'กลุ่มแก้วกล้า' จากชาวนาไร้ที่ดิน สู่ผู้ผลิตผักอินทรีย์ถึงมือผู้บริโภค

kawklagroup

ที่มาภาพ : เพจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แก้วกล้า

รถยนต์ของผู้มาเยือนเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ บนถนนลูกรังสายเล็ก ๆ ที่ตัดผ่ากลางไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลังกว้างสุดตา จนมาถึงจุดหมายปลายทาง “วิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า” ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีวิมล ฝั่งทะเลประธานกลุ่ม รอต้อนรับพร้อมกับสมาชิก

วิมลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองเป็นชาวนาเช่า อยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา พอขายข้าวได้แต่ละครั้ง ก็ต้องจ่ายค่าเช่านา ใช้หนี้เงินกู้ ค่าปุ๋ย ค่ายา จนแทบไม่มีเงินเหลือ อีกทั้งสุขภาพก็แย่ลงจากสารพิษ แถมต่อมาที่นาเช่าก็ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน ในระหว่างนั้นวิมลพร้อมกับพี่น้องชาวนาจากอยุธยาก็ถูกชักชวนให้มาบุกเบิกที่ดินทิ้งร้างในจ.เพชรบุรี เพื่อปลูกกล้วยหอมทอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 8 เดือน ก็ยังไม่ได้รับค่าแรง ทั้งกลุ่มจึงขอถอนตัวออกมาจากผู้ชักชวน กลายเป็นความขัดแย้งที่มาพร้อมกับการถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน

ต่อสู้คดีเกือบ 2 ปี จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาบุกรุก วิมลจึงได้ประสานไปยังหลายภาคส่วนเพื่อขอเช่าที่ดินจากเจ้าของ จากนั้นก็ได้รวบรวมสมาชิกเกษตรกรที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ซึ่งเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินและพร้อมจะเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มาจดทะเบียนตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้าแล้วลงมือทำการพลิกฟื้นและพัฒนาที่ดินผืนนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบ

ผ่านไปเพียง 1 ปี พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าจำนวน 28 ครอบครัว ก็รวบรวมเงินจากน้ำพักน้ำแรงตนเอง นำมาซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มได้ในราคา 600,000 บาท เพื่อปลูกผักอินทรีย์รวมกว่า 40 ชนิด เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ปลา และแพะ มีผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีส่งต่อให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ชัดเจน

สมาชิกกลุ่มแก้วกล้าเล่าต่อว่า ทุกคนทำเกษตรอินทรีย์ก็เพื่อสานต่อความรู้จากศาสตร์พระราชาที่มีอยู่มากมาย เพื่อปลูกผัก ผลไม้ที่ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้คน จากดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมที่ไร้สารพิษ “แม้จะถูกล้อมรอบด้วยไร่อ้อย ไร่มัน ที่ใช้สารเคมี แต่เราก็จัดการได้ด้วยการลงทุนขุดคูล้อมรอบทุกด้าน แล้วปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชน รวมถึงขุดสระเป็นแหล่งน้ำใช้ของตัวเอง และมีกฎเหล็กข้อสำคัญก็คือ ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในแปลงอย่างเด็ดขาด”

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม “The Basket” โดยโครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ก็ได้เข้ามาหนุนเสริมความรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมให้กับกลุ่มฯ รวมถึงช่วยทำการตลาดในรูปแบบของ “ระบบสมาชิก” ที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อผักล่วงหน้าให้เป็นรายเดือน โดยกลุ่ม The Basket จะรับผลผลิตอินทรีย์ของกลุ่มแก้วกล้า จัดส่งถึงหน้าประตูให้ผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิกตามบ้านหรือร้านค้าต่าง ๆ ตามชนิดและจำนวนที่สั่งไว้ สัปดาห์ละ 1 วัน โดยสมาชิกจะได้รับผัก ผลไม้ ที่สด ปลอดภัย หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ในราคาที่ย่อมเยาและสะดวกสบายขึ้น

ซึ่งการตลาดแบบนี้เป็นเหมือนสัญญาใจกันระหว่างคนปลูกกับคนกิน ที่ยืนยันว่าต้องซื้อแน่นอนเพราะได้ลงทุนจ่ายเงินล่วงหน้าให้มาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่ง โดยทางกลุ่มฯ ได้ใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ "ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม" (Participatory Guarantee System) "PGS” หรือ “ระบบชุมชนรับรอง” มาเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพผลผลิต ที่เกื้อหนุนกันให้เกิดสังคมเกษตรอินทรีย์ เพราะเมื่อผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกร ก็ถือว่ามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแหล่งเพาะปลูกไปด้วยนั่นเอง ซึ่งสมาชิกกลุ่มฯ บอกด้วยความภูมิใจว่า “พวกเราดูแลผู้บริโภคเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์มา 3 ปีแล้วนะ...”

เมื่อปี 2561 กลุ่มแก้วกล้าได้เสนอเรื่องไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) เพื่อขอสนับสนุนที่ดินทำกินให้กับสมาชิกเพิ่มเติม แม้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติวงเงินซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพิ่มอีก 92 ไร่ ในวงเงินกว่า 13,200,000 บาท รวมถึงมีงบประมาณในการสร้างบ้านและระบบสาธารณูปโภคเพื่อการเกษตร โดยพร้อมจัดสรรได้ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งทางกลุ่มได้ทำสัญญาผูกพันกับธนาคารที่ดินไว้ 30 ปี โดย 2 ปีแรก เสนอเป็นการเช่าที่ดินในอัตราไร่ละ 300 บาท เพราะเป็นระยะของการพัฒนาและปรับพื้นที่ และในปีที่ 3 ซึ่งสามารถเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อ โดยจะแยกโฉนดให้สมาชิกแต่ละรายผ่อนชำระกันเอง

นั่นหมายถึงสมาชิกจะมีสถานะใหม่เพิ่มขึ้น คือเป็น “ลูกหนี้” ของกลุ่มฯ หนี้เพื่อให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พร้อมกับเงื่อนไขสำคัญ คือ การจัดระบบและสร้างวินัยใหม่ให้ชีวิต ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ และการเงิน  เพื่อไม่ให้วงจรของหนี้สินและการสูญเสียที่ดินทำกินต้องกลับมาอีก

วิมลเล่าประสบการณ์การจัดการหนี้ของตนเองว่า “ในอดีตก็มีหนี้เป็นหลักแสนเหมือนกัน ส่งดอกเบี้ยมานานแต่เงินต้นก็ไม่ลด จึงตัดสินใจหันหน้าเข้าเจรจาขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้  แล้วกลับมาวางแผนชีวิตใหม่เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน จนชำระได้หมดในเวลาไม่นาน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์”

พี่น้องสมาชิกกลุ่มแก้วกล้าบอกว่า พวกเขาไม่เคยลืมวันที่ลำบากมาด้วยกัน ตอนที่ถูกขับไล่ ตอนเป็นหนี้สิน ซึ่งขณะนั้นทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีความเข้าใจร่วมกันว่าเราต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จ ถือว่าปัญหาระหว่างทางคือ “เรื่องเล็ก” ตราบใดที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายก็อย่าล้มเลิก ที่สำคัญคือเมื่อเริ่มต้นทำอะไรแล้ว จะต้องสานต่อให้จบ... คือสิ่งที่พวกเขาบอกตัวเองเสมอมา และขอบอกต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ...”

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 ก.ค. 2563 

'ดุสิตโพล'ชี้ปัญหา'หนี้สิน-ว่างงาน'กระทบครอบครัวคนไทย

SaundusitPollMarch2021

14 มี.ค.2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,184 คน สำรวจวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564 พบว่า ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 75.41 หากมองในแง่บวกเห็นว่าโควิด-19 ทำให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ร้อยละ 70.28 พฤติกรรมครอบครัวไทยที่เพิ่มขึ้น คือ การดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ร้อยละ 75.17 พฤติกรรมที่ลดลง คือ การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 63.77 ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับครอบครัว คือ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 44.27

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ปัญหาครอบครัวไทยก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง รายได้ หนี้สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเรื่องเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาหลักของคนไทย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมองเห็นปัญหาระดับจุลภาคนี้หรือไม่ และจะมีแนวทางในการแก้ไขทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือนอย่างไร เพราะครอบครัวนั้นเป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคม ถ้าทุกครอบครัวอยู่ดีมีเงินใช้ก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้นดีมีความสุขนั่นเอง 

                                    
ผศ.ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์ คณบดีโรงเรียนท่องเที่ยวและการบริการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล เรื่องครอบครัวไทยในยุคโควิด-19 นั้น พบว่าผลกระทบเชิงลบหลักที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเศรษฐกิจ คือ ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาและเกิดสภาวะความเครียด ซึ่งความเครียดนั้นมิได้มีเพียงแค่ปัญหาปากท้องเท่านั้น แต่มีความเครียดที่มาจากความกังวลใจในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย จะเห็นได้ว่าผู้คนติดตามข่าวสารและสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยง ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์แพร่ระบาดนี้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาร่วมดูแล ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อก้าวข้ามผ่านสภาวการณ์เช่นนี้ไปได้ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 มี.ค. 2564

'โรงเรียนชาวนา' ที่นี่ไม่ได้สอนแค่ปลูกข้าวอินทรีย์ ยังศรัทธาและเชื่อมโยงกับ'แม่โพสพ'

KhaokhuanFarmerSchool

ชาวนาทั่วประเทศ เคยมาเรียนที่ "โรงเรียนชาวนา" มูลนิธิข้าวขวัญ ได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ที่นี่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความรู้การเกษตร ยังเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความเข้าใจเรื่องแม่โพสพ

 
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ทางมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ได้จัดพิธีบวงสรวงรูปเคารพแม่โพสพ แม่เมรัย(เทวนารีดูแลต้นกัญชา) ที่ช่างเฉลิม พึ่งแตง ครูช่างใหญ่เมืองเพชรบุรี ได้วาดภาพ และปั้นรูปประติมากรรมปูนปั้น ไว้อย่างงดงามศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทางพี่นิด-พี่เบญจมาศ ศิริภัทร ภรรยาพี่เดชาและคุณพิม หลานพี่เดชา ได้มาพบดิฉันที่บ้านเมืองเพชรบุรี มารับรูปเคารพแม่โพสพกับแม่เมรัย ผลงานช่างเฉลิม เพื่อนำกลับเมืองสุพรรณไปทำพิธีบวงสรวงบูชาในวันนี้ พี่เดชาและคนสายข้าวขวัญ ลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาทั่วประเทศ และลูกศิษย์ชาวจีนไต้หวัน ศรัทธา เคารพแม่โพสพอย่างยิ่ง
 
แม่โพสพ ผู้ปกป้องต้นข้าว
 
สำหรับพวกเราแม่โพสพ แม่เมรัย ไม่ใช่บุคคลาธิษฐาน ภาพแทนความเชื่อใดๆ แต่ท่านคือ “เทพ” คือ “เทวนารี” ผู้ปกป้องดูแลต้นข้าว ต้นกัญชา ให้ความรู้ให้ปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์และใช้ยาพืชสมุนไพรต่างๆ กับพวกเรา
 
ดังที่พี่เดชา เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า
 
“เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผมเชิญคุณโดโรธี แมคลีน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้านฟินด์ฮอร์น ผู้ได้ชื่อว่ามีความสามารถสื่อสารกับจิตวิญญาณในธรรมชาติ (รวมทั้งเทพ เทวดา ในความเชื่อของคนไทยด้วย) มาจัดฝึกอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ 3 วัน เชิญคนไทยมาเข้าร่วม 30 คน
 
ผมทำงานเรื่องข้าว และชาวนามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 รวม 30 ปี ผมศึกษาเรื่องความเชื่อของชาวนาไทยในอดีตที่เคารพในพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ ผมเชื่อมาตลอดว่า เทพเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ เป็นเพียงความเชื่อสืบต่อ ๆ กันมา
 
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 เมื่อคุณโดโรธี แมคลีน และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ติดต่อสื่อสารกับ พระแม่โพสพ ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด และใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปี
 
ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ผมเชื่อว่า พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ และชาวนาบางคนที่สื่อสารกับท่านได้ ความรู้เรื่องข้าวนี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันของชาวนาได้จริง”
 
 
เดชา ศิริภัทร, 4 สิงหาคม พ.ศ.2557
.....................
 
ข้อความข้างต้นนี้ที่ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้กล่าวไว้ใน “คำนิยม” หนังสือ นักบวช นักรบ นักฆ่า ของดิฉัน โดยยืนยันชัดเจนว่าตลอด 30 ปี ของการทุ่มเททำงานในเรื่องข้าวของ อ.เดชา จากที่เคยเชื่อว่าเทพต่างๆ ทั้งแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ เป็นเพียงแค่บุคลาธิษฐาน ไม่มีตัวตนจริงๆ
 
แต่เมื่อได้พบและฝึกอบรมกับคุณโดโรธี แมคลีน แม่มดฝรั่ง ผู้นำกลุ่มNew Age ของโลก อ.เดชาได้ใช้เวลาพิสูจน์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นแล้วว่า
 
“พระแม่โพสพ เป็นเทพที่มีอยู่จริง และทรงความรู้เกี่ยวกับข้าว ความรู้จากพระแม่โพสพ บางส่วนได้ถ่ายทอดมายังมูลนิธิข้าวขวัญ”
 
162771819246
 
                                                              บนพื้นดินที่ปลูกข้าว ก็ต้องทำพิธีเคารพแม่โพสพ (ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว)
 
 
ที่มาโรงเรียนชาวนาไทย
 
อาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานโดยตรงในเรื่องข้าว และเปิดโรงเรียนชาวนาให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์กับชาวนาไทย
 
มูลนิธิข้าวขวัญเป็นแหล่งเสริมสร้างปลูกฝังความรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร
 
ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี โดยมูลนิธิข้าวขวัญ โรงเรียนชาวนาไทย มีประวัติที่มาดังนี้คือ
 
 
162771782857
 
มูลนิธิข้าวขวัญ กับการเกษตรยั่งยืน
 
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม(Appropriate Technology Association - ATA )
 
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
 
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว (Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี
 
และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ที่อยู่คือ 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซ. 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72330)
 
โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, อ.บางปลาม้า, อ.อู่ทอง, และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศ
หลักสูตรเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนชาวนาที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนของชาวนาไทยนี้ ปรากฏผลว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีชาวนาทั่วประเทศไทยมาเข้าเรียนการทำเกษตรอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ
 
และได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรกรรมของตน ดังเช่น การไม่เผาฟาง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำสมุนไพรขับไล่แมลง รวมทั้งการรู้จักแมลงดี-แมลงร้าย การเก็บและขยายจุลินทรีย์ การทำฮอร์โมนเพื่อการบำรุงต้นข้าว เป็นต้น
 
 
162771830039
 
 
การพึ่งตนเองของโรงเรียนชาวนา
 
การที่ชาวนาพยายามหาสิ่งทดแทนสารเคมีทั้งหมด ทั้งการใช้จุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การควบคุมแมลง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพื้นถิ่นชนิดต่างๆ เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิถีผลิต
 
ที่ในท้ายที่สุด กระบวนการและเทคนิคต่างๆจะเป็นหนทางกลับมาฟื้นฟูการพึ่งตนเองของชาวนา เพราะเมื่อชาวนาสามารถควบคุมแมลง ปรับปรุงดิน พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว
 
สิ่งที่ปรากฏต่อมาจากนี้ก็คือ เทคนิคต่างๆเหล่านั้นก็แทบจะไม่จำเป็นในการนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแปลงนาในพื้นที่เกษตร จะเกิดความสมดุลด้วยตัวมันเอง
 
ดังนั้นสาระสำคัญที่ชาวนาไทยได้รับความรู้ไปจากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ก็คือ “ใช้เพื่อที่จะไม่ต้องใช้อีก” เพราะในที่สุด ด้วยหนทางที่มูลนิธิข้าวขวัญสอนชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนชาวนาเพื่อเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตรนี้
 
เมื่อชาวนาได้ความรู้เต็มที่และนำกลับไปใช้ในแปลงนาของตนทั้ง  3 หลักสูตรแล้ว ระบบนิเวศยั่งยืนและสมดุลของธรรมชาติก็จะกลับคืนมา อันจะทำให้ชาวนาสามารถหลุดพ้นจากวังวนของการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในทุกขั้นตอน
 
นั่นหมายถึงว่า นักเรียนชาวนาที่ใช้ 3 หลักสูตรของมูลนิธิข้าวขวัญจะสามารถ “ปลดแอก” และ “หลุด” ออกจากวิถีเกษตรแบบปฏิวัติเขียวที่ต้องเป็นหนี้ในการซื้อหาปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง
.
วิถีเกษตรยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวไว้ในการสอนลูกศิษย์โรงเรียนชาวนาว่า
“เทคนิคของเราเป็นการทำตามหนทางของพระพุทธเจ้า นั่นคือการไม่เห็นแก่ตัว พึ่งตนเอง ไม่ใช้ความรุนแรง หลักการนี้ปรับให้เป็นรูปธรรมก็คือเราไม่ฆ่าแมลง ไม่เบียดเบียนใคร
 
และใช้ปัญญาญาณจากธรรมชาติ ทุกสิ่งที่ทำต้องสอดคล้องครรลองธรรมชาติ เพราะเป้าหมายชีวิตของคนไทยแต่เดิมคือการบรรลุนิพพาน
 
ดังนั้นชาวนาจึงต้องทำงานในผืนนาด้วยวิถีธรรม ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายน้ำ ไม่ทำลายอากาศ วิธีการใช้แมลงดีควบคุมแมลงเลวของเรา เป็นรักษาสมดุลระหว่างแมลง ไม่ใช่มุ่งทำลายชีวิตเขา
 
เทคนิคนี้เราได้จากแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็จริง แต่ลูกศิษย์ของเรามีอยู่ทุกศาสนา ซึ่งทุกศาสนาก็ทำได้ และภาษิตโบราณของไทยยังมีอีกด้วยว่า คนฉลาดต้องตัดเกือกให้พอดีตีน คนโง่จะตัดตีนให้พอดีเกือก
 
จากภาษิตนี้เราเทียบได้ว่า เมล็ดข้าวคือเกือก ท้องทุ่งคือตีน ตีนจะเปลี่ยนไม่ได้ ส่วนเกือกมันเปลี่ยนได้ชั่วชีวิต แต่ชาวนาไทยทุกวันนี้กลับตัดตีนให้เหมาะกับเกือก
 
พวกเขาพยายามเปลี่ยนดินให้เข้ากับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อหามาจากตลาด หรือได้รับมาจากรัฐบาล ข้าวขวัญจึงเข้าไปแก้ปัญหานี้โดยตรง เราไปแก้ปัญหาหลักที่เกือกหรือเมล็ดพันธุ์ คือต้องตัดเกือกให้เหมาะกับตีน เราจึงไปสอนให้ชาวนารู้จักการคัดเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับผืนนาในท้องถิ่นนั้น”
 
ชาวนากับแม่โพสพ
 
หากสิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในการสอนชาวนาด้วยหลักสูตรโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญนี้ จะไม่เพียงให้แต่ความรู้ต่างๆทางด้านเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนกับนักเรียนชาวนาเท่านั้น
หากทางมูลนิธิข้าวขวัญ ได้อบรมให้ความรู้ เขย่ากรอบความคิดของนักเรียนชาวนาอย่างหนักควบคู่ด้วย ในเรื่องการเคารพบูชา “แม่โพสพ” เพราะตลอด 30 กว่าปี ของการทำงานเรื่องข้าวกับชาวนาไทยมานี้ อ.เดชา ศิริภัทร กล่าวกับดิฉันว่า 
 
“การสอนเทคนิคเกษตรอินทรีย์อย่างเดียวจะเปลี่ยนชีวิตชาวนาไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนไปถึงรากความคิดของชาวนา ให้กลับมาเคารพแม่โพสพ มาอยู่กับความเมตตา จึงจะเปลี่ยนชาวนาให้มาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ได้
 
หากสอนแต่เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ชาวนารู้แค่เทคนิค กลับเข้าท้องนาไป เห็นรอบข้างยังใช้ปุ๋ยใช้ยา เห็นโฆษณาเข้าหัวอยู่ทุกวัน ชาวนาสู้ไม่ไหวหรอก เดี๋ยวพวกเขาก็หันหลังให้เกษตรอินทรีย์ กลับไปใช้ปุ๋ยใช้ยาเหมือนเดิม มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
 
จะเปลี่ยนชาวนาได้ ต้องให้เขามาศรัทธาเชื่อมั่น และบูชาแม่โพสพ เป็นหลักทางใจให้ชาวนาไทยได้ยึดมั่นไว้ด้วย-นั้นแหละถึงจะเปลี่ยนชาวนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวนาไทยได้อย่างแท้จริง”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ก.ค. 2564

ผู้เขียน : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

 

"รจนา สีวันทา"เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ปี 64

RojanaSriwanta

ยึดหลักนำบัญชีวางแผนชีวิต ใช้วิเคราะห์และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน

"รจนา  สีวันทา" เกษตรกรจากจังหวัดสุรินทร์ คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่น  สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค  ปี พ.ศ. 2564 เผยเคล็ดลับความสำเร็จ ยึด "บัญชี" เป็นภูมิคุ้มกันความจน  ใช้วิเคราะห์ และวางแผนการประกอบอาชีพลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีสู่ชุมชน 

นางรจนา สีวันทา เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564  ชาวตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ วัย 46 ปี กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ปี 2539 ในระหว่างนั้นมีหนี้สิ้นนอกระบบอยู่หลายหมื่นบาทจนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและจดบันทึกต้นทุนในการทำนาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้รายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนา จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง แต่ได้กำไรต่ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและเป็นไปตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนปัญหาหนี้สิ้นที่เคยมี จากต้นทุนที่ลดลงทำให้มีกำไรมากขึ้น ทำให้สามารถเก็บเงินที่ขายข้าวได้ทยอยนำไปชำระหนี้จนหมดหนี้สินในที่สุด 

ในปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 24 ไร่ แบ่งเป็นแปลงนาปลูกข้าวและพื้นที่ทำเกษตรอื่น ๆ  และยังคิดหาวิธีเพิ่มรายได้โดยการรวมกลุ่มแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศรวมถึงต่างประเทศ โดยผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับซื้อเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และในยุโรปส่วนพื้นที่ที่เหลือได้แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกผัก ปลูกมันเทศญี่ปุ่น เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงโค และไก่ไข่เป็นการเพิ่มรายได้หลังฤดูทำนา นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักอินทรีย์ ส่งขายในTops Supermarket ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย 

จากการจดบันทึกบัญชีเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยในปี 2548 ได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาซื้อรถไถนา โดยมีการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการจัดเกรดเป็นลูกค้าเกรด A + ทั้งนี้ ยังมีเงินเหลือเก็บออม จนสามารถซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน รถเกี่ยวนวดข้าว 1 คันรถกระบะอีก 1คัน รวมถึงซื้อที่นาเพิ่มอีก 8 ไร่ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการมีวินัยในการทำบัญชี โดยยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ หันมาทำบัญชี เพื่อบริหารจัดการการเงินในครัวเรือนและในการประกอบอาชีพ  

ในปี 2557 นางรจนา ได้สมัครเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนในชุมชน นักเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายในการสอนบัญชีให้แก่คนในชุมชน และยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายด้านการทำบัญชีแก่คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่าย และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ พร้อมทั้งมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน สามารถคิดกำไร ขาดทุนจากการประกอบอาชีพได้และสร้างวินัยในครัวเรือนให้มีความเข้มแข็งขึ้นอีกทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ 

"ฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรทุกคนว่า อย่าดูถูกตัวเองว่าทำบัญชีไม่เป็น ทำไม่ได้ แล้วไม่ยอมทำทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำการทำบัญชีไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่เราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ หรือหากคิดว่าไม่มีความรู้ในการจดบันทึก  ลงบัญชีไม่เป็นสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจำจังหวัด อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพเพราะเป็นภูมิคุ้มกันความจนได้ดีที่สุดทำให้เรารู้รับ-รู้จ่าย รู้ต้นทุนและรู้อนาคตจากการนำบัญชีมาบริหารจัดการอาชีพและรายได้ในครอบครัว" นางรจนา กล่าว       

ปัจจุบันนางรจนา สีวันทา ได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพให้แก่คนในชุมชน และช่วยเหลืองานในชุมชนทั้งในด้านครูบัญชีอาสาและอาสาด้านอื่นๆ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ประธานอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ระดับอำเภอจอมพระประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลหนองสนิท รองประธานนาแปลงใหญ่ระดับอำเภอ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ฯลฯ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2563เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี พ.ศ.2563และอีกรางวัลความสำเร็จในปัจจุบันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี พ.ศ.2564 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 พ.ค. 2564

การอุดหนุนชาวนานักอนุรักษ์

ReservervationRiceFarm

ประเทศไทยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกมากที่สุด ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงสุดเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Rice Cropping Intensity) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภาพการผลิตสูงนั้น ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสุขภาพของชาวนาและเกษตรกรจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ผู้บริโภคยังได้รับความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีตกค้างในผลผลิตที่มาจากการเพาะปลูกแบบเข้มข้น

รวมถึงสถานการณ์ผลกระทบการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตภัยแล้ง วิกฤตฝุ่นควัน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการกล่าวถึงแนวคิด “การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์” ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยมีโจทย์สำคัญคือแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำนาหรือทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ สู่วิธีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

การทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ เป็นทางเลือกหนึ่งของการเกษตรยั่งยืน การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบเชิงลบ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านสินค้าและบริการผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าเอกชน และสินค้าและบริการที่ไม่ผ่านระบบตลาด ที่เรียกว่าสินค้าสาธารณะ ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปของบริการทางสิ่งแวดล้อมที่ให้แก่สังคมโดยรวม อาทิเช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตร การเพิ่มคุณค่าของเกษตรภูมิทัศน์ การป้องกันน้ำท่วม ความมั่นคงและความปลอดภัยในอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวนาและชุมชนเกษตรกรรม

ทั้งนี้แนวคิดการทำนาข้าวเชิงอนุรักษ์ ควรเป็นไปอย่างสอดคล้องระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ นั่นคือความสอดคล้องระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวแบบเข้มข้น สู่การลดและเลิกการใช้สารเคมี การอนุรักษ์ดิน น้ำ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มความหลากหลายของพืชพรรณในนาข้าวให้มีพืชร่วม พืชยืนต้น พืชหมุนเวียนในแปลงนามากขึ้น  

แม้ว่าด้านหนึ่งชาวนาจะสามารถใช้ประโยชน์ทางตรงด้านอาหาร และลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการพึ่งพาพืชผักที่ตนเองปลูกและเก็บหาจากธรรมชาติมาบริโภค (จากที่เมื่อก่อนไม่กล้านำพืชผักในแปลงนามาทำอาหาร เนื่องจากกลัวพิษภัยจากสารเคมีที่ตนเองและคนในชุมชนใช้) รวมถึงช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร แต่อีกด้านหนึ่ง คือ ต้นทุนดำเนินการปรับเปลี่ยน ต้นทุนค่าสูญเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยน และการหารายได้เพิ่มของชาวนาด้วย

มาตรการและแนวทางอุดหนุนชาวนานักอนุรักษ์

ที่ผ่านมาภาครัฐไทยมีมาตรการอุดหนุนแก่ชาวนาและเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ เช่น นโยบายเกษตรอินทรีย์/นาแปลงใหญ่ โดยเน้นการสนับสนุนด้านเทคนิคและการจัดหาปัจจัยการผลิตรวม รวมทั้งการส่งเสริมการตลาด ซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มาตรการอุดหนุนส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้น ยังขาดการยอมรับและไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาไทยมีปัญหาพื้นฐานหลายเรื่องรุมเร้าที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะยาว

ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบทเรียนและประสบการณ์การนำนโยบายการเกษตรเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ. 2000  ในงานศึกษาเรื่อง การเกษตรเชิงพหุภารกิจ : แนวคิดมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีข้อเสนอแนวทางมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในการนำมาปรับใช้ทั้งในระดับฟาร์มและระดับชุมชนในประเทศไทย ดังนี้  

การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์เช่น การให้ทุนอุดหนุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่การเกษตรอินทรีย์ และต้นทุนค่าเสียโอกาสในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนที่ไม่ก่อประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร การให้เงินทุนสนับสนุนระยะยาวที่ครอบคลุมทั้งในช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยนและการคงไว้ของการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้อัตราการอุดหนุนต่อพื้นที่ที่ผันแปรตามชนิดของพืช

การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่เกษตรกรเพื่อดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม การให้เงินสนับสนุนโดยตรงเพื่อส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดินและน้ำ เช่น แถบหญ้าป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การปลูกพืชคลุมดิน

การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการกระทำร่วมกันของชุมชนในการส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนเช่น การให้ทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เกษตร โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาและนำเสนอแนวทางเพื่อการจัดการทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชน

นอกจากนี้ที่สำคัญคือการจัดตั้งกลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับและส่งเสริมการดำเนินมาตรการการเกษตรเชิงอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นได้จริงและประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย การจัดตั้งหน่วยงานที่มีการบูรณาการหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อรับผิดชอบในการกำหนดและดำเนินมาตรการให้แรงจูงใจทางการเงินในการสนับสนุนการเกษตรเชิงอนุรักษ์ การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำกับดูแล การมีส่วนร่วมและร่วมมือของภาคประชาชนส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชน การเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักทางด้านการเกษตรและการจัดการสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือความพร้อมด้านงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นในการขับเคลื่อนมาตรการการให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 มี.ค. 2564

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

ข่าวดีลูกหนี้! รัฐปรับเกณฑ์ชำระหนี้ที่เป็นธรรม คิดดบ.บวก 3 % บนฐานเงินต้นที่ผิดนัดจริง

Debt

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศแนวปฎิบัติสำคัญเรื่องการชำระหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และนายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนพร้อมดำเนินการเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฏหมาย

จากสถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง

 

  • คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต
  • คนไทยเป็นหนี้นาน โดยร้อยละ 80 ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2561) มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท

สถานการณ์โควิด 19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 83.8 ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน

ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ

1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชาระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

2. การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ดังนั้น การปรับ 2 เกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง

3. การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชาระหนี้จริง มาคำนวณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ โดยนับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตาม ประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะใน ปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

ทั้งนี้เกณฑ์การคิดคำนวณการผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะในส่วนของจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ไม่ใช่เงินคงค้างทั้งหมด หรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดให้บวกได้ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือเรื่องที่กำหนดให้เมื่อลูกหนี้นำเงินไปชำระแล้วให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปตัดในส่วนของค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก ทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ของประเทศไทย โดยจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวมของไทยอีกด้วย

นายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนและจัดการเจ้าหนี้โหด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง ยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ความจำเป็นที่ต้องกู้มาใช้ในสิ่งจำเป็นอาจมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอเรื่องการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในเวลาเดียวกันด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ในขณะที่ผู้กู้สามารถกู้เงินในระบบได้ง่ายกว่าเดิม รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินต้นและดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ นับแต่เริ่มให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อปี2559 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์รวม 858 ราย ใน 72 จังหวัด อนุมัติสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 328,300 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 8,250.38 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 25,130 บาทต่อบัญชี

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมอบหมายให้ธนาคารออมสิน เป็นอีกหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยทางธนาคาร ได้ออก “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” รอบ 2 ที่กู้ได้สูงสุดได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรก

ส่วนประเด็นการจัดการเจ้าหนี้โหด นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเข้มกับการเอาผิดเจ้าหนี้นอกระบบผิดกฎหมาย และกำชับให้ทุกภาคส่วนทำงานอย่างบูรณาการตามนโยบายแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล หากนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย จำนวนสะสม 7,476 ราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย การเพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน สำหรับประชาชนที่ถูกขูดรีดจากเจ้าหนี้ผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

ที่มา : Thaipublica วันที่ 8 พ.ย. 2563

คีย์ซักเซส “เกษตรวิชญา” ชูเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้เกษตรกร

MaerimOrganicFarm

ย้อนกลับไปในอดีตหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานพื้นที่กว่า 1,350 ไร่ ในบริเวณบ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2545 เพื่อสานต่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกำหนดทิศทางให้ภาคการเกษตรในขณะนั้นมุ่งสู่การเป็น “เกษตรอินทรีย์” หรือ “การทำไร่ทำสวนแบบไม่ใช้สารเคมี 100%” ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หรือปราชญ์แห่งการเกษตร ที่วันนี้เริ่มมองเห็นความสำเร็จแล้ว

ภายในพื้นที่ทั้งหมดราว 1,350 ไร่ ในปัจจุบัน “ธงชัย บุญเรือง” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา หนึ่งในเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ระบุว่าในช่วงเริ่มต้น กลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่คือ กรมพัฒนาที่ดิน ที่รับหน้าที่ในการสำรวจพื้นที่รอบด้านทางเทคนิค เพื่อนำมาประเมินความเหมาะสมว่า พื้นที่ดังกล่าวจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธงชัย บุญเรือง
โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ที่สำคัญ การพัฒนาจะต้องนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ โจทย์สำคัญในขณะนั้นคือจะพัฒนาอย่างไรโดย ”ไม่กระทบ” ต่อสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่
“ฉะนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง อาจทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาต่อยอด หลังจากนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ดังกล่าวต้องเริ่มที่การฟื้นฟูป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของพื้นที่ การฟื้นฟูจากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลา 20 ปี สามารถฟื้นฟูป่าได้แล้ว 80-90%”
“เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ จึงให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้ามาช่วยวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และสำหรับพื้นที่ที่เหลืออีกส่วนใช้เป็นพื้นที่ส่วนราชการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานสาธิต รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ในการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ด้านสัตว์น้ำของกรมปศุสัตว์มาสำรวจความเหมาะสมว่าสามารถใช้กับแหล่งน้ำที่มีอยู่ในการทำประมงได้หรือไม่ด้วย”

“ธงชัย” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า จากพื้นที่โดยรวม 1,350 ไร่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแยกที่ดินจัดสรรประมาณ 100 ไร่ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง ทดแทนการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยตามธรรมชาติตามมาด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาต้นน้ำ โดยได้นำเกษตรกร “ต้นแบบ” มาเรียนรู้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฯและนำกลับไปใช้ประโยชน์

“จนถึงวันนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับในอดีตจะเห็นว่ามีสมาชิกอยู่ 55 รายแล้วที่เข้าร่วมโครงการ ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับคือลดต้นทุนการผลิตลงสูงสุดถึง 40% ซึ่งต้นทุนส่วนนี้มาจากการซื้อสารเคมีเป็นหลัก อีกทั้งป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เกิดต้นน้ำอย่างแท้จริงของชุมชนในพื้นที่ จะเพาะปลูกอะไรก็สามารถทำได้ ฉะนั้น ภารกิจต่อจากนี้ของศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา จะเดินหน้าภารกิจเปลี่ยน “mindset” ของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการตั้งเข็มทิศให้ภาคการเกษตรมุ่งเน้นไปที่เกษตรอินทรีย์ พร้อมกับนำภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็น partner เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ในการทำการตลาด กระจายสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรอย่างมืออาชีพ จนมีผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากโครงการมากมาย เช่นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ” 

หากมองจุดแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม “ธงชัย” ระบุว่าคือผลผลิตจากหอมหัวใหญ่ และสตรอว์เบอรี่ และตามแผนการดำเนินการในปี 2564 จะเน้นไปที่ “ป่าเศรษฐกิจ” ตอนนี้เริ่มนำจุดแข็งใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกคือ กาแฟ โดยเข้ามาปลูกผสมผสาน และพัฒนาพื้นที่ทางเดินในป่า พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนา “ป่าอาหาร” เข้ามาเพิ่มเติม ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เข้ามาช่วยสำรวจและช่วยคิด

“ในขณะที่ป่าเศรษฐกิจ ชุมชน หรือการสร้างป่า สร้างรายได้ เช่น ป่าแนวตะเข็บ หากภาครัฐช่วยดูแลรักษาเองค่อนข้างลำบาก เพราะมีขนาดพื้นที่ 1,300 กว่าไร่ รวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จึงหารือกับชุมชนว่าในกรณีที่จะทำป่าเศรษฐกิจ เช่น การปลูกกาแฟในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามีผลิตภัณฑ์จากกาแฟด้วยแบรนด์ของชุมชนเองแล้ว นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพร, ไผ่ แต่ตอนนี้หลัก ๆ คือเริ่มที่กาแฟอย่างจริงจังก่อน เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตที่ยาวนานและต่อเนื่อง”

ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะนี้กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้คือ อโวคาโด้, ผักสลัด, ถั่วแระ และถั่วแขก เป็นต้น โดย “ธงชัย” ยังระบุอีกว่า หน้าที่หลักของศูนย์ขณะนี้คือเข้ามาช่วยดูแลว่าเกษตรกรทำถูกต้องหรือไม่

เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนการปลูกแล้วพบว่า “สูงมาก” จากสารเคมี, ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ เราจะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ “การจูนคุุณภาพดิน” เข้าไปหาพืช ซึ่งหากประเมินจากเกษตรอินทรีย์แทบจะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย นั่นหมายถึงว่าเกษตรกรจะลดต้นทุนได้อีกมาก ขณะเดียวกันยังสามารถแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าการปลูกสตรอว์เบอรี่ในพื้นที่ค่อย ๆ หายไปรวมถึงหอมหัวใหญ่ ทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากโบรกเกอร์ที่มีราคาแพง ฉะนั้น มองว่าจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสตรอว์เบอรี่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องโควตาเมล็ดพันธุ์”

รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด

“รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด” ประธานนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และกรรมการบริหาร บริษัท เอฟแอลอาร์ 39 วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ระบุว่า ในปีนี้เข้ามาร่วมงานกับศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ให้เปลี่ยนมาเป็นการเกษตรที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เข้ามาบริหารจัดการ และมีวิสาหกิจชุมชนเข้ามาช่วยรับบริหารจัดการรับซื้อผลผลิต

“หลักการคือ local food ทำในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะไม่ขายตรงแบบสุดเส้น แต่เน้นไปที่ความร่วมมือกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอแม่ริม ที่หารือกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ จำนวนมาก รวมถึงหากขยายพื้นที่ ผู้ประกอบการในพื้นที่เชียงใหม่ต่างมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์รวมของผลผลิตแปรรูปทางการเกษตรกว่า 2,000 โรงงาน และยังมีห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าอีกจำนวนมาก”

“โดยหลักการกระจายสินค้าที่ว่าคือมีศูนย์กระจายสินค้า รวมไปจนถึงห้องเย็น เพื่อรองรับการกระจายสินค้าในระบบ รองรับเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และเรามีพาร์ตเนอร์ให้ครบทุกมิติ แม้กระทั่งโรงงานแปรรูป ในทุกพื้นที่จะมีการหารือเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพการจัดการต่าง ๆ นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าจะมีทั้งการขาย offline และ online รวมถึงในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มนำ platform ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อรองรับเกษตรกรขายออนไลน์ การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% ของเกษตรกรที่มีอยู่ และในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อย่างเช่น แม็คโคร, บิ๊กซีที่ยินดีเปิดหลังบ้านเพื่อรับสินค้าเข้ามาจำหน่ายด้วย”

“จุดเด่นที่นี่คือพืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพร แต่ทั้งนี้ ต้องประกอบด้วยทักษะของเกษตรกรเองด้วย เนื่องจากเกษตรกรยึดติดกับการปลูกพืชผักเชิงเดี่ยวมานาน ฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลา ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาหลักมากกว่า ดังนั้น platform ของเราจะทำให้เห็นภาพของเกษตรภาพรวมทั้งหมด รวมไปจนถึงแผนการผลิตของทุกที่ในเครือข่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีฐานข้อมูลการผลิตเป็นรายปี การซื้อขายออนไลน์ปกติ รวมถึงผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการซื้อขายล่วงหน้า และหลังจากนี้อีก 2 เดือน เราจะโชว์ data ที่มีอยู่ รวมถึงที่นี่ด้วย”

แต่สิ่งสำคัญที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา และภาคเอกชนอยากเห็นเป็นภาพเดียวกัน คือ เกษตรกรเข้มแข็งด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม มีการนำเสนอแผนดำเนินการของแต่ละกลุ่ม พร้อมกับภาพของการชวนชาวบ้านคิดต่อว่าจะขยายตลาดอย่างไรต่อเพื่อความยั่งยืนของรายได้เกษตรกรในอนาคต

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ต.ค. 2563

จากแปลงปลูก...สู่จานสุขภาพ ในสำรับอาหารของชาวนาและผองเพื่อน

VetgetableBangkud

ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชักชวน “ชาวนา” ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งคนปลูกข้าว คนปลูกผักผลไม้ และนักแปรรูปผลผลิตการเกษตร ใน จ.ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และพิษณุโลก มาเข้าร่วมกิจกรรม “บริโภคผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อสุขภาวะชาวนา”พร้อมทั้งยังชักชวน “ผองเพื่อน” คือ “กลุ่มผู้บริโภค” ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่สนับสนุนกลุ่มชาวนามาอย่างยาวนาน มาร่วมกิจกรรม 21 วัน พิชิตจานสุขภาพ” พร้อมกับมี “เพื่อนใหม่”จากหลากหลายสาขาอาชีพทางโลกออนไลน์  ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

เป็นการรวมพลคนรักสุขภาพที่สนใจแนวคิด “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” (Lifestyle Management) ด้านพฤติกรรมการกินอยู่ เรียนรู้การบริโภคอาหารที่ดีและมีคุณค่าต่อร่างกายตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยในปริมาณที่เพียงพอ ผสมผสานการออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและห่างไกลจาก “กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Non-Communicable Diseases : NCDS) ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคไต ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนได้เริ่มมีอาการป่วย /กำลังป่วย /หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้แล้ว ซึ่งมีสาเหตุจาก “พฤติกรรมการกิน” เป็นหลัก เป็นปัญหาด้านการสาธารณสุขที่สร้างภาระติดพัน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย

มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายได้พิสูจน์ให้เห็นผลประจักษ์ว่า การปรับพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผสมผสานควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยป้องกันและพลิกฟื้นอาการจากโรคกลุ่ม NCDS ได้เทียบเท่าหรือดีกว่าการรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว หากแต่ความเคยชินของผู้คนที่ยังไม่เข้าใจ และพึ่งพาการรักษาด้วยยามาโดยตลอด ก็อาจรู้สึกว่าการปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก จึงได้เชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ โดยยกตัวอย่างประกอบจากกรณีศึกษาต่าง ๆ และจากอาการป่วยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง

เสริมด้วยความรอบรู้ด้านอาหาร  ในมิติความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย โภชนาการ และความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตั้งแต่การเลือก การเตรียม การปรุง การกิน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติ บอกต่อ และขยายผลได้

21DayChallange

ต่อด้วย “กิจกรรม Challenge” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพอาหารเพื่อสุขภาพที่รับประทานในแต่ละมื้อ ส่งเข้ามาในไลน์ทางการ “นาเคียงเมือง” อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 21 วัน โดยเป็นเมนูอาหารที่สร้างสรรค์ โดยคงคุณค่าของสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน มีความหลากหลาย ไม่เน้นการปรุงรสชาติที่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง และในมื้อนั้นควรมีอัตราส่วน 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน ข้าวหรืออาหารจากแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือโปรตีน 1 ส่วน

ความงดงามที่เห็นได้จากสำรับอาหารของชาวนา คือ กับข้าวกับปลาแบบบ้าน ๆ ที่ปรุงง่าย ๆ จากพืชผักที่ปลูกเอง เช่น ผัดผักหรือแกงส้มจากผักรวมรอบบ้าน ผัดมะละกอใส่ไข่ แกงจืดตำลึงริมรั้ว เสริมโปรตีนด้วยปลาทอดหรือไข่ต้มจากแม่ไก่ที่เลี้ยงเอง แทบทุกบ้านจะมีน้ำพริกยืนพื้น พร้อมผักเหนาะทั้งผักสดและผักลวก และหลายบ้านจะนำสมุนไพรปลูกเอง เช่น เตยหอม ตะไคร้ อัญชัน มาทำน้ำสมุนไพรดื่ม

ขณะเดียวกันก็สัมผัสได้ถึง “พลังความสุขของผู้ผลิตอาหารอินทรีย์” ทั้งคนปลูกข้าวที่บรรจงเลือกพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ทีละเมล็ดด้วยความใส่ใจ เพื่อให้ข้าวในฤดูทำนาครั้งหน้ามีคุณภาพดี เห็นความตั้งใจของคนปลูกผักที่ลงมือเพาะกล้า ทำปุ๋ย ปรุงดิน ดูแลให้ต้นกล้าผักเติบโตแข็งแรง รอเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้คนกินได้ผักที่รสชาติดี กรอบ อร่อย และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน         

ขณะที่บรรดาผองเพื่อนของชาวนาที่เป็นผู้บริโภค หลายคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ก็ยังอุตส่าห์ทำแปลงผักเล็ก ๆ หรือปลูกผักในกระถางไว้ปรุงอาหารกินเอง และนำมาอวดโชว์เพื่อน ๆ อย่างภาคภูมิใจ ขณะที่หลายคนแม้ต้องซื้อหาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็มีความรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีและมีประโยชน์มาปรุงอาหาร ดังนั้น สำรับอาหารจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งเมนูต้ม ผัด แกง ทอด หรือนึ่งแบบไทย ๆ หรือดัดแปลงเป็นสัญชาติอื่น เช่น สลัดผัก พิซซ่าเพื่อสุขภาพ ผักโขมอบชีส เสริมโปรตีนด้วยเต้าหู้ ถั่วเหลือง หรือเนื้อปลา บางคนพยายามกินผักผลไม้ให้ครบทั้ง 5 สี (สีเขียว สีเหลืองหรือส้ม สีน้ำเงินหรือม่วง สีขาวหรือน้ำตาล และสีแดง) นำมาดัดแปลงทำทั้งอาหารคาว ขนม ของว่าง หรือนำมาทำน้ำผักผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ

เมื่อเวลาผ่านไป สำรับอาหารในแต่ละวันได้กลายเป็นสื่อกลางให้เริ่มมีประเด็นพูดคุยในเชิงสร้างสรรค์ต่อกันมากขึ้น เช่น ศึกษาที่มาที่ไปของวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่น เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารดีที่ควรกินสม่ำเสมอ กินได้บ้าง หรือไม่ควรกินเลย การติดตามและให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ การสนับสนุนสินค้าชุมชน ฯลฯ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยความเข้าอกเข้าใจต่อกัน พร้อมหนุนเสริมกัน และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ใช้ชีวิตวิถีใหม่เพื่อสุขภาวะไปทีละน้อย

ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ของคนกลุ่มหนึ่งบนโลกออนไลน์ แต่ก็นับเป็นการเริ่มจุดประกายสร้างพื้นที่พบปะสร้างสรรค์เล็ก ๆ ให้นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม ในฐานะ “พลเมืองอาหาร”ที่มีบทบาทหน้าที่เพื่อร่วมรักษาพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ที่อาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดระบบการผลิตและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างมีพลังและยั่งยืนในอนาคต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 ม.ค. 2565

ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์

ชาวนาดีเด่น 2563 ต้นทุนไร่ละ 2 พัน

BestRiceFarmer2020

“สมัยยังเป็นเด็กน้อยช่วยพ่อแม่ทำนา ถึงเวลาใส่ปุ๋ยจึงต้องไปกู้เงิน หลังเกี่ยวข้าวมีเหลือกินแค่ปีชนปี เพราะต้องแบ่งไปใช้หนี้เงินกู้ เสียดอกแพง เงินต้น 2,000 บาท ต้องใช้คืน 3,000 บาท คิดหักจากข้าวเปลือกที่เจ้าหนี้เป็นคนกำหนดราคา หักกลบลบหนี้แล้ว ทำนา 16 ไร่ เหลือข้าวไว้กินแค่ 16 กระสอบ กับเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บไว้ปลูกอีก 2 กระสอบ”

นางรจนา สีวันทา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนงิ้ว ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2563 เล่าต่อ...หลังมีครอบครัวจึงปรึกษากับสามี ถ้าหากยังทำนาเหมือนพ่อแม่ อนาคตไม่มีโอกาสส่งลูกเรียนแน่ๆ

ข้าวในแต่ละปีเริ่มได้น้อยลง ปูปลาในนาเริ่มหาย ถ้ายังทำนาแบบเดิมเมื่อไรจะลืมตาอ้าปากได้...ฉะนั้นต้องงดใส่ปุ๋ย แต่จะต้องทำอย่างไร นั่นคือปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข

จากการสังเกตลานนวดข้าวในนาที่ดอน จะใช้มูลควายผสมน้ำมาทาหน้าดินแล้วปล่อยให้แห้ง หลังนวดสีข้าวเสร็จแล้วปีถัดไป พื้นที่ตรงนั้นต้นข้าวขึ้นงาม... เพราะไม่มีความรู้ แต่อยากให้ต้นข้าวงามจึงหามูลควายมาใส่แปลงนาหวังช่วยลดปุ๋ย

แต่กลับมีหญ้าวัชพืชขึ้นมาแข่งกับข้าวในนา

ปี 2542 จ.สุรินทร์ รณรงค์ปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายา ตรงกับแนวความคิดของ รจนา ที่ต้องการคืนธรรมชาติสู่พื้นที่ แก้ปัญหาสภาพดินนาที่เสื่อมลง ทั้งที่ไม่ได้รับคัดเลือก ด้วยความอยากรู้จึงขอไปอบรมวิธีการทำนาอินทรีย์ ต้องไถกลบตอซัง เพิ่มพลังอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ชีวีจะปลอดภัย และได้ข้าวที่งอกงามผลผลิตดี

หลังกลับมาตั้งใจไว้ปีนี้จะไม่กู้เงินมาทำนาแน่ๆ...หลังเกี่ยวข้าวในแปลงนาหมด ไถปรับหน้าดินหว่านถั่วพร้าและโสนแอฟริกัน ขณะที่รอเข้าหน้าฝน ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินใช้มูลวัว 900 กก. รำข้าว 25 กก. แกลบ 80 กก. กากน้ำตาล 10 กก.คลุกให้เข้ากัน ใช้ผ้ายางปิดเพื่อให้จุลินทรีย์เดินและวัชพืชในมูลวัวตาย หมัก 30 วัน สามารถนำมาใส่บำรุงดินก่อนปลูกข้าว และช่วงต้นข้าวอายุได้ 20 วัน อัตราไร่ละ 200 กก. นา 16 ไร่ จากที่เคยได้ข้าว 126 กระสอบ ทำนาอินทรีย์ได้ข้าวแค่ 44 กระสอบป่าน ต้นทุนไร่ละ 2,000 บาท...แม้จะได้ข้าวน้อยแต่เป็นของเราทั้งหมด ไม่ต้องหักหนี้ให้ใคร

เพื่อนบ้านจึงขอให้ตั้งกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์...ปีที่ 2 ได้ข้าว 77 กระสอบ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันได้ไร่ละ 600 กก. ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของ จ.สุรินทร์ อยู่ที่ไร่ละ 376 กก.

ไม่เพียงแค่นั้น ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มรจนายังมีออเดอร์จากตัวแทนบริษัทส่งออกสั่งซื้อไปขายเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จีน เกาหลี ฝรั่งเศส และยุโรป อีกต่างหาก.

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 27 พ.ค. 2563

ผู้เขียน: เพ็ญพิชญา เตียว

ตลาดพรีออเดอร์ ความหวังของเกษตรกรจากวิกฤตโควิด-19

Baansuanlomchoi

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาการผลิตของเกษตรกรโดยตรงมากนัก หากแต่เรื่องการจัดจำหน่ายสินค้า ราคาผลผลิต และรายได้ ถือว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรหลายแหล่งปิดตัว การขนส่งที่จำกัดและลดน้อยลง ผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้นโดยพยายามที่จะไม่ออกจากบ้าน รวมถึงผลกระทบต่อการหารายได้จากงานนอกภาคเกษตรด้านอื่นๆ ของครัวเรือนเกษตรกรเช่นกัน หนึ่งในทางเลือกหรือความหวังต่อช่องทางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงและยาวนาน คือ “ตลาดพรีออเดอร์”

           ตัวอย่าง “ตลาดพรีออเดอร์” ซึ่งสามารถเป็นบทเรียนและแนวทางให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากวิกฤตสถานการณ์โควิดครั้งใหม่อยู่ในตอนนี้ คือ ตลาดพรีออเดอร์บ้านสวนลมโชย ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งโดยคุณสุมาลี พะสิม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันสุขออร์แกนิค ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานขนาดเล็ก ปลูกผักสลัด ปลูกผักพื้นบ้าน และเลี้ยงไก่ไข่ และขณะเดียวกันก็ทำงานโครงการพัฒนาด้านเกษตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน จากการที่ได้ทำงานประสานงานพบเจอผู้คนจากทั้งเมืองและชนบท ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กว้างขวาง

           คุณสุมาลี พะสิม ต้องการให้บ้านสวนลมโชยเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ได้มาพบกันผ่านตลาดพรีออเดอร์ โดยมีจุดเด่น คือ ผลผลิตทั้งหมดได้มาจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตในระบบอินทรีย์ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยจะเปิดพรีออเดอร์ผ่านกลุ่มไลน์กับลูกค้าผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ขั้นตอนการพรีออเดอร์หรือสั่งสินค้าจะเริ่มต้นทุกวันศุกร์ถึงวันเสาร์ และปิดคำสั่งซื้อในเย็นวันเสาร์ และจัดส่งรายการสินค้าให้เกษตรกรได้จัดเตรียมผลผลิตให้กับผู้บริโภคในวันอาทิตย์และวันจันทร์ ซึ่งคุณสุมาลี พะสิม จะเป็นคนขับรถไปส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยตนเองในทุกวันอังคาร 

           คุณสุมาลี พะสิม กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดตลาดพรีออเดอร์ของตนเองว่า “มีความตั้งใจที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อยให้มาพบกันบนเส้นทางสายอาหาร บนเส้นทางของความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าารตลาดพรีออเดอร์จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ของเกษตรกร ถือเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยได้ง่ายขึ้นและเป็นสายใยที่เชื่อมเข้าหากันยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย" 

          ในส่วนของอุปสรรคสำคัญของการทำตลาดพรีออเดอร์ผลผลิตอินทรีย์ ประการแรก คือ ความสดของผลผลิตที่จัดส่งให้กับผู้บริโภค ต้องรักษาความสดของผลผลิตไว้ ฉะนั้นจึงพยายามจัดส่งแบบรักษาอุณหภูมิ เพื่อที่จะให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยความสดความใหม่ และปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องของผลผลิต บางช่วงไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ตามความต้องการ และเรื่องของความสะดวกในการจ่ายเงินของผู้บริโภค ก็สำคัญต้องดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ เพราะส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกเรา คือการวางใจในเรื่องของการผลิต ก็จำเป็นต้องรักษาผู้บริโภคให้ดีที่สุด

           ตอกย้ำด้วยมุมมองคุณชัยวัฒส คำพิมูล ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าตลาดพรีออเดอร์มาต่อเนื่องยาวนานกล่าวว่า “จากการที่ได้รู้จักกับบ้านสวนลมโชย พบว่าที่นี่ขายผักออร์แกนิคในราคาที่จับต้องได้ ผักมีคุณภาพดี สด สะอาด และเหตุผลสำคัญคือรู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางจำหน่ายและตัวกลางหลายต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับความตั้งใจ”

           จะเห็นได้ว่าตลาดพรีออเดอร์เกษตรอินทรีย์ หรือตลาดสั่งจองล่วงหน้า ถือเป็นช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาช่องทางตลาดของเกษตรกรภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นหลักประกันรายได้ของเกษตรกร ช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ผู้บริโภค ได้บริโภคของดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคามิตรภาพ เพื่อร่วมกันฝ่าฝันวิกฤตสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 4 มิ.ย. 2564

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ตลาดพรีออเดอร์เกษตรอินทรีย์ อุ่นใจคนปลูก สุขใจคนกิน

Baansuanlomchaoi

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/LlZYVE642As}

บ้านสวนลมโชย เป็นเกษตรกรรายย่อย อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
เริ่มก่อร่างสร้างสวนตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการคนกล้าคืนถิ่น 1 พฤษภาคม 2558
บ้านสวนฯ ปลูกทั้งผัก ผลไม้ นั่นก็คือชะอม ผักหวานป่า ไว้เก็บยอดทั้งกินและขาย มะม่วง มะขามเทศ ขนุน ไผ่
ซึ่งมีทั้งผลิตและกิ่งพันธ์อีกชนิดที่เลือกก็คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เพราะออกดอกให้เก็บและขายเป็นรายได้หลักของสวน
ไก่ไข่อารมณ์ดี เราเลี้ยงแบบปล่อยให้เดินในสวน กินหญ้า แมลง หยวกผสมรำข้าว ข้าวเปลือก ข้าวโพด และอาหารสำเร็จรูป
เมื่อการผลิตลงตัว เราจึงจัดส่งผลผลิตเป็น "ตลาดสดเดลิเวอรี่" แบบบริการจัดส่งถึงที่
โดยนำผลผลิตจากฟาร์มและจากเกษตรกรอินทรีย์รายย่อยที่ฟาร์มของเราร่วมทำงานด้วย สู่ผู้บริโภคโดยตรง
เพราะเราเชื่อว่า...อาหารที่ดีต้องมาจากวัตถุดิบที่ดี เราจึงดูแลทุกสิ่งเพื่ออาหารที่มีคุณภาพให้กับคุณ

จัดทำโดย : มูลนิธิชีวิตไท

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลิตเมื่อ : เมษายน 2564

 

ตลาดออนไลน์กับการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร

OnlineMarketFarmer

ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลัก คือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือเกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมทสินค้าของตนเองได้เลย

ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์ คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการย่นระยะเวลาและระยะทางในการพบเจอกันของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งตัวเกษตรกรเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ

นอกจากนี้ตลาดออนไลน์ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง แต่ทั้งนี้ตัวเกษตรกรต้องคำนึงถึงคุณภาพและกลุ่มลูกค้า ไม่ควรตั้งราคาที่ค้ากำไรเกินควรและต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรนั้น จากประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า Facebook และ Line เป็น 2 ช่องทางอันดับแรกที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวเกษตรกรเองต้องมีการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ตัวสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกชิ้น มีรูปลักษณ์ชวนดึงดูดผู้ซื้อ เรื่องราวของสินค้า การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน อีกทั้งต้องมีการเตรียมข้อมูลและวิธีในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า

เนื่องจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะฉะนั้นย่อมมีคู่แข่งที่มากกว่าการขายสินค้าแบบออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องมีการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมาตรฐานเพื่อขยายตลาดให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน PGS หรือ Organic Thailand ให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การยื่นขอ อย. สำหรับสินค้าแปรรูป เป็นต้น

สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร คือ การที่เกษตรกรยึดติดกับรูปแบบการขายสินค้าในรูปแบบเดิม คือ การรอให้ลูกค้าเข้าหา หรือการรอให้ลูกค้าเป็นคนเอ่ยถาม มากกว่าการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าก่อน อีกทั้งยังปิดกั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนช่องทางและวิธีการขายสินค้าของตนเองให้ทันยุคสมัย และไม่รอที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือรอลูกค้าเข้าหาตนเองอีกต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกที่จะขายสินค้าพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับของตนเอง ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคู่ค้า มีแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยกันพยุงช่องทางตลาดในรูปแบบออนไลน์ให้เหล่าเกษตรกรทั้งหลายได้มีพื้นที่ขายสินค้า มีพื้นที่บอกเล่าความเป็นมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติที่มาแบบไม่ทันคาดคิด

ท้ายที่สุดแล้วช่องทางการขายสินค้าของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่างกัน  หัวใจสำคัญคือเกษตรกรต้องก้าวไปสู่การยกระดับจากผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเดียวไปสู่เกษตรกรผู้ประกอบการ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดให้หลากหลาย กระจายความเสี่ยง  รวมถึงมีการปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรที่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในสังคมวิถีใหม่

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 พ.ย. 2564

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

นักข่าวพลเมือง : เรียนรู้วิถีผลิตเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จากแปลงสู่ปาก (14 ส.ค. 60)

Picture

นักข่าวพลเมือง : เรียนรุ้วิถีผลิต เกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จากแปลงสู่ปาก (14 ส.ค. 60) 

 {phocadownload view=youtube|url=https://www.youtube.com/watch?v=-NxMykTVpzA}

 

นาเคียงเมือง ผลผลิตจากใจชาวนาสู่ผู้บริโภค

Nakiangmueang

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/aMK7GQ1SHtI}

ความตั้งใจในการทำ "นาเคียงเมือง" เพื่อเป็นตัวกลางในการนำสินค้าของเกษตรกรมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเมือง พร้อมนำเสนอเรื่องราวของชาวนาและเกษตรกร ที่ตั้งใจทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย ์เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน มีผลผลิตอาหารที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสุขภาพ การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อรางกาย วิธีการปลูกผักอินทรีย์ แหล่งที่มา

นาเคียงเมืองเป็นช่องทางการตลาดที่จัดทำโดยมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพชาวนา สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของผู้บริโภค ทำงานกับชาวนาในพื้นที่ จ.ชัยนาท จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.พิษณุโลก ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สิน และมีความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน โดยส่งเสริมให้เกิดการวางแผนทางการเงิน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบการผลิตที่ยั่งยืนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ มีอาหารคุณภาพดีและปลอดภัยไว้บริโภค และส่งต่อให้กับผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ

วิธีการสั่งสินค้า

1. สั่งผ่าน กล่องข้อความ (Messenger) แจ้งรายละเอียดสินค้าที่ต้องการ ชื่อและที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ของท่าน (ไม่รวมค่าจัดส่ง)

2. สั่งผ่านกลุ่ม Line : นาเคียงเมืองhttps://line.me/R/ti/g/L5oaSAN6TB ซึ่งเป็นรูปแบบการพรีออเดอร์สินค้าทุกวันศุกร์ และจัดส่งสินค้าทุกวันอังคาร ตามเส้นทาง ถนนวิภาวดีรังสิต งามวงศ์วาน และหมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ขอบคุณที่สนับสนุนสินค้าที่มาจากเกษตรกร ที่มีความตั้งใจปรับวิถีการผลิตมาเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ทำหน้าร้านค้าในเพจ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกดูสินค้าและสั่งสินค้าได้ง่ายขึ้น

 

 

 

บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรในภาวะวิกฤต

Somjai02

พี่สมใจกับแปลงผักอินทรีย์

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผลกระทบด้านรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร  จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงผลักและบทเรียนที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ  การเตรียมแผนชีวิต แผนการผลิต แผนการเงินและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในชีวิตไม่ว่ารูปแบบใด สามารถช่วยให้อยู่รอดและผ่อนสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบาได้

ความเป็นจริงสังคมส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้มากนัก ทำงานหนัก ตากแดดตากลม ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ มีหนี้สินมากมาย รู้จักแต่การทำเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว ถึงแม้จะมีภาพข่าวออกมาบอกว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความทันสมัยหรือมีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงมีเกษตรกรบางรายพัฒนาการผลิตอย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความยากลำบากได้ไม่มากนัก

จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิชีวิตไทในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรไม่เพียงจะเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเดิมที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ภาวะน้ำท่วม ผลผลิตเสียหาย บางรายหมดตัวไปกับการลงทุนทำเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนทำเกษตรต่อไป

ตัวอย่างบทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง พบว่า  หากเกษตรกรมีการทำอาชีพที่หลากหลาย ปรับจากการทำเกษตรปลูกพืชชนิดเดียว สู่พืชหลากหลายชนิด ปรับจากอาชีพในภาคเกษตรอย่างเดียว สู่อาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทางมารองรับ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน จะทำให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มหนี้สินของครัวเรือนได้ และบางรายมีรายได้เหลือมาลงทุนในการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย

Jumpa

ป้าจำปากับอาชีพเสริมตัดเย็บกระเป๋าผ้า

ตัวอย่างเช่น ป้าจำปา หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีใจรักในงานผ้า จนบางช่วงกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว และปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น กล้วย พริก กะเพรา และเลี้ยงหมู เพิ่มเติมจากการปลูกข้าว คนต่อมา คือ ป้าสายทอง ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกมะพร้าว ปลูกตาล ปลูกกล้วย เพื่อใช้ในการทำขนมขายเป็นรายได้เสริม เป็นต้น เกษตรกรทั้งสองรายมีหนี้สินจากการทำนา ซึ่งในรอบการผลิตที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงโชคดีที่มีรายได้จากการทำอาชีพเสริมเพื่อรองรับกับภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

นอกจากนี้มีชาวนาและเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนการลงทุนและต้นทุนการผลิต จากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายจากการทำนาใน  1 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าการทำนาของตนเองนั้นมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ กรณีตัวอย่าง พี่ศรีไพร ในรอบการปลูกข้าวปีที่ผ่านมาได้ลองจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำนาทั้งหมด 3 ไร่ จนกระทั่งได้เงินจากการขายข้าว พบว่า เหลือกำไรเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น

ในปีนี้พี่ศรีไพรจึงเริ่มวางแผนปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิธีการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวแบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ซึ่งตัวอย่างการจดบันทึกรายรับรายจ่ายการผลิต เป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรไม่ค่อยทำกัน จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากการทำนา นอกจากนั้นพี่ศรีไพรยังมีการแบ่งที่ดินของตนเองมาปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อจำหน่ายไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือภาวะปกติ เนื่องจากอาชีพเกษตรกรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศเป็นส่วนสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้การปรับตัวของเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการกระจายความเสี่ยง หากเกษตรกรมีการวางแผนชีวิต แผนการผลิตที่หลากหลาย และแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง และวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยบริหารจัดการการผลิตและช่วยเพิ่มกำไรให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดและไม่เกิดวิกฤตชีวิต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ก.พ. 2565

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

ปุ๋ยอินทรีย์ ทางเลือกเกษตรกรยุคปุ๋ยเคมีแพง

Po Thueng

สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในรอบ 1 ปีที่่ผ่านมา  ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25-30 ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด หรือมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 1,500-2,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ขยับสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศไทยพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นหลัก ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี (N-P-K) มีมูลค่ามากถึง 70,102 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิเช่น การอุดหนุนราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำได้เพียงระยะสั้นและมีข้อจำกัด  ทั้งนี้ยังมีทางเลือกการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งควรดำเนินการส่งเสริมควบคู่กับการให้ความรู้แนวทางการจัดการการเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและมีรายได้เพิ่มขึ้น

แนวทางการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม

ก่อนเริ่มต้นใส่ปุ๋ยหรือนำวิธีการปรับปรุงบำรุงดินมาใช้ในแปลง อันดับแรกเกษตรกรต้องรู้จักสภาพดินของตนเอง โดยนำตัวอย่างดินในแปลงของตนเองมาตรวจวิเคราะห์ ขั้นตอนคือ ขุดดินแต่ละจุด ลึก 1 หน้าจอบ จำนวน 9 จุด กระจายให้ทั่วทั้งแปลง จากนั้นนำดินทั้ง 9 จุด มาผสมกันแล้วตากให้แห้งในที่ร่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และร่อนจนละเอียด แบ่งดินมาเพียงครึ่งกิโลกรัมเพื่อมาใช้สำหรับการตรวจ จากนั้นนำตัวอย่างดินที่เก็บมาเรียบร้อยแล้วส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน ซึ่งในรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน จะมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกอยู่ด้วย

จากนั้นจะนำไปสู่ขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเริ่มจากการมีองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของปุ๋ยแต่ละชนิดว่ามีแร่ธาตุอย่างไร ด้วยการประยุกต์จากวัสดุเหลือใช้ในแปลง ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ เศษอาหาร เศษใบไม้ ขี้เถ้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ 3 ชนิดหลัก ดังนี้ 1) P คือ ฟอสฟอรัส พบมากในปุ๋ยมูลหมู วัว แพะ เหมาะกับพืชกินผล ให้ดอก 2) N คือ ไนโตรเจน พบในปุ๋ยมูลไก่ เป็ด ใช้เพื่อการบำรุงกิ่ง ใบ ราก เหมาะกับพืชกินใบ 3) K คือ โพแทสเซียม พบมากในขี้เถ้าแกลบ (ที่มา : รายงานการฝึกอบรมเรื่องแนวคิดและเทคนิคเกษตรทางเลือกกับการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดย อ.เกศศิรินทร์  แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร )

เราสามารถได้ธาตุอาหารสำหรับพืชจากปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช คำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน มีดังนี้ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก) อัตรา 2-3 ตันต่อไร่/ปี และไถกลบปุ๋ยพืชสดร่วมด้วย ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเสริมสร้างอินทรียวัตถุให้ดิน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและชีวภาพ ทำให้โครงสร้างดินดี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช และการไถกลบพืชปุ๋ยสด ทำโดยก่อนปลูกพืช หว่านพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ หว่านปอเทือง, โสนแอฟริกัน 4-6 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพร้า 4-10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพุ่ม 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) แล้วไถกลบระยะออกดอก ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ (ประมาณ 15-20 วัน) ก่อนปลูกพืช ซึ่งการไถกลบพืชปุ๋ยสดเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุแก่ดินได้  

สำหรับแนวทางการฟื้นบำรุงดินหรือปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง แหนแดง 1  กิโลกรัมต่อแปลง 1 ตารางเมตร จะช่วยลดความเป็นกรดและดินเปรี้ยวได้ และหากผสมแหนแดง 1 กิโลกรัมต่อมูลวัว ครึ่งกิโลกรัม ต่อ  1 ตารางเมตร จะช่วยตรึงไนโตรเจนในดินทำให้ปลูกผักได้ดี การใช้แหนแดงในการตรึงดินเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัย เพราะแหนแดงจะไม่เติบโตในพื้นที่ที่เคยใช้ยาฆ่าหญ้าหรือมีสารเคมีค้างอยู่ แหนแดงยังมีคุณสมบัติอีกมากมายและสามารถใช้ควบคุมหญ้าแทนพาราควอตได้อีกด้วย

นอกจากการปรับปรุงดินให้เหมาะกับพืชที่ปลูกแล้ว การดูแลแปลงก็เป็นส่วนสำคัญ โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคนิคการห่มดินหรือการคลุมดินด้วยฟาง หญ้า หรือแฝก ที่เหลือจากการทำนา เพื่อให้ดินรักษาความชื้นและเป็นการหมักดินได้ดี ใช้เวลาอย่างน้อย 15 วันในการเตรียมแปลงเพื่อให้กระบวนการหมักสมบูรณ์ก่อนเริ่มเพาะปลูกแต่ละรอบ

จะเห็นได้ว่าแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดินทดแทน เป็นทางเลือกในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตในภาวะราคาปุ๋ยเคมีแพงได้อย่างมาก ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทั้งต่อธรรมชาติ  และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยแรงจูงใจสำคัญของเกษตรกรเพื่อปรับตัวรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้น 

ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้ทำเอง จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยอินทรีย์อาจแพงกว่าปุ๋ยเคมี นอกจากนี้เกษตรกรต้องรู้จักบริหารจัดการการเพาะปลูกโดยลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ทำได้เองควบคู่ไปด้วย เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การปรับปรุงบำรุงดิน ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์รายได้ที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนด้านแรงงานและการใช้เวลาของเกษตรกรจากแนวทางการปรับตัวครั้งนี้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 พ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

พฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด-19 โอกาสทางการตลาดของผู้ผลิตรายย่อย

PreorderOrganicMarket

ตลาดคือพื้นที่ทางเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อย และเชื่อมโยงกับเกษตรกร/ผู้ผลิตในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้ทำมาหากิน การระบาดของโควิด-19 ทั้งระลอกเก่าและใหม่ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบตลาดท้องถิ่นแบบเก่า โดยเฉพาะตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตามเพื่อความอยู่รอดในยุค New Normal มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวและปรับรูปแบบการตลาดให้เหมาะสม

           หนังสือเจาะเทรนด์โลก 2021 โดย TCDC ได้นำเสนอบทความตอนหนึ่งระบุว่า นวัตกรรมการสร้างตลาด คือการนำเสนอสิ่งที่ผู้คนมีความต้องการอยู่ แต่ยังไม่มีสินค้าหรือบริการนั้น ๆ อยู่ในท้องตลาด หรือมีสินค้า แต่ตลาดนั้นไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยข้อจำกัดด้านราคา เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกไม่อาจลงทุนไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มรอง ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือการใช้นวัตกรรมระดับสูงในการผลิต ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคผู้สร้างตลาดขึ้นเองจึงเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีข้อจำกัดที่น้อยกว่า สามารถสร้างและขับเคลื่อนได้โดยความต้องการของตลาดท้องถิ่น นอกจากจะตอบสนองความต้องการอย่างตรงจุดแล้ว พวกเขายังมีส่วนช่วยสร้างงานให้กับท้องถิ่นและสนับสนุนผู้คนในพื้นที่อีกด้วย ทำให้แบรนด์ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงนี้สามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภคได้ทันที ผ่านการตลาดแบบPeer-to-Peer หมายถึง การทำธุรกรรมระหว่างบุคคล เป็นการขายสินค้าและบริการกันโดยตรงระหว่างคนสองคน โดยที่ไม่มีบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง

           การตลาดแบบPeer-to-Peer เป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่ง มีหลักการ คือ โมเดลธุรกิจนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างลูกค้ากับเจ้าของทรัพยากร ซึ่งต้องยึดรูปแบบว่าต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่องค์กรบริษัทมาทำธุรกรรมกัน อาทิเช่น การปล่อยกู้ระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ การซื้อขาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกับทางพาณิชย์ ทำให้เกิดสังคมเครือข่ายกัน ซึ่งผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องลงทุนในทรัพยากรนั้น ๆ

           นอกจากนี้อินเทอร์เน็ต คือตัวขับเคลื่อนทางธุรกิจที่สำคัญ แน่นอนว่าการซื้อขายทางออนไลน์ย่อมได้ผลที่ดีกว่าการทำแบบออฟไลน์ อีกทั้งโมเดลธุรกิจนี้สามารถสร้างกำไรได้จากการเก็บ ค่าธรรมเนียมทางการค้า ค่าบริการ หรือมาจากการบริจาค รวมถึงโมเดลนี้สามารถสร้างผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเจ้าของทรัพยากรใด ๆ ก็สามารถทำธุรกิจได้ทันที เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโมเดลธุรกิจแบบตัวกลาง จึงขอยกตัวอย่างมาให้ดูบางส่วน

  • ‘eBay’ เป็นธุรกิจที่ทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อเจอกันในเว็บไซต์โดยมี platform ใช้งานร่วมกัน
  • ‘Craigslist’ เป็นธุรกิจที่ทำการค้าขายออนไลน์ที่ขายสินค้าท้องถิ่นโดยให้ผู้ขายนำสินค้าท้องถิ่นมาขาย และทำการตลาดทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติหรือตัดทางการค้าขายจากเจ้าถิ่นรายใหญ่ที่ผูกขาดที่ทำการตลาดแบบออฟไลน์

          ปัจจุบันโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกิดจากการปรับตัวตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ความสะดวกในการรับประทานอาหารนับเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่ เดิมคนส่วนใหญ่นิยมอาหารพร้อมรับประทานประเภทเร็วและสะดวก ไม่ค่อยสนใจคุณค่าทางอาหารเท่าไหร่นัก ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคมีความใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับส่วนผสมและที่มาของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้ออาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิค หรือการผลิตอินทรีย์จึงเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับสารเคมี ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี ตลอดจนการพิจารณาด้านจริยธรรมเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ก็มีส่วนผลักดันพฤติกรรมนี้เช่นกัน

           นอกเหนือจากความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคแล้ว พฤติกรรมของผู้คนที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ส่งผลให้พวกเขาเลือกซื้อสินค้าหรืออาหารผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่มีการบริการส่งถึงบ้าน เริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเป็นอย่างมาก

           ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าตลาดแบบ Peer-to-Peer ส่งผลดีต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะการตลาดในรูปแบบนี้เป็นการลดช่องว่างในการพบเจอกันระหว่างคนซื้อกับคนผลิต ซึ่งตัวผู้ผลิตเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองแก่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่และในส่วนของผู้บริโภคเองนั้นสามารถทราบถึงแหล่งที่มาและเรื่องราวของสินค้า ถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ตรงตามความต้องการได้มากยิ่งขึ้น

           การตลาดในรูปแบบนี้ต้องอาศัยความเชื่อใจของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ผลิตด้วยเช่นกัน เพราะความเชื่อใจนั้นถือว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริโภคหมดความเชื่อถือในสินค้าและตัวผู้ผลิตแล้ว โอกาสในการขายสินค้าของผู้ผลิตอาจจบลงด้วยเช่นกัน

           ฉะนั้นนวัตกรรมการสร้างตลาดแบบ Peer-to-Peer จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal มากที่สุด อีกทั้งเป็นรูปแบบตลาดที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งแก่ตัวผู้ผลิตรายย่อย และผู้บริโภคที่เกิดเริ่มคุ้นชินกับการตลาดในรูปแบบนี้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 29 ม.ค. 2564

พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

OrganicConsumerPower

  พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

  ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

  เมื่อชาวนาผู้มีหนี้สร้างตลาดอินทรีย์ด้วยตัวเอง พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

  พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2563

  บรรณาธิการ พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

  กองบรรณาธิการ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์

  ดร.อาภา หวังเกียรติ อารีวรรณ คูสันเทียะ นิจนันท์ ปาณะพงศ์

  จัดพิมพ์โดย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

  สนับสนุนการจัดพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

  

ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร มิได้มีเพียงมิติทางการเงินอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับมิติอื่น ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต

และวิถีการผลิตในสังคมเกษตรกร โครงสร้างอายุเกษตรกร ความจำกัดของที่ดิน ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน รวมถึงมีแนวโน้ม

สูงขึ้นที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง แต่มิติที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือความปั่นทอนในจิตใจของเกษตรกร

เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะปัญหาหนี้สินมายาวนาน

-ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์-

 

การกลับตัวออกจากวงจรหนี้สินของชาวนาไทย จำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ประการ คือ 1.หยุดหนี้สินเดิม ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้

หรือการตัดขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้บางส่วน 2.การสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งอาจมาจากการหาตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

หากต้องการชำระหนี้สินเดิมให้หมดในระยะ 5 ปี รายได้สุทธิจากการเกษตรต่อปีจะต้องมากกว่า 25% ของปริมาณหนี้คงค้าง

3.การมีเงินลงทุนใหม่ ซึ่งอาจจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก สามารถลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความเสี่ยงหรือมีต้นทุนการเงินต่ำ

-ดร.เดชรัต สุขกำเนิด-

 

การเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับผู้ผลิตในระบบอาหารปลอดภัย เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนัก

และเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกไปสู่พลเมืองอาหารที่มีความเข้าใจในโลกาภิวัตน์ของระบบอาหารที่ปัจจุบันปัจจัยการผลิตและตลาดอาหาร

ตกอยู่ในกำมือของทุนขนาดใหญ่ โดยใช้นโยบายของรัฐเป็นเครื่องมือในการกำกับ

-ดร.อาภา หวังเกียรติ-

 

สารบัญ : พลังสังคมอินทรีย์ แก้หนี้ชาวนา

·  บทนำ: ชาวนากับผู้บริโภค ความสัมพันธ์ใหม่ที่ท้าทาย

·  ส่วนที่หนึ่ง: เส้นทางหนี้สินชาวนาไทย

·  ประวัติศาสตร์และวงจรหนี้สินชาวนาไทย

·  ส่วนที่สอง: พฤติกรรมการเงินชาวนา

·  พฤติกรรมการเงินชาวนา กับการแก้ปัญหาของรัฐ

·  ส่วนที่สาม: พลังแห่งผู้บริโภค

·  เส้นทางการผลิตอินทรีย์ พลังของชาวนาผู้มีหนี้

·  ผู้บริโภค...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

·  การเรียนรู้ของชาวนา กับตลาดอินทรีย์ที่กำลังเติบโต

 

download

 

ราคาเล่มละ 160 บาท (รายได้สมทบเข้ากองทุนสนับสนุนการแก้หนี้และปรับตัวของชาวนา)

สามารถสั่งซื้อหนังสือโดยวิธีการ inbox มาที่ : www.facebook.com/LocalAct 

 

สร้างรายได้จากถิ่นฐาน ผสานหลักธรรมนำใจ พอใจในวิถีพอเพียง

PopearngFarmerGroup

ธรรมะมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก การมีคุณธรรม จริยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตประจำวัน สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาทักษะชีวิตและสังคมในทุกด้าน

สถานธรรมแห่งหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่อยู่ใน ต.หนองกร่าง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อศึกษาธรรมะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นที่พักพิงด้านจิตใจให้บุคคลโดยทั่วไป ที่ประสบปัญหาทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องครอบครัว สุขภาพ และการเงิน โดยอาศัยหลักธรรมคำสอนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้แต่ละครอบครัวสามารถเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาในชีวิต

จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนพบว่า ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมามีหลายครอบครัวที่เข้ารับการอบรมทักษะในการใช้ชีวิตกับทางสถานธรรมไปแล้ว ส่งผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจในทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาที่หยั่งรากลึกลงในชุมชน เช่น  ปัญหาราคาสินค้าการเกษตร ปัญหาผลผลิตที่ได้น้อยไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ ทำให้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำ  ปัญหาด้านการตลาดจากราคาพืชผลไม่แน่นอนและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และที่สำคัญคือการใช้สารเคมีที่ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรสูงขึ้น

นั่นคือแนวคิดเริ่มต้นในการใช้พื้นที่ในสถานธรรมเป็น ‘สถานที่ฝึกทักษะอาชีพด้านเกษตรอินทรีย์’ เริ่มจากการชักชวนชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คนว่างงาน แรงงานนอกระบบ เข้าร่วมโครงการอบรมทักษะอาชีพ

เป้าหมายการทำงานเพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้าน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยหันมาปลูกผักปลอดสารเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน  และเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ และเปลี่ยนแปลงวิธีคิดให้ลดละเลิกการใช้สารเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต มีการปลูกพืชหมุนเวียนมากขึ้น หรือใช้พื้นที่ที่มีอย่างจำกัดปลูกพืชในกระถาง เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง

รูปแบบกิจกรรมจะเน้นเรื่องการเสริมทักษะความรู้ให้กับคนในชุมชน เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพแทนการใช้สารเคมี การฝึกทักษะเรื่องการแปรรูปผลไม้ การนำพืชผักผลไม้ที่มีอยู่แล้วนำมาแปรรูป การเพิ่มทักษะในเรื่องความสะอาด การตาก การจัดเก็บ การพัฒนารูปแบบของสินค้า การทำบรรจุภัณฑ์ให้ดูดี มีมาตรฐานเป็นการเพิ่มมูลค่า ให้ความรู้เรื่องการทำชาสมุนไพร เช่น อัญชัน  เตยหอม ใบหม่อน ใบดาวอินคา ตระไคร้ เพื่อนำผลผลิตที่มีอยู่แล้วมาแปรรูปให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น การให้ความรู้เรื่องการทำน้ำยาเอนกประสงค์จากมะกรูด มะนาว นำมาทำเป็นน้ำยาล้างจาน มะกรูด อัญชัน ทำแชมพูสระผม มะขาม ทำเป็นสบู่เหลว เป็นต้น

วัตถุประสงค์การเรียนรู้และฝึกทักษะไม่ใช่เพียงเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เพิ่มเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการแปรรูปเพื่อใช้เอง ทดแทนการซื้อจากภายนอก การพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายครัวเรือน รู้จักการทำบัญชีครัวเรือน พร้อมกับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรมควบคู่กันไป 

นอกจากความรู้เรื่องทักษะอาชีพ สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการมารวมตัวกัน คือ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในชุมชน เนื่องจากแต่ละคนจะมีความถนัดต่างกัน ทำให้สามารถพูดคุยและช่วยเหลือกันได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพได้ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้อีกด้วย

ปัจจุบันชาวบ้านที่ได้ผ่านการเรียนรู้เรื่องทักษะในการประกอบอาชีพได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชน พอใจในวิถีพอเพียง”  เพื่อทำหน้าที่รวบรวมและพัฒนาช่องทางตลาดให้กับสมาชิก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกออกมาวางจำหน่ายหลากหลายชนิด และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีจุดขายที่สำคัญ คือ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี และไม่มีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ (เจ) อาทิเช่น น้ำพริกสมุนไพรคั่วกล้วย  น้ำพริกมะม่วงหาวมะนาวโห่  กล้วยกระจก ชาอัญชันผสมเตยหอม ชาดาวอินคาผสมเตยหอม ชาใบหม่อน ชาไมยราบ  ยาสระผมจากมะกรูด อัญชัน ว่านหางจระเข้ ย่านาง

หลังจากได้ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ผ่านช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทำให้ค้นพบว่า นี่คือคำตอบของชุมชนที่ต้องการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง เพราะในยามวิกฤติที่หลายคนตกงาน ไม่มีรายได้ แต่ชาวบ้านที่ได้เข้ามาเรียนรู้กับทางสถานธรรมก็ยังมีพืชผักผลไม้ปลอดสารเคมีไว้บริโภค เพื่อลดรายจ่าย แถมยังสร้างรายได้ และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 11 ก.ย. 2563

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

WorldKithchenThailand

หนุนเกษตรอินทรีย์เดินคู่เกษตรเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดันครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” ร่วมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักมาตรฐาน GAP และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในนามนักวิชาการ ผู้แทนภาคเอกชน ภาครัฐ และเกษตรกร มาร่วมสะท้อนอุปสรรค โอกาส และแนวทางการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ผู้แทนพรรคการเมือง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และหาทางออกในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และสารเคมีเกษตรเพื่ออาหารปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มนักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน เกษตรกรเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบัน เริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบ หรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการ Smart Agriculture Industry (SAI) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย”

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะ ทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจากปัจจัยเริ่มต้นคือ ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วน จะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา ให้สามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความจริงที่ว่า ไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต”

 

 

 ส่วนประเด็นร้อนตอนนี้ ปุ๋ยแพง ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ควรไปทางไหนดี นายสุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า “ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจากปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ รวมทั้งการเลิกเผาตอซังในข้าวแล้วใช้วิธีไถกลบ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และเป็นการเพิ่มอินทรีย์ให้กับดินได้เช่นกัน”

  

 

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า “ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกา ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญ จากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนราย จนในที่สุด ต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น”

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด ได้เล่าประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) ไว้ว่า “สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้ง ความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบ GAP ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าในต่างประเทศ”

 

ขณะเดียวกัน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP (เกษตรเคมี) สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้ง สารกำจัดศัตรูพืช ได้บริหารจัดการนำเข้ามาเพิ่มเติมโดยในปีนี้ คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญที่สุด กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งการเกษตรระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่”

 

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลกได้อย่างน่าสนใจ โดย พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ความสำคัญในเรื่อง “เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์”

ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เน้นว่า “นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ”

 

 

 

 

 

ด้าน พรรคก้าวไกล ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทยว่า “หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น ด้วย 1) แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2) แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3) แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมียม ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อกหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองต่อทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

และ พรรคเพื่อไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ เสริมว่า “เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือ เพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต”

 

 

 

 “ท้ายที่สุด การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบ GAP (เกษตรเคมี) อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภค เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ” นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

ที่มา : มติชน วันที่ 21 มิ.ย. 2565

อยากให้เป็นอย่างนี้ทุกวัน

FarmerLife

ฝนที่ตกโปรยปรายมาทั้งคืนเพิ่งซาเม็ดลงเมื่อตอนเช้ามืด แสงแรกของวันดูขมุกขมัวเพราะท้องฟ้ายังมีเมฆดำปกคลุมอยู่ทั่ว  สรรพสัตว์ในท้องนาต่างพากันร้องดังระงมต้อนรับความชุ่มฉ่ำของสายฝน ประสานกับเสียงไก่ขันที่ดังแว่วมาเป็นระยะ

          เด็กหญิง-เด็กชายสองพี่น้องตื่นแต่เช้าตรู่มาอาบน้ำแต่งตัว เตรียมพร้อมไปโรงเรียนวันแรกหลังจากที่ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนไปหลายเดือน เพราะสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

          เมื่อแม่ส่งเสียงเรียกให้มากินข้าว พ่อจึงหยุดกวาดเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่นจากลมฝนเมื่อคืนนี้ ขณะที่เด็ก ๆ สะพายเป้หนังสือเดินตามกันออกมาจากห้องนอน สำรับอาหารเช้านี้มีแกงจืดหมูบะช่อกับใบตำลึง ที่เก็บมาจากสวนผักข้างบ้าน ปลาช่อนแดดเดียวทอดกลิ่นหอมฟุ้ง ซึ่งพ่อไปทงเบ็ดได้มาจากทุ่งนาข้าวอินทรีย์ของพ่อเอง และผัดยอดผักอ่อมแซบ(ตำลึงหวาน) รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ  

          วันนี้แม่เก็บผักได้หลายอย่าง มีผักที่เป็นเครื่องต้มยำ คือ ตะไคร้ หัวข่า ใบมะกรูด มะนาว ผักที่เป็นเครื่องยำและลาบ คือ สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนูสวน ต้นหอม และยังมียอดชะอม กะเพรา โหระพา บวบ  มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว มะระจีน และดอกแคขาว อีกด้วย ส่วนถั่วฝักยาว น้ำเต้า และแตงกวา ยังต้องรอให้ถึงวันพรุ่งนี้จึงจะเก็บได้

          กว่าพ่อจะกลับถึงบ้านก็เวลาบ่ายคล้อยไปแล้ว หลังจากจิบน้ำใบเตยอุ่น ๆ หอมชื่นใจที่แม่เตรียมไว้ให้จนหายเหนื่อย ก็รีบกุลีกุจอมาช่วยแม่จัดผักเป็นกำ ๆ เตรียมไว้ส่งให้น้าข้างบ้านซึ่งจะรับไปขายที่ตลาดเย็น หลังจากเสร็จธุระเรื่องขายผักแล้ว พ่อก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปที่แปลงนา ปีนี้พ่อวางแผนจะปลูกข้าวปลอดภัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากที่ทำนาแบบใช้สารเคมีมาเกือบทั้งชีวิต แต่ก็ไม่เคยขายข้าวได้ราคาดี ถูกกดราคาจนไม่มีเงินเหลือเก็บ และยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี

          ตอนนั้น พ่อกับแม่หันหน้ามาปรึกษากันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น และลงมือปฏิบัติจริงไปตามขั้นตอน เริ่มด้วยการลดความเสี่ยงจากการทำนาเพียงอย่างเดียว มาทำเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการทำนา ปลูกผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม ลดต้นทุนด้วยการปรับระบบการผลิตให้ปลอดภัย ใช้สารชีวภาพที่ผลิตได้เอง พัฒนาศักยภาพและความรู้เรื่องการแปรรูป หาช่องทางตลาดและเข้าถึงคนซื้อโดยตรง และยกระดับตัวเองให้เป็นชาวนามืออาชีพ ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ตัวเองด้วยการวางแผนชีวิต แผนการผลิต และจัดระบบการเงินของครอบครัว

          พ่อมีความเชื่อว่าระบบชุมชนที่เปิดใจรับฟังปัญหากัน จะช่วยสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อทำอะไรร่วมกันได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกันแก้ไข เยียวยา และดูแลให้ชาวนาที่มีปัญหาหนี้สินได้ผ่านวิกฤติไปได้ พ่อจึงชวนเพื่อนชาวนาที่สนใจได้ 5 ราย ทดลองปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวในระบบอินทรีย์ ซึ่งแม้จะไม่ค่อยมั่นใจ แต่ก็มีหัวใจที่มุ่งมั่นและพร้อมลงมือปฏิบัติจริง

          ในระหว่างทางย่อมมีปัญหาอุปสรรคอยู่เสมอ หากแต่การแสวงหาความรู้และไม่ยอมหยุดพัฒนาตัวเองคือปัจจัยสำคัญที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา มีความรู้อยู่มากมายที่จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวแม้จะได้ข้าวในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิม ได้เงินน้อยกว่าที่เคยได้ แต่กลับพบว่าเงินจำนวนนั้นคือกำไรสุทธิที่แทบไม่เคยมีมาก่อนจากการทำนาที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะต้นทุนด้านสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชที่ลดลง กลายเป็นเงินส่วนต่างที่นำไปบรรเทาปัญหาหนี้สินได้ คือข้อพิสูจน์ที่ตอกย้ำให้มีกำลังใจสู้เพื่อพัฒนาอาชีพชาวนาที่ปรับการผลิตไปสู่ระบบอินทรีย์ซึ่งอยู่รอดได้จริง แถมยังภูมิใจที่ได้ช่วยดูแลดิน ถนอมน้ำ รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างผลผลิตคุณภาพดีที่ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน อีกทั้งยังคืนความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของท้องทุ่ง ให้มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ข้าว และพืชอาหารที่หลากหลายของคนเรา

          หลังเลิกเรียน เด็กหญิงผู้พี่หิ้วมะละกอลูกใหญ่กลับมาบ้าน พร้อมบอกเล่าอย่างตื่นเต้นว่า ต้นมะละกอที่เธอกับเพื่อน ๆ ช่วยกันปลูกไว้ที่โรงเรียน ตอนนี้ออกลูกดกมากจนกินไม่ทัน คุณครูเลยให้เอากลับมาฝากที่บ้าน ขณะที่เด็กชายผู้น้องก็ส่งเสียงดังเจื้อยแจ้วไม่แพ้กันว่า ต้นมะเขือกับพริกที่เขาปลูกไว้ ก็ยังอยู่รอดและออกผลดกเหมือนกัน

          แม่จัดการกับมะละกอลูกนั้นเป็นเมนูมะละกอผัดไข่ อาหารมื้อเย็นทานกับน้ำพริกถั่วลิสง ผักสด แกงเลียงผักรวม และข้าวสวยร้อน ๆ ที่หุงจากข้าวอินทรีย์ที่พ่อปลูกเอง ผสมน้ำคั้นดอกอัญชันที่ปลูกไว้รอบบ้าน แต่งสีให้เป็นข้าวสีน้ำเงินหอมกรุ่นน่ารับประทาน

          ค่ำแล้ว แสงไฟในบ้านเปิดสว่าง แมลงกลางคืนส่งเสียงร้องระงมเป็นดนตรีธรรมชาติจากกลางทุ่ง สายลมเย็นพัดโชยมาเป็นระยะพร้อมเห็นแสงฟ้าแล่บอยู่ไกล ๆ เป็นสัญญาณว่าคืนนี้คงมีฝนกระหน่ำมาอีกระลอก พ่อหยิบถุงเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมานั่งคัด เพื่อเตรียมไว้ปลูกในเวลาอีกไม่นานนี้ ส่วนแม่ก็กำลังส่งเสียงกระซิบระคนหัวเราะ ขณะที่สอนให้เด็กน้อยทั้งสองได้รู้จักเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่าง ๆ ก่อนช่วยกันแยกประเภทบรรจุลงถุง

          พ่อเงยหน้าขึ้นมองฝ่าความมืดไปที่ทุ่งนากว้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปนเปื้อนอาบทาด้วยสารพิษ หากแต่ขณะนี้ได้พลิกฟื้นกลายเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่ผลิตอาหารปลอดภัยหล่อเลี้ยงผู้คน สร้างระบบนิเวศให้สรรพสัตว์และพืชมากมายได้อิงอาศัยร่วมกัน รวมถึงสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่มั่นคงให้กับครอบครัวอีกด้วย

          พ่อยิ้มให้ภาพตรงหน้าอย่างมีความสุข พร้อมพูดกับตัวเองเบา ๆ ว่า....อยากให้เป็นอย่างนี้ทุกวันจังเลย....    

อร่อยกับคู่จับคู่ปั่น น้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ

ConsumerWorkshop01

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไท(โลโคลแอค) ได้จัดกิจกรรมพาผู้บริโภคท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก เช่น ทัวร์ล่องเรือ ชิมส้ม ชมสวน ณ แหล่งผลิตส้มเขียวหวานอินทรีย์ ย่านรังสิตคลอง  13 จ.ปทุมธานี ทัวร์ปรุงรักผักอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย เรียนรู้วิถีอาชีพของเกษตรกรรายย่อย และได้อุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรจากสวนโดยตรง

ครั้งล่าสุดในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้ปรับรูปแบบกิจกรรม “เปิดบ้านชีวิตไท” และเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วม work shop ทำน้ำปั่นผักผลไม้และธัญพืชเพื่อสุขภาพ เมื่อพูดถึงน้ำปั่นผักผลไม้ ที่บางคนใช้ผลไม้ชนิดเดียวปั่นแล้วดื่ม ไม่รู้ว่าสามารถใส่ผักชนิดอื่น ๆ  ร่วมด้วยได้ ส่วนใหญ่ปั่นเสร็จดื่มทันที ไม่เคยเติมโน่นนี่เพิ่ม และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้น้ำปั่นผักออกมาได้รสชาติอร่อย

ยังไม่นับรวมสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคและพฤติกรรมการใช้ชีวิตแทบทั้งนั้น   ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งให้ผู้บริโภคได้นำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ในการดูแลตนเองและคนในครอบครัวไปพร้อมกัน

ทางมูลนิธิฯได้ชวน ป้าหน่อย พอทิพย์ เพชรโปลี ซึ่งอดีตเคยเป็นครูมาก่อน ปัจจุบันทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ Health Me มานาน 13 ปีแล้ว  และเมนูน้ำปั่นผักเป็นหนึ่งในหลายๆ เมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับลูกค้า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มีเนื้อหาน่าสนใจ อาทิเช่น การจัดกลุ่มผัก ผลไม้ ที่จะนำมาปั่น ชนิดของผลไม้ที่ไม่ควรขาดเพื่อเพิ่มรสชาติให้น้ำปั่นอร่อย เทคนิคการเตรียมวัตถุดิบให้ทำน้ำปั่นได้นานนับสัปดาห์ รวมถึงการเลือกเครื่องปั่น เป็นต้น

หลักการทำน้ำปั่นผักผลไม้ที่ป้าหน่อยแนะนำ อยากให้ท่านเน้นผักผลไม้ที่หาได้ง่ายในบ้านเราไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะได้ไม่สิ้นเปลืองเวลาและพลังงานขนส่ง ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นโดยไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋อง และดีที่สุดคือปลูกไว้ทานที่บ้าน เพราะทั้งประหยัด ปลอดภัย ยังแบ่งให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย

ConsumerWorkshop02

ป้าหน่อยเริ่มด้วยการบอกกับผู้เข้าอบรม ให้จัดกลุ่มผักผลไม้เป็นลำดับแรก  ผักสีเขียว ชนิดไม่มีกลิ่นเช่น ผักบุ้ง ตำลึง วอเตอร์เครส อ่อมแซบ หรือ เบญจรงค์ห้าสี ผักสีเขียวชนิดมีกลิ่น เช่น จิงจูฉ่าย ขึ้นฉ่าย กระเพรา โหระพา ผักชี เพราะผักมีกลิ่นฉุนนั้นเราใส่ได้เพียงเล็กน้อย หรืออะไรที่แพ้ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้สามารถใส่ได้ 1-2 ใบ  ผลไม้รสเปรี้ยว  มะนาว สับปะรด ตะลิงปริง เสาวรส มะม่วงหาวมะนาวโห่  ธัญพืช  ถั่วชนิดต่าง ๆ ลูกเดือย  สมุนไพร ว่านกาบหอย (แก้ร้อนใน) ของเหลว เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำเต้าหู้ นม  น้ำผึ้ง แต่ให้พึงระวังเรื่องความหวานไว้

เทคนิคสำคัญที่ทำให้น้ำปั่นผักผลไม้มีรสชาติอร่อยถูกปาก สิ่งที่ไม่ควรขาดคือ สับปะรด กล้วยน้ำว้าสุก หรือกล้วยชนิดอื่นก็ได้ จะช่วยให้น้ำปั่นมีรสนุ่มละมุน คล้ายสมูทตี้ และหากเติมธัญพืชลงไปในโถปั่น จะทำให้มีรสมันช่วยให้อิ่มท้อง ดื่มเช้าอิ่มถึงเที่ยงกันเลย

อร่อยกับคู่จับคู่ปั่น ช่วงนี้ของการอบรมป้าหน่อยให้แต่ละคนจับคู่คุยกัน อยากทานน้ำปั่นรสชาติแบบไหน หลังจากมีความรู้บ้างแล้ว แต่ป้าได้กระซิบบอกว่า ของที่ควรหยิบจับใส่โถ อยากให้มีว่านกาบหอย สับปะรด กล้วย วอเตอร์เครส ธัญพืช 1 ชนิด ผักที่มีกลิ่นสัก 1 อย่าง ของเหลวอีก 1 และน้ำแข็ง  เมื่อปั่นเสร็จเราควรชิมก่อนทุกครั้ง จะได้รู้ว่าจืดไป เปรี้ยวไป หรือหวานไป จะได้เติมใหม่ให้อร่อย ใส่เกลือได้นิดหน่อย เสริมอีกหน่อยคือ ไม่มีเมนูน้ำปั่นผักที่สามารถรักษาโรคได้ เพียงช่วยเสริมสร้างสุขภาพ  ได้ทานผักผลไม้หลายชนิดไปพร้อมกัน

และเพื่อลดความยุ่งยากทำให้มีน้ำปั่นผักผลไม้ทานแบบยาวๆ เป็นอาทิตย์ เราสามารถเตรียมทุกอย่างใส่ถุงซิปล็อคแช่แข็งไว้ อยากทานเมื่อไหร่แค่เติมน้ำแข็ง ของเหลว (น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำเต้าหู้ อย่างใดอย่างหนึ่ง)

ชนิดเครื่องปั่นให้เลือกที่กำลังวัตต์สูงนิดหนึ่งเพราะต้องปั่นน้ำแข็ง ท่านสามารถหาความรู้เพิ่มได้ที่เวบไซต์ฉลาดซื้อ และควรเลือกเครื่องปั่นไม่แยกกาก ทำให้อิ่มท้อง จะได้ไม่ทิ้งกากใย ช่วยดูแลลำไส้ ระบายท้อง

กิจกรรมเปิดบ้านชีวิตไทครั้งนี้ สร้างความทับใจให้กับผู้เข้าร่วมหลายอย่าง บางท่านชอบตอนได้ชิม ได้เรียนรู้หลักการทำน้ำปั่นแบบง่าย สะดวก ประหยัด เป็นกระบวนการที่ช่วยกันคิด ชวนกันทำ เติมในสิ่งชอบ เพิ่มในสิ่งที่ขาด ได้น้ำปั่นออกมาอร่อย ดูแลสุขภาพกันไปแบบยาว ๆ 

 

อัพเดท! 7 มาตรการ 'ธ.ก.ส.' ช่วยเหลือ 'เกษตรกร' จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19

TorKorSorCovidLoan

รวม 7 มาตรการ 'ธ.ก.ส.' ช่วยเหลือ 'เกษตรกร' จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมความคืบหน้าแต่ละโครงการ

"ธ.ก.ส." เผยผลการดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้และการสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน SMEs เกษตร โดยมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และบุคคลในครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อฉุกเฉิน เป้าหมาย 2 ล้านราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อจำนวน 2,082,967 ราย จ่ายไปแล้วกว่า 2 แสนราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท แจงยอดติดตามทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการเราไม่ทิ้งกันไปแล้วกว่า 2 แสนราย และการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย จ่ายไปแล้วกว่า 4.72 ล้านราย เป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมสินเชื่อและ แผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน แบ่งเป็น 7 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการและสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 3.85 ล้ายราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท

2) มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ (เมษายน - มิถุนายน 2563) ทั้งในส่วนของเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทั้งประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 89,735 ราย มูลหนี้รวม 32,647 ล้านบาท

3) มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินลูกค้า SMEs แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (เมษายน - กันยายน 2563) แบบอัตโนมัติทุกรายให้กับ SMEs ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท และในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back) ซึ่งมีลูกค้า SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 667,928 ราย มูลหนี้รวม 221,104 ล้านบาท

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs (Soft Loan ของ ธปท.) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 11,341 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,564.41 ล้านบาท

4) มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเมษายน 2563 - มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯ ให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3,348,378 ราย มูลหนี้รวม 1,265,492 ล้านบาท

5) มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกนับจากวันกู้ ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อรับสินเชื่อแล้วจำนวน 2,082,967 ราย โดย ธ.ก.ส. ได้นัดหมายลูกค้ามาทำสัญญาและอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 201,573 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเปิดให้กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารคัดกรองแล้ว สามารถทำสัญญาอิเล็คทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมาติดต่อที่ ธ.ก.ส. สาขา โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พ.ค. 2563

เกษตรปลอดเคมี ปลอดหนี้ พิสูจน์แล้วได้ผลจริง

Somjai

วิถีเกษตรกระแสหลักที่ปลูกในเชิงพาณิชย์  ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายนอกทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช แรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ และด้วยระบบการผลิตแบบเคมี ยิ่งทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ราคาถูกแต่คนซื้อน้อย จนเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรเจ้าของสวนนำของจำนวนมากออกมาเททิ้ง เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบอาชีพนี้  เข้าสู่วงจรยิ่งทำยิ่งจนแถมยังติดหนี้สิน เพราะต้นทุนการผลิตพุ่งไม่หยุด ต้องกู้เงินร้านปุ๋ยร้านยา ขายผลผลิตได้ก็ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ก่อน เพื่อได้มีเครดิตกู้ใหม่รอบต่อไปกลายเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น

ในกระแสธารการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ถาโถมเข้ามานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้ (ต้องใช้เงินซื้อในราคาสูงขึ้นทุกปี) แต่หากเราตั้งหลัก ยึดแนวทางการพึ่งพาตนเอง แสวงหาต้นทุน โอกาสที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับแนวทางดำเนินงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน ที่เป็นระบบการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง ตามวิถีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทางมูลนิธิชีวิตไทสนับสนุนส่งเสริมชาวนาและเกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ หน่ายงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สนับสนุนความรู้ เทคนิคด้านการผลิตและการสร้างตลาดอินทรีย์ในระดับต่าง ๆ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนทำการเกษตร ช่วยเรื่องสุขภาพของคนในครัวเรือน ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยไร้สารเคมี สามารถเพิ่มมูลค่า มีช่องทางจำหน่ายชัดเจน

สมใจ ปลีอ่อน หรือใจ ชาวนาบ้านท่าสะตือ ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทั้งนาเช่าและนาตนเอง ทำนาประมาณ 20 ไร่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นนาลุ่ม ทำให้การทำนาของสมใจไม่ค่อยได้ผลผลิตเท่าที่ควร และการทำนาก็ค่อนข้างยากลำบาก ต้องทำนาในช่วงเวลาที่พร้อมกันกับนาแปลงอื่นๆ ถ้าทำนาล่าช้ากว่านาแปลงอื่นๆ ก็จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมแปลงนา ปี 2564 สมใจเหลือพื้นที่นำนา 17 ไร่ เนื่องจากพื้นที่นา 3 ไร่ถูกน้ำท่วม ไม่สามารถทำนาได้ “ไม่ทันน้ำท่วม”   เนื่องจากอาชีพทำนามีรายได้ไม่แน่นอน รายรับน้อยกว่ารายจ่าย จึงทำให้สมใจมีภาระหนี้สินสะสม 4 แสนกว่าบาท และเป็นการแก้หนี้ด้วยการกู้เพิ่ม ในปี 2563 สมใจจึงตัดสินใจประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้หลายทางทั้งในและนอกภาคเกษตร ได้แก่ นวดแผนไทย บริบาลผู้ป่วย เลี้ยงไก่ชนเพื่อขายไก่เนื้อ และปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อย

การปลูกผักสวนครัวที่ริมแม่น้ำน้อยเป็นอาชีพ เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ  มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1 งาน มีช่วงเวลาในการปลูกผักประมาณ 6 เดือน คือ เดือนธันวาคมถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำหลากท่วมในพื้นที่ ผักที่ปลูกจะเน้นนำมาบริโภคเอง เพื่อลดรายจ่ายด้านอาหารของครอบครัว และบางส่วนขายเพื่อนบ้านในชุมชน แปลงผักของสมใจปลูกผักหลายชนิด  เช่น มะเขือ มะละกอ บวบ กะเพรา กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก ถั่ว แครอท  ฯลฯ สภาพดินริมฝั่งแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้แปลงผักได้ผลผลิตดี  และเสริมด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกองสำหรับใช้เองในแปลง เน้นวัสดุและมูลสัตว์พื้นที่ใกล้เคียง เช่น มูลแพะ มูลวัว ฟางข้าว เศษหญ้าสด และ น้ำหมักสับปะรด 

สมใจบอกว่า “พี่ทำแบบง่าย ๆ โดยนำวัสดุฟางข้าว เศษหญ้าสด วางชั้นล่างสุด แล้วโรยด้วยมูลสัตว์ให้ทั่วกอง วางแบบนี้เป็นชั้น ๆ จนวัสดุหมด และราดให้ทั่วกองด้วยน้ำหมักสับปะรด ช่วยย่อยสลาย อาทิตย์ละครั้งพร้อมทั้งกลับกองปุ๋ย ใช้เวลาหมักนานประมาณ 1 เดือน ปุ๋ยจะร่วนซุยมีสีดำ สามารถนำมาใช้ผสมดินปลูก ดินเพาะได้"   หรือถ้าท่านสามารถใช้วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แบบไม่พลิกกลับกองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

สามารถศึกษารายละเอียดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกองตามลิงค์นี้

OrganicFarmSomjai

แปลงผักและผลผลิต แครอทปลอดสารพิษริมแม่น้ำน้อยของพี่ใจ

นอกจากนี้ สมใจได้เลี้ยงไส้เดือนดินด้วยตนเอง เพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนมาผสมดินปลูกผัก พื้นที่แปลงผักขนาดเล็ก ใช้สัดส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนครึ่งกิโลกรัม  สัดส่วนมูลไส้เดือน 1 ส่วน เศษวัสดุที่จะใช้ปลูก 4 ส่วน และได้นำมูลไส้เดือนส่วนที่เหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมกับผู้สนใจในชุมชน

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 สมใจได้เข้าอบรมการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนดิน ให้ได้ปุ๋ยนำไปใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงไส้เดือนดิน พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง คือ พันธุ์ AF เป็นไส้เดือนดินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์รวดเร็วมาก มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน จึงชอบอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงสำหรับวิธีการเลี้ยงไส้เดือนเริ่มจาก

1. นำปุ๋ยคอกแช่น้ำ 2-3 วัน และถ่ายน้ำออก (ทำสองครั้งรวม 6-7 วัน) เพื่อให้ปุ๋ยคอกนิ่มและเย็นพร้อมเป็นอาหาร สิ่งนี้เรียกว่า “เบดดิ้ง”

2. ปล่อยไส้เดือนลงในภาชนะเลี้ยง (3 ขีดต่อกะละมัง หรือ 1 กิโลกรัมต่อรองซีเมนต์)

3. พรมน้ำแบบละออง วันละครั้งหรือมากกว่าเมื่ออากาศร้อน เพื่อให้เบดดิ้งมีความชื้นและเย็น

4. นำเศษผักหรือผลไม้ใส่ลงภาชนะเลี้ยงเพื่อเสริมธาตุอาหาร และ

5. ปาดมูลบริเวณผิวภาชนะ หลังเริ่มเลี้ยงไส้เดือน 5-7 วัน และทำการร่อนมูลไส้เดือนเพื่อคัดแยกมูลกับสิ่งเจือปนอื่น

CompostTraining01

อบรมวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน

CompostTraining02

                                                   เตรียมแปลงปลูกผัก                                                     มูลใส้เดือนพร้อมใช้จากพี่ใจ

ด้วยแนวทางการปรับระบบการเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ และการพัฒนาอาชีพเสริมรายได้อย่างจริงจัง (ไม่ทำนาอย่างเดียว ที่มีความเสี่ยงสูง) ส่งผลให้สมใจและชาวนาตำบลบางขุดหลายราย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนลงได้ (โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีซึ่งตอนนี้ขยับราคาสูงขึ้นอีกเท่าตัว) หลายคนมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 บาท และกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมโครงการ มีการออมเงินเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน แม้ยังไม่สามารถนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สินได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก เนื่องจากภาระหนี้สินมีอยู่มาก ประกอบกับรายได้ที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่หลายคนก็สามารถนำเงินที่ได้จากการขายผลผลิตไปผ่อนและลดภาระหนี้ได้บางส่วนแล้ว

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 26 เม.ย. 2565

ผู้เขียน : สมจิต คงทน

เมื่อชาวนาขายข้าวเอง บทเรียนการปรับตัวของชาวนายุคโควิด

RiceFarmerMarket

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและภาวะวิกฤตเดิมที่สั่งสมและเรื้อรังมานาน ราคาข้าวเปลือกที่ดิ่งลงต่ำ สวนทางกับปัจจัยการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ชาวนามีความจำเป็นต้องปรับเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการปลูกและขายข้าว “การปรับตัวของชาวนาเพื่ออยู่รอดในยุคนี้ ต้องปรับสู่การผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการตลาดให้มากขึ้น” นี่คือคำกล่าวของชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มชาวนาที่เคยทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสี ปลูกผักขายพ่อค้าคนกลาง สู่การผลิต แปรรูป และทำการตลาดตรงสู่ผู้บริโภค

     “กลุ่มเรามีทั้งชาวนารุ่นเก่าและชาวนารุ่นใหม่ ส่วนตัวผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ แต่มีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่  และได้ดึงชาวนารุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ในการลงมือทำเกษตรมาเข้าร่วมกลุ่ม ผมเป็นชาวนารุ่นใหม่ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติจากชาวนารุ่นเก่า ส่วนชาวนารุ่นเก่าก็อาศัยเราเรื่องการใช้เทคโนโลยีได้ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้กลุ่มของเราดำเนินงานไปได้อย่างสมดุล” ชรินทร์กล่าว

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ชาวนาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนาที่ทำนาขายข้าวให้โรงสีทั้งหมดและไม่ได้เก็บข้าวไว้บริโภคเอง เมื่อเกิดผลกระทบด้านตลาดส่งออก ราคาข้าวตกต่ำ ปริมาณข้าวในประเทศมีล้นตลาด ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศมีความต้องการข้าวที่ปลูกแบบเคมีน้อย จึงโดนโรงสีกดราคาได้ง่าย ในขณะที่กลุ่มชาวนาซึ่งผลิตข้าวคุณภาพไม่ใช้สารเคมี วิกฤตจะเป็นโอกาสในการพัฒนาช่องทางการตลาดข้าวคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

      วิธีการปรับเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ทางกลุ่มไม่ได้ปรับมาเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดในปีแรก แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบผสมผสานการใช้เคมีลดลงจนถึงน้อยที่สุด และเพิ่มสัดส่วนการใช้อินทรียวัตถุให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปรับเปลี่ยนจนดินฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงหยุดใช้เคมี ซึ่งแบบนี้ชาวนาจะเห็นผลในปีที่ 6 ดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องใช้สารเคมี 100% การปรับเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา ต้นทุน ทั้งแรงกาย แรงใจ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี ความปลอดภัยและการทำเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้วทางกลุ่มก็จะได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางการตลาดสู่ผู้บริโภค

    สำหรับการคิดคำนวณราคาขายข้าวสารของกลุ่ม ยกตัวอย่างราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท เราต้องมาแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วขายได้มากกว่า 12,000 บาท อย่างน้อยได้กำไรมากกว่า 20% ขึ้นไป  เท่ากับเราจะได้เพิ่มมาอีก 2,000 กว่าบาท เป็นราคาข้าวที่ทางกลุ่มขายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตั้งราคา คือ ชาวนาผู้ผลิตอยู่ได้ และผู้บริโภคอยู่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีผลผลิตส่วนเหลือของข้าวที่สีเป็นข้าวสาร ได้แก่ แกลบ รำ ปลายข้าว เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเราได้ เช่น แกลบ ทำปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย รำ ทำเป็นน้ำหมัก ปลายข้าว เป็นอาหารให้ปลาที่เราเลี้ยงไว้ หากเราบวกผลประโยชน์เหล่านี้แล้วเท่ากับเราจะขายข้าวได้เพิ่มอีกกว่า 3,000 บาท

    ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารที่จำหน่ายสู่ตลาด อาทิเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมปทุม ข้าว กข.43 ในรูปแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ผักสด เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ต้นหอม ผักโขมแดง ผักโขมเขียว มาตราฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร            สำหรับช่องทางการตลาดหลักของกลุ่ม จะขายผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น Facebook Line ออกบูธตามงานเกษตรในจังหวัด กลุ่มลูกค้ามีทั้งคนรู้จัก กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ และคนในชุมชน ซึ่งติดใจในคุณภาพของผลผลิตของทางกลุ่ม มีการซื้อซ้ำและบอกต่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าบริษัทเอกชน ซื้อข้าวจากกลุ่มไปให้พนักงาน

    สุดท้ายคุณชรินทร์ ยิ้มศรี ได้ฝากถึงพี่น้องชาวนาและเกษตรกรทุกคนให้มีกำลังใจ มองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับตัวและหาทางออกการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนการทำนา เพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคมากขึ้น อยากให้ภูมิใจในอาชีพชาวนา เพราะอย่างไรชาวนาถือเป็นสารตั้งต้นให้กับชีวิต เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทย และประชากรหนึ่งในสามของประเทศคือชาวนา หากไม่มีชาวนาคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6793100
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
5102
16904
38855
22006
6793100

Your IP: 3.137.171.121
2024-05-02 15:34