'ดุสิตโพล'ชี้ปัญหา'หนี้สิน-ว่างงาน'กระทบครอบครัวคนไทย

SaundusitPollMarch2021

14 มี.ค.2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,184 คน สำรวจวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564 พบว่า ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 75.41 หากมองในแง่บวกเห็นว่าโควิด-19 ทำให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ร้อยละ 70.28 พฤติกรรมครอบครัวไทยที่เพิ่มขึ้น คือ การดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ร้อยละ 75.17 พฤติกรรมที่ลดลง คือ การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 63.77 ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับครอบครัว คือ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 44.27

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ปัญหาครอบครัวไทยก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง รายได้ หนี้สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเรื่องเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาหลักของคนไทย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมองเห็นปัญหาระดับจุลภาคนี้หรือไม่ และจะมีแนวทางในการแก้ไขทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือนอย่างไร เพราะครอบครัวนั้นเป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคม ถ้าทุกครอบครัวอยู่ดีมีเงินใช้ก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้นดีมีความสุขนั่นเอง 

                                    
ผศ.ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์ คณบดีโรงเรียนท่องเที่ยวและการบริการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล เรื่องครอบครัวไทยในยุคโควิด-19 นั้น พบว่าผลกระทบเชิงลบหลักที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเศรษฐกิจ คือ ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาและเกิดสภาวะความเครียด ซึ่งความเครียดนั้นมิได้มีเพียงแค่ปัญหาปากท้องเท่านั้น แต่มีความเครียดที่มาจากความกังวลใจในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย จะเห็นได้ว่าผู้คนติดตามข่าวสารและสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยง ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์แพร่ระบาดนี้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาร่วมดูแล ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อก้าวข้ามผ่านสภาวการณ์เช่นนี้ไปได้ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 มี.ค. 2564

'เยียวยาเกษตรกร' รัฐอัดฉีดเงินเพิ่ม 3 แสนล้าน ให้ 'ธ.ก.ส.' หนุนเศรษฐกิจฐานราก

FarmerHealingCovid19

"เยียวยาเกษตรกร" ต่อเนื่อง รัฐเพิ่มเงินอีกเกือบ 3 แสนล้าน อุดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก "ธ.ก.ส." พร้อมช่วยวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสหกรณ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากความคืบหน้าของ มาตรการเยียวยาเกษตรกร ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้าน สู่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย แบ่งเป็นงบสนับสนุนโดยตรงกว่า 50,000 ล้านบาท และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก ธ.ก.ส.อีก 2.6 แสนล้าน เพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังวิกฤติ โควิด-19 แก่เกษตรกร 300,000 ราย

พร้อมกันนั้น ยังเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านการตลาด และเทคโนโลยีกลับคืนสู่ชนบท 200,000 ราย พร้อมหนุนวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตร 16,000 ราย และสหกรณ์ สถาบันเกษตรกรอีก 7,255 แห่ง ร่วมเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก

อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงาน และต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้ และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม

"ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทอีกทางหนึ่ง" 

159298063389

โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย โดย ธ.ก.ส. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท นอกเหนือจากมาตรการเยียวยาเกษตรกร สามารถแยกออกเป็น โครงการหลักๆ ดังนี้

1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 

  • ขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว
  • การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น
  • การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ
  • พัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

159298071348

2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 

  • การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท
3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท สำหรับ
  • สนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
  • รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท

159298073391

นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ถือว่า เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มิ.ย. 2563

‘รัฐบาล’ เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ท้าทาย เน้นเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อให้เป็นธรรม

Anucha

‘รัฐบาล’ เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ท้าทาย เน้นเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อให้เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมายาวนาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และยิ่งทำให้ปัญหานี้ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจึงเดินหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

นายอนุชากล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้จะมีผลช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ประชาชนมีเงินเหลือไว้ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะมีประชาชนกลุ่มต่างๆ หลายล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “การเป็นหนี้” ไม่มีทางที่จะยั่งยืน สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพในระยะยาว ประชาชนที่มีหนี้มักจะมีความกังวลต่างๆ ไม่มีสมาธิ ทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพของประเทศโดยรวม

นายอนุชากล่าวว่า การผลักดันมาตรการแก้หนี้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและที่เรียกเก็บอย่างไม่สมควร โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้โดยเร็วที่สุด การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) และสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่เหมาะสม ลดการให้ลูกหนี้ซื้อประกันความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นและพิจารณายกเลิกการค้ำประกันด้วยบุคคล เน้นการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เร่งไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้กับผู้กู้ที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านราย และกลุ่มที่ยังไม่ฟ้องอีก 1.1 ล้านราย และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะการที่ประชาชนรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้และต้องไปกู้นอกระบบเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเป็นหนี้ที่กติกาไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยสูงเกินเหตุ

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับแนวทางในทางแก้ไขหนี้สินครู ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ในปัจจุบันพบว่าครูและข้าราชการจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเงินเดือนหลังหักจ่ายหนี้แล้วเหลือไม่พอดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีภาระหนี้รวมในปัจจุบันสูงกว่าศักยภาพของเงินเดือน ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ
1.การยุบยอดหนี้เงินต้นให้ลดลง ด้วยการนำรายได้ของข้าราชการเองในอนาคตมาลดภาระหนี้เงินกู้
2.การให้เจ้าหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ข้าราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะได้ตัดเงินหน้าซองเงินเดือนทุกเดือน
3.การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น เช่น การทำประกัน ฯลฯ
4.การปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

“การแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้ให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม และแก้ไขหนี้สินทั้งระบบ ไม่ใช่เป็นการแก้เฉพาะหนี้เสีย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปในคราวเดียวกันด้วย เพื่อให้เอื้อและไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้” นายอนุชากล่าว

ที่มา : มติชน วันที่ 11 ก.ค. 2564

"ประวิตร"ผุดแผนเงินจากดินเพิ่มรายได้-ลดหนี้เกษตรกร

PrawitmakemoneyfromFarm

“ประวิตร” ตั้ง “อนุชา” นั่งประธานกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลั่นเดินหน้าเพิ่มกำลังซื้อภาคเกษตรผุดโครงการ “เงินจากดิน” แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิดหวังราคาพุ่งเพิ่มรายได้เกษตรกร ควบคู่มาตรการพักหนี้ แก้หนี้นอกระบบ ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีคณะกรรมการอีก 35 คนได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ 19 คน รวมทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากภาคเอกชน เช่นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกนั้นตนมองว่าเป้าหมายที่สำคัญ 2 เป้าหมายแรกที่ต้องผลักดันให้บรรลุผลก็คือ การแก้ปัญหาความยากจน และการแก้ปัญหาความหิวโหย ซึ่งจะต้องทำสองตัวนี้ให้สำเร็จก่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายอื่น ๆ 

 ทั้งนี้  ตนในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะผลักดันในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนก่อน โดยต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนจำนวนมากที่สุดของประเทศ และอยู่ในระดับฐานรากของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้่อของภาคเกษตรถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเนื่องจากมีแรงงานจากภาคท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 เข้ามาทำงานในภาคเกษตร โดยหากสามารถทำให้คนในส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นการจับจายใช้สอยในระดับเศรษฐกิจฐานรากก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักเนื่องจากคนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

นายอนุชา กล่าวว่า แนวทางก็คือการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพดในราคาที่สูงกว่าตลาดโดยปริมาณในการแทรกแซงผลผลิตไม่เกินสัดส่วน 30% ของผลผลิตในภาพรวมซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเป็นการชี้นำราคาของภาครัฐซึ่งทำได้เนื่องจากภาครัฐช่วยนำผลผลิตออกจากตลาดบางส่วนและทำให้ผลผลิตพืชเกษตรมีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการราคาสินค้าเกษตรจึงเพิ่มขึ้น 

นอกจากโครงการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยังมีสิ่งที่จะทำไปควบคู่กันก็คือเรื่องของการพักชำระหนี้เกษตรกรชั่วคราว และการจัดการกับหนี้นอกระบบอย่างเด็ดขาดเพื่อให้รายได้ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มเติม เกษตรกรสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในช่วงนี้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องภาระหนี้สินที่กดดันการใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ 

“กำลังซื้อของเกษตรกร และคนในฐานล่างตอนนี้ยังไม่ฟื้นวิธีการก็คือทำยังไงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมตั้งใจจะทำโครงการ “เงินจากดิน” เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร หากสามารถผลักดันแนวทางนี้ก็จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้"

ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้นภาครัฐก็สามารถที่จะเก็บภาษีจากการใช้จ่าย โดยนโยบายลักษณะนี้สามารถให้ท้องถิ่นเป็นคนทำก็ได้ไม่ต้องให้รัฐบาลทำซึ่งจะสามารถเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารงานและงดข้อครหาว่ารัฐบาลจะทุจริตในโครงการได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการดูแลรายได้ของเกษตรกรผ่านมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการหลายชนิด ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้ ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินรวม 51,858 ล้านบาท 2.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 1,800 ล้านบาท 3.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราปี 2564 วงเงิน 10,042 ล้านบาท 4.ประกันรายได้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และ5.ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังวงเงิน 9,780 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ สศช.ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรื่องสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แม้จะชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 83.3% ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทําจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2563

“ผู้ว่าธปท.” แนะใช้โอกาสช่วงโควิดรีเซ็ตหนี้ครัวเรือน-เร่งการลงทุนรับมือโลกใหม่

ResetDebtHousehold

ผู้ว่าธปท. แนะใช้โอกาสโควิด-19 รีเซ็ตปัญหาหนี้ครัวเรือน-การลงทุนเอกชนต่ำ หลังตัวเลขไม่ขยับจากปี 40 เผยคนจนลดลง แต่คนจนเกือบจ่อเพิ่มขึ้น หากเจอช็อกโดนกระทบหนัก ชี้ธุรกิจเร่งปรับตัวรับโลกใหม่หลังโควิด 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับประเทศไทยมานานก่อนจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีตที่ก่อให้เกิดการกู้เงิน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 84% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 80% โดยตัวเลขจะพบว่าคนเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน ซึ่งอายุเฉลี่ย 20-30% มากกว่า 50% มีหนี้แล้ว และอายุ 60-65 ปี มีหนี้สะสมกว่าแสนบาท จึงเป็นความเปราะบางเมื่อโดนแรงกระทบ

นอกจากนี้ หากดูเส้นความยากจน (Poverty line) ตามคำนิยามของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แม้ว่าจะเห็นการปรับตัวลดลง แต่หากขยับเส้นความยากจนขึ้นมากเล็กน้อย จะพบว่ามีคนที่เกือบจนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้มีหนี้จำนวนเยอะ และหากเจอภาวะช็อกเพียงเล็กน้อยจะค่อนข้างลำบาก แม้ว่าธปท.จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งการแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว หรือพักหนี้และยืดหนี้ออกไป แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ ซึ่งจะมาจากการทำงานและการลงทุนของประเทศ 

ทั้งนี้ หากดูการลงทุนของไทย จะพบว่าเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 ซึ่งตอนนั้นระดับการลงทุนเฉลี่ย 30-40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ซึ่งนำมาสู่สารพัดปัญหา และรายได้คนค่อนข้างทางตัว แม้ว่าจะมีคนกล่าวว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่โตจะให้ลงทุนอะไร ซึ่งเบื้องต้นต้องยอมรับว่าโลกหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม ไทยจึงต้องปรับตัวและหาสินค้าหรือเทรนใหม่เพื่อรับสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้น

อาทิ กลุ่มยานยนต์ จะทำเครื่องยนต์แบบเดิมหรือจะไปแบบอีวี ซึ่งการทำอีวีจะก่อให้เกิดการลงทุนหลายอย่างตามมา หรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าเวียดนามมาก จึงต้องปรับตัวให้ก้าวให้ทัน และเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่กับไทยมานาน จะเห็นว่าเหลือ Capacity ค่อนข้างมาก และกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ 40 ล้านคนอาจจะใช้เวลานาน ดังนั้น ไทยควรหันมาเน้นด้านคุณภาพ โดยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานมากกว่า 9 วัน และใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อหัว ซึ่งหากไทยมองไกลและมองยาวช่วงจังหวะนี้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเอื้อให้เกิดการลงทุน แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่มักจะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าลงทุนในประเทศ

“หากมองไปข้างหน้าการเติบโตเศรษฐกิจจะเห็นเป็นบวกได้และกลับมาในระดับเดียวก่อนโควิดในไตรมาสที่ 3 ปี 65 โดยปีนี้จะ -8% และปี 64 จะเป็นบวก 4% ก่อนจะกลับมาเท่าเดิม ซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และหากกลับมาได้ไทยก็ไม่ควรเหมือนเดิม เราต้องกลับมาดีกว่าเดิม โดยเราใช้โอกาสนี้ในการรีเซ็ตในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และการลงทุนใหม่ให้อยู่ในพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพราะจากเดิมเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น แต่ไม่มีความทนทาน หรือ Resilience เพราะเราไปพึงภาคท่องเที่ยวเยอะเกินไปแทนทีจะมีเครื่องยนต์หลากหลายในการขับเคลื่อน”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 พ.ย. 2563

“ฟ้าทะลายโจร” ทิศทางการผลิตและการตลาดของเกษตรกร

Fahtalaijon

“ฟ้าทะลายโจร” พืชสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในขณะนี้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้ โดยมีสารสำคัญ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สามารถลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักได้ ทำให้ปัจจุบันความต้องการฟ้าทะลายโจรในตลาดมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มโอกาสและช่องทางในการผลิต การแปรรูป การตลาด และการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

           เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท ได้จัดอบรมออนไลน์ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อเรื่อง “การปลูกฟ้าทะลายโจรและการพึ่งตนเองด้วยสมุนไพร” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องกระบวนการปลูกฟ้าทะลายโจรจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรที่สนใจปลูกฟ้าทะลายโจร มีความรู้ในการพัฒนาการผลิตอย่างรอบด้านและมีทิศทาง สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หัวใจสำคัญ คือ การผลิตที่มีคุณภาพและมีตลาดรองรับ

           คุณรัตนา จันทะหนู วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 จ.สระแก้ว กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปฟ้าทะลายโจร ตลอดจนพืชสมุนไพรชนิดอื่นสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา อาหารเสริมดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เวชสำอางภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทางกลุ่มได้วางแผนการผลิต โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ผลผลิตพืชสมุนไพรส่วนใหญ่ของกลุ่มจะมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น ตลาดคู่สัญญากับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลวังน้ำเย็น คุณรัตนาได้แนะนำขั้นตอนการปลูกฟ้าทะลายโจร ตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ การผสมดิน วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การเก็บเมล็ดพันธุ์ ภายใต้การบริหารจัดการและดูแลมาตรฐานระดับกลุ่ม ดังนี้

           การเพาะเมล็ดพันธุ์ นำเมล็ดฟ้าทะลายโจรขัดกับพื้นปูนโดยใช้มือกดและถูเมล็ดไปมากับพื้นปูนประมาณ 5-10 วินาที วิธีนี้จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น ต่อมาผสมดินเพาะกล้าใส่กะบะเพาะ ใช้ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน ดิน 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน โรยวัสดุเพาะที่ผสมแล้วลงในกะบะเพาะ รดน้ำให้เปียกแล้วนำเมล็ดที่ผ่านการขัดแล้วโรยบนกะบะเพาะบางๆ ระวังอย่าให้เมล็ดทับซ้อนกัน จากนั้นนำวัสดุเพาะโรยปิดบางๆ และรดน้ำอีก 1 ครั้ง และรดน้ำวันละครั้ง รอประมาณ 3-5 วัน เมล็ดจะงอกออกจากเมล็ดหลังจากงอกประมาณ 3 วัน ทำการย้ายต้นกล้าจากกะบะเพาะใส่ถาดเพาะกล้าหลุมละ 1 ต้น เลือกต้นที่มีลักษณะต้นเท่าๆ กัน เลี้ยงต้นกล้าในกะบะเพาะ อีกประมาณ 20 วัน รดน้ำวันละ 1 ครั้ง สังเกตต้นกล้าจะมีใบ 4-6 ใบ

           วิธีการปลูก 1. นำต้นกล้าฟ้าทะลายโจรย้ายลงแปลงปลูกโดยปลูกระยะห่าง 10 ซม. 2. รดน้ำทุกวัน ในอาทิตย์ที่ 1 หากไม่มีฝนตก หลังจาก 1 อาทิตย์ไปแล้ว 2-3 วันรดน้ำ 1 ครั้ง (ฟ้าทะลายโจรชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ) ดูแลแบบพืชอื่นทั่วไป กำจัดวัชพืชใส่ปุ๋ยหมักอย่างน้อย 1 ครั้ง อาจคลุมฟางหลังการปลูกในแปลง การเก็บเกี่ยว 1. เมื่อฟ้าทะลายโจรอายุ 90-120 วัน สามารถเก็บส่วนใบและลำต้นโดยการตัดลำต้นเหนือดินขึ้นมา 4 ข้อ ใบของลำต้นช่วงอายุ 90-120 วันหรือก่อนต้นฟ้าทะลายโจรจะออกดอกจะมี สารแอนโดรกราโฟไลด์สูง เป็นช่วงที่เหมาะแก่การนำไปใช้ทำยา การแปรรูป 1.นำฟ้าทะลายโจรล้างน้ำทำความสะอาด 2. นำไปตากให้น้ำแห้ง (ห้ามตากหนา) 3. เมื่อฟ้าทะลายโจรแห้งแล้ว นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 5 ซม. 4. เมื่อสับเสร็จแล้ว นำฟ้าทะลายโจรไปตากในโรงอบ (ห้ามตากหนา) 5.เมื่อฟ้าทะลายโจรแห้งจนกรอบ ให้เก็บใส่ตระกร้าและเช็คแยกดูอีกทีว่ามีสิ่งเจือปนหรือไม่ 6. นำฟ้าทะลายโจรบรรจุใส่ถุงและปิดปากให้สนิท 7.หลังจากบรรจุเสร็จแล้วให้นำไปเก็บในห้องที่ไม่มีความชื้นเข้าได้

           การเก็บเมล็ดพันธุ์และการเก็บรักษา 1. หลังจากฟ้าทะลายโจรมีอายุประมาณ 120 วันขึ้นไปจะเริ่มมีดอกและติดเมล็ด เราควรเหลือฟ้าทะลายโจรบางส่วนไว้เก็บเมล็ดพันธุ์ 2. หลังจากที่ฟ้าทะลายโจรติดฝักแล้ว เราควรสังเกตสีของเมล็ด เมล็ดที่แก่จะเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล 3. เก็บเมล็ดพันธุ์โดยการเก็บเมล็ดจากต้น หรือการตัดต้นแล้วนำมาเคาะเพื่อให้เมล็ดร่วง 4. เมื่อได้เมล็ดแล้ว หลังจากนั้นให้นำไปตากแดด (ควรปิดฝา เพื่อไม่ให้เมล็ดกระเด็นออก) 5. คัดแยกเมล็ดฟ้าทะลายโจรออกจากฝักที่แตกแล้ว (เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรักษา) 6. นำเมล็ดฟ้าทะลายโจรไปแช่ตู้เย็น เพื่อที่จะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีอายุนานขึ้น (ถ้าเก็บในอุณภูมิห้องเกิน 6 เดือน อัตราการงอกจะลดลง)

Fahtalaijon02

ทิศทางการตลาดฟ้าทะลายโจร ควรมองความสัมพันธ์ระยะยาว

           ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่มีรากแก้ว ปลูกง่าย ดูแลง่าย หากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้ คุณรัตนา กล่าวสรุปถึงทิศทางการผลิตและการตลาดฟ้าทะลายโจรจากประสบการณ์ของกลุ่มว่า “การปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อความยั่งยืน หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก และควรรักษาช่องทางตลาดกับคู่สัญญาในระยะยาว ไม่ควรอิงตามกระแสราคาตลาดมากเกินไป เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม ผู้บริโภคซื้อไหว เกษตรกรอยู่ได้ เพื่อสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน” 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 24 ก.ย. 2564 

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

DrDecharatSukkamnerd

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสนอทางออกปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกรด้วยธนาคารต้นไม้

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

 2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

แก้หนี้พูดง่าย ทำยาก นโยบายรัฐไม่เอื้อเกษตรกรรายย่อย

ขณะที่ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีเสวนาและแสดงปาฐกถา หัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต’ ตอนหนึ่งว่า หนี้ต่อให้ปรับโครงสร้างอย่างไรก็ยังเป็นหนี้ ซึ่งทางออกที่จะไม่เป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะนโยบายไม่ตอบโจทย์กับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มเดิม ๆ คนรุ่นเก่า โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ มีเรื่อง Smart Farmer ทั้งหลายเข้ามา คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ มีความเป็นปัจเจกสูง กลุ่มทุน หน่วยงานต่าง ๆ ก็พากันเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ ตรงนี้เองกลับยิ่งทำให้เกษตรกรกลุ่มเดิมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

นโยบายที่บ้านเรามีไม่ได้มุ่งเข้าไปช่วยเกษตรรายย่อย เพราะบ้านเราไม่ได้ยอมรับไม่ยอมสถาปนาว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นคนด้อยโอกาสชั้นล่างสุดที่รอรถโดยสารแบบลุ้น ๆ ว่าจะมาหรือไม่มา เปรียบเหมือนกับ ปลูกมะเขือออกมาก็ต้องลุ้น ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่”

รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เกษตรกรถูกบังคับให้เป็นถึง 3 อย่างคือเป็น นักเกษตรกร, นักอุตสาหกรรม และนักการตลาดที่ดี ดูดีดูหรูหรา แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เกษตรกรอยู่ไปวัน ๆ ซ้ายก็หนี้ ขวาก็หนี้ ไม่มีทางออก ขณะเดียวกัน บ้านเราก็ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการรวมกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

>คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กำลังบรรยายเรื่อง บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

>ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เผยเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน ถึงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องลงแก้ไขอย่างจริงจัง

เกษตรกรไทยร้อยละ 90 เป็นหนี้

จากนั้นมีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ โดยมีวิทยากรและผู้สนใจมาร่วมเสวนาอย่างคึกคัก

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องมีหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว 

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ด้าน คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภากล่าว

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

ขณะที่ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

นายพงษ์พันธ์ กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

นอกจากนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวว่า นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ได้นำเสนอทางออกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีของธนาคารต้นไม้ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

(รายละเอียดการเสวนาชมเต็มๆได้จากคลิปเกษตรก้าวไกล LIVE– "ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”  https://fb.watch/bkAk7Zqh_V/ โดยในเรื่องหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน และธนาคารต้นไม้จะอยู่ช่วงท้ายๆคลิป)

2 ปีโควิด-19 ทำเกษตรกรหนี้พุ่ง ที่ดินถูกยึด แนะสร้าง “หมอหนี้” และทำธนาคารต้นไม้

อนึ่ง องค์กรร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

ที่มา : เกษตรก้าวไกล วันที่ 22 ก.พ. 2565

การปรับตัวของชาวนาและคนจนยุค ‘ต้นทุนชีวิตแพง’

FarmerEating

2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยและสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาโรคระบาดยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาใหม่ก็วิ่งเข้ามา ปัญหาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และจากการสำรวจของธนาคารโลก กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะรายจ่ายด้านพลังงานและอาหารเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ นั่นหมายความว่าต้นทุนชีวิตของคนจนจะแพงกว่านั่นเอง กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ “กลุ่มผู้มีรายได้น้อย” เพราะเมื่อราคาค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือนด้วย

“รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนช่วยประหยัดพลังงานลดค่าใช้จ่ายตนเอง...” ถ้อยแถลงของรัฐบาลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกรอบ เมื่อวันที่  8 มีนาคม 2565

“เรามีเงินน้อยก็ต้องเลือกใช้เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเรา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เมื่อรายได้ลดลง ราคาสินค้าพลังงานสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้นเกือบ 50% ทำให้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ต้นทุนชีวิตคนจนแพงทั้งแผ่นดิน

ปัญหาเศรษฐกิจและต้นทุนราคาสินค้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อคนจนและผู้มีรายได้น้อยอย่างรุนแรงมากที่สุด เพราะรายได้ที่หามานั้น จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เฉลี่ยประมาณ 50-70% ของรายได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนสำคัญในการผลิตขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารและของใช้จำเป็น อาทิเช่น แก๊ซหุงต้ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช หมู ไก่ แพงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5-20% เมื่อต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนกลุ่มนี้ที่ยังเท่าเดิม แล้วปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนจะอยู่รอดได้อย่างไร ต้องบอกว่าแม้คนจนเหล่านี้จะพยายามแล้ว ก็ยังอยู่ยาก และอาจพากันอดตาย

ต้นทุนการผลิตของชาวนาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

จากภาวะต้นทุนและภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ชาวนาและเกษตรกรเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากไม่ต่างจากคนจนเมืองและผู้ใช้แรงงาน แม้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารด้วยการทำเกษตรหลากหลายไว้บริโภคเองในครัวเรือน แต่ชาวนาส่วนใหญ่มีต้นทุนชีวิตติดลบมานานแล้ว จากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงจากภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและความเสียหายจากภาวะสภาพภูมิอากาศ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินชาวนาและเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74  รวมถึงยังมีหนี้งอกออกมาจากโครงการพักชำระหนี้ของรัฐ เพราะดอกเบี้ยไม่ได้พักด้วย เข้ามาซ้ำเติมจนเกิดเป็นหนี้สะสม  

การปลูกข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 100% และจะปรับสูงขึ้นแบบขั้นบันไดอีกไม่ต่ำกว่า 20% การปรับตัวของชาวนาหากมีการนำปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตการทำนาลดลงจาก 4,000 บาทต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,000 บาทต่อไร่ (ที่มา: สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย 25 เม.ย. 2565 )

การปรับตัวของชาวนาและคนจน รับมือต้นทุนชีวิตแพง

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลงหรือขอความร่วมมือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต่างปรับตัวและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายตามเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็น หารายได้เสริม วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า เกษตรกร แรงงานและประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งก็เผชิญปัญหา “รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น” จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แถมคนส่วนหนึ่งยังตกงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าแรง ทั้งนี้ทางออกต่อวิกฤตปัญหาปากท้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพต้องมองทั้งระดับปัจเจกและโครงสร้าง ต้องมองไกลไปกว่าการ “ปรับพฤติกรรม” หรือ ““ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาลคือนโยบายการลดและบรรเทาภาระความเดือดร้อนเฉพาะหน้า การลดต้นทุน/ภาระค่าครองชีพ ควบคู่กับการนำเม็ดเงินจากภาครัฐมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และจับต้องได้นั่นคือ “เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น” เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนมีรายได้มาสู้กับภาวะต้นทุนชีวิตแพงทั้งแผ่นดิน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 3 พ.ค. 2565

ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ

การพัฒนาภาคเกษตรกรรมสู่ชีวิตวิถีใหม่

RiceHarvestingBangkud

เรารู้จักคำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ นิวนอร์มอล (New Normal)  กันมากขึ้นภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเพราะเราต้องรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผิดแผกและแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เช่น ออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เข้าจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ใช้บริการส่งของถึงบ้าน เรียนออนไลน์ และทำงานจากที่บ้านมากขึ้น เป็นต้น  แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ชีวิตวิถีใหม่” มีอยู่แล้วและเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดโควิด-19 นั่นคือ ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การบริหารจัดการเงินตรา การทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น  การซื้อขายสินค้าออนไลน์  หรือการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า  เป็นต้น

      ชีวิตวิถีใหม่ซึ่งมีจุดเร่งจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาคส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนจีดีพีสูงสุดถึงร้อยละ 60  รวมถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเพื่อความอยู่รอด 

     วิถีเดิมของชุมชนเกษตรกรรม  คนยึดอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะเป็นคนสูงอายุและเรียนจบไม่สูงมาทำอาชีพนี้  แต่ปัจจุบันคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก  ก็ลาออกหรือหันกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรในยุคใหม่กันมากขึ้น  เนื่องจากไม่ต้องดิ้นรนแข่งกับใคร  เป็นนายของตนเอง  และนอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการจัดการทั้งในระดับไร่นา  การซื้อขาย  และยังสามารถจัดการอาหารที่ปลอดภัยให้สำหรับตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น 

    เนื่องด้วยวิถีการทำการเกษตรยุคเก่าที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้กันมาก เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและหลักประกันด้านราคาและรายได้  ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารยุคใหม่  ชาวนายุคเก่าจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยอาศัยพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ พัฒนาระบบสื่อสารออนไลน์กับผู้บริโภค เช่น การริเริ่มโครงการลงขันทำนา  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าร่วมลงหุ้นหรือลงขันในการทำนาระบบอินทรีย์  โดยผู้บริโภคจ่ายเงินลงทุนให้ชาวนาก่อน (ช่วยให้ชาวนาไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำนาด้วยตนเอง  เมื่อจบฤดูกาลก็สามารถได้ข้าวไปบริโภคในครอบครัวของตนเองได้  นอกจากนี้อาจมีโครงการลงขันกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การลงขันปลูกผักอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของตนเองและครอบครัว เป็นต้น

     “วิถีใหม่”  เป็นกระบวนการจัดการผลผลิตล่วงหน้า  และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร  เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตจะมีการลงทุนด้วยเงินส่วนของเกษตรกรไม่มากนัก  การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มออกเงินให้ก่อน  จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปเสี่ยงเข้าสู่ระบบสินเชื่อหรือกู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางที่คิดดอกเบี้ย ผลกำไรและทำสัญญาไม่เป็นธรรม  เกษตรกรมีตลาดที่จะรองรับผลผลิตที่แน่นอน รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านอาหารหรือสินค้าด้านต่าง ๆ 

      เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน  ความทันสมัยด้านเทคโนโลยี  และความรู้ภูมิปัญหาดั้งเดิมของคนยุคก่อน  จำเป็นต้องนำมาผสมผสานกัน เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ วิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมและการตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน พึ่งพาตนเอง ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ รวมถึงการผสมผสานพลังของเกษตรกรรุ่นเก่ากับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวใจและแรงงานหลักที่สำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในอนาคต รวมถึงการพัฒนาให้เกิดหุ้นส่วนความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีความยั่งยืนร่วมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ต.ค. 2563

ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการสาธารณะ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00-16.30 น.

UnlockFarmerDebtSeminar

 

โครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบทำให้วิกฤตปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกร ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยคาดการณ์ว่าหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาทต่อครัวเรือนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาทต่อครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน

ทั้งนี้วิกฤตโควิดและวิกฤตหนี้สินยังส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการสูญเสียสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากนำที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจำนองและขายฝากผู้อื่นอยู่ถึง 29,873,189 ไร่ (ที่มา : ลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตร ปี 2562 ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เมื่อประสบปัญหาวิกฤตรายได้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาดและสูญเสียที่ดินในที่สุด ข้อมูลจากกรมบังคับคดี พบว่า แนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) สถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน-ขายทอดตลาด) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 348,573 คดี (ทุนทรัพย์ 510,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เทียบปีงบประมาณ 2563 มีคดีเกิดขึ้น 329,681 คดี (ทุนทรัพย์ 613,279 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 287,789 คดี (ทุนทรัพย์ 1,325,074 ล้านบาท) ซึ่งหากเทียบระยะ 2 ปี ก่อนและหลังการระบาดโควิด ปีงบประมาณ 2562 และ 2564 พบแนวโน้มการบังคับคดีและขายทอดตลาดที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 21.1

 นับเป็นนโยบายที่ดีเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน" ให้สำเร็จ  โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบรรเทาภาระความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย (รวมถึงเกษตรกรรายย่อย) เป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยหากพิจารณากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจหลักในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย คือ หน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ดังนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีภารกิจในการดูแลหนี้ของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้วางแผนทางการเงิน การออกเกณฑ์การให้บริการสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และการแก้ปัญหาหนี้สิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับคนที่เริ่มผ่อนหนี้ไม่ไหว และคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ สูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.ปี 63 มูลหนี้รวม 7.195 ล้านล้านบาท และได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปบางส่วน ล่าสุด ณ เดือน พ.ค.64 มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 4.9 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการช่วยเหลือแก้หนี้อื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทยมีความสนใจร่วมวางแนวทางแก้ไขหนี้ของเกษตรกร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร จากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 พบว่า ธนาคารที่ครัวเรือนกู้เงินมากที่สุดร้อยละ 27.5 คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แสดงให้เห็นว่าหนี้สินของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ในช่วงเกิดโควิดมีข้อมูลหนี้เสียของลูกค้าธ.ก.ส.เพิ่มขึ้น จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 เกี่ยวกับหนี้สงสัยจะสูญของ ธ.ก.ส. พบว่าแนวโน้มหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2563 มียอด 276,813.24 ล้านบาท ขณะที่ปี พ.ศ. 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 363,107.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.17 ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. หลายมาตรการ เช่น โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 - งวดเดือนมีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3,348,378 ราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,265,492 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มีบทบาทภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก และสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร โดยช่วยแก้ไขหนี้สินอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องเป็นหนี้ในระบบ ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯได้มีบทบาทการทำงานด้านการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคและสนับสนุนการจัดการหนี้ของเกษตรกร เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกรจะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และรักษาที่ดินทำกินให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและได้รับการขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 533,163 ราย 632,784 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 97,466,018,603.40 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 56,037,861,422 บาท คิดเป็นร้อยละ 57.49 ตั้งแต่ปี 2549-2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้ และได้รับการจัดการหนี้แทนจากกองทุนฟื้นฟูฯ (หนี้ NPL และ NPA) จำนวน 29,755 ราย 29,827 บัญชี เป็นเงินรวมทั้งหมด 6,493,995,929.14 บาท เมื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันเจ้าหนี้แทนเกษตรกรแล้วเกษตรกรต้องดำเนินการโอนหลักทรัพย์ที่ดินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันมีการโอนหลักทรัพย์ที่ดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 14,884 ราย 21,940 แปลง รวมเนื้อที่ 157,768 ไร่ และมีเกษตรกรชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนที่ดินคืนแล้วจำนวน 63,307 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.12

จะเห็นได้ว่ากลไกเชิงนโยบายและหน่วยงานภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรเชิงระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผ่านโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังสะสมมานาน และการแก้หนี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปลดล็อกเชิงระบบและโครงสร้างไปพร้อมกัน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญและท้าทายจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งด้านการแก้ปัญหาหนี้เดิม ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ก้อนใหม่ และไม่เกิดวิกฤตอื่นที่ส่งผลรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการระดมความเห็นและร่วมผลักดันนโยบายทางออกที่เหมาะสมต่อแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน นั่นคือการมองเป้าหมายทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรไปสู่การฟื้นฟูอาชีพ การปรับระบบการผลิต การสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรในสถานการณ์โควิด และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

วัตถุประสงค์

   1. เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะในประเด็นเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

  2. เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็น “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สินและการปรับตัวของเกษตรกรไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ เอกชน นักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนและมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสถานการณ์โควิด

 2. สาธารณชนและสื่อมวลชนเข้าใจและสามารถสื่อสารข้อมูลผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การปรับตัวของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน และการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน

องค์กรร่วมจัด

  1. มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
  2. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
  3. สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)
  4. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

กำหนดการเสวนาวิชาการสาธารณะ

เรื่อง “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

12.00 – 13.00 น.     ลงทะเบียน รับเอกสาร และรับประทานอาหารกลางวัน

13.05 – 13.10 น.      กล่าวรายงาน โดย คุณสมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

13.10 – 13.20 น.   เปิดเวทีการเสวนาและแสดงปาฐกถา โดย คุณศรีสะเกษ  สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ  “ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต”

13.20 – 15.30 น.      เวทีเสวนา หัวข้อ “ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน”โดย

- คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ (บทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกร)

- คุณวรันธรณ์ แก้วทันคำ นักวิชาการอิสระ (บทเรียนนโยบายการจัดการหนี้เกษตรกร)

- คุณนครินทร์ อาสะไวย์ มูลนิธิชีวิตไท  (บทเรียนกระบวนการแก้หนี้เกษตรกรระดับพื้นที่)

- คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (บทเรียนการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร)

- คุณมนัส วงษ์จันทร์ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (บทเรียนการจัดการหนี้และรักษาที่ดินเกษตรกร)

- ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (จากงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน

- ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บทเรียนการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด)

- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ  (นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน)

ดำเนินรายการโดย : คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

15.30 – 16.30 น.         ผู้เข้าร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์อภิปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อารีวรรณ 061-3914969 Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวดีลูกหนี้! รัฐปรับเกณฑ์ชำระหนี้ที่เป็นธรรม คิดดบ.บวก 3 % บนฐานเงินต้นที่ผิดนัดจริง

Debt

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศแนวปฎิบัติสำคัญเรื่องการชำระหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และนายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนพร้อมดำเนินการเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฏหมาย

จากสถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาระหนี้สูง

 

  • คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต
  • คนไทยเป็นหนี้นาน โดยร้อยละ 80 ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2561) มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท

สถานการณ์โควิด 19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 83.8 ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน

ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ

1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชาระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

2. การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ดังนั้น การปรับ 2 เกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง

3. การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น

ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชาระหนี้จริง มาคำนวณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ โดยนับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตาม ประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะใน ปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

ทั้งนี้เกณฑ์การคิดคำนวณการผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะในส่วนของจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ไม่ใช่เงินคงค้างทั้งหมด หรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดให้บวกได้ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือเรื่องที่กำหนดให้เมื่อลูกหนี้นำเงินไปชำระแล้วให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปตัดในส่วนของค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก ทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ของประเทศไทย โดยจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวมของไทยอีกด้วย

นายกฯสั่งช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนและจัดการเจ้าหนี้โหด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง ยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ความจำเป็นที่ต้องกู้มาใช้ในสิ่งจำเป็นอาจมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอเรื่องการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในเวลาเดียวกันด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ในขณะที่ผู้กู้สามารถกู้เงินในระบบได้ง่ายกว่าเดิม รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินต้นและดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ นับแต่เริ่มให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อปี2559 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์รวม 858 ราย ใน 72 จังหวัด อนุมัติสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 328,300 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 8,250.38 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 25,130 บาทต่อบัญชี

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมอบหมายให้ธนาคารออมสิน เป็นอีกหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยทางธนาคาร ได้ออก “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” รอบ 2 ที่กู้ได้สูงสุดได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรก

ส่วนประเด็นการจัดการเจ้าหนี้โหด นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเข้มกับการเอาผิดเจ้าหนี้นอกระบบผิดกฎหมาย และกำชับให้ทุกภาคส่วนทำงานอย่างบูรณาการตามนโยบายแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล หากนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย จำนวนสะสม 7,476 ราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย การเพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน สำหรับประชาชนที่ถูกขูดรีดจากเจ้าหนี้ผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

ที่มา : Thaipublica วันที่ 8 พ.ย. 2563

คนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน เพิ่มน้อยกว่าที่คาดเพราะได้เงินรัฐเยียวยา

PoorThai2020

“สภาพัฒน์” เผยปี 63 คนจนเพิ่มขึ้น 500,000 คนจากปี 62 ถือว่าน้อยกว่าที่คาด หากเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวมากถึง 6.1% เพราะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการต่างๆที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ย 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือ 40% ของเส้นความยากจน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะมีการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในต้นปี 2565 สามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่องไปได้ แต่ภาครัฐต้องดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยให้เป็นปัจจุบันทุกปี เพื่อให้การใช้เงินในโครงการตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดมากที่สุด ซึ่งการให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2565 ถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากครั้งล่าสุดที่ให้มีการลงทะเบียนคือตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการลงทะเบียนรอบใหม่ กระทรวงการคลังจะมีการนำเอาฐานข้อมูลรายได้ของครัวเรือนมาพิจารณาด้วย เพื่อให้ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องดูว่าเกณฑ์ที่ออกมาสุดท้ายแล้วจะมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการก็คือการเพิ่มโครงการ หรือกลไกที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเพิ่มรายได้ โดยอาจเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานที่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ในเชิงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถที่จะเป็นนโยบายระยะยาวได้ เพราะภาครัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่ภาครัฐต้องมีกลไกให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถยกระดับรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพื่อขยับรายได้ให้มากขึ้นด้วย”

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย ที่ สศช.มีการติดตามสถานการณ์พบว่าในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 500,000 คน จากปี 2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ที่หดตัวมากถึง 6.1% อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคนจนของ สศช.กับกระทรวงการคลังใช้คนละหลักเกณฑ์ ส่วนที่จำนวนคนจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามที่คาดไว้ เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาที่ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน ในชุดมาตรการต่างๆ ซึ่งคิดเป็นการช่วยเหลือเฉลี่ยทั้งปี 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเส้นความยากจน

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อคนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยา โดยในปี 2563 เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ใช้งบฯไปทั้งสิ้น 709,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว 136,000 ล้านบาท หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต”.

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 29 พ.ย. 2564

ความสุขที่บ้านนอก ภูมิคุ้มกันยุคโควิด-19

Covid19Protection

ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและวัฒนธรรม  การท่องเที่ยว  การสาธารณสุข  ฯลฯ  แต่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่คือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจฐานราก วิกฤติภาคแรงงาน ตัวเลขจากสภาพัฒน์ประเมินว่ามีแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างและตกงานจากภาวะโควิด-19 ประมาณ 8.4 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันและสวัสดิการรองรับ การถูกเลิกจ้างงานของแรงงานส่วนใหญ่ที่มาจากชนบท ไม่เพียงไม่มีรายได้มาเลี้ยงชีพของตนเอง แต่ยังหมายถึงไม่มีรายได้ส่งกลับไปจุนเจือและดูแลครอบครัวในชนบท 

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน จึงเห็นภาพแรงงานในเมืองจำนวนมากต่างมุ่งหน้าเดินทางกลับบ้านที่ชนบท  ส่งผลให้การจราจรขาออกเกิดความหนาแน่นและติดขัด  การแย่งชิงกันเดินทางกลับบ้านนอกเป็นสาระสำคัญว่า  บ้านนอกหรือชนบทยังสามารถเป็นที่พักพิงที่ดีที่สุดในภาวะปัญหาอันหนักหน่วงเช่นนี้หรือไม่   

ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ไขเยียวยาปัญหาให้กับประชาชนหลายๆ ช่องทาง   โครงการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน”  ที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และโครงการ “เยียวยาเกษตรกร” ซึ่งหากมองรอบด้านก็เป็นทั้งดาบสองคมในฝักเดียวกัน  คนที่ได้รับสิทธิอาจเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ยากอะไรเลย  เพียงแค่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี จึงทำให้ได้รับสิทธิในการเยียวยา  ส่วนคนจนที่ตกขอบของสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้  แต่ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ออกมาช่วยเยียวยา  ก็คงจะเป็นกิจกรรมระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืน  โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว  และไม่เคยได้สร้างฐานอาหารของครอบครัวเอาไว้  เงินช่วยเหลือจะเป็นแค่เพียงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ  ค่ากินอยู่เท่านั้นเองที่ใช้แล้วก็หมดไป

การเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19   ในประเทศไทยและทั่วโลก  ทำให้เราค้น่พบว่าการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร  การเมือง  หรือการดำเนินธุรกิจ  มาเป็นแนวทางหลักที่สามารถทำให้เราฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19  ได้อย่างแท้จริง  จะเห็นได้จากภาวะการไหลตัวออกจากเมืองเพื่อไปสู่ชนบท  ที่เป็นแหล่งพึ่งพิงทางอาหาร  สายใยความผูกพัน  ทรัพยากร  และความปลอดภัย  ความมั่นคงดูจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านนอกและชนบทนั้นมีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน   

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สอนให้เราไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง  พึ่งพาตนเองได้ในด้านอาหาร  ทรัพยากร  ยา   พลังงาน  รายได้ที่มีความมั่นคง มุ่งสอนคนไม่ฟุ้งเฟ้อเมื่อเกิดวิกฤติไม่มีเงินแต่ยังมีอาหารก็สามารถอยู่ได้   โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม  เกษตรกรที่น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้  ส่วนมากจะมีความสุขเพราะไม่ค่อยเกิดผลกระทบมากนัก หากเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มที่ทำการเกษตรและธุรกิจเชิงเดี่ยว  ตื่นเช้าขึ้นมา  หุงข้าว  หาพืชผักที่อยู่ตามริมรั้ว  เข้าป่าหาเห็ด  เมื่อได้มาก็นำมาเป็นอาหารและขาย  ใช้พลังงานจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่ในสวน  ปลูกผักที่ปลอดภัยหมุนเวียน  มีอากาศที่ปลอดโปร่ง  และพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยี  ในระบบการขายออนไลน์  แปรรูปพืชผัก  ผลไม้ที่มีเหลือล้นเป็นรายได้และสามารถนำไปแบ่งปันให้กับคนที่อยู่ในเมืองได้ 

ซึ่งจะเห็นข่าวจากทางโทรทัศน์  วิทยุ  ที่เครือข่ายบนดอยสูง(ชนเผ่า)หลายพื้นที่ได้รวบรวมเอาข้าวมาปันให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในตัวเมือง  หรือเครือข่ายประมงภาคใต้นำเอาปลาทะเลตากแห้งนำมาส่งให้กับคนที่เดือดร้อนในเมือง  ฯลฯ  มันเป็นความสุขของคนบ้านนอก  ที่มีฐานอาหาร  ทรัพยากร  พลังงาน  ยารักษาโรค  เศรษฐกิจเพียงพอที่จะแบ่งปัน  ให้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากสามารถต่อสู้ปัญหาในชีวิตได้

เมื่อผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19  แล้ว  โจทย์การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ควรจะมีระบบเศรษฐกิจสองระบบควบคู่กัน แม้เรามีรายได้น้อยลง แต่มีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์ชีวิตของเราให้น้ำหนักเรื่องรายได้หรือความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากัน อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต  โดยสามารถที่จะทำไปพร้อม ๆ กันในหนึ่งครอบครัว  นั่นคือการทำตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในการเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต  และทำควบคู่ไปกับระบบธุรกิจ  จึงจะทำให้เกษตรกรและประชาชนอยู่ได้อย่างแท้จริง  มิใช่จะมุ่งหวังให้เป็นทุนนิยมหรือเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว

ความสุขที่บ้านนอก  ถึงจะเจอกับภาวะวิกฤติ  หรือไม่เจอภาวะวิกฤติอื่นใด  สังคมในชนบทไทยก็มีความสุขเสมอ เพราะมีพื้นฐานจากการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ที่มีสังคมที่ดี  อาหารดี  สุขภาพดี  ทรัพยากรดี  อากาศดี  ชีวิตแค่นี้ก็มีความสุขอย่างล้นเหลือ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 มิ.ย. 2563

ผู้เขียน : ณัฎฐวี สายสวัสดิ์

ชาวนายุคโควิด ชีวิตมีหนี้ นักวิชาการระดมหาทางออก แนะรัฐร่วมหนุนทุกมิติ

FarmerDebtSeminar2021

งานศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบเกษตรกรมีปัญหาชำระหนี้จากสถานการณ์โควิด ซ้ำถูกเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบเพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แนะภาครัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร สร้างกติกาให้ชัด ปรับสินเชื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิต

23 ก.พ. 2564 มูลนิธิชีวิตไทจัดโครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่มีภาวะหนี้สินสูง เฉลี่ย 3.4 ก้อน และมีหนี้คงค้างเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน โดยครัวเรือนร้อยละ 50 มีหนี้สินคงค้างเกิน 300,000 บาท และร้อยละ 30 มีหนี้สินคงค้างเกิน 600,000 บาท โดยมาจาก 3 แหล่งหลัก คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้าน และหนี้นอกระบบ

จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาในปี 2563 พบว่า ทำให้เงินโอนจากสมาชิกในครัวเรือนชาวนาลดลงจากปกติเฉลี่ยเดือนละ 5,309 บาท เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 2,541 บาท ทำให้ครัวเรือนเกษตรเกือบร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ นำเสนอ งานศึกษาบทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เกษตรกรไม่มีความเข้ารู้เรื่องกฎหมายและไม่ตระหนักถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผลสุดท้ายจึงจบลงด้วยการประนีประนอมที่ฝ่ายโจทก์หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบและเกษตรไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่มักใช้วิธีแปลงให้เป็นหนี้ในระบบด้วยการนำใบมอบอำนาจไปจดจำนองที่ดินของเกษตรกรเอง

เพ็ญนภากล่าวว่า หากเกษตรกรมีนักกฎหมายคอยช่วยเหลือแนะนำจะช่วยให้เกิดการประนีประนอมที่เป็นธรรมกับฝ่ายจำเลยมากขึ้น

ด้านจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่อง “บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร” กล่าวว่าปัจจัยส่วนบุคคลของตัวเกษตรกร เช่น ความซื่อสัตย์ การใจสู้ และครอบครัวที่คอยสนับสนุนมีผลต่อการชำระหนี้ พร้อมกับต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหารายได้เสริม ประหยัดต้นทุน และเรียนรู้วิธีบริหารจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้ บทบาทของผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังมีส่วนสำคัญมากอีกด้วย

จารุวัฒน์เสนอว่าภาครัฐจะต้องจัดทำแนวทางพัฒนาเกษตรกรใน 3 ด้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านทุนสนับสนุน และด้านข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกษตรกรจะออกจากวงจรหนี้หรือบรรเทาลงได้ต้องปรับตัวใน 2 ด้านหลักคือการปรับตัวในการผลิตสู่ระบบอินทรีย์ ตั้งแต่การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับระบบเกษตรกรรมสู่การทำนาอินทรีย์ ปรับตัวสู่การเป็นชาวนานักคัดและปรับปรุงพันธุ์ข้าว อีกด้านคือการพัฒนาช่องทางการตลาดผลผลิตอินทรีย์ให้หลากหลาย

ด้าน ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรหนี้สินคือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อทางการเงินที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะอาชีพ ดังนั้น เธอจึงเสนอว่าสินเชื่อและการชำระหนี้ของเกษตรกรควรมีความยืดหยุ่น เช่น ชำระตามรอบการผลิตเพื่อให้รอบรายรับกับรายจ่ายในการทำเกษตรได้สอดคล้องกันมากขึ้น หรือมีการกำหนดแรงจูงใจอย่างการลดดอกเบี้ยบางส่วน การลดต้นลดดอก หรือมีรางวัลให้กับเกษตรกรที่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ก่อนครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค. สำหรับหนี้ ธ.ก.ส. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องให้องค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้สินแก่เกษตรกร การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างการทำประกันภัยพืชผลหรือการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลในพื้นที่มาประมวลผลเพื่อคำนวณแนวโน้มผลผลิตในแต่ละรอบการผลิต

ในส่วนเกษตร บุญชู มณีวงษ์ จากกลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี และสุนทร คมคาย จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ที่ปรับตัวจนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มีแนวทางคล้ายคลึงกันคือการเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เสริมผ่านช่องทางต่างๆ  จนหนี้ที่มีอยู่บรรเทาลงไปมาก
“ผมคิดว่าการทำเกษตรอาจต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดการ ตอนกู้ก้อนโตอาจต้องวางแผนใช้หนี้เพราะบางอย่างต้องอาศัยเวลา เช่น การกู้มาพัฒนาแหล่งน้ำหรือที่ดินจะไม่ให้รายได้ในเร็ววัน แต่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก แล้วในวงการเกษตรมันแปรปรวน มีความเสี่ยงสูง ผมมีความรู้ ทำเกษตรเป็น ช่วงแรก ๆ ก็แทบเอาตัวไม่รอด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สำคัญสุดคือการตลาด เราจะชัดเจนว่าจะปลูกอะไรและขายได้แน่นอน ลดความเสี่ยงว่าจะใช้หนี้ไม่ได้ ทำช่องทางผลิตให้มีความหลากหลายและรู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่” สุนทรกล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นำเสนอนโยบายและกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 3 ขั้นตอนว่า ขั้นตอนแรกต้องปรับแก้กติกาหรือสัญญาสินเชื่อ ระบบติดตาม และบังคับหนี้สินให้มีความเป็นธรรม เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินแสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ย ปรับ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส ต้องเข้มงวดกับการห้ามทำสัญญาเงินกู้ใหม่ที่รวบเอาเงินต้นและดอกเบี้ยเดิมมาเป็นยอดเงินต้นก้อนใหม่

ประการที่ 2 ต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สินโดยกลไกปกติ การเพิ่มแรงจูงใจของสถาบันการเงินและลูกหนี้ในการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการฟ้องร้องดำเนินคดี

และประการสุดท้าย ต้องเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร เช่น การเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความแน่นอนมากขึ้น การจัดการโครงสร้างการผลิตให้สามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับโครงการสร้างการผลิตและการตลาด

ที่มา : citizenthaipbs.net วันที่ 24 ก.พ. 2564

 

ดุสิตโพลเผยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลให้ความสุขคนไทยลดลง

SuanDusitPollAboutThaihappiness

8 พ.ย. 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “อยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” กลุ่มตัวอย่าง 1,374 คน สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2563 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลให้ความสุขของประชาชนลดลง ร้อยละ 62.66 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุข คือ มีรายได้เพียงพอ ร้อยละ 79.85 วิธีสร้างความสุข คือ ต้องลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย ร้อยละ 70.80 มาตรการรัฐที่ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น คือ ลดค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 63.81

ความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด หากเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากประชาชนยังต้องลดและควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพชีวิตของรัฐบาลนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ

ด้านดร.ศิริ ชะระอ่ำ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า  โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของดัชนีชี้วัดความสุขของคนในประเทศ (Gross Happiness Index) นั้น ครอบคลุมหลากหลายมิติทั้งคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง แต่เมื่อมาพิจารณาเทียบเคียงกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลล่าสุดนี้ กลับเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น มิใช่สิ่งที่ซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศแต่อย่างใด     นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังระบุชัดว่า มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนแบบตรงไปตรงมา เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การพักชำระหนี้เงินกู้ประเภทต่างๆ ส่งผลบวกต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก 

จึงสามารถสรุปได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน มาตรการภาครัฐระยะสั้นที่สร้างการรับรู้ถึงความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (Mega Projects) ได้อย่างน่าสนใจ

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 8 พ.ย. 2563

ตลาดพรีออเดอร์ ความหวังของเกษตรกรจากวิกฤตโควิด-19

Baansuanlomchoi

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาการผลิตของเกษตรกรโดยตรงมากนัก หากแต่เรื่องการจัดจำหน่ายสินค้า ราคาผลผลิต และรายได้ ถือว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรหลายแหล่งปิดตัว การขนส่งที่จำกัดและลดน้อยลง ผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้นโดยพยายามที่จะไม่ออกจากบ้าน รวมถึงผลกระทบต่อการหารายได้จากงานนอกภาคเกษตรด้านอื่นๆ ของครัวเรือนเกษตรกรเช่นกัน หนึ่งในทางเลือกหรือความหวังต่อช่องทางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงและยาวนาน คือ “ตลาดพรีออเดอร์”

           ตัวอย่าง “ตลาดพรีออเดอร์” ซึ่งสามารถเป็นบทเรียนและแนวทางให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากวิกฤตสถานการณ์โควิดครั้งใหม่อยู่ในตอนนี้ คือ ตลาดพรีออเดอร์บ้านสวนลมโชย ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งโดยคุณสุมาลี พะสิม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันสุขออร์แกนิค ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานขนาดเล็ก ปลูกผักสลัด ปลูกผักพื้นบ้าน และเลี้ยงไก่ไข่ และขณะเดียวกันก็ทำงานโครงการพัฒนาด้านเกษตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน จากการที่ได้ทำงานประสานงานพบเจอผู้คนจากทั้งเมืองและชนบท ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กว้างขวาง

           คุณสุมาลี พะสิม ต้องการให้บ้านสวนลมโชยเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ได้มาพบกันผ่านตลาดพรีออเดอร์ โดยมีจุดเด่น คือ ผลผลิตทั้งหมดได้มาจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตในระบบอินทรีย์ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยจะเปิดพรีออเดอร์ผ่านกลุ่มไลน์กับลูกค้าผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ขั้นตอนการพรีออเดอร์หรือสั่งสินค้าจะเริ่มต้นทุกวันศุกร์ถึงวันเสาร์ และปิดคำสั่งซื้อในเย็นวันเสาร์ และจัดส่งรายการสินค้าให้เกษตรกรได้จัดเตรียมผลผลิตให้กับผู้บริโภคในวันอาทิตย์และวันจันทร์ ซึ่งคุณสุมาลี พะสิม จะเป็นคนขับรถไปส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยตนเองในทุกวันอังคาร 

           คุณสุมาลี พะสิม กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดตลาดพรีออเดอร์ของตนเองว่า “มีความตั้งใจที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อยให้มาพบกันบนเส้นทางสายอาหาร บนเส้นทางของความต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าารตลาดพรีออเดอร์จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ของเกษตรกร ถือเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยได้ง่ายขึ้นและเป็นสายใยที่เชื่อมเข้าหากันยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย" 

          ในส่วนของอุปสรรคสำคัญของการทำตลาดพรีออเดอร์ผลผลิตอินทรีย์ ประการแรก คือ ความสดของผลผลิตที่จัดส่งให้กับผู้บริโภค ต้องรักษาความสดของผลผลิตไว้ ฉะนั้นจึงพยายามจัดส่งแบบรักษาอุณหภูมิ เพื่อที่จะให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยความสดความใหม่ และปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องของผลผลิต บางช่วงไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ตามความต้องการ และเรื่องของความสะดวกในการจ่ายเงินของผู้บริโภค ก็สำคัญต้องดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ เพราะส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกเรา คือการวางใจในเรื่องของการผลิต ก็จำเป็นต้องรักษาผู้บริโภคให้ดีที่สุด

           ตอกย้ำด้วยมุมมองคุณชัยวัฒส คำพิมูล ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าตลาดพรีออเดอร์มาต่อเนื่องยาวนานกล่าวว่า “จากการที่ได้รู้จักกับบ้านสวนลมโชย พบว่าที่นี่ขายผักออร์แกนิคในราคาที่จับต้องได้ ผักมีคุณภาพดี สด สะอาด และเหตุผลสำคัญคือรู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางจำหน่ายและตัวกลางหลายต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับความตั้งใจ”

           จะเห็นได้ว่าตลาดพรีออเดอร์เกษตรอินทรีย์ หรือตลาดสั่งจองล่วงหน้า ถือเป็นช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาช่องทางตลาดของเกษตรกรภายใต้วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นหลักประกันรายได้ของเกษตรกร ช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ผู้บริโภค ได้บริโภคของดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคามิตรภาพ เพื่อร่วมกันฝ่าฝันวิกฤตสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 4 มิ.ย. 2564

ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต

ตลาดออนไลน์ ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด-19

OnlineMarketforFarmer

{phocadownload view=youtube|url=https://youtu.be/_wPh3fN_xbM}

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติได้ ตลาดออนไลน์เป็นโอกาสในการพัฒนารายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรสามารถตั้งราคาสินค้าของตนเองได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนกลาง อย่างไรก็ตามตลาดออนไลน์มีการแข่งขันสูง การทำตลาดออนไลน์ให้ประสบผลสำเร็จเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและมีการกลับมาซื้อซ้ำหรือบอกต่อ มูลนิธิชีวิตไท จึงอยากนำเสนอเทคนิคและแนวทางการพัฒนาตลาดออนไลน์สำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีส่วนช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

จัดทำโดย : มูลนิธิชีวิตไท

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลิตเมื่อ : ธันวาคม 2564

ถอดรหัสบทเรียนชีวิตหนี้ชาวนาไทย โอกาสท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

DecryptThaiFarmerDebt

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง และปัญหาของภาคเกษตรกรรมที่สะสมอยู่มากมาย ทั้งเกษตรกรที่อายุมากและมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้น ขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำลงเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทแม้จะสูงวัยแล้วก็ตาม หนำซ้ำยังขายผลผลิตได้ยากขึ้นเพราะการปิดตลาดและระบบขนส่งที่หยุดชะงักจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยาหรือให้กู้ยืมเงินระยะสั้น แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ที่เหมือนการ “สร้างหนี้เพิ่มมากกว่าช่วยแก้หนี้” แล้วสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องกลับมาติดกับดักของวงจรหนี้สินเหมือนเดิมหรือหนักหนากว่าเดิม

จากการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชาวนาในภาคกลางที่มีปัญหาหนี้สิน สู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อวิถีสุขภาวะ โดยมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) พบว่า เมื่อชาวนาเริ่มมีหนี้สินและไม่สามารถบริหารจัดการได้ ผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร้เป้าหมาย บางรายมียอดหนี้กว่า 45 % ของรายได้ ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน จำไม่ได้ว่ามีหนี้เท่าไร หรือกลัวคนอื่นรู้ว่ามีหนี้ ต้องพยายามกู้หนี้ใหม่มาผ่อนหนี้เก่า รวมถึงมีหนี้เยอะจนเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นลักษณะวิกฤตซ้อนวิกฤตต่อปัญหาหนี้สินของชาวนา แต่ก็ยังแฝงด้วย “โอกาสที่มาจากภาวะวิกฤต” ซึ่งบีบบังคับให้ชาวนาได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับแนวคิด และสร้างภูมิต้านทานเพื่อบริหารจัดการชีวิตหลายด้านให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤต

เริ่มจากตัวชาวนาเองต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา พร้อมที่จะเปิดใจและปรับตัวเพื่อยกระดับจากชาวนาวิถีดั้งเดิมผู้เป็นแรงงานในไร่นาที่มีรายได้ต่ำและหนี้สินสูง สู่การเป็น “ชาวนาผู้ประกอบการ” ที่กล้าลุกขึ้นมาคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้หนึ่งสมองสองมือสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ บนฐานของความเป็นเกษตรกร ที่มีเป้าหมายการผลิตและพัฒนาช่องทางการตลาดได้เอง มีแผนธุรกิจแก้หนี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการทบทวนชีวิตแต่ละด้านเพื่อเรียนรู้จุดเด่น-จุดด้อยของตนเอง รู้จักการคำนวณต้นทุน บันทึกค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยเพื่อกำหนดราคาขายและหาแนวทางการลดต้นทุน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ รวมถึงพัฒนารูปแบบการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง

เมื่อปัญหาหนี้สินชาวนาถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ผลที่ตามมาคือความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งพบว่าชาวนาและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้สร้างปัจจัยการบริหารจัดการชีวิตหนี้ที่น่าสนใจ สามารถช่วยบรรเทาหนี้ หรือปลดหนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมา ได้แก่

          - ตัวตนของเกษตรกร ต้องไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เป็นนักสู้ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีเจตนารมณ์แน่วแน่เพื่อรักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลาน โดยคนในครอบครัวพร้อมสนับสนุน ให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยา และดูแลซึ่งกันและกัน

          - ต้องพัฒนาศักยภาพการเพิ่มรายได้ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม ลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนการผลิตให้ปลูกพืชที่หลากหลายชนิด หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ที่อยู่บนพื้นฐานอาชีพและทักษะที่เชี่ยวชาญ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

          - ต้องบริหารจัดการทุนตั้งต้น ที่ไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม เงินสนับสนุนหรือเงินเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนที่มาจากการจัดการระบบการเงินที่ดี การเก็บออมเพื่อสร้างอาชีพ ผนวกกับความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่มี ผสมผสานการแสวงหาความรู้และนวัตกรรมใหม่

          - ต้องบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ ปลูกพืชผลที่หลากหลายชนิด ทำเกษตรปราณีต ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์เต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

          - ต้องรู้เท่าทันหนี้ เข้าใจเงื่อนไขของเจ้าหนี้ แหล่งเงินกู้ และเอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อการบริหารระบบการเงินและกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับรายรับตามช่วงฤดูกาลการผลิต วางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีแผนอุดช่องโหว่ต่อสาเหตุการผิดนัดชำระหนี้

          อีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และดูเหมือนว่าอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพของผู้สูงวัยไปโดยปริยาย ลูกหลานเกษตรกรจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง การขาดแรงงานรุ่นใหม่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลง ไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ และส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหลานเกษตรกรเสี่ยงต่อการถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างงาน จนไม่สามารถส่งเงินกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวได้ และการจะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อมาเป็นเกษตรกรก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก

แต่ก็เป็นโอกาสดีเพราะพบว่ามีแรงงานคุณภาพที่มีแนวคิดใหม่ ๆ พร้อมทำงานและเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสู่ภาคเกษตรกรรม ได้นำประสบการณ์ ความรู้ และสินทรัพย์ของชาวนารุ่นเก่า มาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ๆ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนารุ่นเก่าได้กล้าปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร ยอมรับและทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบกลไกการยกระดับการผลิต นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้อย่างเหมาะสม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ช่องทางการตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติผ่านวิกฤตร่วมกันมา ทั้งสงคราม การก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมา หากแต่เราจะเติบโตและก้าวไปสู่การใช้ชีวิตต่อไปแบบวิถีปกติใหม่ (new normal) ด้วยความเข้าใจและมั่นคง ซึ่งไม่ว่าวิถีนั้นจะนำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง การเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความอยู่รอดและความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของชาวนาและภาคเกษตรกรไทยได้    

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มี.ค. 2564

ทางเลือกการปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ของเกษตรกรยุคโควิด

HerbalPlant

ที่ผ่านมาเกษตรกรสนใจทำการเกษตรโดยการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก เพราะช่องทางตลาดและความต้องการพืชสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  สมุนไพรไทยหลายชนิด โดยเฉพาะที่มีสรรพคุณการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เริ่มเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ความต้องการสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพการพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว   

และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรให้กับเกษตรกร 37 จังหวัด จัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ข้อมูลด้านการตลาดพืชสมุนไพรไทยปี 2564 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดพืชสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกพืชสมุนไพรไทยอยู่ที่แสนล้านบาท ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “พืชสมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้พืชสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ทางมูลนิธิชีวิตไทเองได้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสของการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกด้านรายได้และการดูแลสุขภาพในยุคโควิด จึงได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เครือข่ายในการทำงาน 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิษณุโลก สระบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะแว้ง อัญชัน  ดีปลี ชุมเห็ดเทศ เพชรสังฆาต ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอ ในพื้นที่ มาให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพร การหาตลาดรับซื้อสมุนไพรในประเทศ

รวมทั้งส่งเสริมการนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของความเป็นไทย นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง นำสมุนไพรใกล้ตัว เช่น ขมิ้น ข่า ตระไคร้ มะกรูด ไพร ใบมะขาม ส้มป่อย มาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลาย เช่น ลูกประคบ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ ยาหม่อง  ยาสระผม สบู่ ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่านำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นกับเกษตรได้อีกด้วย

สำหรับบทเรียนแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ผลิตพืชสมุนไพรสร้างรายได้ที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ พบว่า 1) ก่อนเริ่มต้องคุยกติกาและเงื่อนไขกับเกษตรกรให้เข้าใจชัดเจนก่อน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรที่ทำมาก่อน มองทั้งโอกาสและข้อควรคำนึงให้รอบด้าน 2)  มาตรฐานรูปแบบการปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น  PGS ,Organic Thailand ,IFOAM และรูปแบบผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่เป็นแบบแห้ง กระบวนการทำให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งตากแดด โรงอบ และเตาอบ  

3) เป้าหมายการตลาด หากเกษตรกรต้องการผลิตและแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาและการดูแลสุขภาพ ควรเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี โลหะหนัก ทั้งนี้เป้าหมายเชิงปริมาณตลาด สถานการณ์จะเป็นกำหนดและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปกติโควตารับซื้อผลผลิตกับเกษตรกรมีการเคลื่อนไหวตามคำสั่งซื้อ  4) กลไกการส่งเสริมผ่านระบบกลุ่ม การส่งเสริมและขยายพื้นที่การปลูกพืชสมุนไพรต้องทำผ่านระบบกลุ่ม อย่างน้อย 5-10 ราย และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้เกษตรกรทดลองปลูกในพื้นที่ไม่มากนักเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และรู้จักวิธีการจัดการผลผลิตพืชสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจจะปลูกสร้างรายได้ต้องแน่ใจว่ามีช่องทางตลาดรองรับ 5) เน้นกระบวนการทำงานพัฒนาทางความคิด พัฒนาชุมชน พัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการไปพร้อมกัน ในช่วงเริ่มต้นการทำงานอาจจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงในกระบวนการส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จึงปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 มี.ค. 2565

ผู้เขียน : พาฝัน ไพรเกษตร

ธกส.เงินฝากท่วมแบงก์ “เกษตรกร” รัดเข็มขัด-ปัดกู้เพิ่ม

RiceFarmerPlanting

เงินฝากท่วมแบงก์ ธ.ก.ส. 1.7 ล้านล้านบาท เกษตรกรรัดเข็มขัดกังวลใช้จ่าย แถมกู้น้อยลงช่วง “โควิด-19” ส่งผลแบงก์เกษตรต้องลดเป้าเติบโตสินเชื่อ 2 ปีซ้อน เหลือปีละ 7 หมื่นล้านบาท จากเดิมปล่อยสินเชื่อใหม่ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เผย 30 ม.ค.นี้ชงบอร์ดไฟเขียวแผนดำเนินงานปีบัญชี’64

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารนัดพิเศษ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค. 2565) หลังจากปีบัญชี 2563 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2564 นี้ ธนาคารมีแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 105,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงเหลือประมาณ 70,000 ล้านบาทแล้วเช่นกัน

“ในบอร์ดนัดพิเศษจะพิจารณาเป้าปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 ที่ตั้งไว้ที่ 70,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีบัญชี 2563 ที่ปรับลดเป้าลงมา ซึ่งในปีบัญชี 2564 ธนาคารจะมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรน เพิ่มความช่วยเหลือข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงจะเน้นปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนให้กรณีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

โดยสาเหตุที่ปรับลดเป้าสินเชื่อตั้งแต่ปีบัญชี 2563 ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่ออกมา ซึ่งเดิมประเมินว่าจะได้รับการตอบรับค่อนข้างมากจากเกษตรกรลูกค้า แต่เมื่อลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรจึงกังวลใจ ไม่กู้เงินเพิ่ม ทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้แค่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สินเชื่อระยะสั้น ฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ jump start credit วงเงิน 100,000 ล้านบาท ก็สะดุดเพราะโควิด-19 และอยู่ในช่วงการพักชำระหนี้อยู่

“ปกติเกษตรกรจะขอสินเชื่อหลังจากชำระหนี้ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ไปแล้ว เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนฤดูกาลผลิตใหม่ ซึ่งปีนี้ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์การเข้าขอสินเชื่อ jump start จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยแนวโน้มการชำระหนี้ ธนาคารก็มีโครงการจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาชำระหนี้ ผ่านโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งลูกค้าที่ชำระหนี้ดีจะรับเงินคืน 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ยกเว้นสหกรณ์นอกภาคเกษตรและองค์กร) จะได้รับเงินคืน 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้เกษตรกรพยายามดูแลฐานะการเงินของตัวเอง โดยหากไม่จำเป็นก็พยายามจะไม่กู้เพิ่ม จึงทำให้ปีบัญชี 2563 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้น้อยลง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องค่าเก็บเกี่ยว และเงินประกันรายได้จากภาครัฐ ส่งผลให้การออมของเกษตรกรดีขึ้น

“ตอนนี้เราพบว่าเกษตรกรลูกค้าไม่ถอนเงินออกจากบัญชีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา โดยเห็นสัญญาณเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงต้นปี 2564 ธนาคารมีเงินฝากรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท กล่าวคือพอร์ตสินเชื่อไม่ได้โต แต่พอร์ตเงินฝากขยับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวรวม 10 งวด เป็นวงเงินกว่า 48,000 ล้านบาท และค่าเก็บเกี่ยวไม่เกิน 20 ไร่ ไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ก็จ่ายไปอีก 20,000 ล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปเป็นสภาพคล่องของเกษตรกร แต่พอมีโควิด เกษตรกรก็ระมัดระวังเก็บสภาพคล่องไว้ ไม่นำไปใช้” นายสมเกียรติกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ก.พ. 2564

ธปท. ชี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงก่อนโควิด-19 ย้ำตัว ‘ผู้กู้’ คือความเปราะบาง

SetthaputBankofThailand

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ้นปี 2562 ที่อยู่ราว 80% ต่อ GDP พุ่งขึ้นสู่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือ เช่น คลินิกแก้หนี้

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหา ‘หนี้’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากรายได้ที่ลดลง และการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานในช่วงที่ผ่านมาไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะการย้ายแรงงานจากนอกภาคการเกษตรในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยวสู่ภาคการเกษตรกรรม

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนี้ครัวเรือนขึ้นอยู่กับความเปราะบางของ ‘ตัวผู้กู้’ เพราะรอบนี้โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น การท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานค่อนข้างสูง

ขณะที่ภาคการส่งออกแม้ว่าจะได้รับผลกระทบและมีส่วนต่อเศรษฐกิจไทยสูงมาก แต่เมื่อดู 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 50% ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สัดส่วนส่งออกมากกว่า 50% แต่การจ้างงานอยู่ที่ 4% เท่านั้น จึงเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าการท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนไทยมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ

ดังนั้นหลังการออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย จึงต้องปรับมามุ่งเน้นที่มาตรการระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันจะไม่เลื่อนผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปในช่วงเวลาข้างหน้า โดยทาง ธปท. ติดตามและอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกมาตรการด้านอื่นๆ

หนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบัน มีภาระหนี้สูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง

ที่มา : The Standard วันที่ 22 ต.ค. 2563

โดย : ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์

บทบาทภาคเกษตรกรรมในยุคโควิด-19

RumpeungSaraburi

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศเกษตรกรรม” มาช้านาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งหนึ่งยังดำรงอยู่ในวิถีเกษตร ภาคเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรายได้ของประชากรจำนวนมาก มีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 30 ของการจ้างงานทั้งประเทศ  อย่างไรก็ตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก มักจะมองว่าการให้คุณค่า และบทบาทภาคเกษตรกรรมแบบเก่า คืออุปสรรคในการหลุดออกจากประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 11.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2561 ผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีฐานะยากจน รายได้จากภาคเกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง และปี 2563 เกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคเกษตรชนบทเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกหลานในภาคอุตสาหกรรมที่ตกงาน เราสามารถพิจารณาได้ว่าโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม และเกษตรกรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของระบบอาหารและยังเป็นระบบที่เปราะบางมาก เมื่อโลกหยุดนิ่งเพื่อให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป แต่เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมต่างพยายามสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการให้แก่ประชากรโลก

ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 โครงสร้างภาคเกษตรกรรมของไทยเข้าสู่ยุคแรงงานผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แรงงานหนุ่มสาวเลือกที่จะออกจากบ้านไปทำงานในเมืองหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีรายได้ที่แน่นอน เวลาการทำงานที่แน่นอน และมีความสะดวกสบายกว่าการทำงานภาคเกษตรกรรมที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนการผลิต ให้พอได้มีเงินเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว

ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ครัวเรือนเกษตรกรน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ผ่านปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศอย่างชัดเจน หลายคนอาจมีมายาคติว่าภาคเกษตรจะมีศักยภาพในการรองรับการจ้างแรงงานให้กับคนที่กลับไปภูมิลำเนาได้เหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาภัยแล้งและปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ของภาคเกษตรไทยในปัจจุบัน (Attavanich et al. 2019) อาจทำให้เป็นไปได้ยากขึ้น

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนัก คือ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรไม่สามารถขนส่งไปถึงมือลูกค้า อีกทั้งครัวเรือนเกษตรกรไทย ยังไม่สามารถพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด หลายครอบครัวจึงเผชิญภาวะรายได้ลดลง และอาจมีความยุ่งยากในการหาเงินมาจ่ายหนี้ เกษตรกรได้แต่ยอมรับความเสี่ยงที่จำเป็นและยืนหยัดเพื่อครอบครัว ชุมชน และประเทศบ้านเกิด รวมทั้งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนมามีบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้า เพื่อหาหนทางในการเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร และพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตทางการเกษตรหากสภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ราคาตกต่ำอาจส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรได้ไม่ยั่งยืน เพราะถึงแม้จะมีการพัฒนาโดยนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำเกษตร แต่ต้นทุนในระยะเริ่มแรกอาจมีราคาที่สูงพอสมควร และเมื่อได้ผลผลิตมายังสามารถขายได้ในราคาต่ำอยู่เหมือนเดิม ย่อมไม่คุ้มค่า ไม่มีเหตุจูงใจในการทำเกษตรกรรม เมื่อวิกฤติโควิด-19 ในระยะยาวจบลง แรงงานรุ่นใหม่เหล่านี้อาจกลับไปทำงานในเมืองหรือในโรงงานอุตสาหกรรมตามเดิมก็ย่อมเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดที่เป็นแรงขับให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่น (Smart Farmer) และต้องการอยู่รอดในชุมชน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับภูมิทัศน์รูปแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความสนใจทำเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร  มีการใช้กลยุทธ์ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน รวมถึงการใช้โอกาสที่ผู้บริโภคหันมาดูแลและใส่ใจการผลิตอาหาร เลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ ทำการตลาดซื้อขายล่วงหน้า และช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงจนต้นทุนต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก แม้ว่าชั่วโมงการทำงานของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรอย่างพวกเขาก็เลือกที่จะทำงานในภาคเกษตรนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว และดูแลปากท้องของครอบครัวและสังคมไปพร้อมกัน

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 25 มิ.ย. 2564

บทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรในภาวะวิกฤต

Somjai02

พี่สมใจกับแปลงผักอินทรีย์

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผลกระทบด้านรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกร  จากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงเป็นแรงผลักและบทเรียนที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตภัยธรรมชาติ หรือวิกฤตปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ  การเตรียมแผนชีวิต แผนการผลิต แผนการเงินและปรับตัวเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในชีวิตไม่ว่ารูปแบบใด สามารถช่วยให้อยู่รอดและผ่อนสถานการณ์จากหนักให้เป็นเบาได้

ความเป็นจริงสังคมส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้มากนัก ทำงานหนัก ตากแดดตากลม ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ มีหนี้สินมากมาย รู้จักแต่การทำเกษตรเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว ถึงแม้จะมีภาพข่าวออกมาบอกว่าเริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความทันสมัยหรือมีความโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงมีเกษตรกรบางรายพัฒนาการผลิตอย่างดีเยี่ยม แต่ยังคงไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมมองอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความยากลำบากได้ไม่มากนัก

จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิชีวิตไทในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรไม่เพียงจะเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเดิมที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่อง นั่นคือ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ภาวะน้ำท่วม ผลผลิตเสียหาย บางรายหมดตัวไปกับการลงทุนทำเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนทำเกษตรต่อไป

ตัวอย่างบทเรียนการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง พบว่า  หากเกษตรกรมีการทำอาชีพที่หลากหลาย ปรับจากการทำเกษตรปลูกพืชชนิดเดียว สู่พืชหลากหลายชนิด ปรับจากอาชีพในภาคเกษตรอย่างเดียว สู่อาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทางมารองรับ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน จะทำให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มหนี้สินของครัวเรือนได้ และบางรายมีรายได้เหลือมาลงทุนในการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย

Jumpa

ป้าจำปากับอาชีพเสริมตัดเย็บกระเป๋าผ้า

ตัวอย่างเช่น ป้าจำปา หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีใจรักในงานผ้า จนบางช่วงกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว และปัจจุบันเริ่มมีการปลูกพืชที่หลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น กล้วย พริก กะเพรา และเลี้ยงหมู เพิ่มเติมจากการปลูกข้าว คนต่อมา คือ ป้าสายทอง ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกมะพร้าว ปลูกตาล ปลูกกล้วย เพื่อใช้ในการทำขนมขายเป็นรายได้เสริม เป็นต้น เกษตรกรทั้งสองรายมีหนี้สินจากการทำนา ซึ่งในรอบการผลิตที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงโชคดีที่มีรายได้จากการทำอาชีพเสริมเพื่อรองรับกับภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

นอกจากนี้มีชาวนาและเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนการลงทุนและต้นทุนการผลิต จากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายจากการทำนาใน  1 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าการทำนาของตนเองนั้นมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ กรณีตัวอย่าง พี่ศรีไพร ในรอบการปลูกข้าวปีที่ผ่านมาได้ลองจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำนาทั้งหมด 3 ไร่ จนกระทั่งได้เงินจากการขายข้าว พบว่า เหลือกำไรเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น

ในปีนี้พี่ศรีไพรจึงเริ่มวางแผนปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิธีการทำนาน้ำน้อย การปลูกข้าวแบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ซึ่งตัวอย่างการจดบันทึกรายรับรายจ่ายการผลิต เป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรไม่ค่อยทำกัน จึงทำให้ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากการทำนา นอกจากนั้นพี่ศรีไพรยังมีการแบ่งที่ดินของตนเองมาปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อจำหน่ายไปยังเครือข่ายต่างๆ ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของเกษตรกรมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตหรือภาวะปกติ เนื่องจากอาชีพเกษตรกรต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศเป็นส่วนสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น ทั้งนี้การปรับตัวของเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการกระจายความเสี่ยง หากเกษตรกรมีการวางแผนชีวิต แผนการผลิตที่หลากหลาย และแหล่งรายได้จากหลายช่องทาง และวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยบริหารจัดการการผลิตและช่วยเพิ่มกำไรให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดและไม่เกิดวิกฤตชีวิต

ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ก.พ. 2565

ผู้เขียน : ญาวธิษา มาสมทบ

ติดตามเราได้ที่ facebook youtube

ผู้เข้าชม

6768700
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
ทั้งหมด
1980
5699
14455
160226
6768700

Your IP: 3.144.187.103
2024-04-30 08:38