• หน้าแรก
  • มูลนิธิชีวิตไท - ความมั่นคงทางอาหาร

"ประพัฒน์" ผู้พลิกชีวิตเกษตรกรแบบเก่าสู้โลกร้อน

prapat

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้ที่ยอมพลิกชีวิตจากการปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดียวมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปรับตัวสู้กับภาวะโลกร้อน ชี้หากเกษตรไทยยังช้ามีโอกาสล่มสลาย

วันนี้ (4 ก.ย.2563) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกประสบการณ์ปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยระบบเกษตรยั่งยืน หลังจากพลิกชีวิตหันหลังให้การเมือง

เขาบอกว่า จากประสบการณ์เกษตรมาทั้งชีวิต กว่า 40 ปีได้ปรับเปลี่ยนการผลิตปลูกส้มโชกุน พืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างเศรษฐกิจแบบผสม ไม่ใช่ทำแบบมักง่าย แต่ต้องทำแบบมีความรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองเหมาะสมกับการปลูกชนิดไหน และอะไรบ้างที่จะสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน

จากส้มโชกุนที่ปลูกและต้องใช้น้ำเยอะ มาเป็นการปลูกไม้ผลที่ใช้น้ำน้อย เช่น มะม่วง ส้มโอที่ใช้น้ำน้อย และทำ และปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์พันธุ์พื้นเมือง เช่น ไก่ และฟาร์มหมู ขายในชุมชุม มีโรงชำแหละหมู ขายหมูติดแอร์ครบวงจร ปลูกไผ่และส่งเสริมการแปรรูปจากไผ่ เช่น ตะเกียบ ไม้ลูกชิ้นปิ้ง เผาถ่าน เป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ประพัฒน์ บอกว่า กิจกรรมลักษณะแบบนี้ ถ้าเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยน เกษตรกรสามารถหาความรู้ได้ทั้งจากการไปอบรม และหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตทั่วไป และดูงานจากเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ถ้าเกษตรกรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ยังใช้การผลิตแบบเดิมๆ ปลูกข้าวแบบเดิมเหมือนหลายสิบปีก่อน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกอ้อยแบบเดิม ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านหลายเท่า เราต้องเปลี่ยนถ้าไม่ปรับหรือเปลี่ยน ไม่ช้าหรือเร็วอาชีพนี้จะต้องเลิกในที่สุด 

เพราะว่าตอนนี้ทั้งโลกเสรีมากขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรกร ไม่สามารถกีดขวางประเทศอื่นๆได้วันหนึ่งก็ต้องเปิดเสรี เพราะถ้าเปิดเสรี และยังคงต้นทุนสูง ก็แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ในการปรับเปลี่ยนจึงเป็นทางรอด แต่ต้องปรับเปลี่ยนแบบมีความรู้ เหมือนกับผมที่เปลี่ยนมาให้มีระบบเศรษฐกิจให้มีระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เกษตรมากกว่า 1 อย่าง

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ต้องอดทนเพื่อสู้กับความอยู่รอด

นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับครอบครัวเขาต้องใช้เวลาในการศึกษาก่อนปรับตัว เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์พืนเมือง ต้องใช้เวลา 3 ปี ทำไปศึกษาไปจนขยายตลาด เช่นเดียวกับหมูก็ใช้เวลา 3-4 ปีกว่าที่จะเข้าใจและปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจจากหมู รวมทั้งเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ส่วนไม้ผลยืนต้น ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะออกดอกและมีผลผลิต และรู้การตลาด ส่วนไผ่ แม้จะทำมาหลายปี แต่ยังมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจและยังต้องพยายามผลักดันต่อไป แต่เหล่านี้เป็นการปลุกและเลี้ยงเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดียว

หากถามว่าเกษตรกรไทยติดหล่มอะไรถึงไปไม่ถึงจุดหมาย ประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกร ก็ผลักดันแนวคิดใหม่ๆ ผลักดันการผลิตภาคการเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเชื่อว่าถ้ามาถูกทางพี่น้องจะเรียนรู้และปรับตัวทัน 

เกษตรกรไทยติดหล่มความคิดตัวเอง ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีปัญหาหนี้สิน สุขภาพ ครอบครัว ทำให้ไม่สามารถหลุดออกจากสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ เพราะปัญหาเฉพาะหน้ายังมีมาก

นอกจากนี้มองว่ารัฐบาลต้องเป็นพี่เลี้ยง เช่น มีแหล่งเงินทุน และปรับการใช้จ่ายเงินภาครัฐ และธกส. ต้องปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ ที่เหมาะสมระยะยาวมากขึ้น ปีต่อปีน้อยลง และให้ความรู้ที่เป็นแก่นสารที่จำเป็นตรงเป้าไม่ใช่เอาสิ่งที่ไม่ใช้ประโยชน์ไปอบรมแบบเดิมๆ

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

ภาพ: เฟซบุ๊กประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

สภาเกษตรกรแห่งชาติพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในทุกมิติ สร้างแนวทางในการช่วยปรับตัวให้เกษตรกรได้ ตอนนี้เป็นเพราะยังมีช่องว่าง พวกเขาเองยังมีความเชื่อมั่นในวิธีการเก่าๆ แต่สภาเกษตรกรยังมองว่าวิธีการเก่าที่ใช้กันตอนนี้โบราณคร่ำครึเกินไปไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ถ้าให้ประเมินเกษตรกรที่จะอยู่รอดในอาชีพนี้ เหลือน้อยมาก ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่ตอนนี้อาจมีแค่เรื่องข้าวบริโภคในประเทศที่ยังอยู่รอดเพราะยังไม่มีข้าวจากต่างประเทศเข้ามา ข้าวที่ชาวนาไทยผลิตในประเทศจะแข่งขันไม่ได้ นั่นจะหมายถึงหายนะ เพราต้นทุนเราสู้เขาไมได้ ทางเดียวกันคือต้องปรับเปลี่ยน ถ้าไม่รีบปรับเปลี่ยนจะหมายถึงการล่มสลายทั้งระบบ

ไม่ปรับไม่เลิก ยกเว้นไม้ผล และประมง แต่พืชไร่สู้ไม่ได้ต้องปรับเปลี่ยน ต้องหนีคู่แข่งให้ทัน

ก้าวข้ามสู่การเปลี่ยนแปลง

นายประพัฒน์ บอกว่า ถึงแม้จะเคยเป็นอดีต รมว.ทส.แต่ขอน้ำจากชลประทานมา 10 ปียังไม่สำเร็จ จากจุดนี้ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า อย่าเปลี่ยนธรรมชาติ แต่เปลี่ยนจากตัวเราเอง หาความรู้ที่จะเพิ่มการผลิต ทดลองจากเล็กไปหาใหญ่ เช่น เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำจาก 50 ตัวตอนนี้ผ่านไปจนตอนนี้จากแม่พันธุ์ 6 แม่ ตอนนี้มีเป็น 100 แม่

การออกแบบทางเศรษฐกิจผสมผสานที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะลดรายจ่าย เช่นวางแผนการเงินรายวัน เช่น ขายไข่ไก่กี่แผง ขายหมู ลูกหมู พืชผลในฟาร์มได้เท่าไหร่ ผมมีพนักงานฟาร์ม 20 คน รายจ่ายเป็นแสนบาทแต่มีรายได้หมู ไก่มาใช้จ่ายเงินเดือน ส่วนเงินออมเก็บจากต้นสักไว้ในระยะยาว 

ทั้งนี้ ประพัฒน์ แนะแนวทางสำหรับเพื่อนเกษตรกรว่า อยากให้รีบปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวอนาคตเกษตรกรไทยจะไม่รอดแน่ๆ ต้องก้าวข้าม เท่าทันแล้วจะต้องออกจากห่วงโซ่นี้ให้ได้ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมายอมรับว่าเกษตรกรลำบากหนี้เยอะแต่ทำแล้วมีความสุข

ที่มา : ไทยพีบีเอส วันที่ 4 ก.ย. 2563

 

Infographic ชุด ที่ดินกับความมั่นคงทางอาหาร

570314 in2

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/1o9YLHOVmw4}

ปฏิรูปที่ดินเรื่องสำคัญ ที่ทำได้ยาก แต่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ปัญหาหลายเรื่องของสังคม เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการกระจายอำนาจในทรัพยากร จะได้รับการแก้ไขไปด้วย 

 

การพัฒนาภาคเกษตรกรรมสู่ชีวิตวิถีใหม่

RiceHarvestingBangkud

เรารู้จักคำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ นิวนอร์มอล (New Normal)  กันมากขึ้นภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเพราะเราต้องรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผิดแผกและแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เช่น ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เข้าจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ใช้บริการส่งของถึงบ้าน เรียนออนไลน์ และทำงานจากที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น  แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” มีอยู่แล้วและเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดโควิด-19 นั่นคือ ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การบริหารจัดการเงินตรา การทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น  การซื้อขายสินค้าออนไลน์  หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า  เป็นต้น

      ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งมีจุดเร่งจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนจีดีพีสูงสุดถึงร้อยละ 60  รวมถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด 

     วิถีเดิมของชุมชนเกษตรกรรม  คนยึดอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเป็นคนสูงอายุและเรียนจบไม่สูงมาทำอาชีพนี้  แต่ปัจจุบันคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก  ก็ลาออกหรือหันกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรในยุคใหม่กันมากขึ้น  เนื่องจากไม่ต้องดิ้นรนแข่งกับใคร  เป็นนายของตนเอง  และนอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการจัดการทั้งในระดับไร่นา  การซื้อขาย  และยังสามารถจัดการอาหารที่ปลอดภัยให้สำหรับตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น 

    เนื่องด้วยวิถีการทำการเกษตรยุคเก่าที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้กันมาก เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและหลักประกันด้านราคาและรายได้  ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารยุคใหม่  ชาวนายุคเก่าจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ พัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์กับผู้บริโภค เช่น การริเริ่มโครงการลงขันทำนา  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าร่วมลงหุ้นหรือลงขันในการทำนาระบบอินทรีย์  โดยผู้บริโภคจ่ายเงินลงทุนให้ชาวนาก่อน (ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำนาด้วยตนเอง  เมื่อจบฤดูกาลก็สามารถได้ข้าวไปบริโภคในครอบครัวของตนเองได้  นอกจากนี้อาจมีโครงการลงขันกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การลงขันปลูกผักอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของตนเองและครอบครัว เป็นต้น

     “วิถีใหม่”  เป็นกระบวนการจัดการผลผลิตล่วงหน้า  และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร  เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตจะมีการลงทุนด้วยเงินส่วนของเกษตรกรไม่มากนัก  การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มออกเงินให้ก่อน  จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปเสี่ยงเข้าสู่ระบบสินเชื่อหรือกู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางที่คิดดอกเบี้ย ผลกำไรและทำสัญญาไม่เป็นธรรม  เกษตรกรมีตลาดที่จะรองรับผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านอาหารหรือสินค้าด้านต่าง ๆ 

      เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน  ความทันสมัยด้านเทคโนโลยี  และความรู้ภูมิปัญหาดั้งเดิมของคนยุคก่อน  จำเป็นต้องนำมาผสมผสานกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ วิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมและการตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน พึ่งพาตนเอง ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ รวมถึงการผสมผสานพลังของเกษตรกรรุ่นเก่ากับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวใจและแรงงานหลักที่สำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในอนาคต รวมถึงการพัฒนาให้เกิดหุ้นส่วนความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีความยั่งยืนร่วมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ต.ค. 2563

ตลาดออนไลน์กับการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร

OnlineMarketFarmer

ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลัก คือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือเกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมทสินค้าของตนเองได้เลย

ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์ คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการย่นระยะเวลาและระยะทางในการพบเจอกันของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งตัวเกษตรกรเองสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอ

นอกจากนี้ตลาดออนไลน์ยังเป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง แต่ทั้งนี้ตัวเกษตรกรต้องคำนึงถึงคุณภาพและกลุ่มลูกค้า ไม่ควรตั้งราคาที่ค้ากำไรเกินควรและต้องเป็นไปตามความเหมาะสม

สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรนั้น จากประสบการณ์ทำงานของมูลนิธิชีวิตไท พบว่า Facebook และ Line เป็น 2 ช่องทางอันดับแรกที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวเกษตรกรเองต้องมีการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ตัวสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกชิ้น มีรูปลักษณ์ชวนดึงดูดผู้ซื้อ เรื่องราวของสินค้า การจัดส่งสินค้า และช่องทางการชำระเงิน อีกทั้งต้องมีการเตรียมข้อมูลและวิธีในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า

เนื่องจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะฉะนั้นย่อมมีคู่แข่งที่มากกว่าการขายสินค้าแบบออฟไลน์แน่นอน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องมีการพัฒนาให้มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมาตรฐานเพื่อขยายตลาดให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน PGS หรือ Organic Thailand ให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การยื่นขอ อย. สำหรับสินค้าแปรรูป เป็นต้น

สำหรับปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่สำหรับการขายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร คือ การที่เกษตรกรยึดติดกับรูปแบบการขายสินค้าในรูปแบบเดิม คือ การรอให้ลูกค้าเข้าหา หรือการรอให้ลูกค้าเป็นคนเอ่ยถาม มากกว่าการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าก่อน อีกทั้งยังปิดกั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วนได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนช่องทางและวิธีการขายสินค้าของตนเองให้ทันยุคสมัย และไม่รอที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือรอลูกค้าเข้าหาตนเองอีกต่อไป เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกที่จะขายสินค้าพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวแบบฉบับของตนเอง ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคู่ค้า มีแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยกันพยุงช่องทางตลาดในรูปแบบออนไลน์ให้เหล่าเกษตรกรทั้งหลายได้มีพื้นที่ขายสินค้า มีพื้นที่บอกเล่าความเป็นมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือภัยธรรมชาติที่มาแบบไม่ทันคาดคิด

ท้ายที่สุดแล้วช่องทางการขายสินค้าของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรไม่ต่างกัน  หัวใจสำคัญคือเกษตรกรต้องก้าวไปสู่การยกระดับจากผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเดียวไปสู่เกษตรกรผู้ประกอบการ ยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าแปรรูปและสินค้านวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างช่องทางการตลาดให้หลากหลาย กระจายความเสี่ยง  รวมถึงมีการปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรกรที่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในสังคมวิถีใหม่

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 พ.ย. 2564

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

พิษโควิดกับวิกฤตอาหาร

CovidandFoodSecurity01

การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ

ภาพประชาชนจำนวนหนึ่งบุกกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลที่มาถึงล่าช้าและอาจมีข้อผิดพลาด ทำให้องค์กรที่ติดตามเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่าง BioThai ต้องหันมาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง และแสดงความกังวลว่า นี่เป็นสัญญาณที่อาจกำลังบอกถึงวิกฤตด้านอาหารที่กำลังก่อตัวขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ขององค์กรที่ทำงานด้านอาหารของโลกอย่าง World Food Programme เช่นกัน

“สำหรับประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี.. ไม่ควรมีใครสักคนในแผ่นดินนี้ที่ต้องอดอาหารเพราะการระบาดของโรค” BioThai หรือมูลนิธิชีววิถีระบุ

หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคนในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่องานด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฉุดราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำลงจากดีมานต์ที่ลดลงในตลาด การเข้าถึงและอุปสรรคในการกระจายสินค้าจากการกักตุนและปัญหาการขนส่งจากความเข้มงวดในการสกัดการระบาด ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เริ่มแสดงผลชัดเจนมากขึ้นในเวลาที่มีการปิดเมืองอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

BioThai ได้วิเคราะห์ว่า จากการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น วิกฤติจะเกิดขึ้นเป็นสองระลอกคือ ระลอกแรก เป็นผลที่เกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาดซึ่งอาจกินเวลานับปีจากนี้ จนมีการ “ควบคุม” การระบาดได้ และระลอกต่อมา จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งทาง IMF คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำในระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อทศวรรษ 1930

ทั้งนี้ BioThai วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอาหาร จะเกิดขึ้นใน 3 ระยะ กล่าวคือ ผลกระทบในระยะแรกที่เกิดจากความตื่นตระหนก จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหารกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

ผลกระทบในระยะกลาง ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่เริ่มการล็อคดาวน์ ไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ BioThai คาดว่าจะทำให้เกิดปัญาตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูปได้รับผลกระทบจากการระบาด การขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก มีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอได้

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ไม่สามารถขายสินค้าได้เนื่องจากอุปสรรคในการขนส่ง อย่างกรณีที่ชาวสวนมะม่วงในหลายจังหวัดไม่สามารถขายมะม่วงหรือต้องขายในราคาขาดทุน

นอกจากผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว BioThai วิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย

BioThai ได้อ้างอิงการคาดการณ์จากตัวเลขการประเมินของธนาคารโลกขององค์ก OXFAM ว่า หากรายรับหดตัว 20% ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุด คนยากจนข้นแค้นจะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และประชาชนที่มีรายได้มากกว่า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 548 ล้านคน หรือมีจำนวนเกือบ 4 พันล้านคนทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารโลกระบุว่า มีอยู่ประมาณ 9.85% ของประชากร หรือ ประมาณ 6.7 ล้านคน เมื่อปี 2561 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคน

ทั้งนี้ ยังมีตัวเลขของคนที่คาดว่าจะตกงานจากการประมาณการณ์ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าอาจจะมีถึง 7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีผู้ตกงาน 1.4 ล้านคนหลายเท่าตัว, BioThai ระบุ

เมื่อพิจารณาดัชนีราคาอาหารโลกซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) BioThai พบว่า ราคาสินค้าอาหารเริ่มลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของความต้องการในตลาดจากการระบาดของโควิด-19 โดยราคาสินค้าอาหารทุกหมวด ได้แก่น้ำตาล น้ำมันพืช นม เนื้อสัตว์ และธัญพืชลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นข้าว

การหดตัวของดีมานด์ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดในต่างประเทศ และอุปสรรคจากการขนส่งสินค้าจากการยกเลิกเที่ยวบิน เป็นต้น ได้ส่งผลให้ราคาผลไม้ในประเทศ เช่น มะม่วงของเกษตรกรในหลายจังหวัดราคาตกต่ำ

ในระยะยาว BioThai เชื่อว่า สินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศ หรือเป็นเป็นเกษตรกรรมที่ป้อนอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“วิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อเกษตรกรทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม” BioThai ระบุ

CovidandFoodSecurity02

เครดิต/BioThai

ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากเกษตรกรแล้ว กลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากันคือกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยนั่นเอง ซึ่งได้รับผลกระทบในด้านการเข้าถึงและความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดในเวลานี้

คณะอาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาผลกระทบที่รุนแรงต่อคนจนเมือง พบว่า มีจำนวนมากรายได้หดหายไป 70% ซึ่งนั่นหมายถึงวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เพราะครึ่งหนึ่งของรายได้ของคนเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร

BioThai เสนอมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ว่า อย่างน้อยต้องมีข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังชีวิตแจกจ่ายแก่ชุมชนและประชาชนที่เดือดร้อน ระหว่างรอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งต้องรีบทำโดยเร็วที่สุดและให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายระยะยาวต่อเรื่องวิกฤติอาหารครั้งนี้ กล่าวคือ รัฐบาลต้องมีหลักประกันให้ประชาชนที่ตกงานและมีรายได้ต่ำทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤต

ในส่วนของเกษตรกรรมในยุควิกฤตและหลังวิกฤตต้องเป็นการผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด เน้นตลาดภายในชุมชนและตลาดในประเทศเป็นหลัก

รัฐบาลควรเร่งสร้างระบบการกระจายอาหาร ขยายตลาดท้องถิ่น และการกระจายอาหารโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านระบบค้าปลีกที่มียักษ์ใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งเกินครึ่ง

นอกจากนี้ ควรขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ดินและแหล่งน้ำ เงินทุน และปกป้องสังคมจาก
การผูกขาดและการสร้างอิทธิพลเหนือตลาดของบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหาร

“เราจำเป็นต้องคิดแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยพัฒนาจากฐานทรัพยากร วิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และเศรษฐกิจอาหาร ซึ่งเกษตรกร ท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ประโยชน์ เพื่อประชาชนและประเทศไทยจะแข็งแรง มีภูมิต้านทานสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” BioThai ระบุ

ทางด้าน WFP ระบุว่า การระบาดของโรคโควิดในเวลานี้อาจยังไม่ส่งผลต่อซัพพลายด์เชนอาหารของโลกมากนัก แต่มันอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้น

โดย WFP ระบุว่า มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่สินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตจะถูกส่งไปยังแหล่งบริโภค แต่สถานการณ์โควิดกำลังทำให้มันงวดขึ้น และอาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้หากผู้นำเข้าสินค้าเกิดไม่มั่นใจว่าจะมีสินค้าให้ แม้ซัพพลายด์ในเวลานี้จะยังถือว่าเพียงพอสำหรับปีนี้

“มันเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านซัพพลายด์อาหารของโลกขึ้นมาได้” ผู้เชี่ยวชาญของ FAO บอก WFP

ภาพ/ FAO

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เม.ย. 2563

 

สภาเกษตรกรฯ ถกแก้ปัญหาข้าวไทย เน้นแผนผลิตตามตลาดต้องการ ดันชาวนาปรับตัวสร้างอาชีพยั่งยืน

SapaFarmer

ข้าวไทยแข่งไม่ได้ในตลาดโลก!! สภาเกษตรกรฯ ประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา ตั้งกลุ่มวางแผนผลิตตามความต้องการ ดันชาวนาปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของอาชีพ

วันที่ 26 ม.ค.65 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านข้าวและชาวนาไทย ครั้งที่ 1/2565 ณ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาว่า เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยพร้อมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 9 สมาคม 1 ศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ชาวนา ผลิต กลางน้ำ โรงสี แปรรูป และปลายน้ำ ผู้ส่งออก ตลาด เพื่อจะเตรียมวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไปของชาวนา ทั้งนี้ ด้วยปัญหาหลักของชาวนา ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงไม่คุ้มทุน 2.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 3.คุณภาพข้าวไม่ตรงตามความต้องการของตลาด 4.ขาดการวางแผนร่วมในการผลิต ซึ่งข้อสรุปในที่ประชุมเพื่อเป็นแผนการทำงานต่อไป คือ ตั้งกลุ่มทำงานเพื่อหารือเรื่องแผนการผลิตข้าวในรอบต่อไปว่าควรจะผลิตข้าวสายพันธุ์อะไรบ้าง เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวอื่นๆในแต่ละพื้นที่ โดยนำข้อมูลจากผู้ส่งออกนำไปให้ชาวนาใช้ประกอบ ทั้งเรื่องการผลิต,กระบวนการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหลายเครือข่าย/องค์กร มีวิธีลดที่ดีเยี่ยมและครอบคลุมทุกภูมิภาค และการตลาด รวมทั้งการมอบให้ทีมงานลงพื้นที่ไปจัดเก็บ ประมวลองค์ความรู้ทั้งหมด ทุกเครือข่าย ในด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การฟื้นฟูดินหลังจากที่ทำนามาตลอดหลายสิบปี การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพตามลำดับ โดยชาวนาหลายเครือข่ายมีวิธีการฟื้นฟูดินจนสามารถทำให้ดินกลับฟื้นสมบูรณ์เหมือนเดิม ซึ่งทั้งหมดจะจัดเก็บเป็นเอกสาร แล้วนำสู่เวทีประชาพิจารณ์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาข้าวทั้งระบบอย่างยั่งยืน แล้วจักได้นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ สภาเกษตรกรทุกจังหวัดที่มีการทำนาได้นำไปใช้ในพื้นที่ สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนพฤษภาคมก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นควรเรื่องการปรับการผลิตของชาวนาให้เข้าสู่ระบบ GAP ทั้งประเทศ ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำงานร่วมกัน และหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำให้ชาวนาปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิต GAP สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อได้รับทราบแล้วนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใต้ระบบ GAP จักได้นำเสนอไปยังประเทศลูกค้าทั่วโลกว่าประเทศไทยได้ผลิตข้าวด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

"ด้านการตลาดนั้น ปัญหาใหญ่มากของการค้าข้าวไทย คือ แข่งขันไม่ได้ ทั้งด้านราคา คุณภาพและชนิดของข้าว ตลาดข้าวโลกมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มจำนวนมาก แต่ประเทศไทยผลิตข้าวพื้นแข็งจำนวนมาก สินค้าที่เราจะไปขายไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญก็คือราคาเราแข่งไม่ได้เพราะว่าประเทศที่เคยเป็นคู่ค้า เคยซื้อข้าวไทยบัดนี้เป็นคู่แข่งขายข้าวกับเรา ทำให้สูญเสียตลาดไปพอสมควรและจะสูญเสียไปเรื่อยๆเพราะไม่ได้วางแผนการผลิต ไม่เข้าใจเรื่องความต้องการของตลาด และเรื่องต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะประสานเรียนเชิญ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน เครือข่ายชาวนา พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการวางแผนด้านการผลิต และจากนี้ไปสภาเกษตรกรฯก็จะพยายามทำงานด้านข้าวและชาวนานำเสนอถึงรัฐบาลให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อนำสู่การพยายามผลักดันให้ชาวนาปรับตัวโดยเร็วเพื่อความอยู่รอดของอาชีพการทำนาสืบไป"นายประพัฒน์ กล่าว

ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 26 ม.ค. 2565

หนุ่มโรงงานผันตัวทำเกษตรพอเพียง ระบุตอบโจทย์ในยุคโควิด-19

Watcharapong

วันนี้ 20 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงาน พบที่ริมถนนสายบ้านท่าโพธิ์ – ท่าเรือ “หมู่บ้านเกาะยายหนัก” เลขที่ 51 หมู่ที่ 3 ถนน ตำบลหนองแก้ว อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เส้นทางท่องเที่ยวผ่านไปสู่น้ำตกตะคร้อ,น้ำตกธารทิพย์ มีศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตำบลหนองแก้ว พื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ของครอบครัว ชุมชนและสังคม

มีนายวัชรพงษ์ ทูคำมี อายุ 44 ปี อดีตหนุ่มโรงงาน ผู้หันเหชีวิตมาทำเริ่มทำ เกษตรพอเพียง ตั้งแต่อายุ 20 ปี ในพื้นที่ มีหลากหลายทั้ง ไม้ผลหลายชนิด อาทิ มะม่วง ,มังคุด,มะไฟ ,มะยงชิด พื้นที่ทำนา ,ปลูกพืชผักสวนครัว ,เลี้ยงสัตว์เป็ดไว้กินไข่ ,เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ พร้อมทำการแปรรูปผลผลิต มีโรงสีข้าวเองขนาดเล็ก , เครื่องผสมปุ๋ยหมัก ,เผาถ่านเป็นเชื้อเพลิงใช้ในครอบครัว และที่หน้าบ้านมีร้านค้าไว้ในการวางสินค้าเกษตรอินทรีย์ขาย

นายวัชรพงษ์ กล่าวว่า “ก่อนทำเกษตรพอเพียง มีแนวคิดตรงกันในครอบครัวแล้ว จึงลงมือทำ ยึดแนวเกษตรพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 เริ่มจากการจัดสรรพื้นที่ ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ในพื้นที่ 16 ไร่ ปลูกข้าว , ผลไม้ ไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ใช้สอย พืชสวนครัว มีแหล่งน้ำทำการผลิต โดยขุดสระ หรือ คูน้ำ เป็นทั้งแหล่งน้ำสำหรับผลผลิต เป็นแนวเขต – ป้องกันไฟ เนื่องจากอยู่ใกล้พื้นที่นาของคนอื่น ๆ ที่หลังเก็บเกี่ยวแล้วมักเผาทุ่งฟางข้าว

ในนาข้าว ทำการไถ – หว่านปลูกข้าวหอมมะลิแดง ,ข้าวเหนียวงู ,ข้าวเหนียวลืมผัว หลังการเก็บเกี่ยวทำการแปรรูปสีข้าวเก็บไว้กิน ที่เหลือส่งขาย ถังละ 150 บาท และส่วนหนึ่งส่งตลาดต่างประเทศ ซึ่งไม่พอจำหน่าย รายได้ อื่น ๆ เหลือจากกินในครอบครัว แล้วนำมาขาย อาทิ ตะไคร้ ส่งออกตลาดต่างประเทศอียู. พริก ,กระเพรา พอลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยทำตามกำลัง ทำให้อยู่อยู่รอดพึ่งตนเองได้
โดย ปี2558 ผลิตส่งขาย ทั้งตลาดภายใน – ภายนอก พร้อม ๆ ทำให้มาตรฐานผลผลิตให้มีคุณภาพและเกิดการยอมรับ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ) IFORM E-U CONADA และมีการจดวิสาหกิจชุมชน, จดทะเบียนพาณิชย์ พร้อม ๆ เผยแพร่ให้กับชุมชน หรือ ผู้สนใจในการเรียนรู้

ในการขายส่งจำหน่ายหลังผลิตได้ ส่งขายในชุมชน – ตลาดนัดทั่วไป , ส่งขายตลาดสีเขียว รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่งเครือข่ายเกษตรอินทรี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และ ส่งขายตลาดสีเขียว รพ.กบินทร์บุรี

ต่อไป จะทำตลาดออนไลน์ เริ่มมีแพจเก็ต เสนอเมนูชุดอาหารต่อผู้บริโภคให้ครอบครัวไหนที่ต้องการสินค้าเกษตรอินทรี จะส่งขายให้โดยตรง ปัจจุบันรายได้ในการพึ่งตนเองของครอบครัว มีรายได้ ระหว่าง 500 – 1,000 บาท / วัน”นายวัชรพงษ์กล่าว

และกล่าวต่อไปว่า “ ยุคสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จึงเป็นการอธิบาย คำตอบว่า การทำเกษตรแบบพอเพียง สามารถเลี้ยงคนในครอบครัว ให้มีอาหารการกินอยู่ให้สามารถอยู่รอดพึงพาตนเองได้อย่างแท้จริงสำหรับคนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ นายวัชรพงษ์ ทูคำมี หมายเลขโทรศัพท์ 081 – 5787947 หรือในเฟซบุ๊ก”

ที่มา : มติชน วันที่ 20 พ.ค. 2563

อนาคตเกษตรกรไทย…อยู่ตรงไหน? ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

KlaingandFamily

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนพัฒนาฯ มาแล้ว 12 ฉบับ โดยปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกรอบ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13” และเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นไปใช้ประกอบและปรับปรุงการทำแผน โดยคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 โดยเป้าหมายหลักของแผนฯ คือ “พลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”  มีองค์ประกอบที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค 3.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน 4.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ และมี 13 หมุดหมาย (Milestone) ที่ไทยให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) ประกอบด้วย

           1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน 3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6. ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน 7. ไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

          8. ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และน่าอยู่ 9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม 10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13. ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

            หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ แผนฯ ฉบับนี้ จะไม่ได้ใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศเพียงแผนเดียวดังเช่นแผนฉบับ 1-12 ที่ผ่านมา แต่จะเปลี่ยนฐานะเป็นแผนระดับสอง ที่อยู่ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี” ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงมีข้อสังเกตและตั้งคำถามว่า สถานะแผนฯ 13 นั้นอยู่ตรงไหน และสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ของชาติหรือไม่ อีกทั้งในกระบวนการจัดทำแผนนั้น แทบจะไม่มีภาคประชาชนเป็นตัวแทนในการแสดงความคิด ต่อรอง หรือมีกลไกเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเลย จึงเป็นข้อจำกัดที่อาจจะทำให้แผนฯ 13 ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

          ขณะเดียวกัน แม้ร่างแผนฯ ฉบับนี้ จะนำเสนอภาพรวมอย่างรอบด้าน ด้วยวาทกรรมที่น่าฟัง แต่กลับไม่มีแผนปฏิบัติการรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีมิติของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมใดเลย ทั้งที่เศรษฐกิจในประเทศและโลกกำลังย่ำแย่ ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องตกงานและกลับบ้านเกิด มีการผูกขาดจากทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการล่มสลายทางการค้าของชุมชน และเกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะยังมุ่งเน้นอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมด้วยตัวเลข GDP จนทำให้ละเลยภาคเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน คนฐานราก หรือกลุ่มชาติพันธุ์ และเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปรับใช้ตลาดโลกมากขึ้น ทั้งที่บทเรียนจากวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจท้องถิ่น จะสามารถค้ำยันประเทศเอาไว้ได้ในวิกฤตต่าง ๆ โดยตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา" 

           ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมไทย จึงได้ร่วมกันระดมความคิดและมีข้อเสนอต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดังนี้

           1. สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้านเพื่อทำเกษตร ด้วยการจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจร 2. ส่งเสริมสิทธิการเข้าถึง กระจายการถือครองที่ดิน และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง 3. สนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รักษาอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตได้ โดยไม่ต้องสร้างหนี้สินเพิ่ม 4. สนับสนุนแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนภาคประชาชน 5. สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง

           6. สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน 7. สนับสนุนการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้มีการศึกษาและรวบรวมแล้วในระดับพื้นที่ เพื่อนำแล้วนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 8. สนับสนุนและพัฒนาความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน เพราะทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต รวมถึง สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ "ภาคเศรษฐกิจครัวเรือนชนบทก็ยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่รองรับปัญหาของเกษตรกรและลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ" โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรในชนบท 10. สนับสนุนการศึกษานอกระบบ ที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน เช่น การสร้างศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนที่มีหลักสูตรความรู้จากประสบการณ์บทเรียนของเกษตรกร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เป็นต้น

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 23 ก.ค. 2564

ผู้เขียน : นครินทร์ อาสะไวย์

เครือข่ายต้านสารพิษเกษตร จี้ กษ. เร่งหาทางเลือกแทนการใช้สารพิษเกษตร

Hazardous chemicalsBanned

แนะ พลิกวิกฤติโควิดเป็นโอกาส พลิกภาคเกษตรพึ่งสารเคมีสู่เกษตรยั่งยืน

หลังจากมี “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม” เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวานนี้ เพื่อขึ้นบัญชีสารเคมีเกษตรพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจำนวน 5 รายการ เป็นวัถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอตเมโทซัลเฟตหรือพาราควอตบิสเมทิลซัลเฟต ซึ่งส่งผลทำให้สารเหล่านี้จะไม่การใช้ในประเทศอีกหรือถูกแบน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป

ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-Pan ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสนับสนุนเกษตรกรทั้งในรูปการฝึกอบรมการให้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ใช้วิธีการทางเลือกอื่น เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน และการจัดระบบการปลูกพืช เป็นต้น ในการกำจัดวัชพืช แทนการใช้สารเคมี

ทั้งนี้ สารดังกล่าว เป็นหนึ่งในสารสามชนิดที่ทางเครือข่ายฯ และองค์กรแนวร่วมร่วมรณรงค์มานานกว่า 3 ปี เพื่อให้มีการแบน เพราะความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยเครือข่ายฯ กล่าวว่า ควรใช้โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากนับล้านคนที่หลั่งไหลกลับภาคเกษตรกรรมอันเกิดจากวิกฤต COVID-19 สร้างอาชีพ เช่น หน่วยบริการกำจัดวัชพืช โดยอาจสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรเพื่อการนี้แก่กลุ่มต่างๆที่สนใจ รวมไปถึงการปฏิรูประบบเกษตรกรรม ที่ส่วนใหญ่เน้นการผลิตเชิงเดี่ยวผลิตวัตถุดิบราคาถูก ไปสู่ระบบเกษตรผสมผสานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะยาว และรองรับการเปลี่ยนแปลงรับมือยุคหลังไวรัสระบาด

โดยรัฐบาลอาจแบ่งงบประมาณ 400,000 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรองรับเกษตรกรรายย่อยที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมไปสู่วิถีเกษตรใหม่ดังกล่าว เครือข่ายฯ กล่าว

ในการประชุมวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาวาระสำคัญเรื่อง การออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ก่อนที่จะมีการตัดสินใจไม่เลื่อนการแบนสารสองชนิดนี้ หลังจากเลื่อนมาจากปลายปีที่ผ่านมา และออกประกาศในที่สุด

ทั้งนี้ ในประกาศ ได้ขอให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ภาพ/ นิตยสารฉลาดซื้อ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ค. 2563

โลกร้อน วิกฤตใหญ่ ซ้ำเติมชาวนาไทย กระทบมั่นคงอาหารโลก

ClimatechangeImpact

                          Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สื่อนอกตีข่าว ชาวนาไทยเจอวิบากกรรมซ้ำเติมจากสภาพอากาศแปรปรวน กระทบทั้งรายได้และผลผลิตข้าวสู่ตลาด

วันที่ 22 เมษายน 2565 ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) สำนักข่าวแชลแนลนิวส์เอเชีย (CNA) สื่อของสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเนื่องในวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยสื่อสิงคโปร์นำเสนอในประเด็น ความท้าทายจากสภาพอาการแปรปรวนที่เกษตรกรชาวนาไทยต้องเผชิญ (Rice and the Climate Crisis: Thai rice farmers struggle against climate-driven challenges) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายงานพิเศษ 4 ชิ้นที่แชลแนลนิวส์เอเชียรายงานเนื่องในวันคุ้มครองโลก

สื่อสิงคโปร์รายงานว่า “มนัส ตากแฟง” ชาวนาไทยวัย 67 ปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในเกษตรผู้ปลูกข้าวที่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนของโลก ซึ่งทำให้ผลผลิตในช่วงการเก็บเกี่ยวของฤดูกาลนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก

“มนัส” เป็นชาวนาธรรมดาซึ่งครอบครัวของเขาประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวเลี้ยงชีพ บนผืนดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ครอบครัวใช้ทำกินมานานหลายชั่วอายุคน มนัสเผยว่า หลายปีแล้วที่ภูมิประเทศรอบผืนนาของเขาเปลี่ยนไป ถูกรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายแห่ง ผู้คนที่พลุกพล่านมากขึ้น เช่นเดียวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี

                         Photo by Madaree TOHLALA / AFP

“ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าฤดูร้อนจะเป็นฤดูร้อน หรือฤดูหนาวจะเป็นฤดูหนาว … ปีนี้เรามีน้ำมาก แต่ผลผลิตข้าวไม่ได้มีมากตามปริมาณน้ำ แถมผลผลิตข้าวยังน้อยกว่าในปีที่มีน้ำน้อย .. อากาศตอนนี้เทียบไม่ได้กับสมัยก่อน แต่ก่อนฤดูฝนก็มีฝนตก แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

เช่นเดียวกับ วิชาติ เพชรประดับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกรายในจังหวัดปราจีนบุรี ผู้กำลังรอคอยการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย ในพื้นที่นาของเขาซึ่งเคยถูกน้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว

วิชาติ วัย 36 ปี ไม่ต่างกับชาวนาไทยหลายรายที่ต้องเช่าที่นาเพื่อเพาะปลูกข้าว เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอจะเป็นเจ้าของที่นาของตัวเองได้ ช่วงปลายปีที่แล้วนาข้าวของเขาต้องถูกน้ำท่วมเป็นเวลานานกว่าจะสามารถระบายน้ำออกได้ อีกทั้งผลจากน้ำท่วมยิ่งทำให้เขามีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น “น้ำยังท่วมนาอยู่ ข้าวก็เน่า ผมพยายามเก็บเกี่ยวแล้วแต่ไม่ได้อะไรเลย .. ยิ่งผมพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียเงินมากเท่านั้น”

เสี่ยงกระทบมั่นคงอาหารโลก

ประเทศไทยมีสัดส่วนค้าข้าวประมาณ 1 ใน 4 ของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในอันดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน โดยประเทศไทยเป็นชาติที่ติดอันดับที่ 9 ของโลกในดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก

สภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อยขึ้นและหนักขึ้น ทั้งแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทุ่งนาเสียหายอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและมีความบ่อยมากขึ้นสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในไทย ในปี 2019 ประเทศไทยเผชิญกับปริมาณน้ำฝนน้อยสุดในรอบทศวรรษ เกิดภาวะแล้งอย่างรุนแรง ระดับในแม่น้ำโขงลดต่ำถึงวิกฤต การเพาะปลูกข้ามได้รับความเสียหายอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณน้ำฝนโดยรวมของปี 2021 จะมากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมในหลายภูมิภาค

ในอดีตชาวนาไทยมักใช้ความรู้และประสบการณ์จากแต่ละช่วงฤดูกาล ประเมินว่าช่วงใดเหมาะแก่การเริ่มหว่านไถ่ ทว่าเรื่องนี้กำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวน

นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ซึ่งมีเครือข่ายชาวนารวมถึงรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ยังยอมรับว่า แม้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกและสนับสนุนกระบวนการปลูก แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สภาพอากาศคือความท้าทายหลักของเกษตรกรไทย

“สถานการณ์แตกต่างไปจากตอนที่ผมเปิดเครือข่ายครั้งแรกเมื่อปี 1997 อย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน ปัญหามันรุนแรงมาก .. พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากไม่มีน้ำ ตอนนี้เกี่ยวกับฝนและน้ำเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์” เขากล่าว

ทั่วไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมราว 8.1 ล้านครัวเรือน จำนวนนี้เพียง 26% เข้าถึงระบบชลประทาน อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีอายุมาก และขาดการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี วิกฤตสภาพอากาศจึงไม่เพียงแค่กระทบต่อผลผลิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ช่วงความไม่เท่าเทียมขยายกว้างมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ในอนาคตที่ต่างกันออกไป การผลิตข้าวอาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชลประทาน ในขณะเดียวกันก็ลดจำนวนลงอย่างมากในพื้นที่ระบบชลประทานยังเข้าไม่ถึงและยังต้องพึ่งน้ำฝนตามธรรมชาติ

ทว่าแม้ภายใต้สถานการณ์ปานกลาง เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยอาจคาดหวังให้ผลผลิตข้าวโดยรวมลดลงมากกว่าร้อยละ 10 มันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของอาหารในภูมิภาค

“นี่ถือเป็นเรื่องจริงจังมาก หากสภาพอากาศแปรปรวนและเกิดภัยแล้งเป็นเวลานาน เกษตรกรผู้อยู่นอกเขตชลประทานจะหายไป นั่นหมายถึง 74% ของครัวเรือนในไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม .. คำถามคือเราควรหาทางป้องกันและพยายามทำอะไรสักอย่างก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้นหรือไม่

ชาวนา

                        Photo by Romeo GACAD / AFP

ทางออก ?

แม้ว่าการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน คือการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบชลประทาน เพื่อจำกัดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต ทว่าวิธีนี้ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งการขาดคาดการณ์ที่เหมาะสม เงินลงทุน เทคโนโลยีการเกษตร หรือการสนับสนุนให้เกษตรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เหล่านี้ทำให้อนาคตปัญหานี้กลับมาวนลูปเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อการเกษตรของไทย

อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนคือ ภาครัฐควรปรับโครงสร้างวิธีการให้เงินสนับสนุนทางการเงินต่อเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศ ตอนนี้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขในกรณีเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม วิษณุให้เหตุผลว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะส่งผลไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนและประสบความสำเร็จมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวตายเพราะภัยแล้งก็จะได้เงิน แค่นั้นแหละ. แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในปีหน้า? รัฐบาลต้องจ่ายอีก .. มันไม่ได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติใดๆ ของเกษตรกรเพื่อปรับปรุงผลผลิตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต เรามีคู่แข่งอยู่ทั่วโลก หากเราให้การสนับสนุนตลอดเวลา ในอนาคตเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน”

วิษณุเสริมว่า การพยายามสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวสนใจทำอาชีพนี้มากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนขีดความสามารถให้พวกเขาด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีที่ทันสมัยในพื้นที่ชนบท การส่งเสริมแหล่งน้ำมากขึ้นและให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เหล่านี้จะถือเป็นการใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรไทยได้ดียิ่งขึ้น

แปลและเรียบเรียงจาก Channelnewsasia

https://www.channelnewsasia.com/sustainability/thailand-rice-farming-climate-challenges-2627961

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 เม.ย. 2565

ไทยควรเน้นการพัฒนาการเกษตรแนวเพื่อระบบนิเวศ

FarmerAdaptation

โลกยุคหลังการระบาดโควิด-19 ภาคเกษตรโดยเฉพาะการผลิตอาหารจะกลับมามีความสำคัญ ไทยนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก

และน่าจะเน้นการพัฒนาด้านนี้

ไทยควรปฏิรูปการบริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งการปลูกพืช การใช้น้ำ การกําจัดศัตรูพืช ป่าไม้ และการประมง ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ/มีอำนาจและความรู้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการประมงในท้องถิ่นของตนแบบยั่งยืน (อยู่ได้ถึงรุ่นลูกหลาน) เพิ่มขึ้น

หลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นพิษ ปกป้องคุณภาพของดิน แหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้วิธีธรรมชาติปลูกพืชแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ การทําการเกษตรแนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ จะต้องการแรงงานในการดูแลเอาใจใส่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการช่วยให้คนมีงานทําเพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ก็คุ้มค่า และถ้าเราจัดระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรมขึ้นคนจะมีเงินซื้อหาได้

การปลูกพืชหลากหลายชนิดสามารถใช้เป็นอาหารในท้องถิ่นได้ โดยคนในชุมชนไม่ต้องไปซื้อหาจากภายนอก การทําการเกษตรแบบผสมผสาน สร้างความหลากหลายเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการโจมตีของศัตรูพืช ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้เกษตรเป็นงานที่น่าสนใจ เกษตรกรมีความภูมิใจและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

คิวบา เปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลส่งไปขาย ไปทําการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เน้นการพึ่งตนเอง ปลูกพืชที่เป็นอาหารแม้ในเขตเมือง ชาวนาในอินเดียรวมกลุ่มกันต่อต้านบริษัทผลิตน้ำอัดลมที่มาสร้างเขื่อนและแย่งน้ำไปจากพวกเขา ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเทศ กลุ่มผู้บริโภคจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าอาหาร และร่วมมือกับเกษตรกรขนาดย่อมผลิตและบริโภคอาหารแนวอินทรีย์

เกษตรกรขนาดย่อมและขนาดกลางร่วมมือกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรแบบสหกรณ์ เครดิตยูเนียน วิสาหกิจชุมชน ฟาร์มรวม และประสานงานในรูปเครือข่ายร่วมมือกับผู้บริโภค สหภาพแรงงาน และองค์กรประชาชน เพื่อที่จะแข่งขันสู้บรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ได้

รัฐและภาคธุรกิจเอกชนควรทุ่มเทวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ขยะ ความร้อนใต้โลก กระแสคลื่นในทะเลและพลังงานน้ำขนาดเล็ก พาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน มาใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งซื้อ/เช่าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น

ลดการผลิตสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยเกินความจําเป็นโดยรวมลง เพื่อลดปัญหาผลกระทบการทําลายระบบนิเวศให้เหลือน้อยที่สุด เปลี่ยนแนวคิดจากการมุ่งเติบโตเชิงปริมาณ เป็นการเจริญเติบโตทางคุณภาพชีวิตแทนด้วยมาตรการ เช่น

1.จัดระบบการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้าและบริการใหม่ โดยเน้นความใกล้ทางภูมิศาสตร์มากขึ้น เพื่อจะได้ขนส่งและใช้พลังงานลดลง ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหารและสินค้าและบริการ รวมทั้งพลังงานได้เองเป็นส่วนใหญ่ แทนการสั่งเข้า จะประหยัดทั้งเรื่องการเก็บรักษา การหีบห่อ การขนส่งและการตลาด ได้เพิ่มขึ้น

2.วิจัยและพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรและพลังงานลดลง เน้นการใช้พลังงานทางเลือก ทําให้สินค้าคงทนมีอายุใช้งานนานขึ้น มีขยะเหลือน้อยและหรือนํากลับไปแปรรูปใช้ใหม่ได้

3.ส่งเสริมการบริโภครวมหมู่ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car pool) แทนการที่ต่างคนต่างใช้รถส่วนตัว การมีห้องสมุด ศูนย์พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ ร่วมกันในชุมชน

4.ส่งเสริมการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วและการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้จักรยานแทนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทําทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ช่วยบังแดด มีสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัย ฯลฯ ส่งเสริมการซ่อมแซมปรับปรุงนำของเก่ามาใช้ การแยกขยะและการแปรรูปใช้ใหม่

5.ให้ชุมชนมีอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน ที่นอกจากผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้พอเพียงแล้ว ควรคิดถึงการให้สมาชิกชุมชนมีเวลาทํากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวและชุมชน การอยู่ในธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี พัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

6.ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจสังคม ช่วยให้คนจนได้รับบริการพื้นฐานที่จําเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่จําเป็น การศึกษาอย่างพอเพียง เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากในอัตราสูงขึ้น

7.ออกแบบกระบวนการผลิตใหม่หมด (Redesign) ปกป้องให้คนงานได้รับอุบัติเหตุ หรือผลกระทบทางสุขภาพจากการทํางานลดลง ส่งเสริมให้คนงานมีอํานาจในการควบคุมกระบวนการทํางานของตน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ เรื่องเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คือให้พนักงานได้เป็นผู้ถือหุ้นและมิสิทธิมีเสียงในโรงงานหรือธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีอํานาจในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น และยั่งยืนขึ้นได้จริง

การที่โลกใช้และติดต่อกันผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องหาทางแก้ไข คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องใช้วัสดุและพลังงานไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 15-19 ตัน การผลิตคอมพิวเตอร์ชิพสําหรับคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องก่อให้เกิดขยะคิดเป็นน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น 1,300 เท่า ขยะบางอย่างเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง กระบวนการผลิตคอมพิวเตอร์ยังก่อให้เกิดการปล่อยสารพิษไปบนชั้นบรรยากาศมากกว่าสินค้าทั่วไปราว 10 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากซากขยะคอมพิวเตอร์ที่เลิกใช้แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมุ่งหากําไรสูงสุด บริษัทคอมพิวเตอร์จึงผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น และจูงใจให้ผู้บริโภคโยนทิ้งของเก่าไปซื้อของใหม่บ่อยขึ้น ทั้งที่ของเก่ายังมีอายุการใช้งานได้อยู่

เราอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาและพลังงานในการทํากิจกรรมของเราได้ในหลายกรณี แต่การจะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาด้านการออกแบบและบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจสังคมด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่

นอกจากจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบและจัดการจราจรแล้ว ยังต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างบูรณาการ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car Pool) การเป็นเจ้าของรถร่วมกันแบบเป็นสมาชิกและจ่ายค่าใช้จ่ายเฉพาะวันเวลาที่ต้องใช้รถ การส่งเสริมการใช้จักรยานและเดินเท้า การทำเมืองให้เล็กลง กระจายให้คนไปอยู่ในเมืองอื่นๆ อย่างมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 เม.ย. 2563

ผู้เขียน : รศ.วิทยากร เชียงกูล อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6805983
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1475
5748
1475
34889
6805983

Your IP: 18.191.157.186
2024-05-05 09:51