหาหลักที่เกือกหรือเมล็ดพันธุ์ คือต้องตัดเกือกให้เหมาะกับตีน เราจึงไปสอนให้ชาวนารู้จักการคัดเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับผืนนาในท้องถิ่นนั้น”
 
ชาวนากับแม่โพสพ
 
หากสิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในการสอนชาวนาด้วยหลักสูตรโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ จะไม่เพียงให้แต่ความรู้ต่างๆทางด้านเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนกับนักเรียนชาวนาเท่านั้น
หากทางมูลนิธิข้าวขวัญ ได้อบรมให้ความรู้ เขย่ากรอบความคิดของนักเรียนชาวนาอย่างหนักควบคู่ด้วย ในเรื่องการเคารพบูชา “แม่โพสพ” เพราะตลอด 30 กว่าปี ของการทำงานเรื่องข้าวกับชาวนาไทยมานี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวกับดิฉันว่า 
 
“การสอนเทคนิคเกษตรอินทรีย์อย่างเดียวจะเปลี่ยนชีวิตชาวนาไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนไปถึงรากความคิดของชาวนา ให้กลับมาเคารพแม่โพสพ มาอยู่กับความเมตตา จึงจะเปลี่ยนชาวนาให้มาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ได้
 
หากสอนแต่เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ชาวนารู้แค่เทคนิค กลับเข้าท้องนาไป เห็นรอบข้างยังใช้ปุ๋ยใช้ยา เห็นโฆษณาเข้าหัวอยู่ทุกวัน ชาวนาสู้ไม่ไหวหรอก เดี๋ยวพวกเขาก็หันหลังให้เกษตรอินทรีย์ กลับไปใช้ปุ๋ยใช้ยาเหมือนเดิม มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
 
จะเปลี่ยนชาวนาได้ ต้องให้เขามาศรัทธาเชื่อมั่น และบูชาแม่โพสพ เป็นหลักทางใจให้ชาวนาไทยได้ยึดมั่นไว้ด้วย-นั้นแหละถึงจะเปลี่ยนชาวนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวนาไทยได้อย่างแท้จริง”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ก.ค. 2564

ผู้เขียน : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

 

"รจนา สีวันทา"เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ปี 64

RojanaSriwanta

ยึดหลักนำบัญชีวางแผนชีวิต ใช้วิเคราะห์และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน

"รจนา  สีวันทา" เกษตรกรจากจังหวัดสุรินทร์ คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่น  สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค  ปี พ.ศ. 2564 เผยเคล็ดลับความสำเร็จ ยึด "บัญชี" เป็นภูมิคุ้มกันความจน  ใช้วิเคราะห์ และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน 

นางรจนา สีวันทา เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564  ชาวตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ วัย 46 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี 2539 ในระหว่างนั้นมีหนี้สิ้นนอกระบบอยู่หลายหมื่นบาทจนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและจดบันทึกต้นทุนในการทำนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้รายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนา จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง แต่ได้กำไรต่ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและเป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนปัญหาหนี้สิ้นที่เคยมี จากต้นทุนที่ลดลงทำให้มีกำไรมากขึ้น ทำให้สามารถเก็บเงินที่ขายข้าวได้ทยอยนำไปชำระหนี้จนหมดหนี้สินในที่สุด 

ในปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 24 ไร่ แบ่งเป็นแปลงนาปลูกข้าวและพื้นที่ทำเกษตรอื่น ๆ  และยังคิดหาวิธีเพิ่มรายได้โดยการรวมกลุ่มแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศรวมถึงต่างประเทศ โดยผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และในยุโรปส่วนพื้นที่ที่เหลือได้แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกผัก ปลูกมันเทศญี่ปุ่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงโค และไก่ไข่เป็นการเพิ่มรายได้หลังฤดูทำนา นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักอินทรีย์ ส่งขายในTops Supermarket ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย 

จากการจดบันทึกบัญชีเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยในปี 2548 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาซื้อรถไถนา โดยมีการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการจัดเกรดเป็นลูกค้าเกรด A + ทั้งนี้ ยังมีเงินเหลือเก็บออม จนสามารถซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน รถเกี่ยวนวดข้าว 1 คันรถกระบะอีก 1คัน รวมถึงซื้อที่นาเพิ่มอีก 8 ไร่ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการมีวินัยในการทำบัญชี โดยยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ หันมาทำบัญชี เพื่อบริหารจัดการการเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ  

ในปี 2557 นางรจนา ได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนในชุมชน นักเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายในการสอนบัญชีให้แก่คนในชุมชน และยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายด้านการทำบัญชีแก่คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่าย และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ พร้อมทั้งมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน สามารถคิดกำไร ขาดทุนจากการประกอบอาชีพได้และสร้างวินัยในครัวเรือนให้มีความเข้มแข็งขึ้นอีกทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ 

"ฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรทุกคนว่า อย่าดูถูกตัวเองว่าทำบัญชีไม่เป็น ทำไม่ได้ แล้วไม่ยอมทำทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำการทำบัญชีไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่เราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ หรือหากคิดว่าไม่มีความรู้ในการจดบันทึก  ลงบัญชีไม่เป็นสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจำจังหวัด อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพเพราะเป็นภูมิคุ้มกันความจนได้ดีที่สุดทำให้เรารู้รับ-รู้จ่าย รู้ต้นทุนและรู้อนาคตจากการนำบัญชีมาบริหารจัดการอาชีพและรายได้ในครอบครัว" นางรจนา กล่าว       

ปัจจุบันนางรจนา สีวันทา ได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพให้แก่คนในชุมชน และช่วยเหลืองานในชุมชนทั้งในด้านครูบัญชีอาสาและอาสาด้านอื่นๆ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ระดับอำเภอจอมพระประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท รองประธานนาแปลงใหญ่ระดับอำเภอ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ฯลฯ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2563เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี พ.ศ.2563และอีกรางวัลความสำเร็จในปัจจุบันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 พ.ค. 2564

KKP Research คาด วิกฤตอาหารโลกช่วยดันรายได้เกษตรกรไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี ยกเว้นชาวนาที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดทุน

KKP Research

สำนักวิจัย KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จนเกิดวิกฤตอาหารขาดแคลนไปทั่วโลก และน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก แต่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่แพงขึ้นเกือบ 3 เท่า จะเป็นแรงกดดันให้รายได้สุทธิของเกษตรกรปรับดีขึ้นได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวนา 

นอกจากนี้ ราคาอาหารที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตอย่างราคาปุ๋ยเคมีหรืออาหารสัตว์ จะกลายเป็นความเสี่ยงหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยสูงมากกว่าที่คาด จากสัดส่วนอาหารสดและอาหารทุกประเภทในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 21% และ 38%

ต้นทุนปุ๋ยทะยาน

KKP Research ระบุว่า แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, มันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ราคาข้าวคาดว่าจะยังตกต่ำในปีนี้ จากผลผลิตที่ดีกว่าที่คาดจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายประเทศ และจากการที่ไม่ได้เป็นสินค้าทดแทนพลังงานอย่างสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงคาดว่ารายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 9.7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าเกษตรทุกประเภท ยกเว้นชาวนาผู้ปลูกข้าวที่รายได้จะยังลดลงตามราคาข้าวที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ในด้านต้นทุนราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะข้าวที่กำไรขั้นต้นของชาวนาในภาคกลางและเหนือ จะเปลี่ยนจากมีกำไร 20.9% ของรายได้ทั้งหมด มาเป็นขาดทุน 1.5% ขณะที่ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จากที่ขาดทุนอยู่แล้ว 27.5% ของรายได้ทั้งหมด จะยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.6% เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าข้าวเจ้ามากกว่า 2 เท่า แต่มีราคาที่สูงกว่าข้าวเจ้าเพียง 1.5 เท่า

นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นได้ โดยกำไรขั้นต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจาก 16.6% ของรายได้รวม เป็น 8.3% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงพอ

3 ความเปราะบางของชาวนาไทย

KKP Research ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ว่าเกิดจาก

  1. ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเอเชียถึง 32% ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหรือเท่ากับเอเชีย เช่น ปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 21% หรือมันสำปะหลังที่สูงกว่า 6% 
  1. มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัด หรือ 13% ของจังหวัดทั้งหมดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ขณะที่สินค้าอื่นๆ จะมีการเพาะปลูกในบางจังหวัดเท่านั้น และมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่สัมพันธ์กับผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด
  1. ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งโลกในช่วงปี 2002-2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหากเทียบเฉพาะในอาเซียนก็ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 47% เท่านั้น โดยราคาของข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แพงกว่าข้าวหอมมะลิของเวียดนามและกัมพูชาประมาณ 50% และ 19% ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้าธรรมดาแพงกว่าเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ประมาณ 10%, 15% และ 18% ตามลำดับ

3 แนวทางเสริมแกร่งเกษตรกร

KKP Research ประเมินว่า ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาล นอกจากจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างปัญหาเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลงมาก และซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น 

  1. การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม คือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ ขณะเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังพบหลายจังหวัดมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยเกินไป แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงก็ตาม
  1. การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 59 ล้านไร่ กลับมีถึง 74.3% หรือ 44.5 ล้านไร่ ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และคิดเป็นผลผลิตถึง 65% ของปริมาณข้าวทั้งหมด และเมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ การปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60% โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 51%
  1. การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีตลาดประกันวินาศภัยในภาคเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้น

รับมือวิกฤตอาหาร

KKP Research มองว่า แม้ในปัจจุบันประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารในไทยอาจจะยังไม่น่ากังวลเหมือนหลายประเทศในโลก แต่ในระยะยาวจากความเปราะบางของภาคเกษตรไทยที่สะท้อนออกมาจากวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ ทำให้ไทยจำเป็นต้องวางแผน พัฒนา และลงทุน เพื่อเตรียมรับมือ 

โดยจากข้อมูล Global Food Security Index ของ The Economist พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability) แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเอง ยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก

ที่มา : The Standard วันที่ 5 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : ดำรงเกียรติ มาลา

 

TDRI จี้รัฐเลิก 'หว่านเงิน' 1.1 แสนล้านอุ้มชาวนา

TDRIRicePolicy

ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรเลิกนำงบอุดหนุนข้าว 1.1 แสนล้าน หว่านช่วยชาวนา แต่ปรับรูปแบบช่วยเฉพาะรายที่มีการปรับตัว

ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรเลิกนำงบอุดหนุนข้าว 1.1 แสนล้าน หว่านช่วยชาวนา แต่ปรับรูปแบบช่วยเฉพาะรายที่มีการปรับตัว ด้านสภาเกษตรกรไทย เตือนอาชีพชาวนาหาย หากไม่ปรับตัว จี้พัฒนาพันธุ์ข้าวสู้ และให้เงินอุดหนุนชาวนาที่ปรับโครงสร้างการผลิต อัดยุทธศาสตร์รัฐทำข้าวไทยพ่ายคู่แข่ง ด้านการส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 20 ปี อาจเหลือแค่ 5 ล้านตัน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกข้าวให้กับประเทศคู่แข่งขันอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 พบว่าไทยเสียตลาดทั้งการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยส่งออกได้แค่ 1 ล้านกว่าตัน จากเดิมที่เคยส่งออกได้เกิน 2 ล้านตัน สาเหตุที่ไทยเสียตลาด เพราะผลผลิตต่อไร่ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง อีกทั้งเกษตรกรไม่มีการปรับตัว เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐมากเกินไป

ทั้งนี้ จะเห็นจะได้ว่างบอุดหนุนข้าวรวมทั้งหมดเมื่อปีที่ผ่านมาใช้เงินสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ซี่งมากกว่างบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นทางแก้ไขปัญหารัฐบาลต้องปรับรูปแบบการอุดหนุนชาวนาใหม่ โดยจะอุดหนุนก็ต่อเมื่อชาวนามีการปรับตัว หรือปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้แข่งขันได้ ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนตลาด และรัฐจะต้องมีการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในการแข่งขันด้วย ส่วนโครงการประกันรายได้ และโครงการรับจำนำข้าว สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อราคาข้าวตกต่ำ เกิดภัยแลัง ต้องการช่วยต้องมีเงื่อนไข ช่วยเฉพาะที่จำเป็น เช่น ตั้งราคาเพดานในการช่วย


สภาเกษตรกรไทยเตือนชาวนาเตรียมเลิกอาชีพ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวไทยน่าห่วงในแง่ของการแข่งขัน เพราะสินค้าข้าวไทยปัจจุบันเป็นพืชส่งออก แต่การแข่งขันของไทยกลับลดน้อยถอยลง ซ้ำมีการปรับตัวช้า ทำให้ไทยสู้คู่แข่งขันไม่ได้ และเชื่อว่าหากไม่ทำอะไรเลย ชาวนาจะต้องเลิกอาชีพ และคงปลูกข้าวเฉพาะกินในประเทศเท่านั้น ไม่ต้องส่งออก เพราะทุกวันนี้ที่ชาวนายังมีการปลูกข้าวอยู่มาก เพราะรัฐบาลอุดหนุน แต่หากรัฐเลิกอุดหนุนก็อยู่ไม่ได้ จะเกิดกลียุค ประเทศล่มสลาย และที่ข้าวไทยพ่ายแพ้ ไม่ใช่เพราะชาวนาไม่เก่ง แต่เป็นเพราะยุทธศาสตร์ของภาครัฐไม่เก่ง

สำหรับทางแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน คือ ไทยต้องปฏิรูปวิจัยพันธุ์ข้าวทั้งระบบ เพื่อให้แข่งขัน ได้ โดยแยกการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวออกจากระบบราชการ เพราะระบบราชการไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการแข่งขัน รวมทั้งรัฐต้องปรับรูปแบบการอุดหนุนมาช่วยเกษตรกรที่มีการปรับโครงสร้างการผลิตเท่านั้น เช่น มีการทำเกษตรผสม และหากภายใน 5 ปี ชาวนารายนั้นไม่ต้องพึ่งพาเงินจากรัฐ รัฐก็ควรมีรางวัลด้วยการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการจูงใจให้ชาวนาปรับตัว โดยควรเลิกแจกเงินแบบไม่มีเงื่อนไข


คาดส่งออกข้าวปี 64 เหลือ 5 ล้านตันต่ำสุดรอบ 20 ปี

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในเดือนมกราคม 2564 มีปริมาณแค่ 4.2 แสนตัน เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะตามปกติเดือนมกราคม ควรส่งออกได้ที่ 8 แสนตันถึง 1 ล้านตัน และหากการส่งออกข้าวยังไม่กระเตื้องคาดว่าการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2564 จะมีประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยไทยจะยังคงส่งออกเป็นอันดับ 3 ตามหลังอินเดีย และเวียดนาม ซึ่งปัญหาของข้าวไทยคือราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทยจึงแพง

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ศักยภาพข้าวไทยขณะนี้เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะการส่งออกข้าวไทยถดถอยลงมาก โดยปี 2563 สามารถส่งออกได้แค่ 5.8 ล้านตัน ซึ่งไทยเสียตลาดส่งออกให้คู่แข่งขัน โดยข้าวขาว 5% การส่งออกลดลงไป 30% จากเดิมส่งออกได้ 5 ล้านตัน เหลือ 3 ล้านตันกว่าๆ และข้าวหอมมะลิส่งออกลด 20% จากส่งออกได้ 2 ล้านกว่าตัน เหลือ 1 ล้านกว่าตัน ซึ่งประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่แข่งขันกับไทยได้ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งทางแก้ไขรัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงพันธุ์ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยผลผลิตข้าวสดของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 700 กิโลกรัมต่อไร่ ควรเพิ่มเป็น 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวแห้งไทยอยู่ที่ 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ขณะที่เวียดนามมีผลผลิตข้าวแห้ง 700 กว่ากิโลกรัมต่อไร่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มี.ค. 2564

การปรับตัวของชาวนาและคนจนยุค ‘ต้นทุนชีวิตแพง’

FarmerEating

2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยและสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาโรคระบาดยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาใหม่ก็วิ่งเข้ามา ปัญหาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และจากการสำรวจของธนาคารโลก กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะรายจ่ายด้านพลังงานและอาหารเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ นั่นหมายความว่าต้นทุนชีวิตของคนจนจะแพงกว่านั่นเอง กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” เพราะเมื่อราคาค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือนด้วย

“รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนช่วยประหยัดพลังงานลดค่าใช้จ่ายตนเอง...” ถ้อยแถลงของรัฐบาลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกรอบ เมื่อวันที่  8 มีนาคม 2565

“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เมื่อรายได้ลดลง ราคาสินค้าพลังงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้นเกือบ 50% ทำให้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ต้นทุนชีวิตคนจนแพงทั้งแผ่นดิน

ปัญหาเศรษฐกิจและต้นทุนราคาสินค้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยอย่างรุนแรงมากที่สุด เพราะรายได้ที่หามานั้น จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เฉลี่ยประมาณ 50-70% ของรายได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนสำคัญในการผลิตขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารและของใช้จำเป็น อาทิเช่น แก๊ซหุงต้ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช หมู ไก่ แพงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5-20% เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนกลุ่มนี้ที่ยังเท่าเดิม แล้วปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะอยู่รอดได้อย่างไร ต้องบอกว่าแม้คนจนเหล่านี้จะพยายามแล้ว ก็ยังอยู่ยาก และอาจพากันอดตาย

ต้นทุนการผลิตของชาวนาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

จากภาวะต้นทุนและภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากไม่ต่างจากคนจนเมืองและผู้ใช้แรงงาน แม้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารด้วยการทำเกษตรหลากหลายไว้บริโภคเองในครัวเรือน แต่ชาวนาส่วนใหญ่มีต้นทุนชีวิตติดลบมานานแล้ว จากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและความเสียหายจากภาวะสภาพภูมิอากาศ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินชาวนาและเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74  รวมถึงยังมีหนี้งอกออกมาจากโครงการพักชำระหนี้ของรัฐ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้พักด้วย เข้ามาซ้ำเติมจนเกิดเป็นหนี้สะสม  

การปลูกข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 100% และจะปรับสูงขึ้นแบบขั้นบันไดอีกไม่ต่ำกว่า 20% การปรับตัวของชาวนาหากมีการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตการทำนาลดลงจาก 4,000 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,000 บาทต่อไร่ (ที่มา: สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย 25 เม.ย. 2565 )

การปรับตัวของชาวนาและคนจน รับมือต้นทุนชีวิตแพง

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงหรือขอความร่วมมือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต่างปรับตัวและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายตามเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็น หารายได้เสริม วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า เกษตรกร แรงงานและประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งก็เผชิญปัญหา “รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น” จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แถมคนส่วนหนึ่งยังตกงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าแรง ทั้งนี้ทางออกต่อวิกฤตปัญหาปากท้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพต้องมองทั้งระดับปัจเจกและโครงสร้าง ต้องมองไกลไปกว่าการ “ปรับพฤติกรรม” หรือ ““ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาลคือนโยบายการลดและบรรเทาภาระความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การลดต้นทุน/ภาระค่าครองชีพ ควบคู่กับการนำเม็ดเงินจากภาครัฐมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และจับต้องได้นั่นคือ “เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น” เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนมีรายได้มาสู้กับภาวะต้นทุนชีวิตแพงทั้งแผ่นดิน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 3 พ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

การปรับตัวของชาวนาไทย

ThaiRiceFarmerAdabtation การปรับตัวของชาวนาไทย                                    

 พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2561 

 บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ 

 กองบรรณาธิการ : รศ.สมพร อิศวิลานนท์, 

 ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์, รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์, 

 นันทวัน หาญดี, สมจิต คงทน, วรากร น้อยพันธ์, 

 อารีวรรณ คูสันเทียะ, ธีระพงษ์ วงษ์นา, ประพันธ์ โพธิ์พูลพรหม 

 ฝ่ายประสานงาน : นาขวัญ สกุลลักษณ์

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)  

    download

   

   

 

 

 

"งานศึกษาชิ้นนี้ได้บ่งบอกว่า หากภาครัฐต้องการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร

เพื่อให้มีพลวัตรไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่สะสมมายาวนาน

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากไปกว่านโยบายระยะสั้น

และเห็นคุณค่าของการลงทุนทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านความรู้

ทุนด้านความคิด ด้านเครือข่าย เงินทุนที่มีความยั่งยืน และการจัดสรรที่ดิน

เพื่อให้โอกาสทำกินแก่เกษตรกร เพื่อการลงทุนด้านสังคมทั้งหมดนี้

ในท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพ

เพื่อให้การปรับตัวขอ่งชาวนาและเกษตรกรไทย.....

เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน"

        

การพัฒนาภาคเกษตรกรรมสู่ชีวิตวิถีใหม่

RiceHarvestingBangkud

เรารู้จักคำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ นิวนอร์มอล (New Normal)  กันมากขึ้นภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเพราะเราต้องรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผิดแผกและแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เช่น ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เข้าจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ใช้บริการส่งของถึงบ้าน เรียนออนไลน์ และทำงานจากที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น  แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” มีอยู่แล้วและเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดโควิด-19 นั่นคือ ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การบริหารจัดการเงินตรา การทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น  การซื้อขายสินค้าออนไลน์  หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า  เป็นต้น

      ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งมีจุดเร่งจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนจีดีพีสูงสุดถึงร้อยละ 60  รวมถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด 

     วิถีเดิมของชุมชนเกษตรกรรม  คนยึดอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเป็นคนสูงอายุและเรียนจบไม่สูงมาทำอาชีพนี้  แต่ปัจจุบันคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก  ก็ลาออกหรือหันกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรในยุคใหม่กันมากขึ้น  เนื่องจากไม่ต้องดิ้นรนแข่งกับใคร  เป็นนายของตนเอง  และนอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการจัดการทั้งในระดับไร่นา  การซื้อขาย  และยังสามารถจัดการอาหารที่ปลอดภัยให้สำหรับตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น 

    เนื่องด้วยวิถีการทำการเกษตรยุคเก่าที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้กันมาก เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและหลักประกันด้านราคาและรายได้  ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารยุคใหม่  ชาวนายุคเก่าจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ พัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์กับผู้บริโภค เช่น การริเริ่มโครงการลงขันทำนา  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าร่วมลงหุ้นหรือลงขันในการทำนาระบบอินทรีย์  โดยผู้บริโภคจ่ายเงินลงทุนให้ชาวนาก่อน (ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำนาด้วยตนเอง  เมื่อจบฤดูกาลก็สามารถได้ข้าวไปบริโภคในครอบครัวของตนเองได้  นอกจากนี้อาจมีโครงการลงขันกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การลงขันปลูกผักอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของตนเองและครอบครัว เป็นต้น

     “วิถีใหม่”  เป็นกระบวนการจัดการผลผลิตล่วงหน้า  และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร  เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตจะมีการลงทุนด้วยเงินส่วนของเกษตรกรไม่มากนัก  การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มออกเงินให้ก่อน  จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปเสี่ยงเข้าสู่ระบบสินเชื่อหรือกู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางที่คิดดอกเบี้ย ผลกำไรและทำสัญญาไม่เป็นธรรม  เกษตรกรมีตลาดที่จะรองรับผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านอาหารหรือสินค้าด้านต่าง ๆ 

      เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน  ความทันสมัยด้านเทคโนโลยี  และความรู้ภูมิปัญหาดั้งเดิมของคนยุคก่อน  จำเป็นต้องนำมาผสมผสานกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ วิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมและการตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน พึ่งพาตนเอง ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ รวมถึงการผสมผสานพลังของเกษตรกรรุ่นเก่ากับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวใจและแรงงานหลักที่สำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในอนาคต รวมถึงการพัฒนาให้เกิดหุ้นส่วนความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีความยั่งยืนร่วมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ต.ค. 2563

การอุดหนุนชาวนานักอนุรักษ์

ReservervationRiceFarm

ประเทศไทยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกมากที่สุด ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงสุดเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Rice Cropping Intensity) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภาพการผลิตสูงนั้น ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสุขภาพของชาวนาและเกษตรกรจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้รับความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีตกค้างในผลผลิตที่มาจากการเพาะปลูกแบบเข้มข้น

รวมถึงสถานการณ์ผลกระทบการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตภัยแล้ง วิกฤตฝุ่นควัน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการกล่าวถึงแนวคิด “การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยมีโจทย์สำคัญคือแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำนาหรือทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ สู่วิธีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ เป็นทางเลือกหนึ่งของการเกษตรยั่งยืน การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบเชิงลบ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านสินค้าและบริการผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าเอกชน และสินค้าและบริการที่ไม่ผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าสาธารณะ ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปของบริการทางสิ่งแวดล้อมที่ให้แก่สังคมโดยรวม อาทิเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตร การเพิ่มคุณค่าของเกษตรภูมิทัศน์ การป้องกันน้ำท่วม ความมั่นคงและความปลอดภัยในอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวนาและชุมชนเกษตรกรรม

ทั้งนี้แนวคิดการทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ ควรเป็นไปอย่างสอดคล้องระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ นั่นคือความสอดคล้องระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวแบบเข้มข้น สู่การลดและเลิกการใช้สารเคมี การอนุรักษ์ดิน น้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มความหลากหลายของพืชพรรณในนาข้าวให้มีพืชร่วม พืชยืนต้น พืชหมุนเวียนในแปลงนามากขึ้น  

แม้ว่าด้านหนึ่งชาวนาจะสามารถใช้ประโยชน์ทางตรงด้านอาหาร และลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการพึ่งพาพืชผักที่ตนเองปลูกและเก็บหาจากธรรมชาติมาบริโภค (จากที่เมื่อก่อนไม่กล้านำพืชผักในแปลงนามาทำอาหาร เนื่องจากกลัวพิษภัยจากสารเคมีที่ตนเองและคนในชุมชนใช้) รวมถึงช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร แต่อีกด้านหนึ่ง คือ ต้นทุนดำเนินการปรับเปลี่ยน ต้นทุนค่าสูญเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยน และการหารายได้เพิ่มของชาวนาด้วย

มาตรการและแนวทางอุดหนุนชาวนานักอนุรักษ์

ที่ผ่านมาภาครัฐไทยมีมาตรการอุดหนุนแก่ชาวนาและเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ เช่น นโยบายเกษตรอินทรีย์/นาแปลงใหญ่ โดยเน้นการสนับสนุนด้านเทคนิคและการจัดหาปัจจัยการผลิตรวม รวมทั้งการส่งเสริมการตลาด ซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาตรการอุดหนุนส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้น ยังขาดการยอมรับและไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาไทยมีปัญหาพื้นฐานหลายเรื่องรุมเร้าที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะยาว

ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบทเรียนและประสบการณ์การนำนโยบายการเกษตรเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ. 2000  ในงานศึกษาเรื่อง การเกษตรเชิงพหุภารกิจ : แนวคิดมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีข้อเสนอแนวทางมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในการนำมาปรับใช้ทั้งในระดับฟาร์มและระดับชุมชนในประเทศไทย ดังนี้  

การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์เช่น การให้ทุนอุดหนุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่การเกษตรอินทรีย์ และต้นทุนค่าเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนที่ไม่ก่อประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร การให้เงินทุนสนับสนุนระยะยาวที่ครอบคลุมทั้งในช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยนและการคงไว้ของการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้อัตราการอุดหนุนต่อพื้นที่ที่ผันแปรตามชนิดของพืช

การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม การให้เงินสนับสนุนโดยตรงเพื่อส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดินและน้ำ เช่น แถบหญ้าป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การปลูกพืชคลุมดิน

การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการกระทำร่วมกันของชุมชนในการส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนเช่น การให้ทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เกษตร โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาและนำเสนอแนวทางเพื่อการจัดการทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชน

นอกจากนี้ที่สำคัญคือการจัดตั้งกลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับและส่งเสริมการดำเนินมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นได้จริงและประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย การจัดตั้งหน่วยงานที่มีการบูรณาการหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อรับผิดชอบในการกำหนดและดำเนินมาตรการให้แรงจูงใจทางการเงินในการสนับสนุนการเกษตรเชิงอนุรักษ์ การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำกับดูแล การมีส่วนร่วมและร่วมมือของภาคประชาชนส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชน การเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักทางด้านการเกษตรและการจัดการสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือความพร้อมด้านงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นในการขับเคลื่อนมาตรการการให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 มี.ค. 2564

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ฉุด! วงจรข้าวประเทศไทย ออกจากวังวนข้าวตกต่ำ ฉาย “ฉากทัศน์” ปรับนโยบายข้าวก่อนสาย

PlantingRice

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ยุคสมัยเปลี่ยน คนเริ่มให้ความสำคัญกับข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวคุณภาพ รสชาติอร่อย เน้นสะดวกมากขึ้น TDRI เปิด 4 ฉากทัศน์ข้าวไทย ย้ำ รัฐต้องมีผู้ร่วมสนับสนุนและนโยบายส่งเสริมอีกมาก เพื่อพ้นวังวนข้าวตกต่ำ

ในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับโลก แต่เวลานี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะข้าวไทยเริ่มไร้อันดับ และที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าว จากเดิม 10 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 4-5 ล้านตันเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ รายได้ของชาวนาเริ่มผันผวน จำนวนเกษตรกรลดลง แต่กลับมีหนี้สินเพิ่ม อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ยากจะควบคุม

ข้าว

รศ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวจาก 10 ล้านตัน เหลือ 4-5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ รายได้ของชาวนาก็ผันผวนมาก เป็นปัญหาที่อยู่เฉยไม่ได้ อนาคตของชาวนาไทย รายเล็ก รายกลาง ควรเป็นเรื่องต้องคิดต่อ ซึ่งจากการทำวิจัยมาทุกปี ทำให้เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และต้องหาทางสร้างนโยบายรองรับ ขณะเดียวกันเกษตรกรมีจำนวนลดลง คนหนุ่มสาวเปลี่ยนอาชีพ ส่งผลให้องค์ความรู้ลดลง ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบมากกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกร ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นนอกเขตชลประทานหรือในเขตชลประทาน 4 ฉากทัศน์ จากบางส่วนของการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ทิศทาง คือ ต้องมีผู้ร่วมสนับสนุน ส่วนภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายมาหนุนเสริมอีกมาก

สำหรับฉากทัศน์แรก คือ ภาพอนาคตในอีก 5- 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นฉากทัศน์เหมือนปัจุบัน คือ เกษตรกรมือถือ คือ ทำงานบางเวลา ใช้มือถือจ้างคนทำนา อันนี้คือในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ จะสูญเสียความสามารถไปหลายเรื่อง ซึ่งรุ่นหลังก็ไม่อยากทำต่อ

ส่วน ฉากทัศน์ที่สอง เกษตรกรที่ทำแบบดั้งเดิม บางครั้งจ้างคนทำ มีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น กรณีภาคอีสาน ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ใช้วิธีผลิตแบบดั้งเดิม และขายได้ในราคาที่สูงมากกว่าท้องตลาด ร้อยละ 30%

“เราจะหากลุ่มแบบนี้ยากมากที่ประสบความสำเร็จ แต่กระบวนการคิด จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาต่อ เพราะอนาคตฉากทัศน์ใหม่อาจมาจากเกษตรกรมืออาชีพเดิม หรือกลุ่มอาชีพใหม่มาเป็นเกษตรกร”

 
 

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา กล่าวว่า การใช้ฉากทัศน์ทำให้เห็นว่าถ้าไทยไม่ทำอะไร จะเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ แต่การใช้ฉากทัศน์ ทำให้มีทางเลือกที่จะพัฒนา หรือทิศทางว่าจะขับเคลื่อนชาวนาไปสู่อะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์ที่เน้นการแข่งขันมากขึ้น และประสิทธิภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเพิ่มมูลค่าจากตลาดระดับบน บางคนอยากปรับปรุงคุณภาพให้ผลผลิตมากขึ้นและต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันในตลาดทั่วไป แต่บางคนก็อยากเน้นตลาดท้องถิ่น ที่อยากตอบโจทย์ในแง่ของคุณภาพความปลอดภัยและไม่ได้เน้นต่างประเทศ ดังนั้น เวลามอง 4 ฉากทัศน์ แล้วสะท้อนต่อเชิงนโยบาย ได้ว่า จุดนี้จะมีเกษตรกรค่อนข้างหลากหลายในบริบทของประเทศไทยที่ต้องพัฒนาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่มีนโยบายเดียว แล้วใช้ทั้งประเทศ

สำหรับประเด็นหนี้สินเกษตรกร ที่ต้องปรับพร้อมฉากทัศน์ การปรับโครงสร้างหนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ควรจะเป็นการลดหย่อนหนี้ แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะเปลี่ยนเกษตรแบบเดิมไปเป็นอย่างอื่น หรือเปลื่ยนพื้นที่เกษตรกรให้เพิ่มมูลค่าทางการเงินมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ปลูกต้นไม่มีมูลค่า หรือ เอาไปเป็นที่ตั้งของแผงโซลาเซลล์และขายไฟให้เข้ากับระบบไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมย้ำว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทางเลือก เพียงแต่น่าจะมีทางเลือกอื่น เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง สร้างความสมดุลในภาคการเกษตร

ข้าว ชาวนา

ที่มา : The Active ThaiPBS วันที่ 13 มี.ค. 2565

 

ชาวนากับอาชีพเสริม บทเรียนการปรับตัวเพื่อแก้หนี้ชาวนา

boonchoomaneewong

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/n0FmVbECz5A}

ขอขอบคุณ

บุญชู มณีวงษ์
กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
 
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผลิตโดย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

 

ชาวนายุคโควิด ชีวิตมีหนี้ นักวิชาการระดมหาทางออก แนะรัฐร่วมหนุนทุกมิติ

FarmerDebtSeminar2021

งานศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบเกษตรกรมีปัญหาชำระหนี้จากสถานการณ์โควิด ซ้ำถูกเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบเพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แนะภาครัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร สร้างกติกาให้ชัด ปรับสินเชื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิต

23 ก.พ. 2564 มูลนิธิชีวิตไทจัดโครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่มีภาวะหนี้สินสูง เฉลี่ย 3.4 ก้อน และมีหนี้คงค้างเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน โดยครัวเรือนร้อยละ 50 มีหนี้สินคงค้างเกิน 300,000 บาท และร้อยละ 30 มีหนี้สินคงค้างเกิน 600,000 บาท โดยมาจาก 3 แหล่งหลัก คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้าน และหนี้นอกระบบ

จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาในปี 2563 พบว่า ทำให้เงินโอนจากสมาชิกในครัวเรือนชาวนาลดลงจากปกติเฉลี่ยเดือนละ 5,309 บาท เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 2,541 บาท ทำให้ครัวเรือนเกษตรเกือบร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ นำเสนอ งานศึกษาบทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เกษตรกรไม่มีความเข้ารู้เรื่องกฎหมายและไม่ตระหนักถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผลสุดท้ายจึงจบลงด้วยการประนีประนอมที่ฝ่ายโจทก์หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบและเกษตรไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่มักใช้วิธีแปลงให้เป็นหนี้ในระบบด้วยการนำใบมอบอำนาจไปจดจำนองที่ดินของเกษตรกรเอง

เพ็ญนภากล่าวว่า หากเกษตรกรมีนักกฎหมายคอยช่วยเหลือแนะนำจะช่วยให้เกิดการประนีประนอมที่เป็นธรรมกับฝ่ายจำเลยมากขึ้น

ด้านจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่อง “บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร” กล่าวว่าปัจจัยส่วนบุคคลของตัวเกษตรกร เช่น ความซื่อสัตย์ การใจสู้ และครอบครัวที่คอยสนับสนุนมีผลต่อการชำระหนี้ พร้อมกับต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหารายได้เสริม ประหยัดต้นทุน และเรียนรู้วิธีบริหารจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้ บทบาทของผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังมีส่วนสำคัญมากอีกด้วย

จารุวัฒน์เสนอว่าภาครัฐจะต้องจัดทำแนวทางพัฒนาเกษตรกรใน 3 ด้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านทุนสนับสนุน และด้านข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกษตรกรจะออกจากวงจรหนี้หรือบรรเทาลงได้ต้องปรับตัวใน 2 ด้านหลักคือการปรับตัวในการผลิตสู่ระบบอินทรีย์ ตั้งแต่การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับระบบเกษตรกรรมสู่การทำนาอินทรีย์ ปรับตัวสู่การเป็นชาวนานักคัดและปรับปรุงพันธุ์ข้าว อีกด้านคือการพัฒนาช่องทางการตลาดผลผลิตอินทรีย์ให้หลากหลาย

ด้าน ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรหนี้สินคือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อทางการเงินที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะอาชีพ ดังนั้น เธอจึงเสนอว่าสินเชื่อและการชำระหนี้ของเกษตรกรควรมีความยืดหยุ่น เช่น ชำระตามรอบการผลิตเพื่อให้รอบรายรับกับรายจ่ายในการทำเกษตรได้สอดคล้องกันมากขึ้น หรือมีการกำหนดแรงจูงใจอย่างการลดดอกเบี้ยบางส่วน การลดต้นลดดอก หรือมีรางวัลให้กับเกษตรกรที่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ก่อนครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค. สำหรับหนี้ ธ.ก.ส. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องให้องค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้สินแก่เกษตรกร การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างการทำประกันภัยพืชผลหรือการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลในพื้นที่มาประมวลผลเพื่อคำนวณแนวโน้มผลผลิตในแต่ละรอบการผลิต

ในส่วนเกษตร บุญชู มณีวงษ์ จากกลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี และสุนทร คมคาย จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ที่ปรับตัวจนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มีแนวทางคล้ายคลึงกันคือการเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เสริมผ่านช่องทางต่างๆ  จนหนี้ที่มีอยู่บรรเทาลงไปมาก
“ผมคิดว่าการทำเกษตรอาจต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดการ ตอนกู้ก้อนโตอาจต้องวางแผนใช้หนี้เพราะบางอย่างต้องอาศัยเวลา เช่น การกู้มาพัฒนาแหล่งน้ำหรือที่ดินจะไม่ให้รายได้ในเร็ววัน แต่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก แล้วในวงการเกษตรมันแปรปรวน มีความเสี่ยงสูง ผมมีความรู้ ทำเกษตรเป็น ช่วงแรก ๆ ก็แทบเอาตัวไม่รอด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สำคัญสุดคือการตลาด เราจะชัดเจนว่าจะปลูกอะไรและขายได้แน่นอน ลดความเสี่ยงว่าจะใช้หนี้ไม่ได้ ทำช่องทางผลิตให้มีความหลากหลายและรู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่” สุนทรกล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นำเสนอนโยบายและกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 3 ขั้นตอนว่า ขั้นตอนแรกต้องปรับแก้กติกาหรือสัญญาสินเชื่อ ระบบติดตาม และบังคับหนี้สินให้มีความเป็นธรรม เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินแสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ย ปรับ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส ต้องเข้มงวดกับการห้ามทำสัญญาเงินกู้ใหม่ที่รวบเอาเงินต้นและดอกเบี้ยเดิมมาเป็นยอดเงินต้นก้อนใหม่

ประการที่ 2 ต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สินโดยกลไกปกติ การเพิ่มแรงจูงใจของสถาบันการเงินและลูกหนี้ในการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการฟ้องร้องดำเนินคดี

และประการสุดท้าย ต้องเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร เช่น การเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความแน่นอนมากขึ้น การจัดการโครงสร้างการผลิตให้สามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับโครงการสร้างการผลิตและการตลาด

ที่มา : citizenthaipbs.net วันที่ 24 ก.พ. 2564

 

ถอดรหัสบทเรียนชีวิตหนี้ชาวนาไทย โอกาสท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

DecryptThaiFarmerDebt

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง และปัญหาของภาคเกษตรกรรมที่สะสมอยู่มากมาย ทั้งเกษตรกรที่อายุมากและมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้น ขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำลงเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทแม้จะสูงวัยแล้วก็ตาม หนำซ้ำยังขายผลผลิตได้ยากขึ้นเพราะการปิดตลาดและระบบขนส่งที่หยุดชะงักจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยาหรือให้กู้ยืมเงินระยะสั้น แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ที่เหมือนการ “สร้างหนี้เพิ่มมากกว่าช่วยแก้หนี้” แล้วสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องกลับมาติดกับดักของวงจรหนี้สินเหมือนเดิมหรือหนักหนากว่าเดิม

จากการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชาวนาในภาคกลางที่มีปัญหาหนี้สิน สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อวิถีสุขภาวะ โดยมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า เมื่อชาวนาเริ่มมีหนี้สินและไม่สามารถบริหารจัดการได้ ผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร้เป้าหมาย บางรายมียอดหนี้กว่า 45 % ของรายได้ ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน จำไม่ได้ว่ามีหนี้เท่าไร หรือกลัวคนอื่นรู้ว่ามีหนี้ ต้องพยายามกู้หนี้ใหม่มาผ่อนหนี้เก่า รวมถึงมีหนี้เยอะจนเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นลักษณะวิกฤตซ้อนวิกฤตต่อปัญหาหนี้สินของชาวนา แต่ก็ยังแฝงด้วย “โอกาสที่มาจากภาวะวิกฤต” ซึ่งบีบบังคับให้ชาวนาได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับแนวคิด และสร้างภูมิต้านทานเพื่อบริหารจัดการชีวิตหลายด้านให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤต

เริ่มจากตัวชาวนาเองต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา พร้อมที่จะเปิดใจและปรับตัวเพื่อยกระดับจากชาวนาวิถีดั้งเดิมผู้เป็นแรงงานในไร่นาที่มีรายได้ต่ำและหนี้สินสูง สู่การเป็น “ชาวนาผู้ประกอบการ” ที่กล้าลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้หนึ่งสมองสองมือสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ บนฐานของความเป็นเกษตรกร ที่มีเป้าหมายการผลิตและพัฒนาช่องทางการตลาดได้เอง มีแผนธุรกิจแก้หนี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการทบทวนชีวิตแต่ละด้านเพื่อเรียนรู้จุดเด่น-จุดด้อยของตนเอง รู้จักการคำนวณต้นทุน บันทึกค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยเพื่อกำหนดราคาขายและหาแนวทางการลดต้นทุน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนารูปแบบการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง

เมื่อปัญหาหนี้สินชาวนาถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ผลที่ตามมาคือความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งพบว่าชาวนาและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้สร้างปัจจัยการบริหารจัดการชีวิตหนี้ที่น่าสนใจ สามารถช่วยบรรเทาหนี้ หรือปลดหนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมา ได้แก่

          - ตัวตนของเกษตรกร ต้องไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เป็นนักสู้ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีเจตนารมณ์แน่วแน่เพื่อรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน โดยคนในครอบครัวพร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยา และดูแลซึ่งกันและกัน

          - ต้องพัฒนาศักยภาพการเพิ่มรายได้ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม ลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนการผลิตให้ปลูกพืชที่หลากหลายชนิด หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่อยู่บนพื้นฐานอาชีพและทักษะที่เชี่ยวชาญ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

          - ต้องบริหารจัดการทุนตั้งต้น ที่ไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม เงินสนับสนุนหรือเงินเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนที่มาจากการจัดการระบบการเงินที่ดี การเก็บออมเพื่อสร้างอาชีพ ผนวกกับความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่มี ผสมผสานการแสวงหาความรู้และนวัตกรรมใหม่

          - ต้องบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ ปลูกพืชผลที่หลากหลายชนิด ทำเกษตรปราณีต ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์เต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

          - ต้องรู้เท่าทันหนี้ เข้าใจเงื่อนไขของเจ้าหนี้ แหล่งเงินกู้ และเอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อการบริหารระบบการเงินและกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับรายรับตามช่วงฤดูกาลการผลิต วางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีแผนอุดช่องโหว่ต่อสาเหตุการผิดนัดชำระหนี้

          อีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และดูเหมือนว่าอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพของผู้สูงวัยไปโดยปริยาย ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง การขาดแรงงานรุ่นใหม่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ และส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหลานเกษตรกรเสี่ยงต่อการถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างงาน จนไม่สามารถส่งเงินกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ และการจะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อมาเป็นเกษตรกรก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก

แต่ก็เป็นโอกาสดีเพราะพบว่ามีแรงงานคุณภาพที่มีแนวคิดใหม่ ๆ พร้อมทำงานและเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสู่ภาคเกษตรกรรม ได้นำประสบการณ์ ความรู้ และสินทรัพย์ของชาวนารุ่นเก่า มาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ๆ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนารุ่นเก่าได้กล้าปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร ยอมรับและทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบกลไกการยกระดับการผลิต นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้อย่างเหมาะสม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ช่องทางการตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติผ่านวิกฤตร่วมกันมา ทั้งสงคราม การก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมา หากแต่เราจะเติบโตและก้าวไปสู่การใช้ชีวิตต่อไปแบบวิถีปกติใหม่ (new normal) ด้วยความเข้าใจและมั่นคง ซึ่งไม่ว่าวิถีนั้นจะนำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง การเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความอยู่รอดและความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของชาวนาและภาคเกษตรกรไทยได้    

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มี.ค. 2564

ปุ๋ยอินทรีย์ ทางเลือกเกษตรกรยุคปุ๋ยเคมีแพง

Po Thueng

สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในรอบ 1 ปีที่่ผ่านมา  ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25-30 ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด หรือมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 1,500-2,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ขยับสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศไทยพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นหลัก ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี (N-P-K) มีมูลค่ามากถึง 70,102 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิเช่น การอุดหนุนราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำได้เพียงระยะสั้นและมีข้อจำกัด  ทั้งนี้ยังมีทางเลือกการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งควรดำเนินการส่งเสริมควบคู่กับการให้ความรู้แนวทางการจัดการการเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและมีรายได้เพิ่มขึ้น

แนวทางการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม

ก่อนเริ่มต้นใส่ปุ๋ยหรือนำวิธีการปรับปรุงบำรุงดินมาใช้ในแปลง อันดับแรกเกษตรกรต้องรู้จักสภาพดินของตนเอง โดยนำตัวอย่างดินในแปลงของตนเองมาตรวจวิเคราะห์ ขั้นตอนคือ ขุดดินแต่ละจุด ลึก 1 หน้าจอบ จำนวน 9 จุด กระจายให้ทั่วทั้งแปลง จากนั้นนำดินทั้ง 9 จุด มาผสมกันแล้วตากให้แห้งในที่ร่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และร่อนจนละเอียด แบ่งดินมาเพียงครึ่งกิโลกรัมเพื่อมาใช้สำหรับการตรวจ จากนั้นนำตัวอย่างดินที่เก็บมาเรียบร้อยแล้วส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน ซึ่งในรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกอยู่ด้วย

จากนั้นจะนำไปสู่ขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเริ่มจากการมีองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของปุ๋ยแต่ละชนิดว่ามีแร่ธาตุอย่างไร ด้วยการประยุกต์จากวัสดุเหลือใช้ในแปลง ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ เศษอาหาร เศษใบไม้ ขี้เถ้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ 3 ชนิดหลัก ดังนี้ 1) P คือ ฟอสฟอรัส พบมากในปุ๋ยมูลหมู วัว แพะ เหมาะกับพืชกินผล ให้ดอก 2) N คือ ไนโตรเจน พบในปุ๋ยมูลไก่ เป็ด ใช้เพื่อการบำรุงกิ่ง ใบ ราก เหมาะกับพืชกินใบ 3) K คือ โพแทสเซียม พบมากในขี้เถ้าแกลบ (ที่มา : รายงานการฝึกอบรมเรื่องแนวคิดและเทคนิคเกษตรทางเลือกกับการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดย อ.เกศศิรินทร์  แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร )

เราสามารถได้ธาตุอาหารสำหรับพืชจากปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช คำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน มีดังนี้ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก) อัตรา 2-3 ตันต่อไร่/ปี และไถกลบปุ๋ยพืชสดร่วมด้วย ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเสริมสร้างอินทรียวัตถุให้ดิน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพ ทำให้โครงสร้างดินดี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช และการไถกลบพืชปุ๋ยสด ทำโดยก่อนปลูกพืช หว่านพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ หว่านปอเทือง, โสนแอฟริกัน 4-6 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพร้า 4-10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพุ่ม 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) แล้วไถกลบระยะออกดอก ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ (ประมาณ 15-20 วัน) ก่อนปลูกพืช ซึ่งการไถกลบพืชปุ๋ยสดเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุแก่ดินได้  

สำหรับแนวทางการฟื้นบำรุงดินหรือปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง แหนแดง 1  กิโลกรัมต่อแปลง 1 ตารางเมตร จะช่วยลดความเป็นกรดและดินเปรี้ยวได้ และหากผสมแหนแดง 1 กิโลกรัมต่อมูลวัว ครึ่งกิโลกรัม ต่อ  1 ตารางเมตร จะช่วยตรึงไนโตรเจนในดินทำให้ปลูกผักได้ดี การใช้แหนแดงในการตรึงดินเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย เพราะแหนแดงจะไม่เติบโตในพื้นที่ที่เคยใช้ยาฆ่าหญ้าหรือมีสารเคมีค้างอยู่ แหนแดงยังมีคุณสมบัติอีกมากมายและสามารถใช้ควบคุมหญ้าแทนพาราควอตได้อีกด้วย

นอกจากการปรับปรุงดินให้เหมาะกับพืชที่ปลูกแล้ว การดูแลแปลงก็เป็นส่วนสำคัญ โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคนิคการห่มดินหรือการคลุมดินด้วยฟาง หญ้า หรือแฝก ที่เหลือจากการทำนา เพื่อให้ดินรักษาความชื้นและเป็นการหมักดินได้ดี ใช้เวลาอย่างน้อย 15 วันในการเตรียมแปลงเพื่อให้กระบวนการหมักสมบูรณ์ก่อนเริ่มเพาะปลูกแต่ละรอบ

จะเห็นได้ว่าแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดินทดแทน เป็นทางเลือกในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตในภาวะราคาปุ๋ยเคมีแพงได้อย่างมาก ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อธรรมชาติ  และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยแรงจูงใจสำคัญของเกษตรกรเพื่อปรับตัวรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้น 

ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้ทำเอง จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยอินทรีย์อาจแพงกว่าปุ๋ยเคมี นอกจากนี้เกษตรกรต้องรู้จักบริหารจัดการการเพาะปลูกโดยลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ทำได้เองควบคู่ไปด้วย เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การปรับปรุงบำรุงดิน ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์รายได้ที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนด้านแรงงานและการใช้เวลาของเกษตรกรจากแนวทางการปรับตัวครั้งนี้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 พ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ภาวะสงคราม ปุ๋ย-น้ำมันแพง วิกฤตแห่งโอกาสที่ “ชาวนา” ต้องปรับตัว

 BoonchuManeewong

จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของเกษตรกรมีราคาสูงขึ้น เมื่อดูราคาเปรียบเทียบปุ๋ยเคมีในปี 2565 ที่ปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีราคาอยู่ที่กระสอบละ 700 บาท แต่ในปี 2565 มีราคาอยู่ที่กระสอบละ 1,300-1,600 บาท และราคาน้ำมันที่ในปีที่แล้วราคา 23-35 บาทต่อลิตร แต่ในปี 2565 ราคาอยู่ที่ 35-45 บาทต่อลิตร จากราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูง ชาวนาบางพื้นที่ต้องหยุดทำนาชั่วคราวเนื่องจากแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว ชาวนาบางรายต้องเสียค่าเช่านาเนื่องจากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และชาวนาหลายคนมีภาระหนี้สินจำนวนมาก และอยู่ในวงจรเงินเชื่อปัจจัยการผลิตและการหมุนหนี้ ส่งผลให้การปรับตัวยาก

ความท้าทายของชาวนาและเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินในการปรับตัวลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เพียงการปรับเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีราคาแพงมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น แต่ต้องปรับระบบการผลิตอินทรีย์ สู่การผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  ซึ่งการปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา ผลผลิตข้าวอาจลดลง นั่นอาจหมายถึงรายได้ที่ลดลง โดยมีตัวอย่างความพยายามของกลุ่มชาวนาที่มีหนี้สิน และปรับรูปแบบการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้จากการขายข้าวด้วยตนเอง กลุ่มพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีประธานกลุ่ม คุณบุญชู มณีวงษ์ ได้บอกเล่าว่าทางกลุ่มได้ปลูกข้าวแบบลดต้นทุนภายหลังประสบปัญหาปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ดังนี้

ต้นทุนการทำนาเปรียบเทียบรอบก่อนและหลัง ปี 2564 และ ปี 2565 ดังนี้ 1. ค่าไถดะ ไถแปร ลูบเทือก ราคาค่าจ้างอยู่ที่เดิมไร่ละ 500 บาท ปัจจุบันไร่ละ 600 บาท 2. เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ไร่ใช้เมล็ดพันธุ์หอมมะลิ 25 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น 800 บาทต่อไร่ ราคาเท่าเดิม 3. ค่าจ้างหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้แรงงานตนเอง 4. ค่าปุ๋ย 1 ฤดูให้ปุ๋ย 3 รอบ ให้อย่างต่ำครั้งละ 25 กิโลกรัม   (ครึ่งกระสอบ) ต่อไร่ โดยราคาปุ๋ยชีวภาพกึ่งเคมีเดิมอยู่ที่ 700-800 บาทต่อกระสอบ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,200-1,300 บาทต่อกระสอบ คิดเป็นต้นทุนต่อฤดูกาลอยู่ที่ 1,200-1,300 บาทต่อไร่ แต่หากดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นก็อาจปรับมาใช้ปุ๋ยชีวภาพเต็มรูปแบบราคาจะอยู่ที่ 500 บาทต่อกระสอบ 5. ค่าจ้างหว่านปุ๋ย ใช้เรงงานตนเอง  6. ค่าฮอร์โมนเร่งใบ ขวดละ 400-600 ต่อไร่อยู่ที่ 50-100 บาท 7. ค่ารถเกี่ยวข้าว 500 บาทต่อไร่ 8. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเดิมอยู่ที่ 1,300 บาทต่อไร่ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,785 บาทต่อไร่ โดยคำนวณต้นทุนการทำนาทั้งหมดจะอยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่ และผลผลิตข้าวที่ได้ต่อไร่จะได้ 600-800 กิโลกรัม ซึ่งหากทำนาปกติแบบไม่ลดต้นทุนก็มีจะต้นทุนอยู่ที่ 6,000-6,500 บาทต่อไร่ และหากมีค่าเช่านาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก การปลูกข้าวแบบลดต้นทุนถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 1,000 บาทต่อไร่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ด้วยวิกฤตต้นทุนการทำนาที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 บุญชูและสมาชิกกลุ่มฯ  ได้ลดการทำนาลงจากการทำนา 3 ครั้งต่อปี มาเป็นทำนา 2 ครั้งต่อปีแทน โดยถือเป็นการพักหน้าดินและระหว่างที่พักก็หมักปุ๋ยหมักดิน ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ไว้เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยในรอบการผลิตครั้งต่อไป

บุญชูและสมาชิกกลุ่มฯ จะเน้นเรื่องการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดในการผลิตข้าว เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นทุกวัน นอกจากการทำข้าวแบบลดต้นทุนแล้วทางกลุ่มยังนำข้าวที่ได้มาสีเป็นข้าวสารแพ็กใส่ถุงขายเองอีกด้วย รูปแบบการขายข้าวขึ้นอยู่กับลูกค้า หากเป็นลูกค้าชาวบ้านจะขายบรรจุกระสอบ กิโลกรัมละ 30 บาท หากซื้อถุง 1 กิโลกรัม ราคา 35 บาท และถุงแพ็กแบบสุญญากาศ ก็จะขายที่กิโลกรัมละ 50-55 บาท

บุญชูกล่าวว่า “ทางกลุ่มยังคงขายข้าวราคานี้ แม้จะเจอผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะหากปรับราคาให้สูงขึ้นตามท้องตลาดก็กลัวว่าชาวบ้านและผู้บริโภคที่ซื้อข้าวจากทางกลุ่มจะยิ่งลำบากในช่วงที่สินค้าต่างๆ พากันขึ้นราคากัน ข้อดีของการทำข้าวขายเองคือเรามีข้าวเก็บไว้กินเองด้วย ที่เหลือก็แบ่งขาย ถ้าขายให้โรงสีเป็นข้าวเปลือกจะได้ 6,000-6,500 บาทต่อเกวียน แต่ขายเองเป็นข้าวสาร 13,000-15,000 บาทต่อเกวียน ข้าวที่ทำก็ดีต่อสุขภาพเพราะทำข้าวแบบปลอดสาร จากเดิมด้วยความไม่รู้ อยากจะได้ข้าวปริมาณมากๆ ก็ทำแบบใส่ปุ๋ยเคมีใส่สารเคมี ผลสุดท้ายเราก็ต้องใช้เงินนั้นมารักษาตัวเอง ตอนนี้ชาวนาที่กลุ่มเราปลูกข้าวกินกันเอง เราไม่ค่อยเจ็บป่วย แข็งแรง ทำงานได้ปกติ ดีกว่าเราไปกินข้าวตามท้องตลาดที่เราไม่รู้ที่มาและขั้นตอนการผลิตว่าเป็นอย่างไร”

นอกเหนือจากการทำนา ทางกลุ่มยังให้ความสำคัญกับการสร้างช่องทางรายได้หลากหลายช่องทาง ทำอาชีพเสริมรายได้ ไม่ทำนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ ขนมปังอบกรอบ มะม่วงแช่อิ่ม อัญชันและสมุนไพรอบแห้ง เพื่อเป็นรายได้เสริม รวมถึงการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองกันในครอบครัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

สุดท้ายคุณบุญชู มณีวงษ์ ฝากไว้ว่าชาวนายุคปัจจุบันที่เผชิญภาวะวิกฤตรอบด้าน ทั้งภาวะต้นทุนและปัจจัยการผลิตสูง กำหนดราคาเองไม่ได้ ภาวะหนี้สูง นอกเหนือจากการเรียกร้องเชิงระบบและการปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรม ชาวนาต้องปรับตัวเองด้วยจึงจะอยู่รอด ทั้งปรับตัวด้านการผลิต การตลาด การบริหารการเงินและพึ่งพาตนเองด้านอาหาร จึงจะเกิดความยั่งยืนและมั่นคงในการทำนา ทั้งนี้ข้าวที่ปลูกเรามั่นใจได้ว่าดีต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและคนกิน จึงจะเกิดความอยู่รอดร่วมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิ.ย. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’

PrayutRiceIncome

“…เราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม…”

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว กับโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา’

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 และรัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ งวดที่ 1 ให้กับชาวนาแล้ว 7.86 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,387.06 ล้านบาท และอยู่ระหว่างทยอยโอนเงินงวดที่ 2

ปีนี้ เป็นอีกปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณและวงเงินสินเชื่อ เพื่อดูแลและช่วยเหลือชาวนา 4.56 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 115,588.60 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจ่ายขาด 85,304.60 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 30,284 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 วงเงินจ่ายขาด 23,495.71 ล้านบาท โดยใช้แหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. (วงเงินชดเชยส่วนต่าง) วงเงิน 22,957.37 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 538.34 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826.76 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 4,542.76 ล้านบาท ตั้งเป้าชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 1.5 ล้านตัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท

3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,562.50 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท (เป้าหมาย 1 ล้านตัน) และวงเงินจ่ายขาด 562.50 ล้านบาท

4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 610 ล้านบาท ตั้งเป้าดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน เก็บไว้ในสต๊อก 2-6 เดือน

5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 56,063.63 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจ่ายขาดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4.56 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท และการชดเชยต้นทุนเงินให้ธ.ก.ส. วงเงิน 1,233.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ครม.อนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาด วงเงิน 51,858.14 ล้านบาท จากวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด 85,304.60 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และดึงอุปทานออกจากตลาด ในช่วงที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย.2563

gov rice 22 11 20 1

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนาน ในช่วง 2 ปีการผลิต คือ ปีการผลิต 2562/63 และการผลิต 2563/64 จะใช้เม็ดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 2.21 แสนล้านบาท แต่พบว่าโครงการประกันรายได้ฯ ในปีการผลิต 2563/64 ใช้เงินเพิ่มจากปีการผลิต 2562/63 ไม่มากนัก

โดยโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2563/64 ใช้วงเงินสนับสนุน 115,588 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2562/63 ใช้วงเงินสนับสนุน 106,043 ล้านบาท ทั้งนี้ งบในส่วนการจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกอีก 6,956 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่มเป้าหมายข้าวเปลือกที่เข้าโครงการฯเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน เป็นต้น

rice 22 11 20 2

“ตอนนี้ข้าวหอมมะลิเกี่ยวแล้ว และเดือนหน้าจะเกี่ยวเยอะเลยแถวอีสาน ส่วนข้าวเหนียว ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเหลือไม่เท่าไหร่ก็หมดแล้ว จะมีก็แต่ภาคกลาง ซึ่งข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่ม ข้าว กข. 79 แถวกำแพงเพชร ข้าวหอมมะลินอกเขต อุตรดิตถ์และพิษณุโลกลงมา ตอนนี้ออกเยอะมาก

ซึ่งข้าวหอมมะลิ ถ้าชาวนาได้จากรัฐบาลอีกตันละ 2,900 บาท ก็พอถัวอยู่ได้ ส่วนข้าวขาว ถ้าเราได้จากรัฐบาลอีกตันละ 1,000 บาท จะทำให้ชาวนามีรายได้ตันละไม่ต่ำกว่า 8,000-8,500 บาท ชาวนาก็พออยู่ได้” ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ปราโมทย์ บอกด้วยว่า “ถ้าไม่มีโครงการประกันรายได้ มันจบเลยนะ”

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ชาวนา และมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าต้นทุนเก็บเกี่ยว และค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มาตรการเหล่านี้ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง และเชื่อว่าชาวนาน่าจะพอใจกับรายได้ในขณะนี้

“ตอนนี้รัฐบาลออกมาประกันราคาข้าวเปลือกและมาตรการคู่ขนาน สำหรับชาวนา ผมคิดว่าเขาโอเคนะ รายรับไม่ได้ลดลง แม้ว่าราคาในตลาดจะลง เพราะรัฐบาลประกันราคาให้ ดังนั้น เรื่องราคาข้าวเปลือก ชาวนาได้ผลประโยชน์ตรง และยังได้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท และถ้าขึ้นยุ้งฉางก็ได้อีกตันละ 1,500 บาท” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

อย่างไรก็ดี ในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และถูกคู่แข่งที่แย่งชิงตลาดไปต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตันเท่านั้น

“ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 3-4 ปี เราอาจจะหล่นลงมาเป็นที่ 4-5 ก็ได้…ตอนนี้เรามีคู่แข่ง เมื่อไหร่ราคาข้าวเราสูงเกินไป เราก็ถูกเขาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป” ร.ต.ท.เจริญย้ำ

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการคร่ำหวอดในวงการข้าวมาไม่น้อยกว่า 30 ปี อย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินในโครงการประกันรายได้ ปีการผลิต 2563/64 สูงถึง 1.15 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว พบว่ารัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า และไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้

สมพร เสนอว่า เพื่อลดภาระส่วนต่างการชดเชยรายได้ในโครงการฯ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่จะสร้างเข้มแข็งให้กับ ‘กลไกตลาด’ เพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ตบ’ ราคาข้าวเปลือกให้ลดลงของบรรดาพ่อค้า 

“ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกที่จะสร้างกลไกตลาดให้เข้มแข็งพอ มันยากมากที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะสูงเกินกว่าราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ เพราะเวลาราคาข้าวจะไปถึงเป้าหมาย พ่อค้าจะตบลงมา ตลาดจะตบราคาลงมาให้ต่ำกว่าราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง แต่พ่อค้าจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกที่ลดลง” สมพรเสนอ

สมพร ยังเสนอว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ทำให้ชาวนาข้าวเปลือกได้ในราคา ‘ยุติธรรม’ เพราะปัจจุบันชาวนาขายข้าวเปียก (ข้าวเปลือกที่มีความชื้นมากกว่า 15%) เป็นหลัก แม้ว่าแปลงเป็นราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ได้ แต่จะพบว่าชาวนาไม่สามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งต้องสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนให้โรงสีใช้การซื้อข้าวเปลือก เพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกลงไปอีก

“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะออกมาเยอะ ชาวนาหลายคนต้องการเงินสด พอเกี่ยวเสร็จก็เอาไปขายโรงสีทันที ราคาก็ลง และถ้าโรงสีไม่มีเงินรับซื้อ ราคาก็ตกลงไปอีก เพราะไม่มีคนมาช้อนซื้อ แต่ถ้าโรงสีมีเงิน เขาก็จะไปช้อนซื้อ เพราะรู้ว่าถ้าเก็บไว้ซักพักราคาก็จะเพิ่มขึ้น อย่างข้าวหอมมะลิ ปลายปีราคาก็ขึ้น” สมพรย้ำ

สมพร ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น แม้โครงการประกันรายได้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ แต่โครงการลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ชาวนามีความเข้มแข็งในระยะยาว

“หากไทยทำโครงการประกันรายได้เป็นระยะเวลายาวนาน จะเท่ากับเราแช่แข็งชาวนาให้อยู่กับที่ เพราะแทนที่ชาวนาจะมองหาโอกาสและปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ และต้องถูกล่อให้ติดอยู่กับการปลูกข้าว ซึ่งวันนี้ต้องถือว่าอยู่ในสถานการณ์ข้าวไทยอยู่ในภาวะ ‘โรยรา’ หรือ ‘ชราภาพ’ แล้ว เพราะต้นทุนสูง แข่งขันไม่ได้

และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็แข่งขันไม่ได้อยู่ดี เพราะต้นทุนเราไม่ได้ลดลง วันนี้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว และปีนี้ผมคิดว่าเราอาจจะส่งออกข้าวได้น้อยลงกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป โดยคาดว่าไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 7.5 ล้านตัน” สมพรกล่าว

somporn pic

(สมพร อิศวิลานนท์)

สมพร เสนอด้วยว่า รัฐบาลควรมีมาตรการคู่ขนานอื่นๆ ที่ทำให้ชาวนามีการปรับตัวไปสู่การใช้นวัตกรรมมากขึ้น หันไปปลูกชนิดใหม่ๆ หรือแม้แต่การปลูกพืชผสมผสาน เป็นต้น

“เราอาจใช้เงินไม่มาก ประมาณ 1 แสนล้านต่อปี ซึ่งดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่โอกาสที่เราจะใช้เงินไปทำอย่างอื่นจะหดหายไป และวันนี้ แม้แต่เรื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ หรือการจัดการเรื่องปลอมปนพันธุ์ข้าว เรายังไม่ได้ทำ เพราะเราเอาเงินมาใช้ลักษณะนี้

ซึ่งผมเห็นว่า เราจะต้องเข้าไปยกระดับซัพพลายเชน (ห่วงโซ่การผลิต) ให้ดีขึ้น สร้างกลไกตลาด แม้ว่าเราจะไม่มีกลไกตลาดกลางค้าข้าวแล้ว แต่เราสามารถมี Market place ที่ใช้ระบบไอทีรวบรวมผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่บนออนไลน์ และซื้อขายในรูปแบบออนไลน์ อย่างนี้ก็จะช่วยเกษตรกรได้

และในประเทศที่มีการให้เงินอุดหนุนระยะสั้นแบบที่ไทยทำ เขามีลูกเล่น คือ มีมาตรการคู่ขนานเพิ่มเข้าไป เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ปลูกข้าวปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆคู่ขนานกันไป แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่มีกลไกอย่างนั้น” สมพรกล่าว

สมพร ทิ้งท้ายว่า “การอุดหนุนชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ ในทางการเมืองเขาถือว่าคุ้มค่า ถ้าไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็บอกว่าดีกว่าโครงการรับจำนำ แต่เราต้องคิดถึงความเข้มแข็งของภาคเกษตรด้วย คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่รอด มั่งคั่ง มั่นคง แต่วิธีการอย่างนี้ มันไม่ได้มั่งคั่ง มั่นคง มันมีแต่จะร่วงโรย

และเราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม”

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 22 พ.ย. 2563

สภาเกษตรกรฯ ถกแก้ปัญหาข้าวไทย เน้นแผนผลิตตามตลาดต้องการ ดันชาวนาปรับตัวสร้างอาชีพยั่งยืน

SapaFarmer

ข้าวไทยแข่งไม่ได้ในตลาดโลก!! สภาเกษตรกรฯ ประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ตั้งกลุ่มวางแผนผลิตตามความต้องการ ดันชาวนาปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ

วันที่ 26 ม.ค.65 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนาไทย ครั้งที่ 1/2565 ณ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาว่า เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยพร้อมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 9 สมาคม 1 ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ชาวนา ผลิต กลางน้ำ โรงสี แปรรูป และปลายน้ำ ผู้ส่งออก ตลาด เพื่อจะเตรียมวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไปของชาวนา ทั้งนี้ ด้วยปัญหาหลักของชาวนา ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงไม่คุ้มทุน 2.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 3.คุณภาพข้าวไม่ตรงตามความต้องการของตลาด 4.ขาดการวางแผนร่วมในการผลิต ซึ่งข้อสรุปในที่ประชุมเพื่อเป็นแผนการทำงานต่อไป คือ ตั้งกลุ่มทำงานเพื่อหารือเรื่องแผนการผลิตข้าวในรอบต่อไปว่าควรจะผลิตข้าวสายพันธุ์อะไรบ้าง เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่นๆในแต่ละพื้นที่ โดยนำข้อมูลจากผู้ส่งออกนำไปให้ชาวนาใช้ประกอบ ทั้งเรื่องการผลิต,กระบวนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหลายเครือข่าย/องค์กร มีวิธีลดที่ดีเยี่ยมและครอบคลุมทุกภูมิภาค และการตลาด รวมทั้งการมอบให้ทีมงานลงพื้นที่ไปจัดเก็บ ประมวลองค์ความรู้ทั้งหมด ทุกเครือข่าย ในด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การฟื้นฟูดินหลังจากที่ทำนามาตลอดหลายสิบปี การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพตามลำดับ โดยชาวนาหลายเครือข่ายมีวิธีการฟื้นฟูดินจนสามารถทำให้ดินกลับฟื้นสมบูรณ์เหมือนเดิม ซึ่งทั้งหมดจะจัดเก็บเป็นเอกสาร แล้วนำสู่เวทีประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาข้าวทั้งระบบอย่างยั่งยืน แล้วจักได้นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ สภาเกษตรกรทุกจังหวัดที่มีการทำนาได้นำไปใช้ในพื้นที่ สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคมก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นควรเรื่องการปรับการผลิตของชาวนาให้เข้าสู่ระบบ GAP ทั้งประเทศ ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำงานร่วมกัน และหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำให้ชาวนาปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิต GAP สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อได้รับทราบแล้วนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใต้ระบบ GAP จักได้นำเสนอไปยังประเทศลูกค้าทั่วโลกว่าประเทศไทยได้ผลิตข้าวด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

"ด้านการตลาดนั้น ปัญหาใหญ่มากของการค้าข้าวไทย คือ แข่งขันไม่ได้ ทั้งด้านราคา คุณภาพและชนิดของข้าว ตลาดข้าวโลกมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มจำนวนมาก แต่ประเทศไทยผลิตข้าวพื้นแข็งจำนวนมาก สินค้าที่เราจะไปขายไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญก็คือราคาเราแข่งไม่ได้เพราะว่าประเทศที่เคยเป็นคู่ค้า เคยซื้อข้าวไทยบัดนี้เป็นคู่แข่งขายข้าวกับเรา ทำให้สูญเสียตลาดไปพอสมควรและจะสูญเสียไปเรื่อยๆเพราะไม่ได้วางแผนการผลิต ไม่เข้าใจเรื่องความต้องการของตลาด และเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะประสานเรียนเชิญ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน เครือข่ายชาวนา พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการวางแผนด้านการผลิต และจากนี้ไปสภาเกษตรกรฯก็จะพยายามทำงานด้านข้าวและชาวนานำเสนอถึงรัฐบาลให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อนำสู่การพยายามผลักดันให้ชาวนาปรับตัวโดยเร็วเพื่อความอยู่รอดของอาชีพการทำนาสืบไป"นายประพัฒน์ กล่าว

ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 26 ม.ค. 2565

ห้ามไม่ได้จริงๆ "ชาวนา" ปลูกข้าวเกินแผนพุ่ง 2.6 ล้านไร่

Riceoverplan

กอนช. เผย 38 จังหวัด ต้าน ชาวนาไม่อยู่ ปลูกข้าวเกินแผนกว่า 2.6 ล้านไร่  ลาก 10 อ่างใหญ่ จ่ายน้ำเกินแผน ผวาแห้งขอดก่อนฝนมา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง สะสมแล้วรวม 3,603 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของแผน โดยพบว่ามีอ่างเก็บน้ำถึง 10 แห่ง ภาคเหนือ มี 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา 2.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 3.เขื่อนกิ่วลม 4.เขื่อนแม่มอก 5.เขื่อนสิริกิติ์ 6.เขื่อนทับเสลา 7.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำอูน และ ภาคกลาง จำนวน  1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ได้มีการจัดสรรน้ำเกินแผน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนตลอดฤดูแล้งนี้ถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย

ชาวนา ปลูกข้าวเกินแผน

ชาวนา ปลูกข้าวเกินแผน

ขณะที่การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีจำนวน 4.55 ล้านไร่ จากแผน 5.64 ล้านไร่ โดยมีจังหวัดที่เพาะปลูกนารอบที่ 2 มากกว่าแผนแล้ว 29 จังหวัด พื้นที่ 2.44 ล้านไร่ นำโด่งสูงสูด จังหวัดสุพรรณบุรี ตามมาด้วย จังหวัดนครนายก  และปราจีนบุรี ตามลำดับ  ส่วนนอกเขตชลประทาน มีอยู่ 9 จังหวัด จำนวนกว่า 2.5 แสนไร่  สูงสุด จังหวัดนครสวรรค์ ตามมาด้วยจังหวัดพิจิตร ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการควบคุมการเพาะปลูกไม่ให้ขยายวงกว้างให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย ซึ่ง กอนช.ได้ติดตามเฝ้าระวังพร้อมมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาเพื่อการบริโภคและการเกษตรของประชาชน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำทะลุหนุนสูงที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงกลางเดือนนี้

ที่สำคัญได้เน้นย้ำหน่วยงานภายใน กอนช.เร่งสร้างการรับรู้ความก้าวหน้าตาม 9 มาตรการหลักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือป้องกันผลกระทบช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนที่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 ม.ค. 2563

อนาคตข้าวและชาวนาไทยในภาวะถดถอย

FarmerinCrisis

ช่วงกลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปี ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จไม่นาน ชาวนาในอดีตจะมีประเพณีและความเชื่อเรื่องการ “กินข้าวใหม่” ซึ่งมีนิยามหมายถึงการเฉลิมฉลองและขอบคุณธรรมชาติที่ประทานข้าว ปลา อาหารมาให้ ด้วยการนำข้าวใหม่ไปทำบุญ ทำกิน ทำทาน แบ่งปัน พักผ่อนและมีความสุข หลังจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ได้สูญหายไปจากสังคมชาวนาไทยส่วนใหญ่เสียแล้ว เนื่องจากรูปแบบการทำนาสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตข้าวเพื่อการค้าเป็นสำคัญ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ต้องรีบขายข้าวให้โรงสี นำเงินไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าหนี้ และซื้อข้าวกิน ซึ่งวิถีการผลิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

วิถีการทำนาสมัยใหม่ไม่เพียงทำให้ประเพณีเกี่ยวกับข้าวของชาวนาสูญหายไป แต่หายไปพร้อมกับคุณค่าวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต จิตวิญญาณของผู้คน รวมถึงรากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาเดิมที่สั่งสมมา อย่างไรก็ตามเราคงหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะวิถีการผลิตและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่อยากชวนมองไปสู่อนาคตและความยั่งยืนร่วมกัน เพราะปัจจุบันมีหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าทิศทางการผลิตข้าวที่เน้นการปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์เพื่อการส่งออกกำลังเดินสู่เข้าสู่ภาวะถดถอยและร่วงโรยมากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณบ่งชี้ว่าข้าวไทยอยู่ในภาวะถดถอยมายาวนาน นั่นคือ หนึ่ง การส่งออกข้าวปรับตัวลดลง ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2547 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 47 ปี ในปี 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12.6  สอง ผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำกำไรในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจสีข้าวที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 12.7 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.2 ในปี 2563  สาม ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2552 สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคอีสานซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.8 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 77.6 ในปี 2563 (ที่มา : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์)

ในขณะที่รัฐบาลยังคงมีทิศทางนโยบายหลักในการค้ำยันอุตสาหกรรมข้าวที่กำลังเดินสู่ภาวะถดถอยนี้ต่อไปเรื่อย ๆ รอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) รัฐบาลได้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมกว่า 160,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 21,000 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 50,600 ล้านบาท และปีการผลิต 2564/65 ราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มขึ้น จำนวน 89,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมโครงการคู่ขนานอีกกว่า 50,000 ล้านบาท)

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 เราคงไม่สามารถนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้กับนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ได้เรื่อยๆ เราต้องหันกลับมาสรุปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ศึกษาเรียนรู้จากของเดิมว่าผิดพลาดตรงไหน และปรับตัวหาทิศทางใหม่

การสรุปและทบทวนจากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูคุณค่าของข้าวและคุณภาพชีวิตชาวนา คือการฟื้นคุณค่าไปสู่มูลค่า ชาวนาจะปลูกข้าวต้องมองถึงคุณค่า การเพิ่มมูลค่าการตลาด การเพิ่มสตอรี่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา การเชื่อมโยงอดีต และการพัฒนารูปแบบตลาดใหม่   ประการที่หนึ่ง คือ การฟื้นเรื่องราวสตอรี่ของข้าว แม้เทศกาลกินข้าวใหม่จะหายไป แต่เรื่องราวยังเหลืออยู่และให้ความสำคัญในการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและรากฐานภูมิปัญญาเดิมที่ยังเหลืออยู่ ประการที่สอง แม้เราจะเปลี่ยนวิถีรูปแบบการทำนา แต่สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรความหลากหลายที่สำคัญในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิแดง มีคุณสมบัติเป็นข้าวน้ำตาลต่ำ และมีการนำไปวิจัยพบคุณสมบัติในการเป็นเซรั่มเครื่องสำอาง นี่คือหนทางที่สามารถพัฒนาได้

ประการที่สาม การฟื้นคุณค่าของข้าว ความหอม รสชาติ การมาใช้ในโลกยุคใหม่ที่คนไทยกินข้าวน้อยลง ในอดีตคนไทยกินข้าว 170 กก.ต่อคนต่อปี เหลือ 95 กก.ต่อคนต่อปี กรณีตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นกินข้าวน้อยลงเกือบเท่าตัว แต่ปรากฎการณ์คือ ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น เนื่องจากทิศทางการผลิตข้าวเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้ผลิตเป็นข้าวสารแบบในอดีต แต่ผลิตเพื่อกินเป็นยา แปรรูปเป็นขนม และเครื่องสำอาง เป็นต้น  

นั่นคือทิศทางและข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดข้าวเพื่อหลุดออกจากภาวะถดถอยของการตลาดข้าวในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาคุณค่าข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวสี ข้าวโภชนาการสูง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวทั่วไป ทำอย่างไรจะพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะเหล่านี้ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยไม่ควรทำเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่ทำภายใต้ระบบการปลูกที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต คนปลูก คนกิน เพื่อวิถีการบริโภคและวัฒนธรรม ทำให้เรามีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เปิดปูม ชีวิต(ห)นี้ เกษตรกรไทย ทำไมต้องกู้?

 

FarmerDebtSeminar2021

ค้นหาปัญหาหนี้ชาวนา ทุกข์ที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

แบกชีวิตพอเกิดมาก็เป็นหนี้

อยู่อย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่พ้น

อยากจะมีเงินไม่พอต้องขอผ่อน

หากเดือดร้อนก็จะยอมสู้อดทน

ความทุกข์หนึ่งที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นั่นคือการที่เกษตรกรไทยต้องมีชีวิตผูกพันหนี้สิน

“หนี้” คือบ่อเกิดความจนซ้ำซ้อน และซ้ำซากของเกษตรกรไทย เป็นหนังชีวิตเรื่องเก่าที่เล่าสืบต่อมานานนม ที่ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใด... ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม หรือยุคดิจิทัล หนี้ยังเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรของไทยไม่สิ้นสลาย

และยังบาดใจพอๆ กับ เนื้อเพลง “ชีวิตหนี้” ที่กำลังสะท้อนชีวิตเกษตรกรไทยเอาไว้อย่างหมดจด

ชีวิตหนี้เกษตรกรยุคดิจิทัล

“เมื่อรายรับมันไม่พอรับรายจ่าย ต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรก็กู้เขา”

ทำไมปัญหาหนี้ชาวนาเกษตรกรเป็นวงจรที่ไม่เคยจบสิ้น?

หากค้นหาต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยถูกกัดกร่อนด้วยหนี้สินมาอย่างยาวนาน จะพบต้นตอปัญหาที่ “หยั่งรากลึก” กว่าที่คิด จากการศึกษาหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่ใช่เพื่อการเกษตรอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรขาดความสามารถในการชำระหนี้ จึงเกิดจากปัญหาผิดนัดชำระ ทำให้โดนดอกเบี้ยค่าปรับที่สูงพอกพูน

ที่สำคัญ “ปัญหาหนี้เกษตรกร” นั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเกษตรกรคนเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่ “ทุกคน” ในสังคมไม่ควรเพิกเฉย  มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พากันชักชวนเหล่านักวิจัย นักคิด และเกษตรกรชีวิตหนี้ตัวจริง จับมือกันสกัดบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อร่วมระดมหาทางออก ในเสวนาวิชาการสาธารณะเรื่อง "ชีวิตหนี้...นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19 "  สะท้อนชีวิตจริงเกษตรกรไทย ท่ามกลางสังคมภายนอกที่ตั้งคำถามว่า  “แล้วทำไมไม่เปลี่ยน”

 

เริ่มจากมาฟังผลการตรวจสุขภาพทางการเงินเกษตรกร จาก ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัย รายได้ชาวนาและเกษตรกรนั้นไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เป็นฤดูกาล ไม่ใช่รายได้ประจำ

“รายรับมาเป็นรอบๆ แต่รายจ่ายมีทุกวัน”

เมื่อขัดสนเกษตรกรจึงเลือกที่จะ ยืม กู้ (สิน)เชื่อ เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิตและใช้จ่ายครัวเรือน

มีเพียงเกษตรกร 20% เท่านั้นที่ใช้เงินออมในการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต

แม้แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือเกษตรกรควรมีรายได้มาจากหลายช่องทาง

“แต่ถามว่าทำไมเขาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่มีทุน การจะเปลี่ยนอะไรต้องใช้เงินลงทุน”

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต อย่างเช่นกรณีโควิด 19 ทำให้รายได้ครัวเรือนของเกษตรกรลดลง ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ โดยเกือบ 60% ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้

“พอจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดมีแต่จ่ายดอกเบี้ย แต่ต้นไม่ลดเลย ทำให้เขาท้อ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกร  หากให้เขาเลือกจ่ายเป็นรอบการผลิต หรือจ่ายแบบย่อยรายเดือนละไม่เกิน 500-1,000 บาท เขายังสามารถชำระหนี้ได้”

ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ที่จะแก้ปัญหาได้คือ การให้ความสำคัญแก่การจ่ายคืนเงินต้น มากกว่าการจ่ายคืนแค่ดอกเบี้ย ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินแบบที่เข้าใจง่ายต่อเกษตรกร รวมถึงการอาจต้องมีเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยง เช่นการประกันภัยพืชผล การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลวางแผนผลผลิต เป็นต้น

หนี้พอกหางหมู

ด้าน จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยโครงการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกร บอกเล่าที่มาว่า การที่เกษตรกรเป็นหนี้เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตตกต่ำ ความผันผวนของธรรมชาติ ความไม่แน่นอนของผลผลิตที่ได้ และกลไกราคาสินค้าเกษตรที่อำนาจต่อรองอยู่ในมือของ “นายทุน” หรือ “เจ้าหนี้”  ตลอดจน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ไม่นับรวมวิกฤตต่าง ๆ ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในแต่ละครั้ง

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำเหตุผลที่ทำให้ “วงจรหนี้” ชาวนาไทย

“โครงการมีการศึกษากลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 10 ราย ที่เคยเป็นหนี้และสามารถแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองได้ในหลายพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้ คือ หนึ่งเกิดจาก ปัจจัยส่วนบุคคล โดยเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจและมีใจสู้ปัญหา มักประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านครอบครัวคือการมีบุตรหลานก็มีส่วนสำคัญ  เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ลูกหลานแบกรับภาระหนี้ของตนเอง” จารุวัฒน์เล่าถึงผลการถอดบทเรียน

ในแง่ทางออกยั่งยืน จารุวัฒน์เผยว่าเกษตรกรเหล่านี้มักจะพยายามค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้านการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองมากขึ้น เช่น การรู้จักประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดการขาดทุน 

เขาบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่รู้ดีว่าการลดต้นทุนเป็นทางแก้ปัญหา หรือการหารายได้เสริมมีความสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถทำได้ เช่น การมีทุนจำกัด ทำให้พวกเขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะทดลองลงทุนสิ่งใหม่ ๆ

อีกบทเรียนสำคัญที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ การค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงของการติดอยู่ในกับดักหนี้สินของเกษตรกร อาจเกิดจากการที่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาผลผลิตได้ หรือรายได้ได้

“เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนก่อนการผลิต ทุกคนต่างคิดหรือมีความตั้งใจดีที่จะใช้หนี้สิน แต่เมื่อผลผลิตออกมาไม่ตรงตามความคาดหมาย ทำให้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันการมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้เกษตรกรได้มีโอกาสพักชำระหนี้และฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอในการนำเงินไปชำระหนี้ได้ดีขึ้น

“แต่จากการถอดบทเรียน เรามีข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น คือ หนึ่ง กองทุนฯ ควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นในบทบาทของกองทุนฯ สอง การติดตามสอดส่อง ดูแลพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูมีความสำคัญมาก หากมีความเข้มแข็งก็จะทำให้กลุ่มมีประสิทธิภาพและเดินไปตามแนวทางที่ดี และสาม การสร้างความหลากหลายของช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนต้องรวดเร็วและทันการณ์ นอกจากนี้ การให้ข่าวสารข้อมูล การคาดการณ์เกี่ยวกับผลผลิต การตลาด ราคาสินค้า พิบัติธรรมชาติหรือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นล่วงหน้าแก่เกษตรกร จะช่วยได้ ตลอดจนการหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าหรือทำการตลาดช่วยเกษตรกร” จารุวัฒน์กล่าว

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิจัยอิสระ ของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เมื่อเกษตรกรถูกฟ้องหรือตกเป็นจำเลยคดีหนี้สิน มักไม่สามารถที่จะรับมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเกษตรกรรู้ไม่เท่าทันกระบวนการกฎหมายหรือสิทธิของตนเอง

“ส่วนใหญ่เมื่อได้รับหมายศาลเลือกที่จะไม่ไปศาล เพราะเขาไม่รู้ว่าไปแล้วได้อะไรบ้าง หรือไม่มีความรู้และไม่สามารถหาทนายความไปขึ้นศาลด้วยได้ จึงเลือกที่จะไม่ไปสู้คดี”

บางรายไปแล้ว ก็ต้องเจอกับทนายความเจ้าหนี้ที่มักมีกลเกมในการทำเจรจาหรือทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  หรือทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ

“หนี้จากการกู้ค้ำประกันเป็นปัญหามากสำหรับเกษตรกร และเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเยอะ ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นหนี้ค้ำประกันถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนหนี้จดจำนองส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นหนี้นอกระบบ นั่นคือการเอาโฉนดไปจำนองไว้  แต่เจ้าหนี้นอกระบบบางรายยึดโฉนดที่ดินไว้และให้ลูกหนี้เซ็นมอบอำนาจ แล้วจงใจปล่อยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงระยะเวลาที่กำหนด จนทำให้ดอกทบสูงจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ก็มักถูกเจ้าหนี้นำดอกและสินทรัพย์มาแปลงให้กลายเป็นหนี้ในระบบ โดยเจ้าหนี้ก็จะแอบนำไปจดจำนองโดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็บังคับให้ลูกหนี้จดจำนองภายหลัง” เธอเล่าเบื้องหลังเบื้องลึก

ทางออกของปัญหานี้ เพ็ญนภาแนะว่า จำเป็นต้องมีผู้รู้หรือหน่วยงานทางกฎหมายเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางศาลระหว่างโจทย์ (เจ้าหนี้) และจำเลย (เกษตรกร) เพื่อสร้างข้อตกลงประนีประนอม หรือให้การพิพากษาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรมากที่สุด นอกจากนี้การช่วยเหลือทางคดีนี้ยิ่งเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพ

ปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปรับหนี้

อีกมุมมองหนึ่งจาก เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชากรอิสระ ได้ร่วมเสนอแนวทางการจัดปรับภูมิทัศน์และความสัมพันธ์ใหม่ในระบบการผลิตและตลาดสู่วิถีอินทรีย์แก่ชาวนาที่มีหนี้สิน  โดยกล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ และเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเกษตรกรกับสังคม ผู้ประกอบการ การตลาด ชุมชน หรือ ผู้บริโภค เป็นต้น

โดยบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ตนเองได้ทำการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเกษตรกร 3 กลุ่มที่เคยมีหนี้สินมาก่อน ได้ข้อสรุปว่าหากเกษตรกรที่เป็นหนี้สินอยากจะออกจากวงจรหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ให้เบาลง จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการหรือมีศักยภาพดังนี้

“เกษตรกรทำนาสามรอบ แต่ไม่รวย กลับมีแต่เพิ่มหนี้จากต้นทุน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ เกษตรกรที่มีหนี้ควรเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรต้องมีการสร้างทางเลือกที่อาชีพหลากหลาย หรือมากกว่าทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ ปลูกชนิดอื่น หรือไปทำอาชีพเสริมอื่น แปรรูปการเกษตร เป็นต้น รู้จักการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกจากนี้เกษตรกรต้องมีความสามารถทำการตลาดได้เอง และชาวนาต้องเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรอง ต้องรวมกลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็ง”

สำหรับการปรับตัวสู่ระบบการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ จะเป็นหนทางช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะลดการใช้สารเคมีทำให้ช่วยลดต้นทุนได้  

“เกษตรกรควรพัฒนาช่องทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากตลาดในชุมชนเองได้ เพราะคนในชุมชนเองก็มีต้องการอาหารปลอดภัย รวมถึงหาตลาดเทศกาล เชื่อมโยงเอกชน ภาครัฐ ออนไลน์ หรือระบบสมาชิก พรี ออร์เดอร์ เป็นต้น”

บุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช เผยถึงชีวิตหนี้ของตนว่า เกิดจากการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง เพลี้ยแมลงลง ระยะหลังทำแล้วขาดทุนหมดทุกรอบ จนต้องเผชิญปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มจากการเป็นหนี้ ธกส. แล้วไปกู้หนี้นอกระบบทำให้เพิ่มหนี้จากสองแสนเป็นห้าแสน หลังมีหนี้สินมากมาย บุญชูดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาปลูกข้าวหอมมะลิแทน รวมถึงหาทางช่องทางสร้างรายได้เสริมทั้งขายยำ ขายอาหาร มะม่วง ขนมปัง ทำทุกอย่างเพื่อปลดหนี้

“ ตอนที่ปลูกข้าว กข แม้ผลผลิตต่อไร่เยอะกว่าแต่ราคาตกต่ำ ปลูกข้าวหอมมะลิได้น้อยกว่า แต่หอมมะลิขายได้ราคาดีกว่า เพราะขายปลีกเพื่อนบ้านในชุมชน พอลูกเรียนจบทำงาน ก็มาช่วยเราผ่อนหนี้สินก็เลยดีขึ้น”

สุนทร คมคาย เป็นเกษตรกรอีกรายที่มีหนี้สินล้นตัว เขาสารภาพว่าเคยเป็นหนี้สูงถึงสามล้านบาท

“เราทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ต้องลงทุนเครื่องจักร จึงไปกู้เงินมาเพื่อซื้อเครื่องจักร”

แต่หลังเผชิญหนี้หนัก ความคิดเขา “เปลี่ยน” สุนทรหันมาสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทั้งทำนาอินทรี เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ปลูกสมุนไพรส่งให้ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศฯ ทำให้เขาสามารถค่อยปลดปลงหนี้ที่มีได้มากขึ้น

“เรามีช่องทางมากขึ้นในการสร้างรายได้ การหันมาวิถีอินทรีย์มีความเสี่ยงปัญหาผลผลิตน้อยลง การทำเกษตรอินทรี ผสมผสานทำให้มีรายได้ทั้งรายปี รายเดือนและรายวัน แตกต่างกับการปลูกพืชไร่ ที่ได้เป็นงวด”

สุนทรแนะนำเพื่อนเกษตรกรว่า การทำเกษตรต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง

“การทำตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรควรรู้ว่าควรปลูกอะไรแล้วจะขายได้แน่นอน ราคาแค่ไหน ที่สำคัญการเป็นเกษตรกรมันแตกต่างกับการทำงานในเมือง เป็นเกษตรกร ต้องใช้จ่ายพอเพียง จะใช้แบบเดิมไม่ได้”

 161519293522

หา “หลังพิง” ให้เกษตรกรไทย

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์เสริมว่า เมื่อก่อนการกู้ค้ำประกันกลุ่ม สามารถช่วยไห้เกษตรกรหันมากู้ในระบบมากขึ้น แต่ด้วยสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจกลายเป็นภาระหนี้ข้ามรุ่น ส่งต่อหนี้ถึงลูกหลาน เห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเกษตรกร เรื่องระยะสั้นหรือส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

ดร.เดชรัตนำเสนอแผนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เผชิญหนี้  3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกต้องมีการเปลี่ยนกติกาใหม่ให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรลูกหนี้มากขึ้น เช่น ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับหรือผิดชำระใหม่จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 15 มาเป็นการบวกเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1-3 จากอัตราดอกเบี้ยเดิมเท่านั้น

หรือควรปรับระบบหักดอกเบี้ย มาเป็นการหักในสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลดลงพร้อมกันทุกครั้ง เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจชำระหนี้

ขั้นตอนที่สอง ควรเกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลไกปกติ แต่ปัจจุบัน แต่ละปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3,000,000 ราย มี 800,000 รายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธกส. ช่วยได้เพียง 40,000 ราย ส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูประมาณ 500,000 ราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้แล้ว 30, 000 ราย ซึ่งแม้จะช่วยเต็มที่ แต่จะเห็นว่าความสามารถในการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับขนาดปัญหา ดังนั้นควรมองหาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้ได้มากขึ้น

ขั้นตอนที่สาม การเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ทางหนึ่งคือการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ เช่น มีกองทุนฟื้นฟู หรือกลไกอื่นก็ได้จะเข้ามาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการผลิต ส่วนเกษตรกรและทายาทที่ไม่ประสงค์จะทำเกษตรกรในเกษตรในที่ดินนั้นแล้ว ทางเลือกคือให้นำที่ดินเขาที่มีอยู่มาเช่าที่ดินหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะยาว อาทิ ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าเนื้อไม้ในระยะยาว หรือการขายแบบผ่อนชำระที่เรียกว่า Reverse Mortgageให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นทางเลือกในการรักษาที่ดินแปลงนั้นเผื่อไว้ในอนาคต ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินจำเป็นต้องมีการสร้างงานขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้

“ที่จริงเกษตรกรกลุ่มนี้มีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 68,000 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้จะอยู่ที่ 400,000 บาทโดยเฉลี่ย ควรใช้วิธีการสร้างงานใหม่ที่มีรายได้แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกลุ่มนี้ เช่น การเพาะกล้าไม้ กิจการทางเลือก ในกองทุนหรือ การดูแลผู้สูงอายุ จ้างติดโซล่าเซลล์ เป็นต้น สำคัญที่สุด สามขั้นตอนนี้ รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง” ดร.เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 มี.ค. 2564

เพราะเธอ...คือชาวนา

YouareFarmer

    เพราะเธอ...คือชาวนา

    โอกาสและความหวังการหลุดพ้นกับดักหนี้ของชาวนา


     พิมพ์ครั้งแรก : เมษายน 2562


    บรรณาธิการ : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์


    กองบรรณาธิการ:

    ชญานี ชวะโนทย์ สฤณี อาชวานันทกุล

    เดชรัต สุขกำเนิด วริษา สุขกำเนิด

    ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์  นันทา กันตรี

    ดวงมณี เลาวกุล ณัฎฐวี สายสวัสดิ์

    อาภา หวังเกียรติ สมภพ ดอนดี

 

 จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิชีวิตไท 


สนับสนุนการจัดพิมพ์ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

download

 

"เกษตรกรทุกรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนไม่เคยได้รับสำเนาสัญญาเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ได้รับเพียงสมุดคู่บัญชีเงินกู้ ซึ่งระบุเพียงตัวเลขเงินต้นและดอกเบี้ยค้างเท่านั้น การไม่ได้รับสำเนาสัญญาทำให้เกษตรกรในฐานะลูกหนี้ไม่สามารถรับรู้เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาเงินกู้ ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม งวดการผ่อนหลักประกัน..." บางส่วนบางตอนจากหนังสือโดยสฤณี อาชวานันทกุล

 

สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : https://www.facebook.com/LocalAct/

 

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768384
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1664
5699
14139
159910
6768384

Your IP: 3.147.103.8
2024-04-30 07:32