'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน

 

 TDRISeminarMay2022

‘วิรไท’ ชี้เกษตรกรรายย่อยติด ‘กับดักหนี้’ ส่งผลให้ปรับตัวยาก-เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นไม่ได้ ขณะที่ ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐลดเงินอุดหนุน ‘ปลูกข้าว’ ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย’ โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรไทยที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นกับดักและเป็นสิ่งที่พันธนาการไม่ให้เกษตรกรรายเล็กปรับตัวหรือยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย เป็นหนี้ และมีหนี้สินคงค้างเฉลี่ยสูงถึง 433,000 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญหนี้สินเฉลี่ยของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ 77% ของครัวเรือนเกษตรกร อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรไทยไม่มีรายได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ จึงต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า 73% ของหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร และเกษตรกรกว่า 50% มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยเฉพาะเกษตรในภาคกลางที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างน้อย 3 เดือน/ปี เมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ต้องกู้มาลงทุนสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าทุกๆ 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย หรือราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้อย่างที่คาด

“เป็นคำถามที่สำคัญว่า เกษตรกรจะปรับตัวได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากจุดที่มีหนี้เดิมอยู่สูงมาก และในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัว เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เกษตรกรจะมีรายได้ใหม่ที่มากพอกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมและภาระหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน แล้วเกษตรกรจะออกจากกับดักหนี้สินได้อย่างไร ดังนั้น การจัดการการแก้ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาที่เราพูดถึงอนาคตของเกษตรกรไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุว่า “เกษตรกรในหลายพื้นที่ติดอยู่ในกับดักของหนี้ เพราะเข้าไปอยู่ในวงจรของการซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็น ‘เงินเชื่อ’ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำการเกษตรอื่นๆหรือไปผลิตพืชอื่นได้ และไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้”

นายวิรไท กล่าวว่า การออกนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การรับประกัน โครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือเกษตรกร หรือแม้แต่โครงการพักหนี้เกษตรกร พบว่า มีส่วนที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย และสร้างผลเสียในระยะยาว ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรมากขึ้น

“การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ในการทำนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเรามุ่งไปที่การทำโครงสร้างแรงจูงใจในระดับของตลาด หรือตลาดสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการรับซื้อ และการรับประกันต่างๆ ซึ่งแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังจำเป็นอยู่ แต่การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจในระยะต่อไปนั้น ผมเห็นว่าควรต้องมุ่งไปที่การจูงใจให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ระบุด้วยว่า การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กของรัฐบาล ที่มีลักษณะสั่งการจากส่วนกลางลงไปสู่ระดับภูมิภาค มีลักษณะการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก และใช้งบประมาณสูงนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำ และเมื่อมองไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น หากยังทำงานแบบเดิม ก็ไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรรายเล็กได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวระหว่างนำเสนอผลศึกษา เรื่อง ‘ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็ก : ชาวนา ชาวสวน เกษตรกรบนพื้นที่สูง’ ว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี แต่กลับมีการจ้างงานในภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 25-28% ของการจ้างงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกรไทยต่ำกว่ารายได้แรงงานนอกภาคเกษตรถึง 4.5 เท่าตัว ขณะที่มาเลเซียต่างกัน 1.4 เท่า และจีนต่างกัน 2.6 เท่า

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้รายได้ของเกษตรกรไทยใกล้เคียงกับรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในภาพรวมลดลง โดยระหว่างปี 2555-2562 สินค้าเกษตรไทยที่มีความสามารถแข่งขันดีขึ้นมี 145 รายการ แต่สินค้าเกษตรไทยที่ความสามารถแข่งขันลดลงอยู่ที่ 188 รายการ โดยเฉพาะข้าวไทยที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อเกือบ 30 ปี แต่หลังจากปี 2554 ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออก และเสียตลาดข้าวทุกประเภทแล้ว เพราะไทยไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ

“เราเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวติดต่อกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังปี 2554 เราสูญเสียแชมป์ไป โดยเราสูญเสียตลาดข้าวทุกตลาด และสูญเสียทุกประเภท บางตลาดสูญเสียให้เวียดนาม บางตลาดสูญเสียให้อินเดีย ที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของข้าวไทยต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และกัมพูชา แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นมหาอำนาจการเกษตรได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าภาคเกษตรกรหยุดเติบโต” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ยังย้ำว่า ในขณะที่ตลาดข้าวในอนาคตมีแนวโน้มลดลง จากการบริโภคข้าวทั่วโลกที่ลดลง แต่จะพบว่าปัจจุบันชาวนาไทยไม่ค่อยมีการปรับตัว เนื่องจากชาวนาได้รับการอุดหนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่ซ้ำซ้อนกัน 2 นโยบาย คือ นโยบายประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณอุดหนุนสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท

“ปีหนึ่งใช้เงินไม่มาก แค่ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯทั้งปี และงบนี้ต้องกู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งแปลว่าลูกหลานของเราต้องเป็นคนใช้หนี้ให้กับคนรุ่นปัจจุบัน” นายนิพนธ์ กล่าว และว่า “ถ้าพรรคไหนไม่อุดหนุนเกษตรกร พรรคนั้นก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายต้องกำหนดนโยบายเกษตรกร”

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้เสนอศึกษาเรื่องอนาคตชาวนากับข้าวไทยฯ ว่า จากผลการศึกษาฯ ‘อนาคตชาวนาไทยและยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์’ สรุปได้ว่า ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ เกษตรกรรายเล็กรวมตัวเป็น ‘พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลาย’ จากปัจจุบันที่ชาวนาดั่งเดิมมีลักษณะเป็น ‘ชาวนามือถือพึ่งเงินอุดหนุน’ และบางกลุ่มมีการรวมตัวเป็น ‘วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ขณะที่ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์และเคลื่อนตัวไปได้ง่าย คือ ‘ชาวนาไฮเทครายใหญ่’

“ฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ที่สุด คือ การรวมกลุ่มชาวนาที่เป็นพันธมิตรกับโรงสี ผู้ส่งออก นักวิชาการ หรือกลุ่ม NGOs โดยรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ มีความหลากหลาย เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม และฉากทัศน์นี้ เป็นฉากทัศน์ที่เป็นธรรม มีเกษตรกรรายเล็กผสมกับเกษตรกรรายใหญ่ และมีความยั่งยืน รายได้อาจไม่สูงเท่ากับชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่มีรายได้พอกิน และรายได้ใกล้เคียงกับแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตร” นายนิพนธ์ ระบุ

ส่วนการผลักดันยุทธศาสตร์สู่อนาคตชาวนาที่พึงประสงค์นั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีสิ่งที่ต้องดำเนินการมีหลายเรื่อง เช่น การปรับนโยบายการอุดหนุนชาวนา ,ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ,เพิ่มคุณภาพข้าวหรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสุขภาพ ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเช่าที่นา และการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรที่เน้นการส่งเสริมด้านการให้ความรู้และเทคโนโลยี เป็นต้น

tdri 11 05 22 1

tdri 11 05 22 22

tdri 11 05 22 4

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘อนาคตเกษตรกรรายเล็กกับแนวนโยบายที่เหมาะสม’ ว่า ปัจจุบันปัญหาของเกษตรรายย่อยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า 90% ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดย 72% เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลืออีก 8% เป็นหนี้กองมทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ และหนี้สหกรณ์ฯ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

“รัฐบาลทำเรื่อง PP Maps หรือ Thai people ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพราะเรื่องความยากจนนั้น เกษตรกรบางรายไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกิน ไม่มีเงินทุน รัฐบาลจึงเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ พุ่งชนให้ตรงเป้าเลยว่า หนี้ของเกษตรกรแต่ละรายเกิดจากอะไร เพราะอะไร โดยให้ข้าราชการกระทรวงต่างๆไปประกบเป็นเทรนเนอร์ เช่น สอนเรื่องบัญชีครัวเรือน จะมีวินัยอย่างไร และให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้ามามาซื้อหนี้ไปบริหาร

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเป็นลำดับ ส่วนปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะมีการเร่งรัดการจัดสรรที่ดิน สปก. ให้เกษตรกร และเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการขายปัจจัยการผลิตครั้งละมากๆ เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น” นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนด้านการเกษตรของไทยที่เน้นไปที่การผลิตให้ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำฯ และโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งเป็นไปส่งเสริมเกษตรกรว่า ให้เกษตรกรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้าวมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพข้าวจะลดลงก็ไม่เป็นไรนั้น ส่งผลให้คุณภาพข้าวไทยเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หัวใจ คือ ต้องเปลี่ยนจากนโยบายปริมาณไปสู่นโยบายคุณภาพ ในขณะที่นโยบายเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมแปลงนั้น เมื่อไปดูของจริงในจังหวัด ในพื้นที่จริงๆ จะพบว่าคนรวมแปลงต่างหากที่ได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรจนเหมือนเดิม ดังนั้น นโยบายที่จะทำให้เกษตรรายเล็กได้ประโยชน์ คือ ทำอย่างไรให้ทำน้อย แต่ได้มาก คือ ทำของแพง ทำของที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภาพสูง” นายกนก กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 พ.ค. 2565

 

'หนี้' วิถีปกติใหม่ของ 'เกษตรกรไทย'

FarmerDebtNewNormal

เปิดกรณีศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนใน จ.กาฬสินธุ์ จากแผนงานคนไทย 4.0 เปิดสาเหตุทำไมครัวเรือนต้องก่อหนี้?

ในอดีตการก่อหนี้ของเกษตรกรจะต้องเป็นเหตุผลที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ สำหรับการกู้เพื่อลงทุนและการกู้ยืมเพื่อการบริโภคนั้นยังมีไม่มากนัก จำนวนเงินที่กู้ยืมก็มักจะกู้ยืมเท่าที่จำเป็น ที่เป็นเช่นนั้นนอกจากพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนเองแล้ว ความเข้มงวดของการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน และความไม่สะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

แต่ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้มีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการลงทุนมีมากขึ้นด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ยืมง่าย ใช้คล่อง (แต่คืนยาก)”

ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 และได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนใน จ.กาฬสินธุ์ ทัศนคติต่อการเป็นหนี้ของผู้ให้สัมภาษณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้

กลุ่ม Baby boomers (อายุ 56 ปีขึ้นไป) กลุ่มหนี้สินเป็นภาระ คือ กลุ่มผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยชรา คนกลุ่มนี้มองว่าการกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องปกติในชีวิต จะกู้เมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น และในกรณีที่จำเป็นต้องกู้ก็จะกู้ในจำนวนเงินที่ไม่มากนัก เพราะกลัวว่าจะหาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้เนื่องจากอายุมากแล้ว หนี้สินนับเป็นภาระของครัวเรือน ถ้าเป็นหนี้แล้วก็ต้องรีบหาเงินมาใช้คืนจะได้สบายใจ จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือการกู้ยืมมาลงทุนทำการเกษตร ส่วนใหญ่หนี้ก้อนแรกเกิดขึ้นพร้อมกับการมีกองทุนหมู่บ้าน

กลุ่ม Gen X (อายุระหว่าง 41-55 ปี) หนี้สินเป็นวิถีปกติใหม่ (New normal) คนในกลุ่มนี้กล้าที่จะกู้ยืมมากขึ้น การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพื่อนบ้านต่างก็เป็นหนี้เหมือนกัน และคนกลุ่มนี้ยังมองว่าการเป็นหนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน (โดยเฉพาะด้านการศึกษาของบุตร) ก็สามารถกู้ยืมเงินมาใช้ก่อนได้ และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ครัวเรือนมีหนี้มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีเงินมากขึ้น รายจ่ายก็มากตามไปด้วย มีเท่าใดก็ใช้หมด เมื่อเป็นหนี้แล้วโอกาสที่จะหมดหนี้นั้นค่อนข้างยาก

“สมัยนี้คนกล้าที่จะกู้เยอะขึ้น แต่สมัยพ่อแม่เขาไม่ค่อยกล้าเป็นหนี้ แล้วสมัยก่อนเขาก็ไม่ยืมเงินกันด้วยเพราะสมัยก่อนไม่ได้มีการลงทุนเยอะ หาอยู่หากิน แต่ทุกวันนี้ต้องซื้อทุกอย่าง ไม่มีเงินก็ต้องไปกู้มาซื้อ”

“สำหรับตัวแม่เองไม่ได้กลัวการเป็นหนี้ เพราะไม่ได้กู้ไปทำอย่างอื่นเอามาทำบ้านและเพื่อลูก”

“ทุกวันนี้ ถ้ามีที่ไหนให้กู้ก็กู้หมด ไม่กู้แต่กับระเบิด”

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ยืมมาให้ลูกเรียนหนังสือ ยืมมาซื้อที่นา ยืมมาซ่อมแซมบ้าน ยืมมาลงทุนทำการเกษตร เป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่กู้ยืมมาลงทุนแล้วขาดทุนในครั้งแรก (ลงทุนเลี้ยงหมู ทำโรงงานอิฐ ซื้อขายพลาสติก) จะยังคงเป็นหนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่ม Gen Y (อายุระหว่าง 23-40 ปี) ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้ต้องเป็นหนี้ ทุกวันนี้ต้องซื้อทุกอย่าง เมื่อแยกออกมามีครอบครัวก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว กู้ยืมมาเพื่อลงทุน แต่บางครั้งก็ขาดทุนเนื่องจากไม่มีความรู้และความชำนาญ ทำให้ต้องกู้เพิ่ม แต่เนื่องจากอายุยังน้อยสามารถทำงานหาเงินได้อยู่ ดังนั้น การเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

“ถ้าเราไม่มีหนี้ เราก็ไม่มีสิ่งที่เราอยากได้”

“จ่ายหมดแล้วก็กู้ใหม่มาซื้อรถ 6 ล้อ ก็เป็นหนี้ของตัวเอง อยากได้ อยากมี กู้มาทำการเกษตร ต่อเติมบ้านเพราะน้ำท่วม ใช้จ่าย...ถ้าเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะมีโอกาสได้ทำงานใช้หนี้อยู่”

“หนี้ก้อนแรก...ตอนนั้นเพิ่งปลีกตัวออกมาจากบ้านยายแล้วก็กู้มาลงทุนทำนา”

ผลการศึกษายืนยันว่า ในอดีตการเป็นหนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แต่ปัจจุบันการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา และส่วนการนำเงินกู้ไปใช้มีความแตกต่างกันตามฐานะเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีฐานะดีส่วนใหญ่จะนำเงินกู้ไปลงทุน ส่วนครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางและต่ำ มักจะนำเงินกู้ไปลงทุนในกิจกรรมการผลิต การใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้หนี้แหล่งเงินกู้อื่น

คำถามสำคัญคือ ทำไมครัวเรือนต้องก่อหนี้ จากการสัมภาษณ์ครัวเรือนตัวอย่าง พบว่าแรงจูงใจในการก่อหนี้สามารถจำแนกได้ดังนี้

1.เงินไม่พอใช้ จำเป็นต้องกู้ ทั้งในส่วนของเงินใช้จ่ายในครัวเรือนและเงินลงทุนทำการเกษตร

2.รักษาสิทธิให้เท่าเทียมกับคนอื่น สังเกตได้จากครอบครัวที่มีฐานะดี มีเงินลงทุนเพียงพอก็ยังกู้กองทุนหมู่บ้าน แม้ว่าจะเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ตาม

“ตอนแรกเห็นโครงการออกมาก็เอาไว้ก่อน ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร คิดว่าเอามาไว้ใช้ก่อน ดีกว่าไม่ได้”

3.อยากมี อยากได้ ครัวเรือนระบุว่าการบริโภคนิยมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้ หรือแบ่งเงินกู้มาซื้อสินค้า เห็นเพื่อนบ้านมีอะไรก็อยากมีเหมือนกัน

4.ยืมแทนบุคคลอื่น ส่วนใหญ่คือลูกซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เช่นยืมให้ลูกไปใช้ที่ กทม. ยืมให้ลูกไปต่างประเทศ ยืมให้ลูกไปปิดงวดรถ ยืมให้ลูกไปซื้อบ้าน ยืมให้น้องไปแต่งงาน เป็นต้น

หนี้สินตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน

“ตอนแรกก็เอามาทำเกษตรบ้าง หลังๆ เอามาใช้จ่ายในครัวเรือนหมด”

“ครัวเรือนของพ่อมีการกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ในการอุปโภคบริโภค...ตอนแรกก็กู้มาลงทุนการเกษตร แต่หลังๆ กู้มาซื้อ “วัวกิโล ควายกิโล” หมายถึงการซื้อเนื้อเพื่อบริโภค”

ในภาพรวมโอกาสที่ครัวเรือนจะหลุดพ้นจากการเป็นหนี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่พ่อแม่กู้ยืมให้ลูกไปใช้จ่ายนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันลูกก็ไปสร้างหนี้ของตัวเอง สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมีระดับสูงขึ้นมาก

ประการต่อมาความสะดวกของการกู้ยืมที่ครัวเรือนมักจะเอาโฉนดที่ดินค้ำประกันไว้กับสถาบันการเงิน เริ่มจากการกู้ในจำนวนเงินน้อยไปสู่จำนวนเงินที่มากขึ้น

นอกจากนี้รูปแบบของการชำระหนี้เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินผูกพัน มีครัวเรือนบางส่วนที่คิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องเป็นหนี้ เพราะรู้แล้วว่าต้องการนำเงินไปใช้ทำอะไร แต่อาจต้องรอเวลา เช่น รอให้กองทุนหมู่บ้านเปิดกู้รอบใหม่ รอให้ได้รับที่ดินมรดกเพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ นับเป็นการก่อหนี้ แต่เป็น “หนี้ที่รอเวลา” เท่านั้นเอง “เพราะดอกเบี้ยถูก กับเห็นเพื่อนบ้านกู้ก็เลยกู้ตาม...กู้เฉยๆ กู้ไปไว้สำรอง เราได้สิทธิก็เลยกู้ ถึงจะเสียดอกเบี้ยก็ยอม...ประมาณว่าเราเป็นสมาชิก ก็รักษาสิทธิกู้ไว้”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ม.ค. 2564 ผู้เขียน : ศิวาพร ฟองทอง

‘สุริยะ ชูวงศ์’ พึ่งพาคัมภีร์บัญชีครัวเรือนนำทางสู่ความสำเร็จ

HouseholdExpenses

นายสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มประจำปี 2559  เป็นผู้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตลอดระยะเวลา 37 ปี ควบคู่ไปกับการจดบัญชีครัวเรือน บัญชีฟาร์ม และบันทึกข้อมูลการทำการเกษตร เพื่อวิเคราะห์วางแผนการผลิต ภายใต้การส่งเสริมแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาด และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดหนี้สิน

นายสุริยะ ชูวงศ์  เปิดเผยว่า ตนเองสืบสานพระราชปณิธานด้านเกษตรและยึดมั่นปฏิบัติมาตลอดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 หลังจากได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.9 ณ สวนจิตรลดา ซึ่งทรงอธิบายและสอนการทำเกษตรผสมผสานแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสอนให้เป็นคนรอบรู้ รอบคอบ ช่างสังเกต เมื่อได้รับพระราชดำรัสก็น้อมนำทฤษฎีไร่นาสวนผสมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางพัฒนาสวนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบของการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งทำนา ปลูกผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น ชมพู่ ละมุด มะนาว มะละกอ มะยงชิด กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ตาลโตนด เป็นต้น

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจดบันทึกทางบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ และมีการวางแผนการผลิต การตลาด และหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงวางแผนการใช้จ่ายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกมาคิดวิเคราะห์ ภายใต้การแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปวางแผนในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับกลไกการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะในอดีตเคยประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากการวางแผนการผลิตกล้วยหอมทองที่ผิดพลาด จนผลผลิตออกมามากในช่วงสินค้าล้นตลาด ทำให้ขายได้ราคาตกต่ำ แต่เมื่อนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาวิเคราะห์ จึงทำให้รู้ว่า ในช่วงเทศกาล กล้วยหอมทองจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในท้องตลาดมีผลผลิตจำหน่ายน้อยมาก สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ จึงปรับเปลี่ยนวางแผนการเพาะปลูกกล้วยหอมทองเพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และจำหน่ายได้ราคาดี

“จากประสบการณ์ที่เรียนรู้และปฏิบัติมาตลอดชีวิต ปัจจุบันจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้สนใจ ที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน และยังรับเชิญเป็นวิทยากรทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชไร่ พืชสวนแบบผสมผสาน รวมถึงเทคนิคและวิธีการทำการเกษตรต่างๆ ที่ตนทำมาแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ที่มารับความรู้นำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเน้นย้ำกับผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ทุกครั้งว่า จะต้องทำบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ แล้วนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต จึงจะทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ เพราะองค์ความรู้ทางบัญชีจะเป็นอาวุธทางปัญญาที่ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตร”นายสุริยะ กล่าว

ด้าน นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกร ให้ทำบัญชีได้ใช้บัญชีเป็นในภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการประกอบการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคง โดยเกษตรกรผู้มีองค์ความรู้ทางบัญชีนอกจากจะรู้รายรับ รายจ่าย รู้ตัวตนแล้ว ข้อมูล ที่ได้บันทึกจากการประกอบการทำเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการตลาด รวมถึงต่อยอดพัฒนาพืชผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ สำหรับนายสุริยะ ถือว่าเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่กรมฯ เข้ามาแนะนำ และจากการจดบันทึกทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นายสุริยะรู้แต่ละรายการว่าจะมีรายได้ในช่วงไหนเท่าไหร่ ผลผลิตจะออกเดือนไหน ได้เรียนรู้และนำไปพัฒนาทางความคิดในวิชาชีพเกษตรกรของเขา โดยใช้หลักบัญชี การจดการรับจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพได้ ซึ่งนายสุริยะ นับว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบคนหนึ่งที่กรมฯ ภูมิใจ เพราะนอกจากนำระบบการบันทึกทางบัญชีมาใช้ด้วยเองจนประสบความสำเร็จแล้ว ยังทำหน้าที่ครูบัญชีอาสา นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกษตรกรคนอื่นๆ

รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บอกอีกว่า ก่อนที่ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเข้ามาสอนแนะ นายสุริยะก็มีหลักคิด มีวิธีการที่ดีในการทำการเกษตรและมีวินัยทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับองค์ความรู้ด้านบัญชีเพิ่มเติม ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการจดบันทึกทางบัญชีที่เป็นระบบมากขึ้น เมื่อจดบันทึกแล้วความคิดก็เป็นระบบมากขึ้น เกิดการวางแผนที่ดี ออกแบบการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเห็นว่านายสุริยะเป็นผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมที่ไม่มีหนี้สิน เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรและเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ มาให้ความสำคัญกับการทำบัญชี

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สนับสนุนและพัฒนาให้อาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี หรือครูบัญชีอาสา เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายสุริยะ ชูวงศ์ นับเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ยอมรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรและการตลาดที่มีผลกระทบต่อการเกษตรที่ทำอยู่ ส่งผลให้มีความพร้อมในการปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการดำเนินชีวิตในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่ที่คิดเป็นระบบสู่การวางแผนและบริหารจัดการการเกษตรของตนเองด้วยระบบบัญชี”รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย  

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 17 ส.ค. 2563

 

"ประวิตร"ผุดแผนเงินจากดินเพิ่มรายได้-ลดหนี้เกษตรกร

PrawitmakemoneyfromFarm

“ประวิตร” ตั้ง “อนุชา” นั่งประธานกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลั่นเดินหน้าเพิ่มกำลังซื้อภาคเกษตรผุดโครงการ “เงินจากดิน” แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิดหวังราคาพุ่งเพิ่มรายได้เกษตรกร ควบคู่มาตรการพักหนี้ แก้หนี้นอกระบบ ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีคณะกรรมการอีก 35 คนได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ 19 คน รวมทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากภาคเอกชน เช่นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกนั้นตนมองว่าเป้าหมายที่สำคัญ 2 เป้าหมายแรกที่ต้องผลักดันให้บรรลุผลก็คือ การแก้ปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหาความหิวโหย ซึ่งจะต้องทำสองตัวนี้ให้สำเร็จก่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายอื่น ๆ 

 ทั้งนี้  ตนในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะผลักดันในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนก่อน โดยต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่สุดของประเทศ และอยู่ในระดับฐานรากของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้่อของภาคเกษตรถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเนื่องจากมีแรงงานจากภาคท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 เข้ามาทำงานในภาคเกษตร โดยหากสามารถทำให้คนในส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นการจับจายใช้สอยในระดับเศรษฐกิจฐานรากก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักเนื่องจากคนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

นายอนุชา กล่าวว่า แนวทางก็คือการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพดในราคาที่สูงกว่าตลาดโดยปริมาณในการแทรกแซงผลผลิตไม่เกินสัดส่วน 30% ของผลผลิตในภาพรวมซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเป็นการชี้นำราคาของภาครัฐซึ่งทำได้เนื่องจากภาครัฐช่วยนำผลผลิตออกจากตลาดบางส่วนและทำให้ผลผลิตพืชเกษตรมีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการราคาสินค้าเกษตรจึงเพิ่มขึ้น 

นอกจากโครงการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยังมีสิ่งที่จะทำไปควบคู่กันก็คือเรื่องของการพักชำระหนี้เกษตรกรชั่วคราว และการจัดการกับหนี้นอกระบบอย่างเด็ดขาดเพื่อให้รายได้ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มเติม เกษตรกรสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในช่วงนี้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องภาระหนี้สินที่กดดันการใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ 

“กำลังซื้อของเกษตรกร และคนในฐานล่างตอนนี้ยังไม่ฟื้นวิธีการก็คือทำยังไงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมตั้งใจจะทำโครงการ “เงินจากดิน” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร หากสามารถผลักดันแนวทางนี้ก็จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้"

ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้นภาครัฐก็สามารถที่จะเก็บภาษีจากการใช้จ่าย โดยนโยบายลักษณะนี้สามารถให้ท้องถิ่นเป็นคนทำก็ได้ไม่ต้องให้รัฐบาลทำซึ่งจะสามารถเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารงานและงดข้อครหาว่ารัฐบาลจะทุจริตในโครงการได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการดูแลรายได้ของเกษตรกรผ่านมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการหลายชนิด ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้ ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินรวม 51,858 ล้านบาท 2.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 1,800 ล้านบาท 3.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราปี 2564 วงเงิน 10,042 ล้านบาท 4.ประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และ5.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังวงเงิน 9,780 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ สศช.ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้จะชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 83.3% ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทําจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2563

"รจนา สีวันทา"เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ปี 64

RojanaSriwanta

ยึดหลักนำบัญชีวางแผนชีวิต ใช้วิเคราะห์และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน

"รจนา  สีวันทา" เกษตรกรจากจังหวัดสุรินทร์ คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่น  สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค  ปี พ.ศ. 2564 เผยเคล็ดลับความสำเร็จ ยึด "บัญชี" เป็นภูมิคุ้มกันความจน  ใช้วิเคราะห์ และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน 

นางรจนา สีวันทา เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564  ชาวตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ วัย 46 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี 2539 ในระหว่างนั้นมีหนี้สิ้นนอกระบบอยู่หลายหมื่นบาทจนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและจดบันทึกต้นทุนในการทำนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้รายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนา จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง แต่ได้กำไรต่ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและเป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนปัญหาหนี้สิ้นที่เคยมี จากต้นทุนที่ลดลงทำให้มีกำไรมากขึ้น ทำให้สามารถเก็บเงินที่ขายข้าวได้ทยอยนำไปชำระหนี้จนหมดหนี้สินในที่สุด 

ในปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 24 ไร่ แบ่งเป็นแปลงนาปลูกข้าวและพื้นที่ทำเกษตรอื่น ๆ  และยังคิดหาวิธีเพิ่มรายได้โดยการรวมกลุ่มแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศรวมถึงต่างประเทศ โดยผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และในยุโรปส่วนพื้นที่ที่เหลือได้แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกผัก ปลูกมันเทศญี่ปุ่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงโค และไก่ไข่เป็นการเพิ่มรายได้หลังฤดูทำนา นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักอินทรีย์ ส่งขายในTops Supermarket ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย 

จากการจดบันทึกบัญชีเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยในปี 2548 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาซื้อรถไถนา โดยมีการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการจัดเกรดเป็นลูกค้าเกรด A + ทั้งนี้ ยังมีเงินเหลือเก็บออม จนสามารถซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน รถเกี่ยวนวดข้าว 1 คันรถกระบะอีก 1คัน รวมถึงซื้อที่นาเพิ่มอีก 8 ไร่ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการมีวินัยในการทำบัญชี โดยยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ หันมาทำบัญชี เพื่อบริหารจัดการการเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ  

ในปี 2557 นางรจนา ได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนในชุมชน นักเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายในการสอนบัญชีให้แก่คนในชุมชน และยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายด้านการทำบัญชีแก่คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่าย และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ พร้อมทั้งมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน สามารถคิดกำไร ขาดทุนจากการประกอบอาชีพได้และสร้างวินัยในครัวเรือนให้มีความเข้มแข็งขึ้นอีกทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ 

"ฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรทุกคนว่า อย่าดูถูกตัวเองว่าทำบัญชีไม่เป็น ทำไม่ได้ แล้วไม่ยอมทำทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำการทำบัญชีไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่เราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ หรือหากคิดว่าไม่มีความรู้ในการจดบันทึก  ลงบัญชีไม่เป็นสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจำจังหวัด อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพเพราะเป็นภูมิคุ้มกันความจนได้ดีที่สุดทำให้เรารู้รับ-รู้จ่าย รู้ต้นทุนและรู้อนาคตจากการนำบัญชีมาบริหารจัดการอาชีพและรายได้ในครอบครัว" นางรจนา กล่าว       

ปัจจุบันนางรจนา สีวันทา ได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพให้แก่คนในชุมชน และช่วยเหลืองานในชุมชนทั้งในด้านครูบัญชีอาสาและอาสาด้านอื่นๆ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ระดับอำเภอจอมพระประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท รองประธานนาแปลงใหญ่ระดับอำเภอ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ฯลฯ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2563เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี พ.ศ.2563และอีกรางวัลความสำเร็จในปัจจุบันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 พ.ค. 2564

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

DrDecharatSukkamnerd

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสนอทางออกปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกรด้วยธนาคารต้นไม้

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

 2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

แก้หนี้พูดง่าย ทำยาก นโยบายรัฐไม่เอื้อเกษตรกรรายย่อย

ขณะที่ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีเสวนาและแสดงปาฐกถา หัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต’ ตอนหนึ่งว่า หนี้ต่อให้ปรับโครงสร้างอย่างไรก็ยังเป็นหนี้ ซึ่งทางออกที่จะไม่เป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะนโยบายไม่ตอบโจทย์กับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มเดิม ๆ คนรุ่นเก่า โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ มีเรื่อง Smart Farmer ทั้งหลายเข้ามา คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ มีความเป็นปัจเจกสูง กลุ่มทุน หน่วยงานต่าง ๆ ก็พากันเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ ตรงนี้เองกลับยิ่งทำให้เกษตรกรกลุ่มเดิมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

นโยบายที่บ้านเรามีไม่ได้มุ่งเข้าไปช่วยเกษตรรายย่อย เพราะบ้านเราไม่ได้ยอมรับไม่ยอมสถาปนาว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นคนด้อยโอกาสชั้นล่างสุดที่รอรถโดยสารแบบลุ้น ๆ ว่าจะมาหรือไม่มา เปรียบเหมือนกับ ปลูกมะเขือออกมาก็ต้องลุ้น ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่”

รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เกษตรกรถูกบังคับให้เป็นถึง 3 อย่างคือเป็น นักเกษตรกร, นักอุตสาหกรรม และนักการตลาดที่ดี ดูดีดูหรูหรา แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เกษตรกรอยู่ไปวัน ๆ ซ้ายก็หนี้ ขวาก็หนี้ ไม่มีทางออก ขณะเดียวกัน บ้านเราก็ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการรวมกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

>คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กำลังบรรยายเรื่อง บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

>ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เผยเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน ถึงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องลงแก้ไขอย่างจริงจัง

เกษตรกรไทยร้อยละ 90 เป็นหนี้

จากนั้นมีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ โดยมีวิทยากรและผู้สนใจมาร่วมเสวนาอย่างคึกคัก

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องมีหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ด้าน คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภากล่าว

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ขณะที่ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

นายพงษ์พันธ์ กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

นอกจากนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวว่า นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ได้นำเสนอทางออกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีของธนาคารต้นไม้ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

(รายละเอียดการเสวนาชมเต็มๆได้จากคลิปเกษตรก้าวไกล LIVE– "ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”  https://fb.watch/bkAk7Zqh_V/ โดยในเรื่องหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน และธนาคารต้นไม้จะอยู่ช่วงท้ายๆคลิป)

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

อนึ่ง องค์กรร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

ที่มา : เกษตรก้าวไกล วันที่ 22 ก.พ. 2565

กองทุนฟื้นฟูฯ วางเป้า 6 เดือนเสร็จ สะสางข้อมูลทะเบียนหนี้ใหม่หมด ย้ำเกษตรกรอัพเดทด่วน

 ManusWongchan

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก.เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีนโยบายให้ดำเนินการสะสางข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรใหม่ทั้งหมด โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เป้าหมายเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับความเป็นจริง อันนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพทันต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนหนี้ ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยทดแทนระบบเดิมที่ใช้วิธีกรอกข้อมูลในเอกสารแล้วจึงนำมาลงในระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมลงทะเบียน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดประชุมซักซ้อมความข้าใจกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสาขาทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

อีกแนวทางที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กันตามนโยบายของเลขาธิการ กฟก. คือ การประสานและตรวจสอบยืนยันเกี่ยวกับข้อมูลหนี้จากเจ้าหนี้ โดยในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้สำนักงานจังหวัดสาขา ประสานกับอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดดำเนินการประสานข้อมูลจากเจ้าหนี้ เช่น สหกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ สำหรับในส่วนกลางสำนักงานใหญ่ จะดำเนินการประสานกับเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนของ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่างๆ และ ตรวจสอบยืนยันกับทางเจ้าหนี้ด้วย โดยเฉพาะทางสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในระดับพื้นที่ ส่วนเจ้าหนี้ที่อยู่ส่วนกลางที่ทางสำนักงานใหญ่ที่จะต้องเป็นคนประสาน อาทิ ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น”
ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานั้น เกษตรกรสมาชิกที่ได้มาขึ้นทะเบียน บางส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยข้อมูลไว้อย่างนั้น ไม่มีการแจ้งถึงสถานะหนี้เปลี่ยนแปลงอย่างหรือไม่ หรืออยู่ในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องหรือยัง เป็นต้น ส่งผลให้ข้อมูลหนี้ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้จนถึงขณะนี้มีประมาณ 510,000 กว่าราย รวมสัญญาจำนวน 769,000 กว่าสัญญา คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 107,000 ล้านบาท ทั้งจากที่ขึ้นทะเบียนไว้ 510,000 กว่าราย มีจำนวนถึง 200,000 กว่าราย ที่ไม่มีการอัพเดทสถานะหนี้ให้เป็นปัจจุบัน


“ ดังนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถมาติดต่อประสานกับทางสำนักงานจังหวัดในพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลปรับปรุงทะเบียนหนี้ของตนเอง ได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดได้ในทุกวันทำการ เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งกรณีเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระ หนี้จำเป็นเร่งด่วน หรือขั้นบังคับคดีขายทอดตลาด” นายมนัส กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา : สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ วันที่ 21 ก.ย. 2564

การบังคับคดี กระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูก

FarmersExcution

เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ที่กลุ่มชาวนาและเกษตรกรปักหลักชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอยู่ริมถนนในกรุงเทพฯ ข้อเรียกร้องประการแรกของกลุ่มชาวนาคือขอให้มีการชะลอการบังคับคดีและยึดทรัพย์ขายทอดตลาด สะท้อนให้เห็นว่าการถูกบังคับคดีและการขายทอดตลาดกำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาวนาและเกษตรกรไทย

ตัวเลขจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ระบุว่ากลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่กองทุนฯ ตั้งเป้าว่าจะให้การช่วยเหลือในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,425 รายนั้น เป็นเกษตรกรที่กำลังถูกบังคับคดีถึง 1,966 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 715 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 57.40 ของมูลหนี้ทั้งหมดที่กองทุนฯ ตั้งเป้าซื้อในปีงบประมาณนี้ นี่เป็นเพียงตัวเลขของเกษตรกรที่อยู่ในสารบบที่จะได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ มีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกบังคับคดี แต่ยังไม่ได้อยู่ในโควตาการได้รับความช่วยเหลือในปีนี้ หรือแย่กว่านั้นคือไม่ได้อยู่ในสารบบของกองทุนฯ เลย

นอกจากกลุ่มเกษตรกรที่ถูกฟ้องบังคับคดีแล้ว ยังมีเกษตรกรลูกหนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว และอยู่ในข่ายที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ซึ่งอีกไม่นานก็จะถูกเจ้าหนี้ร้องต่อศาลขอให้มีการบังคับคดี โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีมานี้ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวนเกษตรกรที่หนี้อยู่ในสถานะของการถูกบังคับคดีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสารบบของกองทุนฟื้นฟูฯ นี่คือเหตุผลว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูฯ 2 พันล้านบาทแล้ว เกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่กลับบ้าน  เพราะข้อเรียกร้องพวกเขาคือการขอให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อนยังไม่ได้รับการตอบสนอง

การบังคับคดีเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ที่มุ่งให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ ที่ไม่ได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในขณะที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้เจ้าหนี้กลับกลายเป็นการบีบบังคับให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูก เนื่องจากในการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นรูปแบบการขายทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี โดยทั่วไปราคาขายจะต่ำกว่าราคาท้องตลาด โดยเฉพาะการขายทรัพย์ในครั้งหลังราคาจะต่ำมาก 

ทั้งนี้การขายทอดตลาดในกระบวนการบังคับคดีส่วนใหญ่กำหนดการขายที่ 6 ครั้ง ราคาเริ่มต้นของการขายครั้งแรกกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาของกรมบังคับคดีเอง ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาท้องตลาด   หากครั้งแรกขายไม่ได้  การขายทอดตลาดในครั้งที่ 2 ราคาเริ่มต้นจะลดลงไปอีก 10%  หากมีการขายครั้งที่ 3 และ 4 ราคาก็จะลดลงจากราคาเริ่มต้นครั้งแรกครั้งละ  10%  ราคาที่ดินที่ถูกบังคับคดีจึงต่ำกว่าราคาที่ควรขายได้จริงอย่างมาก หลายครั้งที่พบว่าผู้ที่เข้าร่วมเสนอราคามีเพียงเจ้าหนี้ หรือนักลงทุนที่เข้าใจกระบวนการขายทอดตลาด ที่มักรอซื้อในการขายทอดตลาดครั้งหลังๆ เพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด หากราคาขายไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้เจ้าหนี้สามารถร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์อื่นของเกษตรกรลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดอีกจนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ตามที่ศาลสั่ง

การถูกบังคับคดีไม่เพียงเป็นการบีบให้เกษตรกรต้องขายที่ดินในราคาถูกที่เป็นปัญหาเชิงปัจเจก  การบังคับคดีหนี้เกษตรกรยังส่งผลต่อภาพการเกษตรของประเทศในภาพรวม เพราะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตรในปี 2562 ว่ามีที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศรวม 149,252,451 ไร่ เป็นที่ดินของตนเอง 41,713,855 ไร่  (ลดลงจากปี 2556  ที่มีอยู่ 71.64 ล้านไร่) เป็นที่ดินเช่าผู้อื่น 29,226,840 ไร่ และทำฟรีโดยไม่เสียค่าเช่า (บนที่ดินของผู้อื่นรวมทั้งที่ดินของรัฐ) 47,618,619 ไร่ ในขณะที่มีที่ดินเพื่อการเกษตรอยู่ระหว่างจำนอง/ขายฝาก  30,630,138 ไร่ ขณะเดียวกันข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่าจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดของกองทุนฯ ประมาณ 5.67 ล้านคน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ 5.16 แสนคน คิดเป็น  7.76% เป็นหนี้เร่งด่วน (NPL ขึ้นไป) 1.8 แสนคน  

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการบังคับคดีกลายเป็นกระบวนการเร่งให้ชาวนาและเกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตและต้นทุนที่สำคัญในชีวิต และระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของสังคมด้วย ดังนั้นการตอบรับข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวนาและเกษตรกรเรื่องการชะลอการบังคับคดีจึงไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกร หากยังช่วยรักษาที่ดินภาคเกษตรไว้ในมือเกษตรกรรายย่อย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

การสูญเสียที่ดินของชาวนาภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน

570926 landac

ปัญหาชาวนาไม่มีที่ดินทำกินและมีหนี้สิน เป็นปัญหาใหญ่และยืดเยื้อมานาน รายการสปริงรีพอร์ต ช่องสปริงนิวส์ รายงานจากเวทีเสัมมนาวิชาการเรื่องการสูญเสียที่ดินของชาวนาภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน วันที่ 24 ก.ย. 2557 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาบางส่วนของรายการสปริงรีพอร์ตนำเสนอผลการสัมมนาครั้งนี้ ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน

การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร จากปัญหาการจำนองและขายฝาก

RicefieldBangkud

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงวิกฤติต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรและความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาวิกฤติรายได้และความสามารถชำระหนี้ลดลง ทั้งรายได้เงินโอนจากลูกหลานส่งมาให้ลดลง รายได้จากภาคเกษตรลดลง จากปัญหาตลาดถูกปิด สินค้าการเกษตรราคาตกต่ำ เมื่อเกิดวิกฤติด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เกษตรกรจะเดินเข้าสู่การฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี และถูกยึดที่ดินทำกินขายทอดตลาดในที่สุด

          จากการสำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 พบว่า จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้นกว่า 149.24 ล้านไร่ มีจำนวน 77.60 ล้านไร่ หรือร้อยละ 52 เป็นพื้นที่เช่า และจำนวน 71.64 ล้านไร่ หรือร้อยละ 48 เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง แต่ในจำนวนนี้มี 29.73 ล้านไร่ติดภาระจำนอง และ 1.15 แสนไร่ อยู่ในกระบวนการขายฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ที่ดินจะหลุดมือจากเกษตรกรไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบหรือสถาบันการเงิน หากเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

          ข้อมูลจากกรมบังคับ พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 -ก.ย 2563) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 226,862 คดี (ทุนทรัพย์ 372,366.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 222,657 คดี (ทุนทรัพย์ 491,050 ล้านบาท) โดยที่ผ่านมากรมบังคดีได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาและอยู่ระหว่างการบังคับคดีในโครงการ  “บังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือเกษตรกรถูกยึดทรัพย์จำนอง” ผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ ทั้งสิ้น 49 เรื่อง จำนวนเงิน 12 ล้านบาท ทำให้มีการชะลอ งดการบังคับคดีกับที่ดิน และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเป็นที่ดิน จำนวน 222 ไร่ และบ้านอยู่อาศัย จำนวน 7 หลัง

          นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าภายใต้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายทอดตลาดฉบับใหม่ ปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาการขายทอดตลาดที่ล่าช้า  อาจเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานที่มีภาระกิจช่วยเหลือเกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ทันท่วงที หรือทำให้เกษตรกรมีโอกาสสูญเสียที่ดินง่ายขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการขายทอดตลาดที่แทบจะปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมา เนื่องจากระยะเวลาซื้อทรัพย์คืนมีจำกัด ลูกหนี้ไม่มีเวลาคัดค้านการขายทอดตลาด หรือเจรจาเพื่อซื้อทรัพย์สินคืนได้

          ในส่วนของกลไกหน่วยงานปกติที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร ข้อมูลจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) มีเกษตรกรที่ยื่นขอความช่วยเหลือภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งมีปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินจากการจำนองและขายฝาก จำนวน 900 ราย เข้าหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือ 630 ราย ระหว่างปี 2559-2562 บจธ. ได้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนไปแล้ว 334 ราย รวมเนื้อที่ 2,319 ไร่เศษ และในปีงบประมาณ 2565 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้รับการพิจารณางบประมาณแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เพียง 25 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 25 ราย

          ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากผลกระทบโควิด-19 เช่น ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ตอนนี้มีคดีหนี้โดยรวมในแต่ละปีประมาณ 8 แสนคดี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยได้ประมาณ 1 แสนคดี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3 ล้านราย มี 8 แสนรายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธ.ก.ส. ช่วยได้เพียง 4 หมื่นราย ในส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประมาณ  5 แสนราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้เพียง 3 หมื่นราย (ที่มา: ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19”)

          จะเห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น  แม้ภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ขีดความสามารถที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ภายใต้กลไกปกติของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาหนี้สิน จากการถูกยึดที่ดินและขายทอดตลาดที่ดิน ทั้งก่อนและหลังโควิด-19 ความช่วยเหลือยังอยู่ในวงจำกัดและไม่เพียงพอกับขนาดปัญหาขนาดใหญ่ที่สะสมมานาน จึงมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและมีแนวโน้มที่จะสูญเสียที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มเติมทั้งทรัพยากร งบประมาณและกลไกความช่วยเหลือพิเศษทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้น  

         สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรภายใต้วิกฤติโควิด คือ ขอให้กรมบังคับคดีชะลอการบังคับคดีเกษตรกรไว้ก่อน และคดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน ทั้งนี้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย นอกจากนี้ในระยะต่อไปขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 13 ส.ค. 2564

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการสาธารณะ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00-16.30 น.

UnlockFarmerDebtSeminar

 

โครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้วิกฤตปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยคาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาทต่อครัวเรือนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาทต่อครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน

ทั้งนี้วิกฤตโควิดและวิกฤตหนี้สินยังส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากนำที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจำนองและขายฝากผู้อื่นอยู่ถึง 29,873,189 ไร่ (ที่มา : ลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตร ปี 2562 ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เมื่อประสบปัญหาวิกฤตรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาดและสูญเสียที่ดินในที่สุด ข้อมูลจากกรมบังคับคดี พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน-ขายทอดตลาด) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 348,573 คดี (ทุนทรัพย์ 510,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เทียบปีงบประมาณ 2563 มีคดีเกิดขึ้น 329,681 คดี (ทุนทรัพย์ 613,279 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 287,789 คดี (ทุนทรัพย์ 1,325,074 ล้านบาท) ซึ่งหากเทียบระยะ 2 ปี ก่อนและหลังการระบาดโควิด ปีงบประมาณ 2562 และ 2564 พบแนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 21.1

 นับเป็นนโยบายที่ดีเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน" ให้สำเร็จ  โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาภาระความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย (รวมถึงเกษตรกรรายย่อย) เป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยหากพิจารณากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจหลักในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย คือ หน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ดังนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีภารกิจในการดูแลหนี้ของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้วางแผนทางการเงิน การออกเกณฑ์การให้บริการสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และการแก้ปัญหาหนี้สิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับคนที่เริ่มผ่อนหนี้ไม่ไหว และคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ สูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 มูลหนี้รวม 7.195 ล้านล้านบาท และได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปบางส่วน ล่าสุด ณ เดือน พ.ค.64 มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 4.9 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการช่วยเหลือแก้หนี้อื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทยมีความสนใจร่วมวางแนวทางแก้ไขหนี้ของเกษตรกร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร จากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 พบว่า ธนาคารที่ครัวเรือนกู้เงินมากที่สุดร้อยละ 27.5 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แสดงให้เห็นว่าหนี้สินของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ในช่วงเกิดโควิดมีข้อมูลหนี้เสียของลูกค้าธ.ก.ส.เพิ่มขึ้น จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 เกี่ยวกับหนี้สงสัยจะสูญของ ธ.ก.ส. พบว่าแนวโน้มหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2563 มียอด 276,813.24 ล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ. 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 363,107.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.17 ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. หลายมาตรการ เช่น โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 - งวดเดือนมีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3,348,378 ราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,265,492 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มีบทบาทภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร โดยช่วยแก้ไขหนี้สินอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องเป็นหนี้ในระบบ ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯได้มีบทบาทการทำงานด้านการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสนับสนุนการจัดการหนี้ของเกษตรกร เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกรจะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และรักษาที่ดินทำกินให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและได้รับการขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 533,163 ราย 632,784 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 97,466,018,603.40 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 56,037,861,422 บาท คิดเป็นร้อยละ 57.49 ตั้งแต่ปี 2549-2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ และได้รับการจัดการหนี้แทนจากกองทุนฟื้นฟูฯ (หนี้ NPL และ NPA) จำนวน 29,755 ราย 29,827 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 6,493,995,929.14 บาท เมื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันเจ้าหนี้แทนเกษตรกรแล้วเกษตรกรต้องดำเนินการโอนหลักทรัพย์ที่ดินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันมีการโอนหลักทรัพย์ที่ดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 14,884 ราย 21,940 แปลง รวมเนื้อที่ 157,768 ไร่ และมีเกษตรกรชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนที่ดินคืนแล้วจำนวน 63,307 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.12

จะเห็นได้ว่ากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรเชิงระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผ่านโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังสะสมมานาน และการแก้หนี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปลดล็อกเชิงระบบและโครงสร้างไปพร้อมกัน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญและท้าทายจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งด้านการแก้ปัญหาหนี้เดิม ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ก้อนใหม่ และไม่เกิดวิกฤตอื่นที่ส่งผลรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการระดมความเห็นและร่วมผลักดันนโยบายทางออกที่เหมาะสมต่อแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน นั่นคือการมองเป้าหมายทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรไปสู่การฟื้นฟูอาชีพ การปรับระบบการผลิต การสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรในสถานการณ์โควิด และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

วัตถุประสงค์

   1. เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

  2. เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็น “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ เอกชน นักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนและมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

 2. สาธารณชนและสื่อมวลชนเข้าใจและสามารถสื่อสารข้อมูลผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การปรับตัวของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน และการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน

องค์กรร่วมจัด

  1. มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
  2. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
  3. สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)
  4. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.      กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.   เปิดเวทีการเสวนาและแสดงปาฐกถา โดย คุณศรีสะเกษ  สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ  “ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต”

13.20 – 15.30 น.      เวทีเสวนา หัวข้อ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณวรันธรณ์ แก้วทันคำ นักวิชาการอิสระ (บทเรียนนโยบายการจัดการหนี้เกษตรกร)

- คุณนครินทร์ อาสะไวย์ มูลนิธิชีวิตไท  (บทเรียนกระบวนการแก้หนี้เกษตรกรระดับพื้นที่)

- คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (บทเรียนการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร)

- คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร)

- ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (จากงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน

- ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บทเรียนการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน)

ดำเนินรายการโดย : คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อารีวรรณ 061-3914969 Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

คีย์ซักเซส “เกษตรวิชญา” ชูเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้เกษตรกร

MaerimOrganicFarm

ย้อนกลับไปในอดีตหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ ในบริเวณบ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2545 เพื่อสานต่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกำหนดทิศทางให้ภาคการเกษตรในขณะนั้นมุ่งสู่การเป็น “เกษตรอินทรีย์” หรือ “การทำไร่ทำสวนแบบไม่ใช้สารเคมี 100%” ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หรือปราชญ์แห่งการเกษตร ที่วันนี้เริ่มมองเห็นความสำเร็จแล้ว

ภายในพื้นที่ทั้งหมดราว 1,350 ไร่ ในปัจจุบัน “ธงชัย บุญเรือง” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หนึ่งในเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระบุว่าในช่วงเริ่มต้น กลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่คือ กรมพัฒนาที่ดิน ที่รับหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่รอบด้านทางเทคนิค เพื่อนำมาประเมินความเหมาะสมว่า พื้นที่ดังกล่าวจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธงชัย บุญเรือง
โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ที่สำคัญ การพัฒนาจะต้องนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ โจทย์สำคัญในขณะนั้นคือจะพัฒนาอย่างไรโดย ”ไม่กระทบ” ต่อสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่
“ฉะนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง อาจทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาต่อยอด หลังจากนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวต้องเริ่มที่การฟื้นฟูป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของพื้นที่ การฟื้นฟูจากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลา 20 ปี สามารถฟื้นฟูป่าได้แล้ว 80-90%”
“เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ จึงให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้ามาช่วยวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และสำหรับพื้นที่ที่เหลืออีกส่วนใช้เป็นพื้นที่ส่วนราชการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานสาธิต รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ในการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ด้านสัตว์น้ำของกรมปศุสัตว์มาสำรวจความเหมาะสมว่าสามารถใช้กับแหล่งน้ำที่มีอยู่ในการทำประมงได้หรือไม่ด้วย”

“ธงชัย” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า จากพื้นที่โดยรวม 1,350 ไร่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแยกที่ดินจัดสรรประมาณ 100 ไร่ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยตามธรรมชาติตามมาด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาต้นน้ำ โดยได้นำเกษตรกร “ต้นแบบ” มาเรียนรู้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฯและนำกลับไปใช้ประโยชน์

“จนถึงวันนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับในอดีตจะเห็นว่ามีสมาชิกอยู่ 55 รายแล้วที่เข้าร่วมโครงการ ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับคือลดต้นทุนการผลิตลงสูงสุดถึง 40% ซึ่งต้นทุนส่วนนี้มาจากการซื้อสารเคมีเป็นหลัก อีกทั้งป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เกิดต้นน้ำอย่างแท้จริงของชุมชนในพื้นที่ จะเพาะปลูกอะไรก็สามารถทำได้ ฉะนั้น ภารกิจต่อจากนี้ของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา จะเดินหน้าภารกิจเปลี่ยน “mindset” ของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการตั้งเข็มทิศให้ภาคการเกษตรมุ่งเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ พร้อมกับนำภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็น partner เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ในการทำการตลาด กระจายสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรอย่างมืออาชีพ จนมีผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากโครงการมากมาย เช่นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ” 

หากมองจุดแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม “ธงชัย” ระบุว่าคือผลผลิตจากหอมหัวใหญ่ และสตรอว์เบอรี่ และตามแผนการดำเนินการในปี 2564 จะเน้นไปที่ “ป่าเศรษฐกิจ” ตอนนี้เริ่มนำจุดแข็งใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกคือ กาแฟ โดยเข้ามาปลูกผสมผสาน และพัฒนาพื้นที่ทางเดินในป่า พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนา “ป่าอาหาร” เข้ามาเพิ่มเติม ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เข้ามาช่วยสำรวจและช่วยคิด

“ในขณะที่ป่าเศรษฐกิจ ชุมชน หรือการสร้างป่า สร้างรายได้ เช่น ป่าแนวตะเข็บ หากภาครัฐช่วยดูแลรักษาเองค่อนข้างลำบาก เพราะมีขนาดพื้นที่ 1,300 กว่าไร่ รวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จึงหารือกับชุมชนว่าในกรณีที่จะทำป่าเศรษฐกิจ เช่น การปลูกกาแฟในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามีผลิตภัณฑ์จากกาแฟด้วยแบรนด์ของชุมชนเองแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพร, ไผ่ แต่ตอนนี้หลัก ๆ คือเริ่มที่กาแฟอย่างจริงจังก่อน เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่ยาวนานและต่อเนื่อง”

ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้คือ อโวคาโด้, ผักสลัด, ถั่วแระ และถั่วแขก เป็นต้น โดย “ธงชัย” ยังระบุอีกว่า หน้าที่หลักของศูนย์ขณะนี้คือเข้ามาช่วยดูแลว่าเกษตรกรทำถูกต้องหรือไม่

เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนการปลูกแล้วพบว่า “สูงมาก” จากสารเคมี, ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ เราจะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ “การจูนคุุณภาพดิน” เข้าไปหาพืช ซึ่งหากประเมินจากเกษตรอินทรีย์แทบจะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย นั่นหมายถึงว่าเกษตรกรจะลดต้นทุนได้อีกมาก ขณะเดียวกันยังสามารถแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าการปลูกสตรอว์เบอรี่ในพื้นที่ค่อย ๆ หายไปรวมถึงหอมหัวใหญ่ ทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากโบรกเกอร์ที่มีราคาแพง ฉะนั้น มองว่าจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสตรอว์เบอรี่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องโควตาเมล็ดพันธุ์”

รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด

“รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด” ประธานนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และกรรมการบริหาร บริษัท เอฟแอลอาร์ 39 วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระบุว่า ในปีนี้เข้ามาร่วมงานกับศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ให้เปลี่ยนมาเป็นการเกษตรที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เข้ามาบริหารจัดการ และมีวิสาหกิจชุมชนเข้ามาช่วยรับบริหารจัดการรับซื้อผลผลิต

“หลักการคือ local food ทำในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะไม่ขายตรงแบบสุดเส้น แต่เน้นไปที่ความร่วมมือกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอแม่ริม ที่หารือกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงหากขยายพื้นที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่เชียงใหม่ต่างมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์รวมของผลผลิตแปรรูปทางการเกษตรกว่า 2,000 โรงงาน และยังมีห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าอีกจำนวนมาก”

“โดยหลักการกระจายสินค้าที่ว่าคือมีศูนย์กระจายสินค้า รวมไปจนถึงห้องเย็น เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระบบ รองรับเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และเรามีพาร์ตเนอร์ให้ครบทุกมิติ แม้กระทั่งโรงงานแปรรูป ในทุกพื้นที่จะมีการหารือเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพการจัดการต่าง ๆ นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าจะมีทั้งการขาย offline และ online รวมถึงในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มนำ platform ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อรองรับเกษตรกรขายออนไลน์ การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% ของเกษตรกรที่มีอยู่ และในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อย่างเช่น แม็คโคร, บิ๊กซีที่ยินดีเปิดหลังบ้านเพื่อรับสินค้าเข้ามาจำหน่ายด้วย”

“จุดเด่นที่นี่คือพืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพร แต่ทั้งนี้ ต้องประกอบด้วยทักษะของเกษตรกรเองด้วย เนื่องจากเกษตรกรยึดติดกับการปลูกพืชผักเชิงเดี่ยวมานาน ฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลา ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาหลักมากกว่า ดังนั้น platform ของเราจะทำให้เห็นภาพของเกษตรภาพรวมทั้งหมด รวมไปจนถึงแผนการผลิตของทุกที่ในเครือข่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีฐานข้อมูลการผลิตเป็นรายปี การซื้อขายออนไลน์ปกติ รวมถึงผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการซื้อขายล่วงหน้า และหลังจากนี้อีก 2 เดือน เราจะโชว์ data ที่มีอยู่ รวมถึงที่นี่ด้วย”

แต่สิ่งสำคัญที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา และภาคเอกชนอยากเห็นเป็นภาพเดียวกัน คือ เกษตรกรเข้มแข็งด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม มีการนำเสนอแผนดำเนินการของแต่ละกลุ่ม พร้อมกับภาพของการชวนชาวบ้านคิดต่อว่าจะขยายตลาดอย่างไรต่อเพื่อความยั่งยืนของรายได้เกษตรกรในอนาคต

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ต.ค. 2563

คู่มือเกษตรกร เมื่อถูกฟ้องคดีหนี้สิน

CoverFarmDebtLegalBook   

   คู่มือเกษตรกร เมื่อถูกฟ้องคดีหนี้สิน

     พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2565

     ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

     บรรณาธิการ : อารีวรรณ คูสันเทียะ

     ที่ปรึกษา : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

     จัดพิมพ์ : มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

     สนับสนุนการจัดพิมพ์ :

     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

     

  ดาวน์โหลดหนังสือ

ต้นทุนแพง ราคาข้าวต่ำ ซ้ำเติมหนี้สินชาวนา

Riceprice

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงค์รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น หมู ไก่ ผัก น้ำมันปาล์ม แต่เหตุใดราคาข้าวเปลือกจึงตกต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการทำนาที่พุ่งสูงขึ้น มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการผลิต ตลาด และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตปัญหาต้นทุนสูงและปัญหาราคาข้าวตกต่ำดังกล่าว จะส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ชาวนาที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยได้

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำในทุกชนิดข้าว ดังนี้ ปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.)  ราคาข้าวเปลือกเจ้า ลดลงเหลือ 7,801 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงเหลือ 9,651 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว ลดลงเหลือ 7,814 บาทต่อตัน  (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า 8,434 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,916 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,648 บาทต่อตัน  

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผลตอบแทนของชาวนาภาคกลาง ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาส่วนใหญ่ขายให้โรงสี จะเป็นข้าวความชื้นสูง 20-25% หลังหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือเพียง 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนของชาวนาภาคกลางปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวนามีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมชาวนาเช่า) และการปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 1 ตัน เฉลี่ย 700 กก.ต่อไร่ หรือได้รายได้ 4,900 บาทต่อไร่ หลังหักต้นทุนแล้วชาวนาจะมีกำไรจากการขายข้าวเพียง 900 บาทต่อไร่เท่านั้น และหากรวมเงินชดเชยส่วนต่างรายได้จากภาครัฐเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อตัน ชาวนาก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากรายได้ที่ต่ำต้อยเช่นนี้

ดังนั้นในปีการผลิตปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตสงคราม วิกฤตต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาภาคกลางเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ อาทิเช่น ค่ารถไถ จากเดิมไร่ละ 500 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 600 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมไร่ละ 1,300 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 1,785 บาท โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากเดิมกระสอบละ 700 บาท เพิ่มเป็นกระสอบละ 1,800 บาท (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา จ.สุพรรณบุรี เดือนมิถุนายน 2565)  แม้ว่าจะมีชาวนาบางส่วนพยายามปรับตัวลดพื้นที่ทำนา ลดรอบการทำนา และลดต้นทุนการผลิตลงในส่วนที่สามารถจัดการได้เอง เช่น ปุ๋ย แรงงาน แต่ด้วยภาระหนี้สินติดพันของชาวนา การงดเว้นหรือหยุดทำนาชั่วคราวอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะชาวนาส่วนหนึ่งอยู่รอดได้จากการหมุนเวียนหนี้และสินเชื่อปัจจัยการผลิต ซึ่งหากประเมินแนวโน้มราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้อาจสวนทางและตกต่ำเช่นนี้ ผลตอบแทนหรือรายได้สุทธิของชาวนาอาจติดลบหรือขาดทุนถึง 1,000-2,000 บาทต่อไร่  

เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาของชาวนาไทย ที่เผชิญมาตลอดก็คือปัญหารายได้ต่ำ ปัญหารายได้ไม่แน่นอน และปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยรายได้จากการขายข้าวภายใต้กลไกตลาดที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะแพงหรือราคาข้าวตกต่ำ กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวนาแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวนาเป็นผู้แบกรับต้นทุนการผลิตและแบกรับความเสี่ยงไว้มากที่สุด ในปี 2551 ยุควิกฤตข้าวราคาแพง มูลนิธิชีวิตไท(Local Act) ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำไรจากข้าวสารบรรจุถุง ราคากิโลกรัมละ 37 บาท พบว่าชาวนาได้กำไร เพียงร้อยละ 8.35 ต้นทุนชาวนาร้อยละ 45.14  กำไรโรงสี ร้อยละ 17.62 ต้นทุนโรงสี ร้อยละ 2.92 ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 2.70 กำไรผู้ผลิตข้าวถุง ร้อยละ 3.27 กำไรผู้ค้าปลีก/ห้างค้าปลีก ร้อยละ 20

ชาวนาไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมแต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ ก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่ ราคา 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้งและไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ นั่นคือภาระหนี้สินในอดีต จากการลงทุนทำนาเพื่อหวังกอบกู้ฐานะตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่ผ่านมา

ชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเปราะบางกว่าอาชีพอื่น การปรับตัวของชาวนามีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง การที่ชาวนาจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเองและฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีศักยภาพและความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ก.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ทวี สอดส่อง ชี้ ต้องมีมาตรการคุ้มครองสมบัติชิ้นสุดท้าย ป้องไร้ที่ทำกิน

ThanveeSodsong

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยถึงประเด็น “บ้านและที่ดินทรัพย์สินสุดท้าย” ต้องมีมาตรการรักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติกาล โดยมีมูลค่ามากกว่า 14.128 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.6 ของ GDP (ข้อมูล ธปท.30 มิถุนายน 2564 ) ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีอีกเป็นจำนวนมาก

ในการกู้เงินส่วนใหญ่ลูกหนี้ต้องใช้เอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ “จำนอง และขายฝาก” เพื่อประกันการในการกู้เงินและมักเป็นที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง(บ้านที่อยู่อาศัย)ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้ายเพื่อดำรงชีวิต เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในกรณีที่ดินจำนองเจ้าหนี้จะฟ้องคดีต่อศาลเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะส่งคำพิพากษาไปยังกรมบังคับคดีจะมีการยึดทรัพย์และขายทอดตลาด

ถ้าขายแล้วยังไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถสืบทรัพย์อื่นและยึดทรัพย์อื่นขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้ได้ครบทั้งหมด ส่วนกรณีที่ดินขายฝากหากลูกหนี้ไม่ชำระเงินไถ่ถอนภายในกำหนดก็หมดสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ ผู้รับซื้อฝากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องบังคับคดี ทำให้ลูกหนี้จะเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและไร้ที่ทำมาหากิน

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายให้การคุ้มครองทรัพย์สินบ้านและที่ดินที่เป็นสินทรัพย์สุดท้ายไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จะมีกำหนดไว้เพียงทรัพย์ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องนุ่งห่มหลับนอน ราคาไม่เกิน 20,000 บาท ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเท่านั้น (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ มาตรา 301) ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้าย “จำนอง-ขายฝาก และถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด” ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเกิดความยากไร้และมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

การจำนองและขายฝากที่ดินกฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับพนักงานที่ดินซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พบว่าในปีพ.ศ. 2557-2564(8 เดือน) มีที่ดินหรือหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียน คือ “จำนอง” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 1,161,297 แปลง, ปี 2558 จำนวน 1,268,848 แปลง, ปี 2559 จำนวน 1,312,197 แปลง, ปี 2560 จำนวน 1,171,166 แปลง,ปี 2561 จำนวน 1,265,769 แปลง ,ปี 2562 จำนวน 1,242,133 แปลง และ ปี 2563( 8 เดือน) จำนวน 750,158 แปลง

“ขายฝาก” มีดังนี้ ปี 2557 จำนวน 84,333 แปลง,ปี 2558 จำนวน 91,516,ปี 2559 จำนวน 85,835,ปี 2560 จำนวน 77,498 แปลง,ปี 2561 จำนวน 69,363 แปลง,ปี 2562 จำนวน 46,011 แปลง และในปี 2563 (8 เดือน) จำนวน 25,723 แปลง

ในกรณีการ “ยึดทรัพย์ และขายทอดตลาด” ข้อมูลจากกรมบังคับคดี ปี พ.ศ.2557-2563(6เดือน) คือ ปี 2557 จำนวน 14,452 คดี ที่ดิน 34,070 แปลง ราคาประเมินรวม 23,859,953,708 ล้านบาทเศษ,ปี 2558 จำนวน 13,996 คดี ที่ดิน 35,136 แปลง ราคาประเมินรวม 25,974,921,611 ล้านบาทเศษ,ปี 2559 จำนวน 1583 คดี ที่ดิน 4,057 แปลง ราคาประเมินรวม 5,217,198,799 ล้านบาทเศษ,ปี 2560 จำนวน 2,447 ที่ดิน 6,563 แปลง ราคาประเมินรวม 6,850,321,170 ล้านบาทเศษ,ปี 2561 จำนวน 3770 คดี จำนวนที่ดิน 9,501 แปลง ราคาประเมินรวม 7,925,553,481 ล้านบาทเศษ ปี 2562 จำนวน 5,357 คดี ที่ดินท14,572 แปลง ราคาประเมินรวม 11,718,737,638 ล้านบาทเศษ และในปี 2563( ช่วง 6 เดือน ถึง 9 กรกฎาคม 2563) จำนวน 2,187 คดี ที่ดิน 5,608 แปลง 5,276,680,849 ล้านบาทเศษ

ประเทศไทยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ถือที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่ ที่ดินจึงเป็นสินค้าที่กักตุนไว้เก็งกำไรอย่างไม่จำกัดเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งของฐานะ ส่วนประชาชนที่เป็นเกษตรกรและผู้ยากไร้ถือว่าที่ดิน “เป็นแหล่งผลิตหรือเครื่องมือในการผลิต” ต้องทำงานกับที่ดินมีการใช้แรงงานหรือขยันทำงานจึงจะมีเงินรายได้เกิดขึ้น

ส่วนตัวมีข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงวิกฤติโควิด -19 รัฐควรสนับสนุนงบประมาณให้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่รัฐบาลจัดงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 เพียง 31 ล้านบาทเศษเท่านั้น ควรเพิ่มภารกิจ หน้าที่และอำนาจเป็น “กองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของคนไทย” อีกภารกิจหนึ่ง เป็นโครงการในระยะ 10 ปีโดยรัฐสนับสนุนงบประมาณผูกพันประมาณ 2 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) เพื่อซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเป็นที่ดิน สิ่งก่อสร้างบนที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ลูกหนี้ได้นำไปจำนอง ขายฝากไว้กับเจ้าหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ และจากกรมบังคับคดี ซึ่งที่ดินดังกล่าวมักเป็นหลักทรัพย์ชิ้นสุดท้ายของประชาชนพักอาศัยและเป็นที่ทำกิน ที่รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ลูกหนี้ซื้อคืนกลับ

โดยการพักชำระหนี้ประมาณ 10 ปี และไม่มีดอกเบี้ย หรือให้เช่า หากมีดอกเบี้ยก็ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากกองทุนซื้อหนี้แล้วจัดให้มีมาตรการติดตาม นำมาตรการฟื้นฟูต่างๆที่รัฐดำเนินการอยู่แล้วเป็นกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือเพื่อ”รักษาเสถียรภาพของคุณภาพชีวิตคนไทย”ให้มีรายได้เพียงพอมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชำระชำระหนี้ได้ โดยทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน “ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้อง ไม่สูญเสียบ้านและที่ดินทำกิน และจะได้ทรัพย์คืน เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ และรัฐบาลจะไม่สูญเสียบุคลากร (ทรัพยากรมนุษย์) และเสียหาย” การช่วยเหลือขายคืนให้ลูกหนี้ในราคาเท่าทุน แต่กองทุนสามารถบริหารที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ซื้อมาเพื่อให้ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐอีกตามหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาลโปร่งใส

การแก้ปัญหาระยะยาวควรยกเลิกกฏหมายขายฝากเพราะที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ กับแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ให้การคุ้มครองลูกหนี้ กรณีบ้านและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อการยังชีพได้ ช่วยเหลือความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้มาตรการรัฐ หลายโครงการจะมุ่งช่วยเหลือคนรวยหรือภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้ในอดีตช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้น กับ ธปท. ได้เคยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นคนรวยมาแล้ว

โดยให้ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” รับโอนหนี้สินของเอกชนที่อยู่ใน 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ คือโอนหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว และ ปรส. ได้ขายสินทรัพย์เสร็จสิ้นได้เพียงประมาณร้อยละ 20 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 23 ปีแล้ว หนี้ ปรส. ยังเหลืออยู่เกือบ 8 แสนล้านบาท แต่การช่วยเหลือประชาชนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินที่เป็นทรัพย์สินสุดท้ายของคนไทยทั้งประเทศยังไม่ปรากฏ ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องคุ้มครองให้ประชาชนอยู่รอดและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยังยืนได้

ที่มา : ข่าวสด วันที่ 10 ก.ค. 2564

ทางเลือกการปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ของเกษตรกรยุคโควิด

HerbalPlant

ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว   

และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน  ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ

รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง  ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย

สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2)  มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น  PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ  

3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ  4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

ทำบัญชี...แก้หนี้ชาวนาได้อย่างไร

ChaleawNoisang

ชาวนาส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชตามกระแส ปลูกพืชตามความเคยชิน และปลูกพืชด้วยการใช้สารเคมี นี่คือคำกล่าวสรุปถึงสาเหตุปัญหาหนี้สินของชาวนาโดยเฉลียว น้อยแสง ชาวนาตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และครูบัญชีอาสาดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561

           “วันนี้ข้าว กข.41 ข้าวหอมปทุม ราคาดี ราคาพุ่ง เนื่องจากปริมาณข้าวน้อย ตลาดต้องการ ชาวนาก็จะพยายามปลูก แต่พอปลูกกันมากราคาข้าวก็จะตกต่ำ ขาดทุนกันอีก ชาวนาไม่รู้เลยว่ารับเงินไปเท่าไหร่ แล้วจ่ายไปเท่าไหร่ ไม่เห็นกำไรหรือต้นทุน ขาดการวางแผน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้สินและต้นทุนชีวิตของชาวนาก็สูงขึ้นทุกด้าน...” 

          ในอดีตเฉลียวเป็นชาวนาคนหนึ่งที่มีปัญหาหนี้สินกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถปลดเปลื้องหนี้สินของตนเองได้จนหมด จากการคิดค้นวิธีการทำนาแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี บริหารจัดการแปลงนาให้มีรายได้มากกว่าทางเดียว พร้อมกับการจดบันทึกบัญชีต้นทุนอาชีพและบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินจนประสบผลสำเร็จ

บัญชีชาวนา เครื่องมือสู่ความเข้าใจตัวเอง

           การที่ชาวนาต้องเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนนั้นมีความจำเป็นเพราะการทำบัญชีครัวเรือน จะทำให้เห็นรายละเอียดและภาพรวมของรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน และรายจ่ายต้นทุนอาชีพ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ได้ว่าอะไรที่สมควรและไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อเป็นการลดและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสมจะส่งผลทำให้เกิดการออม การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และนำไปสู่แนวทางการลดและปลดหนี้สินลงได้

          เฉลียวกล่าวถึงวิธีการทำบัญชีแบบฉบับของชาวนาไว้ว่า ชาวนาจะต้องเป็นคนทำบัญชีด้วยตนเอง ไม่ใช่เอาไปให้ลูกหลานทำ มันไม่ได้ผล สังเกตไหมว่าคนโบราณเขาทำบัญชีมาตลอด โดยการเขียนไว้ข้างฝา เช่น หว่านข้าวเท่าไหร่ ไปลงแขกใคร ขายข้าวไปเท่าไหร่ นี่คือการทำบัญชีแบบคนโบราณที่เขาไม่รู้ตัว การทำบัญชีเกิดคู่มากับเศรษฐกิจพอเพียง

บัญชีชาวนา ควรทำให้ง่าย ไม่ต้องใช้สมุดแบบฟอร์มอะไรก็ได้ ใช้สมุดเปล่าธรรมดาก็สามารถจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ยอดรวมแต่ละวัน เพียงเดือนเดียวก็เห็นผล นำข้อมูลมาพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้จ่าย แล้วก็ค่อยๆ ลด เดือนต่อไปเมื่อเห็นผลเราก็จะกลายเป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัย การลงบัญชีละเอียดจะทำให้เราเห็นภาพรวมว่าอะไรที่สมควรไม่สมควรใช้จ่าย เพื่อจะได้เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถที่จะเพิ่มรายรับของเราได้ รายรับเพิ่มก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการลงทุนเพื่อการผลิตครั้งถัดไปได้

 

แนวทางการแก้หนี้ด้วยบัญชีครัวเรือน

จากประสบการณ์ของเฉลียวพบว่า ธ.ก.ส. ให้ชาวนากู้ในลักษณะร่วมกลุ่มกัน ไม่เกินรายละห้าหมื่นบาท ซึ่งสะดวกสบายมากและดอกเบี้ยก็ต่ำ ร้อยละ 0.5 โดยปกติชาวนาส่วนใหญ่จะส่งแค่ดอกเบี้ยไม่ได้ส่งเงินต้นด้วย การวางแผนทางการเงินเพื่อลดและปลดหนี้ที่ถูกต้อง คือ ชาวนาจะต้องวางแผนเพื่อส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย จึงจะสามารถลดและปลดเปลื้องหนี้ได้หมด

ชาวนาคนไหนที่บอกว่าไม่สามารถออมเงินได้ สามารถปรับวิธีการออมเงิน ด้วยการใช้หนี้เก่าไปก่อน แล้วค่อยมาออมเป็นเงินสด ลักษณะนี้คือการออมเงินทางอ้อม แล้วก็สามารถใช้หนี้ได้หมดและไม่มีหนี้ผูกพัน

แนวทางแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องทางการเงินของชาวนา  คือ การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทั้งต้นทุนอาชีพและต้นทุนการใช้ชีวิต เพื่อลดภาระการจ่ายเงินของครอบครัว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่าและเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น การปลูกผักและผลไม้ไว้รับประทานเอง เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหาร และค่าเดินทางไปตลาด อีกทั้งทำให้สุขภาพดีอีกด้วย การเพิ่มรายรับ หารายได้เสริมนอกจากการทำนา เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย เป็นต้น การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัด รู้จักอด ลด ละ เลิก รายจ่ายหรือสิ่งที่ไม่จำเป็น และช่วยกันสร้างรายรับให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าประโยชน์จากการทำบัญชีชาวนาไม่เพียงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้และแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน นั่นคือ ทำให้ชาวนาเข้าใจตนเอง ทราบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน และเงินคงเหลือในแต่ละวัน นำข้อมูลการใช้จ่ายเงินภายในครอบครัวมาจัดเรียงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และวางแผนการใช้จ่ายเงิน  แต่ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาได้อีกด้วย

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 18 ธ.ค. 2563

 

บจธ. เดินหน้าดันตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ หวังลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย มีที่ทำกินสืบทอดถึงลูกหลาน

PressConferenceLandBank

บจธ. แจงความคืบหน้าจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน หวังลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มอบหมายให้นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ บจธ. เป็นประธานจัดแถลงข่าว ความคืบหน้าของ ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ..... ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ บจธ. ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวย บจธ. กล่าวว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ..... แบ่งภารกิจการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1) การบริหารจัดการและการกระจายการถือครองที่ดิน จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นหลายจังหวัดพบว่า มีกลุ่มชุมชนหลายกลุ่มที่พบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดินเพื่อนำมาประกอบอาชีพและอยู่อาศัย บ้างต้องเช่าที่ดินทำกิน ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากที่ดินในระบบตลาดมีราคาสูง และเข้าถึงยาก สถาบันฯ จะเข้าไปเป็นสื่อกลางในการร่วมกันจัดหาที่ดินและเจรจาร่วมกับกลุ่มชุมชนให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะจัดที่หาดินให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน ชุมชน และองค์กรชุมชน ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ให้มีที่ดินทำกิน ได้มีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ในรูปแบบแปลงรวม มีกรรมสิทธิ์ร่วม โดยมีอำนาจในการจัดสรรที่ดิน เพื่อนำมาให้เช่า หรือเช่าซื้อระยะยาว เสียค่าธรรมเนียมต่ำ สนับสนุนการจัดทำผังแปลงที่ดินตามหลักภูมิสถาปัตย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่ดิน และที่อยู่อาศัย ซึ่งในปัจจุบัน บจธ. ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ตามโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ไปแล้ว 16 กลุ่ม ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดลำพูน และจังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน จำนวน 982 ครัวเรือน จำนวนที่ดินประมาณ 2,000 ไร่

2) การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ด้วยการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินอันเนื่องมาจากการจำนอง ขายฝาก และการบังคับคดี ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมไปถึงจัดซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว เพื่อคงสิทธิให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้กลับมามีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมของตนเอง โดย บจธ. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 388 ราย สามารถป้องกันและคงสิทธิในที่ดินได้ประมาณ 2,700 ไร่

3) การสนับสนุนอาชีพให้เกษตรกร ในพื้นที่ดำเนินการของสถาบันฯ ที่ได้จัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรไปแล้ว สถาบันฯ จะสนับสนุน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ และสนับสนุนต่อเนื่องแบบครบวงจร โดยการอบรมให้ความรู้ การเรียนรู้ศึกษาดูงาน เพื่อให้เกษตรกรได้เกิดทักษะในการทำเกษตรกรรม สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สถาบันฯ จะสนับสนุนการจัดทำแผนการผลิต และด้านการจัดหาตลาดฯ และบูรณาการร่วมกับภาคีต่างๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล
เข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากมากขึ้น

สำหรับที่ดินที่ใช้ดำเนินงานตามร่าง พ.ร.บ. สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ จะใช้ที่ดินที่จัดหาจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐตามที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมอบหมายให้ตามนโยบายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบัน บจธ. ได้ลงนามความตกลงกับกรมธนารักษ์ เพื่อขยายความร่วมมือในการนำที่ราชพัสดุ มาให้ บจธ. บริหารจัดการต่อให้เพื่อเกษตรกร ผู้ยากจน และผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ทำการเกษตรในราคาที่ไม่แพง เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน จึงเกิดความตกลงร่วมมือระหว่าง บจธ. และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ต้องออกจากงานในช่วงโควิด-19 และกลับภูมิลำเนาเดิมโดยไม่มีอาชีพรองรับ ซึ่งมีความประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ไม่มีที่ดินทำกิน รวมทั้งมีที่ดินแต่ขาดเงินทุนประกอบอาชีพ โดย บจธ. จะเป็นฐานรองรับให้กับแรงงานเหล่านี้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนภารกิจของ บจธ. ตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สาระสำคัญที่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ยังมีเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” เพื่อดำเนินงานด้านต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ นำงบประมาณมาสนับสนุนการบริหารงานช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ยากจน องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยเงินทุนตั้งต้นของสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้ จะได้มาจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ รวมไปถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีกฎหมายกำหนดให้จัดสรรเป็นของกองทุน ตามข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน

ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 23 ก.พ. 2564

บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรในภาวะวิกฤต

Somjai02

พี่สมใจกับแปลงผักอินทรีย์

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผลกระทบด้านรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร  จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงผลักและบทเรียนที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ  การเตรียมแผนชีวิต แผนการผลิต แผนการเงินและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในชีวิตไม่ว่ารูปแบบใด สามารถช่วยให้อยู่รอดและผ่อนสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบาได้

ความเป็นจริงสังคมส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้มากนัก ทำงานหนัก ตากแดดตากลม ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ มีหนี้สินมากมาย รู้จักแต่การทำเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว ถึงแม้จะมีภาพข่าวออกมาบอกว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความทันสมัยหรือมีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงมีเกษตรกรบางรายพัฒนาการผลิตอย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความยากลำบากได้ไม่มากนัก

จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิชีวิตไทในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรไม่เพียงจะเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเดิมที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ภาวะน้ำท่วม ผลผลิตเสียหาย บางรายหมดตัวไปกับการลงทุนทำเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนทำเกษตรต่อไป

ตัวอย่างบทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง พบว่า  หากเกษตรกรมีการทำอาชีพที่หลากหลาย ปรับจากการทำเกษตรปลูกพืชชนิดเดียว สู่พืชหลากหลายชนิด ปรับจากอาชีพในภาคเกษตรอย่างเดียว สู่อาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทางมารองรับ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน จะทำให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มหนี้สินของครัวเรือนได้ และบางรายมีรายได้เหลือมาลงทุนในการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย

Jumpa

ป้าจำปากับอาชีพเสริมตัดเย็บกระเป๋าผ้า

ตัวอย่างเช่น ป้าจำปา หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีใจรักในงานผ้า จนบางช่วงกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว และปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น กล้วย พริก กะเพรา และเลี้ยงหมู เพิ่มเติมจากการปลูกข้าว คนต่อมา คือ ป้าสายทอง ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกมะพร้าว ปลูกตาล ปลูกกล้วย เพื่อใช้ในการทำขนมขายเป็นรายได้เสริม เป็นต้น เกษตรกรทั้งสองรายมีหนี้สินจากการทำนา ซึ่งในรอบการผลิตที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงโชคดีที่มีรายได้จากการทำอาชีพเสริมเพื่อรองรับกับภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

นอกจากนี้มีชาวนาและเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนการลงทุนและต้นทุนการผลิต จากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายจากการทำนาใน  1 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าการทำนาของตนเองนั้นมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ กรณีตัวอย่าง พี่ศรีไพร ในรอบการปลูกข้าวปีที่ผ่านมาได้ลองจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำนาทั้งหมด 3 ไร่ จนกระทั่งได้เงินจากการขายข้าว พบว่า เหลือกำไรเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น

ในปีนี้พี่ศรีไพรจึงเริ่มวางแผนปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิธีการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวแบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ซึ่งตัวอย่างการจดบันทึกรายรับรายจ่ายการผลิต เป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรไม่ค่อยทำกัน จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากการทำนา นอกจากนั้นพี่ศรีไพรยังมีการแบ่งที่ดินของตนเองมาปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อจำหน่ายไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือภาวะปกติ เนื่องจากอาชีพเกษตรกรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศเป็นส่วนสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้การปรับตัวของเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการกระจายความเสี่ยง หากเกษตรกรมีการวางแผนชีวิต แผนการผลิตที่หลากหลาย และแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง และวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยบริหารจัดการการผลิตและช่วยเพิ่มกำไรให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดและไม่เกิดวิกฤตชีวิต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ก.พ. 2565

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

บทเรียนการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาที่ดินเกษตรกร

FarmerLegalThaipost

เกษตรกรผู้ผลิตอาหารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคชนบทที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหารายได้ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น หลายครัวเรือนต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไทได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในปัญหาหนี้สินด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมาย  จากผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการกู้ยืมของเกษตรกรกับแหล่งเงินกู้มี 2 รูปแบบที่มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องและสูญเสียที่ดิน

การกู้แบบใช้บุคคลค้ำประกัน พบกับแหล่งเงินกู้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีแนวคิดช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกขึ้น โดยกำหนดให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกจับกลุ่มกันกู้และค้ำประกันกันเอง เกษตรกรเรียกการกู้ในลักษณะนี้ว่า “กู้ 3 คนค้ำ” หรือ “กู้ 4 คนค้ำ” ซึ่งพบว่าการกู้รูปแบบนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องมากขึ้น แม้ว่าเกษตรกรจะรับผิดชอบต่อหนี้สินของตนเอง แต่ไม่สามารถควบคุมการชำระหนี้ของเพื่อนเกษตรกรร่วมกู้คนอื่นได้ เพราะเพียงกลุ่มมีคนไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทุกคนก็สามารถตกเป็นจำเลยได้ทันที  นอกจากนี้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลบังคับคดีหรือยึดทรัพย์จากจำเลยคนอื่นมาขายทอดตลาดและชำระหนี้ ส่งผลให้เกษตรกรบางรายที่ดินหลุดมือเพราะตนเองเป็นผู้เซ็นค้ำประกัน

การกู้จำนอง เป็นการกู้โดยมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ มีการทำสัญญาเงินกู้และจดจำนองที่ดินไว้กับเจ้าหนี้ โดยไปทำเรื่องที่สำนักงานที่ดิน ทั้งนี้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของลูกหนี้ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาเงินกู้ เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้มีสิทธิฟ้องร้องเพื่อให้ศาลสั่งบังคับให้นำที่ดินแปลงที่จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เกษตรกรที่ตกเป็นจำเลยมีทั้งโจทก์เป็นเจ้าหนี้นอกระบบและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน  พบว่าหลายครั้งเกษตรกรเริ่มต้นกู้จำนองด้วยยอดเงินที่ต่ำกว่าราคาประเมินของที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ภายหลังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะเสนอให้กู้เพิ่ม โดยนำเงินกู้ยอดใหม่มาจ่ายหนี้ยอดเก่าที่มีดอกเบี้ยและเงินค่าปรับ จนยอดเงินกู้สูงเท่ากับราคาประเมินหลักทรัพย์หรือบางรายสูงกว่าราคาประเมินจนเกษตรกรไม่สามารถชำหนี้ได้ สุดท้ายถูกเจ้าหนี้ฟ้อง  ซึ่งในลักษณะนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนทางศาลทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียที่ดินสูงมากเพราะลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้และถูกบังคับคดี

การกู้จำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่าการกู้ครั้งแรกเกษตรกรนำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ถือไว้ การกู้ในช่วงนี้เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยและเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้จะให้ทำสัญญาจำนอง ทำให้ยอดเงินกู้ในสัญญาจำนองอาจสูงกว่ายอดหนี้เดิม ทั้งที่เกษตรกรมีการผ่อนชำระให้เจ้าหนี้มาบ้างแล้ว  อีกแบบหนึ่งเป็นการจำนองลับหลังลูกหนี้โดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง เพราะในการกู้ครั้งแรกเกษตรกรจะนำโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ แต่เจ้าหนี้จะให้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ด้วย โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ามอบอำนาจให้ใคร เรื่องอะไร และเมื่อเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็จะนำหนังสือมอบอำนาจนี้ไปจดจำนองเองโดยไม่แจ้งเกษตรกร มารู้ตัวเมื่อถูกหมายเรียกจากศาลในคดีผิดสัญญากู้ยืมจำนอง

บทเรียนการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร

1) เมื่อได้รับหมายศาล หน้าที่สำคัญของเกษตรกร คือ อ่านสำนวนคำฟ้องให้ละเอียด ซึ่งจะระบุสัญญาการกู้ยืม ยอดเงินต้น อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการชำระเงิน รายละเอียดการชำระเงินที่ผ่านมาของลูกหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับกรณีผิดชำระหนี้  เกษตรกรต้องเทียบรายละเอียดในสาระคำฟ้องกับสำเนาสัญญาเงินกู้ว่าตรงกันหรือไม่ หากรายละเอียดไม่ตรงกัน แปลว่าคำฟ้องนั้นไม่ชอบและเกษตรกรสามารถหยิบมาเป็นประเด็นต่อสู้ในชั้นศาลได้ รวมทั้งต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม เช่น เอกสารสัญญาเงินกู้ สัญญากู้จำนอง หลักฐานการชำระเงิน หลักฐานเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแนวทางการต่อสู้คดี

2) ประเด็นการต่อสู้คดีทางกฎหมาย เช่น จำเลยไม่มีเจตนาจำนอง การจำนองทำโดยจำเลยไม่รู้ไม่เห็น สัญญาเงินกู้ปลอม เพราะขณะกู้ไม่มีการทำสัญญาและตัวเลขที่ระบุในคำฟ้องไม่ใช่ตัวเลขของยอดเงินกู้จริง จำเลยไม่ผิดสัญญาเงินกู้ เพราะในสัญญาจำนองระบุเพียงจะมีการชำระดอกเบี้ยทุกเดือนไม่ได้ระบุถึงการชำระเงินต้น และการคำนวณดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

ทั้งนี้จุดมุ่งหมายจากผลการต่อสู้คดีด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หากจำเลย(เกษตรกร)เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ “เป็นหนี้ ต้องใช้หนี้”แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกรมากขึ้น โดยปกติเกษตรกรลูกหนี้ไม่ค่อยเลือกการสู้คดี และมักยอมตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ซึ่งมักอยู่บนฐานของความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าทนายความมาศาล ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจหากสู้คดีแล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การมีกลุ่มองค์กรและทนายความสนับสนุนเกษตรกร ช่วยเหลือด้านคดีความหนี้สินจึงมีส่วนสำคัญให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 เมษายน 2564

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768837
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
2117
5699
14592
160363
6768837

Your IP: 18.221.98.71
2024-04-30 10:14