ผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคเกษตร ข้อเสนอและการปรับตัวของเกษตรกร

Covid19ImpactedFarmers

ที่มาภาพ : สุมาลี พะสิม

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดหนักในประเทศจีน และกระจายการแพร่ระบาดหนักไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติการณ์ร่วมของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนอย่างหนักหนาสาหัส ทั้งภาคแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว และหนึ่งในนั้นคือภาคเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน

           ปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องพบเจอในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลการสำรวจระดับพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ และรายได้ที่ลดลง จากเดิมที่เกษตรกรเคยขายผลผลิตได้ในตลาดปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกถูกปิดตัว พ่อค้าคนกลางหายไป ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำลง อีกทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคทางไกลเกิดความติดขัดและล่าช้าลงไป เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืน ส่งผลให้ผู้มารับผลผลิตไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางไกลลดลง เดิมเกษตรกรบางรายมีบริการขนส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคทางไกลด้วยตนเองก็ต้องหยุดการขนส่ง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามภาครัฐที่ขอให้ประชาชนงดการเดิมทางข้ามจังหวัด และตัวเกษตรกรก็ห่วงและกังวลในเรื่องโอกาสที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19  หากต้องเดินทางขนส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้ ไม่มีผู้รับซื้อ ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสียหาย

           นอกจากปัญหาด้านการตลาด ราคา และรายได้ที่ลดลงของเกษตรกรแล้ว เกษตรกรยังต้องเจอกับผลกระทบต่อปัญหาหนี้สิน เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง เกษตรกรที่มีหนี้สิน มีงวดผ่อนชำระรายเดือนและรายปี จึงจำเป็นที่จะต้องยื่นขอพักชำระหนี้ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบหลายด้าน แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือรอรับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เกษตรกรบางส่วนได้ดำเนินความพยายามหาของออกและปรับตัวต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  เมื่อเห็นว่าช่องทางการตลาดลดลง เกษตรกรได้ปรับลดปริมาณการผลิตลง ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางการตลาดที่เปลี่ยนไป และการบริโภคภายในครัวเรือนของตนเอง ลดขนาดพื้นที่ปลูก ลดการลงทุน เกษตรกรพยายามลดต้นทุนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบตลาดออนไลน์ และการขนส่งผลผลิตผ่านช่องทางการบริการขนส่งต่างๆ ที่มี ทั้งของภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

           ในส่วนความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกษตรกรมีต่อความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐในการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างล่าช้า ควรมีการจัดการช่วยเหลือเชียวยาต่อเกษตรกรที่รวดเร็วต่อสถานการณ์ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยาต่อเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท ไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนของเกษตรกรที่มีอยู่มาก เกษตรกรหนึ่งครัวเรือนมีไม่ต่ำกว่า 3 คน และควรช่วยเหลือเรื่องหนี้สินด้วยการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี เกษตรกรจึงจะสามารถบริหารจัดการหนี้สินที่มีได้

           รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะปกติ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาผลผลิต ข้อตกลงและนโยบายเดิมยังไม่มีกรอบเวลาช่วยเหลือที่ชัดเจน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนให้ผลผลิตของเกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น มีเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรจากระบบเคมีสู่อินทรีย์

           ประเทศไทยควรใช้วิกฤตโควิด-19 นี้ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร เพราะทิศทางการพัฒนาการเกษตรที่พึ่งพาตลาดส่งออกไม่ใช่คำตอบสู่ความยั่งยืน ควรมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรในการดำรงชีวิตบนฐานทรัพยากรที่หลากหลาย ให้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับและปรับตัวต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบ การส่งเสริมสู่ Smart Farmer ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำภาคเกษตร สนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตรเพื่อลดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม

           การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่จากวิกฤตก็ถูกใช้เป็นโอกาสได้เกษตรกรหันกลับมาทบทวนตนเอง ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยไม่รอความช่วยเหลือหรือเยียวยา ซึ่งหากทางภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านแนวทางหรือข้อปฏิบัติการปรับตัวหลังจากนี้ จะทำให้เกษตรกรมีแนวทางเลือกการพึ่งพาตนเองได้หลากหลาย เพื่อตั้งรับ และปรับตัวต่อปัญหาและวิกฤติการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น

ไทยโพสต์ วันที่ 26 พ.ค. 2563

พฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด-19 โอกาสทางการตลาดของผู้ผลิตรายย่อย

PreorderOrganicMarket

ตลาดคือพื้นที่ทางเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ผลิตรายย่อย และเชื่อมโยงกับเกษตรกร/ผู้ผลิตในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้ทำมาหากิน การระบาดของโควิด-19 ทั้งระลอกเก่าและใหม่ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบตลาดท้องถิ่นแบบเก่า โดยเฉพาะตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตามเพื่อความอยู่รอดในยุค New Normal มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวและปรับรูปแบบการตลาดให้เหมาะสม

           หนังสือเจาะเทรนด์โลก 2021 โดย TCDC ได้นำเสนอบทความตอนหนึ่งระบุว่า นวัตกรรมการสร้างตลาด คือการนำเสนอสิ่งที่ผู้คนมีความต้องการอยู่ แต่ยังไม่มีสินค้าหรือบริการนั้น ๆ อยู่ในท้องตลาด หรือมีสินค้า แต่ตลาดนั้นไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยข้อจำกัดด้านราคา เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกไม่อาจลงทุนไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มรอง ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือการใช้นวัตกรรมระดับสูงในการผลิต ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคผู้สร้างตลาดขึ้นเองจึงเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีข้อจำกัดที่น้อยกว่า สามารถสร้างและขับเคลื่อนได้โดยความต้องการของตลาดท้องถิ่น นอกจากจะตอบสนองความต้องการอย่างตรงจุดแล้ว พวกเขายังมีส่วนช่วยสร้างงานให้กับท้องถิ่นและสนับสนุนผู้คนในพื้นที่อีกด้วย ทำให้แบรนด์ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงนี้สามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภคได้ทันที ผ่านการตลาดแบบPeer-to-Peer หมายถึง การทำธุรกรรมระหว่างบุคคล เป็นการขายสินค้าและบริการกันโดยตรงระหว่างคนสองคน โดยที่ไม่มีบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง

           การตลาดแบบPeer-to-Peer เป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่ง มีหลักการ คือ โมเดลธุรกิจนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างลูกค้ากับเจ้าของทรัพยากร ซึ่งต้องยึดรูปแบบว่าต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่องค์กรบริษัทมาทำธุรกรรมกัน อาทิเช่น การปล่อยกู้ระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ การซื้อขาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกับทางพาณิชย์ ทำให้เกิดสังคมเครือข่ายกัน ซึ่งผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องลงทุนในทรัพยากรนั้น ๆ

           นอกจากนี้อินเทอร์เน็ต คือตัวขับเคลื่อนทางธุรกิจที่สำคัญ แน่นอนว่าการซื้อขายทางออนไลน์ย่อมได้ผลที่ดีกว่าการทำแบบออฟไลน์ อีกทั้งโมเดลธุรกิจนี้สามารถสร้างกำไรได้จากการเก็บ ค่าธรรมเนียมทางการค้า ค่าบริการ หรือมาจากการบริจาค รวมถึงโมเดลนี้สามารถสร้างผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเจ้าของทรัพยากรใด ๆ ก็สามารถทำธุรกิจได้ทันที เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโมเดลธุรกิจแบบตัวกลาง จึงขอยกตัวอย่างมาให้ดูบางส่วน

  • ‘eBay’ เป็นธุรกิจที่ทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อเจอกันในเว็บไซต์โดยมี platform ใช้งานร่วมกัน
  • ‘Craigslist’ เป็นธุรกิจที่ทำการค้าขายออนไลน์ที่ขายสินค้าท้องถิ่นโดยให้ผู้ขายนำสินค้าท้องถิ่นมาขาย และทำการตลาดทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติหรือตัดทางการค้าขายจากเจ้าถิ่นรายใหญ่ที่ผูกขาดที่ทำการตลาดแบบออฟไลน์

          ปัจจุบันโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกิดจากการปรับตัวตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ความสะดวกในการรับประทานอาหารนับเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่ เดิมคนส่วนใหญ่นิยมอาหารพร้อมรับประทานประเภทเร็วและสะดวก ไม่ค่อยสนใจคุณค่าทางอาหารเท่าไหร่นัก ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคมีความใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับส่วนผสมและที่มาของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้ออาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิค หรือการผลิตอินทรีย์จึงเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับสารเคมี ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี ตลอดจนการพิจารณาด้านจริยธรรมเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ก็มีส่วนผลักดันพฤติกรรมนี้เช่นกัน

           นอกเหนือจากความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคแล้ว พฤติกรรมของผู้คนที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ส่งผลให้พวกเขาเลือกซื้อสินค้าหรืออาหารผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่มีการบริการส่งถึงบ้าน เริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเป็นอย่างมาก

           ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าตลาดแบบ Peer-to-Peer ส่งผลดีต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะการตลาดในรูปแบบนี้เป็นการลดช่องว่างในการพบเจอกันระหว่างคนซื้อกับคนผลิต ซึ่งตัวผู้ผลิตเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองแก่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่และในส่วนของผู้บริโภคเองนั้นสามารถทราบถึงแหล่งที่มาและเรื่องราวของสินค้า ถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ตรงตามความต้องการได้มากยิ่งขึ้น

           การตลาดในรูปแบบนี้ต้องอาศัยความเชื่อใจของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ผลิตด้วยเช่นกัน เพราะความเชื่อใจนั้นถือว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริโภคหมดความเชื่อถือในสินค้าและตัวผู้ผลิตแล้ว โอกาสในการขายสินค้าของผู้ผลิตอาจจบลงด้วยเช่นกัน

           ฉะนั้นนวัตกรรมการสร้างตลาดแบบ Peer-to-Peer จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal มากที่สุด อีกทั้งเป็นรูปแบบตลาดที่สร้างให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งแก่ตัวผู้ผลิตรายย่อย และผู้บริโภคที่เกิดเริ่มคุ้นชินกับการตลาดในรูปแบบนี้

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 29 ม.ค. 2564

พิษโควิดกับวิกฤตอาหาร

CovidandFoodSecurity01

การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ

ภาพประชาชนจำนวนหนึ่งบุกกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลที่มาถึงล่าช้าและอาจมีข้อผิดพลาด ทำให้องค์กรที่ติดตามเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่าง BioThai ต้องหันมาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง และแสดงความกังวลว่า นี่เป็นสัญญาณที่อาจกำลังบอกถึงวิกฤตด้านอาหารที่กำลังก่อตัวขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ขององค์กรที่ทำงานด้านอาหารของโลกอย่าง World Food Programme เช่นกัน

“สำหรับประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี.. ไม่ควรมีใครสักคนในแผ่นดินนี้ที่ต้องอดอาหารเพราะการระบาดของโรค” BioThai หรือมูลนิธิชีววิถีระบุ

หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฉุดราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำลงจากดีมานต์ที่ลดลงในตลาด การเข้าถึงและอุปสรรคในการกระจายสินค้าจากการกักตุนและปัญหาการขนส่งจากความเข้มงวดในการสกัดการระบาด ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เริ่มแสดงผลชัดเจนมากขึ้นในเวลาที่มีการปิดเมืองอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

BioThai ได้วิเคราะห์ว่า จากการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น วิกฤติจะเกิดขึ้นเป็นสองระลอกคือ ระลอกแรก เป็นผลที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาดซึ่งอาจกินเวลานับปีจากนี้ จนมีการ “ควบคุม” การระบาดได้ และระลอกต่อมา จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งทาง IMF คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำในระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อทศวรรษ 1930

ทั้งนี้ BioThai วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอาหาร จะเกิดขึ้นใน 3 ระยะ กล่าวคือ ผลกระทบในระยะแรกที่เกิดจากความตื่นตระหนก จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหารกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

ผลกระทบในระยะกลาง ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่เริ่มการล็อคดาวน์ ไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ BioThai คาดว่าจะทำให้เกิดปัญาตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูปได้รับผลกระทบจากการระบาด การขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก มีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอได้

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ไม่สามารถขายสินค้าได้เนื่องจากอุปสรรคในการขนส่ง อย่างกรณีที่ชาวสวนมะม่วงในหลายจังหวัดไม่สามารถขายมะม่วงหรือต้องขายในราคาขาดทุน

นอกจากผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว BioThai วิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย

BioThai ได้อ้างอิงการคาดการณ์จากตัวเลขการประเมินของธนาคารโลกขององค์ก OXFAM ว่า หากรายรับหดตัว 20% ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุด คนยากจนข้นแค้นจะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และประชาชนที่มีรายได้มากกว่า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 548 ล้านคน หรือมีจำนวนเกือบ 4 พันล้านคนทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารโลกระบุว่า มีอยู่ประมาณ 9.85% ของประชากร หรือ ประมาณ 6.7 ล้านคน เมื่อปี 2561 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคน

ทั้งนี้ ยังมีตัวเลขของคนที่คาดว่าจะตกงานจากการประมาณการณ์ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าอาจจะมีถึง 7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีผู้ตกงาน 1.4 ล้านคนหลายเท่าตัว, BioThai ระบุ

เมื่อพิจารณาดัชนีราคาอาหารโลกซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) BioThai พบว่า ราคาสินค้าอาหารเริ่มลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของความต้องการในตลาดจากการระบาดของโควิด-19 โดยราคาสินค้าอาหารทุกหมวด ได้แก่น้ำตาล น้ำมันพืช นม เนื้อสัตว์ และธัญพืชลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นข้าว

การหดตัวของดีมานด์ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดในต่างประเทศ และอุปสรรคจากการขนส่งสินค้าจากการยกเลิกเที่ยวบิน เป็นต้น ได้ส่งผลให้ราคาผลไม้ในประเทศ เช่น มะม่วงของเกษตรกรในหลายจังหวัดราคาตกต่ำ

ในระยะยาว BioThai เชื่อว่า สินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศ หรือเป็นเป็นเกษตรกรรมที่ป้อนอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“วิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม” BioThai ระบุ

CovidandFoodSecurity02

เครดิต/BioThai

ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากเกษตรกรแล้ว กลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากันคือกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยนั่นเอง ซึ่งได้รับผลกระทบในด้านการเข้าถึงและความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดในเวลานี้

คณะอาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาผลกระทบที่รุนแรงต่อคนจนเมือง พบว่า มีจำนวนมากรายได้หดหายไป 70% ซึ่งนั่นหมายถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เพราะครึ่งหนึ่งของรายได้ของคนเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร

BioThai เสนอมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ว่า อย่างน้อยต้องมีข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังชีวิตแจกจ่ายแก่ชุมชนและประชาชนที่เดือดร้อน ระหว่างรอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งต้องรีบทำโดยเร็วที่สุดและให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายระยะยาวต่อเรื่องวิกฤติอาหารครั้งนี้ กล่าวคือ รัฐบาลต้องมีหลักประกันให้ประชาชนที่ตกงานและมีรายได้ต่ำทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤต

ในส่วนของเกษตรกรรมในยุควิกฤตและหลังวิกฤตต้องเป็นการผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดในประเทศเป็นหลัก

รัฐบาลควรเร่งสร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านระบบค้าปลีกที่มียักษ์ใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งเกินครึ่ง

นอกจากนี้ ควรขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ดินและแหล่งน้ำ เงินทุน และปกป้องสังคมจาก
การผูกขาดและการสร้างอิทธิพลเหนือตลาดของบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหาร

“เราจำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยพัฒนาจากฐานทรัพยากร วิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และเศรษฐกิจอาหาร ซึ่งเกษตรกร ท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ประโยชน์ เพื่อประชาชนและประเทศไทยจะแข็งแรง มีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” BioThai ระบุ

ทางด้าน WFP ระบุว่า การระบาดของโรคโควิดในเวลานี้อาจยังไม่ส่งผลต่อซัพพลายด์เชนอาหารของโลกมากนัก แต่มันอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้น

โดย WFP ระบุว่า มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่สินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตจะถูกส่งไปยังแหล่งบริโภค แต่สถานการณ์โควิดกำลังทำให้มันงวดขึ้น และอาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้หากผู้นำเข้าสินค้าเกิดไม่มั่นใจว่าจะมีสินค้าให้ แม้ซัพพลายด์ในเวลานี้จะยังถือว่าเพียงพอสำหรับปีนี้

“มันเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านซัพพลายด์อาหารของโลกขึ้นมาได้” ผู้เชี่ยวชาญของ FAO บอก WFP

ภาพ/ FAO

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เม.ย. 2563

 

อัพเดท! 7 มาตรการ 'ธ.ก.ส.' ช่วยเหลือ 'เกษตรกร' จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19

TorKorSorCovidLoan

รวม 7 มาตรการ 'ธ.ก.ส.' ช่วยเหลือ 'เกษตรกร' จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมความคืบหน้าแต่ละโครงการ

"ธ.ก.ส." เผยผลการดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้และการสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน SMEs เกษตร โดยมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และบุคคลในครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อฉุกเฉิน เป้าหมาย 2 ล้านราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อจำนวน 2,082,967 ราย จ่ายไปแล้วกว่า 2 แสนราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท แจงยอดติดตามทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการเราไม่ทิ้งกันไปแล้วกว่า 2 แสนราย และการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย จ่ายไปแล้วกว่า 4.72 ล้านราย เป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมสินเชื่อและ แผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน แบ่งเป็น 7 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการและสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 3.85 ล้ายราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท

2) มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ (เมษายน - มิถุนายน 2563) ทั้งในส่วนของเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทั้งประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 89,735 ราย มูลหนี้รวม 32,647 ล้านบาท

3) มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินลูกค้า SMEs แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (เมษายน - กันยายน 2563) แบบอัตโนมัติทุกรายให้กับ SMEs ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท และในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back) ซึ่งมีลูกค้า SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 667,928 ราย มูลหนี้รวม 221,104 ล้านบาท

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs (Soft Loan ของ ธปท.) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 11,341 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,564.41 ล้านบาท

4) มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเมษายน 2563 - มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯ ให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3,348,378 ราย มูลหนี้รวม 1,265,492 ล้านบาท

5) มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกนับจากวันกู้ ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อรับสินเชื่อแล้วจำนวน 2,082,967 ราย โดย ธ.ก.ส. ได้นัดหมายลูกค้ามาทำสัญญาและอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 201,573 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเปิดให้กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารคัดกรองแล้ว สามารถทำสัญญาอิเล็คทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมาติดต่อที่ ธ.ก.ส. สาขา โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พ.ค. 2563

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1)

FarmerRegressionCycle

ย้อนไป 60 ปีก่อน แรงงานไทยร้อยละ 60 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยร้อยละ 36 ของ GDP ผ่านไป 60 ปี แรงงานภาคเกษตรลดลงประมาณ 2 เท่า แต่สัดส่วน GDP กลับลดลงมากกว่าประมาณ 4 เท่า

โดยแรงงานไทยร้อยละ 31 ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่สัดส่วน GDP ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 9 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคเกษตรไทยที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคอื่น ข้อมูลของไทยนี้อาจให้ข้อสรุปว่าภาคเกษตรตกขบวนการพัฒนาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของประเทศอื่น ๆ แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนภาคเกษตรไทยอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานเกษตรในหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และสิงคโปร์ นั้นมีผลิตภาพทั้งขนาดและการเติบโตในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาสูงกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร

เหตุใดเกษตรกรไทยก้าวไปไม่ทันแรงงานไทยนอกภาคเกษตรและเกษตรกรในต่างประเทศ บทความนี้จะขออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยประยุกต์จากแนวคิดวงจรโหดร้ายของความยากจน (Vicious cycle of poverty) ของ Ragnar Nurkse ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอสโทเนีย

วงจรดังกล่าวจะเริ่มต้นอธิบายจากคนจน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีออม ทำให้ไม่มีการสะสมทุนหรือลงทุนเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำการผลิตได้น้อย และยังคงยากจนต่อไปไม่สิ้นสุด

สำหรับเกษตรกรไทยกับความยากจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลย นั้นเป็นเพราะวงจรชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหน้าตาคล้ายกับวงจรโหดร้ายของความยากจน ด้วยรูปแบบของการทำการเกษตรไทยที่สร้างรายได้ต่ำ

 

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ซ้ำร้ายอาชีพนี้ประสบกับความเสี่ยงสูงจนขาดทุนบ่อยครั้ง ทำให้มีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถลงทุนพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ส่งผลให้ทำการเกษตรเหมือนเดิม เกิดเป็นวงจรวนเวียน ไม่พัฒนาก้าวหน้า รายละเอียดของวงจรมีดังนี้

วงจรถดถอยของเกษตรกรไทย

ข้อต่อแรก โมเดลการผลิตไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ : ผลิตภาพจากการทำเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ย้อนไปในปี 2534 ผลิตภาพของเกษตรกรไทยเฉลี่ยทั้งรายเล็กรายใหญ่อยู่ที่ 1,086 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) และอยู่ในอันดับที่ค่อนไปข้างล่างอยู่ที่ 126 จาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผ่านไป 28 ปี แม้ว่า ผลิตภาพของเกษตรกรไทยกระเตื้องขึ้นเป็น 3,069 ดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าปี 2558) อันดับโลกยังใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 146 จาก 218 ประเทศ

นอกจากนี้ จากปี 2534 – 2562 จากที่เกษตรกรไทยเคยมีผลิตภาพสูงกว่าจีน 1.6 เท่า ในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรจีนมีผลิตภาพสูงกว่าไทย 1.6 เท่า ในปี 2562

ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับประเทศในกลุ่มผู้นำด้านการเกษตร พบว่าเกษตรกรอิสราเอลมีผลิตภาพสูงกว่าไทยสูงถึง 34 เท่าเลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรด้วยโมเดลเก่า โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าไม่มาก เกษตรกรไทยร้อยละ 60 หรือ 4.6 ล้านครัวเรือนเป็นชาวนา

นอกจากนี้ เกษตรกร 2 ใน 3 ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพาะปลูกพืชชนิดเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนบ่อย จากทั้งด้านผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและคาดการณ์ยาก

และด้านราคาตามลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผันผวนสูง อ่อนไหวตามปริมาณผลผลิตโลก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อที่ 2 รายได้ต่ำ ขาดทุนบ่อย : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ 337 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน)

โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อต่อที่ 3 ภาระหนี้สูง : เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป

เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก

ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

ข้อต่อสุดท้าย ปรับตัวไม่ได้ : เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ปรับตัว ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนและพัฒนาการทำเกษตรได้

เช่น การจัดหาและกักเก็บน้ำ การปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะกับการเกษตรรูปแบบอื่น การลงทุนซื้อแม่พันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรประเภทอื่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูก เป็นต้น

แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกษตรกรไม่สามารถและไม่อยากปรับตัว ซึ่งฉุดรั้งให้เกษตรกรไทยวนเวียนอยู่ในวงจรถดถอย ได้แก่

คนหนุ่มสาวออกจากภาคเกษตรเข้าไปทำงานในเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า พบว่า จากปี 2546 ถึง 2556 เกษตรกรอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 32

ในทางกลับกัน เกษตรกรสูงวัยอายุ 60 ปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19 ทำให้อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในปี 2561 สูงถึง 58 ปี ซึ่งเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีผลิตภาพลดลงเรื่อย ๆ และใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวได้ยากขึ้น

มาตรการอุดหนุนราคาหรือรายได้เกษตรกรจากรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ออกจากวงจรถดถอยได้นั้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวไปสู่การทำเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และการเปลี่ยนพืชและพันธุ์ เป็นต้น

เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’ (ตอน 1) | แจงสี่เบี้ย

พบว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐส่งผลให้เกษตรกรมีโอกาสปลูกข้าวแบบเดิม ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น และยังพบว่า นโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก

จากวงจรถดถอยกับสองปัจจัยฉุดรั้งที่ดูจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยถดถอยลงเรื่อย ๆ ในบทความตอนนี้

ในบทความตอนถัดไปจะขอนำเสนอย่างก้าวที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวออกจากวงจรถดถอยไปสู่วงจรแห่งโอกาส โดยถอดบทเรียนจากโมเดลต้นแบบใหม่ ๆ หลากหลายแบบที่สำรวจจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศให้เห็นถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ โปรดติดตามตอนถัดไปครับ.

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2565

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล

จิรัฐ เจนพึ่งพร     

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ|

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เสียงสะท้อนเกษตรกรเช่าที่ดิน หมดสิทธิได้เงินเยียวยา

VoiceofLandlessfarmer

นนทบุรี 15 พ.ค.- วันนี้เป็นวันแรกที่เกษตรกรได้รับเงินโอนช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร แต่เกษตรกรอีกจำนวนหนึ่ง แม้จะทำการเกษตรมาตลอดชีวิต แต่อาจจะหมดสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเยียวยา เพราะว่า ที่ดินที่พวกเขาทำกินอยู่ เป็นที่ดินเช่า ไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง

สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย เดินทางไปยังพื้นที่หมู่ 3 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นสถานที่ปลูกผักมาอย่างยาวนาน 40-50 ปีแล้ว เพื่อไปดูว่า เกษตรกรชาวสวนผักที่นี่ ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือยัง

แต่กลับพบปัญหาว่า เกษตรกรชาวสวนผักที่นี่หลายสิบคน มีอุปสรรคในการลงทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากที่ดินที่พวกเขาทำเกษตร ปลูกผักและทำนา รวมกันหลายร้อยไร่ เป็นการเช่าที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่เป็นรายปี เกษตรกรเช่าที่ดินทำการเกษตรกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน จนถึงทุกวันนี้ ค่าเช่าแตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เคยไปลงทะเบียนเกษตรกร มีเพียงบางรายที่เคยลงทะเบียนเกษตรกรไว้ เพื่อขอรับความช่วยเหลือกรณีภัยแล้งหรือน้ำท่วม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการลงทะเบียนเกษตรกรของพวกเขา คือ ถ้าไม่ได้ทำกินในที่ดินของตัวเองหรือเป็นที่ดินเช่า จะต้องมีหลักฐานสัญญาเช่า สำเนาโฉนดที่ดิน และเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ให้เช่า นำไปยื่นประกอบในการลงทะเบียนเกษตรด้วย ซึ่งเกษตรกรที่นี่ พยายามขอสำเนาเอกสารจากผู้ให้เช่าแล้ว แต่ผู้ให้เช่าไม่สะดวกที่จะให้เอกสารนำมาลงทะเบียนเกษตรกรขอรับเงินเยียวยา ทำให้พวกเขาลงทะเบียนไม่ได้ 

SiamjongLandlessfarmer

ป้าเซียมจง แซ่เถียน หนึ่งในเกษตรกรที่เช่าที่ปลูกผัก บอกว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเกษตรกร จึงไปลงทะเบียนทั้งๆ ที่รู้ว่าเอกสารไม่ครบตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่น่าจะได้รับการเยียวยา จึงขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะว่าทำการเกษตร ปลูกผักมา 40 กว่าปี แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาเกษตรกรตามโครงการรัฐบาล เพียงเพราะเช่าที่ดินผู้อื่นทำกิน 

คุณสุชิต เหรียญทอง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายนี้ บอกว่า เจ้าของที่ดินไม่ได้เก็บค่าเช่าที่ดิน 20 ไร่ มาตั้งแต่ปีที่น้ำท่วมใหญ่ 2554 แลกกับการช่วยดูแลที่ดินไม่ให้รกร้าง เขาจึงไม่ได้ติดต่อขอเอกสารมาลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา เพราะคิดว่าคงจะยุ่งยาก และก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เพราะคิดว่ายุ่งยาก และใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่เป็น 

ขณะที่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ในตำบลพิมลราช มอบหมายให้คุณวิชัย ชุติมานุรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เช่าที่ดินปลูกผัก ช่วยดูแลที่ดินทั้งหมดแถวนี้ และก็มอบสำเนาเอกสารให้คุณวิชัยไปลงทะเบียนเกษตรกรได้ แต่คุณวิชัย เห็นว่า เกษตรกรจำนวนมากลงทะเบียนไม่ได้เพราะเช่าที่คนอื่นทำเกษตร อยากให้รัฐบาลช่วยดูจุดนี้ด้วย 

ส่วนเกษตรกรรายนี้ เช่าที่ดินในตำบลคลองพระยาบันลือ ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวงเพื่อปลูกผัก แต่เจ้าของที่ดินไม่ให้สำเนาเอกสารลงทะเบียนเกษตรกร จึงทำใจคงไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งอยากให้รัฐบาลหาวิธีการเพื่อให้คนที่เช่าที่ดินทำเกษตรได้รับการช่วยเหลือด้วย.

ที่มา : สำนักข่าวไทย วันที่ 20 พ.ค. 2563

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6792030
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
4032
16904
37785
20936
6792030

Your IP: 3.135.216.174
2024-05-02 10:07