“นิยม” แนะ ธกส.งดเก็บดอกเบี้ย 3 ปี ช่วยเกษตรกรโดนพิษภัยแล้ง

Niyom

วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ รวมทั้งเกิดปัญหาตามมา เพราะรายจ่ายไม่ได้ลดลงตามรายได้ เกษตรกรหลายรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่มีอยู่ 

นอกจากนี้เกษตรกรยังมีปัญหากับหนี้สินที่มีอยู่ ทั้งหนี้สินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ที่ต้องหาเงินมาจ่าย ในขณะเดียวกันไปทำงานอื่นก็ไม่ได้เพราะโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีรายได้อื่นนอกจากรายได้จากการทำเกษตร

นายนิยม กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรสามารถดำรงชีพได้ โดยให้ธนาคาร ธกส.ลดอัตราดอกเบี้ย หรือ รัฐบาลกำหนดนโยบายให้รัฐบาลนำงบประมาณหรือเงินกู้จากพระราชกำหนดมาช่วยสนับสนุนในการลดการจ่ายอัตราดอกเบี้ยลงครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่าย

“ดีที่สุดคือรัฐบาลควรกำหนดวงเงินในการช่วยเหลือเกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาท ไม่ได้ช่วยเป็นตัวเงินแต่เป็นการช่วยเรื่องการลดค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนของเกษตรกร กำหนดมาเลยว่า 2-3 ปีข้างหน้าให้เกษตรกรจ่ายหนี้ธนาคารเพื่อลดเงินต้น ที่เหลือรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรจะสามารถช่วยเกษตรกรสามารถสู้กับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน”นายนิยมกล่าว

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 20 ก.ค. 2563

ปรับวิธีสู่แนวความคิดแบบยืดหยุ่น (Resilience Thinking)

ResilienceThinking

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของประชากรทั่วโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกรูปแบบ ถึงแม้เราจะพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากอดีตและปัจจุบัน มาสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์อนาคต ก็อาจจะไม่สามารถทำนายอนาคตอันใกล้นี้ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน ทำให้ผมคิดว่า เราคงมาถึงจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ของทั้งองค์กร สังคม และกลุ่มธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับภาวะแปรปรวน (disturbance) ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านเจอเรื่อง resilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่น จากหนังสือ Team of Teams โดย McChrystal ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการการรบในอิรักและอัฟกานิสถาน ในหนังสือได้พูดถึงเกี่ยวกับแนวคิด 2 รูปแบบ คือ

1) แนวคิดองค์กรที่เน้นประสิทธิภาพ (efficiency) ที่เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพโดยการพยากรณ์และคาดการจากข้อมูล

และ2) แนวคิดองค์กรที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น (adaptability and resilience) ที่เน้นใช้ทุกสิ่งที่หามาได้ในการรับมือต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนายพล McChrystal ยอมรับว่า แนวคิดที่เน้นแต่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเดิมที่ใช้อยู่ในหน่วยงานทหาร อาจทำให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ทัน แต่แนวคิดที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกว่ากับสถานการณ์ที่ต้องสู้รบในอิรักและอัฟกานิสถาน ที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหน และไม่สามารถคาดเดาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

พอยิ่งค้นคว้ามากขึ้น ผมก็พบว่าวิธีคิดแบบresilience thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่นนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเชิงระบบ (systems thinking) ซึ่งมีผลมาจากการเชื่อมองค์ประกอบต่างๆ ของระบบที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และถ้าเจอภาวะแปรปรวนก็ยังสามารถทำงานหลักๆ ของระบบต่อไปได้

แนวคิดนี้มีที่มาจาก ความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยาสังคม (social-ecological) ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วงต้นยุคปี 1980 เมื่อประเทศออสเตรเลียฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เจอกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุด เกษตรกรล้มละลายกันเป็นแถว ถึงแม้ส่วนใหญ่จะดูแลกิจการโดยใช้วิธีการจัดการไร่อย่างดีที่สุดแต่ก็ยังไม่สามารถต้านภัยแล้งได้ ต่อมาเกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้ทดลองเปลี่ยนวิธีจัดการไร่แบบเดิมๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการเล็มหญ้า ลดการไถดิน ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพรรณพืชในป่าและคืนความชุ่มชื่นเพื่อเพิ่มความทนทานจากผลกระทบของภัยแล้งได้ หลังจากนั้นในอีก 20 ปี ต่อมาก็เกิดภัยแล้งขึ้นอีก เกษตรกรที่มีการปรับตัวกลุ่มนี้ ก็ไม่ประสบกับผลกระทบจากภัยแล้ง

เรามาดู 7 หลักการสำคัญของแนวคิดแบบยืดหยุ่น ที่ทาง Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัย Stockholm แนะนำไว้ ดังนี้

1. Maintain Diversity and Redundancy การคงความหลากหลายและการสำรององค์ประกอบต่างๆ ของระบบ เพื่อช่วยสร้างทางเลือกที่จะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

2. Manage Connectivity การจัดการการเชื่อมต่อของเครือข่ายที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งระบบงานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อยๆ (modularity) ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจแต่ละส่วนได้ง่ายและไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง

3. Manage Slow Variables and Feedback การจัดการตัวแปรที่แสดงผลช้าและการป้อนกลับ ยกตัวอย่าง คุณภาพของน้ำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของธาตุฟอสฟอรัสในตะกอน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ปนเปื้อนลงในทะเลสาบ โดยสองสิ่งนี้เป็นตัวแปรที่แสดงผลช้า จึงส่งผลต่อตัวป้อนกลับทั้งทางลบและบวกของคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับตัวแปรที่แสดงผลช้า ที่จะทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าตามไปด้วย

4. Foster Complex Adaptive Systems Thinking การสนับสนุนแนวคิดเชิงระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ ช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาที่เรามองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ซับซ้อนกับส่วนต่างๆ ทั้งด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลกระทบขององค์ประกอบหนึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ในระบบได้ เช่น ประเทศจีนปิดประเทศส่งผลกระทบต่อระบบ supply chain การซื้อขายทั่วโลก หรืออุณหภูมิของน้ำในทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการฟอกสีของประการัง

5. Encourage Continuous Learning สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมต้องมีการเรียนรู้และทดลองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์

6. Broaden Participation การขยายความร่วมมือเพื่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความชอบธรรมในการตัดสินใจตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม

7. Promote Polycentric Governance Systems การสนับสนุนระบบที่มีการปกครองแบบหลายศูนย์กลาง ช่วยประสานและควบคุมนโยบายให้เกิดความครอบคลุมในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าการประสานทำได้ดีก็ช่วยเพิ่มความสามารถรับมือกับสถานการณ์ในยามคับขัน

จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ บทความหน้าเราจะมาดูกันว่าแนวคิดนี้จะสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นฟื้นฟูได้อย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

References:

https://whatisresilience.org/wp-content/uploads/2016/04/Applying_resilience_thinking.pdf

Walker, B.H. and D. Salt. 2006. Resilience Thinking: Sustaining Ecosystems and People in a Changing World. Island Press.

ที่มา : Thaipublica วันที่ 18 เม.ย. 2563

ผู้เขียน : จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

ห้ามไม่ได้จริงๆ "ชาวนา" ปลูกข้าวเกินแผนพุ่ง 2.6 ล้านไร่

Riceoverplan

กอนช. เผย 38 จังหวัด ต้าน ชาวนาไม่อยู่ ปลูกข้าวเกินแผนกว่า 2.6 ล้านไร่  ลาก 10 อ่างใหญ่ จ่ายน้ำเกินแผน ผวาแห้งขอดก่อนฝนมา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง สะสมแล้วรวม 3,603 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของแผน โดยพบว่ามีอ่างเก็บน้ำถึง 10 แห่ง ภาคเหนือ มี 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา 2.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 3.เขื่อนกิ่วลม 4.เขื่อนแม่มอก 5.เขื่อนสิริกิติ์ 6.เขื่อนทับเสลา 7.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำอูน และ ภาคกลาง จำนวน  1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ได้มีการจัดสรรน้ำเกินแผน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนตลอดฤดูแล้งนี้ถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย

ชาวนา ปลูกข้าวเกินแผน

ชาวนา ปลูกข้าวเกินแผน

ขณะที่การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีจำนวน 4.55 ล้านไร่ จากแผน 5.64 ล้านไร่ โดยมีจังหวัดที่เพาะปลูกนารอบที่ 2 มากกว่าแผนแล้ว 29 จังหวัด พื้นที่ 2.44 ล้านไร่ นำโด่งสูงสูด จังหวัดสุพรรณบุรี ตามมาด้วย จังหวัดนครนายก  และปราจีนบุรี ตามลำดับ  ส่วนนอกเขตชลประทาน มีอยู่ 9 จังหวัด จำนวนกว่า 2.5 แสนไร่  สูงสุด จังหวัดนครสวรรค์ ตามมาด้วยจังหวัดพิจิตร ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการควบคุมการเพาะปลูกไม่ให้ขยายวงกว้างให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย ซึ่ง กอนช.ได้ติดตามเฝ้าระวังพร้อมมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาเพื่อการบริโภคและการเกษตรของประชาชน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำทะลุหนุนสูงที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงกลางเดือนนี้

ที่สำคัญได้เน้นย้ำหน่วยงานภายใน กอนช.เร่งสร้างการรับรู้ความก้าวหน้าตาม 9 มาตรการหลักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือป้องกันผลกระทบช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนที่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 ม.ค. 2563

เผยปมปัญหา เปลี่ยนวิถีชาวนาปลูกพืชน้ำน้อยล้มเหลว

ProblemofLesswaterCrops

ปัจจุบันการส่งออกข้าวของไทย ถ้าไม่นับเรื่องคุณภาพ อาจจะไม่ได้ครองสถานะเบอร์ 1ตลอดไป  เพราะต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่ชาวนาเองกลับมีรายได้ สวนทาง บางรอบก็ขาดทุนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตแล้ง แต่น่าสนใจว่าตลอดหลายปีที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรพยายามพูดคุยให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิถีเพาะปลูก แต่เหตุใดไม่สำเร็จ 

ผ้ายางสีดำ และท่อน้ำหยดสำหรับปลูกแตงโม เวลานี้ถูกรื้อถอนม้วนเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ นี่ไม่ใช่การเลิกกิจการ แต่เป็นการเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกแตงโมใหม่อีกรอบ หลังได้ผลผลิตดีเกินคาด

เกษตรกรรายนี้ บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอทำนามาทั้งชีวิต แต่เพราะปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตตกต่ำ  จึงหันมาปลูกพืชน้ำน้อย ทั้ง แตงโม ข้าวโพด และฟักทอง เพื่อหวังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตามคำแนะนำของเกษตรจังหวัด

ปัจจุบันเกษตรกรรายนี้ได้กำไรจากสวนแตงโมแล้วอย่างน้อย 30,000 บาท ซึ่งถือว่ามากกว่ากำไรจากการทำนาหลายเท่าตัว  แต่น่าสนใจว่าเมื่อมองดูที่นาในละแวกใกล้เคียง กลับพบว่าบางส่วนยังฝืนทำนาอยู่ ขณะที่อีกหลายแปลงถูกปล่อยรกร้าง เพราะไม่มีน้ำพอให้ทำนา

“ปกติแล้วการทำนา 1 ครั้ง จะต้องใช้น้ำประมาณ 1600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่นาข้าวจำนวนมากทำให้การทำนาหนึ่งครั้งที่นี่ต้องใช้น้ำมากถึงกว่า 1400 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เสียอีก นี่จึงเป็นเหตุผลให้ทางเกษตรจังหวัดต้องเข้ามาส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เพื่อลดการใช้น้ำและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่น่าสนใจว่าจนถึงวันนี้มีชาวนาเพียงแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยอมปรับเปลี่ยนการปลูกพืช”

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า มีหลายปัจจัยที่ชาวนาไม่ยอมเปลี่ยนใจหันมาปลูกพืชอื่น ทั้งขาดความรู้ ขาดเงินทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ หรือแม้แต่นโยบายในภาพใหญ่ ก็ได้ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรทำกินเดิม   

แม้ปัจจุบันชาวนาจะถูกบีบคั้นด้วยการถูกจำกัดการใช้น้ำจากภาวะภัยแล้ง และหนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกวัน แต่มีพื้นที่เพียง 3-5 แสนไร่ จาก 60 กว่าล้านไร่เท่านั้น ที่หันมาปลูกพืชน้ำน้อย นักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การชักชวนเกษตรกรเปลี่ยนวิถีเพาะปลูกไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของไทย ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากถูกใช้ให้ทำงานด้านลงทะเบียนเป็นหลัก

สุรลักษณ์ ตั้งรุจิวัฒนชัย ถ่ายภาพ

ปรารถนา พรมพิทักษ์ รายงาน

ที่มา : PPTV วันที่ 17 เม.ย. 2563

โลกร้อน วิกฤตใหญ่ ซ้ำเติมชาวนาไทย กระทบมั่นคงอาหารโลก

ClimatechangeImpact

                          Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สื่อนอกตีข่าว ชาวนาไทยเจอวิบากกรรมซ้ำเติมจากสภาพอากาศแปรปรวน กระทบทั้งรายได้และผลผลิตข้าวสู่ตลาด

วันที่ 22 เมษายน 2565 ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) สำนักข่าวแชลแนลนิวส์เอเชีย (CNA) สื่อของสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเนื่องในวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยสื่อสิงคโปร์นำเสนอในประเด็น ความท้าทายจากสภาพอาการแปรปรวนที่เกษตรกรชาวนาไทยต้องเผชิญ (Rice and the Climate Crisis: Thai rice farmers struggle against climate-driven challenges) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายงานพิเศษ 4 ชิ้นที่แชลแนลนิวส์เอเชียรายงานเนื่องในวันคุ้มครองโลก

สื่อสิงคโปร์รายงานว่า “มนัส ตากแฟง” ชาวนาไทยวัย 67 ปี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในเกษตรผู้ปลูกข้าวที่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนของโลก ซึ่งทำให้ผลผลิตในช่วงการเก็บเกี่ยวของฤดูกาลนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก

“มนัส” เป็นชาวนาธรรมดาซึ่งครอบครัวของเขาประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวเลี้ยงชีพ บนผืนดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ครอบครัวใช้ทำกินมานานหลายชั่วอายุคน มนัสเผยว่า หลายปีแล้วที่ภูมิประเทศรอบผืนนาของเขาเปลี่ยนไป ถูกรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายแห่ง ผู้คนที่พลุกพล่านมากขึ้น เช่นเดียวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี

                         Photo by Madaree TOHLALA / AFP

“ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าฤดูร้อนจะเป็นฤดูร้อน หรือฤดูหนาวจะเป็นฤดูหนาว … ปีนี้เรามีน้ำมาก แต่ผลผลิตข้าวไม่ได้มีมากตามปริมาณน้ำ แถมผลผลิตข้าวยังน้อยกว่าในปีที่มีน้ำน้อย .. อากาศตอนนี้เทียบไม่ได้กับสมัยก่อน แต่ก่อนฤดูฝนก็มีฝนตก แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

เช่นเดียวกับ วิชาติ เพชรประดับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกรายในจังหวัดปราจีนบุรี ผู้กำลังรอคอยการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย ในพื้นที่นาของเขาซึ่งเคยถูกน้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว

วิชาติ วัย 36 ปี ไม่ต่างกับชาวนาไทยหลายรายที่ต้องเช่าที่นาเพื่อเพาะปลูกข้าว เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอจะเป็นเจ้าของที่นาของตัวเองได้ ช่วงปลายปีที่แล้วนาข้าวของเขาต้องถูกน้ำท่วมเป็นเวลานานกว่าจะสามารถระบายน้ำออกได้ อีกทั้งผลจากน้ำท่วมยิ่งทำให้เขามีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น “น้ำยังท่วมนาอยู่ ข้าวก็เน่า ผมพยายามเก็บเกี่ยวแล้วแต่ไม่ได้อะไรเลย .. ยิ่งผมพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียเงินมากเท่านั้น”

เสี่ยงกระทบมั่นคงอาหารโลก

ประเทศไทยมีสัดส่วนค้าข้าวประมาณ 1 ใน 4 ของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในอันดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน โดยประเทศไทยเป็นชาติที่ติดอันดับที่ 9 ของโลกในดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก

สภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อยขึ้นและหนักขึ้น ทั้งแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทุ่งนาเสียหายอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากและมีความบ่อยมากขึ้นสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในไทย ในปี 2019 ประเทศไทยเผชิญกับปริมาณน้ำฝนน้อยสุดในรอบทศวรรษ เกิดภาวะแล้งอย่างรุนแรง ระดับในแม่น้ำโขงลดต่ำถึงวิกฤต การเพาะปลูกข้ามได้รับความเสียหายอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณน้ำฝนโดยรวมของปี 2021 จะมากขึ้น แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมในหลายภูมิภาค

ในอดีตชาวนาไทยมักใช้ความรู้และประสบการณ์จากแต่ละช่วงฤดูกาล ประเมินว่าช่วงใดเหมาะแก่การเริ่มหว่านไถ่ ทว่าเรื่องนี้กำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวน

นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ซึ่งมีเครือข่ายชาวนารวมถึงรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ยังยอมรับว่า แม้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปลูกและสนับสนุนกระบวนการปลูก แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สภาพอากาศคือความท้าทายหลักของเกษตรกรไทย

“สถานการณ์แตกต่างไปจากตอนที่ผมเปิดเครือข่ายครั้งแรกเมื่อปี 1997 อย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน ปัญหามันรุนแรงมาก .. พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากไม่มีน้ำ ตอนนี้เกี่ยวกับฝนและน้ำเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์” เขากล่าว

ทั่วไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมราว 8.1 ล้านครัวเรือน จำนวนนี้เพียง 26% เข้าถึงระบบชลประทาน อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีอายุมาก และขาดการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี วิกฤตสภาพอากาศจึงไม่เพียงแค่กระทบต่อผลผลิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ช่วงความไม่เท่าเทียมขยายกว้างมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ในอนาคตที่ต่างกันออกไป การผลิตข้าวอาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชลประทาน ในขณะเดียวกันก็ลดจำนวนลงอย่างมากในพื้นที่ระบบชลประทานยังเข้าไม่ถึงและยังต้องพึ่งน้ำฝนตามธรรมชาติ

ทว่าแม้ภายใต้สถานการณ์ปานกลาง เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยอาจคาดหวังให้ผลผลิตข้าวโดยรวมลดลงมากกว่าร้อยละ 10 มันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของอาหารในภูมิภาค

“นี่ถือเป็นเรื่องจริงจังมาก หากสภาพอากาศแปรปรวนและเกิดภัยแล้งเป็นเวลานาน เกษตรกรผู้อยู่นอกเขตชลประทานจะหายไป นั่นหมายถึง 74% ของครัวเรือนในไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม .. คำถามคือเราควรหาทางป้องกันและพยายามทำอะไรสักอย่างก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้นหรือไม่

ชาวนา

                        Photo by Romeo GACAD / AFP

ทางออก ?

แม้ว่าการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน คือการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบชลประทาน เพื่อจำกัดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต ทว่าวิธีนี้ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งการขาดคาดการณ์ที่เหมาะสม เงินลงทุน เทคโนโลยีการเกษตร หรือการสนับสนุนให้เกษตรปลูกพืชใช้น้ำน้อย เหล่านี้ทำให้อนาคตปัญหานี้กลับมาวนลูปเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อการเกษตรของไทย

อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนคือ ภาครัฐควรปรับโครงสร้างวิธีการให้เงินสนับสนุนทางการเงินต่อเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศ ตอนนี้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขในกรณีเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม วิษณุให้เหตุผลว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะส่งผลไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนและประสบความสำเร็จมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวตายเพราะภัยแล้งก็จะได้เงิน แค่นั้นแหละ. แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในปีหน้า? รัฐบาลต้องจ่ายอีก .. มันไม่ได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติใดๆ ของเกษตรกรเพื่อปรับปรุงผลผลิตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต เรามีคู่แข่งอยู่ทั่วโลก หากเราให้การสนับสนุนตลอดเวลา ในอนาคตเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน”

วิษณุเสริมว่า การพยายามสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวสนใจทำอาชีพนี้มากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนขีดความสามารถให้พวกเขาด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีที่ทันสมัยในพื้นที่ชนบท การส่งเสริมแหล่งน้ำมากขึ้นและให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เหล่านี้จะถือเป็นการใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรไทยได้ดียิ่งขึ้น

แปลและเรียบเรียงจาก Channelnewsasia

https://www.channelnewsasia.com/sustainability/thailand-rice-farming-climate-challenges-2627961

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 เม.ย. 2565

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6871292
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
3402
4413
28053
100198
6871292

Your IP: 3.145.161.228
2024-05-18 15:05