'โรงเรียนชาวนา' ที่นี่ไม่ได้สอนแค่ปลูกข้าวอินทรีย์ ยังศรัทธาและเชื่อมโยงกับ'แม่โพสพ'

KhaokhuanFarmerSchool

ชาวนาทั่วประเทศ เคยมาเรียนที่ "โรงเรียนชาวนา" มูลนิธิข้าวขวัญ ได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ที่นี่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความรู้การเกษตร ยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความเข้าใจเรื่องแม่โพสพ

 
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทางมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ได้จัดพิธีบวงสรวงรูปเคารพแม่โพสพ แม่เมรัย(เทวนารีดูแลต้นกัญชา) ที่ช่างเฉลิม พึ่งแตง ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี ได้วาดภาพ และปั้นรูปประติมากรรมปูนปั้น ไว้อย่างงดงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทางพี่นิด-พี่เบญจมาศ ศิริภัทร ภรรยาพี่เดชาและคุณพิม หลานพี่เดชา ได้มาพบดิฉันที่บ้านเมืองเพชรบุรี มารับรูปเคารพแม่โพสพกับแม่เมรัย ผลงานช่างเฉลิม เพื่อนำกลับเมืองสุพรรณไปทำพิธีบวงสรวงบูชาในวันนี้ พี่เดชาและคนสายข้าวขวัญ ลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาทั่วประเทศ และลูกศิษย์ชาวจีนไต้หวัน ศรัทธา เคารพแม่โพสพอย่างยิ่ง
 
แม่โพสพ ผู้ปกป้องต้นข้าว
 
สำหรับพวกเราแม่โพสพ แม่เมรัย ไม่ใช่บุคคลาธิษฐาน ภาพแทนความเชื่อใดๆ แต่ท่านคือ “เทพ” คือ “เทวนารี” ผู้ปกป้องดูแลต้นข้าว ต้นกัญชา ให้ความรู้ให้ปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์และใช้ยาพืชสมุนไพรต่างๆ กับพวกเรา
 
ดังที่พี่เดชา เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า
 
“เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผมเชิญคุณโดโรธี แมคลีน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้านฟินด์ฮอร์น ผู้ได้ชื่อว่ามีความสามารถสื่อสารกับจิตวิญญาณในธรรมชาติ (รวมทั้งเทพ เทวดา ในความเชื่อของคนไทยด้วย) มาจัดฝึกอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ 3 วัน เชิญคนไทยมาเข้าร่วม 30 คน
 
ผมทำงานเรื่องข้าว และชาวนามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 รวม 30 ปี ผมศึกษาเรื่องความเชื่อของชาวนาไทยในอดีตที่เคารพในพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ ผมเชื่อมาตลอดว่า เทพเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ เป็นเพียงความเชื่อสืบต่อ ๆ กันมา
 
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 เมื่อคุณโดโรธี แมคลีน และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ติดต่อสื่อสารกับ พระแม่โพสพ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด และใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปี
 
ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ผมเชื่อว่า พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ และชาวนาบางคนที่สื่อสารกับท่านได้ ความรู้เรื่องข้าวนี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันของชาวนาได้จริง”
 
 
เดชา ศิริภัทร, 4 สิงหาคม พ.ศ.2557
.....................
 
ข้อความข้างต้นนี้ที่ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้กล่าวไว้ใน “คำนิยม” หนังสือ นักบวช นักรบ นักฆ่า ของดิฉัน โดยยืนยันชัดเจนว่าตลอด 30 ปี ของการทุ่มเททำงานในเรื่องข้าวของ อ.เดชา จากที่เคยเชื่อว่าเทพต่างๆ ทั้งแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ เป็นเพียงแค่บุคลาธิษฐาน ไม่มีตัวตนจริงๆ
 
แต่เมื่อได้พบและฝึกอบรมกับคุณโดโรธี แมคลีน แม่มดฝรั่ง ผู้นำกลุ่มNew Age ของโลก อ.เดชาได้ใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นแล้วว่า
 
“พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ”
 
162771819246
 
                                                              บนพื้นดินที่ปลูกข้าว ก็ต้องทำพิธีเคารพแม่โพสพ (ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว)
 
 
ที่มาโรงเรียนชาวนาไทย
 
อาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานโดยตรงในเรื่องข้าว และเปิดโรงเรียนชาวนาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์กับชาวนาไทย
 
มูลนิธิข้าวขวัญเป็นแหล่งเสริมสร้างปลูกฝังความรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร
 
ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี โดยมูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนชาวนาไทย มีประวัติที่มาดังนี้คือ
 
 
162771782857
 
มูลนิธิข้าวขวัญ กับการเกษตรยั่งยืน
 
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology Association - ATA )
 
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
 
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
 
และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ที่อยู่คือ 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซ. 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72330)
 
โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, อ.บางปลาม้า, อ.อู่ทอง, และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศ
หลักสูตรเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนชาวนาที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนของชาวนาไทยนี้ ปรากฏผลว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีชาวนาทั่วประเทศไทยมาเข้าเรียนการทำเกษตรอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ
 
และได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ดังเช่น การไม่เผาฟาง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรขับไล่แมลง รวมทั้งการรู้จักแมลงดี-แมลงร้าย การเก็บและขยายจุลินทรีย์ การทำฮอร์โมนเพื่อการบำรุงต้นข้าว เป็นต้น
 
 
162771830039
 
 
การพึ่งตนเองของโรงเรียนชาวนา
 
การที่ชาวนาพยายามหาสิ่งทดแทนสารเคมีทั้งหมด ทั้งการใช้จุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมแมลง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพื้นถิ่นชนิดต่างๆ เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีผลิต
 
ที่ในท้ายที่สุด กระบวนการและเทคนิคต่างๆจะเป็นหนทางกลับมาฟื้นฟูการพึ่งตนเองของชาวนา เพราะเมื่อชาวนาสามารถควบคุมแมลง ปรับปรุงดิน พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว
 
สิ่งที่ปรากฏต่อมาจากนี้ก็คือ เทคนิคต่างๆเหล่านั้นก็แทบจะไม่จำเป็นในการนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแปลงนาในพื้นที่เกษตร จะเกิดความสมดุลด้วยตัวมันเอง
 
ดังนั้นสาระสำคัญที่ชาวนาไทยได้รับความรู้ไปจากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ก็คือ “ใช้เพื่อที่จะไม่ต้องใช้อีก” เพราะในที่สุด ด้วยหนทางที่มูลนิธิข้าวขวัญสอนชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนชาวนาเพื่อเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตรนี้
 
เมื่อชาวนาได้ความรู้เต็มที่และนำกลับไปใช้ในแปลงนาของตนทั้ง  3 หลักสูตรแล้ว ระบบนิเวศยั่งยืนและสมดุลของธรรมชาติก็จะกลับคืนมา อันจะทำให้ชาวนาสามารถหลุดพ้นจากวังวนของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในทุกขั้นตอน
 
นั่นหมายถึงว่า นักเรียนชาวนาที่ใช้ 3 หลักสูตรของมูลนิธิข้าวขวัญจะสามารถ “ปลดแอก” และ “หลุด” ออกจากวิถีเกษตรแบบปฏิวัติเขียวที่ต้องเป็นหนี้ในการซื้อหาปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง
.
วิถีเกษตรยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวไว้ในการสอนลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาว่า
“เทคนิคของเราเป็นการทำตามหนทางของพระพุทธเจ้า นั่นคือการไม่เห็นแก่ตัว พึ่งตนเอง ไม่ใช้ความรุนแรง หลักการนี้ปรับให้เป็นรูปธรรมก็คือเราไม่ฆ่าแมลง ไม่เบียดเบียนใคร
 
และใช้ปัญญาญาณจากธรรมชาติ ทุกสิ่งที่ทำต้องสอดคล้องครรลองธรรมชาติ เพราะเป้าหมายชีวิตของคนไทยแต่เดิมคือการบรรลุนิพพาน
 
ดังนั้นชาวนาจึงต้องทำงานในผืนนาด้วยวิถีธรรม ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายน้ำ ไม่ทำลายอากาศ วิธีการใช้แมลงดีควบคุมแมลงเลวของเรา เป็นรักษาสมดุลระหว่างแมลง ไม่ใช่มุ่งทำลายชีวิตเขา
 
เทคนิคนี้เราได้จากแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็จริง แต่ลูกศิษย์ของเรามีอยู่ทุกศาสนา ซึ่งทุกศาสนาก็ทำได้ และภาษิตโบราณของไทยยังมีอีกด้วยว่า คนฉลาดต้องตัดเกือกให้พอดีตีน คนโง่จะตัดตีนให้พอดีเกือก
 
จากภาษิตนี้เราเทียบได้ว่า เมล็ดข้าวคือเกือก ท้องทุ่งคือตีน ตีนจะเปลี่ยนไม่ได้ ส่วนเกือกมันเปลี่ยนได้ชั่วชีวิต แต่ชาวนาไทยทุกวันนี้กลับตัดตีนให้เหมาะกับเกือก
 
พวกเขาพยายามเปลี่ยนดินให้เข้ากับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อหามาจากตลาด หรือได้รับมาจากรัฐบาล ข้าวขวัญจึงเข้าไปแก้ปัญหานี้โดยตรง เราไปแก้ปัญหาหลักที่เกือกหรือเมล็ดพันธุ์ คือต้องตัดเกือกให้เหมาะกับตีน เราจึงไปสอนให้ชาวนารู้จักการคัดเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับผืนนาในท้องถิ่นนั้น”
 
ชาวนากับแม่โพสพ
 
หากสิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในการสอนชาวนาด้วยหลักสูตรโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ จะไม่เพียงให้แต่ความรู้ต่างๆทางด้านเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนกับนักเรียนชาวนาเท่านั้น
หากทางมูลนิธิข้าวขวัญ ได้อบรมให้ความรู้ เขย่ากรอบความคิดของนักเรียนชาวนาอย่างหนักควบคู่ด้วย ในเรื่องการเคารพบูชา “แม่โพสพ” เพราะตลอด 30 กว่าปี ของการทำงานเรื่องข้าวกับชาวนาไทยมานี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวกับดิฉันว่า 
 
“การสอนเทคนิคเกษตรอินทรีย์อย่างเดียวจะเปลี่ยนชีวิตชาวนาไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนไปถึงรากความคิดของชาวนา ให้กลับมาเคารพแม่โพสพ มาอยู่กับความเมตตา จึงจะเปลี่ยนชาวนาให้มาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ได้
 
หากสอนแต่เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ชาวนารู้แค่เทคนิค กลับเข้าท้องนาไป เห็นรอบข้างยังใช้ปุ๋ยใช้ยา เห็นโฆษณาเข้าหัวอยู่ทุกวัน ชาวนาสู้ไม่ไหวหรอก เดี๋ยวพวกเขาก็หันหลังให้เกษตรอินทรีย์ กลับไปใช้ปุ๋ยใช้ยาเหมือนเดิม มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
 
จะเปลี่ยนชาวนาได้ ต้องให้เขามาศรัทธาเชื่อมั่น และบูชาแม่โพสพ เป็นหลักทางใจให้ชาวนาไทยได้ยึดมั่นไว้ด้วย-นั้นแหละถึงจะเปลี่ยนชาวนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวนาไทยได้อย่างแท้จริง”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ก.ค. 2564

ผู้เขียน : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

 

“ผู้ว่าธปท.” แนะใช้โอกาสช่วงโควิดรีเซ็ตหนี้ครัวเรือน-เร่งการลงทุนรับมือโลกใหม่

ResetDebtHousehold

ผู้ว่าธปท. แนะใช้โอกาสโควิด-19 รีเซ็ตปัญหาหนี้ครัวเรือน-การลงทุนเอกชนต่ำ หลังตัวเลขไม่ขยับจากปี 40 เผยคนจนลดลง แต่คนจนเกือบจ่อเพิ่มขึ้น หากเจอช็อกโดนกระทบหนัก ชี้ธุรกิจเร่งปรับตัวรับโลกใหม่หลังโควิด 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับประเทศไทยมานานก่อนจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีตที่ก่อให้เกิดการกู้เงิน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 84% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 80% โดยตัวเลขจะพบว่าคนเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน ซึ่งอายุเฉลี่ย 20-30% มากกว่า 50% มีหนี้แล้ว และอายุ 60-65 ปี มีหนี้สะสมกว่าแสนบาท จึงเป็นความเปราะบางเมื่อโดนแรงกระทบ

นอกจากนี้ หากดูเส้นความยากจน (Poverty line) ตามคำนิยามของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แม้ว่าจะเห็นการปรับตัวลดลง แต่หากขยับเส้นความยากจนขึ้นมากเล็กน้อย จะพบว่ามีคนที่เกือบจนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้มีหนี้จำนวนเยอะ และหากเจอภาวะช็อกเพียงเล็กน้อยจะค่อนข้างลำบาก แม้ว่าธปท.จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งการแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว หรือพักหนี้และยืดหนี้ออกไป แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ ซึ่งจะมาจากการทำงานและการลงทุนของประเทศ 

ทั้งนี้ หากดูการลงทุนของไทย จะพบว่าเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 ซึ่งตอนนั้นระดับการลงทุนเฉลี่ย 30-40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ซึ่งนำมาสู่สารพัดปัญหา และรายได้คนค่อนข้างทางตัว แม้ว่าจะมีคนกล่าวว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่โตจะให้ลงทุนอะไร ซึ่งเบื้องต้นต้องยอมรับว่าโลกหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม ไทยจึงต้องปรับตัวและหาสินค้าหรือเทรนใหม่เพื่อรับสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้น

อาทิ กลุ่มยานยนต์ จะทำเครื่องยนต์แบบเดิมหรือจะไปแบบอีวี ซึ่งการทำอีวีจะก่อให้เกิดการลงทุนหลายอย่างตามมา หรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าเวียดนามมาก จึงต้องปรับตัวให้ก้าวให้ทัน และเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่กับไทยมานาน จะเห็นว่าเหลือ Capacity ค่อนข้างมาก และกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ 40 ล้านคนอาจจะใช้เวลานาน ดังนั้น ไทยควรหันมาเน้นด้านคุณภาพ โดยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานมากกว่า 9 วัน และใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อหัว ซึ่งหากไทยมองไกลและมองยาวช่วงจังหวะนี้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเอื้อให้เกิดการลงทุน แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่มักจะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าลงทุนในประเทศ

“หากมองไปข้างหน้าการเติบโตเศรษฐกิจจะเห็นเป็นบวกได้และกลับมาในระดับเดียวก่อนโควิดในไตรมาสที่ 3 ปี 65 โดยปีนี้จะ -8% และปี 64 จะเป็นบวก 4% ก่อนจะกลับมาเท่าเดิม ซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และหากกลับมาได้ไทยก็ไม่ควรเหมือนเดิม เราต้องกลับมาดีกว่าเดิม โดยเราใช้โอกาสนี้ในการรีเซ็ตในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และการลงทุนใหม่ให้อยู่ในพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพราะจากเดิมเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น แต่ไม่มีความทนทาน หรือ Resilience เพราะเราไปพึงภาคท่องเที่ยวเยอะเกินไปแทนทีจะมีเครื่องยนต์หลากหลายในการขับเคลื่อน”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 พ.ย. 2563

ชาวนายุคโควิด ชีวิตมีหนี้ นักวิชาการระดมหาทางออก แนะรัฐร่วมหนุนทุกมิติ

FarmerDebtSeminar2021

งานศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบเกษตรกรมีปัญหาชำระหนี้จากสถานการณ์โควิด ซ้ำถูกเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบเพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แนะภาครัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร สร้างกติกาให้ชัด ปรับสินเชื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิต

23 ก.พ. 2564 มูลนิธิชีวิตไทจัดโครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่มีภาวะหนี้สินสูง เฉลี่ย 3.4 ก้อน และมีหนี้คงค้างเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน โดยครัวเรือนร้อยละ 50 มีหนี้สินคงค้างเกิน 300,000 บาท และร้อยละ 30 มีหนี้สินคงค้างเกิน 600,000 บาท โดยมาจาก 3 แหล่งหลัก คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้าน และหนี้นอกระบบ

จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาในปี 2563 พบว่า ทำให้เงินโอนจากสมาชิกในครัวเรือนชาวนาลดลงจากปกติเฉลี่ยเดือนละ 5,309 บาท เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 2,541 บาท ทำให้ครัวเรือนเกษตรเกือบร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ นำเสนอ งานศึกษาบทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เกษตรกรไม่มีความเข้ารู้เรื่องกฎหมายและไม่ตระหนักถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผลสุดท้ายจึงจบลงด้วยการประนีประนอมที่ฝ่ายโจทก์หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบและเกษตรไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่มักใช้วิธีแปลงให้เป็นหนี้ในระบบด้วยการนำใบมอบอำนาจไปจดจำนองที่ดินของเกษตรกรเอง

เพ็ญนภากล่าวว่า หากเกษตรกรมีนักกฎหมายคอยช่วยเหลือแนะนำจะช่วยให้เกิดการประนีประนอมที่เป็นธรรมกับฝ่ายจำเลยมากขึ้น

ด้านจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่อง “บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร” กล่าวว่าปัจจัยส่วนบุคคลของตัวเกษตรกร เช่น ความซื่อสัตย์ การใจสู้ และครอบครัวที่คอยสนับสนุนมีผลต่อการชำระหนี้ พร้อมกับต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหารายได้เสริม ประหยัดต้นทุน และเรียนรู้วิธีบริหารจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้ บทบาทของผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังมีส่วนสำคัญมากอีกด้วย

จารุวัฒน์เสนอว่าภาครัฐจะต้องจัดทำแนวทางพัฒนาเกษตรกรใน 3 ด้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านทุนสนับสนุน และด้านข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกษตรกรจะออกจากวงจรหนี้หรือบรรเทาลงได้ต้องปรับตัวใน 2 ด้านหลักคือการปรับตัวในการผลิตสู่ระบบอินทรีย์ ตั้งแต่การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับระบบเกษตรกรรมสู่การทำนาอินทรีย์ ปรับตัวสู่การเป็นชาวนานักคัดและปรับปรุงพันธุ์ข้าว อีกด้านคือการพัฒนาช่องทางการตลาดผลผลิตอินทรีย์ให้หลากหลาย

ด้าน ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรหนี้สินคือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อทางการเงินที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะอาชีพ ดังนั้น เธอจึงเสนอว่าสินเชื่อและการชำระหนี้ของเกษตรกรควรมีความยืดหยุ่น เช่น ชำระตามรอบการผลิตเพื่อให้รอบรายรับกับรายจ่ายในการทำเกษตรได้สอดคล้องกันมากขึ้น หรือมีการกำหนดแรงจูงใจอย่างการลดดอกเบี้ยบางส่วน การลดต้นลดดอก หรือมีรางวัลให้กับเกษตรกรที่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ก่อนครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค. สำหรับหนี้ ธ.ก.ส. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องให้องค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้สินแก่เกษตรกร การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างการทำประกันภัยพืชผลหรือการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลในพื้นที่มาประมวลผลเพื่อคำนวณแนวโน้มผลผลิตในแต่ละรอบการผลิต

ในส่วนเกษตร บุญชู มณีวงษ์ จากกลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี และสุนทร คมคาย จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ที่ปรับตัวจนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มีแนวทางคล้ายคลึงกันคือการเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เสริมผ่านช่องทางต่างๆ  จนหนี้ที่มีอยู่บรรเทาลงไปมาก
“ผมคิดว่าการทำเกษตรอาจต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดการ ตอนกู้ก้อนโตอาจต้องวางแผนใช้หนี้เพราะบางอย่างต้องอาศัยเวลา เช่น การกู้มาพัฒนาแหล่งน้ำหรือที่ดินจะไม่ให้รายได้ในเร็ววัน แต่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก แล้วในวงการเกษตรมันแปรปรวน มีความเสี่ยงสูง ผมมีความรู้ ทำเกษตรเป็น ช่วงแรก ๆ ก็แทบเอาตัวไม่รอด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สำคัญสุดคือการตลาด เราจะชัดเจนว่าจะปลูกอะไรและขายได้แน่นอน ลดความเสี่ยงว่าจะใช้หนี้ไม่ได้ ทำช่องทางผลิตให้มีความหลากหลายและรู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่” สุนทรกล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นำเสนอนโยบายและกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 3 ขั้นตอนว่า ขั้นตอนแรกต้องปรับแก้กติกาหรือสัญญาสินเชื่อ ระบบติดตาม และบังคับหนี้สินให้มีความเป็นธรรม เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินแสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ย ปรับ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส ต้องเข้มงวดกับการห้ามทำสัญญาเงินกู้ใหม่ที่รวบเอาเงินต้นและดอกเบี้ยเดิมมาเป็นยอดเงินต้นก้อนใหม่

ประการที่ 2 ต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สินโดยกลไกปกติ การเพิ่มแรงจูงใจของสถาบันการเงินและลูกหนี้ในการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการฟ้องร้องดำเนินคดี

และประการสุดท้าย ต้องเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร เช่น การเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความแน่นอนมากขึ้น การจัดการโครงสร้างการผลิตให้สามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับโครงการสร้างการผลิตและการตลาด

ที่มา : citizenthaipbs.net วันที่ 24 ก.พ. 2564

 

ต้นทุนแพง ราคาข้าวต่ำ ซ้ำเติมหนี้สินชาวนา

Riceprice

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงค์รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น หมู ไก่ ผัก น้ำมันปาล์ม แต่เหตุใดราคาข้าวเปลือกจึงตกต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการทำนาที่พุ่งสูงขึ้น มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการผลิต ตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตปัญหาต้นทุนสูงและปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว จะส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ชาวนาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำในทุกชนิดข้าว ดังนี้ ปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.)  ราคาข้าวเปลือกเจ้า ลดลงเหลือ 7,801 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงเหลือ 9,651 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลงเหลือ 7,814 บาทต่อตัน  (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า 8,434 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,916 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,648 บาทต่อตัน  

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผลตอบแทนของชาวนาภาคกลาง ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายให้โรงสี จะเป็นข้าวความชื้นสูง 20-25% หลังหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนของชาวนาภาคกลางปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนามีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมชาวนาเช่า) และการปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน เฉลี่ย 700 กก.ต่อไร่ หรือได้รายได้ 4,900 บาทต่อไร่ หลังหักต้นทุนแล้วชาวนาจะมีกำไรจากการขายข้าวเพียง 900 บาทต่อไร่เท่านั้น และหากรวมเงินชดเชยส่วนต่างรายได้จากภาครัฐเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากรายได้ที่ต่ำต้อยเช่นนี้

ดังนั้นในปีการผลิตปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตสงคราม วิกฤตต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาภาคกลางเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ อาทิเช่น ค่ารถไถ จากเดิมไร่ละ 500 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 600 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไร่ละ 1,300 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 1,785 บาท โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 700 บาท เพิ่มเป็นกระสอบละ 1,800 บาท (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา จ.สุพรรณบุรี เดือนมิถุนายน 2565)  แม้ว่าจะมีชาวนาบางส่วนพยายามปรับตัวลดพื้นที่ทำนา ลดรอบการทำนา และลดต้นทุนการผลิตลงในส่วนที่สามารถจัดการได้เอง เช่น ปุ๋ย แรงงาน แต่ด้วยภาระหนี้สินติดพันของชาวนา การงดเว้นหรือหยุดทำนาชั่วคราวอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะชาวนาส่วนหนึ่งอยู่รอดได้จากการหมุนเวียนหนี้และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ซึ่งหากประเมินแนวโน้มราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้อาจสวนทางและตกต่ำเช่นนี้ ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิของชาวนาอาจติดลบหรือขาดทุนถึง 1,000-2,000 บาทต่อไร่  

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาของชาวนาไทย ที่เผชิญมาตลอดก็คือปัญหารายได้ต่ำ ปัญหารายได้ไม่แน่นอน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยรายได้จากการขายข้าวภายใต้กลไกตลาดที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะแพงหรือราคาข้าวตกต่ำ กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวนาแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวนาเป็นผู้แบกรับต้นทุนการผลิตและแบกรับความเสี่ยงไว้มากที่สุด ในปี 2551 ยุควิกฤตข้าวราคาแพง มูลนิธิชีวิตไท(Local Act) ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำไรจากข้าวสารบรรจุถุง ราคากิโลกรัมละ 37 บาท พบว่าชาวนาได้กำไร เพียงร้อยละ 8.35 ต้นทุนชาวนาร้อยละ 45.14  กำไรโรงสี ร้อยละ 17.62 ต้นทุนโรงสี ร้อยละ 2.92 ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 2.70 กำไรผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 3.27 กำไรผู้ค้าปลีก/ห้างค้าปลีก ร้อยละ 20

ชาวนาไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมแต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ ก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่ ราคา 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้งและไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ นั่นคือภาระหนี้สินในอดีต จากการลงทุนทำนาเพื่อหวังกอบกู้ฐานะตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา

ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเปราะบางกว่าอาชีพอื่น การปรับตัวของชาวนามีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวนาจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเองและฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ถอดรหัสบทเรียนชีวิตหนี้ชาวนาไทย โอกาสท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

DecryptThaiFarmerDebt

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง และปัญหาของภาคเกษตรกรรมที่สะสมอยู่มากมาย ทั้งเกษตรกรที่อายุมากและมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้น ขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำลงเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทแม้จะสูงวัยแล้วก็ตาม หนำซ้ำยังขายผลผลิตได้ยากขึ้นเพราะการปิดตลาดและระบบขนส่งที่หยุดชะงักจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยาหรือให้กู้ยืมเงินระยะสั้น แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ที่เหมือนการ “สร้างหนี้เพิ่มมากกว่าช่วยแก้หนี้” แล้วสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องกลับมาติดกับดักของวงจรหนี้สินเหมือนเดิมหรือหนักหนากว่าเดิม

จากการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชาวนาในภาคกลางที่มีปัญหาหนี้สิน สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อวิถีสุขภาวะ โดยมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า เมื่อชาวนาเริ่มมีหนี้สินและไม่สามารถบริหารจัดการได้ ผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร้เป้าหมาย บางรายมียอดหนี้กว่า 45 % ของรายได้ ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน จำไม่ได้ว่ามีหนี้เท่าไร หรือกลัวคนอื่นรู้ว่ามีหนี้ ต้องพยายามกู้หนี้ใหม่มาผ่อนหนี้เก่า รวมถึงมีหนี้เยอะจนเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นลักษณะวิกฤตซ้อนวิกฤตต่อปัญหาหนี้สินของชาวนา แต่ก็ยังแฝงด้วย “โอกาสที่มาจากภาวะวิกฤต” ซึ่งบีบบังคับให้ชาวนาได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับแนวคิด และสร้างภูมิต้านทานเพื่อบริหารจัดการชีวิตหลายด้านให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤต

เริ่มจากตัวชาวนาเองต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา พร้อมที่จะเปิดใจและปรับตัวเพื่อยกระดับจากชาวนาวิถีดั้งเดิมผู้เป็นแรงงานในไร่นาที่มีรายได้ต่ำและหนี้สินสูง สู่การเป็น “ชาวนาผู้ประกอบการ” ที่กล้าลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้หนึ่งสมองสองมือสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ บนฐานของความเป็นเกษตรกร ที่มีเป้าหมายการผลิตและพัฒนาช่องทางการตลาดได้เอง มีแผนธุรกิจแก้หนี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการทบทวนชีวิตแต่ละด้านเพื่อเรียนรู้จุดเด่น-จุดด้อยของตนเอง รู้จักการคำนวณต้นทุน บันทึกค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยเพื่อกำหนดราคาขายและหาแนวทางการลดต้นทุน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนารูปแบบการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง

เมื่อปัญหาหนี้สินชาวนาถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ผลที่ตามมาคือความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งพบว่าชาวนาและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้สร้างปัจจัยการบริหารจัดการชีวิตหนี้ที่น่าสนใจ สามารถช่วยบรรเทาหนี้ หรือปลดหนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมา ได้แก่

          - ตัวตนของเกษตรกร ต้องไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เป็นนักสู้ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีเจตนารมณ์แน่วแน่เพื่อรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน โดยคนในครอบครัวพร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยา และดูแลซึ่งกันและกัน

          - ต้องพัฒนาศักยภาพการเพิ่มรายได้ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม ลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนการผลิตให้ปลูกพืชที่หลากหลายชนิด หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่อยู่บนพื้นฐานอาชีพและทักษะที่เชี่ยวชาญ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

          - ต้องบริหารจัดการทุนตั้งต้น ที่ไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม เงินสนับสนุนหรือเงินเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนที่มาจากการจัดการระบบการเงินที่ดี การเก็บออมเพื่อสร้างอาชีพ ผนวกกับความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่มี ผสมผสานการแสวงหาความรู้และนวัตกรรมใหม่

          - ต้องบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ ปลูกพืชผลที่หลากหลายชนิด ทำเกษตรปราณีต ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์เต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

          - ต้องรู้เท่าทันหนี้ เข้าใจเงื่อนไขของเจ้าหนี้ แหล่งเงินกู้ และเอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อการบริหารระบบการเงินและกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับรายรับตามช่วงฤดูกาลการผลิต วางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีแผนอุดช่องโหว่ต่อสาเหตุการผิดนัดชำระหนี้

          อีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และดูเหมือนว่าอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพของผู้สูงวัยไปโดยปริยาย ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง การขาดแรงงานรุ่นใหม่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ และส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหลานเกษตรกรเสี่ยงต่อการถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างงาน จนไม่สามารถส่งเงินกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ และการจะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อมาเป็นเกษตรกรก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก

แต่ก็เป็นโอกาสดีเพราะพบว่ามีแรงงานคุณภาพที่มีแนวคิดใหม่ ๆ พร้อมทำงานและเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสู่ภาคเกษตรกรรม ได้นำประสบการณ์ ความรู้ และสินทรัพย์ของชาวนารุ่นเก่า มาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ๆ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนารุ่นเก่าได้กล้าปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร ยอมรับและทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบกลไกการยกระดับการผลิต นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้อย่างเหมาะสม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ช่องทางการตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติผ่านวิกฤตร่วมกันมา ทั้งสงคราม การก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมา หากแต่เราจะเติบโตและก้าวไปสู่การใช้ชีวิตต่อไปแบบวิถีปกติใหม่ (new normal) ด้วยความเข้าใจและมั่นคง ซึ่งไม่ว่าวิถีนั้นจะนำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง การเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความอยู่รอดและความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของชาวนาและภาคเกษตรกรไทยได้    

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มี.ค. 2564

ทำบัญชี...แก้หนี้ชาวนาได้อย่างไร

ChaleawNoisang

ชาวนาส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชตามกระแส ปลูกพืชตามความเคยชิน และปลูกพืชด้วยการใช้สารเคมี นี่คือคำกล่าวสรุปถึงสาเหตุปัญหาหนี้สินของชาวนาโดยเฉลียว น้อยแสง ชาวนาตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และครูบัญชีอาสาดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561

           “วันนี้ข้าว กข.41 ข้าวหอมปทุม ราคาดี ราคาพุ่ง เนื่องจากปริมาณข้าวน้อย ตลาดต้องการ ชาวนาก็จะพยายามปลูก แต่พอปลูกกันมากราคาข้าวก็จะตกต่ำ ขาดทุนกันอีก ชาวนาไม่รู้เลยว่ารับเงินไปเท่าไหร่ แล้วจ่ายไปเท่าไหร่ ไม่เห็นกำไรหรือต้นทุน ขาดการวางแผน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้สินและต้นทุนชีวิตของชาวนาก็สูงขึ้นทุกด้าน...” 

          ในอดีตเฉลียวเป็นชาวนาคนหนึ่งที่มีปัญหาหนี้สินกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถปลดเปลื้องหนี้สินของตนเองได้จนหมด จากการคิดค้นวิธีการทำนาแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี บริหารจัดการแปลงนาให้มีรายได้มากกว่าทางเดียว พร้อมกับการจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพและบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินจนประสบผลสำเร็จ

บัญชีชาวนา เครื่องมือสู่ความเข้าใจตัวเอง

           การที่ชาวนาต้องเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนนั้นมีความจำเป็นเพราะการทำบัญชีครัวเรือน จะทำให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน และรายจ่ายต้นทุนอาชีพ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ได้ว่าอะไรที่สมควรและไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสมจะส่งผลทำให้เกิดการออม การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และนำไปสู่แนวทางการลดและปลดหนี้สินลงได้

          เฉลียวกล่าวถึงวิธีการทำบัญชีแบบฉบับของชาวนาไว้ว่า ชาวนาจะต้องเป็นคนทำบัญชีด้วยตนเอง ไม่ใช่เอาไปให้ลูกหลานทำ มันไม่ได้ผล สังเกตไหมว่าคนโบราณเขาทำบัญชีมาตลอด โดยการเขียนไว้ข้างฝา เช่น หว่านข้าวเท่าไหร่ ไปลงแขกใคร ขายข้าวไปเท่าไหร่ นี่คือการทำบัญชีแบบคนโบราณที่เขาไม่รู้ตัว การทำบัญชีเกิดคู่มากับเศรษฐกิจพอเพียง

บัญชีชาวนา ควรทำให้ง่าย ไม่ต้องใช้สมุดแบบฟอร์มอะไรก็ได้ ใช้สมุดเปล่าธรรมดาก็สามารถจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ยอดรวมแต่ละวัน เพียงเดือนเดียวก็เห็นผล นำข้อมูลมาพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้จ่าย แล้วก็ค่อยๆ ลด เดือนต่อไปเมื่อเห็นผลเราก็จะกลายเป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัย การลงบัญชีละเอียดจะทำให้เราเห็นภาพรวมว่าอะไรที่สมควรไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อจะได้เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถที่จะเพิ่มรายรับของเราได้ รายรับเพิ่มก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการลงทุนเพื่อการผลิตครั้งถัดไปได้

 

แนวทางการแก้หนี้ด้วยบัญชีครัวเรือน

จากประสบการณ์ของเฉลียวพบว่า ธ.ก.ส. ให้ชาวนากู้ในลักษณะร่วมกลุ่มกัน ไม่เกินรายละห้าหมื่นบาท ซึ่งสะดวกสบายมากและดอกเบี้ยก็ต่ำ ร้อยละ 0.5 โดยปกติชาวนาส่วนใหญ่จะส่งแค่ดอกเบี้ยไม่ได้ส่งเงินต้นด้วย การวางแผนทางการเงินเพื่อลดและปลดหนี้ที่ถูกต้อง คือ ชาวนาจะต้องวางแผนเพื่อส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย จึงจะสามารถลดและปลดเปลื้องหนี้ได้หมด

ชาวนาคนไหนที่บอกว่าไม่สามารถออมเงินได้ สามารถปรับวิธีการออมเงิน ด้วยการใช้หนี้เก่าไปก่อน แล้วค่อยมาออมเป็นเงินสด ลักษณะนี้คือการออมเงินทางอ้อม แล้วก็สามารถใช้หนี้ได้หมดและไม่มีหนี้ผูกพัน

แนวทางแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องทางการเงินของชาวนา  คือ การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทั้งต้นทุนอาชีพและต้นทุนการใช้ชีวิต เพื่อลดภาระการจ่ายเงินของครอบครัว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่าและเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น การปลูกผักและผลไม้ไว้รับประทานเอง เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหาร และค่าเดินทางไปตลาด อีกทั้งทำให้สุขภาพดีอีกด้วย การเพิ่มรายรับ หารายได้เสริมนอกจากการทำนา เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย เป็นต้น การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัด รู้จักอด ลด ละ เลิก รายจ่ายหรือสิ่งที่ไม่จำเป็น และช่วยกันสร้างรายรับให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าประโยชน์จากการทำบัญชีชาวนาไม่เพียงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้และแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน นั่นคือ ทำให้ชาวนาเข้าใจตนเอง ทราบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และเงินคงเหลือในแต่ละวัน นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และวางแผนการใช้จ่ายเงิน  แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาได้อีกด้วย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 18 ธ.ค. 2563

 

ธกส.เงินฝากท่วมแบงก์ “เกษตรกร” รัดเข็มขัด-ปัดกู้เพิ่ม

RiceFarmerPlanting

เงินฝากท่วมแบงก์ ธ.ก.ส. 1.7 ล้านล้านบาท เกษตรกรรัดเข็มขัดกังวลใช้จ่าย แถมกู้น้อยลงช่วง “โควิด-19” ส่งผลแบงก์เกษตรต้องลดเป้าเติบโตสินเชื่อ 2 ปีซ้อน เหลือปีละ 7 หมื่นล้านบาท จากเดิมปล่อยสินเชื่อใหม่ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เผย 30 ม.ค.นี้ชงบอร์ดไฟเขียวแผนดำเนินงานปีบัญชี’64

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารนัดพิเศษ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค. 2565) หลังจากปีบัญชี 2563 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2564 นี้ ธนาคารมีแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 105,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงเหลือประมาณ 70,000 ล้านบาทแล้วเช่นกัน

“ในบอร์ดนัดพิเศษจะพิจารณาเป้าปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 ที่ตั้งไว้ที่ 70,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีบัญชี 2563 ที่ปรับลดเป้าลงมา ซึ่งในปีบัญชี 2564 ธนาคารจะมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรน เพิ่มความช่วยเหลือข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงจะเน้นปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนให้กรณีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

โดยสาเหตุที่ปรับลดเป้าสินเชื่อตั้งแต่ปีบัญชี 2563 ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่ออกมา ซึ่งเดิมประเมินว่าจะได้รับการตอบรับค่อนข้างมากจากเกษตรกรลูกค้า แต่เมื่อลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรจึงกังวลใจ ไม่กู้เงินเพิ่ม ทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้แค่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สินเชื่อระยะสั้น ฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ jump start credit วงเงิน 100,000 ล้านบาท ก็สะดุดเพราะโควิด-19 และอยู่ในช่วงการพักชำระหนี้อยู่

“ปกติเกษตรกรจะขอสินเชื่อหลังจากชำระหนี้ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ไปแล้ว เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนฤดูกาลผลิตใหม่ ซึ่งปีนี้ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์การเข้าขอสินเชื่อ jump start จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยแนวโน้มการชำระหนี้ ธนาคารก็มีโครงการจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาชำระหนี้ ผ่านโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งลูกค้าที่ชำระหนี้ดีจะรับเงินคืน 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ยกเว้นสหกรณ์นอกภาคเกษตรและองค์กร) จะได้รับเงินคืน 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้เกษตรกรพยายามดูแลฐานะการเงินของตัวเอง โดยหากไม่จำเป็นก็พยายามจะไม่กู้เพิ่ม จึงทำให้ปีบัญชี 2563 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้น้อยลง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องค่าเก็บเกี่ยว และเงินประกันรายได้จากภาครัฐ ส่งผลให้การออมของเกษตรกรดีขึ้น

“ตอนนี้เราพบว่าเกษตรกรลูกค้าไม่ถอนเงินออกจากบัญชีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา โดยเห็นสัญญาณเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงต้นปี 2564 ธนาคารมีเงินฝากรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท กล่าวคือพอร์ตสินเชื่อไม่ได้โต แต่พอร์ตเงินฝากขยับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวรวม 10 งวด เป็นวงเงินกว่า 48,000 ล้านบาท และค่าเก็บเกี่ยวไม่เกิน 20 ไร่ ไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ก็จ่ายไปอีก 20,000 ล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปเป็นสภาพคล่องของเกษตรกร แต่พอมีโควิด เกษตรกรก็ระมัดระวังเก็บสภาพคล่องไว้ ไม่นำไปใช้” นายสมเกียรติกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ก.พ. 2564

ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’

PrayutRiceIncome

“…เราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม…”

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว กับโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา’

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 และรัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ งวดที่ 1 ให้กับชาวนาแล้ว 7.86 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,387.06 ล้านบาท และอยู่ระหว่างทยอยโอนเงินงวดที่ 2

ปีนี้ เป็นอีกปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณและวงเงินสินเชื่อ เพื่อดูแลและช่วยเหลือชาวนา 4.56 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 115,588.60 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจ่ายขาด 85,304.60 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 30,284 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 วงเงินจ่ายขาด 23,495.71 ล้านบาท โดยใช้แหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. (วงเงินชดเชยส่วนต่าง) วงเงิน 22,957.37 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 538.34 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826.76 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 4,542.76 ล้านบาท ตั้งเป้าชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 1.5 ล้านตัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท

3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,562.50 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท (เป้าหมาย 1 ล้านตัน) และวงเงินจ่ายขาด 562.50 ล้านบาท

4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 610 ล้านบาท ตั้งเป้าดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน เก็บไว้ในสต๊อก 2-6 เดือน

5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงินจ่ายขาด 56,063.63 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจ่ายขาดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4.56 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท และการชดเชยต้นทุนเงินให้ธ.ก.ส. วงเงิน 1,233.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ครม.อนุมัติจัดสรรเงินจ่ายขาด วงเงิน 51,858.14 ล้านบาท จากวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด 85,304.60 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และดึงอุปทานออกจากตลาด ในช่วงที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย.2563

gov rice 22 11 20 1

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนาน ในช่วง 2 ปีการผลิต คือ ปีการผลิต 2562/63 และการผลิต 2563/64 จะใช้เม็ดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 2.21 แสนล้านบาท แต่พบว่าโครงการประกันรายได้ฯ ในปีการผลิต 2563/64 ใช้เงินเพิ่มจากปีการผลิต 2562/63 ไม่มากนัก

โดยโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2563/64 ใช้วงเงินสนับสนุน 115,588 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้ฯ ปีการผลิต 2562/63 ใช้วงเงินสนับสนุน 106,043 ล้านบาท ทั้งนี้ งบในส่วนการจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกอีก 6,956 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่มเป้าหมายข้าวเปลือกที่เข้าโครงการฯเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน เป็นต้น

rice 22 11 20 2

“ตอนนี้ข้าวหอมมะลิเกี่ยวแล้ว และเดือนหน้าจะเกี่ยวเยอะเลยแถวอีสาน ส่วนข้าวเหนียว ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเหลือไม่เท่าไหร่ก็หมดแล้ว จะมีก็แต่ภาคกลาง ซึ่งข้าวขาว ข้าวพื้นนุ่ม ข้าว กข. 79 แถวกำแพงเพชร ข้าวหอมมะลินอกเขต อุตรดิตถ์และพิษณุโลกลงมา ตอนนี้ออกเยอะมาก

ซึ่งข้าวหอมมะลิ ถ้าชาวนาได้จากรัฐบาลอีกตันละ 2,900 บาท ก็พอถัวอยู่ได้ ส่วนข้าวขาว ถ้าเราได้จากรัฐบาลอีกตันละ 1,000 บาท จะทำให้ชาวนามีรายได้ตันละไม่ต่ำกว่า 8,000-8,500 บาท ชาวนาก็พออยู่ได้” ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ปราโมทย์ บอกด้วยว่า “ถ้าไม่มีโครงการประกันรายได้ มันจบเลยนะ”

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ชาวนา และมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าต้นทุนเก็บเกี่ยว และค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง มาตรการเหล่านี้ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง และเชื่อว่าชาวนาน่าจะพอใจกับรายได้ในขณะนี้

“ตอนนี้รัฐบาลออกมาประกันราคาข้าวเปลือกและมาตรการคู่ขนาน สำหรับชาวนา ผมคิดว่าเขาโอเคนะ รายรับไม่ได้ลดลง แม้ว่าราคาในตลาดจะลง เพราะรัฐบาลประกันราคาให้ ดังนั้น เรื่องราคาข้าวเปลือก ชาวนาได้ผลประโยชน์ตรง และยังได้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท และถ้าขึ้นยุ้งฉางก็ได้อีกตันละ 1,500 บาท” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

อย่างไรก็ดี ในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และถูกคู่แข่งที่แย่งชิงตลาดไปต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตันเท่านั้น

“ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 3-4 ปี เราอาจจะหล่นลงมาเป็นที่ 4-5 ก็ได้…ตอนนี้เรามีคู่แข่ง เมื่อไหร่ราคาข้าวเราสูงเกินไป เราก็ถูกเขาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป” ร.ต.ท.เจริญย้ำ

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการคร่ำหวอดในวงการข้าวมาไม่น้อยกว่า 30 ปี อย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินในโครงการประกันรายได้ ปีการผลิต 2563/64 สูงถึง 1.15 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว พบว่ารัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า และไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้

สมพร เสนอว่า เพื่อลดภาระส่วนต่างการชดเชยรายได้ในโครงการฯ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่จะสร้างเข้มแข็งให้กับ ‘กลไกตลาด’ เพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ตบ’ ราคาข้าวเปลือกให้ลดลงของบรรดาพ่อค้า 

“ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกที่จะสร้างกลไกตลาดให้เข้มแข็งพอ มันยากมากที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะสูงเกินกว่าราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ เพราะเวลาราคาข้าวจะไปถึงเป้าหมาย พ่อค้าจะตบลงมา ตลาดจะตบราคาลงมาให้ต่ำกว่าราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่าง แต่พ่อค้าจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกที่ลดลง” สมพรเสนอ

สมพร ยังเสนอว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ทำให้ชาวนาข้าวเปลือกได้ในราคา ‘ยุติธรรม’ เพราะปัจจุบันชาวนาขายข้าวเปียก (ข้าวเปลือกที่มีความชื้นมากกว่า 15%) เป็นหลัก แม้ว่าแปลงเป็นราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ได้ แต่จะพบว่าชาวนาไม่สามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งต้องสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนให้โรงสีใช้การซื้อข้าวเปลือก เพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกลงไปอีก

“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจะออกมาเยอะ ชาวนาหลายคนต้องการเงินสด พอเกี่ยวเสร็จก็เอาไปขายโรงสีทันที ราคาก็ลง และถ้าโรงสีไม่มีเงินรับซื้อ ราคาก็ตกลงไปอีก เพราะไม่มีคนมาช้อนซื้อ แต่ถ้าโรงสีมีเงิน เขาก็จะไปช้อนซื้อ เพราะรู้ว่าถ้าเก็บไว้ซักพักราคาก็จะเพิ่มขึ้น อย่างข้าวหอมมะลิ ปลายปีราคาก็ขึ้น” สมพรย้ำ

สมพร ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้น แม้โครงการประกันรายได้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ แต่โครงการลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ชาวนามีความเข้มแข็งในระยะยาว

“หากไทยทำโครงการประกันรายได้เป็นระยะเวลายาวนาน จะเท่ากับเราแช่แข็งชาวนาให้อยู่กับที่ เพราะแทนที่ชาวนาจะมองหาโอกาสและปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ และต้องถูกล่อให้ติดอยู่กับการปลูกข้าว ซึ่งวันนี้ต้องถือว่าอยู่ในสถานการณ์ข้าวไทยอยู่ในภาวะ ‘โรยรา’ หรือ ‘ชราภาพ’ แล้ว เพราะต้นทุนสูง แข่งขันไม่ได้

และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็แข่งขันไม่ได้อยู่ดี เพราะต้นทุนเราไม่ได้ลดลง วันนี้ต้นทุนการผลิตข้าวของเราสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว และปีนี้ผมคิดว่าเราอาจจะส่งออกข้าวได้น้อยลงกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป โดยคาดว่าไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 7.5 ล้านตัน” สมพรกล่าว

somporn pic

(สมพร อิศวิลานนท์)

สมพร เสนอด้วยว่า รัฐบาลควรมีมาตรการคู่ขนานอื่นๆ ที่ทำให้ชาวนามีการปรับตัวไปสู่การใช้นวัตกรรมมากขึ้น หันไปปลูกชนิดใหม่ๆ หรือแม้แต่การปลูกพืชผสมผสาน เป็นต้น

“เราอาจใช้เงินไม่มาก ประมาณ 1 แสนล้านต่อปี ซึ่งดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่โอกาสที่เราจะใช้เงินไปทำอย่างอื่นจะหดหายไป และวันนี้ แม้แต่เรื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ หรือการจัดการเรื่องปลอมปนพันธุ์ข้าว เรายังไม่ได้ทำ เพราะเราเอาเงินมาใช้ลักษณะนี้

ซึ่งผมเห็นว่า เราจะต้องเข้าไปยกระดับซัพพลายเชน (ห่วงโซ่การผลิต) ให้ดีขึ้น สร้างกลไกตลาด แม้ว่าเราจะไม่มีกลไกตลาดกลางค้าข้าวแล้ว แต่เราสามารถมี Market place ที่ใช้ระบบไอทีรวบรวมผลผลิตข้าวเข้ามาอยู่บนออนไลน์ และซื้อขายในรูปแบบออนไลน์ อย่างนี้ก็จะช่วยเกษตรกรได้

และในประเทศที่มีการให้เงินอุดหนุนระยะสั้นแบบที่ไทยทำ เขามีลูกเล่น คือ มีมาตรการคู่ขนานเพิ่มเข้าไป เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ปลูกข้าวปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆคู่ขนานกันไป แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่มีกลไกอย่างนั้น” สมพรกล่าว

สมพร ทิ้งท้ายว่า “การอุดหนุนชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ ในทางการเมืองเขาถือว่าคุ้มค่า ถ้าไปถามคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็บอกว่าดีกว่าโครงการรับจำนำ แต่เราต้องคิดถึงความเข้มแข็งของภาคเกษตรด้วย คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่รอด มั่งคั่ง มั่นคง แต่วิธีการอย่างนี้ มันไม่ได้มั่งคั่ง มั่นคง มันมีแต่จะร่วงโรย

และเราก็รู้ว่า มันแข่งขันไม่ได้ แต่ก็ซื้อเวลา ลากไปเรื่อยๆ เหมือนรถหวานเย็นที่ลากไปได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้โดยสาร และถ้าเอาการเมืองมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก นักการเมืองจะชอบวิธีการอย่างนี้ เพราะเห็นผลระยะสั้น ทำได้ในระยะสั้น ชาวนาเองก็ชอบ แม้ว่าวันนี้เกษตรกรจะชอบน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ตาม”

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 22 พ.ย. 2563

หนี้สินครัวเรือนไทยเป็นนิวนอร์มอล

NewnormalFarmerDebt

ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด หนี้สินกลายเป็นนิวนอร์มอลของผู้คนจำนวนมาก เพราะผู้ที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็มาเป็นหนี้ครั้งแรก ผู้ที่มีหนี้อยู่แล้วก็ต้องกู้จนไม่มีใครให้กู้ แม้แต่รัฐเองก็ต้องขยายเพดานเงินกู้

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย การทบทวนข้อมูลหนี้สินครัวเรือนในโครงการอนาคตประเทศไทยแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติพบว่า หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 2 ของเอเซียตะวันออกคือสูงถึงร้อยละ 78.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2561 ส่วนหนี้ภาคเอกชนค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 70.5 ของ GDP ในปี 2560 เมื่อสิ้นปี 2563 หนี้สินของครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ร้อยละ 89.3

อัตราการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน อัตราการเป็นหนี้นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 40.6 ในปี 2547 และร้อยละ 66.2 (สศช. 2564) หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลในเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายจูงใจให้ซื้อรถคันแรกหลังจากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

การวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อรายบัญชีของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ชี้ชัดว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นและมีหนี้ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 25 ปีและสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ คนไทยในกลุ่มเริ่มทำงาน (อายุ 20 - 25 ปี) นั้นกว่าครึ่งมีหนี้ นอกจากนี้ ยอดหนี้ต่อหัวยังสูงขึ้นและเป็นหนี้นานขึ้น แม้ว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วประมาณร้อยละ 30 ของกลุ่มนี้ยังมีหนี้อยู่และมียอดหนี้ต่อหัวสูงกว่า 150,000 บาทต่อราย

ผู้กู้มักจะเป็นรายเดิมๆ และกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉพาะลูกหนี้ในเมืองใหญ่มียอดหนี้สูงกว่าจังหวัดอื่นมาก ยอดหนี้และภาระหนี้ที่สูงกว่ารายได้มี ทำให้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้และขาดภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (วิรไท สันติประภพ, 2564)

หนี้สินในภาคเกษตร ก็มีปัญหาไม่แพ้กลุ่มในเมืองและเป็นหนี้ประเภทดินพอกหางหมู ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 แสดงว่าหนี้สินสะสมรายปีของเกษตรกรต่อครัวเรือนสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านเกษตร และจะสามารถชำระหนี้คืนได้เพียงประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าหนี้สินเท่านั้น ส่วนข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนในปี 2556 แสดงว่า ภาระหนี้สินต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าของรายได้ต่อเดือนเป็น 7.8 เท่าของรายได้ในปี 2560 และเกษตรกรผู้เช่าที่ดินมีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เท่าเป็น 8.8 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรรุ่นใหม่ยังมีหนี้เร็วขึ้นและมูลค่าของหนี้ก็ใหญ่ขึ้น ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้แก่เกษตรกร

การศึกษาของ ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 พบว่า นอกจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงแล้ว ด้านทัศนคติของการมีหนี้จะเปลี่ยนไปตามรุ่นอายุ กล่าวคือ กลุ่ม Baby boomers (อายุ 56 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่ยังเห็นหนี้สินเป็นภาระ คือ กลุ่มผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยชรา คนกลุ่มนี้มองว่าการกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องปกติในชีวิต จะกู้เมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือการกู้ยืมมาลงทุนทำการเกษตรจากการกู้ยืมกองทุนหมู่บ้าน

สำหรับกลุ่ม Gen X (อายุ 41-55 ปี) กลุ่มนี้กล้าที่จะกู้ยืมมากขึ้น การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพื่อนบ้านต่างก็เป็นหนี้เหมือนกัน หรือกู้เพื่อรักษาสิทธิที่ตนเองต้องไปค้ำประกันเพื่อน ความจำเป็นต้องใช้เงินด้านการศึกษาของบุตร ซึ่งยิ่งเรียนสูงขึ้นหรือไปเรียนต่างจังหวัดค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ครัวเรือนมีหนี้มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น ยังกู้เพื่อซื้อ “ของมันต้องมี” ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ลูก (เทวดา) สามารถไปเล่าเรียนได้อย่างสะดวกสบาย แม้เมื่อปลดหนี้เกษตรได้แล้วก็ยังต้องช่วยกู้ยืมแทนบุตรหลาน ส่วนกลุ่ม Gen Y (อายุ 23-40 ปี) ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้ต้องเป็นหนี้ เมื่อแยกออกมามีครอบครัวก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว หนี้ก้อนแรกของครัวเรือนเกิดจากการศึกษาของบุตร และกู้ยืมมาเพื่อลงทุน แต่กลุ่มนี้เห็นว่าตนเองอายุยังน้อยสามารถทำงานหาเงินได้อยู่ ดังนั้นการเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

สิ่งที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคแบบ 4.0 ผ่านระบบการขายดิจิทัลไปเร็วกว่าวิถีการผลิตที่ยังเป็นเกษตรแบบดั้งเดิม (2.0 และ 3.0) และยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างรายได้จะทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มรายได้

หนี้ครัวเรือนในระดับสูงหมายความว่า ครัวเรือนไทยมีเงินออมต่ำ ซึ่งจะฉุดรั้งการขยายตัวของการลงทุนและขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่มีกำลังในการลงทุนเพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและอาจมีไม่เพียงพอสำหรับอนาคตเมื่อตนเป็นผู้สูงอายุและไม่มีรายได้แล้ว ต้องตกเป็นภาระของลูกหลาน กลายเป็นผู้สูงวัยที่เป็นภาระทางการคลังของภาครัฐที่ต้องดูแลในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยที่มีหนี้สูง (การออมต่ำ) จำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงและไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์พลิกผัน เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดการบริโภคของรัฐอาจมีประสิทธิผลลดลง เพราะครัวเรือนที่มีหนี้ต้องนำเงินที่ได้รับจากการเยียวยาไปชำระหนี้ก่อนแทนที่จะนำไปบริโภคโดยตรง

การแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยคงไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มรายได้หรือลดเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเท่านั้น แต่ในโลกยุคใหม่ที่สินค้าและบริการไหลอย่างต่อเนื่องเข้ามาในมือถือและการตัดสินใจง่ายแค่กระดิกปลายนิ้ว การสร้างทักษะในการจัดการเงินเป็นเรื่องจำเป็นและน่าจะเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 เกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัลพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของนักเรียนมัธยมที่จังหวัดน่าน เริ่มสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่มีรายได้
เราคงไม่อยากมีหนี้ออนไลน์มาพอกหางหมูเพิ่มอีกเป็นแน่!!

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 ต.ค. 2564

ผู้เขียน : ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

อนาคตชาวนาไทย หลังมรสุมโควิด-19

RiceHarvestingChainat

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ข้าวที่ชาวนาปลูกไว้จะเริ่มสุกเหลือง ส่งสัญญาณว่าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่ชาวนารอคอยมาถึงแล้ว  พร้อมกับปัญหาสุดคลาสสิคที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทุกปี นั่นคือ ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ

ปัญหาซ้ำเดิมนี้ภาครัฐมักจะใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการทางการเงินหรือการจ่ายเงินช่วยเหลือ เช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าว ในปีการผลิต 2562/2563 ที่ผ่านมา  ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท  

อย่างไรก็ตามปีนี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำสาหัสกว่าทุกครั้ง ผลพวงจากมรสุมทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยปัญหาแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำทุกชนิด การส่งออกข้าวชะลอตัวจากความต้องการในตลาดลดลง คาดว่าปีการผลิต 2563/2564  ภาครัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว  

อันที่จริงแล้วปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติปัญหาของชาวนาและภาคเกษตรกรรม และเกิดขึ้นมาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาหลายเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรังและสั่งสมมานาน แต่ยังไม่มีแนวนโยบายและการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เป็นต้น ลำพังความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากเม็ดเงินประกันรายได้และส่วนต่างที่ชาวนาจะได้รับครัวเรือนละ 20,000-40,000 บาท ตามเนื้อที่เพาะปลูกและชนิดของข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อาจแค่พอต่อลมหายใจให้ชาวนา นำเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่ารถเกี่ยว และค่าเทอมลูกในเดือนหน้า แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชาวนาสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางวิกฤติรอบด้านเหล่านี้ 

สภาวะวิกฤติของชาวนาและเกษตรกร

ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยเราปลูกกันมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน หมายความว่าเกษตรกรไทยมีการปลูกพืชที่กระจุกตัวไม่กี่ชนิด ทำให้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ราคาจึงตกต่ำ ขณะที่บางปีพอสินค้าเกษตรชนิดไหนมีราคาดี เกษตรกรจำนวนมากก็จะหันมาปลูกสินค้านั้น จึงทำให้ปีต่อมาราคาสินค้านั้นลดลง เกษตรกรจำนวนมากจึงขาดทุนวนเวียนกันไปอย่างนี้เสมอ

ปัญหาที่ดินทำกิน ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนเนื้อที่ที่ถือครองเพื่อการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยเนื้อที่ดังกล่าวเป็นของเกษตรกรเอง 72 ล้านไร่ หรือ 48% จากจำนวนทั้งหมด นั่นคือกว่าครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นสูงขึ้นกว่าการมีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะยังมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เจ้าของที่ดิน

ปัญหาหนี้สินเกษตรกรชาวนาและเกษตรกรไทยมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่กลับมีหนี้สินที่กู้ยืมมามาก ในปี 2561 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรต่อคนอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนนอกภาคเกษตรอยู่ที่เดือนละ 16,000 บาท ปัจจุบันหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยสูงถึง 195,000 บาท หมายความว่าเกษตรกรต้องทำงาน 39 เดือน ถึงจะมีรายได้มาจ่ายหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ย

ปัญหาเกษตรกรสูงวัย ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ พบว่ากลุ่มเกษตรกรสูงอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ในขณะเดียวกันเกษตรกรวัยแรงงานอายุ 15-40 ปี ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัญหาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยภูมิอากาศและน้ำ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของไทย มักได้รับผลกระทบเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเช่นปัจจุบัน และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกนั้นจะต่ำสุดในรอบ 40 ปี เกษตรกรหลายจังหวัดต้องเลื่อนการทำนาและเพาะปลูกออกไป หมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง 

ทางออกท่ามกลางสภาวะวิกฤติ

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชาวนาและเกษตรกรไทยยังเจอปัญหาเดิมซ้ำ ๆ เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว หลังมรสุมโควิด-19 ภาคเกษตรกรรมยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความชราภาพของเกษตรกร เป็นต้น

แนวทางออกและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อรองรับและสร้างภูมิต้านทานสภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น  การมีหลักประกันด้านรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีรูปแบบการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุน ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน   ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองทางอาหาร

เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค หรือพัฒนาระบบตลาดออนไลน์ทางเลือก โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สังคมไทยมีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

เก็บเมล็ดข้าวร่วงขายหาเงินใช้หนี้

Unhappyfarmer

เก็บเมล็ดข้าวร่วงขายหาเงินใช้หนี้

นครราชสีมา ทุกข์ชาวนาเจอน้ำท่วม ข้าวเสียหายไปกว่าครึ่งขายขาดทุนไม่พอค่าเช่าที่นา ค่ารถเกี่ยวข้าว ต้องเดินลุยน้ำเก็บเมล็ดข้าวร่วงนำไปผึ่งแดดขายหาเงินมาใช้หนี้

14  ธันวาคม 2563 ชาวนาในหลายพื้นที่ของอำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา กำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังช่วงปลายฝนที่ผ่านมา น้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนายยวง ประจงกลาง อายุ 67 ปี  ชาวนาในตำบลชีวาน อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า  ได้เช่าที่นาของนายทุนรายหนึ่ง  ทำนาปลูกข้าว จำนวน 30 ไร่ เช่าที่นาในราคาไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งผลผลิตข้าวที่กำลังจะได้เก็บเกี่ยวกลับมาถูกน้ำท่วมขังนานหลายสัปดาห์ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

ตนรู้สึกเสียดายข้าว จึงได้ว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวมาเก็บเกี่ยวผลผลิตในราคาไร่ละ 500 บาท แต่  1 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตข้าวได้เพียงแค่ 2 กระสอบเท่านั้น นำไปขายได้ในราคา 1,000 บาท และหากรวมที่จะต้องจ่ายค่าเช่าที่นา และค่ารถเกี่ยวแล้ว จะต้องจ่ายเงินไร่ละ 2,000 บาท   

ตอนนี้ผลผลิตข้าวเสียหาย ประสบภาวะขาดทุน ยังไม่มีเงินจ่ายค่ารถเกี่ยวและค่าเช่าที่นา จำเป็นต้องเดินลุยน้ำ เก็บเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นและเหลือจากรถเกี่ยวข้าว นำไปตากผึ่งแดดก่อนจะเอาไปขาย เพื่อรวบรวมเงินสำหรับไว้จ่ายค่ารถเกี่ยวข้าว แม้ว่าจะไม่มีข้าวเก็บไว้กินก็ตาม เพราะหากไม่นำเงินไปจ่ายค่าเช่านา และค่ารถเกี่ยว ก็จะถูกเจ้าของนายกเลิกสัญญาเช่า จึงจำเป็นต้องยอมขาดทุน และยอมทำงานหาเงินมาซื้อข้าวกินเอง ทั้ง ๆ ที่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าวด้วยมือตนเองแท้ๆ แต่ต้องมาซื้อข้าวจากโรงสีกิน ซึ่งยังมีชาวนาอีกหลายรายในอำเภอพิมายได้รับความเดือดร้อนเหมือนๆกันอยู่ในขณะนี้

ที่มา : Nationtv วันที่ 14 ธ.ค. 2563

เรื่องโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ  ภาพโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

 

เปิดปูม ชีวิต(ห)นี้ เกษตรกรไทย ทำไมต้องกู้?

 

FarmerDebtSeminar2021

ค้นหาปัญหาหนี้ชาวนา ทุกข์ที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

แบกชีวิตพอเกิดมาก็เป็นหนี้

อยู่อย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่พ้น

อยากจะมีเงินไม่พอต้องขอผ่อน

หากเดือดร้อนก็จะยอมสู้อดทน

ความทุกข์หนึ่งที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นั่นคือการที่เกษตรกรไทยต้องมีชีวิตผูกพันหนี้สิน

“หนี้” คือบ่อเกิดความจนซ้ำซ้อน และซ้ำซากของเกษตรกรไทย เป็นหนังชีวิตเรื่องเก่าที่เล่าสืบต่อมานานนม ที่ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใด... ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม หรือยุคดิจิทัล หนี้ยังเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรของไทยไม่สิ้นสลาย

และยังบาดใจพอๆ กับ เนื้อเพลง “ชีวิตหนี้” ที่กำลังสะท้อนชีวิตเกษตรกรไทยเอาไว้อย่างหมดจด

ชีวิตหนี้เกษตรกรยุคดิจิทัล

“เมื่อรายรับมันไม่พอรับรายจ่าย ต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรก็กู้เขา”

ทำไมปัญหาหนี้ชาวนาเกษตรกรเป็นวงจรที่ไม่เคยจบสิ้น?

หากค้นหาต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยถูกกัดกร่อนด้วยหนี้สินมาอย่างยาวนาน จะพบต้นตอปัญหาที่ “หยั่งรากลึก” กว่าที่คิด จากการศึกษาหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่ใช่เพื่อการเกษตรอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรขาดความสามารถในการชำระหนี้ จึงเกิดจากปัญหาผิดนัดชำระ ทำให้โดนดอกเบี้ยค่าปรับที่สูงพอกพูน

ที่สำคัญ “ปัญหาหนี้เกษตรกร” นั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเกษตรกรคนเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่ “ทุกคน” ในสังคมไม่ควรเพิกเฉย  มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พากันชักชวนเหล่านักวิจัย นักคิด และเกษตรกรชีวิตหนี้ตัวจริง จับมือกันสกัดบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อร่วมระดมหาทางออก ในเสวนาวิชาการสาธารณะเรื่อง "ชีวิตหนี้...นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19 "  สะท้อนชีวิตจริงเกษตรกรไทย ท่ามกลางสังคมภายนอกที่ตั้งคำถามว่า  “แล้วทำไมไม่เปลี่ยน”

 

เริ่มจากมาฟังผลการตรวจสุขภาพทางการเงินเกษตรกร จาก ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัย รายได้ชาวนาและเกษตรกรนั้นไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เป็นฤดูกาล ไม่ใช่รายได้ประจำ

“รายรับมาเป็นรอบๆ แต่รายจ่ายมีทุกวัน”

เมื่อขัดสนเกษตรกรจึงเลือกที่จะ ยืม กู้ (สิน)เชื่อ เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิตและใช้จ่ายครัวเรือน

มีเพียงเกษตรกร 20% เท่านั้นที่ใช้เงินออมในการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต

แม้แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือเกษตรกรควรมีรายได้มาจากหลายช่องทาง

“แต่ถามว่าทำไมเขาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่มีทุน การจะเปลี่ยนอะไรต้องใช้เงินลงทุน”

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต อย่างเช่นกรณีโควิด 19 ทำให้รายได้ครัวเรือนของเกษตรกรลดลง ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ โดยเกือบ 60% ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้

“พอจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดมีแต่จ่ายดอกเบี้ย แต่ต้นไม่ลดเลย ทำให้เขาท้อ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกร  หากให้เขาเลือกจ่ายเป็นรอบการผลิต หรือจ่ายแบบย่อยรายเดือนละไม่เกิน 500-1,000 บาท เขายังสามารถชำระหนี้ได้”

ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ที่จะแก้ปัญหาได้คือ การให้ความสำคัญแก่การจ่ายคืนเงินต้น มากกว่าการจ่ายคืนแค่ดอกเบี้ย ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินแบบที่เข้าใจง่ายต่อเกษตรกร รวมถึงการอาจต้องมีเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยง เช่นการประกันภัยพืชผล การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลวางแผนผลผลิต เป็นต้น

หนี้พอกหางหมู

ด้าน จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยโครงการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกร บอกเล่าที่มาว่า การที่เกษตรกรเป็นหนี้เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตตกต่ำ ความผันผวนของธรรมชาติ ความไม่แน่นอนของผลผลิตที่ได้ และกลไกราคาสินค้าเกษตรที่อำนาจต่อรองอยู่ในมือของ “นายทุน” หรือ “เจ้าหนี้”  ตลอดจน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ไม่นับรวมวิกฤตต่าง ๆ ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในแต่ละครั้ง

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำเหตุผลที่ทำให้ “วงจรหนี้” ชาวนาไทย

“โครงการมีการศึกษากลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 10 ราย ที่เคยเป็นหนี้และสามารถแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองได้ในหลายพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้ คือ หนึ่งเกิดจาก ปัจจัยส่วนบุคคล โดยเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจและมีใจสู้ปัญหา มักประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านครอบครัวคือการมีบุตรหลานก็มีส่วนสำคัญ  เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ลูกหลานแบกรับภาระหนี้ของตนเอง” จารุวัฒน์เล่าถึงผลการถอดบทเรียน

ในแง่ทางออกยั่งยืน จารุวัฒน์เผยว่าเกษตรกรเหล่านี้มักจะพยายามค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้านการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองมากขึ้น เช่น การรู้จักประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดการขาดทุน 

เขาบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่รู้ดีว่าการลดต้นทุนเป็นทางแก้ปัญหา หรือการหารายได้เสริมมีความสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถทำได้ เช่น การมีทุนจำกัด ทำให้พวกเขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะทดลองลงทุนสิ่งใหม่ ๆ

อีกบทเรียนสำคัญที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ การค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงของการติดอยู่ในกับดักหนี้สินของเกษตรกร อาจเกิดจากการที่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาผลผลิตได้ หรือรายได้ได้

“เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนก่อนการผลิต ทุกคนต่างคิดหรือมีความตั้งใจดีที่จะใช้หนี้สิน แต่เมื่อผลผลิตออกมาไม่ตรงตามความคาดหมาย ทำให้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันการมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้เกษตรกรได้มีโอกาสพักชำระหนี้และฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอในการนำเงินไปชำระหนี้ได้ดีขึ้น

“แต่จากการถอดบทเรียน เรามีข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น คือ หนึ่ง กองทุนฯ ควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นในบทบาทของกองทุนฯ สอง การติดตามสอดส่อง ดูแลพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูมีความสำคัญมาก หากมีความเข้มแข็งก็จะทำให้กลุ่มมีประสิทธิภาพและเดินไปตามแนวทางที่ดี และสาม การสร้างความหลากหลายของช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนต้องรวดเร็วและทันการณ์ นอกจากนี้ การให้ข่าวสารข้อมูล การคาดการณ์เกี่ยวกับผลผลิต การตลาด ราคาสินค้า พิบัติธรรมชาติหรือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นล่วงหน้าแก่เกษตรกร จะช่วยได้ ตลอดจนการหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าหรือทำการตลาดช่วยเกษตรกร” จารุวัฒน์กล่าว

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิจัยอิสระ ของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เมื่อเกษตรกรถูกฟ้องหรือตกเป็นจำเลยคดีหนี้สิน มักไม่สามารถที่จะรับมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเกษตรกรรู้ไม่เท่าทันกระบวนการกฎหมายหรือสิทธิของตนเอง

“ส่วนใหญ่เมื่อได้รับหมายศาลเลือกที่จะไม่ไปศาล เพราะเขาไม่รู้ว่าไปแล้วได้อะไรบ้าง หรือไม่มีความรู้และไม่สามารถหาทนายความไปขึ้นศาลด้วยได้ จึงเลือกที่จะไม่ไปสู้คดี”

บางรายไปแล้ว ก็ต้องเจอกับทนายความเจ้าหนี้ที่มักมีกลเกมในการทำเจรจาหรือทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  หรือทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ

“หนี้จากการกู้ค้ำประกันเป็นปัญหามากสำหรับเกษตรกร และเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเยอะ ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นหนี้ค้ำประกันถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนหนี้จดจำนองส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นหนี้นอกระบบ นั่นคือการเอาโฉนดไปจำนองไว้  แต่เจ้าหนี้นอกระบบบางรายยึดโฉนดที่ดินไว้และให้ลูกหนี้เซ็นมอบอำนาจ แล้วจงใจปล่อยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงระยะเวลาที่กำหนด จนทำให้ดอกทบสูงจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ก็มักถูกเจ้าหนี้นำดอกและสินทรัพย์มาแปลงให้กลายเป็นหนี้ในระบบ โดยเจ้าหนี้ก็จะแอบนำไปจดจำนองโดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็บังคับให้ลูกหนี้จดจำนองภายหลัง” เธอเล่าเบื้องหลังเบื้องลึก

ทางออกของปัญหานี้ เพ็ญนภาแนะว่า จำเป็นต้องมีผู้รู้หรือหน่วยงานทางกฎหมายเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางศาลระหว่างโจทย์ (เจ้าหนี้) และจำเลย (เกษตรกร) เพื่อสร้างข้อตกลงประนีประนอม หรือให้การพิพากษาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรมากที่สุด นอกจากนี้การช่วยเหลือทางคดีนี้ยิ่งเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพ

ปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปรับหนี้

อีกมุมมองหนึ่งจาก เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชากรอิสระ ได้ร่วมเสนอแนวทางการจัดปรับภูมิทัศน์และความสัมพันธ์ใหม่ในระบบการผลิตและตลาดสู่วิถีอินทรีย์แก่ชาวนาที่มีหนี้สิน  โดยกล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ และเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเกษตรกรกับสังคม ผู้ประกอบการ การตลาด ชุมชน หรือ ผู้บริโภค เป็นต้น

โดยบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ตนเองได้ทำการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเกษตรกร 3 กลุ่มที่เคยมีหนี้สินมาก่อน ได้ข้อสรุปว่าหากเกษตรกรที่เป็นหนี้สินอยากจะออกจากวงจรหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ให้เบาลง จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการหรือมีศักยภาพดังนี้

“เกษตรกรทำนาสามรอบ แต่ไม่รวย กลับมีแต่เพิ่มหนี้จากต้นทุน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ เกษตรกรที่มีหนี้ควรเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรต้องมีการสร้างทางเลือกที่อาชีพหลากหลาย หรือมากกว่าทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ ปลูกชนิดอื่น หรือไปทำอาชีพเสริมอื่น แปรรูปการเกษตร เป็นต้น รู้จักการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกจากนี้เกษตรกรต้องมีความสามารถทำการตลาดได้เอง และชาวนาต้องเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรอง ต้องรวมกลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็ง”

สำหรับการปรับตัวสู่ระบบการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ จะเป็นหนทางช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะลดการใช้สารเคมีทำให้ช่วยลดต้นทุนได้  

“เกษตรกรควรพัฒนาช่องทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากตลาดในชุมชนเองได้ เพราะคนในชุมชนเองก็มีต้องการอาหารปลอดภัย รวมถึงหาตลาดเทศกาล เชื่อมโยงเอกชน ภาครัฐ ออนไลน์ หรือระบบสมาชิก พรี ออร์เดอร์ เป็นต้น”

บุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช เผยถึงชีวิตหนี้ของตนว่า เกิดจากการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง เพลี้ยแมลงลง ระยะหลังทำแล้วขาดทุนหมดทุกรอบ จนต้องเผชิญปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มจากการเป็นหนี้ ธกส. แล้วไปกู้หนี้นอกระบบทำให้เพิ่มหนี้จากสองแสนเป็นห้าแสน หลังมีหนี้สินมากมาย บุญชูดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาปลูกข้าวหอมมะลิแทน รวมถึงหาทางช่องทางสร้างรายได้เสริมทั้งขายยำ ขายอาหาร มะม่วง ขนมปัง ทำทุกอย่างเพื่อปลดหนี้

“ ตอนที่ปลูกข้าว กข แม้ผลผลิตต่อไร่เยอะกว่าแต่ราคาตกต่ำ ปลูกข้าวหอมมะลิได้น้อยกว่า แต่หอมมะลิขายได้ราคาดีกว่า เพราะขายปลีกเพื่อนบ้านในชุมชน พอลูกเรียนจบทำงาน ก็มาช่วยเราผ่อนหนี้สินก็เลยดีขึ้น”

สุนทร คมคาย เป็นเกษตรกรอีกรายที่มีหนี้สินล้นตัว เขาสารภาพว่าเคยเป็นหนี้สูงถึงสามล้านบาท

“เราทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ต้องลงทุนเครื่องจักร จึงไปกู้เงินมาเพื่อซื้อเครื่องจักร”

แต่หลังเผชิญหนี้หนัก ความคิดเขา “เปลี่ยน” สุนทรหันมาสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทั้งทำนาอินทรี เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ปลูกสมุนไพรส่งให้ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศฯ ทำให้เขาสามารถค่อยปลดปลงหนี้ที่มีได้มากขึ้น

“เรามีช่องทางมากขึ้นในการสร้างรายได้ การหันมาวิถีอินทรีย์มีความเสี่ยงปัญหาผลผลิตน้อยลง การทำเกษตรอินทรี ผสมผสานทำให้มีรายได้ทั้งรายปี รายเดือนและรายวัน แตกต่างกับการปลูกพืชไร่ ที่ได้เป็นงวด”

สุนทรแนะนำเพื่อนเกษตรกรว่า การทำเกษตรต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง

“การทำตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรควรรู้ว่าควรปลูกอะไรแล้วจะขายได้แน่นอน ราคาแค่ไหน ที่สำคัญการเป็นเกษตรกรมันแตกต่างกับการทำงานในเมือง เป็นเกษตรกร ต้องใช้จ่ายพอเพียง จะใช้แบบเดิมไม่ได้”

 161519293522

หา “หลังพิง” ให้เกษตรกรไทย

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์เสริมว่า เมื่อก่อนการกู้ค้ำประกันกลุ่ม สามารถช่วยไห้เกษตรกรหันมากู้ในระบบมากขึ้น แต่ด้วยสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจกลายเป็นภาระหนี้ข้ามรุ่น ส่งต่อหนี้ถึงลูกหลาน เห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเกษตรกร เรื่องระยะสั้นหรือส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

ดร.เดชรัตนำเสนอแผนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เผชิญหนี้  3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกต้องมีการเปลี่ยนกติกาใหม่ให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรลูกหนี้มากขึ้น เช่น ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับหรือผิดชำระใหม่จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 15 มาเป็นการบวกเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1-3 จากอัตราดอกเบี้ยเดิมเท่านั้น

หรือควรปรับระบบหักดอกเบี้ย มาเป็นการหักในสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลดลงพร้อมกันทุกครั้ง เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจชำระหนี้

ขั้นตอนที่สอง ควรเกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลไกปกติ แต่ปัจจุบัน แต่ละปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3,000,000 ราย มี 800,000 รายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธกส. ช่วยได้เพียง 40,000 ราย ส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูประมาณ 500,000 ราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้แล้ว 30, 000 ราย ซึ่งแม้จะช่วยเต็มที่ แต่จะเห็นว่าความสามารถในการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับขนาดปัญหา ดังนั้นควรมองหาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้ได้มากขึ้น

ขั้นตอนที่สาม การเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ทางหนึ่งคือการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ เช่น มีกองทุนฟื้นฟู หรือกลไกอื่นก็ได้จะเข้ามาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการผลิต ส่วนเกษตรกรและทายาทที่ไม่ประสงค์จะทำเกษตรกรในเกษตรในที่ดินนั้นแล้ว ทางเลือกคือให้นำที่ดินเขาที่มีอยู่มาเช่าที่ดินหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะยาว อาทิ ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าเนื้อไม้ในระยะยาว หรือการขายแบบผ่อนชำระที่เรียกว่า Reverse Mortgageให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นทางเลือกในการรักษาที่ดินแปลงนั้นเผื่อไว้ในอนาคต ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินจำเป็นต้องมีการสร้างงานขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้

“ที่จริงเกษตรกรกลุ่มนี้มีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 68,000 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้จะอยู่ที่ 400,000 บาทโดยเฉลี่ย ควรใช้วิธีการสร้างงานใหม่ที่มีรายได้แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกลุ่มนี้ เช่น การเพาะกล้าไม้ กิจการทางเลือก ในกองทุนหรือ การดูแลผู้สูงอายุ จ้างติดโซล่าเซลล์ เป็นต้น สำคัญที่สุด สามขั้นตอนนี้ รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง” ดร.เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 มี.ค. 2564

เสวนาวิชาการสาธารณะ "ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19"

FarmerDebtAcademicPanelDiscussion

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมแคนนา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.     กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.     เปิดเวทีการเสวนา โดย คุณมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร “นโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกรภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19”

13.20 – 15.30 น.     เวทีเสวนา หัวข้อ “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร)

- คุณเกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ (กระบวนการสร้างแรงจูงใจชาวนาที่มีหนี้ให้ปรับเปลี่ยนมาทำการผลิตอินทรีย์)

- ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถานการณ์ทางการเงินและรูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับชาวนา)

- คุณบุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี (บทเรียนการปรับตัวของชาวนาผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 กรณีชุมชนชาวนาภาคกลาง)

- คุณสุนทร คมคาย กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี (บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 กรณีเกษตรกรปลูกผักและทำเกษตรผสมผสาน)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (โอกาสและความท้าทายต่อการปรับตัวของเกษตรกรผู้มีหนี้ยุคโควิด-19 และข้อเสนอทางออก)

ดำเนินรายการโดย : คุณกนกวรรณ กนกวนาวงศ์ นักจัดรายการวิทยุ FM.97.0

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

รายละเอียดเพิ่มเติม....

https://drive.google.com/file/d/1aPYbIy81oJ0_y3OEiVTvPiiwPl4_cJFp/view?usp=sharing

 

แก้ “หนี้ชาวนา” อย่างไร ให้หลุดจาก “วงจรหนี้” และสูญเสียที่ดิน

 

farmerharvesting

 

“หนี้สินชาวนา” เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามคิดค้นหาทางแก้มาโดยตลอด รัฐบาลทุกยุคสมัยก็ล้วนมีนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ ออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร แต่ก็ยังไม่มีใครหรือรัฐบาลไหนดำเนินนโยบายที่ประสบผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าที่ผ่านมานโยบาย มาตรการ โครงการของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรยังขาดความต่อเนื่อง เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ ผลก็คือชาวนาและเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้และการสูญเสียที่ดิน

สถานการณ์หนี้สินและการสูญเสียที่ดินของชาวนา

งานศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในปี 2558 พบว่า ชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ถึง 25.5 เท่า และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2557 พบว่า เกษตรกรมีภาวะหนี้สินรวม 1.322 ล้านล้านบาท

ปัญหาหนี้สินเป็นที่มาของความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน ส่งผลทำให้ชาวนาและเกษตรกรไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องจากที่ดินเป็นฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ปัจจุบันพบว่าชาวนาและเกษตรกรได้สูญเสียที่ดินทำกินในระดับหลายแสนไร่ต่อปี ดังสถิติตัวเลขการจำนองที่ดินและขายฝากที่ดินของเกษตรกรในปี พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีสูงถึง 29.7 ล้านไร่ และพบว่าพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ 149.2 ล้านไร่ มีชาวนาและเกษตรกรถือครองที่ดินของตนเองเพียงร้อยละ 48 หรือ 71.6 ล้านไร่ เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 52 หรือ 77.6 ล้านไร่ คือการทำมาหากินของเกษตรกรในพื้นที่ผู้อื่น พื้นที่เช่า และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

สาเหตุปัจจัยการเกิดหนี้ของชาวนา

จากงานศึกษาทบทวนเอกสารงานวิจัยของโครงการวิจัย “การสังเคราะห์องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรในระดับพื้นที่สู่ข้อเสนอทางนโยบาย” ดำเนินงานโดยมูลนิธิชีวิตไท ปี 2561 พบว่าปัจจัยสาเหตุการเกิดหนี้ของชาวนาและเกษตรกรเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก

ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกร เกิดจาก 1)การซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก (การบริโภคนิยม) 2)การเล่นการพนัน , สุรา 3)ไม่มีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน 4)การลงทุนทำการเกษตรและการผลิตเชิงเดี่ยว การลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่ 5)การลงทุนด้านการศึกษาบุตรหลาน 6)การรักษาพยาบาล 7)การขาดทักษะความรู้การคิดวิเคราะห์แบบครบวงจร (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ)

ปัจจัยภายนอกเกิดจาก 5 ปัจจัยสาเหตุหลัก นั่นคือ 1)ฐานทรัพยากรและฐานการผลิตลดลง ถูกทำลาย ภาวะโลกร้อน 2)การยอมรับกระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างรวดเร็ว เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีการอุปโภคและบริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมประเพณีการใช้จ่ายเกินกำลัง 3)นโยบายให้กู้ยืมของรัฐบาล 4)วิถีการผลิตในชุมชนเปลี่ยนแปลง การลงทุนสูง แต่รายได้น้อย 5)นโยบายภาคการเกษตรของภาครัฐ

รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา

จากการสำรวจเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนชาวนามีการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินใน 4 ระดับ นั่นคือ 1) การจัดการหนี้สินในระดับปัจเจก เช่น การปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมค่าใช้จ่าย ปรับระบบการผลิตไม่ตามกระแส หารายได้เพิ่ม การพัฒนาศักยภาพเรียนรู้เรื่องหนี้สิน การประหยัด การออม 2) การจัดการหนี้สินในระดับครัวเรือน ได้แก่ จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าอาหาร ปลูกผักกินเอง 3)การจัดการหนี้สินในระดับกลุ่มองค์กรและชุมชน ได้แก่ องค์กรชุมชนท้องถิ่นมีการพัฒนาศักยภาพ มีแผนส่งเสริมอาชีพ การจัดการลดค่าใช้จ่ายเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากตลาด มีการรวมกลุ่มกันซื้อขายผลผลิต รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากวัสดุในชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และทรัพยากรพื้นที่ 4)การจัดการหนี้สินในระดับนโยบาย ได้แก่ การปรับปรุงและแก้ไขด้านนโยบายของรัฐ

บัญชีครัวเรือน กุญแจสู่การตัดวงจรหนี้สินและสูญเสียที่ดินของชาวนา

ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของชาวนา โดยพุ่งเป้าไปที่แนวทางลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มรายได้ แต่ดูเหมือนว่ายังขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เนื่องจากหากมองที่สัดส่วนรายจ่ายของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ คือ พฤติกรรมการใช้จ่าย หรือวิธีคิด ดังนั้นโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต้นทุนและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าใด หากพฤติกรรมการใช้จ่ายสูงตามตัว ปัญหาหนี้สินก็ยังไม่ถูกแก้

หนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ของชาวนาและเกษตรกร คือการขาดความรู้เรื่องทางการเงิน นั่นคือการที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกรายรับรายจ่าย ขณะที่วิถีการเพาะปลูกและการใช้ชีวิตยุคปัจจุบัน ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนที่เป็นตัวเงิน

การทำ “บัญชีครัวเรือน” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร บัญชีครัวเรือนไม่ใช่ยาวิเศษ ลักษณะเหมือนเป็นใบตรวจโรค ที่จะช่วยวินิจฉัยความเจ็บป่วยเพื่อจะหาทางเยียวยาแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาได้

วิธีการสำคัญคือต้องมีการวางเงื่อนไขให้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน และมีการนำมาวิเคราะห์เป็นระยะ เช่น ทุก 3-4 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการนำเครื่องมือบัญชีครัวเรือนเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้สู่การแก้ปัญหาหนี้สินแบบมีส่วนร่วม

การทำบัญชีครัวเรือน กับ การทำแผนลด ปลดหนี้ แผนการจัดการหนี้สิน สิ่งแรกที่ชาวนาจะรู้คือ รายรับรายจ่าย จำนวนหนี้สิน ที่มาของรายรับรายจ่าย และนำข้อมูลแยกแยะ จัดเป็นหมวดหมู่ จัดการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เพิ่มจากศักยภาพของตนเอง รวมทั้งบริหารทรัพยากรและที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บริหารรายรับรายจ่าย หนี้สิน กำหนดสัดส่วนการใช้เงิน ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบบแหล่งเงินกู้ ไม่กู้นอกระบบ วางแผนการผลิต วางแผนการออม วางแผนการปลดหนี้รายเดือน รายปีด้วยการวิเคราะห์การจัดระบบดังกล่าว ทำให้เกิดวิธีคิด ปรับทรรศนะ ปรับวิธีคิดการจัดการหนี้สินอย่างเป็นระบบ สามารถปลดหนี้ได้ในเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้

สุดท้าย เราต้องยอมรับและอยู่กับโลกความเป็นจริง ปัญหาหนี้สินชาวนาจะไม่หมดไป ดังนั้นเป้าหมายคือ ชาวนาสามารถบริหารจัดการหนี้ และอยู่กับหนี้ได้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรครัวเรือนและชุมชนจะมีศักยภาพและความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความสามารถวางแผนและบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สิน เพิ่มพูนรายได้ หลุดจากวงจรหนี้ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่11 พ.ค. 2561 

 

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6793401
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5403
16904
39156
22307
6793401

Your IP: 3.144.116.159
2024-05-02 17:01