• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - กองทุนธนาคารที่ดิน

'กลุ่มแก้วกล้า' จากชาวนาไร้ที่ดิน สู่ผู้ผลิตผักอินทรีย์ถึงมือผู้บริโภค

kawklagroup

ที่มาภาพ : เพจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แก้วกล้า

รถยนต์ของผู้มาเยือนเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ บนถนนลูกรังสายเล็ก ๆ ที่ตัดผ่ากลางไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลังกว้างสุดตา จนมาถึงจุดหมายปลายทาง “วิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า” ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีวิมล ฝั่งทะเลประธานกลุ่ม รอต้อนรับพร้อมกับสมาชิก

วิมลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองเป็นชาวนาเช่า อยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา พอขายข้าวได้แต่ละครั้ง ก็ต้องจ่ายค่าเช่านา ใช้หนี้เงินกู้ ค่าปุ๋ย ค่ายา จนแทบไม่มีเงินเหลือ อีกทั้งสุขภาพก็แย่ลงจากสารพิษ แถมต่อมาที่นาเช่าก็ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน ในระหว่างนั้นวิมลพร้อมกับพี่น้องชาวนาจากอยุธยาก็ถูกชักชวนให้มาบุกเบิกที่ดินทิ้งร้างในจ.เพชรบุรี เพื่อปลูกกล้วยหอมทอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 8 เดือน ก็ยังไม่ได้รับค่าแรง ทั้งกลุ่มจึงขอถอนตัวออกมาจากผู้ชักชวน กลายเป็นความขัดแย้งที่มาพร้อมกับการถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน

ต่อสู้คดีเกือบ 2 ปี จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาบุกรุก วิมลจึงได้ประสานไปยังหลายภาคส่วนเพื่อขอเช่าที่ดินจากเจ้าของ จากนั้นก็ได้รวบรวมสมาชิกเกษตรกรที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ซึ่งเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินและพร้อมจะเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มาจดทะเบียนตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้าแล้วลงมือทำการพลิกฟื้นและพัฒนาที่ดินผืนนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบ

ผ่านไปเพียง 1 ปี พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าจำนวน 28 ครอบครัว ก็รวบรวมเงินจากน้ำพักน้ำแรงตนเอง นำมาซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มได้ในราคา 600,000 บาท เพื่อปลูกผักอินทรีย์รวมกว่า 40 ชนิด เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ปลา และแพะ มีผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีส่งต่อให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ชัดเจน

สมาชิกกลุ่มแก้วกล้าเล่าต่อว่า ทุกคนทำเกษตรอินทรีย์ก็เพื่อสานต่อความรู้จากศาสตร์พระราชาที่มีอยู่มากมาย เพื่อปลูกผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้คน จากดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมที่ไร้สารพิษ “แม้จะถูกล้อมรอบด้วยไร่อ้อย ไร่มัน ที่ใช้สารเคมี แต่เราก็จัดการได้ด้วยการลงทุนขุดคูล้อมรอบทุกด้าน แล้วปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชน รวมถึงขุดสระเป็นแหล่งน้ำใช้ของตัวเอง และมีกฎเหล็กข้อสำคัญก็คือ ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในแปลงอย่างเด็ดขาด”

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม “The Basket” โดยโครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ก็ได้เข้ามาหนุนเสริมความรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมให้กับกลุ่มฯ รวมถึงช่วยทำการตลาดในรูปแบบของ “ระบบสมาชิก” ที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อผักล่วงหน้าให้เป็นรายเดือน โดยกลุ่ม The Basket จะรับผลผลิตอินทรีย์ของกลุ่มแก้วกล้า จัดส่งถึงหน้าประตูให้ผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิกตามบ้านหรือร้านค้าต่าง ๆ ตามชนิดและจำนวนที่สั่งไว้ สัปดาห์ละ 1 วัน โดยสมาชิกจะได้รับผัก ผลไม้ ที่สด ปลอดภัย หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ในราคาที่ย่อมเยาและสะดวกสบายขึ้น

ซึ่งการตลาดแบบนี้เป็นเหมือนสัญญาใจกันระหว่างคนปลูกกับคนกิน ที่ยืนยันว่าต้องซื้อแน่นอนเพราะได้ลงทุนจ่ายเงินล่วงหน้าให้มาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่ง โดยทางกลุ่มฯ ได้ใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ "ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม" (Participatory Guarantee System) "PGS” หรือ “ระบบชุมชนรับรอง” มาเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพผลผลิต ที่เกื้อหนุนกันให้เกิดสังคมเกษตรอินทรีย์ เพราะเมื่อผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกร ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแหล่งเพาะปลูกไปด้วยนั่นเอง ซึ่งสมาชิกกลุ่มฯ บอกด้วยความภูมิใจว่า “พวกเราดูแลผู้บริโภคเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์มา 3 ปีแล้วนะ...”

เมื่อปี 2561 กลุ่มแก้วกล้าได้เสนอเรื่องไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) เพื่อขอสนับสนุนที่ดินทำกินให้กับสมาชิกเพิ่มเติม แม้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติวงเงินซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพิ่มอีก 92 ไร่ ในวงเงินกว่า 13,200,000 บาท รวมถึงมีงบประมาณในการสร้างบ้านและระบบสาธารณูปโภคเพื่อการเกษตร โดยพร้อมจัดสรรได้ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งทางกลุ่มได้ทำสัญญาผูกพันกับธนาคารที่ดินไว้ 30 ปี โดย 2 ปีแรก เสนอเป็นการเช่าที่ดินในอัตราไร่ละ 300 บาท เพราะเป็นระยะของการพัฒนาและปรับพื้นที่ และในปีที่ 3 ซึ่งสามารถเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อ โดยจะแยกโฉนดให้สมาชิกแต่ละรายผ่อนชำระกันเอง

นั่นหมายถึงสมาชิกจะมีสถานะใหม่เพิ่มขึ้น คือเป็น “ลูกหนี้” ของกลุ่มฯ หนี้เพื่อให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พร้อมกับเงื่อนไขสำคัญ คือ การจัดระบบและสร้างวินัยใหม่ให้ชีวิต ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ และการเงิน  เพื่อไม่ให้วงจรของหนี้สินและการสูญเสียที่ดินทำกินต้องกลับมาอีก

วิมลเล่าประสบการณ์การจัดการหนี้ของตนเองว่า “ในอดีตก็มีหนี้เป็นหลักแสนเหมือนกัน ส่งดอกเบี้ยมานานแต่เงินต้นก็ไม่ลด จึงตัดสินใจหันหน้าเข้าเจรจาขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้  แล้วกลับมาวางแผนชีวิตใหม่เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน จนชำระได้หมดในเวลาไม่นาน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์”

พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าบอกว่า พวกเขาไม่เคยลืมวันที่ลำบากมาด้วยกัน ตอนที่ถูกขับไล่ ตอนเป็นหนี้สิน ซึ่งขณะนั้นทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีความเข้าใจร่วมกันว่าเราต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จ ถือว่าปัญหาระหว่างทางคือ “เรื่องเล็ก” ตราบใดที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายก็อย่าล้มเลิก ที่สำคัญคือเมื่อเริ่มต้นทำอะไรแล้ว จะต้องสานต่อให้จบ... คือสิ่งที่พวกเขาบอกตัวเองเสมอมา และขอบอกต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ...”

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 ก.ค. 2563 

"ประวิตร"ผุดแผนเงินจากดินเพิ่มรายได้-ลดหนี้เกษตรกร

PrawitmakemoneyfromFarm

“ประวิตร” ตั้ง “อนุชา” นั่งประธานกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลั่นเดินหน้าเพิ่มกำลังซื้อภาคเกษตรผุดโครงการ “เงินจากดิน” แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิดหวังราคาพุ่งเพิ่มรายได้เกษตรกร ควบคู่มาตรการพักหนี้ แก้หนี้นอกระบบ ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีคณะกรรมการอีก 35 คนได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ 19 คน รวมทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากภาคเอกชน เช่นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกนั้นตนมองว่าเป้าหมายที่สำคัญ 2 เป้าหมายแรกที่ต้องผลักดันให้บรรลุผลก็คือ การแก้ปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหาความหิวโหย ซึ่งจะต้องทำสองตัวนี้ให้สำเร็จก่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายอื่น ๆ 

 ทั้งนี้  ตนในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะผลักดันในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนก่อน โดยต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่สุดของประเทศ และอยู่ในระดับฐานรากของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้่อของภาคเกษตรถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเนื่องจากมีแรงงานจากภาคท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 เข้ามาทำงานในภาคเกษตร โดยหากสามารถทำให้คนในส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นการจับจายใช้สอยในระดับเศรษฐกิจฐานรากก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักเนื่องจากคนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

นายอนุชา กล่าวว่า แนวทางก็คือการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพดในราคาที่สูงกว่าตลาดโดยปริมาณในการแทรกแซงผลผลิตไม่เกินสัดส่วน 30% ของผลผลิตในภาพรวมซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเป็นการชี้นำราคาของภาครัฐซึ่งทำได้เนื่องจากภาครัฐช่วยนำผลผลิตออกจากตลาดบางส่วนและทำให้ผลผลิตพืชเกษตรมีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการราคาสินค้าเกษตรจึงเพิ่มขึ้น 

นอกจากโครงการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยังมีสิ่งที่จะทำไปควบคู่กันก็คือเรื่องของการพักชำระหนี้เกษตรกรชั่วคราว และการจัดการกับหนี้นอกระบบอย่างเด็ดขาดเพื่อให้รายได้ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มเติม เกษตรกรสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในช่วงนี้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องภาระหนี้สินที่กดดันการใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ 

“กำลังซื้อของเกษตรกร และคนในฐานล่างตอนนี้ยังไม่ฟื้นวิธีการก็คือทำยังไงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมตั้งใจจะทำโครงการ “เงินจากดิน” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร หากสามารถผลักดันแนวทางนี้ก็จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้"

ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้นภาครัฐก็สามารถที่จะเก็บภาษีจากการใช้จ่าย โดยนโยบายลักษณะนี้สามารถให้ท้องถิ่นเป็นคนทำก็ได้ไม่ต้องให้รัฐบาลทำซึ่งจะสามารถเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารงานและงดข้อครหาว่ารัฐบาลจะทุจริตในโครงการได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการดูแลรายได้ของเกษตรกรผ่านมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการหลายชนิด ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้ ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินรวม 51,858 ล้านบาท 2.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 1,800 ล้านบาท 3.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราปี 2564 วงเงิน 10,042 ล้านบาท 4.ประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และ5.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังวงเงิน 9,780 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ สศช.ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้จะชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 83.3% ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทําจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2563

“อัญชัน” พืชเบี้ยยังชีพของเกษตรกรสูงวัย

Mali

ปี 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว (Super-aged Society) นั่นคือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ข้อมูลล่าสุดปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราวร้อยละ 18 ของจำนวนประชากรทั้งหมด  โดยเฉพาะประชากรภาคเกษตร ซึ่งภาพรวมการเข้าสู่สังคมสูงวัยของแรงงานในภาคเกษตรมีความรุนแรงมากกว่าภาพรวมของประเทศ โดยพบว่าสัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในปี 2560 ที่ร้อยละ 14 (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)

เนื่องจากสังคมไทยและสังคมภาคเกษตรก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในขณะที่สถานภาพเกษตรกรสูงวัยส่วนใหญ่พบว่ามีระดับการศึกษาต่ำสุดและมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือจากลูกหลานเป็นหลัก หรือมีอัตราการพึ่งพิงสูง อย่างไรก็ตามในวันข้างหน้า ผู้สูงวัยจะต้องพึ่งตนเอง เนื่องจากจะไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู หากไม่มีการวางแผนเก็บออมไว้ล่วงหน้า ต้องพึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพคนชราเป็นหลัก แน่นอนว่าคงไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นหรืออยู่รอดได้ยาก ดังนั้นบทบาทของภาครัฐนอกเหนือจากการใช้นโยบายและกลไกสวัสดิการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัย ควรมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสูงวัย ด้วยการส่งเสริมอาชีพภายหลังเกษียณ การอบรมความรู้ เพิ่มพูนทักษะ การฝึกอาชีพ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชากรวัยแรงงานมีการวางแผนและเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยล่วงหน้า

หนึ่งในกรณีตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรสูงวัยมีงานทำและอยู่ในกำลังแรงงานยาวนานขึ้น เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมและจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและต่อตัวผู้สูงอายุรวมถึงครัวเรือน กรณีตัวอย่างเกษตรกรพื้นที่เป้าหมายของมูลนิธิชีวิตไทใน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว สับปะรด เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเข้มข้น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในปริมาณมากและขาดการปรับปรุงบํารุงดินที่ดีทำให้ดินเริ่มเสื่อม ผลผลิตลดลง มีการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ หากพืชชนิดใดมีราคาสูงก็ปลูกมาก และมีปัญหาในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำมาตลอด ปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร ที่อาศัยน้ำจากใต้ดินและจากธรรมชาติ ทำให้ต้องพึ่งพาน้ำฝน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเสี่ยงต่อสภาวะทางธรรมชาติ และภัยทางธรรมชาติเมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือฝนตกมาก แต่ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมไหลหลาก ส่งผลต่อความเสียหายทางการเกษตร และปัญหาด้านการตลาดจากราคาผลิตไม่แน่นอนและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมไปถึงการใช้สารเคมีที่ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพอใจในวิถีพอเพียง จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกอัญชัน เนื่องจากอัญชันเป็นพืชทนแล้ง  โตง่าย เพียงให้น้ำสม่ำเสมอ  หลังจากลงแปลงแล้วประมาณ 1 เดือน จะเริ่มทอดยอด ต้องรีบปักค้างยอดจะได้พันหลัก พอเริ่มทอดยอด ก็จะเริ่มออกดอก ปุ๋ยที่ใช้เพียงแค่ใส่ปุ๋ยคอกบ้างเดือนละครั้ง  มีโรคพืชบ้าง เช่น เพลี้ย  เพียงใช้น้ำส้มควันไม้ผสมยาเส้นฉีดพ่น หรือหนอนกินใบลง ก็เพียงตัดต้นให้แตกใหม่ ปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้นาน 2-3 ปี ลงทุนไม่มาก ใช้พื้นที่น้อย 1 งาน ปลูกอัญชันได้ 400 ต้น สามารถเก็บดอกสดได้เฉลี่ยวันละ 10 กก. เมื่อนำมาตากแห้งแล้วจะเหลือ 1 กก. สามารถจำหน่ายได้ ขั้นต่ำ กก. ละ 250-300 บาท ตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาอัญชันอบแห้งมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 400 บาท

กรณีตัวอย่างเกษตรกรสูงวัยผู้ปลูกอัญชันรายหนึ่ง ป้ามะลิ อายุ 71 ปี อยู่กับครอบครัวทั้งหมด 4 คน ลูกชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง เล็กน้อย ป้ามะลิปลูกอัญชันริมรั้ว และพื้นที่รอบบ้าน เนื้อที่ประมาณ 1 งาน การปลูกและเก็บอัญชันเป็นงานที่ผู้สูงวัยและหลานชายอายุสิบขวบก็สามารถมาช่วยเก็บอัญชัน ช่วยตากแห้งได้ เป็นงานที่คนในครอบครัวช่วยกันทำ โดยมีคนมารับซื้ออัญชันถึงบ้าน ก่อให้เกิดอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ รายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000-6,000 บาท

นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรสูงวัยผู้ปลูกอัญชันยังได้รับการส่งเสริมจากทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี   มาช่วยอบรมในการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม   (PGS)    โดยมีเป้าหมายเรื่องการปลูกอัญชันให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำอัญชันอบแห้งขายให้กับบริษัทเอกชนผู้ส่งออกจีน ยุโรป และส่งขายให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

จะเห็นได้ว่าการปลูกอัญชันเป็นหนึ่งในอาชีพทางเลือกและแนวทางการเกษตรที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้สอดคล้องกับแรงงานเกษตรกรสูงวัย เพื่อให้เกษตรกรสูงวัยสามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ เพราะต้นทุนการผลิตไม่สูง ใช้พื้นที่ไม่มาก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี งานไม่หนักมากนัก ที่สำคัญแนวโน้มดอกอัญชันอบแห้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกมาก ขอเพียงให้เกษตรกรปลูกแบบอินทรีย์และรักษามาตรฐานการผลิตไว้ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าของอัญชันได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 ธ.ค. 2564

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการสาธารณะ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00-16.30 น.

UnlockFarmerDebtSeminar

 

โครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้วิกฤตปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยคาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาทต่อครัวเรือนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาทต่อครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน

ทั้งนี้วิกฤตโควิดและวิกฤตหนี้สินยังส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากนำที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจำนองและขายฝากผู้อื่นอยู่ถึง 29,873,189 ไร่ (ที่มา : ลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตร ปี 2562 ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เมื่อประสบปัญหาวิกฤตรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาดและสูญเสียที่ดินในที่สุด ข้อมูลจากกรมบังคับคดี พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน-ขายทอดตลาด) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 348,573 คดี (ทุนทรัพย์ 510,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เทียบปีงบประมาณ 2563 มีคดีเกิดขึ้น 329,681 คดี (ทุนทรัพย์ 613,279 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 287,789 คดี (ทุนทรัพย์ 1,325,074 ล้านบาท) ซึ่งหากเทียบระยะ 2 ปี ก่อนและหลังการระบาดโควิด ปีงบประมาณ 2562 และ 2564 พบแนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 21.1

 นับเป็นนโยบายที่ดีเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน" ให้สำเร็จ  โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาภาระความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย (รวมถึงเกษตรกรรายย่อย) เป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยหากพิจารณากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจหลักในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย คือ หน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ดังนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีภารกิจในการดูแลหนี้ของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้วางแผนทางการเงิน การออกเกณฑ์การให้บริการสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และการแก้ปัญหาหนี้สิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับคนที่เริ่มผ่อนหนี้ไม่ไหว และคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ สูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 มูลหนี้รวม 7.195 ล้านล้านบาท และได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปบางส่วน ล่าสุด ณ เดือน พ.ค.64 มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 4.9 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการช่วยเหลือแก้หนี้อื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทยมีความสนใจร่วมวางแนวทางแก้ไขหนี้ของเกษตรกร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร จากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 พบว่า ธนาคารที่ครัวเรือนกู้เงินมากที่สุดร้อยละ 27.5 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แสดงให้เห็นว่าหนี้สินของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ในช่วงเกิดโควิดมีข้อมูลหนี้เสียของลูกค้าธ.ก.ส.เพิ่มขึ้น จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 เกี่ยวกับหนี้สงสัยจะสูญของ ธ.ก.ส. พบว่าแนวโน้มหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2563 มียอด 276,813.24 ล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ. 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 363,107.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.17 ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. หลายมาตรการ เช่น โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 - งวดเดือนมีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3,348,378 ราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,265,492 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มีบทบาทภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร โดยช่วยแก้ไขหนี้สินอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องเป็นหนี้ในระบบ ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯได้มีบทบาทการทำงานด้านการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสนับสนุนการจัดการหนี้ของเกษตรกร เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกรจะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และรักษาที่ดินทำกินให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและได้รับการขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 533,163 ราย 632,784 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 97,466,018,603.40 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 56,037,861,422 บาท คิดเป็นร้อยละ 57.49 ตั้งแต่ปี 2549-2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ และได้รับการจัดการหนี้แทนจากกองทุนฟื้นฟูฯ (หนี้ NPL และ NPA) จำนวน 29,755 ราย 29,827 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 6,493,995,929.14 บาท เมื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันเจ้าหนี้แทนเกษตรกรแล้วเกษตรกรต้องดำเนินการโอนหลักทรัพย์ที่ดินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันมีการโอนหลักทรัพย์ที่ดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 14,884 ราย 21,940 แปลง รวมเนื้อที่ 157,768 ไร่ และมีเกษตรกรชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนที่ดินคืนแล้วจำนวน 63,307 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.12

จะเห็นได้ว่ากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรเชิงระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผ่านโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังสะสมมานาน และการแก้หนี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปลดล็อกเชิงระบบและโครงสร้างไปพร้อมกัน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญและท้าทายจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งด้านการแก้ปัญหาหนี้เดิม ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ก้อนใหม่ และไม่เกิดวิกฤตอื่นที่ส่งผลรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการระดมความเห็นและร่วมผลักดันนโยบายทางออกที่เหมาะสมต่อแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน นั่นคือการมองเป้าหมายทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรไปสู่การฟื้นฟูอาชีพ การปรับระบบการผลิต การสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรในสถานการณ์โควิด และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

วัตถุประสงค์

   1. เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

  2. เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็น “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ เอกชน นักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนและมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

 2. สาธารณชนและสื่อมวลชนเข้าใจและสามารถสื่อสารข้อมูลผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การปรับตัวของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน และการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน

องค์กรร่วมจัด

  1. มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
  2. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
  3. สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)
  4. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.      กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.   เปิดเวทีการเสวนาและแสดงปาฐกถา โดย คุณศรีสะเกษ  สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ  “ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต”

13.20 – 15.30 น.      เวทีเสวนา หัวข้อ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณวรันธรณ์ แก้วทันคำ นักวิชาการอิสระ (บทเรียนนโยบายการจัดการหนี้เกษตรกร)

- คุณนครินทร์ อาสะไวย์ มูลนิธิชีวิตไท  (บทเรียนกระบวนการแก้หนี้เกษตรกรระดับพื้นที่)

- คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (บทเรียนการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร)

- คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร)

- ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (จากงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน

- ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บทเรียนการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน)

ดำเนินรายการโดย : คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อารีวรรณ 061-3914969 Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

คีย์ซักเซส “เกษตรวิชญา” ชูเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้เกษตรกร

MaerimOrganicFarm

ย้อนกลับไปในอดีตหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ ในบริเวณบ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2545 เพื่อสานต่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกำหนดทิศทางให้ภาคการเกษตรในขณะนั้นมุ่งสู่การเป็น “เกษตรอินทรีย์” หรือ “การทำไร่ทำสวนแบบไม่ใช้สารเคมี 100%” ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หรือปราชญ์แห่งการเกษตร ที่วันนี้เริ่มมองเห็นความสำเร็จแล้ว

ภายในพื้นที่ทั้งหมดราว 1,350 ไร่ ในปัจจุบัน “ธงชัย บุญเรือง” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หนึ่งในเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระบุว่าในช่วงเริ่มต้น กลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่คือ กรมพัฒนาที่ดิน ที่รับหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่รอบด้านทางเทคนิค เพื่อนำมาประเมินความเหมาะสมว่า พื้นที่ดังกล่าวจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธงชัย บุญเรือง
โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ที่สำคัญ การพัฒนาจะต้องนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ โจทย์สำคัญในขณะนั้นคือจะพัฒนาอย่างไรโดย ”ไม่กระทบ” ต่อสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่
“ฉะนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง อาจทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาต่อยอด หลังจากนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวต้องเริ่มที่การฟื้นฟูป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของพื้นที่ การฟื้นฟูจากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลา 20 ปี สามารถฟื้นฟูป่าได้แล้ว 80-90%”
“เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ จึงให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้ามาช่วยวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และสำหรับพื้นที่ที่เหลืออีกส่วนใช้เป็นพื้นที่ส่วนราชการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานสาธิต รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ในการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ด้านสัตว์น้ำของกรมปศุสัตว์มาสำรวจความเหมาะสมว่าสามารถใช้กับแหล่งน้ำที่มีอยู่ในการทำประมงได้หรือไม่ด้วย”

“ธงชัย” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า จากพื้นที่โดยรวม 1,350 ไร่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแยกที่ดินจัดสรรประมาณ 100 ไร่ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยตามธรรมชาติตามมาด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาต้นน้ำ โดยได้นำเกษตรกร “ต้นแบบ” มาเรียนรู้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฯและนำกลับไปใช้ประโยชน์

“จนถึงวันนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับในอดีตจะเห็นว่ามีสมาชิกอยู่ 55 รายแล้วที่เข้าร่วมโครงการ ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับคือลดต้นทุนการผลิตลงสูงสุดถึง 40% ซึ่งต้นทุนส่วนนี้มาจากการซื้อสารเคมีเป็นหลัก อีกทั้งป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เกิดต้นน้ำอย่างแท้จริงของชุมชนในพื้นที่ จะเพาะปลูกอะไรก็สามารถทำได้ ฉะนั้น ภารกิจต่อจากนี้ของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา จะเดินหน้าภารกิจเปลี่ยน “mindset” ของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการตั้งเข็มทิศให้ภาคการเกษตรมุ่งเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ พร้อมกับนำภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็น partner เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ในการทำการตลาด กระจายสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรอย่างมืออาชีพ จนมีผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากโครงการมากมาย เช่นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ” 

หากมองจุดแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม “ธงชัย” ระบุว่าคือผลผลิตจากหอมหัวใหญ่ และสตรอว์เบอรี่ และตามแผนการดำเนินการในปี 2564 จะเน้นไปที่ “ป่าเศรษฐกิจ” ตอนนี้เริ่มนำจุดแข็งใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกคือ กาแฟ โดยเข้ามาปลูกผสมผสาน และพัฒนาพื้นที่ทางเดินในป่า พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนา “ป่าอาหาร” เข้ามาเพิ่มเติม ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เข้ามาช่วยสำรวจและช่วยคิด

“ในขณะที่ป่าเศรษฐกิจ ชุมชน หรือการสร้างป่า สร้างรายได้ เช่น ป่าแนวตะเข็บ หากภาครัฐช่วยดูแลรักษาเองค่อนข้างลำบาก เพราะมีขนาดพื้นที่ 1,300 กว่าไร่ รวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จึงหารือกับชุมชนว่าในกรณีที่จะทำป่าเศรษฐกิจ เช่น การปลูกกาแฟในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามีผลิตภัณฑ์จากกาแฟด้วยแบรนด์ของชุมชนเองแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพร, ไผ่ แต่ตอนนี้หลัก ๆ คือเริ่มที่กาแฟอย่างจริงจังก่อน เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่ยาวนานและต่อเนื่อง”

ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้คือ อโวคาโด้, ผักสลัด, ถั่วแระ และถั่วแขก เป็นต้น โดย “ธงชัย” ยังระบุอีกว่า หน้าที่หลักของศูนย์ขณะนี้คือเข้ามาช่วยดูแลว่าเกษตรกรทำถูกต้องหรือไม่

เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนการปลูกแล้วพบว่า “สูงมาก” จากสารเคมี, ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ เราจะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ “การจูนคุุณภาพดิน” เข้าไปหาพืช ซึ่งหากประเมินจากเกษตรอินทรีย์แทบจะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย นั่นหมายถึงว่าเกษตรกรจะลดต้นทุนได้อีกมาก ขณะเดียวกันยังสามารถแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าการปลูกสตรอว์เบอรี่ในพื้นที่ค่อย ๆ หายไปรวมถึงหอมหัวใหญ่ ทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากโบรกเกอร์ที่มีราคาแพง ฉะนั้น มองว่าจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสตรอว์เบอรี่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องโควตาเมล็ดพันธุ์”

รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด

“รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด” ประธานนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และกรรมการบริหาร บริษัท เอฟแอลอาร์ 39 วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระบุว่า ในปีนี้เข้ามาร่วมงานกับศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ให้เปลี่ยนมาเป็นการเกษตรที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เข้ามาบริหารจัดการ และมีวิสาหกิจชุมชนเข้ามาช่วยรับบริหารจัดการรับซื้อผลผลิต

“หลักการคือ local food ทำในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะไม่ขายตรงแบบสุดเส้น แต่เน้นไปที่ความร่วมมือกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอแม่ริม ที่หารือกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงหากขยายพื้นที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่เชียงใหม่ต่างมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์รวมของผลผลิตแปรรูปทางการเกษตรกว่า 2,000 โรงงาน และยังมีห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าอีกจำนวนมาก”

“โดยหลักการกระจายสินค้าที่ว่าคือมีศูนย์กระจายสินค้า รวมไปจนถึงห้องเย็น เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระบบ รองรับเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และเรามีพาร์ตเนอร์ให้ครบทุกมิติ แม้กระทั่งโรงงานแปรรูป ในทุกพื้นที่จะมีการหารือเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพการจัดการต่าง ๆ นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าจะมีทั้งการขาย offline และ online รวมถึงในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มนำ platform ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อรองรับเกษตรกรขายออนไลน์ การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% ของเกษตรกรที่มีอยู่ และในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อย่างเช่น แม็คโคร, บิ๊กซีที่ยินดีเปิดหลังบ้านเพื่อรับสินค้าเข้ามาจำหน่ายด้วย”

“จุดเด่นที่นี่คือพืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพร แต่ทั้งนี้ ต้องประกอบด้วยทักษะของเกษตรกรเองด้วย เนื่องจากเกษตรกรยึดติดกับการปลูกพืชผักเชิงเดี่ยวมานาน ฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลา ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาหลักมากกว่า ดังนั้น platform ของเราจะทำให้เห็นภาพของเกษตรภาพรวมทั้งหมด รวมไปจนถึงแผนการผลิตของทุกที่ในเครือข่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีฐานข้อมูลการผลิตเป็นรายปี การซื้อขายออนไลน์ปกติ รวมถึงผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการซื้อขายล่วงหน้า และหลังจากนี้อีก 2 เดือน เราจะโชว์ data ที่มีอยู่ รวมถึงที่นี่ด้วย”

แต่สิ่งสำคัญที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา และภาคเอกชนอยากเห็นเป็นภาพเดียวกัน คือ เกษตรกรเข้มแข็งด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม มีการนำเสนอแผนดำเนินการของแต่ละกลุ่ม พร้อมกับภาพของการชวนชาวบ้านคิดต่อว่าจะขยายตลาดอย่างไรต่อเพื่อความยั่งยืนของรายได้เกษตรกรในอนาคต

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ต.ค. 2563

ตลาดพรีออเดอร์ ความหวังของเกษตรกรจากวิกฤตโควิด-19

Baansuanlomchoi

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาการผลิตของเกษตรกรโดยตรงมากนัก หากแต่เรื่องการจัดจำหน่ายสินค้า ราคาผลผลิต และรายได้ ถือว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรหลายแหล่งปิดตัว การขนส่งที่จำกัดและลดน้อยลง ผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้นโดยพยายามที่จะไม่ออกจากบ้าน รวมถึงผลกระทบต่อการหารายได้จากงานนอกภาคเกษตรด้านอื่นๆ ของครัวเรือนเกษตรกรเช่นกัน หนึ่งในทางเลือกหรือความหวังต่อช่องทางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงและยาวนาน คือ “ตลาดพรีออเดอร์”

           ตัวอย่าง “ตลาดพรีออเดอร์” ซึ่งสามารถเป็นบทเรียนและแนวทางให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากวิกฤตสถานการณ์โควิดครั้งใหม่อยู่ในตอนนี้ คือ ตลาดพรีออเดอร์บ้านสวนลมโชย ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งโดยคุณสุมาลี พะสิม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันสุขออร์แกนิค ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานขนาดเล็ก ปลูกผักสลัด ปลูกผักพื้นบ้าน และเลี้ยงไก่ไข่ และขณะเดียวกันก็ทำงานโครงการพัฒนาด้านเกษตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน จากการที่ได้ทำงานประสานงานพบเจอผู้คนจากทั้งเมืองและชนบท ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กว้างขวาง

           คุณสุมาลี พะสิม ต้องการให้บ้านสวนลมโชยเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ได้มาพบกันผ่านตลาดพรีออเดอร์ โดยมีจุดเด่น คือ ผลผลิตทั้งหมดได้มาจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตในระบบอินทรีย์ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยจะเปิดพรีออเดอร์ผ่านกลุ่มไลน์กับลูกค้าผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ขั้นตอนการพรีออเดอร์หรือสั่งสินค้าจะเริ่มต้นทุกวันศุกร์ถึงวันเสาร์ และปิดคำสั่งซื้อในเย็นวันเสาร์ และจัดส่งรายการสินค้าให้เกษตรกรได้จัดเตรียมผลผลิตให้กับผู้บริโภคในวันอาทิตย์และวันจันทร์ ซึ่งคุณสุมาลี พะสิม จะเป็นคนขับรถไปส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยตนเองในทุกวันอังคาร 

           คุณสุมาลี พะสิม กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดตลาดพรีออเดอร์ของตนเองว่า “มีความตั้งใจที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อยให้มาพบกันบนเส้นทางสายอาหาร บนเส้นทางของความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าารตลาดพรีออเดอร์จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ของเกษตรกร ถือเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยได้ง่ายขึ้นและเป็นสายใยที่เชื่อมเข้าหากันยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย" 

          ในส่วนของอุปสรรคสำคัญของการทำตลาดพรีออเดอร์ผลผลิตอินทรีย์ ประการแรก คือ ความสดของผลผลิตที่จัดส่งให้กับผู้บริโภค ต้องรักษาความสดของผลผลิตไว้ ฉะนั้นจึงพยายามจัดส่งแบบรักษาอุณหภูมิ เพื่อที่จะให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยความสดความใหม่ และปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องของผลผลิต บางช่วงไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ตามความต้องการ และเรื่องของความสะดวกในการจ่ายเงินของผู้บริโภค ก็สำคัญต้องดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ เพราะส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกเรา คือการวางใจในเรื่องของการผลิต ก็จำเป็นต้องรักษาผู้บริโภคให้ดีที่สุด

           ตอกย้ำด้วยมุมมองคุณชัยวัฒส คำพิมูล ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าตลาดพรีออเดอร์มาต่อเนื่องยาวนานกล่าวว่า “จากการที่ได้รู้จักกับบ้านสวนลมโชย พบว่าที่นี่ขายผักออร์แกนิคในราคาที่จับต้องได้ ผักมีคุณภาพดี สด สะอาด และเหตุผลสำคัญคือรู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางจำหน่ายและตัวกลางหลายต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับความตั้งใจ”

           จะเห็นได้ว่าตลาดพรีออเดอร์เกษตรอินทรีย์ หรือตลาดสั่งจองล่วงหน้า ถือเป็นช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาช่องทางตลาดของเกษตรกรภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นหลักประกันรายได้ของเกษตรกร ช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ผู้บริโภค ได้บริโภคของดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคามิตรภาพ เพื่อร่วมกันฝ่าฝันวิกฤตสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 4 มิ.ย. 2564

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ตลาดออนไลน์ ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด-19

OnlineMarketforFarmer

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/_wPh3fN_xbM}

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติได้ ตลาดออนไลน์เป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง อย่างไรก็ตามตลาดออนไลน์มีการแข่งขันสูง การทำตลาดออนไลน์ให้ประสบผลสำเร็จเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและมีการกลับมาซื้อซ้ำหรือบอกต่อ มูลนิธิชีวิตไท จึงอยากนำเสนอเทคนิคและแนวทางการพัฒนาตลาดออนไลน์สำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีส่วนช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

จัดทำโดย : มูลนิธิชีวิตไท

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลิตเมื่อ : ธันวาคม 2564

ตลาดออนไลน์กับการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร

OnlineMarketFarmer

ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลัก คือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือเกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมทสินค้าของตนเองได้เลย

ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์ คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการย่นระยะเวลาและระยะทางในการพบเจอกันของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งตัวเกษตรกรเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ

นอกจากนี้ตลาดออนไลน์ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง แต่ทั้งนี้ตัวเกษตรกรต้องคำนึงถึงคุณภาพและกลุ่มลูกค้า ไม่ควรตั้งราคาที่ค้ากำไรเกินควรและต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรนั้น จากประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า Facebook และ Line เป็น 2 ช่องทางอันดับแรกที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวเกษตรกรเองต้องมีการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ตัวสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกชิ้น มีรูปลักษณ์ชวนดึงดูดผู้ซื้อ เรื่องราวของสินค้า การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน อีกทั้งต้องมีการเตรียมข้อมูลและวิธีในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า

เนื่องจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะฉะนั้นย่อมมีคู่แข่งที่มากกว่าการขายสินค้าแบบออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องมีการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมาตรฐานเพื่อขยายตลาดให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน PGS หรือ Organic Thailand ให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การยื่นขอ อย. สำหรับสินค้าแปรรูป เป็นต้น

สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร คือ การที่เกษตรกรยึดติดกับรูปแบบการขายสินค้าในรูปแบบเดิม คือ การรอให้ลูกค้าเข้าหา หรือการรอให้ลูกค้าเป็นคนเอ่ยถาม มากกว่าการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าก่อน อีกทั้งยังปิดกั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนช่องทางและวิธีการขายสินค้าของตนเองให้ทันยุคสมัย และไม่รอที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือรอลูกค้าเข้าหาตนเองอีกต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกที่จะขายสินค้าพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับของตนเอง ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคู่ค้า มีแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยกันพยุงช่องทางตลาดในรูปแบบออนไลน์ให้เหล่าเกษตรกรทั้งหลายได้มีพื้นที่ขายสินค้า มีพื้นที่บอกเล่าความเป็นมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติที่มาแบบไม่ทันคาดคิด

ท้ายที่สุดแล้วช่องทางการขายสินค้าของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่างกัน  หัวใจสำคัญคือเกษตรกรต้องก้าวไปสู่การยกระดับจากผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเดียวไปสู่เกษตรกรผู้ประกอบการ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดให้หลากหลาย กระจายความเสี่ยง  รวมถึงมีการปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรที่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในสังคมวิถีใหม่

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 พ.ย. 2564

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

ทางเลือกการปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ของเกษตรกรยุคโควิด

HerbalPlant

ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว   

และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน  ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ

รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง  ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย

สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2)  มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น  PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ  

3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ  4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

นักข่าวพลเมือง : เรียนรู้วิถีผลิตเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จากแปลงสู่ปาก (14 ส.ค. 60)

Picture

นักข่าวพลเมือง : เรียนรุ้วิถีผลิต เกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จากแปลงสู่ปาก (14 ส.ค. 60) 

 {phocadownload view=youtube|url=https://www.youtube.com/watch?v=-NxMykTVpzA}

 

นักข่าวพลเมือง ป้าสำเนียง

Sumneaing

นักข่าวพลเมือง ป้าสำเนียง ออกอากาศทางไทยพีบีเอส วันที่ 6 ธ.ค. 58 @19.00น.

จากเกษตกรรายย่อยหลายๆ รายซึ่งประสบปัญหาหนี้สิน สู่การรวมกลุ่มกันสร้างกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยแบบครบวงจร เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของป้าสําเนีย­ง ฮวดลิ้ม และเกษตรกร “กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม” อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งนอกจากจะช่วยปลดหนี้แล้ว ยังเป็นความหวังในการสร้างเศรษฐกิจที่มั่น­คงของครอบครัวเกษตรกรด้วยติดตามในรายงานจา­กนักข่าวพลเมือง กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนค่ะ

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/n31aBewO95g}

บทบาทภาคเกษตรกรรมในยุคโควิด-19

RumpeungSaraburi

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศเกษตรกรรม” มาช้านาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งหนึ่งยังดำรงอยู่ในวิถีเกษตร ภาคเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรายได้ของประชากรจำนวนมาก มีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 30 ของการจ้างงานทั้งประเทศ  อย่างไรก็ตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก มักจะมองว่าการให้คุณค่า และบทบาทภาคเกษตรกรรมแบบเก่า คืออุปสรรคในการหลุดออกจากประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 11.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2561 ผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีฐานะยากจน รายได้จากภาคเกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และปี 2563 เกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคเกษตรชนบทเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกหลานในภาคอุตสาหกรรมที่ตกงาน เราสามารถพิจารณาได้ว่าโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม และเกษตรกรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของระบบอาหารและยังเป็นระบบที่เปราะบางมาก เมื่อโลกหยุดนิ่งเพื่อให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป แต่เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมต่างพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการให้แก่ประชากรโลก

ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 โครงสร้างภาคเกษตรกรรมของไทยเข้าสู่ยุคแรงงานผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แรงงานหนุ่มสาวเลือกที่จะออกจากบ้านไปทำงานในเมืองหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีรายได้ที่แน่นอน เวลาการทำงานที่แน่นอน และมีความสะดวกสบายกว่าการทำงานภาคเกษตรกรรมที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนการผลิต ให้พอได้มีเงินเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว

ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ครัวเรือนเกษตรกรน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ผ่านปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศอย่างชัดเจน หลายคนอาจมีมายาคติว่าภาคเกษตรจะมีศักยภาพในการรองรับการจ้างแรงงานให้กับคนที่กลับไปภูมิลำเนาได้เหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาภัยแล้งและปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ของภาคเกษตรไทยในปัจจุบัน (Attavanich et al. 2019) อาจทำให้เป็นไปได้ยากขึ้น

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนัก คือ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรไม่สามารถขนส่งไปถึงมือลูกค้า อีกทั้งครัวเรือนเกษตรกรไทย ยังไม่สามารถพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด หลายครอบครัวจึงเผชิญภาวะรายได้ลดลง และอาจมีความยุ่งยากในการหาเงินมาจ่ายหนี้ เกษตรกรได้แต่ยอมรับความเสี่ยงที่จำเป็นและยืนหยัดเพื่อครอบครัว ชุมชน และประเทศบ้านเกิด รวมทั้งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนมามีบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้า เพื่อหาหนทางในการเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร และพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตทางการเกษตรหากสภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ราคาตกต่ำอาจส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรได้ไม่ยั่งยืน เพราะถึงแม้จะมีการพัฒนาโดยนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำเกษตร แต่ต้นทุนในระยะเริ่มแรกอาจมีราคาที่สูงพอสมควร และเมื่อได้ผลผลิตมายังสามารถขายได้ในราคาต่ำอยู่เหมือนเดิม ย่อมไม่คุ้มค่า ไม่มีเหตุจูงใจในการทำเกษตรกรรม เมื่อวิกฤติโควิด-19 ในระยะยาวจบลง แรงงานรุ่นใหม่เหล่านี้อาจกลับไปทำงานในเมืองหรือในโรงงานอุตสาหกรรมตามเดิมก็ย่อมเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดที่เป็นแรงขับให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่น (Smart Farmer) และต้องการอยู่รอดในชุมชน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับภูมิทัศน์รูปแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความสนใจทำเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร  มีการใช้กลยุทธ์ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน รวมถึงการใช้โอกาสที่ผู้บริโภคหันมาดูแลและใส่ใจการผลิตอาหาร เลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ ทำการตลาดซื้อขายล่วงหน้า และช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงจนต้นทุนต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก แม้ว่าชั่วโมงการทำงานของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรอย่างพวกเขาก็เลือกที่จะทำงานในภาคเกษตรนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว และดูแลปากท้องของครอบครัวและสังคมไปพร้อมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 มิ.ย. 2564

บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรในภาวะวิกฤต

Somjai02

พี่สมใจกับแปลงผักอินทรีย์

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผลกระทบด้านรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร  จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงผลักและบทเรียนที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ  การเตรียมแผนชีวิต แผนการผลิต แผนการเงินและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในชีวิตไม่ว่ารูปแบบใด สามารถช่วยให้อยู่รอดและผ่อนสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบาได้

ความเป็นจริงสังคมส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้มากนัก ทำงานหนัก ตากแดดตากลม ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ มีหนี้สินมากมาย รู้จักแต่การทำเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว ถึงแม้จะมีภาพข่าวออกมาบอกว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความทันสมัยหรือมีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงมีเกษตรกรบางรายพัฒนาการผลิตอย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความยากลำบากได้ไม่มากนัก

จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิชีวิตไทในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรไม่เพียงจะเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเดิมที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ภาวะน้ำท่วม ผลผลิตเสียหาย บางรายหมดตัวไปกับการลงทุนทำเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนทำเกษตรต่อไป

ตัวอย่างบทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง พบว่า  หากเกษตรกรมีการทำอาชีพที่หลากหลาย ปรับจากการทำเกษตรปลูกพืชชนิดเดียว สู่พืชหลากหลายชนิด ปรับจากอาชีพในภาคเกษตรอย่างเดียว สู่อาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทางมารองรับ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน จะทำให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มหนี้สินของครัวเรือนได้ และบางรายมีรายได้เหลือมาลงทุนในการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย

Jumpa

ป้าจำปากับอาชีพเสริมตัดเย็บกระเป๋าผ้า

ตัวอย่างเช่น ป้าจำปา หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีใจรักในงานผ้า จนบางช่วงกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว และปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น กล้วย พริก กะเพรา และเลี้ยงหมู เพิ่มเติมจากการปลูกข้าว คนต่อมา คือ ป้าสายทอง ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกมะพร้าว ปลูกตาล ปลูกกล้วย เพื่อใช้ในการทำขนมขายเป็นรายได้เสริม เป็นต้น เกษตรกรทั้งสองรายมีหนี้สินจากการทำนา ซึ่งในรอบการผลิตที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงโชคดีที่มีรายได้จากการทำอาชีพเสริมเพื่อรองรับกับภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

นอกจากนี้มีชาวนาและเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนการลงทุนและต้นทุนการผลิต จากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายจากการทำนาใน  1 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าการทำนาของตนเองนั้นมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ กรณีตัวอย่าง พี่ศรีไพร ในรอบการปลูกข้าวปีที่ผ่านมาได้ลองจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำนาทั้งหมด 3 ไร่ จนกระทั่งได้เงินจากการขายข้าว พบว่า เหลือกำไรเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น

ในปีนี้พี่ศรีไพรจึงเริ่มวางแผนปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิธีการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวแบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ซึ่งตัวอย่างการจดบันทึกรายรับรายจ่ายการผลิต เป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรไม่ค่อยทำกัน จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากการทำนา นอกจากนั้นพี่ศรีไพรยังมีการแบ่งที่ดินของตนเองมาปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อจำหน่ายไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือภาวะปกติ เนื่องจากอาชีพเกษตรกรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศเป็นส่วนสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้การปรับตัวของเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการกระจายความเสี่ยง หากเกษตรกรมีการวางแผนชีวิต แผนการผลิตที่หลากหลาย และแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง และวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยบริหารจัดการการผลิตและช่วยเพิ่มกำไรให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดและไม่เกิดวิกฤตชีวิต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ก.พ. 2565

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

พันธนาการ “หนี้” และทางออกของชาวนายุคโควิด-19

BungOrnSupanburi

สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบทำให้ชาวนาและเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงและเปราะบางสูงอยู่แล้ว ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินและปัญหาทางการเงินหนักมากขึ้น โดย 76% ของครัวเรือนเกษตรกรพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร ส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง และเงินโอนจากลูกหลาน ในขณะที่รายได้ในภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตตกต่ำ

โดยครัวเรือนเกษตรกร 90% มีปัญหาหนี้สิน 72% เป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 430,000 บาท 25% เป็นหนี้สินเชื่อลิสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ และ 54% ของครัวเรือนอยู่ในโครงการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ มีหนี้หลายก้อนจากหลายแหล่ง จึงมีสถานะหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้วิธีการหมุนหนี้ คือ เป็นหนี้ก้อนใหม่เพื่อจ่ายคืนหนี้เก่า ในขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลทำให้เกิดวงจรสะสมหนี้ เป็นภาระหนี้ไม่จบไม่สิ้น (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค 10 ก.ย. 2564)


เมื่อมองลึกลงไปในระดับพื้นที่ยิ่งเห็นรูปธรรมปัญหาชัดขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลหนี้สินและผลกระทบการแพร่บาดโควิด-19 ของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 9 แห่ง ใน 5 จังหวัด ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก โดย มูลนิธิชีวิตไท เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า เกษตรกรเป้าหมาย 150 ครัวเรือน มีหนี้สิน 126 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 84 หนี้สินเฉลี่ย 499,038 บาทต่อครัวเรือน

นด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ นโยบายการช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะลำบาก ด้วยผลผลิตเสียหาย ขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตกต่ำ ตลาดในท้องถิ่นถูกปิด บางครอบครัวมีลูกหลานหรือญาติที่เคยเป็นกำลังหลักในการหารายได้ ต้องถูกลดเวลาทำงาน หรือถูกเลิกจ้างงาน ทำให้ขาดรายได้ที่ต้องนำมาใช้จ่าย หลายรายต้องผิดนัดชำระหนี้ ตลอดจนขาดทักษะบางเรื่องที่จำเป็นในยุคนี้ เช่น การทำตลาดออนไลน์


สถานการณ์ปัญหาและปัจจัยภายนอกที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนามีความสุ่มเสี่ยงและเปราะบางสูงขึ้นต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและปัจจัยสร้างความมั่นคงในชีวิตของครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ท้าทายต่อการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งจากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท จึงมีข้อแนะนำวิธีหลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทตนเองได้ ดังต่อไปนี้


1) แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินหรือหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกร 2) วิเคราะห์ด้านสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด เนื่องจากสัมพันธ์กับอาชีพและรายได้ 3) วิเคราะห์รายรับรายจ่าย หนี้สิน อาชีพ ต้นทุนการผลิต การประกันความเสี่ยง 4) ปรับวิธีคิดใหม่ ปรับโครงสร้างการผลิต มีความมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาทางลดหนี้และรักษาที่ดินไว้ให้ได้ 5) วางแผนการเงินในครัวเรือน วิเคราะห์อาชีพปัจจุบันว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ต้องทำอาชีพเสริมแบบไหนเพื่อแก้หนี้ได้จริง 6) สร้างพฤติกรรมทางการเงินใหม่ ออมก่อนใช้เมื่อมีเงินนำไปชำระหนี้ก่อน


7) วางแผนพัฒนาเสริมรายได้ ยกระดับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร วิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลสำเร็จของอาชีพนั้น ๆ ที่เห็นภาพชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) ไปถึงปลายน้ำ (การตลาด) เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรกลุ่มนั้น ๆ มากที่สุด 8) ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ จดบันทึกขั้นตอนการผลิต ปัญหาอุปสรรคในแต่ละขึ้นตอน 9) การประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการทบทวนและแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์


9 ขั้นตอน ซึ่งเป็นทางออกจากพันธนาการ “หนี้” ข้างต้น ได้ผ่านการทดสอบและลงมือปฏิบัติโดยกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินมาแล้ว และเห็นผลความสำเร็จ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเกษตรกรเป็นอันดับแรก และสร้างระบบกลุ่มที่ช่วยดูแลกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผลที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กลุ่มชาวนาและเกษตรกร บางส่วนสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้ได้ บางส่วนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้สำเร็จ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 5 ต.ค. 2564

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

 

มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ลงพื้นที่วิจัยเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

 

187817

  

187818

 

187822

  

มื่อวันที่ 9 ต.ค.2560 ที่ผ่าน มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้กระทรวงยุติธรรม และรายการสถานีประชาชน ไทพีบีเอส. ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบและกำลังจะถูกยึดที่ดินทำกินจากนายทุน

ซึ่งในช่วงวันที่ 11 ต.ค.นี้ทางสถาบันธนาคารที่ดินจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ในภายใน 45 วัน ขออนุมัติงบประมาณซื้อที่ดินจากนายทุน และให้ชาวบ้านผ่อนชำระหนี้กับธนาคารที่ดิน ต่อไป

 

{phocadownload view=youtube|url=https://www.youtube.com/watch?v=ryfqdgfM7DU}

ที่มา ThaiPBS 09 ตุลาคม 2560

วิกฤตสังคมสูงวัย กับการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร

Sanamchaikhet

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 9 ปี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า ในปี 2555 มีอัตราการเกิด 818,901 คน อัตราการตาย 423,213 คน ปี 2564 มีอัตราการเกิด 544,570 คน อัตราการตาย 563,650 คน จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 9 ปี มีอัตราการเกิดลดลงเกือบ 3 แสนคน และในปี 2564 มีอัตราการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่มาทดแทนอย่างเพียงพอ รวมถึงภาคเกษตรกรรม จากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 อาจเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดโอกาสทำให้แรงงานบางส่วนตัดสินใจกลับบ้านทำอาชีพภาคเกษตร อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤตคลายตัวแรงงานเหล่านี้ก็เลือกกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างนายทุนเช่นเดิม ในเวทีแลกเปลี่ยนของเครือข่ายภาคเกษตรจึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจภาคการเกษตรและเข้ามาสืบทอดอาชีพได้อย่างมั่นคง

          เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนและทีมงานมูลนิธิชีวิตไทได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและถอดบทเรียนการรับมือผลกระทบในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการพัฒนาพื้นที่นำร่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีศึกษากลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดขึ้นโดย สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ได้มีการพูดถึงประเด็น “แนวทางการสืบทอดอาชีพของเกษตรกรรุ่นใหม่” การแลกเปลี่ยนบทเรียนกันในเวทีได้เสนอว่า การสืบทอดอาชีพภาคเกษตรควรแยกเป็น 2 ประเด็น คือ การส่งเสริมคนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพภาคเกษตร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรด้วยตนเอง

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่

DongbunOrganicgroup

การที่คนรุ่นใหม่หันออกจากภาคเกษตรนั้นส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของพ่อแม่ที่มาจากประสบการณ์ความลำบากของตนเอง ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง จึงได้สร้างแนวคิดและสังคมใหม่ให้ลูก ผู้เข้าร่วมในเวทีได้แลกเปลี่ยนบทเรียนกัน ดังนี้

          “ในสมัยเด็กๆ เราเติบโตมาในสังคมการเกษตร หลักคิดโบราณเมื่อพ่อแม่เป็นเกษตรกรแล้วเราช่วยงานในแปลงของพ่อแม่ ต้องมีลูกเยอะเพื่อเป็นแรงงาน แต่คนสมัยนี้พอตนทำไร่ทำนาแล้วลำบากก็เลยเลี้ยงลูกให้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ใช้ลูกเลย เด็กสมัยนี้เราก็จะเห็นว่าลูกหลานเราจะไปเรียนและเล่นเกมเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความบังเอิญเกิดขึ้น ลูกเล่นเกมไปเล่นเกมมา แล้วคิดว่ามาทำเกษตรดีกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราควรสร้างสังคมเกษตรกรแบบดั้งเดิม”

          ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่งมีความเห็นสอดคล้องว่า “อนาคตจะไม่เหลือคนทำเกษตรต่อ เพราะคนรุ่นหลังไม่ค่อยสนใจการเกษตร วิถีวัฒนธรรมยุคใหม่ แม้กระทั่งพ่อแม่ปู่ย่าตายายทั้งหลายก็ไม่ส่งเสริม เพราะอาชีพเกษตรกรทำรายได้น้อย การส่งเสริมยุคก่อนมีค่านิยมให้ลูกเป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการมีความมั่นคงในชีวิต”

          ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์ของตนเองว่า “การสืบทอดอาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่ อาจต้องรอเวลา ไม่ควรไปบังคับ อาจจะหลังเกษียณหรือลาออกงานประจำเพื่อมาทำเกษตร เชื่อว่าวันหนึ่งเขาต้องถูกผลักให้เข้าสู่ภาคเกษตร อย่างไรก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดภาคเกษตรแน่นอน”

          จากการแลกเปลี่ยนข้างต้นจะเห็นว่า “คนรุ่นใหม่ในภาคเกษตร” ไม่ได้หมายถึง คนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่รวมถึงคนเกษียณอายุ คนจากภาคอาชีพอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องให้คนรุ่นใหม่ทุกคนมีอาชีพเกษตรกรทั้งหมด แต่คนรุ่นใหม่เขามาพร้อมกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ  บางส่วนอาจเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ระบบอาหารและพันธมิตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกร เช่น การทำร้านอาหาร การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้ผลผลิตเกษตรกร

          ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร นอกจากวิธีคิดของพ่อแม่และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแล้วยังมีเรื่อง การไม่มีสวัสดิการให้กับภาคเกษตร ภาคการเกษตรรายได้ต่ำ และการขาดปัจจัยการผลิตหรือทุนในการผลิต คนรุ่นใหม่บางคนไม่มีความสนใจแต่มีที่ดิน บางคนไม่มีที่ดินแต่มีความสนใจ ดังนั้นการที่จะดึงให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งท้าทาย

          นอกจากนี้ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ภาคเกษตรว่า คนรุ่นใหม่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ภาคเกษตร แต่ต้องมีจุดที่มาบรรจบกันของแนวคิดของเกษตรกรรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่และคนในสังคม ทั้งเรื่องการมีสวัสดิการ การมีรายได้ที่มั่นคง มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับอาชีพอื่นในสังคม รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ทำเกษตร และต้องเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ถ้ามีนโยบายมาสนับสนุน ก็จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเข้าสู่ภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้น

          รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ระบุในบทความ “ตั้งหลักใหม่ภาคเกษตรไทย: เกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวมากกว่าที่รัฐคิด” มองว่าเกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว และได้ยกตัวอย่างนโยบายการดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรของประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ไว้ว่า ประเทศเหล่านี้มีนโยบายการให้เงินทุนและสินเชื่อราคาถูกแก่นักศึกษาที่จบปวช. ปวส. หรือปริญญาตรีด้านเกษตร สามารถเข้าไปก่อร่างสร้างตัวด้วยอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะ นอกจากจะให้ทุนแล้ว ยังให้หลักประกันด้วย โดยมีข้อกำหนดเลยว่าหากประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐจะสนับสนุนอะไร อย่างไรบ้าง

     ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางส่งเสริมการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่เพื่อให้ทันกับภาวะวิกฤตสังคมสูงวัยและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ควรมีทั้งการปรับวิธีคิดและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนทั้งจากสังคมภาคเกษตร การแบ่งบทบาทและจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนระหว่างคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่ออาชีพเกษตรกรของสังคมด้วย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิ.ย. 2565

ผู้เขียน : จินดาพร เกลี้ยงเกลา

วิกฤตหนัก! เกษตรกรไทย 90% มีหนี้ -ธ.ก.ส. เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด

FarmDebtCrisis

วิกฤตเกษตรกรไทย! 90% มีหนี้ ติดกับดักนโยบายรัฐ -ปี 64 หนี้สิน 2.6 เเสนบาท/ครัวเรือน 'ดร.โสมรัศมิ์' สถาบันป๋วย ชี้เจ้าหนี้เเหล่งใหญ่สุด คือ ธ.ก.ส. เเนะเปลี่ยน KPI ดูคุณภาพสินเชื่อเเทนปริมาณ ช่วยเเก้ยั่งยืนได้  ด้าน ผู้ช่วย ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ยันมีเเผนเยียวยา พักชำระ ฟื้นฟู 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นางสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

ด้าน ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน"

ดร.โสมรัศมิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่

ขณะที่ นางเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภา กล่าว

ส่วนนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

ผู้ช่วย ผจก.ธ.ก.ส. กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก”  ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ที่มา : THAICH8.COM วันที่ 23 ก.พ. 2565

วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข

VeerathaiBankofThailand

"...งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่..."

...............................

หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ ภายในงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565

ที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของไทย เรามักจะติดกับดักเรื่องของกิจกรรม เวลาที่พูดถึงแผนพัฒนาก็จะมุ่งตรงไปสู่กิจกรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ

ในบริบทข้างหน้า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาของเกษตรกรรายเล็กของเราซับซ้อนมากขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกษตรกรรายเล็กของเราต้องแปลงร่างและพลิกโฉม หรือที่เรียกว่า transform ท่ามกลางบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเรายึดติดกับกิจกรรม ที่มักเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากของเดิม ก็อาจไม่เท่าทันบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จริง

สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องกิจกรรม คือ เราต้องช่วยกันกลั่น ‘หลักคิดนำทาง’ หรือ ‘guiding principles’ ที่จะช่วยสร้างอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย แม้ว่าผมไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญในด้านการเกษตร แต่ได้ติดตามงานต่างๆอยู่บ้าง จึงขอมองในมุมมองจากภาพใหญ่ว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่อง guiding principles หรือหลักคิดนำทางที่สำคัญ จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรให้ความสำคัญ ซึ่งผมคิดว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องด้วยกัน

@เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย

เรื่องแรก เวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก การมองเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก เรามองอนาคตของเกษตรกรรายเล็ก เพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องเอาคนไทย คุณภาพชีวิตของคน หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยรายเล็ก เป็นเป้าหมายหลัก หรือเป็นหลักคิดนำทาง และนโยบายต่างๆที่จะตามมานั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรรายเล็กของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน

หลายครั้งเวลาที่คิดถึงกรอบการพัฒนาหรือกรอบการแก้ปัญหา เรามักจะมองข้ามมิติเรื่องคนเป็นเป้าหมาย เราไม่ได้เอาคนเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งเราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่า เกษตรกรรายเล็กได้อะไรจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆที่เราทำ บางครั้งเราอาจให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ เช่น ประเทศไทยต้องรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้ได้อันดับต้นๆของโลก เรากังวลกับห่วงโซ่อุปทานว่า เดี๋ยวจะขาดวัตถุดิบทางการเกษตร และการทำนโยบายอุดหนุนต่างๆ

บางครั้งเราก็พูดภาพใหญ่ๆ เช่น เรื่องผลิตภาพของภาคการเกษตรไทย โดยไม่ได้ยึดโยงลงไปถึงว่า เกษตรกรรายเล็กเขาอยู่ตรงไหนในจิ๊กซอว์เหล่านั้น ยิ่งถ้าเรามองจากเลนส์หรือแว่นตาของหน่วยงานราชการ หรือจากพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง และคะแนนนิยมด้วยแล้ว คนทำนโยบายในระดับมหภาคมักจะลืมเรื่องการมองผ่านแว่นตาหรือเลนส์ของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย

จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในวันนี้ เราจะได้ guiding principles ที่เป็นมุมมองของคนที่เอาเกษตรกรรายเล็กเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยคลี่ออกมาว่า ระบบนิเวศและกลไกสนับสนุนควรให้น้ำหนักกับเรื่องอะไรบ้าง หรือมิติใดบ้าง

@เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ติด ‘กับดักหนี้’ ทำให้ปรับตัวได้ยาก

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็กเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ (ผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’) แต่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่งว่า จะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรรายเล็ก คือ เรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพราะในขณะที่เกษตรกรรายเล็กของไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆมากมายแล้ว ต้องปรับตัว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตร ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่พันธนาการการปรับตัวเหล่านั้น

มีงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรกรเป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และมีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และเกษตรกรผู้สูงอายุที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงด้วย

งานวิจัยยังพบว่าร้อยละ 77 ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และเวลาที่มีมาตรการพักหนี้แม้ว่าจะดูเหมือนว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการช่วยเหลือไม่เบ็ดเสร็จ เพราะภาระดอกเบี้ยต่างๆยังเดินอยู่

ถ้าไปดูที่มาว่า เกษตรกรเป็นหนี้จากอะไร ในรายงานศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 73 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร และเกษตรกรกว่าครึ่ง โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางมีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อปี และเวลาที่เขาขาดสภาพคล่อง เขาต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป

และยังพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้อย่างที่คาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องช็อกที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 ใน 3 ปี ส่งผลให้เกษตรกรตกไปอยู่ในกับดักหนี้ และจากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ มีการประเมินว่ากว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกร จะมีปัญหาในการชำระหนี้

โจทย์สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตเกษตรกรไทยที่ต้องปรับตัว ก็มีคำถามสำคัญว่า เกษตรกรจะลงทุนปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในเวลาที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน และเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร

ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สินจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย และการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการพักหนี้แบบเดิมนั้น ไม่ได้ช่วยให้หนี้หายไป และอาจไม่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้

@ต้องออกแบบ ‘โครงสร้างจูงใจ’ ที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เรื่องที่สาม การปรับตัวในลักษณะที่ต้องมีการพลิกโฉมอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพูดถึงการปรับตัว แปลว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรไทย ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ต้องมีการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ให้เหมาะสม และต้องเป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่ต้องมองผ่านแว่นของเกษตรกรรายเล็กด้วย ไม่ใช่มองผ่านแว่นของผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานราชการ

ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาของการออกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หรือช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่การพักหนี้ ที่อาจจะไม่เข้าใจ และไม่สนใจกับผลที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเกษตรกร รวมทั้งอาจสร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่เกิดผลเสียระยะยาวหลายอย่าง เป็นผลข้างเคียงระยะยาว เพราะอาจไม่ได้คิดให้รอบคอบตั้งแต่ตอนที่มีการกำหนดนโยบาย และโครงการเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของเกษตรกร

ดังนั้น ถ้ามองไปในอนาคต ผมคิดว่า incentive structure ที่เราจัดให้มีนั้น จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนของเกษตรกรด้วย โดยมีทิศทางอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

ทิศทางแรก เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายเล็ก มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นพรีเมียมโปรดักส์ เพราะการผลิตสินค้าเกษตรทั่วๆไปจะแข่งขันได้ยากมาก เนื่องจากเขาไม่ได้ประโยชน์จากการประหยัดของขนาด (economy of scale) เราจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยไปสู่การทำเกษตรประณีต หรือเกษตรอินทรีย์ เราต้องช่วยกันสร้าง incentive structure ที่จะจูงใจให้เกษตรกรไทยออกจากเกมที่ ‘เน้นเรื่องปริมาณ’ ไปเน้นในเรื่องเกม ‘คุณภาพ’

ทิศทางที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ใช้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มผลิตภาพให้ได้ในกระบวนการผลิต เกษตรกรไม่สามารถทำแบบเดิมๆได้ และอาจจะต้องมองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรน้ำ การอยู่ร่วมกับป่า โดยเรื่องเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้าง incentive structure ที่เอื้อหรือสนับสนุนในระดับจุลภาค

ทิศทางที่สาม จะต้องให้เกษตรกรมุ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน การซื้อประกันภัยพืชผล หรือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่จะรับความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกในเรื่องการกระจายความเสี่ยงร่วมกัน มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

ที่สำคัญนโยบายใหญ่ระดับประเทศหรือในระดับมหภาคจะต้องสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง และต้องไม่บิดเบือนโครงสร้างของแรงจูงใจที่ควรจะเกิดขึ้นในระดับจุลภาพ ต้องไม่ทำลายโครงสร้างแรงจูงใจระดับฐานราก

อย่างไรก็ดี การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในการทำนโยบาย หรือมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าเรามุ่งไปทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ รับประกันต่างๆ ซึ่งก็ยังจำเป็น แต่ต้องมุ่งไปที่ผลผลิตคุณภาพสูงมากขึ้น และโครงสร้างของแรงจูงใจต้องมองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญมาก คือ

ตลาดวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะต้องทำเรื่องแรงจูงใจให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นเงินเชื่อ และไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นได้ หรือไปผลิตพืชอื่นได้ เพราะไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เป็นกลไกสำคัญที่มาช่วยปรับพฤติกรรมได้ แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถโยงกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับการปรับพฤติกรรมโดยการออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพผลิตผลของเกษตรกรรายเล็ก ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาของหนี้สินเกษตรกรได้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารเพื่องการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องมีบทบาทสำคัญมาก และมีบทบาทอย่างจริงจัง เพราะถ้าเกษตรรายเล็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาด้วยในอนาคต

veerathai 11 05 22 1

@ต้องแก้ปัญหาเป็น ‘รายพื้นที่’-บริหารแบบ ‘รวมศูนย์’ ได้ผลลัพธ์น้อย

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตของเกษตรกรรายเล็กของไทย คือ โครงสร้างการทำงานที่ไปสนับสนุน ช่วยเหลือเกตรกรรายเล็ก ต้องต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาที่เกษตรกรรายเล็กเผชิญมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ และแต่ละพื้นที่มีผลที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

แต่จะพบว่าการทำงานสนับสนุน หรือการจัดโครงสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยกลไกภาครัฐใจช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการทำจากส่วนกลางลงไประดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ก็ใช้งบประมาณสูง และเกิดผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปอนาคต รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น ซึ่งหากยังทำงานแบบเดิม จะไม่เกิดผลแน่นอน และรัฐบาลไม่สามารถทำได้มากเท่าเดิมด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องมีลักษณะล่างขึ้นบน (bottom up) มากขึ้น มุ่งตอบโจทย์ในบริบทของของชาวบ้าน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อย่างน้อยก็แบ่งพื้นที่ที่ทำงานเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3S ได้แก่ กลุ่มเป็น Survive ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ส่วนที่กลุ่มเป็นเป็น Sufficiency กลุ่มนี้จะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่เกมที่อยู่ได้อย่างพอเพียง

และกลุ่ม Sustainability ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างไร โดยแต่ละพื้นที่เราจะเอาชีวิตเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และแต่ละกลุ่มจะต้องการการช่วยเหลือที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น นโยบายจากบนลงล่าง (top down) หรือนโยบายที่ไปจากส่วนกลางและทำเหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้

เมื่อพูดถึงการพลิกโฉม การแปลงร่าง (transform) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายใน 1 ปี หรือฤดูเพาะปลูกเพียงฤดูเดียว และ incentive structure จะต้องโยงกับการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้น กลไกการส่งเสริมจะต้องมีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ และการมีพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีการสร้างเครือข่ายที่หน่วยงานต่างๆเข้าไปร่วมกันทำได้ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสามารถแก้ปัญหาต่อเนื่อง ขณะที่เครือข่ายที่ราชการทำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตำบล เกษตรอำเภอนั้น ไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็นพี่เลี้ยงได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เกษตรกรรายเล็กพึ่งพิงรายได้เสริมเป็นจำนวนมาก โดยครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีรายได้เสริมมากกว่ารายได้ที่มาจากการเกษตร ดังนั้น ถ้าจะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เราจะลืมจิ๊กซอว์เรื่องการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการหารายได้เสริมของเกษตรกรไม่ได้

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราพบว่าเขาไปอยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ และขณะนี้การท่องเที่ยวของเรายังไม่ฟื้น และพบว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น เช่น การทำเกษตรหลังนา ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับเศรษฐกิจชนบท เศรษฐกิจเมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

เรื่องที่ห้า เราจะต้องช่วยกันคิดเรื่อง guiding principles ที่จะทำให้เกษตรกรไทย สามารถรองรับภาวะวิกฤติทางภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบมากมาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเกิดโรคพืช และโรคสัตว์อุบัติใหม่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญในการปรับพฤติกรรม วิธีการปลูก วิธีการทำเกษตร ซึ่งด้านหนึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นระบบ และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว เท่าทัน รองรับสภาวะภูมิอากาศที่ผันผวนได้

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 พ.ค. 2565

 

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

WorldKithchenThailand

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ร่วมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในนามนักวิชาการ ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมสะท้อนอุปสรรค โอกาส และแนวทางการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมือง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจากปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต”

 

 

 ส่วนประเด็นร้อนตอนนี้ ปุ๋ยแพง ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ควรไปทางไหนดี นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า “ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจากปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน”

  

 

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า “ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญ จากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนราย จนในที่สุด ต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น”

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด ได้เล่าประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) ไว้ว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้ง ความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ”

 

ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP (เกษตรเคมี) สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้ง สารกำจัดศัตรูพืช ได้บริหารจัดการนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยในปีนี้ คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญที่สุด กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งการเกษตรระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่”

 

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างน่าสนใจ โดย พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ความสำคัญในเรื่อง “เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์”

ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เน้นว่า “นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ”

 

 

 

 

 

ด้าน พรรคก้าวไกล ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทยว่า “หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น ด้วย 1) แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2) แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3) แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมียม ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อกหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองต่อทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

และ พรรคเพื่อไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ เสริมว่า “เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือ เพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต”

 

 

 

 “ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP (เกษตรเคมี) อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

ที่มา : มติชน วันที่ 21 มิ.ย. 2565

อนาคตเกษตรกรไทย…อยู่ตรงไหน? ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

KlaingandFamily

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาฯ มาแล้ว 12 ฉบับ โดยปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกรอบ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13” และเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นไปใช้ประกอบและปรับปรุงการทำแผน โดยคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 โดยเป้าหมายหลักของแผนฯ คือ “พลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”  มีองค์ประกอบที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค 3.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน 4.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ และมี 13 หมุดหมาย (Milestone) ที่ไทยให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) ประกอบด้วย

           1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน 3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6. ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน 7. ไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

          8. ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และน่าอยู่ 9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม 10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13. ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

            หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ แผนฯ ฉบับนี้ จะไม่ได้ใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศเพียงแผนเดียวดังเช่นแผนฉบับ 1-12 ที่ผ่านมา แต่จะเปลี่ยนฐานะเป็นแผนระดับสอง ที่อยู่ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี” ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงมีข้อสังเกตและตั้งคำถามว่า สถานะแผนฯ 13 นั้นอยู่ตรงไหน และสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ของชาติหรือไม่ อีกทั้งในกระบวนการจัดทำแผนนั้น แทบจะไม่มีภาคประชาชนเป็นตัวแทนในการแสดงความคิด ต่อรอง หรือมีกลไกเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเลย จึงเป็นข้อจำกัดที่อาจจะทำให้แผนฯ 13 ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

          ขณะเดียวกัน แม้ร่างแผนฯ ฉบับนี้ จะนำเสนอภาพรวมอย่างรอบด้าน ด้วยวาทกรรมที่น่าฟัง แต่กลับไม่มีแผนปฏิบัติการรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีมิติของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมใดเลย ทั้งที่เศรษฐกิจในประเทศและโลกกำลังย่ำแย่ ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องตกงานและกลับบ้านเกิด มีการผูกขาดจากทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการล่มสลายทางการค้าของชุมชน และเกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะยังมุ่งเน้นอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมด้วยตัวเลข GDP จนทำให้ละเลยภาคเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน คนฐานราก หรือกลุ่มชาติพันธุ์ และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปรับใช้ตลาดโลกมากขึ้น ทั้งที่บทเรียนจากวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจท้องถิ่น จะสามารถค้ำยันประเทศเอาไว้ได้ในวิกฤตต่าง ๆ โดยตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา" 

           ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมไทย จึงได้ร่วมกันระดมความคิดและมีข้อเสนอต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดังนี้

           1. สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้านเพื่อทำเกษตร ด้วยการจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร 2. ส่งเสริมสิทธิการเข้าถึง กระจายการถือครองที่ดิน และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง 3. สนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รักษาอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตได้ โดยไม่ต้องสร้างหนี้สินเพิ่ม 4. สนับสนุนแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนภาคประชาชน 5. สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง

           6. สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน 7. สนับสนุนการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้มีการศึกษาและรวบรวมแล้วในระดับพื้นที่ เพื่อนำแล้วนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 8. สนับสนุนและพัฒนาความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน เพราะทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต รวมถึง สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ "ภาคเศรษฐกิจครัวเรือนชนบทก็ยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่รองรับปัญหาของเกษตรกรและลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ" โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรในชนบท 10. สนับสนุนการศึกษานอกระบบ ที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน เช่น การสร้างศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนที่มีหลักสูตรความรู้จากประสบการณ์บทเรียนของเกษตรกร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เป็นต้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 ก.ค. 2564

ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์

เก็บเมล็ดข้าวร่วงขายหาเงินใช้หนี้

Unhappyfarmer

เก็บเมล็ดข้าวร่วงขายหาเงินใช้หนี้

นครราชสีมา ทุกข์ชาวนาเจอน้ำท่วม ข้าวเสียหายไปกว่าครึ่งขายขาดทุนไม่พอค่าเช่าที่นา ค่ารถเกี่ยวข้าว ต้องเดินลุยน้ำเก็บเมล็ดข้าวร่วงนำไปผึ่งแดดขายหาเงินมาใช้หนี้

14  ธันวาคม 2563 ชาวนาในหลายพื้นที่ของอำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา กำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังช่วงปลายฝนที่ผ่านมา น้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนายยวง ประจงกลาง อายุ 67 ปี  ชาวนาในตำบลชีวาน อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า  ได้เช่าที่นาของนายทุนรายหนึ่ง  ทำนาปลูกข้าว จำนวน 30 ไร่ เช่าที่นาในราคาไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งผลผลิตข้าวที่กำลังจะได้เก็บเกี่ยวกลับมาถูกน้ำท่วมขังนานหลายสัปดาห์ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

ตนรู้สึกเสียดายข้าว จึงได้ว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวมาเก็บเกี่ยวผลผลิตในราคาไร่ละ 500 บาท แต่  1 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตข้าวได้เพียงแค่ 2 กระสอบเท่านั้น นำไปขายได้ในราคา 1,000 บาท และหากรวมที่จะต้องจ่ายค่าเช่าที่นา และค่ารถเกี่ยวแล้ว จะต้องจ่ายเงินไร่ละ 2,000 บาท   

ตอนนี้ผลผลิตข้าวเสียหาย ประสบภาวะขาดทุน ยังไม่มีเงินจ่ายค่ารถเกี่ยวและค่าเช่าที่นา จำเป็นต้องเดินลุยน้ำ เก็บเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นและเหลือจากรถเกี่ยวข้าว นำไปตากผึ่งแดดก่อนจะเอาไปขาย เพื่อรวบรวมเงินสำหรับไว้จ่ายค่ารถเกี่ยวข้าว แม้ว่าจะไม่มีข้าวเก็บไว้กินก็ตาม เพราะหากไม่นำเงินไปจ่ายค่าเช่านา และค่ารถเกี่ยว ก็จะถูกเจ้าของนายกเลิกสัญญาเช่า จึงจำเป็นต้องยอมขาดทุน และยอมทำงานหาเงินมาซื้อข้าวกินเอง ทั้ง ๆ ที่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าวด้วยมือตนเองแท้ๆ แต่ต้องมาซื้อข้าวจากโรงสีกิน ซึ่งยังมีชาวนาอีกหลายรายในอำเภอพิมายได้รับความเดือดร้อนเหมือนๆกันอยู่ในขณะนี้

ที่มา : Nationtv วันที่ 14 ธ.ค. 2563

เรื่องโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ  ภาพโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

 

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768825
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2105
5699
14580
160351
6768825

Your IP: 18.189.170.17
2024-04-30 10:07